“เรามีประธานาธิบดีผิวสีแล้ว
เรากำลังจะมีประธานาธิบดีผู้หญิงคนแรก
ทำไมเราจะมีประธานาธิบดีหญิงผิวสีไม่ได้!”
ว่ากันว่าสุนทรพจน์ที่ดีที่สุดของการเลือกตั้งปี 2016 ไม่ได้มาจากผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างฮิลลารี หรือทรัมป์ แต่มาจากผู้ที่กำลังจะกลายเป็น ‘อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง’ ในอีก 70 วันข้างหน้า
หรือแม้ ‘มิเชล โอบามา’ จะลงจากตำแหน่งแล้ว แต่เชื่อว่าโลกจะยังจับตาเธอต่อไป เหมือนที่หลายคนตั้งคำถามในใจกันว่า จะมีโอกาสไหมที่จะได้เห็นเธอสมัครเป็นวุฒิสมาชิก ไปจนถึงสมัครเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ
บางคนถึงขนาดแซวว่า “เรามีประธานาธิบดีผิวสีแล้ว เรากำลังจะมีประธานาธิบดีผู้หญิงคนแรก ทำไมเราจะมีประธานาธิบดีหญิงผิวสีไม่ได้!”
อาจกล่าวได้ว่า นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมหลังการกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตเป็นต้นมา โลกจับตามิเชลด้วยสายตาที่ไม่เหมือนเดิม ในฐานะ Political Orator หรือผู้ปราศรัยในทางการเมืองคนสำคัญ
และโลกรอฟัง ‘สารทางการเมือง’ ผ่านสุนทรพจน์ของเธอ ซึ่งทั้งแหลมคมในเชิงประเด็น มีพลังในการโน้มน้าวใจคน และที่สำคัญคือโจมตีฝ่ายตรงข้ามอย่างมีรสนิยม!
สุนทรพจน์ชิ้นที่ 1: “When they go low, We go high.”
ในค่ำคืนแรกของการประชุมใหญ่พรรคเดโมแครต (26 ก.ค. 2559) มิเชลกล่าวสุนทรพจน์ชิ้นสำคัญในชีวิตของเธอด้วยการชี้ให้เห็นเดิมพันที่สูงลิ่วของการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า ไม่ใช่แค่การเลือกใครมาบริหารประเทศ แต่คือการเลือกคนที่มีอำนาจในการหล่อหลอมและเป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนในชาติ สุนทรพจน์ชิ้นนี้ ยิงตรงเป้าไปที่การทำลายความน่าเชื่อถือของทรัมป์ โดยไม่เอ่ยชื่อโดนัลด์ ทรัมป์ สักประโยคเดียว
ที่สำคัญคือ เป็นสุนทรพจน์ที่มาจากเรื่องเล่าและมุมมองของคนเป็นแม่ ที่อยากเห็นลูกเติบโตในสังคมที่ดี ไม่ใช่สุนทรพจน์ที่มาจากมุมมองของนักการเมืองซึ่งมักมีผลประโยชย์ในทางการเมืองแอบแฝง
ค่ำคืนนั้นเองถือเป็นจุดเริ่มต้นของประโยค “When they go low, We go high.” ที่ฮิลลารียืมมาใช้ในเวทีดีเบตรอบที่สอง รวมถึงในเวทีหาเสียงอีกหลายสิบเวที
มิเชลกล่าวในสุนทรพจน์ว่า สิ่งที่โอบามาและเธอพยายามทำในแต่ละวัน คือ พยายามจะปกป้องลูกจากความท้าทายของชีวิตที่ไม่ปกติ เพราะมีแสงไฟจากสาธารณชนสาดส่องมาถึงอยู่ตลอดเวลา ไปจนถึงสอนให้ลูกรู้จักปฏิเสธภาษาแห่งความเกลียดชังที่พวกเขาได้ยินในโทรทัศน์จากบุคคลสาธารณะทั้งหลาย ซึ่งเป็นภาษาที่ไม่ได้เป็นตัวแทนทางจิตวิญญาณของชาติ
“สอนลูกว่า เมื่อใครทำตัวเป็นอันธพาลหรือทำตัวข่มเหงรังแกเรา เราอย่าได้ลดตัวลงไปให้ต่ำเหมือนเขา คำขวัญของเราก็คือ เมื่อพวกเขาลงต่ำ เราจะทำตัวให้สูง
“…บารักและฉันยึดถือหลักการข้อเดียวกันนี้ ในการทำหน้าที่เป็นประธานาธิบดีและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เพราะเรารู้ว่าคำพูดและการกระทำของเรามีความสำคัญ ไม่เพียงแต่สำหรับลูกของเราเท่านั้น แต่ยังสำคัญสำหรับเด็กๆ ทั่วประเทศ เด็กๆ ที่บอกเราว่าพวกเขาและเธอเห็นเราทางทีวี เด็กๆ ที่บอกเราว่าพวกเขาและเธอเขียนรายงานในห้องเรียนเกี่ยวกับเรา
“…ในเดือนพฤศจิกายนที่จะมาถึง เมื่อเราเดินเข้าสู่คูหาเลือกตั้ง นั่นคือการตัดสินใจของเรา นี่ไม่ใช่การเลือกระหว่างเดโมแครตหรือรีพับลิกัน นี่ไม่ใช่การเลือกระหว่างซ้ายหรือขวา
“…เปล่าเลย เพราะในการเลือกตั้งที่จะมาถึง และในการเลือกตั้งทุกๆ ครั้ง มันคือเรื่องว่า ‘ใคร’ ที่จะมีอำนาจในการหล่อหลอมและเป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนในชาติของเราไปอีก 4 ปี หรืออีก 8 ปีข้างหน้า”
“…ดังนั้น อย่าปล่อยให้ใครมาบอกคุณว่า ประเทศนี้ไม่ยิ่งใหญ่ แล้วจึงจะต้องทำให้มันกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง เพราะในเวลานี้สหรัฐฯ คือประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกใบนี้แล้ว”
เราสามารถบอกลูกชายของพวกเราได้จริงๆ
หรือว่ามันถูกแล้วที่จะลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง?
เราสามารถบอกลูกสาวของพวกเราได้จริงๆ
หรือว่านี่คือการปฏิบัติต่อเพศหญิงที่พวกเธอต้องรับให้ได้?
เราสามารถบอกเด็กๆ ในประเทศนี้ได้จริงๆ
หรือว่าความดื้อรั้นและการข่มขู่
คือสิ่งที่พึงรับได้อย่างสมบูรณ์แบบในตัวผู้นำประเทศของเรา
สุนทรพจน์ชิ้นที่ 2: “It has shaken me to my core in a way that I couldn’t have predicted.”
หลังกรณีคลิปเสียงบทสนทนาของทรัมป์ในปี 2005 เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศหญิงหลุดออกมา ซึ่งทำลายคุณค่าและหลักการสำคัญของความเป็นครอบครัว (Family Values) ด้วยการบอกว่าเขา ‘สามารถจะทำอะไรกับผู้หญิงที่แต่งงานแล้วก็ได้ แม้ตัวเองจะแต่งงานแล้ว จะจับอวัยวะเพศผู้หญิงก็ได้ แม้จะไม่ได้รับการยินยอมจากเธอ’
มิเชลขึ้นปราศรัยที่แมนเชสเตอร์ รัฐนิวแฮมป์เชียร์ เมื่อ 13 ตุลาคม 2559 ราว 28 นาที เว็บไซต์คอสโมโพลิแทนบอกว่า มีประโยคเด็ดที่เธอใช้โจมตีทรัมป์ถึง 16 ประโยค ต่อไปนี้คือบางประโยคสำคัญที่ว่า
“ฉันไม่สามารถหยุดคิดถึงเรื่องนี้ได้ เพราะมันส่งผลกระทบต่อข้างในตัวฉัน ในแบบที่ฉันเองก็คาดเดาไม่ได้” (It has shaken me to my core in a way that I couldn’t have predicted.)
มิเชลซัดกรณีคลิปเสียงหลุดของทรัมป์อย่างรุนแรงด้วยการบอกว่า
“ความเห็นที่น่าประณามเกี่ยวกับร่างกายของเรา ความไม่เคารพต่อความทะเยอทะยานและสติปัญญาของเรา ความเชื่อว่าคุณสามารถทำอะไรก็ได้ต่อผู้หญิงมันโหดร้าย มันน่ากลัว และความจริงก็คือ มันสร้างความปวดร้าวต่อพวกเราทุกคน”
จุดเด่นที่สำคัญในสุนทรพจน์ชิ้นนี้คือการปลุกเร้าอารมณ์และพลังของ ‘ผู้หญิง’ ให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับการกระทำของทรัมป์ นัยหนึ่งคือ การต่อสู้ผ่านการเข้าคูหาไปเลือกฮิลลารีนั่นเอง
“นี่ไม่ใช่เรื่องการเมือง มันเป็นเรื่องคุณธรรมพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ มันเป็นเรื่องความถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง …ตอนนี้เป็นเวลาที่เราทุกคนควรจะยืนหยัดและพูดว่า พอกันที! (กับการล่วงละเมิดผู้หญิงแบบทรัมป์) มันต้องหยุดทันที!”
และแน่นอนว่าเธอได้ชูไพ่ตำแหน่งประธานาธิบดี ในฐานะผู้ที่ถืออำนาจในการหล่อหลอมและเป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนในชาติเหมือนกับการปราศรัยครั้งแรกในที่ประชุมพรรค โดยโยงกรณีคลิปเสียงของทรัมป์กับเรื่องที่ใหญ่กว่านั้นคือ ความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงและอำนาจทางศีลธรรมในโลก
“เราสามารถบอกลูกชายของพวกเราได้จริงๆ หรือว่า มันถูกแล้วที่จะลดทอนความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง? เราสามารถบอกลูกสาวของพวกเราได้จริงๆ หรือว่า นี่คือการปฏิบัติต่อเพศหญิงที่พวกเธอต้องรับให้ได้? เราสามารถบอกเด็กๆ ในประเทศนี้ได้จริงๆ หรือว่าความดื้อรั้นและการข่มขู่ คือสิ่งที่พึงรับได้อย่างสมบูรณ์แบบในตัวผู้นำประเทศของเรา
“…ถ้าเรามีประธานาธิบดีที่ชอบลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง ผู้ซึ่งล่วงละเมิดผู้หญิง ฉันขอถามพวกคุณหน่อยว่า แล้วเราจะรักษาอำนาจทางศีลธรรมในโลกของเราได้อย่างไร?”
“…คุณไม่มีสิทธิ์มาทำลายประชาธิปไตยของประเทศนี้
หรือทำให้ระบอบประชาธิปไตยต้องพ่ายแพ้
เพราะดูนั่นสิ เพื่อนร่วมชาติจำนวนมาก
ทั้งเดิน ทั้งประท้วง ทั้งสู้ และทั้งตาย เพื่อจะได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตย”
สุนทรพจน์ชิ้นที่ 3: “Us” versus “Them.”
สุนทรพจน์ชิ้นนี้ มิเชลพูดเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2559 ที่เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา โดยโจมตีทรัมป์ด้วยการชี้ให้เห็นความต่างที่สุดระหว่างสองผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีว่า ผู้สมัครคนหนึ่งมองเพื่อนร่วมชาติว่าเป็น Them (พวกเขา) อยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ผู้สมัครอีกคนมองเพื่อนร่วมชาติ เพื่อนบ้าน และเพื่อนร่วมชุมชนว่าเป็น Us (พวกเรา)
ซึ่งทัศนะแบบหลังนั่นเองที่เป็นเหมือนจิตวิญญาณหรือหลักการพื้นฐานอย่างหนึ่งของสหรัฐฯ ที่ทรัมป์กำลังละเมิด ในท้ายสุนทรพจน์ มิเชลยังโจมตีทรัมป์ ที่มักพูดอยู่เสมอว่า “การเลือกตั้งครั้งนี้มีกลโกง” อีกด้วย
“มันง่ายมากที่จะมองเห็นประเทศของเราแบบ ‘พวกเรา’ ปะทะกับ ‘พวกเขา’ และมันก็ง่ายมากที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของ ‘พวกเขา’ และปฏิบัติต่อพวกเขาด้วยการดูถูก เพราะคุณไม่รู้จักพวกเขา คุณไม่เคยมองเห็นพวกเขาเลย”
มิเชลเริ่มไล่เรียงตัวอย่างของ ‘พวกเขา’ ที่ทรัมป์เคยโจมตี พร้อมทั้งทดลองเปลี่ยนวิธีการมองพวกเขามามองแบบ ‘พวกเรา’ ดูบ้าง
“นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีบางคนคิดอยู่เสมอว่า ผู้อพยพเป็นอาชญากร แทนที่จะคิดว่าเพื่อนร่วมชาติเหล่านั้นก็คือคนที่ทำงานหนัก เพื่อจะให้ลูกๆ ของพวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น หรือเพื่อนร่วมชาติเหล่านั้นนั่นเองที่ช่วยให้ประเทศของเราเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนโลกใบนี้ …เขาพูดแบบนี้ เพราะเขาไม่รู้จักผู้อพยพเหล่านั้นดีพอ
“…นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมเขาคิดอยู่เสมอว่าควรกลัวเพื่อนร่วมชาติที่เป็นมุสลิมเข้าไว้ เพราะทรัมป์ไม่มีแนวคิดที่บอกว่าพวกเราเป็นใคร เขาไม่เข้าใจว่า พวกเขา ก็คือพวกเรา …พวกเขา ก็คือเพื่อนของเรา ครอบครัวของเรา เพื่อนบ้านของเรา ชุมชนของเรา”
ก่อนหน้าการปราศรัยของมิเชลครั้งนี้ เป็นช่วงเวลาที่การดีเบตในรอบที่สามสิ้นสุดลงพอดี ซึ่งในเวทีดีเบตรอบนี้ ผู้ดำเนินรายการได้ถามทรัมป์ว่า เขาจะยอมรับผลการเลือกตั้งได้หรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้เห็นออกมาโจมตีว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีแต่การโกง ทรัมป์เลี่ยงตอบเรื่องการยอมรับผลการเลือกตั้งไปสู่การตอบแบบแพ้ไม่เป็นว่า “ผมขอบอกพวกคุณตรงนี้เลยว่า… ผมจะทำให้ฮิลลารีแพ้ให้ได้”
และ “การเลือกตั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่มีกลโกง”
สุนทรพจน์ของมิเชลตอบโต้ข้อเสนอของทรัมป์ในเวทีดีเบตโดยตรง ด้วยการพูดถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง และชี้ให้เห็นว่าทรัมป์ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาทำลายระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ
“เมื่อพวกคุณได้ยินเพื่อนร่วมชาติพูดกันถึงทฤษฎีสมคบคิดในระดับโลก และพูดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีแต่กลโกง ทั้งหมดนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า พวกเขาพยายามทำให้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สำคัญ และพยายามทำให้คุณอยู่บ้าน พวกเขาพยายามโน้มน้าวว่า เสียงของคุณไม่สำคัญ …ผลการเลือกตั้งได้กำหนดเอาไว้แล้ว
“…คุณไม่มีสิทธิ์มาทำลายประชาธิปไตยของประเทศนี้ หรือทำให้ระบอบประชาธิปไตยต้องพ่ายแพ้ เพราะดูนั่นสิ เพื่อนร่วมชาติจำนวนมาก ทั้งเดิน ทั้งประท้วง ทั้งสู้ และทั้งตาย เพื่อจะได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตย”
“และนี่คือประเทศ ซึ่งลูกสาวของผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นลูกกำพร้าแต่เด็ก
สามารถทำลายกำแพงกระจกที่สูงที่สุดและยากที่สุดในทางการเมือง
และก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ”
สุนทรพจน์ชิ้นที่ 4: “Because in this country, anything is possible.”
สุนทรพจน์ชิ้นสุดท้ายของมิเชลในการเลือกตั้งปี 2016 กล่าวเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2559 ที่เมืองวินสตัน-ซาเล็ม รัฐนอร์ทแคโรไลนา โดยถือเป็นการหาเสียงครั้งแรกที่มิเชลเดินเข้าสู่เวทีปราศรัยพร้อมกับฮิลลารี ในเวทีนี้มิเชลเริ่มต้นด้วยการกล่าวยกย่องฮิลลารีในฐานะแรงบันดาลใจของเธอ
“ฉันขอพูดอะไรสักหน่อยว่า ทำไมฉันจึงได้รับแรงบันดาลใจจากฮิลลารี ทำไมฉันจึงเคารพฮิลลารีอย่างมาก เพราะเธอใช้ชีวิต โดยอุทิศตัวให้กับสาธารณะและเสียสละอย่างมาก ซึ่งทำให้เธอสามารถมายืนอยู่ในจุดนี้ได้ เธอทำสิ่งที่ยิ่งกว่าการเตรียมตัวเพื่อจะทำงานที่ยากที่สุดบนโลกใบนี้ เธอได้ดำเนินการหาเสียงมาอย่างประสบความสำเร็จ เธอสร้างเครือข่ายของผู้เลือกตั้งในระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ เธอระดมทุนได้มากมาย และแน่นอนว่า เธอชนะการดีเบตทุกครั้ง”
และจุดสูงสุดในสุนทรพจน์ของมิเชลก็ดำเนินมาถึง เมื่อเธอเชื่อมโยงให้เห็นความสำคัญของการเลือกตั้งในฐานะหนทางที่จะทำให้คนคนหนึ่งได้รับโอกาสต่างๆ และมีชีวิตที่ประสบความสำเร็จได้ ซึ่งถือเป็นการย้ำชุดวิธีคิด ‘American Dream’ ที่เชื่อว่า ‘เพราะในประเทศนี้ ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้!!’
มิเชลกล่าวว่า “ฉันอยากให้พวกคุณรู้ว่า มันคือส่วนหนึ่งของความเป็นอเมริกัน …มันคือสิ่งที่ขับเคลื่อนเพื่อนร่วมชาติของเรา เหมือนกับที่ขับเคลื่อนแม่ของฮิลลารี ผู้ซึ่งบอกกับตัวเองว่า ฉันอาจไม่ได้เติบโตมาด้วยความรักจากครอบครัว แต่ฉันจะสร้างครอบครัว และจะส่งต่อความรักให้กับลูกๆ ด้วยตัวฉันเอง ฉันจะให้ลูกๆ ของฉันในสิ่งที่ฉันไม่เคยได้รับมาก่อน ฉันจะใช้หัวใจของฉันเติมเต็มให้กับลูกสาวที่รักให้แข็งแกร่งและชาญฉลาด
“นั่นคือสิ่งที่ขับเคลื่อนผู้คน เหมือนที่พ่อของฉัน ผู้ซึ่งใช้เวลาอย่างยาวนานในการสร้างเนื้อสร้างตัว ผู้ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า ฉันไม่ได้เรียนหนังสือ แต่จะทำงานให้หนัก เพื่อบางทีลูกชายของฉัน ลูกสาวของฉันจะได้เรียนหนังสือ เพราะในประเทศนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเกิดขึ้นได้ เป็นไปได้ทั้งหมด”
เธอย้ำถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ในประเทศนี้ผ่านเรื่องเล่าสำคัญ 3 เรื่อง ซึ่งมีจุดยึดโยงความเป็นไปได้อยู่ที่การเลือกตั้ง
“ถ้าเราเดินออกห่างจากการเลือกตั้ง จดจำกันไว้ด้วย – การเลือกตั้งคือสิ่งที่ทำให้เราเป็นเราอย่างทุกวันนี้ จำกันได้ไหม นี่คือประเทศที่เด็กผู้หญิงคนหนึ่งเหมือนฉัน ซึ่งมาจากทางตอนใต้ของรัฐชิคาโก ที่ซึ่งปู่ของฉันเป็นเพียงทาส เด็กผู้หญิงคนนั้นสามารถเติบโตมาและได้ร่ำเรียนในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกใบนี้
“นี่คือประเทศที่เด็กลูกครึ่งผิวสีจากฮาวาย ลูกชายของแม่หม้ายคนหนึ่ง สามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้
“และนี่คือประเทศ ซึ่งลูกสาวของผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นลูกกำพร้าแต่เด็ก สามารถทำลายกำแพงกระจกที่สูงที่สุดและยากที่สุดในทางการเมือง และก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ”
‘เฮอร์วิตซ์’ ผู้อยู่เบื้องหลังสุนทรพจน์อันทรงพลังของมิเชล โอบามา (ค้นภาพ Sarah Hurwitz /speech writer)
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เบื้องหลังความสำเร็จของสุนทรพจน์ทั้ง 4 ชิ้น ไม่เพียงเกิดขึ้นได้ เพราะผู้พูดเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง มีสารทางการเมืองชัด และมีจังหวะการพูดที่ดี แต่ยังเป็นผลจาก ซาราห์ เฮอร์วิตซ์ (Sarah Hurwitz) หัวหน้าทีมเขียนบทสุนทรพจน์ประจำตัวสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง (The First Lady’s Head Speechwriter) ที่รู้จักการใช้ภาษา และการเล่าเรื่อง
ก่อนเข้ามารับงานในทำเนียบขาวเฮอร์วิตซ์เป็นหัวหน้าทีมเขียนบทสุนทรพจน์ประจำตัวฮิลลารี เธอเป็นผู้เขียนบทสุนทรพจน์สำหรับประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ของฮิลลารี และเป็นผู้คิดประโยคที่สำคัญมากในทางการเมือง ซึ่งฮิลารีได้หยิบใช้เรื่อยมาคือ
“ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถทำลายเพดานกระจกที่สูงที่สุด ที่ยากที่สุด ในทางการเมืองได้ในเวลานี้ ขอบคุณทุกคน อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้เห็นรอยร้าวของกระจกถึง 18 ล้านร้อยร้าวแล้ว” (18 ล้านเสียง คือคะแนนเสียงที่เธอได้รับในการเลือกตั้งขั้นต้นปี 2008)
เพียง 2 วันหลังจากฮิลลารีประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ ทีมหาเสียงของโอบามา เรียกเฮอร์วิตซ์มารับงานต่อทันที โดยให้เขียนบทสุนทรพจน์ให้กับมิเชล โดยงานชิ้นแรกของเธอคือ บทสุนทรพจน์ของมิเชลที่จะขึ้นพูดในเวทีประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตในปี 2008 ที่เดนเวอร์ ซึ่งในขณะนั้นโอบามาต้องการจะแนะนำตัวมิเชลให้โลกรู้จัก หลังจากที่ก่อนหน้านั้น มิเชลถูกล้อเลียนในการ์ตูนว่าเป็นคนโกรธง่าย เป็นชนชั้นนำ และไม่รักชาติ ทั้งคู่ใช้เวลาสนทนา สัมภาษณ์ และแลกเปลี่ยนด้วยกันอย่างยาวนาน เพื่อเรียนรู้ประวัติ โลกทัศน์ เรื่องเล่าที่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของชีวิต เพื่อจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในบทสุนทรพจน์ได้
เฮอร์วิตซ์เล่าว่า มิเชลชัดเจนกับเธอว่า “นี่แหละ คือสิ่งที่ฉันเป็น นี่แหละคือที่ที่ฉันเติบโตมา นี่คือครอบครัวของฉัน นี่คือคุณค่าหรือหลักการที่ฉันถือ และนี่คือสิ่งที่ฉันต้องการจะพูดในที่ประชุมใหญ่ของพรรค”
หรือ “ในขณะที่ฉันเขียนบทสุนทรพจน์ให้กับเธอ ฉันได้ปรับแก้ไขสุนทรพจน์ด้วยเสียงของเธอซึ่งวนเวียนอยู่ในหัวของฉัน เพราะเธอได้ให้คำแนะนำต่อฉันมาตลอดหลายปี และมันชัดเจนว่าเธอต้องการสื่อสารอะไร”
นอกจากการมีสารทางการเมืองที่คมชัด ซึ่งมิเชลได้ย้ำเสมอกับผู้เขียนบทสุนทรพจน์อยู่โดยตลอดแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้มิเชลประสบความสำเร็จในการพูดคือ เธอย้ำกับคนเขียนบทว่า ต้องการเชื่อมโยงกับผู้ฟังด้วยอารมณ์ร่วมในสุนทรพจน์เป็นหลัก และขอให้ตัดการพูดในเชิงสถิติออกไปแทบทั้งหมด ซึ่งการขับเน้นสุนทรพจน์ไปทางนั้น ต้องอาศัยพลังของการเล่าเรื่องอย่างมาก ทั้งในเชิงตัวเรื่องเล่า และคนเล่าเรื่อง
ซึ่งสุนทรพจน์ทั้ง 4 ชิ้น คงได้พิสูจน์แล้วว่ามิเชลทำได้ดีมากเพียงใด
ถ้าฮิลลารีได้รับชัยชนะในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 นี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ชัยชนะของเธอเป็นส่วนผสมจากสุนทรพจน์ที่ทรงพลังของ มิเชล โอบามา ไม่มากก็น้อย!