ฟุตบอลและแฟนบอลเป็นสิ่งที่มาควบคู่กัน หากวันใดที่มีการแข่งขัน เสียงเชียร์ของแฟนบอลย่อมจะกึกก้องไปทั่วทั้งสนามเพื่อปลุกความเป็นนักสู้ของทีมรัก ยิ่งหากเป็นการแข่งขันระหว่างทีมจากเมืองเดียวกัน อุณหภูมิและอารมณ์ร่วมของแฟนบอลจะเพิ่มขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัว ทั่วทั้งสนามจะเต็มไปด้วยคำสบถก่นด่า สาบแช่งอีกฝ่ายให้ตายกันไปข้างหนึ่ง บางครั้งลามปามไปถึงขั้นด่าพ่อล้อแม่ หรือเหยียดสีผิวล้อชาติพันธ์ุกันเลยทีเดียว
“ถ้าผมต้องทนเห็นยูไนเต็ดได้ดี ผมยอมกินขี้ตัวเองดีกว่า”
แม้แต่ โนล กัลลาเกอร์ อดีตนักร้องของวงโอเอซิส ผู้เป็นแฟนเดนตายของทีม ‘แมนเชสเตอร์ ซิตี้’ ก็มักจะออกมาให้สัมภาษณ์อยู่ตลอดถึงความเกลียดชังของเขาต่ออริร่วมเมืองอย่าง ‘แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด’ ราวกับว่าทีมแมนเชสเตอร์สีแดงนั้น ได้ไปทำการปล้นสะดมบ้านของเขาก็มิปาน
สุภาษิตไทยเรามีคำที่กล่าวไว้ว่า ‘คนบ้านใกล้เรือนเคียง ต้องช่วยเหลือกัน’ แต่เหตุใดประโยคสอนใจดังกล่าว จึงใช้ไม่ได้กับในวงการฟุตบอล The Momentum จะขอพาทุกท่านย้อนไปดูประวัติศาสตร์แห่งความดุเดือดของวัฒนธรรมดาร์บี้แมตช์ (Derby Match) อันเป็นชื่อที่ใช้เรียกแมตช์เดย์ระหว่างทีมในเมืองเดียวกันที่สุดแสนจะเลือดพล่านและคลาสสิกของเกมฟุตบอล พร้อมกับคลายข้อข้องใจที่ว่า ‘เหตุอันใดคนบ้านใกล้จึงไม่รักกัน’
คำว่า ‘ดาร์บี้แมตช์’ มาจากไหน
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของลีกฟุตบอลจากแดนกระทิงดุอย่าง ‘ลาลีกา’ ได้เปิดเผยไว้ว่า จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรม ‘ดาร์บี้แมตช์’ ที่สุดแสนจะดุเดือดนั้น เกิดขึ้นในประเทศที่เต็มไปด้วยผู้ดีชงชาอย่างประเทศอังกฤษ แต่หากจะเล่าที่มาแท้จริงของ ‘เกมดาร์บี้แมตช์’ อาจจะต้องย้อนไปกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 18 ในเมืองเล็กๆ ที่ชื่อว่าเมืองแอชบอร์น (Ashbourne) ในมณฑลดาร์บี้ไชร์ (Derbyshire)
ย้อนกลับไปในปี 1778 ระหว่างที่เอิร์ล (ชื่อเรียกยศขุนนาง) ลำดับที่ 12 แห่งดาร์บี้ เอ็ดเวิร์ด สมิธ สแตนลีย์ (Edward Smith-Stanley) กำลังเพลิดเพลินกับซิการ์ตัวโปรด เขาเกิดปิ๊งไอเดียในการจัดการแข่งขัน โดยใช้ชื่อว่า ‘ยิปซัมดาร์บี้’ (Epsom Derby) หรือ ‘เดอะ ดาร์บี้’ (The Derby) หากแต่การแข่งที่จัดขึ้นในตอนนั้นไม่ใช่การแข่งขันฟุตบอล แต่เป็น ‘การแข่งม้า’ ซึ่งเป็นกีฬายอดนิยมของเหล่าผู้ดีอังกฤษในสมัยนั้น
การแข่งม้า ‘เดอะ ดาร์บี้’ ถูกจัดขึ้นในเขตเซอร์เรย์ (Surrey) แคว้นทางตอนใต้ของเมืองลอนดอน ณ สนามแข่งม้ายิปซัม ดาวน์ (Epsum Downs) การแข่งดังกล่าวได้รับความนิยมมาก เนื่องจากสถานที่จัดงานง่ายต่อการเดินทางของคนอังกฤษ จึงทำให้มีคนเข้ามาชมการแข่งอย่างล้นหลาม นอกจากการแข่งม้า ร้านค้าต่างๆ ในพื้นที่ยังมีการนำสินค้าของตัวเองออกมาแสดงโชว์ภายในงานนี้ด้วย ทำให้งาน ‘ดาร์บี้แมตช์’ กลายเป็นวันสำคัญที่สร้างทั้งความบันเทิงและรายได้ให้กับคนในพื้นที่อย่างมหาศาล
ความนิยมของ ‘ดาร์บี้แมตช์’ ถึงขนาดที่หากวันประชุมรัฐสภาของอังกฤษ บังเอิญเป็นวันเดียวกันกับงาน จะต้องมีการเลื่อนการประชุมครั้งนั้นออกไป เพราะอย่างไรเสียเหล่าสมาชิกก็จะหนีไปดูแข่งม้ากันอยู่ดี
จาก ‘แข่งม้า’ สู่ ‘แข่งบอล’
เมื่อบริบทของประเทศอังกฤษเปลี่ยนไปตามยุคสมัย บวกกับความนิยมของการแข่งม้าที่ถดถอยลง ดาร์บี้แมตช์จึงถูกนำมาใช้ในการนิยามการแข่งขันนัดสำคัญของกีฬาประเภทต่างๆ มากขึ้น อย่างเช่น รักบี้ ฮอกกี้ คริกเกต หรือแม้กระทั่ง ‘ฟุตบอล’ โดยคำว่า ‘ดาร์บี้’ กลายเป็นคำที่แสดงถึงความสำคัญของแมตช์นั้นๆ และเมื่อไหร่ก็ตามที่ชาวอังกฤษได้ยินคำว่าดาร์บี้ พวกเขาจะรู้ได้ทันทีว่า ‘ความมัน’ กำลังจะมาเยือน
ในปัจจุบัน คำว่าดาร์บี้แมตช์ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในวงการฟุตบอล แต่ครั้งแรกสุดที่คำว่าดาร์บี้ถูกนำมาใช้ต้องย้อนไปในปี 1914 หลังหนังสือพิมพ์ เดลี เอ็กซ์เพรส (Daily Express) ได้นำคำว่า ‘ดาร์บี้’ มาใช้พาดหัวเป็นครั้งแรก โดยใช้ในการโปรโมตการแข่งขันระหว่าง 2 อริร่วมเมืองอย่าง ‘ลิเวอร์พูล’ และ ‘เอฟเวอร์ตัน’ เพื่อสุมไฟให้แฟนบอลทั้งสองฝ่ายเห็นว่า การแข่งนัดนี้จะเป็นตัวบ่งบอกว่าในเมืองเมอร์ซีย์ไซด์นั้นจะถูกย้อมไปด้วยสีแดงจากทางลิเวอร์พูล หรือสีน้ำเงินจากฝั่งเอฟเวอร์ตัน
หลังจากนั้น คำว่า ‘ดาร์บี้แมตช์’ จึงถูกนำมาใช้อธิบายการแข่งขันระหว่างทีมฟุตบอลที่มาจากเมืองเดียวกัน และมีการเรียกชื่อเฉพาะตามเมืองนั้น เช่น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด – แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในศึก ‘แมนเชสเตอร์ดาร์บี้’ (Manchester derby), อาร์เซนอล – ทอตแนม ฮอตสเปอร์ส ในศึก ‘นอร์ทลอนดอนดาร์บี้’ (North London Derby) หรือแอสตัน วิลลา – เบอร์มิงแฮม ในศึก ‘เบอร์มิงแฮมดาร์บี้’ เพื่อปลุกอารมณ์ของแฟนบอลให้มีความไฮป์ (Hype) กับการแข่งขันที่จะมาถึงว่า ‘ระหว่างทีมมึงกับทีมกู ทีมของใครจะแน่กว่ากัน’
ด้วยความนิยมของกีฬาฟุตบอล ดาร์บี้แมตช์จึงแพร่หลายไปยังลีกทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ‘ดาร์บี้ ดิ มิลาโน’ (Derby di Milano) ที่เป็นชื่อเรียกการแข่งขันระหว่างเอซี มิลาน – อินเตอร์ มิลาน หรือ ‘เอล เดร์บิมาดริเลญโญ’ (El Derbi Madrileño) ของเรอัล มาดริด – แอตเลติโก มาดริด ภายหลัง ‘ดาร์บี้แมตช์’ ได้ถูกนำไปใช้เพื่อเรียกเกมสำคัญในการลุ้นแชมป์อีกด้วย ตัวอย่างเช่น การแข่งขันระหว่าง เรอัล มาดริด กับ บาร์เซโลนา หรือ บาเยิร์น มิวนิค กับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์
ยิงประตูอุดปากเพื่อนบ้านที่ ‘น่ารำคาญ’
เสน่ห์ของเกมดาร์บี้แมตช์จึงไม่ใช่แค่ชัยชนะเพื่อสร้างโอกาสลุ้นแชมป์ให้กับทีม แต่ยังเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีที่เหล่าแฟนบอลต่างคาดหวัง โดยเฉพาะกับแฟนบอลในท้องถิ่นที่เข้าไปเชียร์ในสนาม ที่นอกจากเสียงเชียร์ที่ดังกึกก้อง ยังเต็มไปด้วยคำสบถแสนหยาบคายใส่ทีมตรงข้าม ซึ่งขัดกับกับภาพลักษณ์ผู้ดีของคนอังกฤษอย่างสิ้นเชิง
ความร้อนระอุของการแข่งขันถึงขั้นที่ว่า แฟนบอลของแต่ละฝั่งจะมีการแต่งเพลงเพื่อยั่วยุฝั่งตรงข้ามอยู่เสมอ อย่างเช่น นอร์ทลอนดอนดาร์บี้แมตช์ ที่นับว่าเป็นดาร์บี้แมตช์ที่เดือดที่สุดนัดหนึ่งของลอนดอน ระหว่างอาร์เซนอลกับสเปอร์ส โดยทางฝั่งสเปอร์สจะมีเพลงล้อเลียนอาร์เซนอล ซึ่งไม่ได้มีถิ่นฐานอยู่ในโซนลอนดอนเหนือตั้งแต่แรกว่า
Fuck off back to Woolwich
North London is ours
(ไสหัวของ *ึง กลับไปวูลวิชซะ)
(ลอนดอนเหนือเป็นของพวก*ูโว้ย)
ดูเผินเหมือนจะเป็นเพลงที่แซวกันเล่นๆ แต่สำหรับชาวอังกฤษที่บ้าฟุตบอลอยู่ในสายเลือดนั้น เพลงดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงการพูดเล่น แต่หมายความอย่างนั้นจริงๆ เพราะเสน่ห์ของเกมฟุตบอลคือ ‘ไม่มีใครที่จะยิ่งใหญ่ไปตลอดกาล’ ในยุคก่อนอาจเป็นยุคทองไร้พ่ายของอาร์เซนอล แต่ในปัจจุบันกลับเป็นทางฝั่งของสเปอร์สที่ทำผลงานได้ดีกว่า
แฟนบอลชาวไทยอาจสงสัยว่าเหตุใดแฟนบอลถึงต้องเชียร์ (แช่ง) เอาเป็นเอาตายขนาดนี้ เพราะสำหรับชาวอังกฤษนั้น ฟุตบอลไม่ใช่แค่การแข่งนัดหนึ่ง แต่เป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีที่ไม่สามารถที่จะอ่อนข้อยอมให้กันได้ เพราะสำหรับแฟนบอล ฟุตบอลคือสิ่งที่มากกว่ากีฬา แต่คือวิถีชีวิต และเป็นเสน่ห์ที่ทำให้แฟนบอลทั่วโลกต้องหลงรักกีฬาชนิดนี้
เช่นเดียวกัน หากมีคนถามผมว่าอะไรที่ทำให้ชอบฟุตบอล ผมอาจจะต้องถามเขากลับเสียว่า
“หลังจากที่คุณเห็นเหงื่อของนักเตะที่วิ่งไล่บอลกันอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ได้ยินเพลงเชียร์ดังกึกก้องไปทั่วเมืองจากคนดู การเฉลิมฉลองที่บ้าคลั่งหลังยิงประตูระหว่างนักเตะและกองเชียร์ พวกคุณต่างหากที่ห้ามตัวเองไม่ให้หลงไหลไปกับฟุตบอลได้อย่างไร?”
อ้างอิง:
https://www.thestatszone.com/archive/which-is-the-biggest-derby-in-world-football-13612
https://www.phrases.org.uk/meanings/235375.html
https://www.laliga.com/en-GB/news/the-origin-of-the-word-derby
https://www.smmsport.com/reader/article/7562
https://www.facebook.com/jingjungfootball/posts/2236293709919200
Tags: Derby Match, Sport, Football, ฟุตบอล, ดาร์บี้แมตช์