หลังจากมีข่าวว่าโครงการผังแม่บทฟื้นฟูย่านเจริญกรุง (Co-Create Charoenkrung) ติดรายชื่อผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในเวทีระดับสากล ‘เทศกาลสถาปัตยกรรมโลกประจำปี 2016’ หรือ World Architecture Festival 2016 ล่าสุด ผลออกมาแล้วว่าโครงการผังแม่บทฟื้นฟูย่านเจริญกรุง ได้รับรางวัล Highly Commended ในหมวด Future Masterplanning Project เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 59 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

นอกจากจะเป็นข่าวดีสำหรับวงการสถาปัตยกรรมไทยแล้ว

รางวัลนี้ยังสะท้อนให้เห็นอะไร?

อาจสะท้อนถึงความหมายของคำว่า Co-Create ว่าเป็นอนาคตใหม่ของเมืองไทย เพราะโครงการผังแม่บทฟื้นฟูย่านเจริญกรุง หรือในอีกชื่อหนึ่งว่าโครงการสร้างสรรค์เจริญกรุง (Co-Create Charoenkrung) ได้นำโมเดลการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม หรือ Co-Creation เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการปรับใช้ในการออกแบบพื้นที่ร่วมกับแนวคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking)

โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของหลายฝ่าย ตั้งแต่ผู้เชี่ยวชาญด้านเมืองสร้างสรรค์ นักออกแบบ และคนในชุมชน ด้วยเชื่อว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน และเป็นต้นแบบของย่านที่มีความเจริญทางธุรกิจสร้างสรรค์ อาทิ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ที่กำลังจะเปิดบ้านใหม่ที่เจริญกรุงในปีหน้า ฉมาโซเอน (Shma SoEn) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Photo: TCDC

Co-Creation จับมือร่วมกันวันนี้ เพื่อเป็นเจ้าของอนาคตที่ดีกว่าในวันข้างหน้า

เพราะการพัฒนาย่านชุมชนและเมืองในวันนี้ไม่ควรเป็นแค่เรื่องของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งอีกแล้ว หัวใจสำคัญของโครงการนี้จึงไม่ใช่การหลับตาลงพื้นที่และออกแบบโดยไม่ถามความคิดเห็นหรือตรวจสอบความรู้สึกของคนในพื้นที่แม้แต่น้อย แต่เลือกที่จะทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนในย่านเจริญกรุง ตั้งแต่เก็บข้อมูลด้วยการระดมความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์

ทำไมกระบวนการเหล่านี้ถึงสำคัญ

ผู้เกี่ยวข้องของโครงการนี้อธิบายว่า การระดมความคิดเห็นของคนหลายๆ ฝ่าย ผ่านโฟกัสกรุ๊ปและดึงคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วม ถือเป็นการออกแบบอย่างเคารพต่อสิทธิ์และเสียงของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนหน่วยงานราชการ ตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจสนับสนุนธุรกิจสร้างสรรค์ ตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ ตัวแทนหน่วยงานภาคการศึกษา ตัวแทนชุมชนภายในพื้นที่ ตัวแทนเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ อาคารหรือสถาปัตยกรรมเก่า และตัวแทนผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ภายในพื้นที่

เพราะไม่ว่าพื้นที่ชุมชนหรือเมืองจะยิ่งใหญ่แค่ไหน ก็ย่อมต้องอาศัยกำลังของผู้คนตัวเล็กๆ เหล่านี้ร่วมกันขับเคลื่อนเมืองไปข้างหน้า

Photo: TCDC

จากเจริญกรุงสู่ป้อมมหากาฬ หรือการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมจะปกป้องอนาคตของชุมชนได้?

นอกจากโครงการสร้างสรรค์เจริญกรุงแล้ว อีกชุมชนหนึ่งที่ได้นำกระบวนการ Co-Creation  เข้ามาประยุกต์ใช้ก็คือ ชุมชนป้อมมหากาฬหรือตรอกพระยาเพชร

ทั้งผู้อยู่อาศัย ผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้และค้นหาทางออกให้กับชุมชนแห่งนี้มาอย่างยาวนาน ด้วยเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่รุ่มรวยด้วยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม โอกาสทางเศรษฐกิจ และเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน จนพัฒนามาเป็นกระบวนการการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม และเป็นที่มาของโปรเจกต์ Co-Create Mahakan ก่อนที่ทางพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะกล่าวแถลงในที่ประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ให้ดำเนินการรื้อถอนชุมชน จนกลายเป็นประเด็นร้อนที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง

ทางเพจ ‘ชุมชนป้อมมหากาฬ’ ได้โพสต์ข้อความหนึ่งว่า “เรากำลังพูดถึงการมีส่วนร่วมของผู้คนกับเมือง เมืองที่ไม่ใช่แค่ขอบและเขตของพื้นที่ เมืองที่ไม่ใช่แค่ท้องถิ่นหรือท้องที่ แต่คือเมืองที่ที่ผู้คนร่วมคิด ร่วมกำหนด ร่วมออกแบบแนวทาง วิธีการ และกระบวนการในการใช้ชีวิต ใช้สอยและใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรต่างๆ ร่วมกัน ไม่ใช่แค่การใช้ประโยชน์ที่มองเฉพาะวันนี้พรุ่งนี้ แต่คือการใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างมีส่วนร่วม”

อันที่จริง ทั้งโครงการสร้างสรรค์เจริญกรุงและชุมชนป้อมมหากาฬ ต่างก็มีปลายทางร่วมกันคือ หาจุดกึ่งกลางที่พอดีกับทั้งผู้อยู่อาศัยเดิมและการมาถึงของการพัฒนาใหม่ ความคิดเห็นของคนในชุมชนจึงเป็นหัวใจในการทำแผนพัฒนาพื้นที่สาธารณะ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญ สถาปนิก และนักออกแบบในการทำเวิร์กช็อปร่วมกันกับคนในชุมชน เพื่อหาทางออกให้กับการใช้งานพื้นที่ในส่วนต่างๆ 6 ส่วน ได้แก่ บ้านไม้โบราณ, พิพิธภัณฑ์มีชีวิต, สวนสาธารณะ, ที่อยู่อาศัย, เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เด็กและเยาวชน

The Momentum สอบถามข้อมูลจากธัญญพร จารุกิตติคุณ นักออกแบบวิจัยอาสาจากหน่วยงานสาธารณะ (The Urban Lab) หน่วยงานที่มีเป้าหมายในการพัฒนาเมืองด้วยนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation) ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นตัวกลางในการร่วมวางแผน พัฒนา ร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ และพร้อมเป็นตัวกลางในการนำเสนอแผนพัฒนาพื้นที่กับกรุงเทพมหานคร หัวใจของสาธารณะคือการให้ความสำคัญกับกระบวนการการมีส่วนร่วม เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยนำองค์ความรู้นี้ไปปรับใช้กับพื้นที่อื่นๆ ของกรุงเทพฯ ได้อีกในอนาคต

แม้ผลลัพธ์ของชุมชนป้อมมหากาฬยังต้องผ่านระยะเวลาเพื่อพิสูจน์ และยังคงอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาร่วมกันระหว่างคนในชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด แต่ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างและเกิดตัวต้นแบบ (prototype) จากการรับฟังความคิดเห็นของทุกคน นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกที่สนใจสามารถเข้ามาทดสอบการใช้งานจริงในวันที่ 24-25 ธันวาคม กับกิจกรรม ‘มาหากัน มหากาฬ’ กิจกรรมที่นำเสนอไอเดียและทดสอบตัวต้นแบบด้วยการใช้งานจริง เพื่อเป้าหมายในการกระตุ้นให้คนในชุมชนนั้นได้มีโอกาสเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะมาถึงในอนาคต และได้ลองนำของดีที่มีทั้งภูมิปัญญา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของพื้นที่มาปรับเปลี่ยนและเล่าเรื่องใหม่ให้เข้ากับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป วิธีคิดที่เปลี่ยนได้จากความร่วมมือของทุกฝ่าย เพื่ออนาคตที่ออกแบบได้จากการร่วมมือกัน

Photo: ชุมชนป้อมมหากาฬ, เพจเฟสบุ๊ก

ถอดรหัสแนวคิด Co-Creation: พื้นฐานคือ ‘ช่วยกันคิด-ช่วยกันทำ’

การช่วยกันคิด-ช่วยกันทำ (Co-Creation) ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นแนวคิดที่ฮิตสุดๆ

ย้อนกลับไปช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2008 ลักษณะของความไม่สมดุลในระบบต่างๆ และวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจของวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป เป็นที่มาของการผลักดันโมเดลที่เรียกว่า ‘Co-Creation’ หรือการมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ให้เป็นที่ถูกกล่าวถึงและนำหลักการไปปฏิบัติกันมากขึ้น ก็ใช่อยู่ที่ต่างคนต่างทำงานในส่วนที่ตัวเองถนัด แต่ก็ขอแค่เริ่มหันหน้ามาร่วมมือกันของหน่วยงานภาคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกันทั้งรัฐบาล เอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องมากขึ้นเท่านั้น เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์และพัฒนาด้วยสายตาหลายๆ มุมมอง

บทความ ‘Co-Creation: a Typology and Conceptual Framework’ ได้ระบุถึงคำนิยามของ Co-Creation ว่าเป็น ‘กระบวนการปฏิสัมพันธ์อย่างมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างน้อย 2 หน่วย ที่เต็มใจจะมาแบ่งปันข้อมูลเพื่อสนับสนุนให้เกิดผลลัพธ์อย่างเฉพาะเจาะจงและเกิดประโยชน์ร่วมจากการร่วมมือกัน ผลลัพธ์คือการสร้างคุณค่าจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเหล่านี้’ ส่งผลให้โมเดลการช่วยกันคิด-ช่วยกันทำนี้เริ่มถูกปรับประยุกต์ใช้เข้ากับโลกธุรกิจ เพราะในยุคที่ผู้บริโภคมีอำนาจเหนือการดำเนินธุรกิจทั้งปวง นักการตลาดเก่งๆ จะเริ่มมองเห็นว่าธุรกิจควรให้มากกว่าที่ลูกค้าอยากได้ และโมเดล Co-Creation ก็ตอบโจทย์ในแง่การเปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ผ่านประสบการณ์ดิจิทัลที่เชื่อมต่อผู้บริโภคเข้ากับเรื่องราวของแบรนด์ ดังที่ เจน บักกิ้งแฮม (Jane Buckingham) ผู้ก่อตั้ง เทรนเดอรา (Trendera) เอเจนซีออกแบบกลยุทธ์ทางการตลาด กล่าวว่า กลุ่มคนเจนซี (Gen Z) นั้นเป็นเจนที่ชื่นชอบในการมีส่วนร่วม ดังนั้นสำหรับธุรกิจก็ควรวางแผนทำการตลาดร่วมกับพวกเขา ไม่ใช่ทำให้พวกเขา เจนแนะนำเพิ่มเติมอีกว่า แบรนด์ต่างๆ จะสามารถสร้างรอยัลตี้ให้เกิดได้ง่ายๆ เพียงแค่เปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ได้ ‘collaborate’ ร่วมในผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงโอกาสในการที่พวกเขาจะได้ออกแบบแคมเปญใหม่ๆ

ดังนั้นก็อย่าเพิ่งตกใจว่าการเลือกใช้โมเดล Co-Creation นั้นจำเป็นต้องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่อย่างการสร้างเมืองหรือการออกแบบเท่านั้น แต่ธุรกิจอื่นๆ ก็สามารถเริ่มต้นใช้โมเดลนี้ได้เช่นเดียวกัน เว้นที่นั่งแถวหน้าสุดเพื่อให้ผู้บริโภคได้แนะนำไอเดียสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะเปิดตัวสู่ตลาดใหม่

Photo: TCDC

(หมายเหตุ: ผลลัพธ์จากการใช้โมเดลการออกแบบร่วมกันสำหรับโครงการสร้างสรรค์เจริญกรุง ได้เป็นโครงการต้นแบบจำนวน 5 โครงการ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมของทั้ง 5 โครงการได้ที่ Co-Create Charoenkrung)