นินา แลงก์ตัน (Nina Langton) ไม่เคยคิดถึงเรื่องการเป็นโรคซึมเศร้า เธอมีเพื่อนที่ดี อาศัยอยู่ในย่านของผู้มั่งคั่ง และมีพ่อแม่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด

ไม่ต่างจากเพื่อนๆ วัย 16 ปีส่วนใหญ่ในโรงเรียน นินาใช้เวลาว่างเกือบทั้งหมดไปกับโทรศัพท์มือถือ แต่ที่แตกต่างจากเพื่อนๆ หลายคนคือเธอไม่เคยตกเป็นเหยื่อของการข่มขู่คุกคามและการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโลกออนไลน์

นินาบอกว่า “สิ่งที่ทำให้โรคซึมเศร้าของหนูมีความยุ่งยากซับซ้อนก็คือ หนูไม่เข้าใจว่าทำไมจึงรู้สึกย่ำแย่ขนาดนั้น”

หลังจากการพยายามฆ่าตัวตายและในระหว่างการพักฟื้น นินาและผู้ทำการรักษาระบุว่าความเศร้าโศกของเธอมีที่มาจากความไม่มั่นใจในรูปลักษณ์ภายนอก นินาบอกว่าเธอใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเฝ้าติดตามบรรดานางแบบในอินสตาแกรม “และหนูกังวลอย่างมากว่าจะเป็นอย่างไรในสายตาของคนอื่น”

เคตลิน เฮอร์ตี (Caitlin Hearty) เด็กสาววัย 17 ปีจากรัฐโคโลราโด ก็มีความรู้สึกแบบเดียวกัน เธอบอกว่า “หลังจากไล่ดูอินสตาแกรมอยู่หลายชั่วโมง หนูก็รู้สึกแย่เกี่ยวกับตัวเอง เพราะหนูรู้สึกว่าหนูกลายเป็นคนนอก”

 

นินาบอกว่าเธอใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเฝ้าติดตามบรรดานางแบบในอินสตาแกรม “และหนูกังวลอย่างมากว่าจะเป็นอย่างไรในสายตาของคนอื่น”

ในวัย 16 ปี นินา แลงก์ตัน เฝ้ามองหน้าจอของโทรศัพท์มือถือจนดึกดื่นเป็นประจำ เธอพักผ่อนไม่เพียงพอและกินอาหารไม่เป็นเวลา ความคิดเรื่องการฆ่าตัวตายค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในมุมมืด ก่อนที่เธอจะรู้สึกว่ามันคือทางออกเพียงทางเดียวที่เหลืออยู่

คริสทีน แลงก์ตัน (Christine Langton) แม่ของนินาบอกว่า การพยายามฆ่าตัวตายของลูกสาวเป็นสิ่งที่ปราศจากสัญญาณใดๆ นินาเป็นเด็กสาวที่น่ารักสดใส แถมมีความสามารถด้านกีฬา “โรคซึมเศร้าจึงไม่เคยอยู่ในความสนใจของฉันเลย”

คริสทีนบอกว่าเธอน่าจะควบคุมการใช้โทรศัพท์มือถือของลูกสาวให้มากขึ้น ที่ผ่านมา เธอไม่เคยคิดว่าการปล่อยให้ลูกสาวอยู่กับโทรศัพท์มือถือภายในห้องนอนเพียงลำพังจะนำมาซึ่งปัญหา “ฉันไม่เคยคิดถึงผลกระทบที่โทรศัพท์มือถือมีต่อความภาคภูมิใจและมุมมองที่เรามีต่อตัวเราเอง”

0  0  0

ดูเหมือนว่าพ่อแม่ในแต่ละรุ่นจะมีปัญหากับเทคโนโลยีใหม่ในยุคสมัยของตน ก่อนหน้านี้ โทรทัศน์และวิดีโอเกมเคยสร้างความวิตกกังวลให้กับบรรดาผู้ใหญ่ และสำหรับทุกวันนี้ โทรศัพท์มือถือแบบสมาร์ตโฟน ซึ่งเคียงคู่มากับโซเชียลมีเดียก็กำลังทำหน้าที่นั้น

โทรศัพท์มือถือคือสิ่งที่ทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น และสำหรับคนจำนวนหนึ่ง พวกเขาเห็นว่าการควบคุมพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์มือถือของเด็กๆ เป็นสิ่งจำเป็น

ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับสุขภาพจิตของวัยรุ่นอเมริกันคือหลักฐานสนับสนุน

การสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ พบว่า ตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปี 2016 จำนวนวัยรุ่นอเมริกันทั่วประเทศที่มีอาการของโรคซึมเศร้าอย่างน้อยหนึ่งครั้งเพิ่มขึ้นเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การสำรวจวัยรุ่น 17,000 คนในปี 2016 พบว่าประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์มีอาการของโรคซึมเศร้าอย่างน้อยหนึ่งครั้งในปีก่อนหน้า (ตัวเลขการสำรวจในปี 2010 คือ 8 เปอร์เซ็นต์) นอกจากนี้ การเสียชีวิตเนื่องจากการฆ่าตัวตายในกลุ่มประชากรอายุ 10-19 ปี ก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก และสำหรับวัยรุ่นหญิง ข้อมูลของสำนักงานควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention) ระบุว่าการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 40 ปี ขณะที่ในช่วงปลายทศวรรษ 1990s จนถึงต้นทศวรรษ 2000s อัตราการเป็นโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่นเกือบจะอยู่ในระดับคงที่

 

หลังจากปี 2010 วัยรุ่นที่ใช้เวลาอยู่กับอุปกรณ์ดิจิทัลมากกว่ากิจกรรมอื่นๆ มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาทางด้านจิตใจมากกว่าวันรุ่นที่ใช้เวลาไปกับกิจกรรมซึ่งถอยห่างจากหน้าจอ

จีน ทเวง (Jean Twenge) อาจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแซนดีเอโกสเตต บอกว่า ปรากฏการณ์ข้างต้นน่าจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และงานศึกษาของเธอซึ่งจะตีพิมพ์ในวารสาร Clinical Psychological Scienceภายในปีนี้ ก็พบข้อมูลว่าหลังจากปี 2010 วัยรุ่นที่ใช้เวลาอยู่กับอุปกรณ์ดิจิทัลมากกว่ากิจกรรมอื่นๆ มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาทางด้านจิตใจมากกว่าวันรุ่นที่ใช้เวลาไปกับกิจกรรมซึ่งถอยห่างจากหน้าจอ

ทเวงศึกษาข้อมูลในช่วงปี 2010-2015 ของวัยรุ่นอเมริกันทั่วประเทศ (อายุ 13-18 ปี)  มากกว่า 500,000 คน และพบว่าเด็กๆ ที่ใช้เวลาวันละสามชั่วโมงหรือมากกว่าอยู่กับโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์ดิจิทัลอื่นๆ มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมเกี่ยวเนื่องกับการฆ่าตัวตายอย่างน้อยหนึ่งครั้ง (รวมถึงความรู้สึกสิ้นหวังหรือการคิดฆ่าตัวตายอย่างจริงจัง) ขณะเดียวกัน 48 เปอร์เซ็นต์ของเด็กๆ ที่ใช้เวลาอยู่กับอุปกรณ์ดิจิทัลวันละห้าชั่วโมงหรือมากกว่า มี ‘พฤติกรรม’ เกี่ยวเนื่องกับการฆ่าตัวตายอย่างน้อยหนึ่งครั้ง

โดยสรุปก็คือ ทเวงพบว่าเด็กๆ ที่ใช้เวลาส่วนน้อยอยู่กับกิจกรรมในชีวิตจริง และใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับโซเชียลมีเดีย มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ทเวงบอกว่างานศึกษาของเธอไม่ใช่ข้อพิสูจน์ว่าโทรศัพท์มือถือคือสาเหตุของโรคซึมเศร้า แต่จากการศึกษาปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย “ฉันคิดว่าเมื่อเราเรียนรู้เรื่องเด็กๆ กับโทรศัพท์มือถือมากขึ้น เราก็ตระหนักมากขึ้นว่าการจำกัดการใช้งานของพวกเขานั้นเป็นความคิดที่ดี”

0  0  0

นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย และเห็นว่าหลักฐานที่มีอยู่นั้นยังไม่เพียงพอสำหรับการโยนความผิดให้กับโทรศัพท์มือถือ แคนดิซ ออดเจอร์ส (Candice Odgers) อาจารย์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยดุ๊ก กล่าวว่าเธอไม่โต้แย้งเรื่องการเพิ่มขึ้นของโรคซึมเศร้า โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นหญิง “แต่ ณ ตอนนี้เรามีข้อมูลน้อยมากที่บ่งชี้ว่าเทคโนโลยีมือถือคือสาเหตุของความวิตกกังวลหรือปัญหาทางด้านจิตใจ”

ขณะที่แพทย์หญิง คริสทีน มูติเออร์ (Christine Moutier) จากมูลนิธิเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งอเมริกา (American Foundation for Suicide Prevention) บอกว่างานของจีน ทเวง ไม่ได้สำรวจสภาพแวดล้อมรายรอบผู้ที่ฆ่าตัวตาย และการฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยรุ่นนั้นมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง

แน่นอนว่ามีหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นโรคซึมเศร้าในกลุ่มวัยรุ่น พ่อแม่จำนวนหนึ่งบอกว่าเด็กๆ ทุกวันนี้มีภาระยุ่งยากยิ่งกว่าเด็กรุ่นไหนๆ สำหรับการเข้าเรียนในสถานศึกษาชื่อดัง และเดวิด ฮิลล์ (David Hill) ประธานคณะกรรมการกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกาทางด้านการสื่อสารและสื่อ (American Academy of Pediatrics Council on Communications and Media) ก็บอกว่าเขาไม่คิดว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์คือสาเหตุหลัก

อย่างไรก็ตาม ฮิลล์บอกว่า “แต่ผมคิดว่ามันมีผลต่อหลายเรื่องที่เราเป็นกังวล” และแนะนำให้พ่อแม่จำกัดการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้โทรศัพท์มือถือบนเตียงนอนในยามค่ำคืน

 

“แต่ ณ ตอนนี้เรามีข้อมูลน้อยมากที่บ่งชี้ว่าเทคโนโลยีมือถือคือสาเหตุของความวิตกกังวลหรือปัญหาทางด้านจิตใจ” แคนดิซ ออดเจอร์ส

นักการศึกษาจำนวนหนึ่งในสหรัฐอเมริกาก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ดี และโรงเรียนมัธยมปลายแซนลอเรนโซในรัฐแคลิฟอร์เนีย ก็คือหนึ่งในโรงเรียนที่นักเรียนไม่สามารถใช้โทรศัพท์มือถือได้ (โทรศัพท์มือถือจะถูกเก็บไว้ในถุงปิดล็อกของนักเรียนแต่ละคนจนกระทั่งสิ้นสุดการเรียนการสอน)

มันอาจจะเป็นเรื่อง ‘เกินเลย’ สำหรับเด็กบางคน แต่อัลลิสัน ซิลเวสตรี (Allison Silvestri) ผู้อำนวยการของโรงเรียน ให้ข้อมูลว่า ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่โรงเรียนใช้มาตรการนี้ เธอบอกว่าเด็กๆ มีสมาธิและมีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากขึ้น รวมทั้งการทะเลาะวิวาทก็เกิดขึ้นน้อยลง

ในทรรศนะของอัลลิสัน นี่คือสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นเพราะการหายไปของโทรศัพท์มือถือ เธอบอกว่าเด็กๆ มีความสุขและมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น และมีพ่อแม่หลายคนถามเธอว่าจะหาซื้อถุงปิดล็อกแบบที่โรงเรียนใช้ได้จากที่ไหน

แน่นอนว่าการทดลองที่โรงเรียนมัธยมปลายแซนลอเรนโซไม่ได้รับการยอมรับในทางวิทยาศาสตร์ แต่มันก็ปฏิเสธไม่ได้เต็มปากเต็มคำว่าการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีนั้นไม่ได้เชื่อมโยงกับการลดการใช้โทรศัพท์มือถือของเด็กๆ

0  0  0

สำหรับประเทศไทย ความเชื่อมโยงระหว่างโทรศัพท์มือถือกับโรคซึมเศร้าอาจจะยังมีการพูดถึงไม่มากนัก ข้อมูลที่พบในตอนนี้คือในเว็บไซต์ของศูนย์ให้คำปรึกษาและฟื้นฟูผู้มีพฤติกรรมการเสพติด มีการกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ากับระยะเวลาที่ใช้โทรศัพท์มือถือ และมีการอ้างถึงงานวิจัยที่พบว่านักเรียนที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตอย่างโรคซึมเศร้า จะมีอาการของการเสพติดโทรศัพท์มือถือ และนักเรียนที่เสพติดโทรศัพท์มือถือก็มีสัญญาณของการเป็นโรคซึมเศร้า

ข้อมูลในเว็บไซต์ดังกล่าวยังระบุว่าการใช้โทรศัพท์มือถือสำหรับการพูดคุยหรือเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์นั้นไม่ได้นำไปสู่โรคซึมเศร้าหรือภาวะเสพติด แต่ถ้าเป็นการใช้เพื่อคลายความวิตกกังวล หรือเพื่อไม่ให้จมอยู่กับความคิดด้านลบ นั่นแปลว่าผู้ใช้มีความเสี่ยงที่จะเข้าข่ายภาวะเสพติดโทรศัพท์มือถือ โดยภาวะเสพติดและโรคซึมเศร้าต้องรักษาไปพร้อมกัน

 

ในประเทศไทย มีการอ้างถึงงานวิจัยที่พบว่านักเรียนที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตอย่างโรคซึมเศร้า จะมีอาการของการเสพติดโทรศัพท์มือถือ

ย้อนกลับมาที่นินา แลงก์ตัน ไม่กี่เดือนหลังจากพยายามฆ่าตัวตาย เธอก็เปิดเผยเรื่องราวของตัวเองกับเพื่อนๆ เธอบอกเล่าเรื่องราวของการป่วยไข้ทางจิตใจ และบอกว่าถึงแม้วัยรุ่นจำนวนมากจะมีอาการของโรคซึมเศร้า แต่ก็มีเพียงไม่กี่คนที่ต้องการจะพูดถึงมัน “หนูเป็นกังวลอยู่นานเกี่ยวกับการเปิดเผยเรื่องราวของตัวเอง เพราะหนูคิดว่าหนูจะถูกคนอื่นตัดสิน”

หลังจากบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง นินาบอกว่ามีเพื่อนๆ หลายคนบอกกับเธอว่าพวกเขาก็มีประสบการณ์ในแบบเดียวกัน

“หนูคิดว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ที่จำเป็นต้องได้รับความสนใจมากขึ้น”

เราคงไม่อาจบอกได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาจะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย และนี่เป็นเรื่องที่เราควรจะหันมาให้ความสนใจกันอย่างจริงจัง

 

ภาพประกอบหน้าแรกโดย ภัณฑิรา ทองเชิด

 

ที่มา
http://time.com/4974863/kids-smartphones-depression/
http://time.com/5022942/teen-suicide-rate-social-media-use/
https://th.thecabinbangkok.co.th

 

 

FACT BOX:

สิ่งที่งานศึกษาของจีน ทเวง ค้นพบคือ

  • ในปี 2015 วัยรุ่นชาวอเมริกัน 19 เปอร์เซ็นต์ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงโทรศัพท์มือถือ วันละอย่างน้อยห้าชั่วโมง เพิ่มขึ้นจาก 8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2009 และวัยรุ่นกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะมีความคิดหรือลงมือฆ่าตัวตายมากกว่าวัยรุ่นกลุ่มที่ระบุว่าใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์วันละหนึ่งชั่วโมง
  • ในปี 2015 วัยรุ่น 36 เปอร์เซ็นต์บอกว่ารู้สึกโศกเศร้าหรือสิ้นหวังอย่างที่สุด หรือคิด/วางแผน/พยายามฆ่าตัวตาย (เพิ่มขึ้นจาก 32 เปอร์เซ็นต์ในปี 2009) กล่าวเฉพาะเด็กผู้หญิง ตัวเลขสูงกว่านั้น คือ 45 เปอร์เซ็นต์ในปี 2015 (เพิ่มขึ้นจาก 40 เปอร์เซ็นต์ในปี 2009)
  • ในปี 2015 เด็กหญิงชั้นเกรด 12 (ม.6) ร้อยละ 87 บอกว่าใช้โซเชียลมีเดียทุกวันหรือเกือบทุกวัน (เพิ่มขึ้นจาก 58 เปอร์เซ็นต์ในปี 2009) ซึ่งพวกเธอมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าเพื่อนๆ ที่ใช้โซเชียลมีเดียน้อยกว่า

สถิติอื่นๆ ที่น่าสนใจ

  • ในช่วงปี 2010-2016 อัตราการเป็นโรคซึมเศร้าในกลุ่มวัยรุ่นอเมริกันเพิ่มขึ้น 60 เปอร์เซ็นต์
  • 10 ปี คืออายุเฉลี่ยของเด็กๆ ชาวอเมริกันที่ได้เป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือเครื่องแรก
Tags: , , , , , , ,