โดยทั่วไปหนังสือเรียน มักจะเป็นสิ่งพิมพ์ชิ้นแรกๆ ที่เราได้สัมผัสในวัยเด็ก และเป็นสิ่งพิมพ์ที่อยู่คู่กับวัยเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ว่าคุณจะร่ำรวยหรือยากจน หรืออาศัยอยู่ที่ไหนของโลก หนังสือเรียนจัดว่าเป็นสื่อการศึกษาที่สำคัญในการเรียนรู้ของเด็กๆ ทุกคนอย่างเลี่ยงไม่ได้
ทว่า ส่วนใหญ่หนังสือเรียนมักจะมีภาพจำว่าน่าเบื่อ ถ้าไม่ใช่เพื่อการเรียน คงไม่อยากหยิบขึ้นมาอ่านเท่าไร แต่ในไต้หวัน นักศึกษามหาวิทยาลัย 3 คน ได้พลิกโฉมหนังสือเรียนที่ดูเชย ไม่ทันกับยุคสมัย ให้กลายเป็นหนังสือสุดสร้างสรรค์ที่ช่วยให้เด็กสามารถเพลิดเพลินกับการอ่าน จนผลงานการออกแบบของพวกเขากวาดรางวัล The Golden Pin Design Award จากไต้หวันและรางวัล Red Dot Design Award จากประเทศเยอรมนีมาครองได้
เซนส์การรับรู้ด้านความงาม
เมื่อพูดถึงไต้หวัน คนส่วนใหญ่มักจะคิดถึงบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำอย่าง TSMC, Acer, ASUS และบริษัทอื่นๆ แต่ถ้าเป็นเรื่องการออกแบบล่ะ เราได้มีโอกาสรู้จักไต้หวันผ่านด้านนี้แค่ไหน
เฉิน มู่ เทียน(Chen Mu-Tian) จาง โบ เว่ย(Chang Bo-Wei) และหลิน ซง จุน (Lin Zong-Jun) นักศึกษา 3 คนจากมหาวิยาลัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในไต้หวัน ได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศทางยุโรป และเมื่อเดินทางกลับมาถึงไต้หวันเขาได้ตระหนักถึงความแตกต่างของการออกแบบที่วิจิตรประณีตของยุโรปกับบ้านเกิดของตัวเอง
รูปแบบการใช้ชีวิตของชาวไต้หวัน นอกจากคาบเรียนวิชาศิลปะหรือการประกวดแข่งขันวาดภาพของโรงเรียนแล้ว ชีวิตด้านอื่นๆ แทบจะหาความสัมพันธ์กับศิลปะไม่ได้ แถมคาบเรียนวิชาศิลปะเองก็ไม่ได้เป็นวิชาหลักในหลักสูตรการศึกษาเหมือนประเทศทางยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา แต่เด็กๆ ชาวไต้หวันกลับได้เติบโตขึ้นมาท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม เซ้นส์การรับรู้ด้านความงามจึงถูกพัฒนาขึ้นมาโดยธรรมชาติ
ยกหน้าที่ออกแบบหนังสือให้เรา เราจะสร้างพิพิธภัณฑ์แก่ให้เด็กๆ ผ่านทางหนังสือ
ในระยะเวลา 12 ปีของการศึกษาภาคบังคับของไต้หวัน นักเรียนไต้หวันใช้เวลาโดยประมาณ 12,760 ชั่วโมงในการเรียนรู้ผ่านหนังสือเรียน และการเข้าเรียนในห้องเรียน ดังนั้นไม่ว่าพื้นฐานที่อยู่ หรือฐานะทางบ้านจะแตกต่างกันอย่างไร หนังสือเรียนจะเป็นเป็นสื่อการเรียนแรกที่พวกเขาได้รับอย่างเป็นทางการ และแน่นอนว่ากลายเป็นหนังสือเล่มสำคัญที่จะอยู่กับพวกเขาต่อไปอีกหลายปีด้วย
ดังนั้น ในปี 2013 เฉิน มู่ เทียน ,จาง โบ เว่ย และหลิน ซง จุน จึงได้ก่อตั้งสมาคมความงามผ่านเซลล์ (美感細胞協會:Aestheticell Association) ขึ้นมา และออกโครงการส่งเสริมความสร้างสรรค์แก่หนังสือเรียนโดยมุ่งเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดีไซน์หนังสือเรียนในไต้หวัน ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการปฏิรูปวงการการศึกษาผ่านการออกแบบหนังสือเรียนของนักเรียนระดับประถมถึงมัธยมต้น
เนื่องจากหนังสือเรียนได้อยู่เคียงข้างทั้ง 3 คน มาตั้งแต่ยังอยู่ในฐานะนักเรียน จนก้าวมาสู้ชีวิตการแต่งงาน และต้องวางแผนเรื่องการเลี้ยงลูก พวกเขาจึงเริ่มตั้งคำถามในฐานะผู้ปกครองว่า “ลูกของเราจะอยากใช้หนังสือแบบไหนในอนาคต” สุดท้ายแล้วพวกเขากลับไปโฟกัสที่ตัวเด็ก โดยใช้หนังสือเรียนเป็นจุดผ่านในการสร้างความหลากหลายเกี่ยวกับมุมมองทางสุนทรียภาพ ทำให้เด็กๆ เข้าใจตัวเองและมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เพื่อเป็นสารอาหารหล่อเลี้ยงสำหรับกระบวนการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ
“การออกแบบคือศิลปะแห่งการจัดการ”
คำนี้กล่าวโดย แอรอน เนีย (Aaron Nieh) นักออกแบบชื่อดังชาวไต้หวัน และ สยาม อัตตะริยะ (Siam Attariya) นักออกแบบชาวไทย
สำหรับหนังสือเรียนของไทยนั้น จะถูกปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขการออกแบบหน้าปกให้เหมาะสมกับนักเรียนมากขึ้นทุกๆ 2-3 ปี โดยในปี 2018 บริษัท พิงค์ บลู แบล็ค แอนด์ ออเร้จน์ (Pink Blue Black Orange) จำกัด บริษัทชื่อดังด้านการออกแบบ ได้ทำความร่วมมือกับ สสวท. (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ในการออกแบบพัฒนาหนังสือแบบเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาที่ 1, ประถมศึกษาที่ 4 มัธยมต้นชั้นปีที่ 1 รวมถึงหนังสือเรียนของนักเรียนระดับมัธยมปลายชั้นปีที่ 1 ภายใต้แนวคิดว่าหนังสือเรียนจะเป็นเพื่อนที่เติบโตด้วยกันกับเด็กๆ ดังนั้น การออกแบบจึงถูกดีไซน์ให้มีสีสัน มีชีวิตชีวามากขึ้นเพื่อจะส่งเสริมให้นักเรียนรู้สึกสนใจในการเรียนรู้
สยามมองว่า ภายใต้ยุคแห่งการแข่งขัน หนังสือที่เนื้อหาดีและมีความสร้างสรรค์ในการออกแบบจะช่วยให้นักเรียนเลิก ‘กลัว’ หนังสือ และยังเพิ่มแรงจูงใจในการเรียนรู้ของนักเรียน เช่นเดียวกับแอรอนที่เสริมว่า ความหลากหลายของเทคนิคการออกแบบช่วยสร้างเสริมประสบการณ์การรับรู้ทางประสาทสัมผัสของเด็กๆ จนกลายเป็นพื้นฐานในมุมมองด้านความงามของพวกเขาในอนาคต
หลังโครงการประสบความสำเร็จในการร่วมมือกับนักออกแบบ 50 ชีวิต มากกว่า 3 รอบ สมาคมความงามผ่านเซลล์ (美感細胞協會) ได้ประสบความสำเร็จในการออกแบบหนังสือเรียนทั้งหมด 15 เล่ม โดยจัดพิมพ์และแจกจ่ายไปยังโรงเรียนต่างๆ ซึ่งหนังสือเรียนใหม่ถูกออกแบบขึ้นมาโดยวิธีที่แตกต่างกันไป ทั้งการจัดเรียงเนื้อหา การใช้ภาพประกอบแผนผัง ภาพวาดประกอบ เทคโนโลยีโลกเสมือน (AR Technology) และ การสอดแทรกกิจกรรมเกมส์เข้าไปในเนื้อหาของหนังสือที่ผลิตในโครงการนำร่อง
หนังสือเรียนวิชาพละศึกษา
หนังสือเรียนวิชา สปช. (สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต) ครอบคลุมถึงเนื้อหาการรับมือภัยธรรมชาติ เช่นไฟไหม้ แผ่นดินไหว
หนังสือเรียนวิชาวิทยาศาสตร์
หนังสือเรียนวิชาคณิตศาสตร์
หนังสือเรียนวิชาสังคมศึกษาและหน้าที่พลเมือง
ความสวยงามเป็นกุญแจสู่การปฏิรูปการศึกษา
โครงการปฏิรูปความสวยงามของหนังสือเรียน เป็นเหมือนโครงการต้นแบบนำร่อง เพิ่มความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบหนังสือเรียนในทุกพื้นที่ นอกเหนือการจัดการของรัฐบาลและสำนักพิมพ์
การจัดพิมพ์หนังสือเรียนของสำนักพิมพ์ในไต้หวันโดยส่วนใหญ่จะต้องจัดทำเนื้อหาหนังสือให้ตรงกับการกำหนดหลักสูตรใหม่จากรัฐบาลที่จะเปลี่ยนในทุกๆ 3-5 ปี รวมถึงรายละเอียดด้านการพิมพ์ เช่น การใช้กระดาษ การเลือกฟ้อนต์ ให้ตรงกับมาตรฐานที่ทางรัฐบาลกำหนด และในความเป็นจริงกระบวนการออกแบบมักจะอยู่ในขั้นตอนท้ายๆ ของการผลิตสิ่งพิมพ์ด้วยซ้ำ ทำให้ระยะเวลาการทำงานของนักออกแบบและการผลิตต้องรีบเร่ง นอกจากนี้หนังสือเรียนของไต้หวันยังต้องถูกควบคุมราคาโดยรัฐบาล ทำให้ทางสำนักพิมพ์ที่มีต้นทุนการผลิตจำกัดไม่สามารถพัฒนาการออกแบบหนังสือเรียนที่ดีขึ้นได้
แต่ทุกวันนี้ การปรับปรุงหนังสือภายใต้โครงการความงามผ่านเซลล์เป็นเหมือนการปลูกฝังเพื่อส่งต่อนักออกแบบที่มีพรสวรรค์ให้เข้าสู่วงการสิ่งพิมพ์ทางการศึกษา และยังเป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลหันกลับมาสนใจในความงามและสุนทรียภาพทางการศึกษา ตลอดจนบรรยากาศรอบๆ ของสถาบันศึกษา
ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการไต้หวันได้อนุมัติงบการออกแบบหนังสือเรียนใหม่อย่างเป็นทางการ และสถาบันวิจัยส่งเสริมการออกแบบแห่งไต้หวันก็สนับสนุนโครงการการเคลื่อนไหวทางการออกแบบในสถานศึกษา (Design movement on campus Project) เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางการศึกษาและห้องเรียน ทั้งยังมีการออกแบบหนังสือพิมพ์ The Anne Times ของเด็กนักเรียน ซึ่งทั้งสองโครงการต่างได้รับการรับรองรางวัล The Golden Pin Design Award ในไต้หวัน และ The Good Design Award จากญี่ปุ่น
Tags: การศึกษา, Culture Club, หนังสือเรียน, ไต้หวัน