ผมเป็นคนชอบสัตว์ตั้งแต่เด็ก โตขึ้น เมื่อมีโอกาสก็จะพยายามไปท่องโลกดูสัตว์ต่างๆ ที่อยู่ในฝันมาตั้งแต่สมัยเด็ก และพยายามไปเยี่ยมชมพวกมันที่ ‘บ้าน’ หรือที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของมันเอง ครั้งนี้ก็ถึงคิวเจ้าลิงยักษ์ทั้งสอง กอริลลาภูเขา และชิมแปนซี ที่ป่าแอฟริกา ในประเทศอูกันดา

กอริลลาและชิมแปนซีเป็นลิงสองชนิดในกลุ่มลิงใหญ่ไร้หาง (Hominids) ซึ่งเป็นสัตว์ในวงศ์ที่เป็นญาติสนิทของมนุษย์เราที่สุด เจ้าพวกนี้มีความฉลาดมากมาย สามารถใช้มือทำกิจกรรมดำรงชีวิตได้ดี เจ้าชิมแปนซี เป็นสัตว์ที่มีพันธุกรรมใกล้กับมนุษย์เรามากที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้งหลาย ส่วนกอริลลาเป็นลิงไพรเมตที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลก

เจ้ากอริลลาที่ผมตั้งใจไปแอบมอง เป็นกอริลลาภูเขาสายพันธุ์ที่หาดูแทบไม่ได้ในสวนสัตว์ แถมยังมีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์อีกด้วย

เล่ามาแค่นี้หลายคนคงจะคิดว่า สวนสัตว์ใกล้บ้านหรือพาต้าปิ่นเกล้าก็มีให้ดู จะไปถึงแอฟริกาทำไม แต่สำหรับผมแล้ว สัตว์ในสวนสัตว์ไม่มีทางมีพฤติกรรมใกล้เคียงกับสัตว์ที่เติบโตขึ้นมาในธรรมชาติได้เลย แม้เจ้าลิงยักษ์สองพันธุ์ที่อยู่ในที่เลี้ยงจะฉลาดขนาดไหน แต่การได้เห็นพวกมันตัวเป็นๆ ในป่า น่าทึ่งมากกว่าครับ

กอริลลาภูเขาและชิมแปนซีที่ผมจะเข้าไปชมนั้น เป็นสัตว์ป่าแท้ๆ ที่ผ่านกระบวนการค่อยๆ ทำให้คุ้นชิน (Habituation) กับมนุษย์มาเป็นเวลานาน บางกลุ่มอาจจะเห็นคนอยู่ห่างๆ มาทั้งชีวิตตั้งแต่เกิดแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่นักท่องเที่ยวได้รับอนุญาตให้เข้าไปนั้น เป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งเป็นบ้านของสัตว์ป่าอย่างแท้จริง แต่ละวันจะมีโควต้าจำนวนนักท่องเที่ยวที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปชมเจ้าสัตว์พวกนี้ และมีกฎกติกาอีกหลายข้อที่นักท่องเที่ยวจะต้องปฎิบัติตาม ทั้งเพื่อไม่ให้พวกมันถูกรบกวนมากเกินไป และด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เพราะท้ายที่สุดเจ้าลิงพวกนี้ถือเป็นสัตว์ป่าที่ทำอันตรายนักท่องเที่ยวได้ครับ

การเดินทางไปอูกันดาไม่ได้ยากอย่างที่คิด มีสายการบินที่เชื่อถือได้หลายสายการบินที่บินไปลงที่เมืองหลวงของอูกันดาคือเมืองกัมปาลา (Kampala) แต่พวกเราเลือกจะไปลงที่เมืองคิกาลี ที่ประเทศรวันดาแทน เพราะจากตรงนั้น นั่งรถต่อไปไม่ไกลก็สามารถเข้าถึงป่าที่ส่องเจ้าลิงได้ แถมยังถือโอกาสไปรำลึกสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของรวันดาด้วย

ครั้งนี้ ผมเลือกจะบินจากกรุงเทพฯ ไปเปลี่ยนเครื่องบินที่กรุงแอดดิส อบาบา เมืองหลวงของประเทศเอธิโอเปียครับ

 

สามแนวป่าที่มีกอริลลาภูเขา

จริงๆ แล้ว เราสามารถเลือกที่จะไปดูกอริลลาภูเขาที่รวันดาก็ยังได้ เพราะป่าที่เราสามารถเข้าไปดูกอริลลาภูเขาได้นั้น อยู่ในช่วงพรมแดนของสามประเทศ คือ รวันดา อูกันดา และ คองโก แต่ละแห่งคิดราคาใบอนุญาตเข้าดูกอริลลาแตกต่างกันไป นำโด่งด้วยรวันดา ที่ค่าเข้าอุทยานเพื่อไปดูกอริลลาถึง USD 1,500 ต่อคนต่อครั้ง (ราว 48,000 บาท) อูกันดาจะตามมาด้วยราคา USD 600 (ราว 19,000 บาท) และรั้งท้ายด้วย คองโกที่ USD 450 (ราว 14,300 บาท)

แต่ที่คองโกอาจจะต้องระมัดระวังมากกว่าที่อื่นๆ เพราะมีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย และมีข่าวการระบาดของโรคอีโบลาอยู่ประปราย ที่รวันดาแม้จะราคาสูง แต่อาจจะมีข้อดีตรงที่เป็นป่าที่อาจจะบางกว่าที่อูกันดาจึง ทำให้เดินง่ายกว่า

หลังจากผมชั่งใจไปมาสักพักก็ตัดสินใจเลือกที่อูกันดา เพราะว่าอยากเดินทางกลับบ้านถึงเมืองไทยได้อย่างปลอดภัย พร้อมด้วยกระเป๋าเงินแบบไม่ฟีบมากนัก

หลังจากเราเข้าไปในพรมแดนอูกันดาทางรถ เราแอบดีใจอยู่ไม่น้อย เพราะถนนเป็นถนนลาดยางใหม่เอี่ยมอย่างดี แต่ดีใจได้แค่สัก 5 นาที ก็เริ่มพบกับเจ้ากรรมนายเวร เป็นหลังเต่าถนนชนิดพิเศษของอูกันดา ที่มาทีละ 5 เซ็ต นั่งรถทุกๆ 10 – 15 นาที ก็ต้องเจอครอบครัวหลังเต่านี่อีกแล้ว สร้างประสบการณ์เขย่าพิเศษให้พวกเราอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเวลากระเพาะปัสสาวะเต็มๆ

แต่หลังจากรถวิ่งไปสักพัก เจ้าหลังเต่าก็ไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป เมื่อรถแลนครุยเซอร์ไร้แอร์ของเราเลี้ยวเข้าทางอุทยานที่เป็นถนนดินง่ายๆ นอกจากจะมีหลุมบ่อเต็มเพียบแล้ว ยังแถมไปด้วยฝุ่นที่ทำพวกเราควักหน้ากากมาใช้กันแทบไม่ทัน ทั้งๆ ที่เพิ่งจะโพสอวดคุณภาพอากาศไร้ PM2.5 ให้เพื่อนๆ ที่เชียงใหม่ได้อิจฉาไปหยกๆ

‘บวินดี’ ป่าแห่งความเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าถึง

อูกันดาเป็นประเทศที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับนักถ่ายรูป ตามชนบทก็จะเห็นอาคารดินหรือปูนชั้นเดียวปลูกง่ายๆ สีสดใสพร้อมคนแอฟริกันผิวเข้ม ใส่เสื้อสีสดๆ ไม่แพ้ความสดใสของตัวบ้าน เดินทูนของไว้บนหัวตามถนน บางช่วงเป็นแหล่งปลูกกล้วยที่สำคัญก็จะเห็นกิจกรรมค้าขายหรือขนส่งกล้วยสีเหลืองๆ หวีใหญ่ๆ น่ากินเต็มไปหมด ผมขอให้คนขับหยุดรถเพื่อถ่ายรูปจนพี่แกตาเขียว เลยได้แต่ลองความสามารถการจับภาพเคลื่อนไหวของกล้องโทรศัพท์มือถือไประหว่างอยู่บนรถไปพลางๆ

 

ไม่นานนัก เราก็เลี้ยวเข้าสู่จุดหมายที่แรก อุทยานแห่งชาติ บวินดี (Bwindi Impenetrable National Park) Bwindi เป็นภาษาท้องถิ่น พอมาเป็นชื่อป่าจะแปลว่า ป่าแห่งความเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าถึง ฟังดูนึกถึงการผจญภัยของโดราเอมอนในเมืองสุนัขชอบกล แต่พอเราเริ่มเดินทางเข้าไปในป่าจริงๆ ได้ไม่ถึงชั่วโมง ก็ถึงบางอ้อว่า ป่านี้มันเข้าถึง (โคตร) ยากอย่างไร

พวกเราโชคดีได้ที่ได้ตามหากลุ่มกอริลลา Nshongi group ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำให้พวกเราไม่ต้องเดินไกลมาก เพราะพวกมันหากินอยู่แถวแม่น้ำริมพรมแดนกั้นเขตอนุรักษ์กับพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน แม้จะไม่ไกล แต่เราก็ทั้งปีนขึ้นลงเขาสูงๆ ความชันเกือบ 90 องศา ต่อด้วยข้ามแม่น้ำหลายรอบ ได้ตะลุยป่าดิบทึบๆ ของแอฟริกาแท้ๆ พร้อมหนามแหลมๆ เกี่ยวเสื้อผ้ามากมาย มีฝูงแมลงตอมตัวเป็นบริวารตลอดทาง แต่การันตีความปลอดภัยด้วยพี่ชุดทหารพรานถือปืนปิดท้ายขบวนสองคน

การเดินทางในป่า ไกด์มีกฎว่า ให้พยายามงดใช้เสียง ห้ามเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว และแนะนำให้ใส่เสื้อผ้าสีกลมกลืนกับธรรมชาติ และคนที่ป่วยอยู่ไม่ควรเข้าไปในป่าเพราะกอริลล่าอาจจะติดโรคจากเราไปได้

เกือบ 2 ชั่วโมงถัดมา เราก็เดินมาถึงหุบเขาชันๆ ที่หนึ่ง ไกด์พาเราเดินลงไปเจอกับพุ่มไม้ทึบๆ ที่สั่นไหวไปมา พร้อมเสียงสิ่งมีชีวิตขยับอยู่ด้านใน ไกด์เริ่มใช้มีดด้ามยาวค่อยๆ ตัดพุ่มไม้ทึบๆ ออกเป็นช่อง และผมก็ได้พบกับสิ่งที่ผมฝันมาทั้งชีวิต เจ้ากอริลลาตัวผู้หลังสีเงิน (Silverback) ผู้นำฝูง กำลังกระชากกินใบไม้ใบหญ้าอย่างเมามัน ตัวมันเวลานั่งไม่ได้ใหญ่เหมือนที่ผมเคยคิดไว้ แต่ขนสีดำของมันดูฟูและนุ่มมาก พวกเราพยายามหาที่ยืนบนเนินชันๆ กัน และให้แน่ใจว่าจะไม่หมุนตัวกลิ้งตกเขาให้อายกอริลลา จากนั้นก็เริ่มรัวชัตเตอร์กันไม่หยุด ระหว่างนั้นเจ้าหลังเงินก็ยังเคี้ยวไม่หยุด แต่ขยับที่บ้างเรื่อยๆ ทำให้ไกด์ต้องใช้กิ่งไม้ยาวๆดึงพุ่มไม้ที่บังเจ้าลิงยักษ์ออกตลอดเพื่อให้เราได้รูปชัดๆ เจ้าหลังเทาบางทีคงรำคาญเสียงดึงพุ่มไม้ เลยหยุดกินแล้วเอื้อมมือมากระชากเถาพันธุ์ไม้ที่บังมันออกให้หมดรู้แล้วรู้รอด แล้วก็นั่งง่วนเคี้ยวต่อไป

ไม่นาน ที่ต้นไม้ใหญ่ใกล้ๆ เจ้าหลังเทา ก็มีเสียงแหลมๆ หลายเสียงดังขึ้น ผมเหลือบไปมองเห็นลูกลิงกอริลลาวัยกำลังซนสามตัววิ่งแข่งกันปีนต้นไม้ใหญ่ ส่งเสียงกันดังลั่น ทั้งกระชากกันขึ้นต้นไม้และแกล้งผลักให้ตัวอื่นตกต้นไม้ แต่ดูเหมือนเจ้าพวกนี้มือเหนียวใช้ได้ คว้าเถาวัลย์ก่อนตกถึงพื้นกันเก่งทีเดียว

ไกด์เริ่มส่งสัญญานให้พวกเราเริ่มขยับกันไปรอบๆ บริเวณ เพราะมีสมาชิกกอริลลาหลายขนาดเริ่มปรากฎตัวให้เราเห็น ระยะ 7 เมตรเป็นระยะห่างปลอดภัยที่เราเข้าใกล้กอริลลาแต่ละตัว และเพียงพอให้เราเห็นสมาชิกครอบครัวนี้ประกอบกิจวัตร กิน เล่น ถ่ายเบาและหนักกันอย่างมีอิสระเสรี เรามีเวลาอยู่กับพวกมันแค่หนึ่งชั่วโมง แต่เป็นหนึ่งชั่วโมงที่ดีที่สุดชั่วโมงหนึ่งในชีวิตของผม

ฝูงชิมแปนซีสุดคึกคัก ในหุบผา เคียมบูรา กอร์จ

สองวันถัดมา พวกเราเดินทางลงไปในหุบผาลึกที่ เคียมบูรา กอร์จ ( Kyambura Gorge) ในอุทยานแห่งชาติควีนเอลิซาเบ็ธ (Queen Elizabeth National Park) รอบๆ หุบผาเป็นทุ่งหญ้าซาฟารีกว้างๆ แต่คงเพราะหุบผานี้มีแม่น้ำสายไม่เล็กเลยที่ไหลผ่าน ทำเอาต้นไม้ขึ้นเสียทึบเต็มหุบผา มองไกลๆ ดูคล้ายกับโอเอซิสสีเขียวสดกลางทุ่งหญ้าสีเหลือง

แค่เดินลงไปสามก้าว ก็ได้ยินเสียงฝูงลิงร้องต้อนรับเรากันก้องทั่วหุบผา พวกเราเดินลงทางดิ่งไปข้ามสะพานแม่น้ำที่ก้นหุบ เห็นฮิบโปโปเตมัสฝูงย่อมๆ ลอยคอในน้ำ ไกด์บอกเราว่าอย่าเพิ่งประหลาดใจไป สักไม่กี่วันมานี้ เขาเพิ่งจะไล่ต้อนสิงโตตัวใหญ่ไปจากตีนสะพานเดียวกันนี้เอง!

เดินกันสักพักใหญ่ เราก็ได้ยินเสียงเจ้าสัตว์ญาติสนิทมนุษย์ส่งเสียงลั่นป่าก่อนตัวมาแต่ไกล สักพักผมก็เห็นเจ้าลิงชิมแปนซีตัวไม่ใหญ่วิ่งสี่เท้าเฉียดกลุ่มของเราไปไม่ไกล พร้อมอีกสองลิงวิ่งกวดตามมาห่างๆ ทิ้งระยะไม่กี่วินาที เราก็ต้องตกใจกับเสียงกระหึ่มป่าของกองทัพลิงชิมแปนซีเป็นสิบตัว ทั้งวิ่งผ่านหน้า ทั้งห้อยโหนต้นไม้เหนือหัวเราไปราวกับฉากจู่โจมใน Planet of the Apes

ผมถามไกด์ไปด้วยความตื่นเต้นว่า เราโชคดีได้มาเห็นศึกชิงนางหรือสงครามลิงสักอย่างหรือ ไกด์ส่ายหัวแล้วมองขำๆ บอกว่า เปล่าครับ ลิงมันก็ไปหากินประจำวัน

เดินไปอีกสักพัก เราก็เดินเข้ามาสู่กลางฝูงลิงกลุ่มเดิม เมื่อเจ้าชิมแปนซีคงจะหากินจนเหนื่อย จึงนอนเรียงรายกันเต็มพื้นกันนิ่งเป็นกลุ่มใหญ่ให้พวกเราถ่ายรูปกันตามสบาย ผมถ่ายรูปฝูงลิงจนพอใจแล้วก็เริ่มอิจฉาลิง พวกมันดูไม่ต้องคิดอะไรมาก วันๆ หากินแล้วก็นอน ช่างน่าอิจฉาเสียจริง คุณไกด์ฟังแล้วก็มองหน้าผมแปลกๆ แล้วก็เริ่มเลคเชอร์ยาว

ชิมแปนซีกลุ่มนี้ แม้จะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้อูกันดามากมาย แต่มันก็ไม่ได้มีชีวิตที่โชคดีเท่าไหร่ พวกมันเป็นกลุ่มชิมแปนซีที่ถูกตัดขาดจากพรรคพวกภายนอกเกือบจะสิ้นเชิง เพราะในหุบผาที่เป็นบ้านของพวกมันนั้น ถูกล้อมรอบด้วยทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ที่เป็นพรมแดนธรรมชาติด้วยระยะทางเกือบ 15 กิโลเมตร กั้นไม่ให้พวกมันออกไปจากหุบผานี้ไปถึงป่าที่ใกล้ที่สุดที่มีชิมแปนซีฝูงอื่นๆ อาศัยอยู่ และทำให้ไม่มีสมาชิกใหม่เข้ามาในเขตป่านี้ได้ เป็นปัญหาเมื่อลิงแย่งอำนาจกันแล้วลิงผู้แพ้ไม่มีที่ไป จนต้องจบชีวิตลงแบบไม่มีทางเลือก และยังเกิดปัญหาพันธุกรรมเลือดชิดของลูกลิงรุ่นหลังๆ เพราะไม่มีลิงที่นำยีนส์ใหม่ๆ เข้ามาในฝูง

ว่าแล้วคุณไกด์ก็เคาะนาฬิกา ส่งสัญญาณให้พวกเราเริ่มออกเดินทางกลับ แต่ด้วยโชคดีของพวกเรา คุณแม่ชิมแปนซีอุ้มลูกสุดน่ารักปรากฎตัวที่ยอดไม้สูงเหนือหลังคาป่าพอดี ผมได้โอกาสได้ใช้เลนส์เทเลที่เตรียมมาอีกครั้ง คงจะด้วยความอยากโชว์ เจ้าลูกลิงเริ่มยืดตัวจากอกแม่ เล่นกายกรรมจับกิ่งยอดไม้ เป็นการอำลาพวกเราจากอาณาจักรชิมแปนซีแห่ง เคียมบูรา กอร์จ อย่างน่าจดจำ

Fact Box

  • กอริลลาภูเขา เมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักราว 100 - 195 กิโลกรัม และสูงราวๆ 130-150 เซนติเมตร เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นที่กระจายอยู่ใน 3 ประเทศ คือ คองโก รวันดา และอูกันดา ถือเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ โดยคาดว่าฝูงกอริลล่าในอุทยานแห่งชาติบวินดีมีหลงเหลือเพียงราว 400 ตัว
  • พรมแดนของสามประเทศที่อาจพบเจอกอริลลาได้ คือประเทศรวันดา อูกันดา และ คองโก แต่ละแห่งคิดราคาใบอนุญาตเข้าดูกอริลลาแตกต่างกันไป ที่รวันดา ราคา USD 1,500 ต่อคนต่อครั้ง (ราว 48,000 บาท) อูกันดาตามมาด้วยราคา USD 600 (ราว 19,000 บาท) ส่วนที่คองโก คิดราคาที่ USD 450 (ราว 14,300 บาท)
Tags: , , , , , , , , , , ,