โครงการ Early Years Project เป็นโครงการที่ริเริ่มและดำเนินการโดยฝ่ายนิทรรศการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เพื่อบ่มเพาะศิลปินรุ่นใหม่ หรือศิลปินที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นทำงาน ให้มีโอกาสพัฒนาตัวเองไปสู่การทำงานศิลปะทั้งในไทยและต่างประเทศ
โดยศิลปินที่ได้รับการคัดเลือกจากโครงการ EํYP จะได้รับทุนการเดินทางของศิลปิน (Mobility Funding) และทุนการเป็นศิลปินในพำนัก (Artist Residency) ในต่างประเทศ ศิลปินจะได้ดูงาน และมีโอกาสจัดแสดงผลงานเดี่ยวในแกลอรีที่เป็นพาร์ทเนอร์กับทางหอศิลป์กรุงเทพฯ
ปัจจุบัน โครงการ EํYP เดินทางมาถึงปีที่ 3 ซึ่งอยู่ในช่วงจัดแสดงผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ 7 คน ที่ผ่านการคัดเลือก ไปจนถึงวันที่ 25 พฤศจิกายนนี้
เน้นพัฒนาทักษะที่ศิลปินรุ่นใหม่ยังขาด
ปวิตร มหาสารินันท์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พูดถึงภาพรวมของหอศิลป์กรุงเทพฯ ว่ามีแผนงานกิจกรรมที่สนับสนุนศิลปินรุ่นใหญ่ เช่นการจัดแสดงงาน Master Series แต่ก็ยังมีงานที่สนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ที่ปูพื้นมาตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว ผ่านงานเช่น Politics of Me, Cross Stitch, บทที่ลบหนึ่ง เป็นต้น
สำหรับโครงการ EYP ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ “จุดเด่นของโครงการนี้ คือเน้นกระบวนการทำงาน เมื่อศิลปินมาติดตั้งผลงาน ประกวดนิทรรศการแล้ว จะมีศิลปินรุ่นพี่และกรรมการคอยแนะนำ ทำให้ศิลปินปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงงานตลอดเวลา ถ้าคนทั่วไปที่เข้ามาดูงานในช่วงต้นนิทรรศการ แล้วกลับมาดูตอนท้ายงานอีกทีจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน” ปวิตรกล่าว
เมื่อสิ้นสุดโครงการ ทางคณะกรรมการจะคัดเลือกผลงานดีเด่น เพื่อรับทุนสนับสนุนการเดินทางของศิลปิน (Mobility Funding) 1 รางวัล และทุนการเป็นศิลปินในพำนัก (Artist Residency) 1 รางวัล โดยเป็นความร่วมมือระหว่างหอศิลปกรุงเทพฯ และแกลอรีในต่างประเทศ
“เราเน้นศิลปินรุ่นใหม่ที่ยังไม่ได้มีงานแสดงใหญ่ๆ หรือเคยมีงานผลแสดงมาบ้าง แต่อาจยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก โครงการนี้เราดูความเป็นไปได้ของตัวงาน และโอกาสในการพัฒนา ยกตัวอย่าง EYP 3 เรามีกิจกรรมหลายอย่างให้ศิลปินมีส่วนร่วม เช่น การพัฒนาบุคลิกภาพ การสื่อสารและการทำงานร่วมกับคนอื่น เพราะบางที ศิลปินพรีเซนต์งานไม่เป็น หรือเคยทำงานคนเดียว ซึ่งจริงๆ ศิลปินต้องทำงานร่วมกับคนอื่น แม้ว่าจะสร้างงานของตัวเองก็ตาม”
งานศิลปะที่ต้องสื่อสารให้ชัดเจน
อลิสา ฉุนเชื้อ เป็นศิลปินจากโครงการ EYP 2 ที่นำเสนอผลงาน ‘Overdose’ ศิลปะการจัดวางผสมกับการแสดงที่พาเราไปสำรวจและนำเสนอภาพแทนของความเจ็บป่วย ความเปราะบางของชีวิตและเวลา ผ่านการเฝ้ามองจากประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งทำให้เธอได้ทุนการเป็นศิลปินในพำนัก (Artist Residency) และได้จัดแสดงงานที่พิพิธภัณฑ์ Fridericianum เมืองคาสเซิล ประเทศเยอรมนี
“เป็นโปรเจ็กต์แรกในชีวิตที่ส่งเข้าประกวด ก่อนหน้านั้นเราไม่คิดส่งประกวดอะไรทั้งสิ้น แค่อยากเอาไอเดียของตัวเองที่มีอยู่มาทำงานศิลปะ แล้วเราอยากขยับคอนเซ็ปต์ของานให้ไปไกลกว่าที่ทำตอนเรียน”
อลิสาอธิบายงานของเธอว่า มักเป็นงานแนว Body based เน้นใช้ข้อมูลจากร่างกาย เช่น ข้อมูลน้ำหนัก ส่วนสูง แล้วมาเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ออกมาเป็นประติมากรรม
“เราตัดสินใจทำงานจากประสบการณ์ส่วนตัวคือความป่วยไข้ในมุมมองของเรา เริ่มต้นไปรีเสิร์ชตามโรงพยาบาล คลินิกแผนจีน แผนไทย แม้แต่พิพิธภัณฑ์กายวิภาคที่ศิริราช เราก็ไปหมด
“สิ่งที่เราสนใจคือสีที่ถูกใช้ในแต่ละแผนกของโรงพยาบาลมีความแตกต่างกัน เพราะมันเป็นเรื่องของการบำบัดผู้ป่วยในระดับหนึ่ง”
“พอมีข้อมูลต่างๆ แล้วก็นำไปเขียน Mapping ลิสต์ว่า อะไรคือสิ่งที่เราเห็นแล้วอยากทำงาน ตั้งใจว่าจะทำเป็นศิลปะจัดวาง แล้วให้มีลักษณะเหมือนซีนภาพยนตร์ที่ถูกแช่แข็งอยู่แบบนั้น ทำให้งานชุดนี้จำเป็นต้องมีคนมาแสดงเพื่อทำให้มันมีภาวะของความมีชีวิตและความไม่มีชีวิต”
อลิสาให้ความเห็นว่า ตลอดโครงการ เธอปรับเปลี่ยนในรายละเอียดของงานตามคำแนะนำของกรรมการและศิลปินรุ่นพี่ เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด
“ก่อนหน้านี้เราไม่ได้ทำงานแบบมี Message บอกคน แต่โปรเจ็กต์ที่เล่นเรื่องที่มันละเอียดอ่อนมากๆ คือความเจ็บป่วยของคน มันทำให้เรากลับมาคิดเยอะเหมือนกันว่า การทำงานศิลปะคือการสื่อสาร เหมือนการเขียนหนังสือ แต่เราสื่อสารแบบ Visual มันอิมแพคกับคนมาก”
“การที่เราจะทำงานบางอย่าง หรือวิพากษ์อะไรบางอย่าง เราต้องมีข้อมูลจริงๆ แล้วเราพร้อมจะรับผิดชอบกับการสื่อสารของเรา ไม่ใช่แค่อยากทำแล้วแสดงมันออกมา เราต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เราคิด และอธิบายว่าทำไมถึงต้องทำแบบนี้”
“มันมีหลายสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบมากขึ้น มากกว่าแค่ทำงานสักชิ้นหนึ่งออกไป เพราะคนดูไม่ใช่แค่คนชอบศิลปะ แต่อาจจะมาจากศาสตร์อื่นๆ ซึ่งถ้างานมันสื่อสารกับคนที่ไม่เข้าใจศิลปะให้เข้าใจได้ อันนี้เราว่าประสบความสำเร็จนะ อาจจะไม่ได้รู้ทั้งหมด แต่เข้าใจถึงมันได้บางส่วน” อลิสาให้ความเห็น
ศิลปินกับการบริหารจัดการ
ขณะที่ ปวิตร มหาสารินันท์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ก็มองว่า ศิลปินรุ่นใหม่มีความสนใจที่หลากหลาย หากแต่ขาดการบริหารจัดการที่ดี ไม่ว่าจะเรื่องการค้นคว้าหาข้อมูล และการทำงานที่เป็นระบบ
“ในการทำงานศิลปะตอนนี้ อยู่ดีๆ จะบอกว่าผลงานสร้างขึ้นจากจินตนาการ คงไม่ใช่อีกต่อไป การค้นคว้าในเชิงศิลปะ หาข้อมูล เป็นเรื่องสำคัญ และเชื่อมโยงกับศาสตร์อื่นได้ เพื่อให้ศิลปินรุ่นใหม่ทำงานเป็นระบบมากขึ้น และการมีข้อมูลพวกนี้จะทำให้สื่อสารกับคนทั่วไปชัดเจนและมีจุดร่วมกันมากขึ้น”
เช่นเดียวกับอลิสาที่ได้ทุนศิลปินพำนัก (Artist Residency) มีโอกาสได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ทางการแพทย์หลายแห่งทั้งในปารีสและเยอรมนี ก่อนจะสร้างสรรค์ผลงานชื่อ Wake up in nothingness ผลงานจัดวางสื่อผสม เป็นหนึ่งในศิลปินที่กำลังแสดงผลงานในนิทรรศการ Absurdity in Paradise ที่พิพิธภัณฑ์ Fridericianum เมืองคาสเซิล ประเทศเยอรมนี
เธอมองว่าศิลปินควรจะมีทักษะด้านอื่นด้วย ไม่ใช่แค่วาดรูปเก่งอย่างเดียว แต่ควรเป็นคนที่บริหารจัดการได้ดี และต้องบริหารคอนเนคชั่น เพราะจะทำให้งานของเราเป็นที่รู้จักและมีคนมาเห็นได้มาก
“เรื่องการขายงาน มันคือธุรกิจ เป็นสิ่งที่เราไม่เก่งเลย แต่ต้องเรียนรู้ การได้ไปแสดงงานที่ต่างประเทศทำให้เราเข้าใจว่าการซื้อขายงานเป็นอย่างไร เพราะหลักการทำงานศิลปะ มันคือหลังจากที่งานเสร็จไปแล้ว เราควรจะบันทึกทุกอย่าง เราทำงานกี่วัน ต้นทุนเท่าไร”
ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ปิดท้ายว่า หอศิลป์กรุงเทพฯ สนับสนุนศิลปะหลายแขนง และอนาคตของ EYP อาจมีแขนงอื่นๆ ช่น ดนตรี วรรณกรรม ละคร เป็นต้น หรืออาจรวมทุกแขนงมาไว้ด้วยกันก็เป็นได้
“การลงทุนกับศิลปินรุ่นใหม่ ผมมองว่าคิดเป็นจำนวนเงินไม่ได้ เราไม่รู้อะไรเลยว่าศิลปินที่ผ่านโครงการ EYP อาจจะเลิกเป็นศิลปินก็ได้ มันคือความเสี่ยง แต่ผมว่าทำงานศิลปะมันต้องเสี่ยง”
Tags: Early Year Project, อลิสา ฉุนเชื้อ, ปวิตร มหาสารินันท์, EYP