เข้าสู่ปีที่ 3 ของโครงการบ่มเพาะและสร้างเครือข่ายศิลปินหน้าใหม่ Early Years Project COEVAL โดยหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC) งานเปิดตัวผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ทั้ง 7 คนที่ได้รับคัดเลือกในวันที่ 20  กันยายน 2561 เต็มไปด้วยผู้เข้าชมที่สนใจและศิลปินที่เข้ามาร่วมงาน ผลงานทั้ง 7 ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ศิลปินจะลงมือสร้างสรรค์โปรเจ็กต์ของเขาไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นจนจบโดยมีคุณจิตติ เกษมจิตวัฒนา ศิลปินและภัณฑารักษ์อิสระผู้มีผลงานระดับนานาชาติเป็นกรรมการตัดสินผลงานสองชิ้นสุดท้ายที่จะได้รับรางวัล

ศิลปินทั้ง 7 คนที่ได้รับคัดเลือกคือ กฤชพล เกตุชู, สิทธิกร ขาวสะอาด, ณณฐ ธนพรรพี, ณัท เศรษฐ์ธนา, ภานรินทร์ สื่อจินดาภรณ์, อัครวินท์ ไกรฤกษ์ และณัฐดนัย จิตต์บรรจง

เราสามารถเดินตามทางโค้งวนขึ้นไปในพื้นที่นิทรรศการบริเวณชั้น 9 ของหอศิลป์กรุงเทพฯ เพื่อชมผลงานที่มีความหลากหลายในไฟสลัว บางผลงานสามารถเข้าไปทดลองเล่นสนุกได้ เช่น dnilb งานจัดวาง (Installation) ของภานรินทร์ สื่อจินดาภรณ์ ศิลปินอิสระและกราฟิกดีไซเนอร์ที่ทำงานหลายแขนง เขาใช้ VR เทคโนโลยีเสมือนจริงเพื่อสร้างศิลปะปฏิสัมพันธ์ด้วยการให้ผู้ชมเข้ามาลองมองภาพเคลื่อนไหวผ่านจอแล้วตีความสัญญะตามใจในฐานะผู้เล่น ผู้สังเกตการณ์ หรือผู้รับสาร

“โลกหลายๆ โลกที่เรารับรู้ตั้งแต่แรกเป็นเพียงแค่ความเชื่อหนึ่งที่เรามองกลับไปแล้วมันไม่ได้เป็นจริง สิ่งที่เราอยากสื่อสารคือ ความจริงมีหลายระดับและหลายบริบทมากๆ แต่คนส่วนใหญ่มักจะคุ้นชินว่าความจริงที่เขาเชื่อเป็นความจริง 100% แต่จริงๆ แล้วมันมีหลายรูปแบบ หลายระดับและซับซ้อน ปัญหาหลายๆ อย่างในบ้านเมืองมันเกิดจากอะไรง่ายๆ มากๆ จึงต้องการกระตุ้นให้คนดูเห็นความหลากหลายเหล่านี้ โดยเลือกที่จะนำสิ่งง่ายๆ มาสื่อสาร”

ภานรินทร์ สื่อจินดาภรณ์

“ในการทำงานต่อเนื่องของผม ผมสนใจประเด็นการเมืองและสังคมเป็นหลัก แต่ผมเลือกที่จะใช้สิ่งเล็กๆ พูดแทนสิ่งที่ใหญ่กว่า แล้วให้คนดูไปคิดเองแบบปลายเปิดมากกว่า ทั้งๆ ที่จริง ผมมีเมสเสจในใจ แต่ไม่อยากไปปิดกั้นให้มันเป็นประตูที่ปิดตาย” ภานรินทร์ สื่อจินดาภรณ์ กล่าว

ทุกๆ งานจะมีวิดีโอแนะนำกำกับในรูปแบบของตัวเอง เช่น งาน WAVE/SITE ของกฤชพล เกตุชู เน้นไปที่สุนทรียศาสตร์ด้านการรับรู้คือการเห็นและการได้ยิน เป็นศิลปะแนวทดลองที่อ้างอิงต้นแบบจากกระบวนการทำงานของพืชควบคู่ไปกับการต่อยอดแนวคิดของนักปรัชญาชาวเยอรมัน Heideggerian ผู้ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือเปิดเผยสิ่งที่ถูกปกปิดไว้ ซึ่งกฤชพลเป็นศิลปินที่เคยจัดแสดงงานจำพวกนี้มาแล้ว เช่น การแสดงดนตรีทดลอง, Sound of Sound

ณัฐดนัย จิตต์บรรจง ศิลปินที่ทำงานสื่อผสมจัดวาง 333 JITBUNJONG : THE HEIRS เชื่อมตัวเองกับเข้ากับประวัติศาสตร์ของประเทศไทยและครอบครัวตัวเอง เขานำเรื่องราวของปู่ที่เคยไปรบที่สมรภูมิลาวในภารกิจลับของหน่วยรบ 333 มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวของมหากาพย์สงครามเย็น เพื่อสื่อสารว่าปู่เป็นเพียงฟันเฟืองชิ้นเล็กๆ ในสงครามที่มหาอำนาจใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น แต่ทำให้ชีวิตคนนับล้านต้องดับสูญไป เป็นการนำความทรงจำเป็นตัวแทนจิ๊กซอว์เพื่อให้ผู้ชมมองประวัติศาสตร์ของชาติและกลไกทางอำนาจในบริบทที่แตกต่างออกไป

นั่งร้านที่ต่อกันเป็นโครงสร้างใหญ่ทางบริเวณทางเข้างานด้านซ้ายเป็นผลงาน (UN)RECOGNIZED PROJECTION ของณัท เศรษฐ์ธนาในแนวคิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบของเมือง หรือ Gentrification ในย่านเจริญกรุงซึ่งเป็นแถบที่อยู่อาศัยของศิลปินเอง เขามองเมืองเป็น exhibition และเห็นการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมระหว่างคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและแรงกระเพื่อมที่หลากหลาย

“เมืองก็คือแกลเลอรีที่เรามองเห็นตึกรามบ้านช่องที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ มันมีความชั่วคราวอยู่มาก ผมจึงคิดว่ามันน่าจะไปได้ดีกับพื้นที่จัดแสดง ผมตีความการ gentrification ว่าเราสามารถมองเห็นรูปร่างที่เปลี่ยนไปโดยใช้โครงสร้างนั่งร้านเพื่อพูดถึงความชั่วคราวของโครงสร้าง มีทั้งใหม่และเก่าเหมือนการอยู่ร่วมกันของคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่” ณัท เศรษฐ์ธนา เจ้าของผลงานกล่าวอธิบาย

“ปกติแล้วพอเรามองเมือง เราจะไม่มองคน เหมือนการที่คนที่ไปไล่ที่เขา จะไม่มองว่าพื้นที่ตรงนั้นมีบริบทหรือประวัติศาสตร์อย่างไร แต่เขาจะมองว่ามันเป็นพื้นที่ที่ทำกำไร ดังนั้นโครงสร้างสถาปัตยกรรมมันเลยดูสำคัญกว่าคนที่อยู่ด้านใน”

ณัท เศรษฐ์ธนา

“การที่ผมเปลี่ยนแปลงพื้นที่ข้างในนิทรรศการด้วยการเอาภาพเข้ามาติดหรือรื้อถอนโครงสร้างทั้งหมดออกไปแล้วบันทึกมันไว้ก็คือการศึกษาพื้นที่ คนที่เข้ามาดูจะเห็นสัญลักษณ์พวกนี้ในมุมมองไหน เชื่อมโยงได้อย่างไรบ้าง อย่างเจริญกรุงถูกสร้างขึ้นมาด้วยคอนเซ็ปต์ของความศิวิไลซ์ในยุคนั้นเพื่อโชว์ชาติตะวันตก ซึ่งผมเห็นการเชื่อมโยงกันของประวัติศาสตร์นี้กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันด้วย”

ท้ายที่สุดแล้ว ผลงานจากศิลปินที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นสดใหม่ของอาชีพจะได้รับทุนสนับสนุนการเดินทาง (Mobility Funding) และทุนในการเป็นศิลปินพำนัก (Residency Funding) เพื่อสร้างสรรค์และฟาดฟันต่อไปในวันที่พื้นที่ทางศิลปะผลุบหายลงไปเรื่อยๆ แต่ศิลปินไม่อาจเสื่อมสลายด้วยอำนาจที่มองลงมาด้วยสายตาไร้ศิลปะ

สำหรับผู้ที่สนใจชมผลงานของพวกเขาเหล่านี้ งาน Early Years Project ครั้งที่ 3 จะจัดไปจนถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2561 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

ภาพถ่ายโดย: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

Tags: , , , ,