ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อถกเถียงว่าประเทศไทยควรจะมีโทษประหารชีวิตหรือไม่ วนกลับมากลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง หลังจากเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2561 ประเทศไทยเพิ่งประหารชีวิตนักโทษคนล่าสุด นายธีรศักดิ์ อายุ 26 ปี ด้วยการฉีดสารพิษ

แม้ที่มาแรงจูงใจของการก่อเหตุอาชญากรรมเมื่อปี 2555 ยังไม่แน่ชัด แต่ความโหดร้ายของวิธีการ ที่จำเลยใช้ทำร้ายและแทงผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย ก็เป็นหนึ่งในแรงสนับสนุนสำคัญที่ทำให้ศาลและสังคมไทยส่วนใหญ่เห็นว่า ควรแก่การลงโทษถึงชีวิต

ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ชี้ว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีนักโทษถูกพิพากษาประหารชีวิตอยู่อีก 517 คน ในจำนวนนี้ มี 200 คนที่คดีพิพากษาสิ้นสุดถึงชั้นฎีกาแล้ว แต่อยู่ระหว่างรอกระบวนการ โดยส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด

ประเทศไทยเป็น 1 ใน 56 ประเทศทั่วโลกที่ยังมีโทษประหาร แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการในทางปฏิบัติมานานเกือบ 9 ปีแล้ว กระทั่งกรณีล่าสุดของนายธีรศักดิ์ ที่จุดประเด็นให้สังคมไทยทบทวนจุดยืนที่มีต่อโทษประหารกันอีกครั้งหนึ่ง

บทสนทนาเผ็ดร้อนที่เกิดขึ้นยาวนานมาเป็นอาทิตย์ หลายคนต่างออกมาพิมพ์มาพูดกันยาวเหยียด จนอาจจะลืมหยุดฟังเหตุผลของอีกฝ่ายอย่างละเอียดลออ เราจึงขอสรุปรวมความเห็นจากทั้งสองฝั่งของสังเวียนมาเสนอ เผื่อใครจะอยากทวนดูอีกสักรอบ ไม่ว่าคุณจะหงายการ์ดไปแล้วหรือตามอ่านเงียบๆ

 

โทษประหารชีวิต ช่วยลดอาชญากรรม เพราะคนกลัวกฎหมาย

ฝ่ายหนุน : โทษประหารชีวิตช่วยจัดระเบียบสังคม ทำให้คนกลัวกฎหมาย ไม่กล้ากระทำผิด

ฝ่ายค้าน : การจัดระเบียบสังคมน่าจะอยู่ที่การพัฒนาสังคมให้แข็งแรง การฆ่าคนเพียงคนเดียว ไม่ได้ทำให้สังคมดีขึ้น หรือมีความปลอดภัยมากขึ้น โทษประหารชีวิตไม่ช่วยลดอาชญากรรม

ฝ่ายหนุน : แม้การประหารจะไม่ช่วยลดอาชญากรรม แต่ประหารแล้วจะลดจำนวน ‘อาชญากร’ ทันที

ฝ่ายค้าน: แทนที่จะรอให้เกิดเรื่องกับเหยื่อ แล้วก็ค่อยลงโทษผู้กระทำผิดซ้ำไปซ้ำมาเรื่อยๆ เราควรจะคุยกันดีไหมว่าจะป้องกันสังคมไม่ให้เกิดอาชญากรรมได้อย่างไร

 

แคร์ความรู้สึกของเหยื่อและครอบครัวบ้าง

ฝ่ายหนุน: โทษประหารชีวิตทำให้ครอบครัวของเหยื่อรู้สึกว่ายังมีความยุติธรรมอยู่บนโลกใบนี้

ฝ่ายค้าน: ฆ่าคนเพิ่มหนึ่งคนก็ไม่ช่วยอะไรเลย คุณไม่สามารถเอาชีวิตที่สูญเสียไปคืนมาได้โดยการสังหารคนอื่น

ฝ่ายหนุน: แต่คนที่ทำผิดก็ต้องได้รับการลงโทษตามกฎหมาย ไม่ใช่แค่จำคุกไป 10-20 ปี แล้วก็ออกมาเดินลอยหน้าลอยตา

 

เราต้องเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

ฝ่ายค้าน: ศาลก็อาจผิดพลาดได้ ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เราได้เห็น ‘แพะ’ ที่เป็นเหยื่อของการตัดสินพลาดหรือความไม่เป็นธรรมมามากมาย

ฝ่ายหนุน: กระบวนการยุติธรรมมีขั้นตอนที่ผ่านการกลั่นกรองหลายชั้น ทั้งตำรวจ อัยการ และศาลอีกสามศาล ไม่ใช่ปุบปับรับโชคแล้วฆ่าเลย ใช้เวลาไต่สวนมานานพอสมควรกว่าจะตัดสินประหารชีวิต

ฝ่ายค้าน: กระบวนการยุติธรรม คือการที่คนผิดได้รับโทษตามที่เขากระทำ ขณะเดียวกันก็ยังต้องเคารพสิทธิมนุษยชนของบุคคล นั่นคือ สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ โทษสูงสุดอาจควรเป็นการจำคุกตลอดชีวิต โดยไม่ลดหย่อนโทษเลยไม่ว่าในกรณีใดๆ

 

สิ้นเปลืองงบประมาณ เลี้ยงขี้คุกไว้ตลอดชีวิต

ฝ่ายหนุน: คนทำผิดรุนแรง ถ้าต้องอยู่ในคุกตลอดชีวิตก็เปลืองงบประมาณที่ประชาชนจ่ายภาษีมา

ฝ่ายค้าน: คนเรามีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ แม้อยู่ในคุก ก็ยังทำงานสร้างประโยชน์ให้สังคมได้

 

ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ยกเลิกโทษประหารแล้ว

ฝ่ายหนุน: ใช่ว่ายกเลิกโทษประหารชีวิตแล้วประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว แถมประเทศเจริญๆ อย่าง จีน ญี่ปุ่น อเมริกา ก็ยังมีโทษประหารอยู่ สิงคโปร์เพื่อนบ้านเราก็มีประหารอยู่ เขาก็ยังโอเค คำถามคือจะเอาสถานะประเทศที่ยกเลิกโทษประหารไปทำอะไร

ฝ่ายค้าน: การมีโทษประหารเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของความล้าหลัง เพราะอาชญากรรมรุนแรงไม่ควรถูกมองเป็นความผิดของคนหนึ่งคน แต่สังคมที่แย่ทำให้คนเลวได้ง่ายขึ้น มีโอกาสเป็นอาชญากรรมได้ง่ายขึ้น แทนที่จะผลีผลามชิงลงโทษ ลองมาทบทวนปัญหา ทั้งแง่ สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความเหลื่อมล้ำ กันดีไหม น่าจะแก้ปัญหาได้ในระยะยาว

 

สังคมจะได้อะไรจากการประหาร

ฝ่ายหนุน: เราจะได้ความปลอดภัยในการใช้ชีวิต เราไม่ต้องกังวลว่าเดินบนถนนแล้วจะต้องไปเจอฆาตกรหรือเปล่า

ฝ่ายค้าน: เราควรจะตัดความสะใจ และความรู้สึกปลอดภัย หันมาดูที่ผลลัพธ์จริงๆ กันดีกว่า ว่าเราจะมีสังคมที่ปลอดภัยกันจริงๆ เหรอ กะอีแค่ฆ่าคนเลวไปคนหนึ่ง

ฝ่ายหนุน: การยุติชีวิตหนึ่งเพื่อความปลอดภัยของอีกหลายชีวิตนั้นก็คุ้มค่า น่าจะยอมรับได้

ฝ่ายค้าน: ถ้าคิดว่าฆ่าหนึ่งคนเพื่อความสงบสุขของคนหลายคนแล้วถือว่าคุ้ม เราก็ไม่ต่างจากฆาตกร ประเด็นทางสังคมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอาจเป็นปัจจัยที่สำคัญในกระบวนการสร้างคนๆ หนึ่งให้กระทำความผิด คุณสมบัติความดี-ชั่วอาจไม่ใช่สิ่งที่เป็นมาแต่กำเนิดก็ได้

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการย่อยความคิดเห็นของสองฝ่ายที่หงายการ์ดออกมาแล้ว และน่าสนใจว่าหลายชุดความคิด เป็นชุดเดียวกับที่ถูกใช้ในดราม่าอื่นอย่างความเห็นเกี่ยวกับชาวโรฮิงจา หรือโทษข่มขืน=ประหาร ซึ่งยิ่งสะท้อนภาพความแตกต่างทางความคิดของคนในสังคม และความแตกต่างที่มาพร้อมความโกรธเกรี้ยวนี้เอง น่ากังวลพอๆ กับอาชญากรรม

Tags: ,