คงไม่มีความตายครั้งไหนที่ไม่นำไปสู่อะไรบางอย่าง แต่บางความตายก็ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนเป็นวงกว้าง ทั้งกระทบกระเทือนความรู้สึกคนหมู่มาก ส่งอิทธิพลต่อสังคม จนถึงสร้างความตระหนักรู้ถึงประเด็นปัญหาที่ฝังรากลึกและจำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไข และบรรดาความตายในรอบปีที่เราหยิบยกมา เป็นความตายที่ชวนให้กลับไปพิจารณากันอีกครั้ง ทั้งเพื่อผู้ที่จากไป และเพื่อคนที่ยังต้องอยู่ใช้ชีวิตต่อบนโลกใบนี้

อาบู บักร์ อัล บักห์ดาดี : ผู้นำกลุ่มไอเอส 

ประกาศการเสียชีวิตเมื่อ 27 ตุลาคม 2019 

ความตายของเขาถูกป่าวประกาศไปทั่วโลกผ่านแถลงการณ์ของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีเนื้อความว่าเขาจุดระเบิดฆ่าตัวตายขณะหลบหนีในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย มีการระบุอย่างละเอียดว่าเขา “ส่งเสียงคร่ำครวญ ร้องไห้ และกรีดร้องไปตลอดทาง” ขณะที่สุนัขของกองกำลังสหรัฐฯ วิ่งไล่ต้อนเขาเข้าไปในอุโมงค์ที่เป็นทางตัน แรงระเบิดทำให้ร่างของเขาและลูกๆ อีก 3 คนฉีกกระจายเป็นชิ้นๆ แต่ก็พิสูจน์ทราบได้ว่าเป็นเขาจริงๆ 

อาบู บักร์ อัล บักห์ดาดี คือผู้นำของกลุ่มไอเอส หรือรัฐอิสลาม (IS-Islamic State) ที่เก็บตัวเป็นความลับและคอยบัญชาการจากเบื้องหลัง เขาเกิดที่ประเทศอิรักในปี 1971 เริ่มจากเป็นครูสอนศาสนา ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำกลุ่มไอเอสในปี 2010 และประกาศก่อตั้งรัฐอิสลามในปี 2014 โดยตลอดเวลาที่กลุ่มไอเอสปฏิบัติการส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วกว่าหลายพันคน 

บักห์ดาดีถูกขนานนามว่าเป็น ‘ชีคล่องหน’ และเป็นชายที่ถูกต้องการตัวมากที่สุดในโลก ก่อนหน้านี้มีการปล่อยข่าวเกี่ยวกับการตายของเขาหลายต่อหลายครั้งทั้งจากฝั่งผู้สนับสนุนสหรัฐฯ หรือกระทั่งจากฝั่งรัสเซีย 

ความตายครั้งนี้จึงจำเป็นต้องถูกป่าวประกาศ เพราะนี่ไม่ได้หมายถึงเพียงเสถียรภาพของรัฐอิสลามที่สั่นคลอน แต่มันยังหมายถึงชัยชนะของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ ที่สามารถโค่นอำนาจของกลุ่มติดอาวุธที่คนทั้งโลกหวาดกลัว ท่ามกลางสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานและสร้างความเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ให้แพร่กระจายไปทั่วโลก 

ในทางหนึ่งมันไม่ใช่เพียงการประกาศว่าปีศาจในสายตาชาวโลกได้ตายลง แต่ยังเป็นการประกาศไปพร้อมๆ กันว่าใครคือฮีโร่ที่ช่วยชาวโลกกำจัดปีศาจ แถมปีศาจนั้นยังหวาดกลัวจนสิ้นท่า

แต่ขณะเดียวกัน ความตายของบักห์ดาดีก็ไม่ได้หมายถึงสงครามที่ใกล้จะจบลงแต่อย่างใด ในเดือนพฤศจิกายนสหรัฐฯ เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อควบคุมเครือข่ายของรัฐอิสลามในอัฟกานิสถานและแอฟริกา ทั้งยังส่งสัญญาณถึงเครือข่ายรัฐอิสลามที่อาจมีอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านการประชุมที่กรุงมะนิลา ทางฝ่ายกลุ่มไอเอสก็ประกาสว่าได้ตั้งแต่ผู้นำคนใหม่นั่นคือ อาบู อิบราฮิม อัล-ฮาเชมี อัล-คูไรชี พร้อมเตือนสหรัฐฯว่า “อย่าเพิ่งมีความสุข” และนั่นอาจหมายถึงความตายอีกมากมายที่จะยังคงเกิดขึ้นต่อไปในสงครามครั้งนี้

39 ศพในตู้คอนเทนเนอร์ : แรงงานชาวเวียดนามที่ลักลอบเข้าสหราชอาณาจักร

รายงานการพบศพเมื่อ 23 ตุลาคม 2019 

สำหรับชนชั้นที่ประสบความยากลำบากในหลายพื้นที่ทั่วโลก การหนีไปทำงานในประเทศที่เจริญกว่าอาจเป็นความหวังหนึ่งเดียวที่มี 

จากข่าวช็อกโลกที่ว่าตำรวจพบร่างผู้เสียชีวิต 39 รายในตู้คอนเทนเนอร์แช่แข็ง ที่นิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งในเมืองเกรย์ ประเทศอังกฤษ ขั้นต้นเจ้าหน้าที่คาดว่าผู้เสียชีวิตน่าจะเป็นแรงงานชาวจีน แต่ภายหลังได้ระบุตัวตนแล้วว่าเป็นแรงงานชาวเวียดนามที่ถูกส่งตัวไปยังอังกฤษผ่านกระบวนการค้ามนุษย์

ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เดินทางไปจากจังหวัดเหงะอันและจังหวัดฮาตินห์ ประเทศเวียดนาม ที่ประชากรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน จนต้องพยายามอพยพไปทำงานในประเทศอังกฤษ โดยทางการเชื่อว่าพวกเขาต้องเดินทางกว่า 9,000 กิโลเมตร จากเวียดนาม ไปยังประเทศจีน ผ่านทางรัสเซีย และค่อยเข้าสู่ทวีปยุโรป ยิ่งน่าสลดใจเมื่อมีรายงานว่าหญิงสาวที่เป็นหนึ่งใน 39 คน ได้ส่งข้อความสุดท้ายถึงญาติๆ ว่าเธอกำลังจะตาย 

องค์กรฮิวแมนไรท์ วอทช์ กล่าวว่า ความต้องการเดินทางเข้าประเทศยุโรป เป็นแหล่งทำเงินชั้นดีของกระบวนการค้ามนุษย์ที่มีเส้นสายโยงใยกับเจ้าหน้าที่รัฐ หลายครอบครัวยอมจ่ายเงินให้แก๊งค้ามนุษย์เป็นเงินกว่า 900,000 ถึง 1,200,000 บาท เพื่อจะได้เดินทางไปยังประเทศปลายทาง

ตราบใดที่ความเหลื่อมล้ำยังคงอยู่ การค้ามนุษย์ก็จะยังคงเกิดขึ้นต่อไป มีทั้งผู้ได้และเสียผลประโยชน์อีกจำนวนมาก อาจเป็นไปได้ว่าความตายของทั้ง 39 ชีวิต จะทำให้โลกเห็นภาพกระบวนการเหล่านี้ได้ชัดเจนขึ้น และหากเรายังโชคดี ผู้มีอำนาจก็อาจจะพยายามแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้พอทุเลาลงได้บ้าง

22 ศพจากเหตุการณ์กราดยิงใน เอล ปาโซ่ 

เสียชีวิต 3 สิงหาคม 2019 

เป็นอีกครั้งที่ไวท์ซูพรีมาซิสต์ หรือคนขาวซึ่งคิดว่าตนเองเหนือกว่าคนอื่น ก่อเหตุสังหารกลุ่มคนหรือเชื้อชาติที่เขาเองถูกหล่อหลอมให้เกลียดชัง โดยเหตุการณ์กราดยิงที่ห้างวอลมาร์ท เมืองเอล ปาโซ่ รัฐเท็กซัส มือปืนตั้งใจเลือกกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวฮิสปานิก หรือคนที่มีเชื้อสายละตินอเมริกาโดยเฉพาะ สะท้อนให้เห็นว่าการสร้างความเกลียดชังต่อชาวฮิสปานิกโดยฝั่งของทรัมป์นั้นส่งผลรุนแรงอย่างยิ่ง

ไม่ใช่เฉพาะในสหรัฐฯ ก่อนหน้านั้นในเดือนมีนาคม 2019 ไวท์ซูพรีมาซิสต์อีกคนหนึ่งก็ได้ก่อเหตุสังหารหมู่ชาวมุสลิมที่เมืองไครส์ต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 50 คน หนึ่งในนั้นมีเด็กอายุ 3 ขวบ โดยฆาตกรระบุว่าเขาได้แนวคิดมาจากการกราดยิงที่เกาะอูเตอญ่า ประเทศนอร์เวย์เมื่อปี 2011 ซึ่งครั้งนั้นฆาตกรเจาะกลุ่มไปที่เยาวชนเสรีนิยมหัวเอียงซ้ายที่สนับสนุนความหลากหลายทางวัฒนธรรม 

เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ และตอกย้ำถึงความน่ากลัวของลัทธิไวท์ซูพรีมาซิสต์ ซึ่งแม้จะไม่ได้มีองค์กรหรือการรวมกลุ่มอย่างจริงจัง แต่ก็มีการส่งต่อชุดความคิดที่ฝังรากลึกในจิตใจผู้คน จนพวกเขาตัดสินใจก่อเหตุด้วยความคิดที่ว่าคนบางกลุ่มไม่สมควรมีชีวิตอยู่เพื่อจะรับสิทธิหรือผลประโยชน์ที่ควรเป็นของพวกเขาคนขาวเท่านั้น 

ในปัจจุบันที่ผู้คนหลากเชื้อชาติเริ่มหลั่งไหลเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ พื้นที่ที่คนขาวเคยครอบครองอยู่ก็เริ่มต้องถูกแบ่งปันให้กับคนอื่นๆ วิธีการที่คนขาวบางกลุ่มพยายามสร้างความรู้สึกมั่นคงให้กับตนเองคือการกำจัดคนอื่นทิ้งไป และยิ่งน่ากลัวกว่านั้น เมื่อมันไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่คนขาวที่มีแนวคิดขวาสุดโต่ง แต่บางครั้งความเกลียดชังทำนองนี้ก็เกิดขึ้นไม่ใกล้ไม่ไกลเรานี่เอง

ซอลลี่-กู ฮารา : ไอดอลเกาหลีที่ฆ่าตัวตายได้สำเร็จ

ซอลลี่เสียชีวิต 14 ตุลาคม 2019 / คูฮาราเสียชีวิต 24 พฤศจิกายน 2019 

ซอลลี่คืออดีตสมาชิกวง f(x) กู ฮารา คืออดีตสมาชิกวง Kara เธอทั้งคู่เป็นเพื่อนสนิทกัน และตัดสินใจฆ่าตัวตายในเวลาห่างกันเพียงไม่นาน ความตายของเธอทั้งคู่ไม่เพียงแต่ทำให้เราเห็นความน่ากลัวของโรคซึมเศร้า แต่ยังทำให้เห็นถึงความน่ากลัวของคนบนโลกอินเทอร์เน็ต

ก่อนหน้านี้ทั้งซอลลี่และฮาราถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักโดยชาวเน็ต สำหรับซอลลี่ที่เข้าวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก เธอเริ่มถูกโจมตีเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามที่สังคมเกาหลีใต้คาดหวังตั้งแต่เธอเปิดตัวคบหากับเชวจา แรปเปอร์ที่อายุมากกว่าและมีลุคแบดบอย ซอลลี่เปิดเผยตัวตนของเธอผ่านทางอินสตาแกรม ตั้งแต่การแสดงความรักกับคนรัก จนถึงการไม่สวมชุดชั้นในซึ่งเธอถือว่าเป็นเสรีภาพในร่างกายของตนเอง เธอเคยตั้งคำถามต่อชาวเน็ตที่เกลียดชังเธอ และยิ่งทำให้การโจมตีรุนแรงมากขึ้น จนในที่สุดก็ชัดเจนว่าเธอเป็นโรคซึมเศร้า

ความตายของซอลลี่ทำให้เกิดการผลักดันกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิของคนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทางอินเทอร์เน็ต แต่กฎหมายยังไม่ทันเกิดขึ้นเป็นชิ้นเป็นอัน กู ฮารา ก็ตัดสินใจจบชีวิตลง

เธอเป็นที่พูดถึงในอินเทอร์เน็ตอย่างมากเช่นกัน กับข่าวอื้อฉาวที่แฟนเก่าพยายามจะแบล็กเมล์ ขู่จะเผยแพร่คลิปวิดีโอลับ ทั้งยังทำร้ายร่างกายเธอ สิ่งที่ชาวเน็ตพูดถึงเธอแม้จะไม่ได้โจมตีเสียทั้งหมดแต่ก็ไม่ได้เป็นผลดีต่อจิตใจเธอแน่ๆ และเมื่อซอลลี่เสียชีวิตลง ฮาราก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่ได้ไปร่วมงานศพเพื่อนสนิทของตัวเอง เนื่องจากเธอติดงานที่ประเทศญี่ปุ่น

แม้จะไม่เป็นที่ยืนยันชัดเจนว่าทั้งซอลลี่และกู ฮารา ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยสาเหตุใด แต่ทั้งหมดที่พวกเธอพบเจอก็นับว่าไม่ควรเกิดกับใครทั้งสิ้น และนี่อาจจะถึงเวลาแล้วที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหลายจะต้องตระหนักถึงผลของคำพูดเพียงไม่กี่คำกันให้มากกว่าเดิม รวมถึงควรมีมาตรการทางกฎหมายที่ชัดเจนสำหรับกรณีเหล่านี้เสียที

คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ : ผู้ได้รับสมญานามราชาแห่งวงการแฟชั่น

เสียชีวิต 19 กุมภาพันธ์ 2019

พักอารมณ์กันสักหน่อย แม้จะเป็นเรื่องเจ็บปวด แต่อย่างน้อยเราก็ยังสามารถมองความตายของปู่คาร์ลในฐานะเรื่องธรรมดาของโลกใบนี้

คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ครีเอทีฟไดเรกเตอร์แห่งแบรนด์ชาแนล เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็ง ในวัย 85 ปี ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ขณะที่ตัวเขาเองได้กลายเป็นไอคอนที่คุ้นตาผู้คนกับใบหน้าภายใต้แว่นตาดำและผมสีขาวผูกเป็นหางม้าที่ด้านหลัง 

ลาเกอร์เฟลด์สนใจศิลปะตั้งแต่เด็ก เขาเกิดในครอบครัวร่ำรวยที่เมืองฮัมบูร์ก เยอรมนี ก่อนจะพบว่าตัวเองหลงใหลประเทศฝรั่งเศสจนตัดสินใจย้ายมาเริ่มเส้นทางแฟชั่นที่นี่ เขาชนะการประกวดออกแบบเสื้อโค้ทในเวทีเดียวกับ อีฟ แซงต์ โรล็อง และกลายมาเป็นเพื่อนสนิทกัน เขายังเคยทำงานกับปิแอร์​ บัลแมง,  ฌอง ปาตู รวมถึงแบรนด์โคลเอ และเฟนดิ ในปี 1983 เขาได้รับตำแหน่งครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของชาแนล ทั้งยังมีแบรนด์ของตัวเองในชื่อของเขาเองด้วย

นอกจากเป็นผู้กำหนดเทรนด์หลายต่อหลายเทรนด์ที่ทรงอิทธิพลในวงการแฟชั่น ในตลอดชีวิตการทำงานกว่า 70 ปีของเขา ลาเกอร์เฟลด์ยังมีส่วนในข้อถกเถียงหลายต่อหลายเรื่อง เขาเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนการใช้เฟอร์ในการผลิตเสื้อผ้า เขายังเคยวิจารณ์ว่าอะเดลนั้น “อ้วนไปหน่อย” จนถูกมองว่าเป็นพวกเกลียดความอ้วน และหลายๆ โชว์ของเขาก็ถูกมองว่าแฝงไปด้วยแนวคิดเหยียดเชื้อชาติ ฯลฯ ซึ่งในปี 2007 ลาเกอร์เฟลด์เคยออกมาบอกว่าสิ่งที่เขาถกเถียงออกไปในหลายครั้งเป็นเพียงการแสดงและการสร้างตัวตนทางแฟชั่นเท่านั้น

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถไปติดตามกันต่อได้ หลายประเด็นเผ็ดมันของปู่คาร์ลล้วนแต่ชวนครุ่นคิดและยังมีอะไรมากกว่าเรื่องแฟชั่นอีกเยอะทีเดียว

อิมาน : แรดสุมาตราตัวสุดท้ายของเกาะบอร์เนียว

เสียชีวิต 23 พฤศจิกายน 2019 

อิมาน (Iman) คือแรดสุมาตราตัวสุดท้ายของเกาะบอร์เนียว มันตายลงด้วยโรคมะเร็งในวัย 25 ปี และความตายของมันเท่ากับการสูญพันธ์อย่างเป็นทางการของแรดสุมาตราในบอร์เนียว หลังจากที่ถูกประกาศว่าเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธ์เมื่อปี 2015

เรื่องนี้นับเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล เนื่องจากแรดสุมาตราที่เหลือรอดอยู่ทั่วเอเชียมีอยู่เพียงไม่ถึง 100 ตัวเท่านั้น โดยจำนวนกำลังลดน้อยลงเรื่อยๆ จากการสูญเสียถิ่นที่อยู่และการลักลอบล่าเพื่อเอานอ เนื่องจากนอของมันเป็นที่นิยมทั้งในหมู่นักสะสมและกลุ่มที่นำไปใช้เป็นยาอายุวัฒนะ

แรดสุมาตราหรือที่ในไทยเรียกว่ากระซู่ เคยมีอยู่ทั้งในประเทศจีน อินเดีย ภูฏาน บังกลาเทศ เมียนมา ไทย ลาว มาเลเซีย และอินโดนีเซีย แต่ในภายหลังได้ถูกคุกคามจนเหลือถิ่นที่อยู่เพียงหกแหล่ง ได้แก่สี่แหล่งในเกาะสุมาตรา หนึ่งแห่งในมาเลเซียตะวันตก และอีกหนึ่งแหล่งคือในเกาะบอร์เนียว และอิมานที่เพิ่งตายลงก็คือตัวสุดท้ายของเกาะบอร์เนียวนั่นเอง

มาเรียม : ลูกพะยูนที่ตายเพราะพลาสติกในท้อง 

เสียชีวิต 27 สิงหาคม 2019 

กลับมาที่ประเทศไทยกันบ้าง ในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาคงไม่มีใครไม่ได้ยินชื่อมาเรียม ลูกพะยูนตัวน้อยที่มาเกยตื้นในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ก่อนจะถูกนำมาเลี้ยงที่เกาะลิบงในฐานะลูกกำพร้า มันถูกตั้งชื่อและกลายเป็นขวัญใจชาวไทยที่ลุ้นให้มันได้เติบโตเป็นพะยูนตัวเต็มวัย

แต่แล้วมันก็เสียชีวิตลงด้วยสาเหตุเดียวกับสัตว์อีกหลายชนิด ผลจากการผ่าชันสูตรเจอขยะพลาสติกหลายชิ้นในท้องมาเรียม ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มาเรียมต้องตาย 

น่าสะเทือนใจที่ลูกพะยูนตัวนี้ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตตัวแรกและตัวสุดท้ายที่ตายเพราะผลผลิตจากมนุษย์ และการลดพลาสติกในระดับปัจเจกอาจยังไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหา นั่นจึงเป็นอย่างที่เกรต้า ธันเบิร์กและอีกหลายคนกำลังเรียกร้อง เราต้องการมาตรการเชิงนโยบายที่จริงจังและเข้มแข็งกว่านี้ 

ช่วงช่วง : หมีแพนด้าผู้เป็นทูตสันถวไมตรีเชื่อมสัมพันธ์ไทย-จีน

เสียชีวิต 8 ตุลาคม 2019 

ช่วงช่วง คือแพนด้ายักษ์เพศผู้ที่ถูกส่งจากจีนมาอยู่สวนสัตว์เชียงใหม่ในฐานะ ‘ทูตสันถวไมตรี’ พร้อมกับแพนด้ายักษ์เพศเมีย หลินฮุ่ย เมื่อปี 2009 และสร้างปรากฏการณ์ฮิตถล่มทลาย มีคนไปเยี่ยมชมช่วงช่วง-หลินฮุ่ยไม่ขาดสาย และถึงขั้นมีการถ่ายทอดสดผ่านช่องทรูว่า ณ ขณะนั้นแพนด้ากำลังทำอะไรอยู่

ในวันที่ 8 ตุลาคม ช่วงช่วงตายลงด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว ขณะอายุ 19 ปี และทางประเทศไทยต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับจีนเป็นเงินกว่า 15 ล้านบาท ตามข้อตกลงในการ ‘ยืม’ แพนด้ามาจัดแสดงในไทย (อย่างไรก็ตามยอดนี้อยู่ในวงเงินประกันที่ทางรัฐบาลทำไว้กับบริษัทประกันอยู่แล้ว) ทางด้านชาวเน็ตฝั่งจีนก็แสดงความต้องการให้นำหลินฮุ่ยกลับไป เพราะเมืองไทยอาจไม่เหมาะกับการเลี้ยงแพนด้า และทำให้พวกมันต้องตายก่อนวัยอันควร

ความตายของช่วงช่วงชวนให้เราต้องย้อนไปดูที่มาที่ไปของการทูตแพนด้ากันอีกครั้ง 

ประเทศจีนใช้แพนด้าเป็นของขวัญในการผูกมิตรกับประเทศอื่นมาช้านาน มีบันทึกว่าพระนางบูเช็กเทียนส่งแพนด้าคู่หนึ่งในจักรพรรดิญี่ปุ่นในปี 685 ส่วนในโลกสมัยใหม่ การทูตแพนด้าเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังในปี 1957 ที่จีนส่งแพนด้าชื่อผิงผิงให้กับสหภาพโซเวียต จากนั้นแพนด้าก็ถูกส่งไปยังหลายๆ ประเทศ พวกมันกลายเป็นขวัญใจของคนในประเทศนั้นๆ และหลายตัวก็เสียชีวิตลงเพราะการไปอยู่ผิดถิ่นที่

ด้วยจำนวนแพนด้าที่ลดลง ในปี 1982 จีนเลิกส่งแพนด้าเป็นของขวัญ แต่เปลี่ยนเป็นให้ยืม โดยทำสัญญาเป็นเวลา 10 และจะพิจารณาต่อสัญญาเป็นครั้งๆ รัฐบาลประเทศที่ยืมปีละราว 30.55 ล้านบาท รวมถึงมีค่าชดเชยเมื่อแพนด้าเสียชีวิตด้วย ซึ่งไทยก็เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยืมแพนด้าเข้ามาจัดแสดง และโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ แพนด้าหลายตัวก็กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกตีมูลค่าภายใต้กรงขังตลอดชีวิตไปเสียแล้ว 

ลัลลาเบล : พริตตี้สาวที่เสียชีวิตหลังจากร่วมงานปาร์ตี้

เสียชีวิต 17 กันยายน 2019 

ตั้งแต่มีการเผยแพร่ภาพจากกล้องวงจรปิดที่พริตตี้สาวลัลลาเบล ถูกลากขึ้นคอนโดและพบเป็นศพที่โซฟาด้านล่างคอนโดในอีกหลายชั่วโมงต่อมา ผู้คนพากันติดตามข่าวนี้พร้อมกับคาดเดาว่าเรื่องราวจะพีคไปได้ถึงจุดไหน มีข้อสันนิษฐานมากมายตั้งแต่เรื่องที่ว่าเธอตายตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะอะไร มีการล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่ ฯลฯ ซึ่งทำให้เห็นถึงพลังของข้อมูลที่แพร่สะพัดและคนก็พร้อมเชื่อ เมื่อมีข่าวพบสารคัดหลั่งในอวัยวะเพศรวมถึงอวัยวะเพศฉีกขาด แต่ก็พบในภายหลังว่าข้อมูลเหล่านั้นไม่ได้มาจากผลชันสูตรอย่างเป็นทางการ

ความตายครั้งนี้ยังทำให้สังคมโฟกัสไปที่ ‘งานเอนฯ’ หรืองานเอนเตอร์เทน ที่ถูกมองเป็นมุมมืดในสังคม มีการเปิดเผยเรทราคาของการทำงานในระดับต่างๆ ตั้งแต่ร่วมงานปาร์ตี้ จนถึงมีการใช้ยาเสพติดและขายบริการทางเพศ ที่ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างมากมาย 

ความคิดเห็นจำนวนมหาศาลที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ สะท้อนทัศนคติทางศีลธรรมของคนไทย หลายคนมองเรื่องนี้ในฐานะอุทาหรณ์สอนใจ ขณะที่บางความคิดความเห็นมองไปถึงลัทธิบริโภคนิยมและทุนนิยม อย่างไรก็ตามขณะที่กระบวนการทางกฎหมายกำลังดำเนินไป ผู้เกี่ยวข้องทั้งคนจัดปาร์ตี้ น้ำอุ่นที่พาตัวลัลลาเบลไปที่ห้อง จนถึงตัวของลัลลาเบลเองและคนทำงานพริตตี้ ไม่ว่าจะเหมาะควรหรือไม่ ทั้งหมดก็ได้ถูกตัดสินโดยสังคมไปเป็นที่เรียบร้อย   

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ : อดีตประธานองคมนตรี และอดีตรัฐบุรุษ 

เสียชีวิต 26 พฤษภาคม 2019 

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ หรือที่หลายคนเรียกด้วยความเคารพว่า ‘ป๋าเปรม’ ดำรงตำแหน่งระดับสูงมาแล้วมากมายตั้งแต่ เป็นประธานองคมนตรี เป็นรัฐบุรุษ เป็นที่ปรึกษาและกรรมการในคณะอำนวยการจัดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ผู้บัญชาการทหารบก เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และได้เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 16 ซึ่งดำรงตำแหน่งถึง 3 สมัยด้วยกัน

พลเอกเปรมถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย 99 ปี ก่อนหน้านั้นเขาปรากฏตัวเป็นครั้งสุดท้ายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม โดยเป็น 1 ใน 9 สมาชิกราชวงศ์และบุคคลสำคัญ ที่ได้ถวายน้ำพระมุรธาภิเษก 

เรียกได้ว่าเขาผู้นี้อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน เป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของทหารในระบบการปกครองไทย และการจากไปของพลเอกเปรมก็สร้างความเศร้าโศกเสียใจจากผู้อาลัยรักเป็นอย่างยิ่ง

Tags: , ,