การแถลงนโยบายของรัฐบาลไทยต่อรัฐสภาเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจมากพอสมควร ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าเกิดการถกเถียงขึ้นในโลกออนไลน์เกี่ยวกับคุณลักษณะที่พึงปรารถนาของนักการเมือง ประเด็นสำคัญก็คือมีเสียงชื่นชมการอภิปรายของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ และการตอบคำถามของ พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเสียงชื่นชมส่วนใหญ่ก็เป็นไปในทำนองว่าทั้งสองคนมีการพูดจาที่สุภาพนอบน้อม เคารพซึ่งกันและกัน เน้นเหตุผลและหลักฐานข้อมูล ไม่ใช้วาจาเสียดสีแดกดัน พร้อมกันนั้นก็มีเสียงวิจารณ์จากคนกลุ่มเดียวกันนี้ไปยัง ส.ส. พรรคเพื่อไทยหลายคนที่ถูกมองว่าอภิปรายแบบเน้นโจมตีตัวบุคคลหรือเน้นการตีฝีปากมากเกินไป

คำถามที่ตามมาก็คือ เมื่อเรานึกถึงนักการเมืองแล้ว จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องมีสูตรสำเร็จตายตัวในการเป็นนักการเมือง จริงหรือไม่ที่ลักษณะที่ดีของนักการเมืองจะมีได้เพียงอย่างเดียว ประชาชนทุกคนทุกกลุ่มในสังคมมีความคาดหวังแบบเดียวกันกับคนกลุ่มที่ชื่นชมพิธาและ พล.อ. อนุพงษ์หรือไม่

บทความนี้ไม่ต้องการจะอภิปรายว่าลักษณะของนักการเมืองแบบใดเป็นลักษณะที่ดีหรือไม่ดีมากกว่ากัน แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่าความคาดหวังของประชาชนที่มีต่อนักการเมืองไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกันไปทั้งหมด บางครั้งประชาชนอาจจะต้องการนักการเมืองที่ไม่ได้มีคุณสมบัติที่เรามักมองกันว่าพึงปรารถนาเสมอไปก็ได้ โดยบทความนี้ จะยกเอากรณีของ บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักรมาเป็นตัวอย่าง

บอริส จอห์นสัน: จากครอบครัวที่เพียบพร้อม สู่ชื่อเสียงจากหน้าจอโทรทัศน์

บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักรและหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักในหมู่ชาวไทยกันมากนัก แต่สำหรับชาวอังกฤษแล้วเขาเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่างมากคนหนึ่ง ความโด่งดังของเขาไม่ได้มาจากการเป็นนักการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่เขาเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วประเทศมานานเกินกว่ายี่สิบปีแล้วจากการออกรายการโทรทัศน์ สิ่งที่ทำให้เขาโดดเด่นนั้นมีหลายประการ ตั้งแต่ลักษณะภายนอกที่แปลกกว่าคนทั่วไป ด้วยเอกลักษณ์ผมสีบลอนด์ที่มักปล่อยให้ดูกระเซอะกระเซิงไม่จัดทรง ขัดกับการแต่งกายที่เขามักจะใส่สูทสากลเป็นทางการ รวมไปถึงลีลาการพูดจาแบบกึ่งทีเล่นทีจริง คำพูดของเขามักใช้ศัพท์สูงแบบผู้มีความรู้ แต่ลักษณะท่าทางและน้ำเสียงของเขากลับออกมาดูเป็นตัวตลกสร้างความบันเทิงมากกว่าจะเคร่งเครียดจริงจัง

ด้วยเหตุผลเช่นนี้ทำให้จอห์นสันกลายเป็นขวัญใจของคนอังกฤษทั่วประเทศอยู่ช่วงหนึ่ง เขาเริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกจากการออกรายการ Have I Got News For You? ซึ่งเป็นรายการตลกชื่อดังของอังกฤษ รายการนี้มีลักษณะเด่นอย่างหนึ่งคือพิธีกรกับแขกรับเชิญมักจะจิกกัดหรือแซวแรงๆ กันอยู่ตลอด และเมื่อจอห์นสันได้เป็นแขกรับเชิญในรายการนี้ครั้งแรกในปี 1998 ทางรายการก็จัดการ “รับน้อง” เขาแบบแรงไม่ใช่เล่น ด้วยการเปิดเทปเสียงในอดีตที่มีการแอบบันทึกไว้ได้ว่า จอห์นสันเคยสัญญาว่าจะช่วยเพื่อนของเขาคนหนึ่งไปทำร้ายร่างกายนักข่าวคนหนึ่งที่มีปัญหากัน แต่แทนที่จอห์นสันจะมีทีท่าโกรธเคือง เขากลับทำท่าทางกึ่งๆ อับอายและสำนึกผิด เรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชมในห้องส่งได้อย่างมาก ทำให้หลังจากนั้นจอห์นสันก็ได้กลับมาเป็นแขกรับเชิญในรายการนี้อีกหลายครั้งจนกลายเป็นที่จดจำและชื่นชอบของชาวอังกฤษ ความโด่งดังของเขาทำให้เขากลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในฐานะบุคคลผู้สร้างสีสันและความบันเทิง ชาวอังกฤษรู้จักเขาด้วยการเรียกเพียงแค่ชื่อต้น (บอริส) โดยไม่จำเป็นต้องระบุนามสกุล

พื้นเพของจอห์นสันไม่ต่างจากนักการเมืองพรรคอนุรักษ์นิยมคนอื่นอีกหลายคน กล่าวคือ เขามาจากครอบครัวที่มีเงินและพรั่งพร้อมไปด้วยเส้นสายในแวดวงชนชั้นสูง เขาจบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียน Eton โรงเรียนประจำอันโด่งดังในสังคมผู้ดีอังกฤษ (ที่โรงเรียนแห่งนี้เอง เขากลายมาเป็นเพื่อนกับอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งสองสนิทกันถึงขนาดที่อภิสิทธิ์เคยเล่าไว้ในงานปาฐกถาครั้งหนึ่งว่า จอห์นสันจำได้แม่นว่านามสกุล Vejjajiva ของอภิสิทธิ์นั้นสะกดอย่างไร) ก่อนที่ต่อมาจะเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดจนจบปริญญาตรี หลังจากนั้นเขาได้เข้าทำงานเป็นนักข่าวประจำหนังสือพิมพ์ Daily Telegraph ด้วยการฝากฝังจากคนรู้จัก 

แต่ชีวิตการทำงานของจอห์นสันที่ควรจะโรยด้วยกลีบกุหลาบจากประวัติการศึกษาที่ดีและการเป็นคนในแวดวงสังคมชั้นสูงนั้นกลับเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นนัก จอห์นสันขาดความใส่ใจในการทำงาน และมักคิดแต่จะเอาตัวรอดไปวัน ๆ แม้กระทั่งในการทำข่าว บางครั้งเขาก็บิดเบือนข่าวและโมเมสร้างคำพูดของแหล่งข่าวขึ้นมาเอง มีผู้วิเคราะห์ว่าลักษณะเช่นนี้ว่าเป็นสิ่งที่ติดตัวเขามาตั้งแต่จอห์นสันยังอยู่โรงเรียนประจำ เพราะสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนประจำมักบีบบังคับให้เด็กนักเรียนต้องเก่งในการเอาตัวรอด มากกว่าจะคำนึงถึงความถูกต้องหรือจริยธรรมใดๆ

เส้นทางการเมือง และความไม่คงเส้นคงวาทางจุดยืน

จอห์นสันเข้าสู่สภาด้วยการเป็น ส.ส. พรรคอนุรักษ์นิยมครั้งแรกในปี 2001 ถึงแม้เขาจะอยู่ในพรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งมีจุดยืนทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบเอียงขวา แต่มีหลายครั้งที่ตัวจอห์นสันเองลงมติและแสดงออกไปในทิศทางที่เป็นเสรีนิยมมากกว่าเพื่อนสมาชิกร่วมพรรค ด้วยชื่อเสียงส่วนตัวบวกกับการแสดงจุดยืนที่ไม่เอียงขวามากนัก ทำให้จอห์นสันชนะเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนได้ถึงสองสมัยในปี 2008 และ 2012 ซึ่งลักษณะเด่นของลอนดอนก็คือ เป็นเมืองที่มีประชากรเป็นฐานเสียงของพรรคแนวเสรีนิยมและแนวเอียงซ้าย (สังคมนิยม) อยู่จำนวนมาก

ตำแหน่งนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนอาจจะไม่ได้มีความสำคัญเทียบเท่ากับตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาล แต่ผู้ดำรงตำแหน่งนี้ก็มีโอกาสออกสื่อและสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองได้บ่อย ๆ ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็เป็นของถนัดของจอห์นสันอยู่แล้ว เขาใช้โอกาสในการดำรงตำแหน่งนี้ส่งเสริมแนวคิดและค่านิยมทางการเมืองแบบเสรีนิยมหลายประการ เช่น ส่งเสริมการใช้จักรยาน การเปิดรับผู้อพยพย้ายถิ่นเข้ามาจากต่างชาติ ส่งเสริมบทบาทของสหภาพยุโรป รวมไปถึงแสดงจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการต่อต้านการสร้างรันเวย์ใหม่ในสนามบินฮีธโทรว์ และเมื่อกรุงลอนดอนได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2012 เขาก็เข้าร่วมโปรโมตชื่อเสียงของลอนดอนในฐานะเมืองที่เปิดกว้างและเป็นมิตรกับคนทั่วโลก 

แต่จอห์นสันในฐานะนักการเมืองก็ยังคงเป็นคนที่ขาดความจริงจัง ในช่วงที่เขาเป็นนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนยาวนานถึง 8 ปีนั้น เขาแทบไม่ได้ลงมือบริหารงานด้วยตัวเองอย่างแท้จริง แต่ปล่อยให้เป็นภาระของผู้ช่วยอีกสองคนเป็นหลัก ส่วนตัวเขาเองทำหน้าที่เหมือนเป็นนักโฆษณาหรือโฆษกประจำเมืองผู้สร้างสีสันมากกว่าจะเป็นผู้นำ

จุดหักเหครั้งสำคัญในเส้นทางการเมืองของจอห์นสันเกิดขึ้นในปี 2016 เมื่อรัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมที่ขณะนั้นนำโดยนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน (David Cameron) จัดให้มีการลงประชามติในเรื่องการที่อังกฤษจะแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป หรือ Brexit โดยขณะที่คาเมรอนและเพื่อนร่วมพรรคอีกหลายคนร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนเลือกอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป (หรือเรียกกันว่าฝ่าย Remain) จอห์นสันกลับสร้างความประหลาดใจด้วยการประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายที่ต้องการจะแยกตัวจากสหภาพยุโรป (ฝ่าย Leave) 

การเดินหมากทางการเมืองของเขาครั้งนี้นับว่าขัดกับภาพลักษณ์ความเป็นมิตรกับยุโรปในสมัยที่เขาเป็นนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอนอย่างสิ้นเชิง แม้จะมีกระแสโจมตีจอห์นสันอย่างหนักในเรื่องของการเป็นนักฉวยโอกาส ไม่มีจุดยืนที่แน่นอน ไปจนถึงการที่เขาให้ข้อมูลผิด ๆ ต่อสาธารณชนเกี่ยวกับผลที่จะตามมาจากการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป แต่ชื่อเสียงและความนิยมส่วนตัวของจอห์นสันก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ฝ่าย Leave ได้รับชัยชนะในที่สุด

ถูกหักหลัง ก่อนขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ

การที่ฝ่าย Leave เป็นผู้ชนะในการลงประชามติก็ทำให้การเมืองอังกฤษพลิกผันครั้งใหญ่ นายกฯ คาเมรอนประกาศลาออกจากตำแหน่งในฐานะผู้พ่ายแพ้ ส่วนจอห์นสันซึ่งโดดเด่นจากการเป็นแกนนำในฝ่าย Leave ก็กลายเป็นตัวเต็งที่จะเป็นนายกฯ คนต่อไป โดยการที่คาเมรอนลาออกจากตำแหน่งนายกฯ และหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมโดยไม่ได้ประกาศยุบสภา ก็แปลว่านายกฯ อังกฤษคนต่อไปก็คือผู้นำของพรรคที่ครองเสียงข้างมากในสภา ดังนั้นผู้ที่ชนะในการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมต่อจากคาเมรอนก็จะกลายเป็นนายกฯ คนต่อไปโดยอัตโนมัติ 

ในเวลานั้นนักวิเคราะห์พากันยกให้จอห์นสันเป็นตัวเต็ง ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาเป็นขวัญใจของสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งส่วนใหญ่เลือกลงประชามติให้ฝ่าย Leave

แต่เหตุการณ์กลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาด เพราะเมื่อการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย ก็ปรากฏว่าไมเคิล โกฟ (Michael Gove) นักการเมืองผู้เป็นพันธมิตรกับจอห์นสันมาตลอด กลับออกมาประกาศว่าเขาจะไม่สนับสนุนจอห์นสันอีกต่อไปเพราะเขาเห็นว่าจอห์นสันขาดคุณสมบัติที่จะเป็นผู้นำประเทศ เหตุการณ์การหักหลังอันเป็นที่ฮือฮาครั้งนี้ทำให้จอห์นสันจำใจต้องถอนตัวจากการแข่งขัน ปล่อยให้ตำแหน่งผู้นำพรรคและตำแหน่งนายกฯ ตกเป็นของเทเรซ่า เมย์ (Theresa May)

ถึงแม้ว่าต่อมาเทเรซ่า เมย์ จะมอบตำแหน่งใหญ่อย่างรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศให้กับจอห์นสัน แต่เขาก็ยังไม่ทิ้งนิสัยเดิม ๆ ทั้งการไม่เตรียมความพร้อม ประพฤติตัวไม่เหมาะสม และทำอะไรตามใจตัวเองโดยไม่คิดถึงผลกระทบที่ตามมา สรุปแล้ว แทนที่เขาจะใช้โอกาสในการดำรงตำแหน่งนี้แสดงให้ประชาชนเห็นว่าเขาพร้อมจะทำงานสำคัญให้กับประเทศได้ ก็กลับกลายเป็นว่าภาพลักษณ์ของเขามีแต่จะย่ำแย่ลง ในที่สุดแล้วจอห์นสันก็ประกาศลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีโดยให้เหตุผลว่าเขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลเมย์ในเรื่องข้อตกลงที่อังกฤษจะใช้ในการออกจากสหภาพยุโรป

สุดท้ายแล้วก็ดูเหมือนว่าโชคชะตาจะยังเข้าข้างจอห์นสัน เพราะรัฐบาลของเทเรซ่า เมย์ ไม่สามารถผลักดันให้เสียงข้างมากในสภายอมรับข้อตกลงที่รัฐบาลต้องการจะใช้ในการออกจากสหภาพยุโรปได้ ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเรื่องนี้ก็บีบบังคับให้เมย์ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งอย่างชอกช้ำตามรอยคาเมรอนไปอีกคน ส่วนทางด้านจอห์นสันก็ใช้โอกาสนี้กลับมาเรียกเสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมอีกครั้ง เขากลับมาลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคและประกาศจุดยืนว่า อังกฤษจะต้องออกจากสหภาพยุโรปภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้แน่นอนไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ครั้งนี้นับว่าจอห์นสันโชคดีที่ไม่เจอคู่แข่งที่แข็งแกร่งมากนัก ในที่สุดแล้วสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมก็เทคะแนนให้เขาได้เป็นหัวหน้าพรรค ส่งให้จอห์นสันขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในที่สุด

สรุป: นักการเมืองแบบไหนที่ประชาชนต้องการ?

หลายคนอาจจะมองว่าข้อเสียของจอห์นสันนั้นมีมากจนไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้นำประเทศ แต่ก็น่าสงสัยว่าที่ผ่านมาเขามีโอกาสมากมายเหลือเกินที่จะปรับปรุงตัว แต่เขาก็ไม่มีทีท่าว่าจะทำตัวดีขึ้นแต่อย่างใด หรือบางทีเขาอาจจะเลือกเป็นแบบนี้เองก็ได้ เขาอาจเลือกที่จะเป็นนักการเมืองแนวสร้างสีสัน สร้างความต่างให้ตัวเองด้วยการเลือกจะเป็นคนพูดจาแบบไม่ระวังปาก เพราะในอีกด้านหนึ่งก็มักมีการวิเคราะห์กันว่าประชาชนก็ไม่ได้ชื่นชอบนักการเมืองที่ระมัดระวังในการพูดมากเกินไปเท่าไหร่นัก เมื่อมองจากมุมนี้ก็ถือได้ว่าจอห์นสันมีความคล้ายคลึงกับผู้นำในอีกหลายประเทศ เช่นประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกา หรือประธานาธิบดีดูแตร์เตแห่งฟิลิปปินส์ ซึ่งล้วนแต่เป็นคนที่ชนะการเลือกตั้งจากประชาชน

จริงอยู่ว่าในกรณีของจอห์นสัน เขาได้เป็นนายกฯ โดยได้เสียงจากสมาชิกพรรคตัวเองเท่านั้น ไม่ได้ขึ้นเป็นผู้นำด้วยการชนะเลือกตั้งจากคนทั้งประเทศเหมือนทรัมป์หรือดูแตร์เต แต่จอห์นสันก็ยังคงเป็นภาพสะท้อนให้เราขบคิดและทำความเข้าใจธรรมชาติของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งประกอบด้วยเสียงของคนหลากหลาย นักการเมืองบางคนที่ดูเหมือนว่าขาดลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้นำที่ดีก็อาจจะชนะใจคนกลุ่มหนึ่งด้วยเหตุผลที่ไม่ถูกใจคนอื่นๆ ในประเทศก็ได้ เป็นบทเรียนที่น่าสนใจว่า ประเทศที่เรามักจะมองว่าเป็นแม่แบบประชาธิปไตยอย่างอังกฤษ ก็ยังเปิดโอกาสให้นักการเมืองอย่างจอห์นสันขึ้นมายิ่งใหญ่ได้

สำหรับคนไทย การตระหนักถึงความหลากหลายของรสนิยม ความต้องการและความคาดหวังของผู้คนก็นับเป็นสิ่งจำเป็น อย่างน้อยก็น่าจะช่วยให้เราเข้าใจการเมืองในสภาขณะนี้มากขึ้น ทำให้เราติดตามข่าวการเมืองได้โดยไม่เดือดเนื้อร้อนใจจนเกินไปนักเมื่อเราเห็นนักการเมืองที่ผิดไปจากอุดมคติของเราเอง

Tags: , ,