ภาพมารี กูรี นักวิทยาศาสตร์หญิงคนเดียวท่ามกลางนักวิทยาศาสตร์ชายอีก 23 คนในงานประชุมโซลเวย์ครั้งแรกในปี 1911 ซึ่งเป็นงานประชุมวิทยาศาสตร์ที่เป็นตำนานระดับโลก ทำให้เราทั้งชื่นชมและสงสัย

เมื่อพิจารณาจากยุคสมัยอาจไม่ใช่เรื่องประหลาด แต่มารี กูรี ในขณะนั้นเอง ทั้งที่เป็นผู้หญิงคนเดียวอยู่แล้ว กลับยังต้องเผชิญกับข้อกังขาที่วงการมีต่อเธอ บ้างก็ว่าเธอได้รับรางวัลโนเบลเพราะทำงานวิจัยร่วมกับสามี ปิแอร์ กูรี และคงไม่ได้มีส่วนสำคัญอะไรนัก และเดิมที คณะกรรมการจะตัดชื่อเธอออกไปด้วยซ้ำ แต่ดูเหมือนในหมู่นักวิทยาศาสตร์ด้วยกัน มีคนที่มองเห็นความสามารถของเธอจริงๆ และชักชวนให้เธอได้เข้ามายืนอยู่ในเวทีนี้ร่วมกัน เขาคนนั้นคืออัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นบ่อย

หนึ่งร้อยกว่าปีผ่านไป ในศตวรรษที่ 21 ที่ทางของนักวิทยาศาสตร์หญิงก็ดูเหมือนไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เหตุผลบางข้อที่ยกขึ้นมาในงาน For Women in Science ปีที่ 20 ในกรุงปารีส อธิบายว่า เป็นเพราะอคติในสายอาชีพหรือการมีเพดานแก้วคอยสกัดกั้นความก้าวหน้า

แต่นั่นยังเป็นคำอธิบายที่ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไรให้เป็นรูปธรรมในตอนนี้

เราตั้งคำถามกันต่อไปว่า แล้วเหตุใดสัดส่วนนักวิทยาศาสตร์หญิงที่ได้รับรางวัลโนเบล กลับมีแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ผู้หญิงที่เข้าทำงานในสายงานด้านวิทยาศาสตร์ ก็ไม่ใช่จำนวนน้อยๆ

“แต่มีนักวิทยาศาสตร์หญิงระดับอาวุโสไม่มากนักนะ” ศาสตราจารย์ เดม แคโรไลน์ ดีน (Professor Dame Caroline Dean) (หมายเหตุ* Dame คือชื่อยศที่ท่านได้รับจากผลงานวิชาการ) ชี้ชวนให้เราต้องพลิกมุมมอง ว่าจริงๆ แล้ว ก่อนจะดูผลลัพธ์ปลายทางว่าได้รับการยอมรับหรือไม่ มีนักวิทยาศาสตร์หญิงรุ่นใหม่สักกี่เปอร์เซ็นต์ที่ได้ไปต่อได้ในสายอาชีพ โดยไม่ผละจากวงการไปก่อน

ดีนในวัย 61 ปี ทำงานมายาวนาน และมีแล็บอิสระของตัวเองที่ศูนย์จอห์น อินเนส (John Innes Centre) มานานเกือบ 30 ปี ทำการศึกษาเจาะจงไปที่เรื่องการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลของพืช จนได้รับเลือกเป็นลอรีเอท ประจำภูมิภาคยุโรป ปี 2018 จากโครงการ For Women in Science ที่จัดโดยยูเนสโกและมูลนิธิลอรีอัล เนื่องจากเธอมีผลงานวิจัยโดดเด่น โดยเฉพาะเรื่องยีนที่ทำให้พืชสามารถกำหนดช่วงเวลาในการออกดอกในแต่ละปีได้ (flowering time)

เราอาจไม่เคยคิดเรื่องนี้มาก่อน และมองต้นไม้มาเหมือนมันถูกตั้งโปรแกรมให้ออกดอกหรือผลัดใบโดยอัตโนมัติ มีชีวิตแต่ไร้การตัดสินใจ

แต่ดีนมองความเปลี่ยนแปลงของต้นไม้เหล่านั้นอย่างกระตือรือร้นมาตั้งแต่ขณะไปเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก (Post-doc) อยู่ในแคลิฟอร์เนีย สถานที่ที่มีฤดูกาลแตกต่างไปจากบ้านเกิดของเธอในอังกฤษ แล้วตั้งคำถามแสนน่ารักขึ้นมาว่า

“ต้นไม้จดจำสิ่งต่างๆ ได้อย่างไร”

นำมาสู่การวิจัยการออกดอกของต้นอาระบิด็อปซิส (Arabidopsis thaliana) พืชลักษณะใกล้เคียงกับผักกาด ศึกษาลึกลงไปถึงยีน ว่ามีการตอบสนองต่อภูมิอากาศอย่างไร แล้วพบว่าอากาศหนาวมีผลต่อการปิดยีน ที่เรียกว่า FLC (Flowering Locus C) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการออกดอก

การ ‘ปิด’ การทำงานของยีนนี้ ทำให้ต้นไม้อั้นการออกดอกเอาไว้ จนกว่าจะผ่านพ้นฤดูหนาวไป และเข้าสู่ระยะปลอดภัยที่เหมาะกับการสืบพันธุ์

“เพราะเมล็ดพืชไม่สามารถขยับโยกย้ายไปไหน และจำเป็นต้องเอาตัวรอดให้ได้ในที่ที่มันงอกขึ้นมา จึงต้องหาวิธีระบุให้ได้ว่า ช่วงเวลาไหนดีที่สุด ออกดอกตอนไหนจะให้เมล็ดพันธุ์ออกมาได้จำนวนมากที่สุด พืชต้อง ‘สังเกตการณ์’ ฤดูกาล เพื่อทำนายให้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า

“และเพราะต้องอยู่ตรงนั้น มันจึงต้องพึ่งพิงการเปลี่ยนผ่านของฤดูกาล ตลอดกระบวนการเติบโต-การพัฒนา-และการเผาผลาญพลังงาน”

การค้นพบนี้สร้างแรงกระเพื่อมในวงการชีววิทยา และเป็นอีกก้าวหนึ่งของศาสตร์ที่เรียกว่าเอพิเจเนติกส์ (epigenetics) หรือพันธุศาสตร์ด้านกระบวนการเหนือพันธุกรรม ดีนบอกว่า ก่อนหน้านี้ ผู้คนก็เพียงรู้แค่ว่า พืชต่างๆ ต้องการช่วงเวลาหรืออุณหภูมิที่ต่างกันเพื่อกำหนดพฤติกรรม เช่น วัชพืชต้องการช่วงเวลากลางวันที่มากขึ้นเพื่อกระตุ้นให้เกิดการออกดอก

“แต่ไม่มีใครรู้ไปถึงพื้นฐานระดับโมเลกุลจริงๆ”

เธอเริ่มจากคำถามว่า มีกลไกอะไรในระดับโมเลกุลที่ทำให้เกิดความแตกต่าง แล้วพบว่า ยิ่งมองลึกลงไป พืชเหล่านี้ไม่ได้ทำงานแตกต่างกันมากนัก แต่ปัจจัยภายนอกได้เข้าไปกำหนดการเติบโตของมัน โดยมี FLC ตอบสนองปรับตัวเพื่อช่วยให้พืชอยู่รอด

เมล็ดพันธุ์ของวิทยาศาสตร์

เดม แคโรไลน์ ดีน สนใจเรื่องวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น เธอได้ดูสารคดีเกี่ยวกับชีววิทยาทางทะเลของฌาคส์-อีฟ กุสโต (Jacques-Yves Cousteau) จนตัดสินใจเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยเพื่อเรียนเรื่องนี้โดยเฉพาะ

“แต่เมื่อไปอยู่ในมหาวิทยาลัย วิชาที่เกี่ยวกับชีววิทยาทางทะเลค่อนข้างจะน่าเบื่อ มีเรื่องกระดูกปลา หรือสัตววิทยา อะไรทำนองนั้น”

ตั้งแต่ได้ทดลองแยกคลอโรพลาสต์ออกมาศึกษากระบวนการสังเคราะห์ออกซิเจน เธอก็พบว่าชีวเคมีเป็นเรื่องน่าสนใจกว่า และเบนเข็มมาโฟกัสเรื่องชีววิทยาของพืชมาโดยตลอด จนถึงระดับปริญญาเอก

“โชคดีมากๆ ที่ในช่วงกำลังจะจบ Ph.D. คือช่วงที่นักวิทยาศาสตร์เริ่มถ่ายโอนยีนเข้าสู่พืชด้วยกระบวนการอะโกรแบคทีเรียม ทรานสฟอร์เมชัน (agrobacterium transformation) หรือการถ่ายโอนยีนด้วยอะโกรแบคทีเรียมได้แล้ว ตอนนั้นเองที่ศาสตร์พันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) ได้ถือกำเนิดขึ้น”

เมื่อกลับมาจากแคลิฟอร์เนีย เธอตั้งแล็บวิจัยของตัวเองที่ศูนย์ จอห์น อินเนส ในเมืองนอริช (Norwich) สหราชอาณาจักร ทุ่มเทวิจัยให้กับเรื่องชีววิทยาของพืชและการปรับตัวตามฤดูกาล

“รายละเอียดของสวิตช์เล็กๆ ที่ว่านี้ ฟังเหมือนง่ายนะ เป็นเหมือนหลอดไฟเปิดแล้วก็ปิด แต่ในระดับโมเลกุล ยังไม่มีใครรู้ว่าเอพิเจเนติกส์สวิตช์ที่ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร คุณไม่สามารถเพียงแค่มองดูมันเฉยๆ แต่ต้องทดลองเพื่อดูว่ามันทำงานยังไง และมีความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอย่างไร ในการแบ่งเซลล์ต่างๆ เพราะโมเลกุลเคลื่อนที่ไปรอบๆ หายไป กลับมา หายไป แล้วก็กลับมาอยู่อย่างนี้ ต้องใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์วิเคราะห์พลวัตที่เกิดขึ้น การหาให้ได้ว่าหน้าตาของสวิตช์ที่ว่านี้เป็นอย่างไร คือสิ่งที่เราพยายามค้นหาอยู่”

ว่าแต่พืชรับความรู้สึกได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีอวัยวะที่มีเส้นประสาทอย่างมนุษย์หรือสัตว์

“มันคือคำถามสำคัญเลย ดูเหมือนว่าทุกๆ ขั้นตอนการทำงานของพืช ต่างก็ตอบสนองต่ออุณหภูมิ (temperature sensitive) อยู่แล้ว ในแต่ละขั้นตอนก็แปรเปลี่ยนไปตามอุณหภูมิที่ต่างกันไปทีละนิด อย่างเช่น อาจจะมีขั้นตอนสิบขั้นตอนเกิดขึ้นจากอุณหภูมิที่ลดลงไป เป็นการปิดยีนเพื่อตอบสนองกับความหนาว

“อุณหภูมิส่งผลต่อชีวเคมีทุกอย่าง หมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างต่างก็ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิโดยตรง เพราะฉะนั้นปัจจัยอุณหภูมิที่ใส่เข้าไป จึงไม่ใช่การที่มีเซ็นเซอร์หนึ่งรับความรู้สึกได้ แล้วส่งสัญญาณต่อไปในยีน แต่เป็นการที่อุณหภูมิระดับต่างๆ ส่งผลต่อองค์ประกอบต่างๆ ในเครือข่าย

“อุณหภูมิจึงส่งผลได้หลากหลายรูปแบบ มันอาจจะไม่ได้เป็นเพียงแค่ ‘ความหนาว’ แต่อาจหมายถึงการหายไป ของ ‘ความร้อน’ ด้วยเช่นกัน แต่ว่าถ้าถามว่า พืชจับสังเกตความหนาวหรือการหายไปของความร้อนนี้ได้อย่างไร ฉันเองก็กำลังศึกษาอยู่”

พันธุกรรมแห่งการปรับตัว

แล้วการที่สภาวะอากาศโลกเปลี่ยนแปลง โลกร้อนทำให้ฤดูกาลแปรปรวน จะส่งผลต่อพฤติกรรมนี้ของพืชไหม โดยเฉพาะการทำนายฤดูกาลและการกำหนดช่วงเวลาออกดอก

“กระทบอย่างมาก แต่ก็จะส่งผลกระทบต่อพืชชนิดต่างๆ ในลักษณะที่แตกต่างกันไปด้วย เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นมากๆ ที่เราจะต้องทำความรู้จักและเข้าใจเรื่องที่พื้นฐานที่สุดเหล่านี้ ไม่ใช่แค่ในอะราบิด็อปซิส แต่รวมถึงพืชไร่ต่างๆ ว่าพืชชนิดไหนที่จะสามารถปรับตัวและยืนหยัดได้ดีในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปแบบนี้ ซึ่งในอนาคตอาจจะนำไปสู่ฤดูหนาวที่สั้นลง”

ไม่ใช่แค่พืชยอดนิยมสำหรับใช้ในการทดลองอย่างอะราบิด็อปซิสเท่านั้น ความรู้เรื่องยีนและเอพิเจเนติกส์ดังกล่าวอาจนำไปพัฒนาพืชไร่สายพันธุ์ใหม่ๆ เพื่อให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและอยู่รอดได้ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพการผลิตอาหารให้ประชากรโลกในอนาคต

แม้ว่าพันธุวิศวกรรมจะยังเป็นเรื่องน่าพรั่นพรึงของคนส่วนมาก แต่ดีนมองว่าความกลัวหลายอย่างเกิดจากความไม่เข้าใจกระบวนการอย่างถ่องแท้

“นั่นคือสิ่งที่เราทำกับการผสมพันธุ์พืชอยู่แล้ว การเล่นกับยีนต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นมะเขือเทศ แรกเริ่มเป็นพืชเม็ดเล็กๆ ที่ขมมาก แต่คนหาวิธีผสมข้ามพันธุ์ต่างๆ เป็นเวลาหลายปี กลายมาเป็นพืชผลมะเขือเทศสวยงาม ใหญ่ หวาน และชุ่มฉ่ำ เพราะมันคือการผสมยีนจากสปีชีส์ที่แตกต่างกัน นั่นคือวิธีการที่เราได้มันมา”

จิ๊กซอว์รูปต้นไม้

การพัฒนาสายพันธุ์พืชฟังดูเป็นแนวคิดที่น่านำไปต่อยอดในทางธุรกิจ แต่เมื่อเราถามเธอว่า เคยคิดจะผันตัวไปเป็นนักธุรกิจหรือไม่ เธอกลับลังเล

“เคยคิดจะตั้งบริษัท แต่ฉันเป็นคนประเภทที่จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากๆ และกังวลเสมอว่า ถ้าทำหลายอย่างเกินไป จะทำให้แต่ละอย่างที่ทำนั้นไม่ดีเท่าที่ควร ก็เลยอยากโฟกัสไปที่การทำความเข้าใจสวิตช์ที่ว่านี้มากกว่า และสิ่งที่ทำได้ก็คือ ให้ความรู้คนอื่นๆ ต่อไป เพื่อโน้มน้าวให้พวกเขานำข้อมูลนี้ไปใช้พัฒนาการผลิตอาหารและใช้ในเชิงพาณิชย์ให้ได้ เพราะฉันเองไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียว”

ถ้าอย่างนั้น อะไรที่ทำให้เธอยืนหยัดทำงานในแล็บมามากกว่าสามทศวรรษ ดีนตอบว่า

“สำหรับฉัน การทำความเข้าใจรายละเอียดยิบย่อยต่างๆ ว่าพืชทำงานอย่างไรเพื่อจดจำฤดูหนาว ก็เหมือนกับการไขปริศนาเพื่อต่อจิ๊กซอว์ขนาดใหญ่ เหมือนกับเราเปิดกล่องเล็กๆ กล่องหนึ่ง ข้างในนั้นประกอบไปด้วยชิ้นส่วนตัวต่อเล็กๆ มากมาย แล้วเราก็ค่อยๆ ต่อกรอบรอบนอกอย่างช้าๆ จนภาพก่อตัวขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่าง ทุกๆ วันของฉันมันก็เลยเหมือนกับ อู้ว ชิ้นส่วนตรงนี้ประกบกับส่วนนี้ได้ ชิ้นส่วนอันนั้นไปต่อเข้ากับตรงนั้นได้

“มีคำถามเกิดขึ้นในหัวตลอดเวลาว่ามันจะประกอบเข้าด้วยกันอย่างไร และชิ้นส่วนใหม่ที่ยังขาดไปจะมีหน้าตาเป็นยังไง นั่นเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมากๆ นะความอยากรู้อยากเห็นทำให้ฉันยังอยู่ตรงนี้ได้ และก็ทำให้ฉันมีความสุขที่จะทำมันไปเรื่อยๆ”

ดีนยังให้เหตุผลด้วยว่า สาเหตุที่เธอเลือกศึกษาพืช เพราะมันเปิดโอกาสให้เธอได้ลองผสมสายพันธุ์ต่างๆ เพื่อดูผลลัพธ์ได้อย่างเปิดกว้างกว่า

“เมื่อคุณมองลึกลงไปในระดับนิวเคลียส คุณจะบอกไม่ได้ว่ามันเป็นนิวเคลียสของพืชหรือของมนุษย์ กระบวนการพื้นฐานของมันจึงเหมือนกัน และฉันคิดว่าการศึกษาพืชเป็นเรื่องง่ายกว่ามาก เพราะเราสามารถโยกย้ายรหัสพันธุกรรม สามารถลำดับเพดิกรี สามารถผสมข้ามสายพันธุ์ได้ แต่คุณไม่สามารถทำให้คนคนหนึ่งไปมีลูกกับอีกคนหนึ่งอย่างระบุเจาะจงได้” เธอหัวเราะอย่างอบอุ่น

“แต่ความรู้เกี่ยวกับชีววิทยาของพืช สามารถสร้างความเข้าใจระดับรากฐานที่สามารถใช้เป็นประโยชน์กับมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหมด”

ฤดูกาลท้าทาย ก่อนจะผลิดอก

ยีน FLC อาจเป็นฮีโร่ของต้นไม้ เพื่อทำให้มันยืนหยัด ปรับตัว และขยายพันธุ์ต่อไปได้ แต่กับการเติบโตของนักวิทยาศาสตร์หญิง ที่มีความรักและความฝันที่จะ “ต่อจิ๊กซอว์” เหมือนกับดีน ทำไมหลายคนจึงแห้งเหี่ยวและผละไปจากเส้นทาง จนไม่ทันได้ผลิดอกและกลายมาเป็นนักวิทยาศาสตร์อาวุโสได้เหมือนอย่างเธอ

“คงชี้ลงไปเฉพาะเจาะจงไม่ได้ว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะเราเป็นผู้หญิงที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์ แต่ฉันคิดว่า โดยทั่วไป อคติของสังคมที่คาดหวังว่าเพศหญิงต้องทำอะไรบ้าง ทำให้ผู้หญิงมีภาระทั้งด้านครอบครัว บ้าน และหลายๆ สิ่ง การทำงานเต็มเวลากลายเป็นเรื่องไม่ง่าย ผู้หญิงประคองตัวทำทั้งสองสิ่งนี้ไปด้วยกันได้ยากมาก

“หรือหลายคนต้องเผชิญกับช่วงเวลาทุลักทุเล อย่างตอนที่ลูกๆ ยังเล็ก และคุณก็เพิ่งเริ่มต้นทำงานวิจัย คุณจะต้องมีเรื่องยุ่งอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็เจอกับการแข่งขันสูง อยู่ๆ คุณไม่สามารถที่จะหยุดพักวิจัยไปสัก 12 เดือน เพราะการวิจัยเป็นงานที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง”

ดีนเล่าประสบการณ์ในฐานะคุณแม่ที่มีลูกชายสองคน ซึ่งตอนนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วทั้งคู่

“เราควรจะแบ่งและกระจายความรับผิดชอบที่มีต่อครอบครัวและการเป็นพ่อแม่ให้เท่าๆ กัน หากคุณแบ่งปันภาระกัน และมีคนมาคอยช่วยเหลือ คุณจะจัดการเรื่องเหล่านี้ได้ ฉันมีคนรอบตัวคอยช่วยมากมาย อย่างพี่เลี้ยงหรือสมาชิกในครอบครัวใหญ่ ที่ช่วยกันเลี้ยงลูกๆ ของเรา และเผชิญเรื่องต่างๆ ร่วมกัน”

สำหรับเธอ สองสิ่งนี้ไม่ควรเป็นอุปสรรคของกันและกัน แต่ควร “ถักทอ” และ “ผสาน” เข้าด้วยกันเพื่อสนับสนุนกันและกัน

“ถ้าทั้งชีวิตคุณมีแค่ครอบครัว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คุณอาจไม่ได้ให้พื้นที่ความเป็นส่วนตัวกับคนในครอบครัวเพียงพอที่จะให้พวกเขาได้เติบโตเอง และจะกลายเป็นเหมือนพ่อแม่ร่มชูชีพ [parachute parents: พ่อแม่ที่เอาใจใส่ลูกใกล้ชิดเกินไป] ในทางกลับกัน ถ้าทั้งชีวิตคุณมีแค่งาน คุณก็จะหมกมุ่นไปกับมันมากๆ ก็จะไม่ค่อยมีมุมมองด้านอื่นๆ เท่าไร ฉันคิดว่า การมีสองสิ่งนี้ก็มันเป็นเหมือนการสร้างสมดุลในชีวิต”

สมดุลในชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง อาจนำไปสู่สมดุลในแวดวงวิชาการ ซึ่งดีนคิดมาเสมอว่า “ความหลากหลายคือพลัง”

ความหลากหลายในทีมจะนำไปสู่สิ่งดีๆ เพราะผู้คนคิดเห็นแตกต่างกันไป หากมีปัญหาสักเรื่องที่หาวิธีแก้ไม่ได้ คุณก็จำเป็นต้องมองปัญหานั้นในหลายๆ แง่มุมที่สุด เพื่อนำไปสู่การคลี่คลายที่เร็วกว่า ฉันมีทีมที่ประกอบด้วยผู้คนแตกต่างหลากหลาย ได้ทำงานร่วมกับนักคณิตศาสตร์ นักฟิสิกส์ ซึ่งมีวิธีคิดที่ไม่เหมือนกัน และฉันได้เห็นแล้วว่ามันช่วยส่งเสริมการทำงานของเราในภาพรวม

“ฉันอยากให้มีนักวิทยาศาสตร์หญิงอาวุโสจำนวนมากกว่านี้ และก็หวังว่ากิจกรรมลักษณะนี้ของมูลนิธิลอรีอัลจะช่วยสนับสนุนพวกเขา และทำให้สังคมได้ตระหนักว่า เราจำเป็นต้องมีสมดุลทางเพศในกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพราะทีมที่มีสมดุลในด้านต่างๆ จะประสบความสำเร็จมากกว่า และถ้าหากว่าเราสามารถผลักดันให้ผู้หญิงอยู่ในวงการวิทยาศาสตร์และทำตามแพสชันของตัวเองต่อไปได้จริง เราก็อาจมีคนได้รับรางวัลโนเบลที่เป็นผู้หญิงมากขึ้นก็ได้”

Tags: , , , , , , , ,