ศัพท์ในภาษาอังกฤษที่เราใช้ทุกวันนี้มีจำนวนไม่น้อยที่แม้ถือกำเนิดมาจากคำเดียวกัน (เรียกว่า doublets) แต่โชคชะตานำพาให้ต้องแยกกันไปคนละทิศคนละทาง คล้ายคู่แฝดที่พัดพรากจากกันตอนเกาหลีหรือเยอรมนีแบ่งประเทศ

เมื่อเติบโตกันคนละที่ หลายครั้งความหมายจึงพัฒนากันไปคนละทิศจนแทบไม่เหลือความเชื่อมโยงระหว่างกันให้เห็น

สัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่า ในบรรดาศัพท์ใกล้ตัวที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน มีคำอะไรบ้างที่อันที่จริงแล้วมีคู่แฝดซ่อนอยู่ และเหตุใดคู่คำเหล่านี้จึงมีหน้าตาและความหมายต่างกันราวกับไม่ได้เป็นแฝดกัน

Tradition – Treason

คำว่า tradition ที่แปลว่าประเพณีนั้น อันที่จริงแล้วมีที่มาเดียวกับคำว่า treason ที่แปลว่ากบฏ แต่ที่ความหมายต่างกันราวฟ้ากับดินก็เพราะพัฒนาแยกจากกัน เหมือนแฝดที่ดันไปโตกันคนละที่คนละทาง

ทั้งสองคำมาจากกริยา tradere ในภาษาละติน ประกอบขึ้นจาก trans- แปลว่า ข้าม ผ่าน เช่นในคำว่า transfer (การถ่ายทอด) มารวมกับกริยา dare แปลว่า ให้ เช่นที่พบในคำว่า donation (การบริจาค) หรือชื่อเฉพาะอย่าง Theodore (แปลว่า ของขวัญจากพระเจ้า) เมื่อรวมกันเลยมีความหมายว่า ส่งต่อ มอบให้ต่อ

คำนี้ไปโตที่หนึ่งหมายถึงสิ่งที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น สิ่งที่เคยปฏิบัติมาแล้วส่งไม้สืบต่อกันมาเรื่อยๆ กลายเป็นคำว่า tradition และมีความหมายว่าประเพณีอย่างในทุกวันนี้

แต่คำเดียวกันไปโตอีกที่อีกเวลา แม้ยังหมายถึง ส่งต่อ แต่สิ่งที่ส่งต่อนี้คือความลับของบ้านเมือง ข้อมูลที่ทำให้ศัตรูได้เปรียบ และผู้รับคือฝ่ายตรงข้าม ทำให้มีความหมายเชิงลบ เกิดเป็นคำว่า treason ที่แปลว่า กบฏ ในทุกวันนี้

Hospital – Hotel

แม้โรงพยาบาลและโรงแรมจะเป็นสถานที่คนละประเภทกัน อันหนึ่งน่าไปนอนค้างกว่าอีกอัน แต่หากสาวสาแหรกกลับไปดูต้นตระกูลแล้ว จะเห็นว่าทั้งสองคำพัฒนามาจากคำเดียวกัน คือคำว่า hospitale ในภาษาละติน หมายถึง โรงเตี๊ยม สถานที่ที่ใช้รับรองแขกที่มาอ้างแรม หรือ ที่พัก

ความหมายที่แปลว่า ที่พัก นี้เริ่มแตกออกมาเป็นสองสาย ในสายแรก ที่พัก เริ่มมีความหมายแคบลง คือเริ่มเจาะจงว่าเป็นที่พักสำหรับผู้ยากไร้ ไปๆ มาๆ ที่พักเหล่านี้เริ่มมีลักษณะเป็นทางการขึ้น มีการดูแลช่วยเหลือผู้ยากไร้เป็นเรื่องเป็นราว แน่นอนว่าคนยากคนจนที่ต้องการการดูแลก็มักไม่ค่อยแข็งแรง เจ็บไข้ได้ป่วย คำนี้จึงกลายมาหมายถึง สถานพยาบาล หรือ โรงพยาบาล หรือคำว่า hospital ในปัจจุบัน

ส่วนในอีกสายหนึ่ง ความหมายที่แปลว่า ที่พัก เริ่มเปลี่ยนไปจากเดิม คือจากที่เคยใช้เรียกโรงเตี๊ยมกระจอกๆ กลับเริ่มนำมาใช้เรียกที่พักที่หรูขึ้น มีลักษณะเป็นบ้านหรือคฤหาสน์ขนาดใหญ่ ไปๆ มาๆ จึงนำมาใช้เรียก สถานที่ที่ให้บริการให้คนมาเข้าพัก และกลายมาเป็นคำว่า hotel หรือโรงแรมอย่างในปัจจุบัน ส่วนที่ตัวหนังสือใน hospitale หล่นหายไปหลายตัวจนเหลือแค่ hotel นั้น ก็เพราะรับผ่านภาษาฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าแห่งการละเสียงพยัญชนะนั่นเอง

Camera – Chamber

สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว คำสองคำนี้น่าจะดูไม่มีความสัมพันธ์อะไร เพราะคำหนึ่งเป็นอุปกรณ์ใช้ถ่ายภาพ ส่วนอีกคำใช้เรียกสถานที่ แต่อันที่จริงแล้วกล้องและห้องเป็นแฝดที่มาจากคำคำเดียวกัน นั่นคือคำว่า camera ในภาษาละติน ซึ่งยืมมาจากคำว่า kamara ในภาษากรีกอีกทอด หมายถึง ห้องหลังคาโค้ง

ภาษาฝรั่งเศสยืมคำนี้ไปใช้เป็นคำว่า chambre และใช้ในความหมายที่แปลว่า ห้องในบ้าน คือไม่ต้องมีหลังคาโค้งก็ได้ ภายหลังภาษาอังกฤษยืมมาใช้หมายถึงห้องต่างๆ เป็นได้ทั้งห้องในบ้าน ห้องของผู้พิพากษา รวมไปถึงห้องหัวใจด้วย

แต่ในขณะเดียวกัน ช่วงต้นศตวรรษที่ 18 เริ่มมีคนใช้หลักการกล้องรูเข็มสร้างอุปกรณ์ที่เป็นบรรพบุรุษของกล้องในปัจจุบัน อุปกรณ์นี้ประกอบด้วยห้องมืดหรือกล่องดำที่เจาะรูให้แสงทะลุผ่านได้ เพื่อฉายจากภายนอกลงบนพื้นหลังของห้องมืดหรือกล่องดำ เนื่องจากอุปกรณ์นี้ใช้ห้องมืดหรือกล่องดำ จึงมีคนตั้งชื่อให้ว่า camera obscura หรือที่ภาษาไทยเรียก กล้องทาบเงา มีความหมายตรงตัวว่า ห้องมืด เพราะมาจากคำว่า camera ที่แปลว่า ห้อง รวมกับ obscura ที่แปลว่า มืด และเป็นที่มาของคำว่า obscure ในปัจจุบัน เมื่อเวลาผ่านไป คนเรียกสั้นลงจนเหลือแค่ camera และนำมาใช้เรียกกล้องถ่ายรูปชนิดต่างๆ อีกทั้งยังย่อเหลือ cam แล้วนำไปสร้างคำที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพเช่น webcam อีกด้วย

Cloak – Clock

นอกเหนือจากการสะกดคำที่คล้ายคลึงกันแล้ว คำว่า cloak ที่แปลว่า เสื้อคลุม และ clock ที่แปลว่า นาฬิกา ก็ดูจะไม่ได้มีความเชื่อมโยงกันใดๆ แต่แท้จริงแล้ว สองคำนี้กลับเป็นแฝดที่มีต้นตอเป็นคำเดียวกัน นั่นก็คือคำว่า clocca ในภาษาละติน หมายถึง ระฆัง

ที่ clocca หรือ ระฆัง กลายมาหมายถึง เสื้อคลุม ได้ ก็เพราะหากมองรูปทรงของเสื้อคลุมของนักเดินทางสมัยก่อน ก็จะเห็นว่ามีลักษณะคล้ายระฆังอยู่เหมือนกัน คือมีส่วนโค้งแคบช่วงคอและไหล่คล้ายส่วนบนของระฆัง ส่วนชายผ้าลู่ลงหรือบานออกคล้ายส่วนล่างของระฆัง อีกทั้งด้านในยังกลวงเหมือนระฆังอีกด้วย ภาษาฝรั่งเศสเก่าจึงนำคำที่ใช้เรียกระฆังมาใช้เรียกเสื้อคลุมแบบนี้นั่นเอง

ส่วนที่ระฆังกลายมาเป็นนาฬิกาได้ก็เพราะแต่เดิมใช้การตีระฆังบอกเวลา ชาวดัตช์สมัยก่อนเรียกระฆังในหอระฆังตามโบสถ์ว่า clocke (มาจาก clocca อีก) ภายหลังภาษาอังกฤษรับคำนี้มาใช้ แต่ด้วยความที่ภาษาอังกฤษมีคำว่า bell ให้ใช้เรียกระฆังอยู่แล้ว จึงไม่ได้เอา clocke มาใช้หมายถึง ระฆัง อย่างในภาษาดัตช์ แต่เอามาใช้เรียกอุปกรณ์ที่ส่งเสียงบอกเวลา คำว่า clock จึงกลายมาหมายถึง นาฬิกา ต่อมานาฬิกาพัฒนาไปมากจนบางครั้งมีแต่หน้าปัดดิจิตอล ไม่มีระฆังหรือกระดิ่งให้เห็นแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างระฆังและนาฬิกาจึงยิ่งเจือจางลงไปอีกจนหลายคนมองไม่เห็นความเชื่อมโยงแล้ว

Chair – Cathedral

แม้เก้าอี้กับมหาวิหารดูแล้วจะไม่ค่อยมีความเกี่ยวข้องกันเท่าไหร่ แต่ที่จริงแล้วทั้งคำว่า chair และ cathedral นั้น ต่างเป็นคำที่มาจากคำว่า kathedra ในภาษากรีก หมายถึง เก้าอี้ ที่นั่ง ประกอบขึ้นจาก kata- หมายถึง ลง รวมกับ hedra แปลว่า ที่นั่ง หรือ หน้าตัด

แม้ kathedra และ chair จะมีความหมายเหมือนกันคือ เก้าอี้ แต่หลายคนก็อาจยังสงสัยอยู่ว่า kathedra มีรูปร่างหน้าตาเพี้ยนไปจนกลายเป็น chair ได้อย่างไร ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะคำว่า kathedra ถูกส่งผ่านหลายมือกว่าจะมาถึงภาษาอังกฤษ คือผ่านทั้งภาษาละตินและภาษาฝรั่งเศส เนื่องจากภาษาฝรั่งเศสชอบเปลี่ยนเสียง ค ในคำที่ยืมมาเป็น ช (เช่น candle เป็น chandelier หรือ castle เป็น chateau) และชอบละเสียงนู่นนี่ คำว่า kathedra จึงเพี้ยนไปเป็น chair ในที่สุด

ส่วนที่เก้าอี้กลายมาเป็นมหาวิหารได้ก็เพราะเก้าอี้ที่ว่านี้เจาะจงว่าเป็น เก้าอี้ของบิชอป (ซึ่งเก้าอี้ในที่นี้อาจบอกว่ามีความหมายเปรียบเปรยก็ได้ คือใช้เก้าอี้หมายถึงตำแหน่งหน้าที่ คล้ายในสำนวน “เลื่อยขาเก้าอี้” ในภาษาไทย) โบสถ์ที่มีพระบิชอปอยู่จึงเรียก cathedral church ไปๆ มาๆ จึงเรียกย่อเหลือเพียง cathedral อย่างที่ใช้ในปัจจุบัน cathedral จึงกลายมามีความหมายว่า มหาวิหาร นั่นเอง

 

 

บรรณานุกรม

  • American Heritage Dictionary of the English Language
  • Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.
  • Donald, Graeme. Words of a Feather: An Etymological Exploration of Astonishing Word Pairs. Metro Publishing: London, 2015
  • Edelstein, Stewart. Dubious Doublets: A Delightful Compendium of Unlikely Word Pairs of Common Origin, from Aardvark/Porcelain to Zodiac/Whiskey. John Wiley & Sons: New Jersey, 2003.
  • Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Shorter Oxford English Dictionary
  • The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.
Tags: , ,