“ประเทศ [สหราชอาณาจักร] ที่มีแรงงานหญิงเป็นคนรับใช้ในบ้านถึงสองล้านคนในปี 1900 กลับมีแพทย์หญิงเพียง 200 คนและสถาปนิกหญิง 2 คนเท่านั้น แต่สงครามโลกได้ปรับเปลี่ยนสมดุลนี้”

ดาวา โซเบล (Dava Sobel) นักเขียนด้านวิทยาศาสตร์ เขียนบทความรีวิวหนังสือลงในหนังสือพิมพ์ เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ วันที่ 17-18 มี.ค. 2018 พูดถึงหนังสือสองเล่มที่พาไปสำรวจหานักวิทยาศาสตร์ผู้หญิงในประวัติศาสตร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้มองภาพรวมจะมีจำนวนน้อยนิด แต่พวกเธอก็อยู่ตรงนั้นมาตลอด และไม่เคยด้อยความสำคัญ แต่ว่าจะได้รับการพูดถึงหรือไม่ …เป็นอีกเรื่อง

เธอเท้าความว่า ภาวะสงครามทำให้ผู้หญิงมีโอกาสก้าวหน้าทางอาชีพกับเขาบ้าง และในระหว่างช่วงเวลาสงครามนั้น ผู้หญิงชาวอังกฤษนับล้านคนได้เข้าไปทำหน้าที่ข้องเกี่ยวกับสารเคมี ทดสอบและสังเคราะห์ตัวยาใหม่ๆ พัฒนาชิ้นส่วนอากาศยาน ถอดรหัสอยู่ในกองทัพเรือ ฯลฯ กระนั้น เมื่อสงครามสิ้นสุด ที่ทางของพวกเธอก็ถูกทวงคืน

แม้การสิ้นสุดของสงครามจะทำให้ผู้หญิงจำนวนมากต้องกลับคืนสู่ ‘ที่ทาง’ ของพวกเธอที่สังคมกำหนดให้ อย่างไรก็ตาม โซเบลยืนยันว่า ‘วิทยาศาสตร์’ กับ ‘ผู้หญิง’ ไม่ใช่เรื่องผิดประหลาดหรือไม่เข้ากันอย่างที่ใครๆ มักจะขีดเส้นใต้

“หากเพียงพ่อแม่ ปัจจัยรอบตัว และบรรทัดฐานของสังคมในประเทศตอบโจทย์ความสนใจของพวกเธอด้วยการศึกษาและโอกาสที่เพียงพอ เด็กผู้หญิงเหล่านี้ก็สามารถมีห้องทดลองของตัวเองในสักวันได้”

เครื่องบินร่อนลงที่สนามบินชาร์ล เดอ โกล นำพาทีมงาน The Momentum และกลุ่มนักวิจัยไทย มาเยือนผืนดินฝรั่งเศส มุ่งตรงสู่ปารีส ซึ่งเป็นสถานที่จัดงาน For Women in Science (FWIS) ในโอกาสที่องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และมูลนิธิลอรีอัลร่วมกันสนับสนุนทุนวิจัยให้บรรดาผู้หญิงที่ทำงานในสายวิทยาศาสตร์มาเป็นเวลาครบรอบ 20 ปี

เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์

ภาพจาก L’Oréal Foundation | Jean-Charles Caslot

เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์

ภาพจาก © L’Oréal Foundation | Thierry Bouët

แต่เงินสนับสนุนงานวิจัยอย่างเดียวเพียงหรือไม่ต่อการสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์หญิงให้อยู่รอดและเติบโตในสายอาชีพ?

ดูเหมือนว่างานนี้จะมีจุดประสงค์สำคัญกว่านั้น คือการส่องไฟไปที่นักวิจัย ยืนยันกับสังคมโลกว่า ผู้หญิงมีตัวตนอยู่ในแวดวงนี้ไม่ต่างจากผู้ชาย และไม่ใช่อาชีพที่ถูกสงวนไว้ให้เพศใดเพศหนึ่ง

สิ่งที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ FWIS ที่ปารีส คือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ว่า มีผู้หญิงไม่น้อยอยู่ตรงนี้และทำหน้าที่ ‘ค้น’ ‘พบ’ และ ‘ทดลอง’ อยู่อย่างสง่างาม โดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับเพศคู่ตรงข้ามแต่อย่างใด

 

รางวัลระดับนานาชาติ ประตูแห่งโอกาสของนักวิจัยหญิง

ไม่เพียงแต่โครงการนี้จะให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยของผู้หญิงที่อยู่ในสายอาชีพวิทยาศาสตร์ที่โดดเด่นใน 117 ประเทศ ความพิเศษคือในแต่ละปี โครงการ FWIS จะประกาศรางวัลสำคัญระดับนานาชาติสองรางวัล ซึ่งได้แก่ Laureates ซึ่งหมายถึงรายชื่อนักวิจัยที่ได้รับเลือกจาก 5 ภูมิภาคในโลก (และรายชื่อเหล่านี้มักจะเป็นดาวเด่นที่มีโอกาสสูงที่จะได้รับรางวัลโนเบลต่อไป) และรางวัล Rising Talents นักวิจัยรุ่นใหม่ที่ผลงานน่าจับตามองจำนวน 15 คน เฟ้นหาจากคณะกรรมการทั่วโลกเพื่อส่งชื่อเข้ามาคัดเลือกอีกชั้นหนึ่ง

เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์

ภาพจาก L’Oréal Foundation | Jean-Charles Caslot

เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์

ภาพจาก L’Oréal Foundation | Jean-Charles Caslot

การมารวมตัวของพวกเธอที่ประเทศฝรั่งเศสในสัปดาห์สตรีในงานวิทยาศาสตร์ระดับโลกนี้ เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ได้ทำความรู้จัก สร้างเครือข่าย และอบรมด้านการจัดการและการสื่อสาร ซึ่งสำหรับนักวิทยาศาสตร์อาจขาดทักษะสำคัญอย่างการ ‘สื่อสาร’ กับโลกและสังคม ที่ต้องถ่ายทอดให้คนนอกวงการรู้ว่าพวกเธอทำอะไรอยู่และมันสำคัญกับโลกใบนี้อย่างไร

เพราะความรับรู้และความเข้าใจของสังคมสำคัญมากในสายอาชีพ ทั้งในแง่การพัฒนาต่อยอดงาน การหาเงินทุนสนับสนุนงานวิจัย ฯลฯ อีกทั้งในหลายครั้ง โอกาสก็เป็นสิ่งที่ต้องออกไปไขว่คว้า มากกว่าจะรอคนมาค้นพบ

 

FWIS Talk บอกเล่าความสำเร็จจากแล็บวิจัย

ผลลัพธ์จากการฝึกฝนและอบรมด้านการสื่อสาร แสดงออกมาในงานประชุมทางวิทยาศาสตร์ ‘For Women In Science scientific conference’ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 61 ที่ Hotel Salomon de Rothschild กรุงปารีส รูปแบบรายการเป็นการทอล์กสั้นๆ โดยเหล่า Loreates และตัวแทน Rising Talent ออกมาพูดคนละประมาณ 10-15 นาที เพื่อสรุปสิ่งที่ตัวเองค้นพบ

เนื้อหาแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกประกอบไปด้วยหัวข้อ ‘มีชีวิตรอดในยุคแอนโทรโปซีน’ สำรวจยุคทางธรณีวิทยาแอนโทรโปซีนที่กิจกรรมของมนุษย์ส่งผลต่อใหญ่หลวงความเปลี่ยนแปลงของโลก

หัวข้อ ‘หล่อเลี้ยงโลกด้วยอาหาร’ พูดถึงความท้าทายในภารกิจผลิตอาหารให้พอต่อความต้องการของประชากรโลกในอนาคต เช่น การศึกษาองค์ประกอบภายในของพืชอย่างความทนทานต่อโรคและแมลง การเอาตัวรอดด้วยการกำหนดฤดูกาลออกดอก ฯลฯ

หัวข้อสุดท้ายในส่วนนี้ คือ ‘คำถามทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ๆ’ เป็นการสนทนากลุ่ม ที่ได้นักวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์และคอวนตัมคอมพิวเตอร์อย่าง ดร.มิเชล ซิมมอนส์ (Michelle Simmons) ลอรีเอท ปี 2017 จากภูมิภาคเอเชียแปซิปิกมาร่วมสนทนา

เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์

ภาพจาก L’Oréal Foundation | Jean-Charles Caslot

เมื่อมองอดีตและเตรียมรับมือแล้ว หัวข้อต่อไปคืออยู่อย่างไรให้แข็งแรง ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับเรื่องยีน สุขภาพ และการกิน และหัวข้อสุดท้ายคือการมองไปในอนาคต ดูความก้าวหน้าในการสำรวจจักรวาล หลุมดำ และดาวเคราะห์อื่นที่อาจเป็นโลกอีกใบ

ความหลากหลายของหัวข้อวิจัยที่ปรากฏบนเวที แม้จะมากและอัดแน่นไปเสียหน่อยสำหรับครึ่งวัน แต่ก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ผู้หญิงในสายอาชีพวิทยาศาสตร์ฝังตัวอยู่ในหลากหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นธรณีวิทยา การแพทย์ ชีววิทยา เคมี ดาราศาสตร์ จักรวาลวิทยา วิศวกรรมศาสตร์ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ซึ่งล้วนส่งผลสำคัญต่อโลกในวันข้างหน้า สะท้อนออกมาในคำพูดของศาสตราจารย์ Janet Rossant ลอรีเอทจากภูมิภาคอเมริกาเหนือ ประจำปี 2018 นักชีววิทยาผู้ค้นพบบทบาทที่ยีนมีต่อการพัฒนาของเอ็มบริโอ ซึ่งเข้าไปกำหนดการแบ่งตัวออกเป็นเซลล์ส่วนต่างๆ

“การค้นพบนี้จะนำไปสู่ความเห็นแย้งมากมาย และการสนทนากันก็เป็นเรื่องที่จำเป็น หากคุณสามารถนำองค์ความรู้นี้ไปใช้ป้องกันโรคภัยที่เกิดจากพันธุกรรม แล้วทำไมจะไม่ทำ เหตุผลของการ ‘ไม่ทำ’ นี้นี่แหละเป็นเรื่องที่เราต้องคิดถึงมันให้มากๆ เพื่อมาหาเส้นแบ่งระหว่าง ‘การป้องกันโรคร้ายแรง’ กับ ‘การปรับปรุงยีน’ และเส้นแบ่งอื่นๆ

“และนี่คือหนึ่งในหัวข้อที่สำคัญ คือประเด็นอันน่าตื่นเต้นที่เราได้ทำกันในแวดวงวิทยาศาสตร์ มีเครื่องมือและหนทางใหม่ๆ มากมายซึ่งเราค้นพบ ที่จะนำไปสู่ผลกระทบต่างๆ ต่อสังคมมนุษย์ ทว่า เรากลับพบว่ายังมีผู้หญิงอยู่จำนวนน้อยมากในสายงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี น้อยกว่าที่ควรจะเป็น และยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงการศึกษาของเด็กหญิงและผู้หญิงในบางพื้นที่ ยิ่งหาได้ยากขึ้นอีกเมื่อพูดถึงการศึกษาสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งสำคัญมาก เพราะมันหมายถึงการได้เข้าไปสู่สายอาชีพ เราจำเป็นต้องทำลายอุปสรรคเหล่านี้ เพราะพวกเธอคือบุคคลที่จะสามารถทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงโลกต่อไป”

 

สองนักวิจัยหญิงไทยในงาน FWIS

ในงานครบรอบ 20 ปีของ FWIS ครั้งนี้ มีนักวิจัยหญิงไทยสองคนที่เป็นแนวหน้าในวงการวิทยาศาสตร์ อย่าง ศ. ดร.พิมพ์ใจ ใจเย็น แห่งสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และ ดร. อัญชลี มโนนุกุล แห่งศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) ซึ่งทั้งสองเป็นผู้ที่เคยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก FWIS และได้รับรางวัลนักวิจัยสตรีดีเด่น 2560 (Crystal Award) ในโอกาสครบรอบ 15 ปีของโครงการ FWIS ในประเทศไทย

สำหรับที่ทางของนักวิจัยไทยในเวที FWIS ระดับโลก เรายังไม่เคยมีตัวแทนที่ได้ก้าวไปรับรางวัล Laureate หรือ Rising Talent ซึ่งเป็นรางวัลระดับนานาชาติ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อมในทัศนะของ ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ หนึ่งในคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ FWIS ประเทศไทย ผู้ได้เข้าร่วมชมงานครั้งนี้ด้วย เนื่องจากพบว่าเมื่อเปรียบเทียบผลงาน Rising Talent เหล่านี้แล้ว งานของนักวิจัยไทยรุ่นใหม่ๆ ก็มีโอกาสเข้าตาคณะกรรมการระดับโลกได้เช่นกัน หากมีใบสมัครให้มาคัดเลือกอย่างเพียงพอ

 

วิทยาศาสตร์ต้องการผู้หญิง

“The world needs science, and science needs women” คือข้อความที่เราได้รับการเน้นย้ำตลอดสัปดาห์ FWIS

แต่ภารกิจนั้นอีกยาวไกล เมื่อมองผ่านตัวเลข

“ขณะที่จำนวนผู้หญิงในสายอาชีพและการวิจัยทางวิทยาศาสตร์นั้นเพิ่มขึ้น 12% เมื่อเทียบกับปี 1998 แต่มันไม่ได้นำไปสู่การเป็นสายอาชีพที่ยาวนานหรืองอกงามของพวกเธอ” ฌอง ปอล อากอง (Jean-Paul Agon) ประธานมูลนิธิลอรีอัลกล่าวปาฐกถาเปิดงานในพิธีมอบรางวัล ‘20th L’Oréal-UNESCO For Women in Science Awards Ceremony’ ที่ยูเนสโก เฮาส์ ซึ่งเป็นงานส่งท้ายของสัปดาห์สตรีในงานวิทยาศาสตร์

“ทุกวันนี้มีนักวิจัยเพียง 28 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นผู้หญิง และมีเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ในรายชื่อผู้ที่ได้รางวัลโนเบล สาขาวิทยาศาสตร์”

เขากล่าวต่อว่า “แต่การส่งเสริมนักวิทยาศาสตร์หญิงไม่ได้เป็นเพียงภารกิจของผู้หญิงที่ร่วมอุดมการณ์เดียวกันหรือองค์กรหัวก้าวหน้าเท่านั้น แต่เป็นประโยชน์ร่วมกันของทุกคน เพื่อที่เราจะสามารถสร้างโลกที่ทุกคนมีส่วนร่วมและยั่งยืนสำหรับคนทุกคน และผู้หญิงและผู้ชายต่างมีบทบาทในเรื่องนี้” ซึ่งนั่นร่วมถึงผู้ชายที่กำลังรับบทบาทผู้นำในองค์กรทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในปัจจุบันที่จะช่วยสลาย ‘เพดานแก้ว’ ที่คอยปิดกั้นโอกาสก้าวหน้าของเพศหญิงในสายอาชีพ

เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์

 

ว่าแต่ ทำไมวิทยาศาสตร์จึงต้องการผู้หญิง

ออเดรย์ อาซูเลย์ (Audrey Azoulay) ผู้อำนวยการยูเนสโก กล่าวว่า ในอดีต อคติทางเพศทำให้การวิจัยหลายๆ ประเด็น พุ่งความสนใจไปที่ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เช่นการทดลองยาหรือการรักษาใหม่ๆ ทำให้ผลลัพธ์จากการวิจัยไม่ได้ให้ผลที่ดีกับผู้หญิงอย่างเท่าเทียมกัน

เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์

ภาพจาก L’Oréal Foundation | Jean-Charles Caslot

“คำกล่าวนี้ยิ่งจริงกว่าครั้งใด เมื่อโลกเรากำลังเปลี่ยนแปลงไปในอัตราที่รวดเร็ว การค้นพบทางวิทยาศาสตร์จะต้องได้รับการรักษาและสนับสนุนในทุกๆ แขนง แต่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ จะต้องมีการผลักดันผู้หญิงให้ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ในเส้นทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้ด้วยอย่างทัดเทียม ช่วยแก้ปัญหาและความท้าทายต่างๆ ที่มนุษยชาติเผชิญอยู่ เพื่อให้ได้งานวิจัยที่ดีที่สุด รับประกันผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้หญิงและผู้ชาย”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพูดถึงปัญญาประดิษฐ์ที่จะส่งผลสะเทือนสังคมในระดับรากฐาน ทุกเพศก็ควรจะเป็นผู้ร่วมกำหนดและร่างโปรแกรมที่จะ ‘เรียนรู้’ ด้วยตัวเองต่อไป เพื่อทำให้อคติทางเพศเจือปนอยู่น้อยที่สุด

เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์

ภาพจาก L’Oréal Foundation | Jean-Charles Caslot

สิ่งที่เหล่านักวิทยาศาสตร์หญิงเหล่านี้ถ่ายทอดออกมา ผ่านทั้งคำพูดและผลงานของพวกเธอ ทำให้เราคิดได้ว่า เมื่อจะพูดถึงผู้หญิงในวิทยาศาสตร์ คงไม่ควรพูดว่า ‘เธอก็ทำได้เหมือนกัน’ ในลักษณะของการดิ้นรนทะยานอยากเป็นในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เป็น และฝืนธรรมชาติ

เพราะความจริงผู้หญิงอยู่ตรงนั้นมาตลอด ทำงานที่ตัวเองรักอยู่ในสักมุมหนึ่งที่เรามองไม่เห็น และเป็นเรื่องน่าเสียดายหากอคติทางเพศจะมากระชากโอกาสที่เธอควรได้รับออกไป หรือไม่ได้รับเครดิตเท่าที่ควร

อาซูเลย์กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์หญิงที่ได้รับรางวัลเหล่านี้ไม่เพียงเปลี่ยนโลกด้วยสิ่งที่ตัวเองได้ค้นพบ แต่ยังเปลี่ยนโลกในแง่ของการเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นต่อไป และเราก็เห็นว่าเป็นเช่นนั้น จึงอยากส่งต่อเรื่องราวเหล่านี้ออกไปให้กว้างที่สุด

เพื่อที่ในวันพรุ่งนี้ หากมีเด็กผู้หญิงสักคนพูดว่า “ฉันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์” ความฝันนั้นจะไม่ถูกเป่าให้ดับด้วยคำตอบจากลมปากที่ว่า “นั่นไม่ใช่อาชีพสำหรับพวกเธอ”

ภาพจาก L’Oréal Foundation | Jean-Charles Caslot

Tags: , , , , , ,