ดีแทคตั้งข้อสังเกต การประมูลคลื่น 5G ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นี้ ซึ่งดาวเด่นอยู่ที่คลื่น 2600 MHz แต่เป็นคลื่นที่มีช่องสัญญาณน้อยเกินกว่าความคุ้มค่าลงทุน แต่หากรอไม่กี่เดือน คลื่น 3500 MHz ก็จะหมดสัมปทานกับไทยคม และพร้อมนำมาประมูลเพื่อให้บริการ 5G แก่ประชาชนได้

ตามแผนนั้น กสทช. กำลังจะจัดให้มีการประมูลคลื่นทั้งหมด 4 ย่านคลื่นความถี่ คือ ย่าน 700MHz, ย่าน 1800 MHz, ย่าน 2600 MHz และ 26 GHz โดยการประมูลคลื่นแบบหลายย่านความถี่ (Multiband Auction) พร้อมกันครั้งนี้ ได้รับความสนใจเพราะคลื่น 2600 MHz และ 26 GHz จะสามารถนำมาให้บริการคลื่น 5G ได้

เสนอรวมคลื่น 3500 MHz เข้าประมูลพร้อมกัน พัฒนาคุณภาพ 5G

เนื่องจากเทคโนโลยี 5G เป็นสิ่งที่คนเฝ้ารอ แต่คลื่น 26 GHz นั้นยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการรบกวนคลื่นความถี่หรือที่เรียกว่าคลื่นไม่คลีน (clean) คลื่นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดรอบนี้ จึงพุ่งเป้าไปที่คลื่น 2600 MHz 

โดยรูปแบบการประมูลครั้งนี้ สำหรับคลื่นย่าน 2600 Mhz กำหนดการถือครองที่ 19 สล็อต (สล็อตละ 10 MHz รวม 190 Mhz) โดยกำหนดเพดานการถือครองจำนวนคลื่นเอาไว้รายละ 100 MHz

ทางดีแทคกล่าวว่า ด้วยปริมาณการถือครองที่มีเพียงเท่านี้ อาจจะน้อยเกิดไปสำหรับภาคธุรกิจที่มีศักยภาพในการประมูล (Potential Bidder) ที่จะต้องคิดตัดสินใจวางแผนการลงทุน เพราะเทคโนโลยี 5G เรียกร้องอุปกรณ์ที่แตกต่างไป หากคลื่น 2600 MHz มีให้ประมูลรายละเพียงแค่ 100 MHz ก็น้อยเกินความคุ้มค่าในการลงทุน

ด้วยเหตุนี้ ดีแทคจึงเสนอว่า หากรออีกเพียงแค่ไม่กี่เดือน คลื่น 3500 MHz ก็จะหมดสัมปทานกับไทยคมและสามารถนำมาประมูลพร้อมกันได้ ซึ่งก็จะทำให้มีช่วงสัญญาณ (Bandwidth) ให้บริการที่มากขึ้น หรือหากจะยังไม่นำมาประมูลก็ควรให้ข้อมูลว่าจะนำมาประมูลเมื่อไร ภาคธุรกิจเองก็จะได้ประเมินต้นทุนสำหรับการลงทุนโครงข่ายได้ด้วย

“ถ้าไม่สามารถเลื่อนไปเพื่อประมูลคราวเดียวกันทั้งสองคลื่นได้ ก็อาจเลื่อน 2600 ออกไปก่อน เพื่อให้คนที่ประมูล 2600 มีข้อมูลมากพอที่ตัดสินใจ” นฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ กล่าวให้ข้อมูลเพิ่มเติม

นอกจากนี้ คลื่น 3500 MHz ยังเป็นคลื่นที่ทั่วโลกใช้งาน (ดูจากภาพ สีแดงคือประเทศที่ใช้ช่วงคลื่น 3500 MHz) นั่นหมายความว่า การพัฒนาระบบสัญญาณ บริการ สำหรับย่านความถี่นี้ มีอีโคซิสเต็มรองรับ ที่คุ้มค่าแก่การลงทุนกว่าคลื่น 2600 MHz

เปลี่ยนการกำหนดแคป ขยับเพดานตามจำนวนผู้ประมูล

มาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ตั้งข้อสังเกตว่า  “เรื่องสเปกตรัมแคป ที่กำหนดไว้ 100 MHz แปลว่าอาจมีผู้ชนะการประมูลได้แค่สองราย” เขายกตัวอย่างว่า สมมติผู้ให้บริการสองรายใหญ่ประมูลได้คลื่นไป ขณะที่อีกรายไม่มีบริการ 5G ก็จะทำให้เกิด Market Distortion หรือการบิดเบือนจองตลาด ทั้งที่ผู้ให้บริการทุกรายต่างก็ควรมีบริการ 5G” 

ข้อเสนอคือ ให้กสทช. พิจารณาออกหลักเกณฑ์เรื่องเพดานการครองถือครองใหม่ โดยพิจารณาจากจำนวนผู้เข้าประมูล เช่น กำหนดเพดานการถือครองที่ 60 MHz สำหรับกรณีที่มีผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่า 3 ราย หรือ 80 MHz หากมีผู้เข้าประมูล 3 ราย และ 100 MHz สำหรับกรณีมีผู้เข้าประมูล 2 ราย

ช่วงคลื่นที่ไม่สะอาด ควรมีแนวทางการจัดการที่ชัดเจน

มาร์คุส กล่าวถึงปัญหาเรื่องช่วงคลื่นไม่คลีน คือมีสัญญาณรบกวนจากผู้ใช้งานอื่นๆ อยู่นั้น ซึ่งพบว่าคลื่น 2600 MHz มีช่องสัญญาณที่มีการใช้งานอยู่แล้ว 2 สล็อต หรือรวม 20 MHz นี่เป็นเรื่องที่กสทช. ต้องจัดการและเปิดเผย ขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้านก็ใช้คลื่น 2600 MHz อยู่เช่นกัน แต่ใช้เทคโนโลยีที่ต่างกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กสทช. ควรจัดการก่อนจะมีการประมูล

ทั้งนี้ ในขณะที่ยังไม่ชัดเจนว่ากสทช. จะจัดการกับคลื่นที่ไม่สะอาดได้อย่างไร ทางดีแทคเองมีข้อเสนอต่อวิธีการประมูลว่า แทนที่จะใช้วิธีประมูลราคาไปก่อนแล้วค่อยมาเลือกตำแหน่งช่วงคลื่น ซึ่งผู้ประมูลอาจเจอความเสี่ยงได้รับช่วงคลื่นที่มีสัญญาณรบกวนไป ดังนั้นก็อาจใช้วิธีจัดการประมูลที่เปิดเผยตำแหน่งช่วงคลื่นที่จะประมูลไปด้วย โดยคลื่นที่มีสัญญาณรบกวนก็จะเป็นการประมูลโดยที่ผู้ประมูลรับรู้ข้อจำกัดนั้นอย่างตรงไปตรงมา

คลื่นที่ราคาแพงที่สุดติดอันดับโลก

มาร์คุสกล่าวว่า ราคาประมูลของไทยนั้น แพงติดอันดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คลื่น 1800 MHz ที่กสทช.ตั้งราคาไว้ที่สล็อตละ 12,486 ล้านบาท ถือเป็นราคาที่แพงที่สุดในโลก ส่วนคลื่น 2600 MHz ก็แพงเป็นอันดับสามที่สล็อตละ 1,862 ล้านบาท และคลื่น 26 GHz นั้น แพงเป็นที่สองของโลก ที่ราคาสล็อตละ 423 ล้านบาท 

การจ่ายค่าสัมปทานราคาแพง จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจอย่างแน่นอน แม้มักมีคำกล่าวอ้างว่าผู้ให้บริการก็สามารถเรียกเก็บค่าใช้บริการแพงขึ้นได้ แต่ในความเป็นจริงมันไม่เป็นเช่นนั้น 

“ถ้าจะลงทุนในราคาคลื่นที่แพง ก็แปลว่าคลื่นดังกล่าวจะทำรายได้เพิ่มขึ้น แต่เงื่อนไขของประเทศไทย การลงทุนที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้ได้รายได้เพิ่มขึ้น” มาร์คุสกล่าวพร้อมแสดงความกังวลว่า ค่าสัมปทานราคาแพงจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ กสทช. จะจัดประชาพิจารณ์ ต่อร่างกสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ

ในวันอังคารที่ 3 ธันวาคม จากนั้น ภายในวันที่ 27 ธันวาคมนี้ จะสรุปรายละเอียดในร่างกสทช. เพื่อนำไปสู่การสรุปรายละเอียดการประมูลคลื่นอีกครั้ง

Tags: , ,