เขาสูดลมหายใจเข้า-ออกลึกๆ ก่อนจะก้าวออกจากห้องแต่งตัว การหายใจผ่านหน้ากากอนามัยชนิดพิเศษค่อนข้างลำบาก แต่เขาก็ปฏิบัติหน้าที่นี้ทุกวันจนชิน ความอึดอัดไม่ได้อยู่ที่ชุดป้องกันเชื้อโรคร้ายแรงที่ดูคล้ายนักบินอวกาศท่ามกลางภูมิอากาศของเขตร้อนเลยแม้แต่น้อย หากแต่คือเต็นท์โรงพยาบาลภาคสนามเบื้องหน้า
ที่นี่คือนอร์ทคิวู เมืองชายแดนทางตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ติดกับยูกันดาและไม่ไกลจากรวันดา แต่ที่สำคัญเมืองแห่งนี้ยังคงมีความขัดแย้งระหว่างกองกำลังติดอาวุธ และมีไวรัสอีโบลาที่นานาชาติกลัวกำลังระบาดอยู่ในขณะนี้
คองโกเป็นประเทศที่ค้นพบไวรัสอีโบลาเป็นครั้งแรก
ย้อนกลับไปปี 1976 หรือประมาณ 20 ปีหลังจากคองโกได้รับเอกราชจากเบลเยียม มีผู้ป่วยด้วยโรคไม่ทราบสาเหตุ 300 กว่าคนที่เมืองยัมบูกู ทางตอนเหนือของประเทศ โดยผู้ป่วยรายแรกเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในเมือง มีอาการไข้หนาวสั่น ร่วมกับมีเลือดออกในทางเดินอาหารหลังกลับมาจากท่องเที่ยวป่า
และมีประวัติซื้อเนื้อวัว antelope และเนื้อลิงรมควัน
ส่วนผู้ป่วยกลุ่มถัดมาคาดว่าติดเชื้อจากการฉีดยาที่โรงพยาบาลโดยไม่ได้ฆ่าเชื้อเข็มฉีดยา และติดเชื้อจากผู้ป่วยที่หลบหนีออกจากโรงพยาบาล ต่อมาจึงค้นพบว่าโรคนี้เกิดจากไวรัสชนิดใหม่ ซึ่งต่อมาได้รับการตั้งชื่อว่า ‘อีโบลา’ ซึ่งเป็นชื่อแม่น้ำที่อยู่ห่างจากเมืองยัมบูกูประมาณ 100 กิโลเมตร แม้ว่าจะไม่เคยมีการระบาดหรือมีสาเหตุจากแม่น้ำสายนี้เลยก็ตาม
หลังจากนั้นก็มีรายงานการระบาดของโรคนี้กว่า 20 ครั้งในภูมิภาคแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา (sub-Saharan Africa) โดยเฉพาะประเทศซูดาน ยูกันดา คองโก (มากถึง 10 ครั้ง) และกาบองในเขตชนบท โดยสายพันธุ์ที่พบการระบาดมากที่สุดคือซาอีร์ (Zaire) ซึ่งตั้งตาม ‘สาธารณรัฐซาอีร์’ ชื่อเดิมของคองโกในสมัยนั้น
ค้างคาวผลไม้ (fruit bats) เป็นแหล่งของไวรัสอีโบลาในธรรมชาติ แพร่เชื้อสู่ลิง และสัตว์ป่าชนิดอื่น เมื่อคนเข้าไปหาของป่าและกินสัตว์ป่าเป็นอาหารจึงเกิดการติดเชื้อ และสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนผ่านทางการสัมผัสเลือด น้ำที่อาเจียน ปัสสาวะและอุจจาระของผู้ป่วยในระยะที่มีอาการจนถึงเสียชีวิต ดังภาพที่ 2
ปัจจุบันยังไม่พบการติดต่อผ่านทางเดินหายใจ แต่เนื่องจากไวรัสชนิดนี้ติดต่อง่าย และมีโอกาสเสียชีวิตสูง (เฉลี่ย 50%) เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานจึงต้องแต่งกายด้วยชุดป้องกันเชื้อโรคที่คลุมทั้งตัวและสวมหน้ากากอนามัยชนิด N95 ต่างจากการป้องกันเชื้อที่ติดต่อผ่านทางการสัมผัส (contact precaution) ชนิดอื่น ซึ่งบุคลากรปฏิบัติเป็นประจำอยู่แล้ว
การระบาดของอีโบลาที่นอร์ทคิวู และจังหวัดใกล้เคียง
องค์การอนามัยโลกทวีปแอฟริกาได้ออกเอกสารรายงานสถานการณ์อีโบลาในคองโก (External situation report) เป็นประจำทุกสัปดาห์ นับตั้งแต่เกิดการระบาดที่นอร์ทคิวูในเดือนกรกฎาคม 2018 ซึ่งเริ่มต้นจากรายงานผู้ป่วยอีโบลาจำนวน 43 คน เสียชีวิต 34 ราย ใน 2 จังหวัด คือนอร์ทคิวู และอิทูริ (Ituri) เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นผู้ป่วย 2,592 คน และเสียชีวิต 1,743 ราย ใน 2 จังหวัดเช่นเดิม แต่แพร่กระจายในหลายเขต (ซึ่งถ้าเปรียบเทียบพื้นที่ของ 2 จังหวัดนี้กับประเทศไทยจะเท่ากับพื้นที่จังหวัดที่ใหญ่ที่สุด 10 อันดับแรกรวมกัน)
ถึงแม้สถานการณ์ในระยะหลังจะมีแนวโน้มดีขึ้น โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงจาก 120 คน/สัปดาห์ในเดือนเมษายน เหลือ 80 คน/สัปดาห์ แต่ในวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมามีรายงานพบผู้ป่วย 1 รายเดินทางจากนอร์ทคิวูข้ามไปยังจังหวัดโกมา ซึ่งเป็นเมืองการค้าและมีสนามบินนานาชาติ จึงมีความกังวลว่าจะมีการแพร่กระจายของเชื้อข้ามประเทศ ประกอบกับปัญหาความล่าช้าในการจัดตั้งกองทุนเพื่อจัดการปัญหาการระบาดในครั้งนี้ องค์การอนามัยโลกจึงได้ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2019 เพื่อระดมความช่วยเหลือจากต่างประเทศ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการแพร่ระบาดของไวรัสอีโบลาในคองโกคือพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเป็นป่าฝนลุ่มแม่น้ำคองโก คนจึงพึ่งพิงป่าเป็นแหล่งอาหาร แต่ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งที่อยู่ของค้างคาวผลไม้ ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อ และสัมผัสกับสัตว์ป่า เช่น ชิมแปนซี กอริลลา ลิง วัว antelope เม่นที่ป่วยหรือตายบนพื้นด้วย
ในขณะที่การแพร่ระบาดจากคนสู่คน นอกจากจะเกิดจากการขาดสุขอนามัย เช่น การดื่มน้ำจากภาชนะเดียวกันกับผู้ป่วย และขาดระบบสุขาภิบาลแล้ว ข้อมูลจากการระบาดของอีโบลาในปี 2014 พบว่าผู้ป่วยอย่างน้อย 20% ติดเชื้อจากพิธีฝังศพ เนื่องจากในพิธีจะมีการชำระล้างร่างผู้ตายโดยคนในครอบครัว ผู้ชายล้างผู้ชาย ผู้หญิงล้างผู้หญิง แล้วนำน้ำหรือดินที่รองรับน้ำมาล้างหรือขัดตัวคู่สามี/ภรรยาของผู้เสียชีวิต เพื่อขับไล่โชคร้ายออกไป เมื่อนำศพไปฝังแล้วก็จะนำผ้าคลุมศพมาให้เด็กเพื่อไปล้างเศษดินออกที่ลำธาร ด้วยความเชื่อว่าสายน้ำจะนำพาวาระสุดท้ายของชีวิตไป แต่ละขั้นตอนทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อโรคจากผู้ติดเชื้อสู่ผู้ที่ยังแข็งแรงอยู่
องค์การอนามัยโลกจึงได้เสนอแนะวิธีการฝังศพอย่างปลอดภัยและเคารพความเชื่อของคนในพื้นที่ (Safe and Dignified Burial Protocol) ซึ่งผู้จัดการศพจะต้องสวมชุดป้องกันตัวเองคล้ายกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วย เพื่อควบคุมการแพร่เชื้อ โดยมีเป้าหมายให้มีการดำเนินการเช่นนี้ครอบคลุมถึง 70%
ความขัดแย้งระหว่างกองกำลังกับโรคอีโบลา
เนื่องจากนอร์ทคิวูเป็นเมืองชายแดน ภายหลังจากสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รวันดาในปี 1994 ก็กลายเป็นพื้นที่ความขัดแย้งแห่งใหม่ เนื่องจากชาวฮูตู (Hutu) ที่แพ้สงครามอพยพเข้ามาตั้งกองกำลังในพื้นที่และยังขัดแย้งกับชาวตุดซี (Tutsi) ที่อาศัยอยู่ก่อนหน้า กระทั่งเกิดเป็นสงครามคองโกครั้งที่ 1 (ปี 1996-1997) กองกำลังที่ได้รับการสนับสนุนจากรวันดาและยูกันดาเข้ามาจัดการกลุ่มชาวฮูตูและบุกรุกเข้าไปโค่นล้มรัฐบาลคองโกเดิม ต่อด้วยการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ก่อนจะเกิดความขัดแย้งกันเองจนพัฒนาเป็นสงครามคองโกครั้งที่ 2 (ปี 1998-2002) และด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ จึงทำให้กลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่มต้องจัดตั้งกองกำลังเป็นของตนเอง
ความขัดแย้งระหว่างกองกำลังเหล่านี้ทำให้การควบคุมโรคอีโบลาซับซ้อนขึ้น เพราะโรคอีโบลากลายเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ เช่นกล่าวหาว่า โรคนี้เกิดจากการวางยาพิษของกลุ่มตรงข้าม ในขณะที่ประชาชนบางหมู่บ้านยังไม่รู้จักโรคอีโบลา ทำให้เกิดการต่อต้านเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปเฝ้าระวังและสอบสวนโรคในพื้นที่
อีกทั้งยังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยเป็นเหตุการณ์ลอบวางเพลิงศูนย์การรักษาโรคอีโบลาในเขตบูเทมโบ (Butembo) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019 และเหตุการณ์ฆาตกรรมนักระบาดวิทยาขององค์การอนามัยโลกที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูเทมโบ เมื่อเดือนเมษายนปีเดียวกัน
…
ทุกๆ วันเขาจะต้องสวมชุดอวกาศเข้าไปดูแลผู้ป่วยที่อยู่ภายในศูนย์การรักษาอีโบลา ผู้ป่วยต้องสงสัยและผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อจะถูกแยกกันอยู่คนละเต็นท์ ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ จึงรักษาตามอาการและป้องกันภาวะช็อก คล้ายกับการรักษาโรคไข้เลือดออกที่คนไทยรู้จักกันดี
ผู้ที่ยังสามารถดื่มน้ำได้เองก็จะได้รับการแจกจ่ายเกลือแร่และขวดน้ำสะอาดให้ดื่ม ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการขาดน้ำรุนแรงจะได้รับการรักษาด้วยการให้น้ำเกลือและติดตามอาการใกล้ชิด
หากอาการดีขึ้น และได้รับการตรวจหาเชื้อในเลือดให้ผลเป็นลบติดต่อกัน 2 ครั้งภายใน 48 ชั่วโมงก็จะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ ในขณะที่ผู้ป่วยเกินกว่าครึ่งกลับเสียชีวิตจากการติดเชื้อรุนแรง โดยสิ่งที่สมาชิกในครอบครัวกลัวกันมากที่สุดคือการที่ผู้ป่วยเข้ามาแล้วจะไม่ได้กลับออกไปอีก ซึ่งเขาเองก็คาดหวังว่าการระบาดจะสิ้นสุดลงเร็วๆ นี้
หนังสือประกอบการเขียน
Paul Richards. Ebola: How a People’s Science Helped End and Epidemic. London: Zed Books, 2016.
Tags: อีโบลา, โรคระบาด, คองโก, ไวรัส