เวลาประมาณ 13.00 น. ของวันที่ 3 กันยายน 2562 พันตำรวจเอกไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจโทวรรณพงษ์ คชรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พันตำรวจโทกรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจโทเชน กาญจนาปัจจ์ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค พันตำรวจโทเสฏฐ์สถิตย์ สุวรรณกูด รองผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวีย์ ไวยวุฒิ ผู้อำนวยการกองสารพันธุกรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ดร.สว่างทิตย์ ศรีกิจสุวรรณ หัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมอวกาศและทะเล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และพันตำรวจตรีนิรุท อินธิศร ผู้บังคับกองร้อย กองกำกับการ 3 กองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ร่วมกันแถลงความคืบหน้ากรณีการหายตัวไปของ นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและพื้นที่อยู่อาศัยชาวกะเหรี่ยง ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
ตามที่คณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ให้การกระทำความผิดทางอาญา กรณีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ แกนนำประชาชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย เป็นคดีพิเศษที่ต้องสืบสวนและสอบสวนตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 พฤติการณ์กล่าวคือ นายพอละจี ได้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจับกุมในระหว่างนำน้ำผึ้งออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 โดยเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวอ้างว่าได้ปล่อยตัว นายพอละจี พร้อมรถจักรยานยนต์และนำผึ้งของกลางไปโดยไม่ได้ดำเนินคดี แต่นางสาวพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของนายพอละจี และญาติ เชื่อว่า นายพอละจีหายสาบสูญไปโดยถูกบังคับ
DSI ได้มีการแต่งตั้งพนักงานอัยการจากสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นที่ปรึกษาคดีพิเศษและได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ประกอบไปด้วย สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และตัวแทนจากองค์การนอกภาครัฐ (NGO) ร่วมกันสืบสวนสอบสวน
โดยในวันที่ 26 เมษายน 2562 และวันที่ 22 – 24 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ใช้เครื่องยานยนต์สำรวจใต้น้ำจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และนักประดาน้ำจากกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ตรวจหาพยานหลักฐานบริเวณพื้นที่ใต้น้ำสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน
ก่อนพบชิ้นส่วนกระดูกจำนวน 2 ชิ้น ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร จำนวน 1 ถัง เหล็กเส้นจำนวน 2 เส้น ถ่านไม้จำนวน 4 ชิ้น และเศษฝาถังน้ำมัน จากนั้น ได้ส่งให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ทำการตรวจพิสูจน์พบว่า วัตถุเป็นชิ้นส่วนกระดูกกะโหลกศีรษะข้างซ้ายของมนุษย์ มีรอยไหม้สีน้ำตาล ร่วมกับรอยแตกร้าว และการหดตัวของกระดูกจากการถูกความร้อนที่อุณหภูมิประมาณ 200 – 300 องศาเซลเซียส และเมื่อนำมาตรวจเทียบสารพันธุกรรม พบว่าตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของบิลลี่
เมื่อพิจารณาจากสถานที่เกิดเหตุ พยานหลักฐานในสำนวนอื่นประกอบ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงเชื่อว่า วัตถุดังกล่าวเป็นกระดูกของบิลลี่ ซึ่งเสียชีวิตโดยไม่ทราบวีธีการ แต่นำมาเผาทำลายเพื่ออำพรางคดี ส่วนถังน้ำมัน เหล็กเส้น ถ่านไม้ และเศษฝาถังน้ำมัน ได้ส่งศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 7 สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ทำการตรวจพิสูจน์หาร่องรอยการผ่านความร้อนและการผุกร่อน ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิสูจน์
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 28 – 30 สิงหาคม 2562 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร่วมกับ นักประดาน้ำ จากกองบังคับการสนับสนุนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ตรวจหาพยานหลักฐานที่พื้นที่ใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจานเพิ่มเติม และพบชิ้นส่วนกระดูกเพิ่มเติมอีก 20 ชิ้น ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการ
ทั้งนี้ DSI เห็นว่า พฤติการณ์ของกลุ่มคนร้ายที่กระทำผิดครั้งนี้ เข้าข่ายลักษณะเป็นการฆาตกรรมโดยทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED) ซึ่งหลังจากนี้ จะเร่งรัดสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่มองค์กรที่กระทำความผิดโดยเร็ว หากผลการสอบสวนมีความคืบหน้าจะแถลงให้ทราบโดยทันที
ทั้งนี้ DSI ยังไม่ออกมายืนยันว่าใคร หรือกลุ่มไหนเป็นผู้เกี่ยวข้องชัดเจน
บิลลี่เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและพื้นที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยง ในเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าแก่งกระจาน ในปี 2554 ระหว่างที่เขาจ่อฟ้องคดีต่อเจ้าหน้าที่ กรณีเข้ารื้อและทำลายทรัพย์สินบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยง ซึ่งต่อมาในวันที่ 17 เมษายน 2557 บิลลี่ได้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวไปสอบสวนบริเวณด่านมะเร็ว ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี
ต่อมาในวันที่ 18 เมษายน 2557 บิลลี่ยังไม่กลับมา ครอบครัวและชาวบ้านจึงได้เข้าแจ้งความที่ สน.แก่งกระจาน เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบพบว่า นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยาน นำตัวบิลลี่ไป โดยให้เหตุผลว่าบิลลี่มีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครองจึงเรียกไปตักเตือนแต่ยืนยันว่าได้ปล่อยตัวไปแล้ว
24 เมษายน 2557 นางพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มีนอ ภรรยาของบิลลี่ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉินตาม ป.วิอาญามาตรา 90 โดยถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเชื่อว่าบิลลี่ยังถูกเจ้าหน้าที่อุทยานควบคุมตัวอยู่ ต่อมาศาลยกคำร้อง โดยระบุว่า หลักฐานไม่เพียงพอ
เวลาล่วงเลยมาถึงต้นปี 2561 ดีเอสไอจึงยอมรับคดีการหายตัวของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ ก่อนจะมาพบหลักฐานชิ้นสำคัญในวันที่ 2 กันยายน 2562 เป็นถังน้ำมันจำนวน 200 ซึ่งภายในบรรจุกระดูกมนุษย์
ทั้งนี้ ในวาระครบรอบการหายตัวไปครบ 5 ปีของบิลลี่ เมื่อ 14 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา มินอ ภรรยาของบิลลี่ได้เขียนจดหมายมีใจความว่า “ช่วงสงกรานต์ของทุกๆปี ในขณะที่หลายๆ คนมีความสุขสนุกสนานกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ครอบครัวของฉันมีความรู้สึกทั้งเศร้าบ้าง เฉยๆ บ้าง สนุกกับเขาบ้างเพียงเล็กน้อยแค่นั้นเอง”
จดหมายที่เขียนด้วยลายมือของมินอยังมีใจความเรียกร้องให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ หันหน้าเข้ามาคุยเจรจากัน และเรียกร้องให้ให้รัฐบาลเร่งพิจารณากฎหมายคุ้มครองบุคคลสูญหาย และใช้อย่างเคร่งครัด รวมถึงคุ้มครองบุคคลที่เรียกร้องสิทธิชุมชน ครอบคลุมให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ของประเทศไทยและทั่วโลก
โดยความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายคือ สนช. ตัดสินใจถอดร่างดังกล่าวออกจากวาระการประชุมเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา
อ้างอิง:
https://www.thairath.co.th/news/politic/1651945
https://news.thaipbs.or.th/content/283675
https://thaipublica.org/2019/04/polajee-billy/
https://prachatai.com/journal/2019/03/81363
ภาพโดย: ฐิตินันท์ เสมพิพัฒน์
Tags: ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย, อุ้มหาย, พอละจี รักจงเจริญ, DSI, บิลลี่