จากการระบาดของไวรัสอีโบลาครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์คองโก ซึ่งเริ่มระบาดมาตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศความคืบหน้าว่ากระทรวงสาธารณสุขแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ได้เริ่มใช้การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized control trial)

การทดลองนี้เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ ตัวยาหลายตัวทั้งที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายและยังอยู่ระหว่างการวิจัยเพื่อรับคำรับรองตามกฎหมายในการรักษา เพื่อหาวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด

ดอกเตอร์เท็ดรอส อัดฮานอม กีเบรเยซุส ผู้อำนวยการ WHO กล่าวว่า “ขณะที่เราพยายามโฟกัสที่การหยุดยั้งการระบาดนั้น การใช้การทดลองแบบสุ่มฯ นี้ก็นับเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เราพบวิธีรักษามัน ซึ่งจะช่วยชีวิตได้อีกเป็นจำนวนมากเช่นกัน”

จากตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน มีผู้ติดเชื้อแล้ว 347 ราย เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 217 ราย นับเป็นการระบาดของอีโบลาในคองโกเป็นครั้งที่ 10 นับจากปี 1976 และร้ายแรงสุดถึงขั้นทำให้ประเทศต้องเลื่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีออกไป จากที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ เป็นเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด

คองโกนับเป็นประเทศแรกที่อีโบลาระบาด และเป็นประเทศที่เผชิญกับเชื้อไวรัสอีโบลาบ่อยที่สุดในโลก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงยากโดยภูมิประเทศเองรวมถึงปัญหาความไม่สงบและการมีอยู่ของกองกำลังติดอาวุธต่างๆ อีกทั้งความเป็นอยู่ของประชากรในเมืองเริ่มต้นการระบาดครั้งนี้อย่างคีวูเหนือ (North Kivu) และ อิตูริ (Ituri) ก็ค่อนข้างแออัด ทำให้การระบาดนี้ควบคุมได้ยา

เว็บไซต์ aljazeera.com สำนักข่าวอิสระในตะวันออกกลางกล่าวว่า ความไม่สงบทางการเมือง ส่งผลต่อการระบาดครั้งนี้ด้วย โดยเมืองคีวูเหนือ เป็นฐานที่มั่นของกองกำลังติดอาวุธจำนวนมากที่ปะทะกันอยู่เนืองๆ รวมถึงกลุ่ม ADF ชาวอูกันดา ความวุ่นวายดังกล่าวส่งผลให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น

ในเดือนตุลาคม กองกำลังฆ่าชาวเมืองไป 13 คน และลักพาตัวเด็กอีกจำนวนหนึ่ง ส่วนเดือนพฤศจิกายนกลุ่มผู้เคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพก็ถูกฆ่าไปอีก 7 คน ซึ่งความไม่มั่นคงนี้ทำให้ผู้คนระส่ำระส่าย พยายามย้ายที่อยู่ และทำให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังการติดเชื้อ หรือการระบุตัวผู้ที่อาจจะติดเชื้อทำได้ยากขึ้น

ตั้งแต่มีการระบาด มีผู้เชี่ยวชาญด้านยากว่า 300 คน ถูกส่งไปทำงานที่คองโก ผู้มีความเสี่ยงกว่า 32,500 คนได้รับวัคซีนป้องกันเรียบร้อยแล้ว ส่วนการรักษานั้นอยู่ในระหว่างการทดลองแบบสุ่มฯ อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ส่วนผู้มีความเสี่ยงในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอูกันดา ก็ได้รับการรับรองแล้วว่าไม่ได้ติดเชื้อ แต่ฝ่ายสาธารณสุขอูกันดาก็ได้เตรียมความพร้อมรับมือหากมีการระบาดเกิดขึ้น

อีโบลาคือโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัส เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะสร้างความเสียหายกับระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เริ่มมีไข้ ปวดหัว อาเจียน ท้องร่วง และตับ ไต ไม่ทำงาน หรือกระทั่งเลือดออกและเสียชีวิตในที่สุด เชื่อว่าเป็นเชื้อที่ระบาดมาจากสัตว์ก่อนจะมาสู่มนุษย์ โดยติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่างๆ ในร่างกาย

ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2018/11/ebola-crisis-drc-181125140426233.html

https://www.independent.co.ug/tests-negative-for-bundibugyo-man-no-ebola-in-uganda/

http://www.who.int/news-room/detail/26-11-2018-democratic-republic-of-the-congo-begins-first-ever-multi-drug-ebola-trial

เครดิตภาพ: John WESSELS / AFP