ในช่วงเวลาที่ความเห็นต่างทางการเมืองกำลังกลายตัวไปสู่ความรุนแรง มีคนที่เห็นต่างทางการเมืองกับรัฐถูกฆาตกรรม มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองสูญหาย มีการใช้ความรุนแรงกับนักกิจกรรมทางการเมืองภายในประเทศ มีคนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ คำถามสำคัญของยุคสมัยคือ เราจะก้าวไปสู่สังคมที่ดีกว่าอย่างไร

ด้วยความพยายามที่จะตอบคำถามดังกล่าว ภาคประชาชนและเครือข่ายนักวิชาการ นักกฎหมาย นักกิจกรรมทางการเมือง รวมตัวกันจัดงาน “De-Talk ล้างพิษ รัฐประหารทวงคืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชน” ขึ้นเพื่อสื่อสารให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงมรดกพิษของการรัฐประหารที่จะยังอยู่ต่อไป รวมทั้งเสนอแนวทาง “ล้างพิษ” เพื่อการปกครองของประเทศเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

ผู้ลี้ภัย การอุ้มหาย และการจับกุมคนเห็นต่าง คือ อาการความป่วยไข้ของสังคม

ผศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะของเพื่อนของ “สยาม ธีรวุฒิ” หนึ่งในผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่สูญหาย ได้เล่าถึงเพื่อนว่า สยามที่เขารู้จักเป็น เป็นคนขี้อาย ไม่ค่อยพูด บางครั้งพอเขาพูด เพื่อนก็จะขำ เพราะคิดว่าคำถามของเขาดูแปลก  

เขาและสยามได้รู้จักกันช่วงช่วงปี 2552 สยามก็เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆอย่างต่อเนื่อง ทั้งในฐานะคนร่วมจัดงาน ยกเก้าอี้ คนนำเสนอการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในขณะนั้นๆ และล่าสุดก็คือนักแสดงละครในกลุ่มประกายไฟการละคร แต่พอมาหลังการรัฐประหารปี 2557 นักกิจกรรมหลายคนถูกเรียกไปรายงานตัว และเขาเพิ่งทราบในภายหลังว่า สยามได้ลี้ภัยออกนอกประเทศไป

เก่งกิจ เล่าว่า หลังการลี้ภัย เขาไม่ได้ตามข่าวสยามมากนัก มารู้อีกทีคือประมาณวันที่ 10 พฤษภาที่ผ่านมา ว่าสยามถูกจับระหว่างเดินทางเข้าประเทศเวียดนาม และถูกส่งกลับไทยในวันที่ 8 พฤษภา และจนบัดนี้ก็ไม่รู้ว่าสยามหายไปไหน และทำให้เกิดคำถามว่า เหตุใดคนที่มีความฝัน ถึงต้องจบลงแบบนี้ หรือว่าสังคมไทยไม่ต้องการความฝัน?

เก่งกิจ กล่าวว่า สังคมที่ดีคือสังคมที่ทำให้เรามีความฝันได้ สังคมที่จะมีความฝันได้มันต้องเป็นสังคมที่มีเสรีภาพ เสรีภาพที่จะมีชีวิตและเสรีภาพที่จะพูด รวมถึงเสรีภาพที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมให้สอดคล้องไปกับความฝัน

“การปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงก็คือหัวใจของระบอบเผด็จการและการกดทับเบียดขับการมีชีวิตและเสรีภาพของสมาชิกในสังคม ในทางรัฐศาสตร์ หากสังคมใดไม่สามารถอดทน ไม่สามารถปรับตัว หรือไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่มาจากสมาชิกของสังคม มันก็สะท้อนความป่วยอันเกิดจากความไม่ยืดหยุ่นและไร้สมรรถนะในการจัดการกับความแตกต่างและความขัดแย้ง” เก่งกิจ กล่าว

“ผู้ลี้ภัย การอุ้มหาย และการจับกุมด้วยคดีทางการเมือง คือ อาการของความป่วยไข้ของสังคมนี้ ซึ่งเป็นสังคมที่รังเกียจและเบียดขับความฝันและการมีชีวิตในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง การหาความจริงว่าสยามอยู่ที่ไหน ใครทำให้เขาหายไป และทำไมพวกเขาถึงต้องทำให้สยามหายไป ก็คือ จุดเริ่มต้นของการแก้ไขอาการป่วยไข้ปางตายของสังคมไทย” เก่งกิจ กล่าว

“ผู้ลี้ภัย” ผลพวงวงจรอุบาทว์พิษการรัฐประหารในประเทศไทย

สุนัย ผาสุก องค์กรฮิวแมนไรท์ วอทช์ประจำประเทศไทย องค์กรที่คอยจับตาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนจากทั่วทุกมุมโลก กล่าวว่า ผู้ลี้ภัย คือ คนที่ไม่สามารถอยู่ในถิ่นฐานบ้านเกิดตัวเอง เพราะมีความหวาดกลัวเนื่องจากความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา หรือการที่เขาเป็นคนสังกัดกลุ่มใดในสังคมหรือเรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง 

สุนัย เล่าว่า ในอดีตเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก็มีคนที่ต้องลี้ภัยทางการเมือง บางคนต้องเข้าไปอยู่ในป่า บางคนต้องเดินทางออกนอกประเทศ แต่จวบจนทุกวันนี้ ประวัติศาสตร์ก็ยังคงซ้ำรอยเดิมอยู่เช่นนั้น เมื่อเกิดการรัฐประหารทำให้คนไทยบางคนไม่สามารถอยู่ในบ้านเกิดได้ แต่รอบนี้ ไม่สามารถหนีเข้าป่าได้ ทำให้ต้องหนีออกนอกประเทศ ต้องข้ามพรมแดนไป

สุนัย มองว่า สถานการณ์ผู้ลี้ภัยในครั้งนี้มันหนักหนากว่าเมื่อครั้งที่เกิดเหตุการณ์ ‘6 ตุลาคม 2519’ ที่ยังพอเห็นว่า มีทางออกให้ผู้ลี้ภัยกลับบ้านได้ แต่ครั้งนี้ไม่เห็นทางออกว่าประเทศไทยจะกลับสู่ประชาธิปไตยได้เมื่อไหร่ การกดขี่บั่นทอนเสรีภาพยังไม่มีวี่แววว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ คำสั่งคสช. ที่ออกตามมาตรา 44 จะถูกถอนไปเมื่อไร แบบไหน ด้วยเหตุนี้ทำให้สถานการณ์ปัจจุบันเป็นวิกฤตสิทธิมนุษยชนที่หาทางออกไม่เจอ เมื่อไม่เจอเราไม่รู้ว่า คนไทยจะได้กลับบ้านเมื่อไหร่

“การลี้ภัยรอบนี้ หนีออกนอกประเทศแล้วยังไม่ปลอดภัย ถูกอุ้มหาย อุ้มฆ่า ลาวห้ากรณี เวียดนามสามกรณี ทั้งหมดไม่มีคำตอบว่า ใครเป็นผู้กระทำ ทำให้เราไม่สามารถป้องกันได้ กลายเป็นว่าการลี้ภัยในประเทศข้างเคียงไม่ปลอดภัย เหมือนว่า ตอนนี้มีข้อตกลงระหว่างไทยและเพื่อนบ้านทำให้ไม่สามารถลี้ภัยได้อีกต่อไป ข้อตกลงลักษณะที่ว่า แลกตัวผู้ลี้ภัยระหว่างกัน แต่ขณะเดียวกันการจะลี้ภัยไปประเทศตะวันตกที่ปลอดภัยกว่าก็จะไม่ใช่เรื่องที่ง่าย” สุนัย กล่าว

“ไทยเป็นประธานอาเซียนในยุคที่อาเซียนไม่ให้ความคุ้มครองศัตรูทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องที่น่าภูมิใจในเชิงระหว่างประเทศเลย นานาชาติมีพันธกรณี มีกฎหมายจารีตประเพณี ห้ามไม่ให้ส่งตัวไปเผชิญอันตราย แต่ตอนนี้ไทยและประเทศอาเซียนไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้เลย ที่เหลืออยู่คือ มิตรประเทศที่จะแสดงจุดยืนที่ชัดเจนในการยื่นมือมาช่วยเหลือผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่ปลอดภัยได้ กลไกของสหประชาชาติเช่น OHCHR และ UNHCR จะยื่นมือให้ความช่วยเหลือในการนำพาคนไทยให้รอดพ้นการประหัตประหารข้ามพรมแดน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คนไทยที่เป็นผู้ลี้ภัย เราอยากให้เขากลับบ้านได้ นี่เป็นที่มาคือ การถอนพิษของการปกครองที่ไล่ล่าประหัตประหารคนเห็นต่าง เราต้องล้างพิษให้ได้เพื่อให้การแสดงออกไม่ถูกทำให้กลายเป็นอาชญากรรรมและไม่เกิดวงจรอุบาทว์เช่นนี้อีก” สุนัย กล่าว

รัฐไทยพยายามเปลี่ยนมหาวิทยาลัยเป็นค่ายทหาร

รศ.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า หลังรัฐประหาร 2557 มีสภาวะการสิ้นสุดลองของการเคลื่อนไหวบนท้องถนน หรือขบวนการมวลชนกึ่งจัดตั้งไม่ว่าสีไหน เสื้ออะไร แกนนำทั้งหลายหากไม่ถูกเรียกตัวไปปรับทัศนคติก็ถอยร่น บางส่วนก็ลี้ภัย ในแง่นี้มหาวิทยาลัยกลายเป็นคล้ายๆ กับพื้นที่สุดท้ายในสังคมที่ผู้คนจะมารวมตัวกันแสดงออกถึงสภาวะจิตใจคับข้อง ขุ่นเคืองต่อสภาวการณ์บ้านเมือง

รศ.อนุสรณ์ กล่าวว่า หลังการรัฐประหาร มหาวิทยาลัยเลยเป็นที่จับตาของทหาร มีความพยายามเข้ามาจัดการมหาวิทยาลัยในฐานะค่ายทหารมากขึ้น เมื่อมหาวิทยาลัยตกอยู่ในเป้าสายตาของทหาร ก็เห็นกระบวนการเข้ามากดปราบ ไม่ให้การกระด้างกระเดื่อง สมัยรัฐประหารใหม่ๆ นักวิชาการส่วนหนึ่งถูกเรียกไปปรับทัศนคติไม่ต่างจากนักการเมืองหรือนักเคลื่อนไหว โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ตามภูมิภาคที่ถูกนับว่าเป็นแหล่งซ่องสุมคนต่อต้านรัฐบาลก็จะมีนักวิชาการถูกเรียกไปปรับทัศนคติ

ข้อสังเกตหนึ่งที่ รศ.อนุสรณ์ มองเห็นคือ มีมาตรการแทรกแซงกิจกรรมทางวิชาการซึ่งในต่างจังหวัดค่อนข้างหนาแน่นและรุนแรง ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีค่ายทหารใหญ่ๆ ในจังหวัดนั้น หรือมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่กลัวหรือมีทิศทางเดียวกันกับฝั่งทหาร ก็จะมีการส่งสัญญาณลงมาถึงนักวิชาการที่อยากจัดเสวนาวิชาการ 

นอกจากนี้ เห็นคือความพยายามกำกับ ควบคุม การผลิตความรู้ที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทย เรื่องทุนวิจัยของ วช. (สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ) ที่เป็นแหล่งทุนหลัก จะพบว่าใน 21 หัวข้อ เกือบครึ่งเป็นความพยายามสร้างสถาปนารัฐชุดใหม่ที่เขาอยากจะเห็น บางหัวข้อเป็นเรื่องความมั่นคง ถ้าไปดูรายละเอียดจะพบว่าเป็นการตอบคำถามว่ากองทัพจะทำอย่างไรต่อ จะอยู่ต่ออย่างไร

“เรากำลังเผชิญหน้ากับการใช้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่สถาปนาระบอบอำนาจนำแบบใหม่ ถ้าเราไม่สามารถรักษาพื้นที่มหาวิทยาลัยเหล่านี้ไว้ได้แล้ว ประเทศนี้คงจะสิ้นหวัง สำหรับคนที่อยากจะเห็นความเสมอภาคและการเคารพในความแตกต่างของผู้คนอย่างเท่าๆ กัน” รศ.อนุสรณ์ กล่าว

ทรัพยากรกำลังถูกช่วงชิงและจัดสรรอย่างไม่เป็นธรรม

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สิทธิในการจัดสรรทรัพยากรถูกกำหนดโดยรัฐส่วนกลางมาโดยตลอด อีกทั้งยังมองเห็นมูลค่าของสิ่งแวดล้อมมากกว่าคุณค่าของการมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ทำให้นโยบายที่ออกมามุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนให้นายทุนมาทำธุรกิจขนาดใหญ่ ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม การทำการเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งล้วนต้องใช้ที่ดิน ใช้น้ำ จำนวนมาก และมีความเสี่ยงในการปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม

สุภาภรณ์ เล่าต่ออีกว่า มันมีความไม่เป็นธรรมอยู่ในการจัดสรรทรัพยากร เช่น ชาวบ้านที่ไทรทองถูกประกาศเขตอุทยานทับพื้นที่อยู่อาศัยและเกษตร แล้วยังมาถูกซ้ำเติมจากนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ที่ให้ทหารและกรมอุทยานเข้าคืนพื้นที่ รื้อทำลายสิ่งปลูกสร้าง ไร่สวน พร้อมกับดำเนินคดี ทั้งที่ชาวบ้านอยู่อาศัยในที่ดินมาก่อน ในขณะที่ผืนป่าอีกหลายแห่งกลับได้รับการอนุญาตผ่านมติคณะรัฐมนตรีให้สามารถเข้าไปใช้ทำเหมืองแร่ได้หลายพันไร่ซึ่งเป็นการใช้แบบทำลายหมดไป  แต่ประชาชนที่อยู่อาศัยและดูแลผืนป่ากลับไม่สามารถอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากผืนป่านั้นได้

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เขียนให้เอาที่ดินเพื่อการเกษตรหรือที่ดินราชพัสดุ ที่มีวัตถุประสงค์ในการให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยสามารถใช้ที่ดินในการอยู่อาศัยและประกอบอาชีพได้ มาให้นายทุนได้เช่าทำอุตสาหกรรมได้ 50 ปี และต่ออายุการเช่าได้อีก 49 ปี รวมเป็นเช่าได้มากสุด 99 ปี แต่ประชาชนที่เคยอยู่ในที่ดินเหล่านี้บางพื้นที่ถูกยกเลิกสัญญาเช่า ถูกขับไล่ให้ออกจากที่ดินโดยไม่มีการดูแลชีวิตในอนาคตของคนเหล่านี้จากรัฐบาล 

สุภาภรณ์ กล่าวว่า ไม่ใช่แค่ของการจัดสรรทรัพยากร บางครั้งรัฐใช้วิธีการ ‘ลดทอน’ มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยใช้สายตาของนายทุนที่มองว่ามาตรการและขั้นตอนเหล่านี้ขัดขวางการพัฒนาจึงได้มีการออกคำสั่งให้ยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองในพื้นที่ที่กำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และยกเว้นทั่วประเทศเพื่อกิจการบางประเภท เช่น  โรงไฟฟ้า หลุมฝังกลบขยะ ฯ ทำให้กิจการเหล่านี้กระจายไปทั่วโดยไม่ต้องดูว่าผังเมืองห้ามหรือไม่ ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการประกอบอาชีพของชุมชนจำนวนมาก เนื่องจากกิจการเหล่านี้มีการปล่อยน้ำเสียออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะและที่ทำกินของชาวบ้าน มีการสร้างติดกับที่อยู่อาศัยของคนในชุมชน เกิดกลิ่นเหม็นและเป็นอันตรายต่อสุขภาพในหลายพื้นที่  และยากแก่การแก้ไขเมื่อได้มีการสร้างและประกอบกิจการไปแล้ว 

“ดิฉันหวังว่าทุกคนในที่นี้คงอยากเห็นสังคมนี้มีความสุข และทุกคนมีชีวิตที่ดี เราคงต้องมาเริ่มจากการร่วมกันรื้อนโยบายและกฎหมายที่ก่อให้เกิดปัญหา เช่น ร่วมกันรณรงค์ติดตามการออกกฎหมายยกเลิกประกาศ คำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งหมดและกลับมาใช้กลไกปกติ” สุภาภรณ์ 

ความล้มเหลวของรัฐไทยในความท้าทายของศตวรรษที่ 21

สฤณี อาชวนันนทกุล นักวิชาการอิสระที่สนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายหลายได้ สังคมที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนตอบสนองได้ทัน และในสังคมไทยที่มีความเป็นพหุนิยม มีความแตกต่างหลากหลายก็จำเป็นจะต้องพึ่งพาการมีส่วนร่วมของสังคม 

สฤณี กล่าวว่า ในการพัฒนาประเทศมีความท้าทายที่จำเป็นเร่งด่วนอยู่สี่เรื่องด้วยกัน ได้แก่ ประเด็นความเหลื่อมล้ำ ประเด็นทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม การเข้ามาของเทคโนโลยี และอันสุดท้ายคือ ความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งบางเรื่องก็พูดกันมานานแล้ว และบางเรื่องก็เป็นเรื่องใหม่

ประเด็นแรกเรื่องความเหลื่อมล้ำ ประเทศไทยถูกจัดอันดับว่ามีความเหลื่อมล้ำอยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการหารายได้ ทำมาหากิน ที่ผ่านมารัฐบาลคสช. พยายามพูดเรื่องความเหลื่อมล้ำมาตลอด แต่สิ่งที่เราเห็นคือ มาตรการที่ออกมาเป็นมาตรการระยะสั้นที่มุ่งเน้นไปที่การแจก หรืออย่างกรณี กฎหมายภาษีที่ดินที่ออกมาในยุคคสช. แต่พอไปดูในเนื้อหา ผลปรากฏว่ามีการเจรจาต่อรองกันทำให้ตัวกฎหมายไม่สามารถกระจายการที่ครองที่ดินได้ จากที่กระทรวงการคลังประเมินว่าจะจัดเก็บภาษีได้เป็นแสนล้านก็จัดเก็บภาษีได้แค่สามหมื่นถึงสี่หมื่นล้านเท่านั้น

ประเด็นถัดมาคือเรื่องสิ่งแวดล้อม สฤณี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกลายเป็นประเทศปลายทางของการทิ้งขยะอุตสาหกรรม ทั้งที่ศักยภาพในการจัดการขยะของเราต่ำมาก เรามีศักยภาพในการกำจัดอย่างถูกต้องประมาณสี่สิบเปอร์เซ็นและอีกกว่าหกสิบเปอร์เซ็นตฺ์กลายเป็นการลักลอบทิ้งขยะ ซึ่งผลมันก็มาจากการใช้ ‘มาตรา 44’ ยกเว้นกฎหมายผังเมืองเปิดทางให้โรงงานจัดการขยะ จนถึงตอนนี้ยังไม่เห็นความชัดเจนในแนวทางการแก้ปัญหาแม้ว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการต่างๆ

สฤณี กล่าวว่า เรื่องถัดมาคือ เรื่อง ดิจิทัลอีโคโนมี (เศรษฐกิจดิจิทัล) ที่อยากจะเห็นประเทศไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Thailand 4.0 มีการออกกฎหมายออกมาจำนวนมาก มีการตั้งคณะกรรมการต่างๆ โดยมีข้อสังเกตว่าคณะกรรมการเหล่านี้จะสนับสนุนการทำงานของภาคเอกชนได้หรือไม่ หรือจะมาแข่งขันกับเอกชนเสียเอง ซึ่งยังไม่นับประเด็นปัญหากฎหมายความเป็นส่วนตัว หรือการใช้กฎหมายปิดปากปิดกั้นการแสดงออกของประชาชน

เรื่องสุดท้ายที่ สฤณี พูดถึงคือ การแข่งขัน ประเทศไทยมี พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ซึ่งเป็นกฎหมายไว้ป้องกันการผูกขาด โดยในยุคคสช. มีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ส่วนที่ดีคือ ให้มีคณะกรรมการมากำกับเรื่องนี้อย่างชัดเจนและเป็นอิสระ ให้อำนาจหน่วยงานในการลงโทษ แต่ปัญหาคือ กฎหมายดังกล่าวมีการงดเว้นไม่ใช่กับรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้ประกอบกิจการเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ในทางปฏิบัติก็อาจจะบังคับใช้ไม่ได้เลย

“สุดท้ายแล้วพิษของคณะรัฐประหารในมุมมองของตัวเอง ที่แย่ที่สุดในช่วงห้าปีที่ผ่านมาคือการปิดกั้นประชาชน ปิดกั้นโอกาสต่างๆ ทำให้ประชาชนไม่เห็นทางเลือกต่างๆ ในการพัฒนา สุดท้ายแล้วปัญหาการพัฒนามันจึงไม่ใช่แค่เรื่องของการโต้เถียงหรือความขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์ มันเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่ยินดีให้มีการรวบอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองกับกลุ่มคนที่ไม่ยินดี” สฤณี กล่าว

ถึงเวลาสังคมไทยล้างผลพวงการรัฐประหาร

พูนสุข พูนสุขเจริญ หัวหน้าฝ่ายข้อมูลศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ในช่วงแรกของการรัฐประหารมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกซึ่งให้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลได้ถึง 7 วัน ซึ่งอำนาจดังกล่าวจากประสบการณ์ของทนายความที่เคยทำคดีในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า อำนาจดังกล่าวนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ 

พูนสุข  กล่าวว่า แม้ว่าในสถานการณ์ปัจจุบันจะไม่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกแล้ว แต่ทว่าอำนาจในลักษณะใกล้เคียงกับกฎอัยการศึกยังคงอยู่ เช่น คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “การปรับทัศนคติ”

นอกจากนี้ ในบรรดาประกาศคำสั่งคสช. ยังมีการกำหนดให้ใช้ ‘ศาลทหาร’ กับพลเรือน โดยตุลาการศาลทหารจะมีความแตกต่างจากศาลยุติธรรมปกติ ตรงที่สองในสามขององค์คณะตุลาการไม่จำเป็นต้องจบกฎหมาย และเป็นแค่เจ้าหน้าที่ทหาร รวมถึงโครงสร้างการบริหารงานของศาลทหารยังอยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร สิ่งเหล่านี้ขัดต่อหลักความเป็นอิสระและความเป็นกลางของตุลาการ และเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยคสช. อย่างชัดเจน 

แต่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบรรดาประกาศ คำสั่ง และคำสั่งหัวหน้าคสช. จากทั้งหมดกว่า 500 ฉบับ ที่คสช. ใช้

พูนสุข กล่าวว่า บรรดาประกาศและคำสั่งคสช. คำสั่งหัวหน้าคสช. และกฎหมายที่ออกโดยสนช. จะมีผลบังคับใช้อยู่ตลอดไป ถ้าเราไม่จัดการกับสิ่งเหล่านี้ก็จะมีผลกับชีวิตไม่รู้จบ ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.กฎอัยการศึกที่มีการบังคับใช้มาไม่ต่ำกว่า 100 ปี ด้วยเหตุนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงมีข้อเสนอในการจัดการผลพวงการรัฐประหาร จำนวน 5 ข้อ ได้แก่ การปฏิรูปจำกัดอำนาจกองทัพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและลบล้างคำพิพากษาที่รับรองการละเมิดสิทธิมนุษยชน จัดการกับบรรดากฎหมายคสช. และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

“ถามว่าสิ่งเหล่านี้จะทำอย่างไร เราคงตอบในรายละเอียดไม่ได้ เพียงแต่เป็นเรื่องที่เราต้องถกเถียงกัน ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่ามันคงจะใช้เวลานาน ในอดีตมีคนเชื่อว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องง่ายที่จะจบปัญหาแต่มันไม่จบ วันนี้เราต้องหาข้อตกลงร่วมกันว่าเราจะจบเรื่องนี้อย่างไร” พูนสุข กล่าว

 

 

Tags: , , , ,