หลังจากที่เผยแพร่บทความเรื่อง การขาดตลาดและราคาที่สูงขึ้นของหน้ากากอนามัยในประเทศไทย ใน The Momentum ไปได้ไม่ถึง 3 ชั่วโมงดี ก็มีข่าวปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งทำงานประสานงานกับพาณิชย์จังหวัดลงตรวจพื้นที่การขายหน้ากากอนามัยซึ่งไม่พบว่ามีการขายหน้ากากอนามัยเกินราคา พลันก็ได้แต่สบถอยู่ในใจ และคิดว่า เรากับเจ้าหน้าที่รัฐนั้นอยู่ในประเทศเดียวกันหรือไม่
ซึ่งดิฉันก็คิดว่าไม่ใช่แค่ดิฉันคนเดียวที่คิดแบบนี้
ปรากฏการณ์การอยู่คนละโลกเดียวกันท่ามกลางวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ในบ้านเรามีให้เห็น ให้โกรธ ให้ด่า เรื่อยมา ตั้งแต่ ไม่มีนักศึกษาไทยในอู่ฮั่นขอกลับประเทศ หน้ากากอนามัยไม่ได้ขาดตลาด ไม่มีการขายหน้ากากอนามัยเกินราคา ฯลฯ ซึ่งสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกมากไปกว่านั้นก็คือ การระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นไม่ได้มีแค่ที่ประเทศไทย แต่ยังเกิดขึ้นในอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก ซึ่งมาตรการที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ทำให้หันมองย้อนกลับมายังประเทศตัวเองและการทำงานของรัฐบาล แล้วยิ่งทำให้เราต้องตั้งคำถามว่า เราอยู่ในโลกใบเดียวกันกับรัฐบาลนี้จริงๆ หรือ หรือการที่เราต้องอยู่ในโลกใบนี้ของรัฐบาล มันจะทำให้เรารอดไหม หรือ #ผงนรจตกม
หน้ากากอนามัย ควบคุม แต่ไม่ ‘จัดการ’
ในขณะที่ไต้หวัน ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงไม่น้อย เนื่องจากอยู่ใกล้และมีการติดต่อกับชาวจีนและชาวฮ่องกง ใช้มาตรการคุมเข้มการเปิดรับนักเดินทางเข้าประเทศ ทั้งการแบนนักท่องเที่ยวจีนจากแผ่นดินใหญ่ กักตัวนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เดินทางมาจากฮ่องกงและมาเก๊า 14 วัน นอกจากนี้ ในเรื่องของหน้ากากอนามัย รัฐบาลยังเข้าควบคุมตั้งแต่การผลิต การเก็บสต็อก และการขาย โดยใช้ระบบการลงทะเบียนผ่านบัตรประชาชน (บัตรประชาชนเราทำอะไรได้บ้าง? หรือต้องถ่ายเอกสารก่อน) ในการซื้อหน้ากากอนามัย คนละไม่เกิน 2 ชิ้นต่อสัปดาห์
ในขณะที่ประเทศไทยนั้น เราใจชื้นตอนที่รัฐบาลออกมาประกาศให้หน้ากากอนามัยและเจลล้างมือแอลกอฮอล์เป็นสินค้าควบคุม แต่แล้วก็ต้องผิดหวังเพราะนอกจากการเข้า ‘ควบคุม’ แล้ว เราไม่เห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับประชาชนอีกเลย ไม่ว่าจะเป็นการนำมาขายเองที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและยังขายในราคาแพง 2.50 บาท/ชิ้น (ซึ่งในขณะนั้นองค์กรรัฐอื่นๆ เช่น องค์กรเภสัชกรรม ขายในราคา ชิ้นละ 1 บาท) จนยกเลิกไป
คำถามที่น่าสนใจก็คือ แล้วทำไมตอนนี้ถึงมีการตั้งราคามาตรฐานเป็นชิ้นละ 2.50 บาทได้
แน่นอนว่าประชาชนหลายคนที่ไม่สามารถไปต่อแถวรับหน้ากากอนามัยฟรีได้ ก็ย่อมคิดว่าราคา 2.50 บาทต่อชิ้นนี้เป็นราคาที่ถูกมากแล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับราคาขายปลีกอื่นๆ ในท้องตลาดที่พุ่งสูงขึ้นเป็นชิ้นละ 14 บาทขึ้นไปจนถึง 25 บาทเลยก็มี (แต่แน่นอนว่ารัฐบอกว่าไม่พบว่ามีการขายเกินราคา) นี่ยังไม่นับรวมว่ากระบวนการในการควบคุมและจำหน่ายจ่ายแจกหน้ากากอนามัยของรัฐนั้นมีประสิทธิภาพมากหรือน้อยแค่ไหน หรือเอื้อให้ใครเป็นพิเศษหรือไม่
ไม่ใช่แค่โลกของประชาชนคนธรรมดาเท่านั้น ที่อยู่คนละใบเดียวกันกับรัฐบาล โลกของคนทำงานด้านสาธารณสุขก็เช่นเดียวกัน เพราะในขณะที่รัฐบาลออกมาพร่ำบอกเสมอว่าหน้ากากมีเพียงพอ โดยเฉพาะองค์กรสาธารณสุขโดยการกำกับดูแลของรัฐ แต่ประชาชนทุกคนก็ใช่ว่าจะไปใช้บริการในโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น การที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชนออกแถลงการหน้ากากขาดแคลน ตามมาด้วยแถลงการณ์ของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ฯลฯ นอกจากจะทำให้เห็นถึงโลกของรัฐบาลที่ไม่ครอบคลุมประชาชน องค์กร หน่วยงาน ฯลฯ ทุกคนแล้ว ยังทำให้เห็นถึงการทำงานที่สักแต่จะควบคุม แต่การบริหารจัดการไร้ประสิทธิภาพมากอีกด้วย
ไม่ใช่แค่ผีน้อยที่น่ากลัว แต่รัฐนั้นน่ากลัวยิ่งกว่าผี
ในขณะที่เรายังคงอหังการกับลำดับการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลกและอันดับหนึ่งในเอเชียนั้น ซึ่งประเด็นนี้ถูกหยิบยกมาเป็นยันตร์กันโควิดตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่มีการระบาด และยังใช้ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนน้อยเป็นยันตร์ในการปกป้องการทำงานของรัฐบาลในการจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไป
ในประเด็นเรื่องจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีจำนวนน้อยนี้ เพจ ‘พี่หมอออนไลน์: ปรึกษาได้ทันที’ ออกมาให้ข้อมูลและความคิดเห็นที่น่าสนใจว่า เมื่อดูตัวเลขการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโควิด-19 โดยใช้การตรวจ PCR ในประเทศไทยมีการตรวจ 4,023 ราย ในจำนวนนี้มาตรวจที่โรงพยาบาลเอง 3,829 ราย (ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ถึงวันที่ 5 มีนาคม 2563) ซึ่งหมายความว่ากว่า 95% คือผู้ป่วยที่มาตรวจที่โรงพยาบาลเอง และจำนวนอีกไม่ถึง 5% ได้มาจากการตรวจคัดกรองอาการ
ในขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการติดเชื้อสูงเป็นอันดับ 2 มีการตรวจหาโควิด 146,541 ราย พบการติดเชื้อ 5,766 ราย หรือประมาณ 3.93% ส่วนในสหราชอาณาจักร ตรวจไป 17,968 ราย พบการติดเชื้อ 115 ราย หรือ 0.64% ซึ่งทำให้สงสัยว่าที่ประเทศไทยมีตัวเลขการติดเชื้อน้อยและไม่ค่อยขยับนี้ เป็นเพราะเรามีการสาธารณสุขที่ดีอันดับ 6 ของโลก หรือเป็นเพราะเราตรวจน้อยกันแน่
ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงานคัดกรองโดยรัฐ นี่ยังไม่รวมถึงประเด็นการสื่อสาร หรือการบริหารจัดการในเรื่องการตรวจโควิด-19 ที่แบบไหนฟรี แบบไหนเสียเงิน ที่ไหนฟรี ที่ไหนต้องเสียเงินอีกด้วย ในขณะที่ล่าสุดนั้นประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศตรวจโควิด-19 ฟรีให้แก่ประชาชนแล้ว
ไม่ใช่แค่มาตรการการตรวจหรือการคัดกรองเท่านั้น แต่มาตรการการจำกัดนักท่องเที่ยวเข้าสู่ประเทศ หรือการกักตัวนักท่องเที่ยวจากประเทศเสี่ยง ยังเป็นเรื่องที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากตั้งแต่การระบาดในช่วงต้นๆ ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกมีมาตรการการจัดการกับนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศเสี่ยง แต่ประเทศไทยเพิ่งจะมีมาตรการไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ แถมยังเป็นประเด็นที่เต็มไปด้วย ‘ดราม่า’ อีกด้วย
โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง ‘ผีน้อย’ ที่กลายเป็นดราม่าในโซเชียลมีเดีย ซึ่งทำให้หลายคนหันเหไปโจมตีประเด็นการเป็นคนงานผิดกฎหมายและการไม่รับผิดชอบต่อสังคมโดยไม่ยอมกักตัวอยู่กับบ้าน แต่ออกไปเที่ยวเตร็ดเตร่ แต่หากมองกันจริงๆ ก่อนจะมีประกาศสาธารณสุขในวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ให้กักตัว 14 วันสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากเกาหลีใต้ จีน อิตาลี และอิหร่าน (ในขณะที่ก่อนหน้านี้ในวันที่ 3 มีนาคม อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.กระทรวงสาธารณสุข ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่ามี ไต้หวัน ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ เยอรมนี และฝรั่งเศสด้วย ก่อนที่จะลบและปิดเฟซบุ๊กไป)
ผู้ที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยงทั้งหลาย (รวมไปถึงผีน้อยที่เดินทางมาก่อนจะเกิดดราม่าอีกด้วย) ก็เดินว่อนกันอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ เกาหลีใต้ หรือฮ่องกง หรือแม้กระทั่งล่าสุดที่มีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อจากประเทศไทยเดินทางไปยังออสเตรเลียและอินเดีย ซึ่งมันบ่งบอกได้ถึงปัญหาที่แท้จริงว่ามันคือมาตรการการจัดการกับการระบาดของโควิด-19 ของรัฐมากกว่า ที่ไม่เป็นระบบระเบียบ ไม่มีการวางแผนที่ดี มีประเด็นดราม่าขึ้นมา ถูกสังคมรุมด่าที ประณามทีก็ค่อยแก้เป็นเรื่องๆ ไป ตั้งแต่หน้ากากอนามัยมาจนถึงเรื่องผีน้อย
ดูแค่การไม่กักตัว สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อุตตม สาวนายน และศักดิ์สยาม ชิดชอบ ในก่อนหน้านี้ ซึ่งเดินทางกลับมาจากประเทศเสี่ยง โดยอ้างว่า ‘ยังไม่มีมาตรการ’ ก็พอจะรู้ได้ว่า คนที่ทำงานรับผิดชอบเรื่องนี้เข้าใจเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน เหมือนที่เคยกล่าวว่าโคโรนาไวรัสเป็นเพียงโรคไข้หวัดโรคหนึ่งนั่นแหละ
วันนี้บอกแจกเงิน พรุ่งนี้ขอบริจาคเงิน
ความวัวยังไม่ทันหาย ความควาย (ล้วนๆ ไม่มีวัวปน) ก็เข้ามาแทรก เมื่อ อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้เตรียมชุดมาตรการ ‘ดูแลและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ชุดที่ 1’ เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี โดยจะใช้งบประมาณมากกว่า 1 แสนล้านบาท แจกให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยคนละ 1,000-2,000 บาท (ล่าสุดตัวเลขอยู่ที่ 2,000 บาท) เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
ในขณะที่ยังไม่ทันจะได้อ้าปากด่าอย่างถนัดถนี่ ก็มีประกาศจากทางรัฐบาลออกมาอีกว่า รัฐบาลตั้งกองทุน ‘โควิด-19’ เปิดให้ประชาชนบริจาคเพื่อร่วมแก้ปัญหา โดยคณะรัฐมนตรีประเดิมบริจาคเงินตั้งต้นเป็นเงินเดือนจำนวน 1 เดือน ซึ่งผู้ที่สนใจช่วยเหลือ สามารถบริจาคที่บัญชีเลขที่ 067-0-13829-0 ธ.กรุงไทย สาขาทำเนียบรัฐบาล
แน่นอนว่า ไม่จำเป็นต้องเรียนจบเศรษฐศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ก็พอจะตั้งคำถามได้ว่า อะไรคือการแจกเงินประชาชนแล้วมาขอเงินบริจาคเพื่อไปทำงานในกรณีเดียวกัน นี่ยังไม่นับรวมการขออนุมัติเงินในกรณีอื่นๆ ในเรื่องโควิด-19 ทั้งการที่มหาดไทยของบฯ 225 ล้านบาทเพื่อไปให้หมู่บ้าน (ทำการสอนเพื่อ) ผลิตหน้ากากทางเลือกในราคาต้นทุนชิ้นละ 4.50 บาท ซึ่งก็ถูกตั้งคำถามมากมายทั้งตัวโครงการและการใช้เงินว่าเหมาะควรไหม โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้
หากเราดูเส้นทางการทำงานของรัฐในเรื่องโควิด-19 ทั้งหมดจะพบว่า นอกจากจะเต็มไปด้วยมาตรการที่ถูกตั้งคำถามทั้งในแง่การทำงานและประสิทธิภาพในการทำงาน หลายเรื่องที่มีการยกเลิก หรือมีการเปลี่ยนแปลง ล้วนมาจากการส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงเรื่องการแจกเงินและการบริจาคเงิน ที่คงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เราอาจจะต้องส่งเสียงให้หนักกว่าเดิม ให้คนที่เหมือนอยู่โลกใบเดียวกันแต่ความรับรู้ไม่เท่ากัน ได้ตระหนักว่าควรจะอยู่ในโลกเดียวกันเสียที
Tags: โคโรนาไวรัส, หน้ากากอนามัย, โควิด-19, ประเทศไทย, รัฐบาลไทย