เมื่อย้อนความทรงจำไปยังวิชาศิลปะตอนวัยเด็ก วัสดุชิ้นแรกๆ ที่เราคุ้นเคยกันดีคงหนีไม่พ้น ‘กระดาษ’ ที่สามารถหาได้ใกล้ตัว กระดาษไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่ขีดเขียนเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของรากฐานความคิดสร้างสรรค์มากมายหลากหลายชิ้น

Cracks 14, 2021 / Cracks 13, 2021 / Cracks 9, 2021

“วัสดุในวัยเด็กที่เคยถูกใช้ในชีวิตประจำวันอย่างกระดาษ คือวัสดุที่ทำงานได้ง่ายและเป็นธรรมชาติมากที่สุด ผมชอบความเสถียรภาพของมัน ในทางกลับกัน ผมก็สามารถพับและเปลี่ยนแปลงมันได้อย่างรวดเร็ว”ทาชิ บราวน์เอน (Tashi Brauen)

ทาชิ บราวน์เอน (Tashi Brauen) คือศิลปินชาวสวิส-ทิเบต ที่นำเอากระดาษการ์ดบอร์ดและนิตยสารศิลปวัฒนธรรมชื่อดังของประเทศสวิสเซอร์แลนด์อย่าง Du Magazine แต่งแต้มสีสันสร้างเท็กซ์เจอร์ด้วยเทคนิคเฉพาะตัว เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความตั้งใจและความบังเอิญที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยใช้เนื้อหาในชีวิตประจําวันของเขาในการสร้างบทสนทนาเพื่อทดสอบการตอบสนองของวัสดุเหล่านั้น ด้วยการปรับเปลี่ยนทีละเล็กน้อย มีการค้นคว้าคุณภาพทางกายภาพของพื้นผิวและโครงสร้างในวัสดุที่เลือกใช้ อาจเรียกได้ว่าวิธีการทํางานกับกระดาษของเขาเทียบเคียงได้กับการสร้างประติมากรรมเลยทีเดียว 

SAC Gallery และ Ronewa Art Projects ร่วมมือกับสถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ประจําประเทศไทย จัดนิทรรศการเดี่ยวที่รวบรวมผลงานล่าสุดของ ทาชิ บราวน์เอน นิทรรศการ Hold on to That Paper Again นิทรรศการที่รวบรวมผลงาน 2 ชุดคือ ‘Crack’ และ ‘Du’

ชุด ‘Crack’

ผลงานชุด Crack เกิดจากการลงสีอะคริลิกสีสันสดใส บนกระดาษการ์ดบอร์ดผืนใหญ่ แล้วสร้างเท็กซ์เจอร์ด้วยการพับและงอกระดาษ จนเกิดเป็นรอยแตกบนพื้นผิวของกระดาษที่เป็นเส้นแนวยาวที่ฉีดขาดทับซ้อนกันไปมา Crack โดดเด่นด้วยการเลือกใช้สีสดใส ทั้งการใช้สีเดียวทั้งภาพ และการเลือกคู่สีที่มีโทนใกล้เคียงกันอย่างสีโทนร้อนและสีโทนเย็น เช่น ส้ม-แดง เขียวนีออน-ฟ้า และชมพูบานเย็น-แดง 

หากพิจารณารอยแตกบนพื้นสีที่ต่างกันสามารถวิเคราะห์และตีความได้หลากหลายรูปแบบ ผลงานบางส่วนบนพื้นผิวสีน้ำเงินสดใสและสีน้ำเงินเข้ม  อาจดูเหมือนสายฟ้าที่พาดผ่านระหว่างสองสีลงไปยังกระดาษด้านล่าง ในขณะที่รอยพับบางส่วนอาจดูเหมือนเป็นการทําให้พื้นผิวที่เคยเรียบ บิดงอเป็นรอยนูนอย่างอ่อนโยน

ผลงานในชุด Crack ทั้ง 19 ชิ้นนี้ถูกตั้งชื่อโดยใช้คำว่า Crack แล้วตามด้วยลำดับผลงาน ปิดท้ายด้วยปีที่ทำการสร้างสรรค์ผลงานเหมือนกันทุกชิ้น

Green Field, 2020 Mixed media on paper

ชุด ‘Du’

ผลงานชุด ‘Du’ เกิดจากข้อจํากัดของสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปีที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ประกาศเข้าสู่สภาวะล็อกดาวน์ ทำให้ บราวน์เอนไม่สามารถออกไปซื้ออุปกรณ์และวัสดุในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้ เขาจึงหันมาสนใจวัสดุอุปกรณ์ใกล้ตัวที่มีอยู่แล้วในสตูดิโอมากขึ้น 

ช่วงต้นปี 2020 บราวน์เอนเริ่มทดลองกับวัสดุที่เขาพบเจอในสตูดิโอของตัวเองในซูริก โดยนำเอา Du Magazine นิตยสารศิลปวัฒนธรรมอันโด่งดังในประเทศสวิสเซอร์แลนด์และมีประวัติมายาวนานตั้งแต่ยุค 1940s นิตยสารที่เป็นความทรงจำอันสวยงามในวัยเด็กของบราวน์เอนที่เติบโตมาพร้อมกัน ทำให้เขาชื่นชอบและเริ่มเก็บสะสมนิตยสาร โดยคิดเสมอว่าสักวันหนึ่งจะนำเอานิตยสารเหล่านี้มาเป็นแรงบันดาลใจอะไรสักอย่าง

ด้วยช่วงเวลาที่ลงตัว ทำให้เขาตัดสินใจนําเอาหน้าของนิตยสารที่ตัวเองชื่นชอบนำกลับมาใช้ใหม่ ด้วยการทดลองพิมพ์สีอะคริลิกทับบนพื้นผิวหน้านิตยสาร โดยเน้นที่ความสมมาตรของรูปลักษณ์ทึบแสงซึ่งปิดบังข้อความและรูปภาพ จนเกิดเป็นความสัมพันธ์อันมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร

ในแง่หนึ่ง หน้ากระดาษเหล่านี้จึงเป็นทั้งวัตถุสําคัญทางวัฒนธรรม และยังเป็นพื้นผิวเพื่อการทํางานศิลปะไปพร้อมๆ กัน ด้วยเทคนิคการพิมพ์แบบดั้งเดิมและเรียบง่ายแบบนี้ ถือเป็นการหาความสมดุลระหว่างการควบคุมกับการปล่อยวาง เพื่อให้ ‘ความบังเอิญ’ ได้ทํางาน ด้วยการกําหนดกรอบของกระบวนการสร้างสรรค์และความคุ้นเคยกับวัสดุที่ใช้ แม้ว่ารูปแบบเท็กซ์เจอร์ที่ออกมาจะมีเอกลักษณ์พิเศษและไม่สามารถคาดเดาได้ก็ตาม


สามารถเข้าชมผลงาน ‘Hold on to That Paper Agian’ ได้ที่ SAC Gallery ห้องแสดงนิทรรศการชั้น 1 ตั้งแต่วันนี้จนถึง 22 พฤษภาคม 2564 และสามารถรับชมนิทรรศการผ่านช่องทางออนไลน์ ‘Ronewa online viewing room’ 

 

อ้างอิง

https://ronewa.com/blog/50

 

Fact Box

SAC Gallery 

ตั้งอยู่ที่: 160/3 ซอย สุขุมวิท 39 กรุงเทพมหานคร (BTS พร้อมพงษ์), มีที่จอดรถ

เวลาทำการ:  วันอังคาร-เสาร์ เวลา 10.00-18.00 น.

หยุดทุกวันอาทิตย์-วันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

ไม่มีค่าเข้าชม

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมทาง www.sac.gallery

Facebook: sacbangkok

โทร. 0-2662-0299, 0-2258-5580

Tags: , , ,