ผู้ใหญ่สมัยก่อนมักกล่าวโทษสิ่งที่เรียกว่า ‘เกม’ อยู่เสมอ บ้างก็ว่าเกมมอมเมาอนาคตของชาติ บ้างก็ว่ามันเป็นกิจกรรมที่หาสาระไม่ได้ ตลอดจนหลายครั้งที่เกมตกเป็นจำเลยของสังคมว่ามีส่วนสร้างความรุนแรง เช่นในปี 2560 คดีที่ วัยรุ่นอายุ 20 ปีก่อเหตุนำอาวุธปืน AK-47 ไปกราดยิงที่ตลาดไทและแทงคอคนขับรถแท็กซี่ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย โดยอ้างว่าเลียนแบบเกมเคาน์เตอร์ สไตรก์ (Counter-Strike) และสเปเชียล ฟอร์ซ (Special force)
หรืออีกเหตุการณ์ความรุนแรงสะเทือนขวัญเมื่อปี 2551 ที่มีวัยรุ่นฆ่าชิงทรัพย์คนขับรถแท็กซี่ โดยอ้างว่าเลียนแบบพฤติกรรมมาจากเกม GTA (Grand Thef Auto) ทำให้ภาพลักษณ์ของเกมมักออกมาแง่ลบ
อย่างไรก็ตามการพัฒนาของเกมก็มาพร้อมโอกาสและอาชีพใหม่ๆ และยังเปิดโอกาสในการใช้ชีวิตและเลี้ยงดูครอบครัวให้กับผู้ชายคนหนึ่งได้ทำในสิ่งที่เขารักและสามารถดูแลครอบครัวตัวเองได้ เขาคือ แบงก์ – กิติภัทร กาญจนาพิพัชร์ นักพากย์เกม DOTA หรือชื่อที่รู้จักกันในวงการ Cyberclasher
นักพากย์เกมคืออะไร
นักพากย์เกมก็คือผู้บรรยายเกม เป็นผู้ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเกมในส่วนลึกลงไป อาทิ ให้คำบรรยายเกี่ยวกับผู้เข้าแข่งขัน ตัวเกม ความเป็นไปของเกม หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ โดยจะสอดแทรกอารมณ์และทักษะของผู้บรรยายลงไปให้มันสนุกยิ่งขึ้น นักพากย์เกมเป็นคนที่เล่นและมีความรักในเกมจริงๆ
แนวทางการพากย์ของ Cyberclasher เป็นแนว Play by Play หรือพากย์ตามสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องเติมความสนุกลงไปในการพากย์ ถ้าเป็นการเล่าถึงเกม อาจจะเช่น นาย A ปะทะกับนาย B นาย A ก็แค่ไปชกนาย B แต่การพากย์ให้สนุกในสไตล์ของCyberclasherก็อาจจะเป็นบอกว่า “นาย A เข้าไปแล้วนะครับ นาย A ตอนนี้กำลังเปิดหมัดง้างขึ้นไป สอยไปที่นาย B ล้มพับกันไปเลย” จะใช้การขยายประโยคและคำ มีการคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ฟังเกิดความสนุกสนาน คนเล่นเกมฟังแล้วแล้วสนุก และคนที่ไม่ได้เล่นเกมฟังก็เข้าใจ
รายได้ของนักพากย์มาจากอะไร
การหาเงินของนักพากย์มีอยู่สองช่องทางหลักๆ หนึ่งคือไปพากย์ตามงานอีเวนท์ได้รับการว่าจ้าง สองคือได้รับเงินจากแพลตฟอร์ม หรือช่องที่สร้างขึ้นมาเอง โดยทำคอนเทน มีผู้ติดตาม มีการส่งกิ๊ฟ และได้รับเงินจากช่องสื่อที่ตนเองใช้อย่างเช่น Twitch (ทวิตช์) หรือ Facebook gaming (เฟซบุ๊ค เกมมิ่ง)
แสดงว่ารายได้นักพากย์ไม่แน่นอนเหมือนพนักงานทั่วไปที่มีรายได้รายเดือนเท่ากันทุกเดือนอย่างนั้นหรือ
สตรีมเมอร์กับนักพากย์จะมีรายได้ที่แน่นอนอยู่แล้วของแพลตฟอร์มที่ซับพอร์ตที่ไปทำเป็นพาร์ตเนอร์ด้วยกันไว้ แต่ก็จะมีความคล้ายๆ อาชีพเซลล์แมนที่แต่ละคนอาจจะตกลงกับทางแพลต์ฟอร์มไว้ว่า จะต้องให้ได้ถึงยอดเท่าไรเป็นค่าคอมมิชชั่น
ความสุขที่ได้จากการพากย์เกมคืออะไร
การที่คนดูเกมแล้วเขามีความรู้สึกสนุกกับเกมเหมือนที่ตัวผู้พากย์สนุก การที่คนที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกันมานั่งรวมกัน ฟังสิ่งที่ถูกสื่อสารออกไปด้วยเสียงเดียวและทุกคนสนุก มีการตอบสนองจากสิ่งที่พากย์ออกไป มันก็ให้ความสุขเล็กๆ กับตัวผู้พากย์แล้ว ถึงแม้ว่าจะอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่ผู้พากย์ก็ต้องจินตนาการเสมอเหมือนว่ามีคนมานั่งอยู่ในห้องเดียวกัน และก็ต้องพยายามทำให้ผู้ชมรู้สึกสนุก
แบงก์ยังได้เสริมเกี่ยวกับความสุขที่เขาได้รับจากการสร้างความสุขให้คนอื่นไว้อีกว่า
“วันนี้บางคนอาจจะเลิกงานมาเหนื่อยๆล้าๆเปิดเพลงเปิดวิทยุฟังแต่วันหนึ่งเข้าเปิดฟังเสียงเราบนรถ เขาขับรถไปรถติดอยู่มันสนุกดี หรือว่ากลับบ้านมาเหนื่อยๆขอดูสักเกมสองเกมก่อนนอนละกัน มันก็ดีไปอีกแบบ หรือว่าคนมาดูย้อนหลัง ก็เป็นสื่อที่ว่าคล้ายเครียดแล้วก็ชอบในตัวของเกมส์นี้อยู่แล้ว เวลาเค้ามาดูมาอะไรมันก็เป็นความสุขเล็กๆที่เราทำความสุขให้กับคนอื่นได้ผ่อนคลายได้เป็นสื่อบันเทิงจุดหนึ่งในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์คครับ”
งานพากย์เกมนี่ต้องทำการบ้านก่อนทำงานอย่างไรบ้าง
เนื่องจากแบงกค์เป็นคนที่คลุกคลีอยู่ในวงการเกมและมีความคุ้นชินกับตัวเกมอยู่แล้ว แต่ก็จะใช้วิธีดูเพิ่ม หรือถาม-ตอบกับคนดูผ่านทางเพจ ซึ่งก็ช่วยให้ได้ข้อมูลมาส่วนหนึ่ง ในส่วนของการแข่งขัน แบงก็จะใช้ความคุ้นชินจากประสบการณ์ที่เคยพากย์ฟุตบอล ทำให้พอรู้ว่า ผู้เล่นคนนี้มีสไตล์แบบไหน และนำมาปรับใช้กับเกมการแข่งขันที่เกิดขึ้นตรงหน้า หากผู้เล่นปรับเปลี่ยนวิธีการเล่น ก็จะรู้ได้อย่างรวดเร็วเนื่องจากมีประสบการณ์ทำงานตรงนี้มาเป็นเวลานาน และที่สำคัญคือ ผู้พากย์ต้องทำให้เต็มที่ที่สุดในแต่ละเกมการแข่งขัน
เวลาพูดถึงเกมกีฬา คนจะให้ความสนใจไปที่ตัวนักกีฬาเป็นส่วนใหญ่ แม้มีหลายตำแหน่งที่อยู่เบื้องหลังหรือไม่เป็นที่รู้จักของสังคม คิดว่านักพากย์ก็เป็นหนึ่งในจุดที่ถูกมองข้ามความสำคัญไปหรือไม่
มันเป็นสิ่งที่นักพากย์ส่วนใหญ่รู้อยู่แล้วว่าผู้ชมจะไม่ได้สนใจผู้พากย์เป็นหลัก เราต้องทำใจระดับหนึ่งนะ ว่าเราใช้แอร์ไทม์ให้คนดูมาติดเราดีกว่า ใส่สไตล์ ใส่ความเต็มที่ ใส่ความสนุก แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเอาตัวเองไปกลืนกับคอนเทนต์นั้นๆ
เราต้องทำอะไรให้มันสนุก อย่างที่บอกว่าผมมีน้าหังเป็นไอดอล ก็คือเขาพากย์สนุกมากเลยใน play by play แต่ละเกม เราทำตรงนั้นให้สนุก คนจะมาตามหาเราเอง ว่าพี่คนนี้เป็นใคร นักพากย์คนนี้พากย์สนุกจัง วิเคราะห์ดีจัง พูดรื่นหูดี เสียงโอเคดี ขอติดตามคนนี้ใน match ต่อไป
หลังจากอยู่ในวงการนี้มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง คิดว่าภาครัฐและเอกชนควรเข้ามาสนับสนุนเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างมูลค่าทางการตลาดของธุรกิจเกมไหม
เอกชนถือว่ามีอยู่พอสมควรแล้ว เช่นสปอนเซอร์ด้านไอทีหรืออุปกรณ์เกมโดยเฉพาะ แต่ในช่วงหลังๆ ก็เริ่มมีลูกค้าด้านอื่นๆ เข้ามา เช่น ธนาคารหรือของกิน ส่วนเรื่องภาครัฐนั้น ต้องให้เวลา ตอนนี้มองว่ามีการเริ่มต้นที่ดี อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าปัญหาเกี่ยวกับเด็กติดเกมยังเป็นพื้นที่สีเทาแก่บุคคลภายนอก และต้องใช้เวลาปรับความเข้าใจ คิดว่าต้องรอให้นักกีฬาอีสปอร์ตออกไปสร้างชื่อเสียงให้ได้เสียก่อน ต่อจากนั้นเกมจะเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นและมีคนมากขึ้นที่เห็นประโยชน์ที่เกมสามารถสร้างได้
เรื่องที่ดีคือ ซีเกมส์ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ที่ฟิลิปปินส์ และมีอีสปอร์ตอีกประมาณ 4-5 เกม ผมไม่แน่ใจว่ามีเกมส์อะไรบ้างแต่มีDOTA2 มี Taken มี ROV ที่เกิดขึ้น ผมคิดว่ามันเป็นก้าวแรกที่ดี”-แบงก์ได้กล่าวปิดท้าย
แล้วกับภาครัฐ Cyberclasher อยากจะทำอะไร
อยากจะเปลี่ยนวิธีคิดของคนในสังคม ว่ามันมีอะไรต้องทำมากกว่าแค่เล่นเกมไปวันๆ มีการจัดตั้งเป็นทีมหรือเป็นสโมสรอย่างเช่นฟุตบอล มีการตั้งพื้นฐานให้เหมือนทีมใหญ่ๆ เช่น มีผู้จัดการทีม มีโค้ช และหากสโมสรขนาดเล็ก ไม่มีเงินทุน ทางภาครัฐก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือตรงนี้ได้
อีกหนึ่งไอเดียก็คือ สร้างหมู่บ้านนักกีฬาอีสปอร์ต หรือ โรงเรียนที่เกี่ยวกับกีฬาอีสปอร์ต จัดการเรียนการสอนในวิชาสามัญทั่วไป แต่ก็มีเวลาในการฝึกซ้อมอีสปอร์ตด้วย
ผมคิดว่าตรงนี้น่าจะตอบโจทย์กว่าที่จะไปไล่ปรับความเข้าใจกับทางด้านเด็กติดเกมส์อย่างเดียว อันนี้เด็กติดเกมส์การปรับความเข้าใจกับคนทั่วไปผมว่ามันก็ไม่ได้ผิดนะครับแต่ว่าอยากทำในทุกๆส่วนให้มันผลักดันไปพร้อมๆกันมากกว่าที่จะมาเดินช้าๆ
มีอะไรอยากจะบอกเด็กรุ่นใหม่ที่หรือคนที่ไม่รู้จักอาชีพนักพากย์
สำหรับน้องๆ ที่จะมาเป็นอาชีพนักพากย์หรือว่าใครก็ตามที่อยากผันตัวมาทำตรงนี้ อยากให้ลองฝึกการพากย์ส่วนตัวไปเรื่อยๆ ก่อน กำหนดว่าเราชอบแบบไหน ชอบวิเคราะห์เกมหรือเปล่า ชอบทำให้เกมมันสนุกหรือเปล่า ชอบเอนเตอร์เทนคนดูหรือเปล่าซึ่งมันก็มีการพากย์หลายสาย เราก็หาจุดนั้นของตัวเราเองให้เจอ แล้วเราลองไปพากย์ให้คนใกล้ตัวดู แล้วพอพากย์จบทุกๆ แมชต์ แนะนำว่าให้ลองฟังคลิปตัวเองด้วยว่าเราพูดอะไรผิดไหม เราควรจะเสริมอะไรตรงนี้ไหม เราใช้คำเชื่อมซ้ำตรงนี้เกินไปหรือเปล่า
Tags: นักพากย์เกม, Dota2, E-sport, Cyberclasher, เกมสตรีมมิ่ง