เพียงไม่กี่วันหลังจากมีการยืนยันถึงผู้ที่ติดเชื้ออีโบลาคนแรกในเมืองโกมา ประเทศคองโก องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศ ‘สภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ’ โดยทันทีเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม แม้ว่าที่ผ่านมาเมื่อเดือนมิถุนายนจะปรากฏว่ามีการระบาดของเชื้ออีโบลาในคองโกจนข้ามพรมแดนไปยังประเทศยูกันดาจนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 3 คนก็ตาม แต่องค์การอนามัยโลกก็ไม่ได้ประกาศสภาวะฉุกเฉินแต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขของคองโกออกแถลงการณ์ว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาคนแรกในเมืองโกมา ซึ่งเป็นบาทหลวงและมีผู้ติดตามมากมาย รวมถึงยังได้เดินทางไปพบปะศาสนิกชนหลายคน ซึ่งในขณะนี้ได้นำบาทหลวงมากักบริเวณและรับวัคซีนเรียบร้อยแล้ว รวมไปถึงยังสามารถติดตามตัวผู้ที่อยู่ใกล้ชิดบาทหลวงได้อีก 18 คนซึ่งได้นำมากักบริเวณและรับวัคซีนเช่นเดียวกัน 

แต่ก็เป็นที่น่ากังวลว่าก่อนหน้านี้บาทหลวงคนดังกล่าวได้มีการสัมผัสมือหรือร่างกายกับใครไปแล้วบ้าง ซึ่งอาจจะมีผู้ที่ติดเชื้อแต่ยังไม่รู้ตัวก็ได้ และหากไม่มีการรายงานผู้ที่ติดเชื้อก็อาจจะทำให้เชื้อแพร่ไปได้อย่างรวดเร็วและยากที่จะควบคุม โดยเฉพาะเมืองโกมา ซึ่งมีประชากรอยู่สูงถึงเกือบสองล้านคน และยังตั้งอยู่พื้นที่พรมแดน เป็นเมืองที่มีการเดินทางเข้าออกทั้งชาวคองโก ยูกันดา และรวันดา ซึ่งอาจเกิดการระบาดข้ามประเทศได้ 

สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลานั้นเกิดขึ้นเป็นระลอก โดยเริ่มมีความรุนแรงในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตสูงถึงกว่า 1,600 คน และติดเชื้ออีกกว่า 2,500 คน และที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นไปอีกก็คือมีประชาชนมารับวัคซีนจำนวนเพียงแค่ 160,00 คนเท่านั้นเอง

เหตุการณ์การะบาดครั้งใหญ่ของไวรัสอีโบลาเกิดขึ้นในช่วงปี 2014-2016 ในเขตแอฟริกาตะวันตก ทั้งประเทศกินี ลิเบีย และเซียราลิโอน ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึง 11,310 คน และติดเชื้ออีก 28,616 คน 

และก่อนหน้าที่องค์การอนามัยโลกจะประกาศสภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศในครั้งนี้ องค์การอนามัยโลกเคยประกาศสภาวะฉุกเฉินมาแล้วเพียง 4 ครั้งคือ ครั้งแรกในปี 2009 กับการระบาดของไข้หวัดนก H1N1 ครั้งที่สองในปี 2014 กับการกลับมาของเชื้อโปลิโอ ครั้งที่สามในเดือนสิงหาคมปี 2014 ซึ่งก็คือการระบาดของไวรัสอีโบลาครั้งใหญ่ และครั้งที่สี่ก็คือในปี 2016 กับไข้ซิกา

ในครั้งนี้ครั้งที่ห้า ซึ่งทางองค์การอนามัยโลกกล่าวว่ารุนแรงไม่น้อยไปกว่าการระบาดของเชื่อไวรัสอีโบลาในปี 2014 และต้องการความช่วยเหลือจากนานาประเทศในการเข้ามาร่วมกันช่วยเหลือหาทางป้องกันและแก้ไขปัญหานี้

ถึงเวลาแล้วที่โลกจะต้องตระหนักและเพิ่มความพยายามของเราเป็นสองเท่า เราจำเป็นต้องทำงานร่วมกันแน่นแฟ้นพร้อมเพรียงในสิ่งที่เกิดขึ้นที่คองโก เพื่อยุติการระบาดนี้และสร้างระบบสุขภาพที่ดีขึ้นนายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกกล่าว

ที่มา:

https://www.who.int/news-room/detail/17-07-2019-ebola-outbreak-in-the-democratic-republic-of-the-congo-declared-a-public-health-emergency-of-international-concern

https://www.theguardian.com/world/2019/jul/17/drc-ebola-epidemic-is-international-emergency-says-who

https://www.bbc.com/news/health-49025298

ภาพ : JOHN WESSELS / AFP

Tags: ,