อีกเพียงไม่กี่วัน ชาวยุโรปกว่า 400 ล้านคน จะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อเลือกผู้แทนจำนวนกว่า 700 คน เข้าสภายุโรป การเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปราะบาง และเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน สหภาพยุโรป (อียู) ไม่เพียงแต่จะต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาผู้อพยพที่รุมเร้า แต่ทว่ายังต้องพบกับแรงกดดันจากภายใน ที่ชาวยุโรปส่วนหนึ่งเริ่มแสดงความไม่พอใจต่อท่าทีต่างๆ ของอียู และหันมาสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีแนวคิดต่อต้านอียู (Euroscepticism) อย่างชัดเจน

แม้ว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรที่ นำโดย เทเรซา เมย์ กำลังเดินหน้าถอดถอนประเทศออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือเบร็กซิต (Brexit) แต่สหราชอาณาจักรยังคงเข้าร่วมการเลือกตั้งสภายุโรปในปีนี้ ซึ่งหมายความว่าชาวอังกฤษยังคงสามารถออกไปใช้สิทธิเลือกผู้แทนได้ และหากรัฐบาลอังกฤษยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเบร็กซิตก่อนวันที่ 2 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันทำงานวันแรกของสมาชิกรัฐสภายุโรป เราจะยังเห็นตัวแทนจากสหราชอาณาจักรในรัฐสภายุโรป ในทางกลับกัน หากร่างข้อตกลงเบร็กซิตได้ข้อสรุป และสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกอียูอย่างถาวรแล้ว จำนวนที่นั่งในรัฐสภาที่เคยเป็นของสหราชอาณาจักรจะถูกจัดสรรให้กับประเทศสมาชิกอื่นๆ และประเทศที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกอียูในอนาคต

กระแสความนิยมของพรรคประชานิยม (Populist) และพรรคการเมืองฝ่ายขวาสุดโต่ง (Extreme-right) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มุ่งต่อต้านสหภาพยุโรป รวมทั้งมีแนวคิดชาตินิยม และไม่ต้องการเปิดรับผู้อพยพที่หนีภัยสงครามจากตะวันออกกลางใดๆ ตามที่อียูเคยมีมติ เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นทั้งในการเลือกตั้งระดับประเทศและระดับอียู ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในฮังการีเมื่อปี 2018 ซึ่งนายกรัฐมนตรี Viktor Orbán (วิกเตอร์ ออร์บาน) ได้รับชัยชนะสามสมัยซ้อนตั้งแต่ปี 2010 หรือการเลือกตั้งที่อิตาลีครั้งล่าสุด ที่ ลุยจี ดิ มาโย (Luigi di Maio) จากพรรคประชานิยม Five Star Movement มาเตโอ ซาล์วีนี (Matteo Salvini) ผู้นำพรรคฝ่ายขวาจัด และ ลีกา โนร์ด (Lega Nord) สามารถรวมเสียงข้างมากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ จากผลสำรวจของ The Guardian พบว่า 25% (หรือ 1 ใน 4) ของชาวยุโรปเลือกพรรคประชานิยมในปี 2018 ขณะที่เมื่อ 20 ปีก่อน ตัวเลขดังกล่าวมีเพียงแค่ 7% เท่านั้น

REUTERS/Francois Lenoir

การเลือกตั้งสภายุโรปในปี 2014 จัดว่าเป็นก้าวสำคัญของพรรคประชานิยม หรือพรรคการเมืองฝ่ายขวาสุดโต่ง โดยในฝรั่งเศส พรรคฟรงต์ นาซิองนาล (Front national) หรือที่เรียกว่าพรรคราซซอมเบลอมองต์  นาซิองนาล (Rassemblement national) ในปัจจุบัน ได้กวาดคะแนนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในการเลือกตั้งสภายุโรปเมื่อ 4 ปีก่อน นอกจากนี้ยังมีพรรค AfD (Alternative für Deutschland – Alternative for Germany) ที่สามารถเข้าไปนั่งในรัฐสภาเป็นครั้งแรก ด้วยคะแนนเสียงกว่า 7% แม้ว่าพรรค AfD ได้ก่อตั้งขึ้นเพียงหนึ่งปีกว่าๆ ก่อนการเลือกตั้งในปี 2014

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวยุโรปหันไปเลือกพรรคประชานิยม และพรรคฝ่ายขวาสุดโต่ง เป็นเพราะชาวยุโรปเหล่านี้รู้สึกว่าอียูมองข้ามพวกเขา ลุค วาน มิดเดอลาร์ (Luuk Van Middelaar) นักปรัชญาการเมือง และอดีตที่ปรึกษาของประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ตั้งข้อสังเกตว่า “เป็นสหภาพยุโรปเองที่ได้สร้างกระแสประชานิยม เนื่องจากประชาชนรู้สึกว่านโยบายของอียูไม่ได้คำนึงถึงพวกเขา […] ตราบใดที่อียูดูเรื่องนโยบายการเกษตร หรือนโยบายเกี่ยวกับตลาดภายใน อียูจะไม่พบปัญหาอะไร แต่ทว่า 20 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า เรื่องที่อียูโหวตจะเกี่ยวข้องกับเรื่องอธิปไตย (sovereignty) ซึ่งได้แก่ เงินยูโร เขตแดน ตำรวจ นโยบายต่างประเทศ และความมั่นคง”  

นอกจากนี้ความไม่พอใจของชาวยุโรปที่ต่อต้านสหภาพยุโรป ยังมาจากการที่อียูให้ความสำคัญกับผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ (Technocrats) ซึ่งถูกมองว่าสามารถพัฒนาเศรษฐกิจ และยังสามารถหาวิธีที่จะสร้างประโยชน์ให้กับทุกๆ คน ยิ่งไปกว่านั้นพื้นที่การแสดงออกทางการเมืองของประชาชนทั่วไป ถูกกลืนกินด้วยผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการ ที่นำเสนอทางออกของปัญหา โดยใช้ผลการศึกษาที่ได้มาจาก “ศูนย์วิจัย” เท่านั้น พร้อมกับข้อสรุปหนึ่งเดียว

ทั้งนี้ แจน เวร์เนอร์ มุลเลอร์ (Jan-Werner Müller) นักรัฐศาสตร์ และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัย Princeton กล่าวว่า “เหล่าผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการต่างเสนอแนวทางการแก้ไขที่มีเหตุมีผล เพียงทางเดียว […] หากมีใครไม่เห็นด้วย จะถูกมองว่าเป็นคนที่ไม่มีเหตุผล และไม่สมควรเข้าร่วมในเวทีดีเบตทางการเมืองที่สำคัญๆ”

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวยุโรปหันไปเลือกพรรคประชานิยม และพรรคฝ่ายขวาสุดโต่ง เป็นเพราะชาวยุโรปเหล่านี้รู้สึกว่าอียูมองข้ามพวกเขา 

ถึงแม้ว่ากระแสการต่อต้านอียูจะมาแรง แต่พรรคประชานิยม และพรรคสุดโต่งยังคง

เป็นเสียงข้างน้อยในรัฐสภา โดยจำนวนที่นั่งในสภาของพรรคเหล่านี้ยังคงมีจำนวนพอๆ กับการเลือกตั้งสภายุโรปเมื่อปี 2014 โพลเลือกตั้งสภายุโรป ซึ่งจัดทำโดยสถาบัน คานทาร์ (Kantar) ของฝรั่งเศส เผยว่า ตัวแทนจากพรรคประชานิยม และพรรคฝ่ายขวาสุดโต่งจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และมีจำนวนน้อยกว่า 25% ของจำนวนที่นั่งในสภา หรือประมาณ 163 คน (จากเดิมที่เคยมี 153 คน) ในขณะที่กลุ่ม EPP (European People’s Party) ซึ่งประกอบด้วยพรรคฝ่ายขวาที่มีแนวคิดสนับสนุนอียู (Europhile) และกลุ่ม S&D (Socialists & Democrats) ซึ่งมีแนวคิดสนับสนุนอียูเหมือนกับ EPP เพียงแต่เป็นกลุ่มของพรรคฝ่ายซ้าย ยังคงมีฐานเสียงใหญ่ในสภายุโรป แต่ทว่ากลุ่มที่ประกอบไปด้วยพรรคดั้งเดิม ซึ่งพยายามเดินหน้าขับเคลื่อนยุโรปเหล่านี้จะมีจำนวนที่นั่งน้อยลง สถาบันคานทาร์ ยังเสริมอีกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เสียงในสภายุโรปจะกระจัดกระจายมากขึ้น เมื่อเทียบกับในอดีต

การเลือกตั้งยุโรปครั้งนี้ดูเหมือนจะกลายเป็นเพียงการต่อสู้ระหว่างสองแนวคิดว่าด้วยสหภาพยุโรป แต่เมื่อมองดูการรณรงค์หาเสียงของพรรคต่างๆ ทั่วยุโรปในขณะนี้ จะเห็นว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเข้ามามีบทบาทมากขึ้น มานเฟรด เวเบอร์ (Manfred Weber) หนึ่งในแคนดิเดตประธานสภายุโรป ได้ประกาศว่าตนเองนั้น สนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือศูนย์ (Carbon neutrality) ภายในปี 2025 ในขณะเดียวกัน โทมาส์ ปาเลอแรง-คาร์แลง (Thomas Pallerin-Carlin) ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายพลังงานของสหภาพยุโรปจากสถาบันวิจัย ชาร์ค เดอลอร์ (Jacques Delors) ยอมรับว่า “เรื่องสภาพภูมิอากาศกลายเป็นหัวข้อร้อนแรงในหลายประเทศ เช่น เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ หรือในสวีเดน และยังรวมอยู่ในนโยบายของพรรคต่างๆ เป็นส่วนใหญ่”

ท้ายที่สุดนี้ แม้ว่าการเลือกตั้งสภายุโรปจะจบลง แต่การเคลื่อนไหวของพรรคประชานิยม และพรรคฝ่ายขวาจัดในระดับอียู ยังเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องจับตามองต่อไป เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงว่าบรรดาพรรคที่ต่อต้านสหภาพยุโรปต่างๆ จะมีอิทธิพลสำคัญในคณะกรรมการยุโรป ซึ่งประกอบด้วยหัวหน้ารัฐบาล หรือผู้แทนสูงสุดของรัฐ และนี่อาจจะส่งผลให้การตัดสินใจของอียู โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้อพยพ สิทธิมนุษยชน และนิติรัฐ โดยรวมไปถึงความร่วมมือต่างๆ ระหว่างประเทศสมาชิกมีอันต้องชะงักงัน

บรรณานุกรม

 

Fact Box

  • การเลือกตั้งสภายุโรปในปีนี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2019 ซึ่งในแต่ละประเทศจะมีวันเลือกตั้งแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่การเลือกตั้งดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันที่ 26 พฤษภาคม
  • หลังจากที่สหราชอาณาจักรได้ถอนตัวออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ จำนวนสมาชิกในสภายุโรปในปีนี้จะลดลงเหลือเพียง 705 ที่นั่ง จากเดิมที่เคยมีอยู่ 751 ที่นั่ง โดยที่นั่งที่เคยเป็นของสหราชอาณาจักรจำนวน 24 ที่นั่ง จะแบ่งให้ 14 ประเทศสมาชิก
  • นอกจากนี้มีเพียง 5 ประเทศเท่านั้น ที่กำหนดว่าการเลือกตั้งสภายุโรปเป็นการลงคะแนนภาคบังคับ ซึ่งได้แก่ เบลเยียม บัลกาเรียน ไซปรัส กรีซ และลักเซมเบิร์ก
Tags: , , , ,