เมื่อได้อ่านรายละเอียดมาตรการใหม่ ‘ชิม ช้อป ใช้’ ของรัฐบาลคณะปัจจุบันแล้วก็อดไม่ได้ที่จะเอามือปาดเหงื่อ ผู้เขียนขอออกตัวไว้ก่อนว่าไม่ได้มีปัญหากับการโอนเงินช่วยเหลือคนจน (อ่านได้ใน แจกเงินคนจน เป็นนโยบายที่ดีจริงๆ หรือ?) เพราะเป็นแนวทางที่ได้รับการพิสูจน์จากหลายแห่งทั่วโลกแล้วว่ามีประสิทธิภาพมากกว่าการแจกจ่ายของ
อย่างไรก็ดี การโอนเงินใส่มือคนทั่วไปโดยแทบจะไร้กลุ่มเป้าหมายแบบทุกคนในสังคมเสมอหน้ากันมันเป็นคนละเรื่อง เนื่องจากเป้าหมายหลักของนโยบายลักษณะนี้คือการกระตุ้นเศรษฐกิจล้วนๆ โดยไม่สนใจในประเด็นการกระจายรายได้แต่อย่างใด นโยบายนี้คงกล่าวได้เต็มปากว่าเป็น ‘ประชานิยม’ เต็มขั้น
เศรษฐศาสตร์ฝั่งอุปสงค์ที่มาผิดเวลา
บางคนอาจออกมาเถียงว่านี่คือแนวคิดเศรษฐศาสตร์ฝั่งอุปสงค์ (Demand-side economics) ชูธงโดยเจ้าสำนักอย่างจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ผู้เสนอเศรษฐศาสตร์มหภาคทฤษฎีใหม่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อบรรเทาปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (the Great Depression) โดยให้รัฐบาลเป็นเครื่องจักรหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปรับนโยบายการคลังให้ขาดดุล เน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งสร้างผลิตภาพ รวมถึงกระตุ้นภาคเอกชนโดยการลดภาษี ส่วนเงินที่ใช้ดำเนินนโยบายนั้นก็ค่อยมาเก็บออมทีหลังในช่วงเศรษฐกิจดี
แกนกลางหนึ่งของสำนักเคนส์คือแนวคิดตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multiplier) ที่เสนอว่าเมื่อภาครัฐใช้จ่ายเงิน 100 บาทจะสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามากกว่า 100 บาทซึ่งสะท้อนผ่านตัวคูณ เช่น หากตัวคูณของนโยบายทางการคลังเท่ากับ 5 เท่า นั่นหมายความว่ารัฐบาลใช้จ่าย 100 บาทจะสามารถสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวม 500 บาทนั่นเอง
แนวคิดดังกล่าวถูกหักล้างโดยนักคิดนีโอคลาสสิก เช่น มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) ที่มองว่าสำนักเคนส์ประเมินค่าตัวคูณสูงเกินไป งานวิจัยในปัจจุบันก็สอดคล้องกับข้อเสนอดังกล่าวโดยพบว่าตัวคูณทางการคลังในหลายประเทศมักมีค่าน้อยกว่าหนึ่ง หรือกระทั่งติดลบในบางประเทศ
ส่วนในประเทศไทย คณะวิจัยจากธนาคารแห่งประเทศไทยก็พบว่าเงินโอนรายจ่ายประจำ (Current Transfer) เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือนมีตัวคูณที่น้อยมากๆ คือ 0.10 – 0.38 เท่านั้น นั่นหมายความว่าหากรัฐบาลใช้งบประมาณแจกเงินท่องเที่ยว 1,000 บาท จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้สูงสุดได้เฉลี่ยราว 380 บาท แต่การตีความงานวิจัยในลักษณะดังกล่าวอาจประเมินตัวคูณของนโยบายแจกเงินต่ำเกินไปสักหน่อย เพราะตัวเลขดังกล่าวคำนวณมาจากค่าเฉลี่ยที่รวมเอานโยบายอย่างกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือประกันสังคมเข้าไปด้วย ซึ่งหากถอดปัจจัยดังกล่าวออกไป ตัวคูณก็น่าจะกระเตื้องขึ้นอีกพอสมควร แต่ก็น่าจะยังน้อยกว่า 1 อยู่ดี
หัวใจสำคัญที่จะทำให้นโยบายเศรษฐศาสตร์ฝั่งอุปสงค์ประสบผล คือการที่ประชาชนซึ่งได้รับการอัดฉีดใช้เงินอย่างไม่ลืมหูลืมตาโดยไม่เก็บออม เมื่อเงินเปลี่ยนมือบ่อยมากขึ้นเท่าไร มูลค่ารวมของกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
ในมุมมองของผู้เขียน แม้ปัจจุบันจะมีสัญญาณเศรษฐกิจที่ไม่ดีนักจากการชะลอการเติบโตของไทยบ้าง และสารพัดปัจจัยความไม่แน่นอนภายนอก แต่การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฝั่งอุปสงค์ที่ทิ้งหมัดหนักโดยแจกเงินแบบไร้เงื่อนไขแบบนี้ อาจเป็นตัวยาที่แรงเกินควรสำหรับสัญญาณเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันซึ่งยังพอรับมือได้โดยใช้นโยบายทางการเงิน การใช้จ่ายเงินในลักษณะนี้ยังดูนอกลู่นอกทางจากแนวคิดสำนักเคนส์ที่ใช้แรงผลักของรัฐบาลโดยเน้นลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่สำคัญ นโยบายยัดเงินใส่มือในลักษณะนี้ดูจะตรงข้ามกับสโลแกนเก๋ๆ ของรัฐบาลที่ว่ามั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนอย่างเต็มประตู
การใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจฝั่งอุปสงค์ที่ทิ้งหมัดหนักโดยแจกเงินแบบไร้เงื่อนไขแบบนี้ อาจเป็นตัวยาที่แรงเกินควรสำหรับสัญญาณเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันซึ่งยังพอรับมือได้โดยใช้นโยบายทางการเงิน
ไม่มั่นคง บางคนมั่งคั่ง และปราศจากความยั่งยืน
นโยบาย ‘ชิม ช้อป ใช้’ แจกเงินใส่กระเป๋าโดยไร้เงื่อนไขเป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณปกติ นั่นหมายความว่าเม็ดเงินที่นำมาทุ่มครั้งนี้ ย่อมเบียดบังจากนโยบายอื่นๆ เช่น ราคาสินค้าเกษตร การช่วยเหลือภัยแล้งและน้ำท่วม รวมถึงการเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นกลุ่มนโยบายที่มีการระบุกลุ่มผู้ได้รับผลประโยชน์ (targeting) ที่ดีกว่า รวมทั้งยังตอบโจทย์การกระจายรายได้อีกด้วย
ส่วนประเด็นที่ว่าการท่องเที่ยวในประเทศไทยชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก ผู้เขียนก็ยังงงๆ ว่าเอาข้อมูลดังกล่าวมาจากไหน เพราะรายงานธนาคารแห่งประเทศไทยก็ระบุว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศจากจีนและอินเดียเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 5 ในขณะเดียวกัน สถิติจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็ระบุว่าเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีรายได้เพิ่มขึ้นจากนักท่องเที่ยวจากทั้งไทยและต่างประเทศราวร้อยละ 3 จึงชวนสงสัยว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องผันเม็ดเงินไปลงกับภาคการท่องเที่ยวเพิ่มเติม ในขณะที่ยังมีความเดือดร้อนอื่นๆ ที่ดูจะ ‘ด่วน’ กว่าเรื่องนี้
คำถามต่อไปคือเม็ดเงินดังกล่าวจะไปเข้ากระเป๋าใคร หากพลิกดูเงื่อนไข ผู้ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่ย่อมเป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง เนื่องจากเงื่อนไขในการเข้าร่วมจำเป็นต้องใช้ใบอนุญาตของภาครัฐ เช่น ทะเบียนการค้า หรือทะเบียนพาณิชย์ แม้ว่าจะยืดหยุ่นให้หน่วยงานราชการเซ็นรับรองในใบสมัครได้ แต่การได้รับการรับรองย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายแน่ๆ
เงื่อนไขดังกล่าวย่อมกีดกันผู้ประกอบการรายย่อย หรือผู้ประกอบการอิสระ ซึ่งจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวมากที่สุด และมีแนวโน้มจะนำเงินรายได้ไปใช้จ่ายมากที่สุด ในทางกลับกัน การเพิ่มรายได้ของผู้ประกอบการขนาดกลางอาจไม่ได้ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการดังกล่าวมีแนวโน้มสูงที่จะเก็บออม ชะลอการลงทุนและการบริโภคเพื่อดูทีท่าของเศรษฐกิจว่าจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้งหรือไม่
นโยบายประชานิยมในลักษณะนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าขาดความยั่งยืน เพราะทุ่มงบประมาณมหาศาลลงไปแล้ว สิ่งที่ได้กลับมาคือความหวังลมๆ แล้งๆ ว่าจะเก็บภาษีเข้าคลังได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัว ในทางกลับกัน หากรัฐบาลนำเงินไปลงทุนกับโครงการขนาดใหญ่ ผลลัพธ์ที่ได้คือโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนาทางเศรษฐกิจในอนาคต
ต่างจากนโยบายแจกเงินแบบนี้ ที่กล่าวได้ว่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ถึงแม้จะมีรายได้เข้ากระเป๋าผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น แต่ทุกคนก็รู้ดีว่าเป็นแค่เรื่องชั่วครั้งชั่วคราว คงมีผู้ประกอบการน้อยรายที่เห็นยอดขายก้าวกระโดดจากนโยบายนี้ แล้วลงทุนก่อสร้างห้องพักเพิ่มเติม หรือซื้อเครื่องจักรเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต
คำถามถึงปลายทางของนโยบาย
แม้จะมีคำตอบเรื่องเป้าหมายของนโยบายชัดๆ อยู่แล้วว่าต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผู้เขียนก็ยังสงสัยว่ารัฐบาลมีแผนจะวัดผลการดำเนินงานอย่างไร เพราะระบบเศรษฐกิจก็เหมือนเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีกลไกซับซ้อนยุ่บยั่บ เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะวัดว่าการดำเนินนโยบายประสบความสำเร็จเพียงใด
การวัดผลที่ปลายทางว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นเท่าไรจึงไม่เพียงพอ เพราะการแยกผลกระทบจากนโยบายใดนโยบายหนึ่งจำเป็นต้องออกแบบการศึกษาอย่างเคร่งครัด เช่น การศึกษาโดยใช้การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) ซึ่งควรดำเนินการก่อนที่จะทุ่มงบประมาณหลายหมื่นล้านลงสู่ระบบเศรษฐกิจ
แต่ผู้เขียนเดาได้ว่า สุดท้ายตัวชี้วัดที่ได้ออกมาก็แนวๆ ปัจจัยนำเข้า (input) เช่น ผู้สมัครมีจำนวนกี่คน ร้านค้ามีจำนวนกี่ราย มีการใช้จ่ายในแต่ละจังหวัดจำนวนเท่าไหร่ มีเม็ดเงินไหลเวียนจากนโยบายจำนวนเท่าไร ฯลฯ ซึ่งตัวเลขเหล่านี้ไม่ได้ตอบอะไรเลยว่านโยบายดังกล่าวประสบความสำเร็จหรือไม่ เนื่องจากไม่ได้เปรียบเทียบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างมีนโยบายกับไม่มีนโยบาย
ตัวอย่างเช่น ครอบครัวหมีใหญ่ตั้งใจอยู่แล้วว่าจะไปเที่ยวภูกระดึง จ.เลย 4 คน โดยเก็บออมเงินไว้แล้ว 8,000 บาท พอทราบข่าวว่ามีนโยบาย ‘ชิม ช้อป ใช้’ ครอบครัวหมีใหญ่ทั้ง 4 คนก็แย่งชิงสมัครได้วงเงิน 4,000 บาท ทั้งครอบครัวไปเที่ยวภูกระดึงตามแผนและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากที่ตั้งใจไว้เป็น 9,500 บาท จากกรณีตัวอย่างนี้ ผลกระทบจากนโยบายจะเพิ่มการใช้จ่ายจาก 8,000 บาท เป็น 9,500 บาท กล่าวคือรัฐบาลทุ่มเงิน 4,000 บาทไปให้ครอบครัวหมีใหญ่ แต่เพิ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้เพียง 1,500 บาทเท่านั้น
บางคนอาจบอกว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้สังคมไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (cashless society) เนื่องจากนโยบายดังกล่าวจะบีบบังคับให้ทั้งผู้บริโภคและเจ้าของร้านค้าใช้แอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ ที่ดำเนินการโดยภาครัฐ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าขันขื่น เพราะรัฐบาลทำราวกับมองไม่เห็นว่าภาคเอกชนทั้งล้วงทั้งควักเนื้อตัวเองเพื่อให้ผู้บริโภคใช้กระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์ แม้กระทั่งธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็ยังลงมาเป็นผู้เล่นโดยสนับสนุนระบบพร้อมเพย์และการจ่ายเงินโดย QR Code การที่รัฐบาลเข้ามาแย่งส่วนแบ่งในตลาดโดยใช้แอปพลิเคชันของตัวเองนั้นดูจะแปร่งๆ และเป็นการใช้งบประมาณอย่างเปล่าเปลืองเสียมากกว่า
ผู้เขียนมองว่าการโอนเงินให้ประชาชนใช้จ่ายไม่ใช่เรื่องผิด แต่ควรโอนไปยังกลุ่มเป้าหมายและปลายทางที่ชัดเจน เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งผู้เขียนมองว่าหากมีการปรับปรุงเพิ่มเติมในแง่วัตถุประสงค์ก็สามารถตอบโจทย์ทางสังคมได้หลายประการ แต่สำหรับนโยบายอย่าง ‘ชิม ช้อป ใช้’ เรากลับมองว่าเป็นการสิ้นเปลืองทางนโยบายที่ยังดูไม่ออกว่าจะบรรลุผลตามที่รัฐบาลคาดหวังหรือไม่
แต่ไม่ว่านโยบายดังกล่าวจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ก็ตาม การแจกเงินแบบนี้ย่อมได้ใจประชาชนไปเต็มๆ
เอกสารประกอบการเขียน
เครื่องชี้แรงกระตุ้น และตัวคูณทางการคลังของไทย
GROWTH-GOVERNMENT SPENDING NEXUS: THE EVIDENCE OF THAILAND
Keynesian economics: is it time for the theory to rise from the dead?
ร้านค้าเช็กเลย ! วิธีสมัครร่วมมาตรการชิมช้อปใช้ แจกเงินเที่ยว ต้องลงทะเบียนอย่างไร
แจกเงินให้เที่ยว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้ตามประสงค์รัฐบาลประยุทธ์ 2/1 หรือไม่
Fact Box
- การแจกจ่ายเงินแบบไร้เงื่อนไขมีอยู่ในหลายประเทศ เช่น การจ่ายรายได้ขั้นต่ำให้กับทุกคน (Universal Basic Income) ซึ่งเป็นนโยบายที่หลายประเทศกำลังพิจารณาเพื่อนำไปใช้จริงเพื่อบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำและการมาทดแทนแรงงานมนุษย์ด้วยหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ หรือการจ่ายเงินให้กับประชาชนที่อายุเกิน 18 ปีทุกคนบนเกาะฮ่องกงเนื่องจากฮ่องกงมีงบประมาณเกินดุลอยู่มากจึงนำมาแจกจ่ายให้กับประชากรอย่างเท่าเทียมกัน หากฮ่องกงเป็นบริษัท การแจกจ่ายเงินดังกล่าวก็คล้ายกับการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น (ซึ่งก็คือประชาชน) ในปีที่ผลประกอบการดีนั่นเอง