Game-Fi หรือว่า NFT Game แอพพลิเคชันในรูปแบบของเกมที่ถูกสร้างขึ้นบนบล็อกเชน กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในชุมชนของชาวคริปโตเคอร์เรนซีในปัจจุบัน โดยมีความเชื่อมั่นว่า NFT Game ที่ถูกรันบนบล็อกเชนนั้น จะเป็นกิจกรรมหลักที่ช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของโลกเมตาเวิร์ส (Metaverse) โลกเสมือนจริงที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยฝีมือของมนุษย์ในยุคใหม่
แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกธุรกิจในโลกแห่งความจริงจะประสบความสำเร็จฉันใด ก็ไม่ใช่ทุก Game-Fi ในโลกบล็อกเชนที่จะทำได้ดีฉันนั้น เพราะท่ามกลางกระแสความนิยมของ Game-Fi ได้มีความเห็นโต้เถียงมาว่าระบบของ Game-Fi คือระบบของ ‘Ponzi Scheme’ หรือว่าแชร์ลูกโซ่ ที่นำเงินของผู้เล่นใหม่เข้ามาจ่ายให้แก่ผู้เล่นเก่า ใครเริ่มเล่นก่อนจะได้เปรียบกว่าคนที่มาที่หลังเสมอ และคนที่ลุกช้าจะต้อง ‘จ่ายรอบวง’ แล้ว Game-Fi เป็นแชร์ลูกโซ่จริงๆ ดังที่เขาว่าจริงๆ หรือ
โดยหลักการของ Game-Fi คือ ไอเทมภายในเกมเป็น NFT และเราสามารถได้รับเหรียญคริปโตฯ ซึ่งมีมูลค่าจริงจากการเล่นเกมดังกล่าวได้ แต่การที่จะเหมารวมว่า Game-Fi ทุกตัวนั้นเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ จุดที่ต้องสังเกตุคือ ‘Tokenomic’ ของเกม ว่ามีระบบเศรษฐกิจของการจัดการเหรียญเป็นอย่างไรบ้าง แล้วระบบแบบใดกันล่ะจึงจะเข้าข่าย Ponzi Scheme กันบ้าง โดยได้มีการพูดถึงโมเดล Play to Earn ของ Game-Fi ไว้อย่างน่าสนใจว่า ‘เป็นโมเดลธุรกิจที่ไม่มีรายได้จากภายนอกเข้ามา และอาศัยเงินของคนลงทุนใหม่มาจ่ายให้กับคนในระบบ’
แต่คำพูดดังกล่าวนั้นดูเหมือนว่ามีความจริงปะปนอยู่เพียงแค่บางส่วนเท่านั้น เพราะหากเราพูดถึงเกมในก่อนหน้าที่โลกเราจะมีโมเดล Play to Earn การจ่ายเงินเพื่อซื้อเกมหรือว่าเพื่อซื้อของในเกมนับว่าเป็น ‘รายได้’ ที่ทางผู้พัฒนาเกมหรือบริษัทจัดจำหน่ายเกมจะได้รับ ดังนั้นผลตอบแทนของการเล่นเกมคือประสบการณ์ที่ผู้เล่นได้รับระหว่างเล่นเกมนั่นเอง
แต่การเกิดขึ้นของ Game-Fi ได้เปลี่ยนผลตอบแทนตรงนี้ไป จากคำว่าจ่ายเพื่อประสบการณ์ กลายเป็นคำว่า ‘จ่ายเพื่อลงทุน’ แทน เพราะทรัพยากรในเกมดันมีมูลค่าขึ้นมาในโลกความเป็นจริงด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ทำให้มีความเชื่อว่า Game-Fi คือโมเดลของแชร์ลูกโซ่ เพราะผู้ที่ซื้อเหรียญของเกมที่เข้ามาทีหลังก็จะเป็นผู้ดันราคาของเหรียญขึ้นไปเรื่อยๆ ในขณะที่ผู้ที่มาก่อนก็จะได้รับผลตอบแทนที่มากกว่า คืนทุนเร็วกว่า ส่วนผู้ที่เข้ามาทีหลังก็ต้องรอคอยให้ผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาดันราคาของเหรียญเช่นเดียวกับที่เขาได้ทำมา
พอผู้เล่นใหม่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เหรียญที่ได้จากการ Earn ถูกเพิ่มเข้าสู่ระบบมากเกินไป จนทำให้เกิดเป็นภาวะเงินเฟ้อภายในเกม เมื่อมีผู้ขายเหรียญมากเกินกว่าผู้ซื้อ ราคาของเหรียญก็จะลดฮวบลงดังเคสที่เคยเกิดขึ้นกับเกมอย่าง CryptoBlades หรือ CryptoZoon เกมที่ได้รับความนิยมในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา แต่ก็คงพูดได้ไม่เต็มปากว่าเกมที่กล่าวมานั้นเป็นแชร์ลูกโซ่ แต่เป็นการออกแบบ Tokenomic ที่ผิดพลาดเสียมากกว่า
ยกตัวอย่างเกมที่มีการออกแบบ Tokenomic ของเกมที่ดี อย่าง Axie Infinity (เกมแนว Turn-based Fighting) ที่ระบบของเกมใช้เหรียญอยู่ 2 เหรียญ นั่นคือ AXS ซึ่งเป็น Governance Token ของเกม และ SLP ซึ่งเป็นเหรียญภายในเกมที่ใช้เพื่อทำกิจกรรมภายในเกมอย่างเช่นการผสมพันธ์ุตัวมอนสเตอร์ Axie ภายในเกม เพื่อให้ได้ มอนสเตอร์ที่เก่งขึ้นเพื่อไปใช้สู้กับคนอื่นได้ จึงทำให้การใช้งานเหรียญ SLP มีความต้องการอยู่เรื่อยๆ ขณะที่ราคาที่ขึ้นนั้นก็ไม่ใช่เฉพาะเงินของผู้เล่นใหม่ แต่ยังมีเงินของผู้เล่นเก่าแฝงอยู่ในนั้นด้วย
สิ่งที่น่าสนใจก็คือการสร้างโมเดล ‘Play to Earn’ ขึ้นมานั้น นักพัฒนาเกมได้มอบอำนาจในการ ‘ผลิตเงิน’ และผลตอบแทนที่ได้รับในช่วงที่ระบบเหรียญของเกมยังไม่เฟ้อในบางเกมมากเกินกว่ารายได้ขั้นต่ำของประเทศไทยเสียอีก ทำให้ผู้เล่นมองข้ามเรื่องความสนุก และทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะผลิตเงินจากเกมๆ นั้นออกมาให้ได้มากที่สุด จนทำให้บางเกมที่ออกแบบระบบของเกมไม่ดี กลายเป็นเกมที่ร้างไป เพราะผู้คนต่างออกไปหาเกมใหม่ๆ เนื่องจากผลตอบแทนที่ได้ไม่น่าดึงดูดเสียแล้ว
แต่ในขณะเดียวกัน หากเราเชื่อมั่นว่าในโลกของบล็อกเชนนั้นคือการแข่งขันในรูปแบบของ ‘ตลาดเสรี’ ราคาของเหรียญ Game-Fi ที่ลดลงก็อาจจะไม่ใช้การล่มสลายของเกมดังกล่าว แต่เป็นกลไกในการปรับตัวของราคาให้เข้าสู่มูลค่าที่แท้จริง ดังนั้น ก่อนที่จะซื้อเกมเราต้องศึกษาว่าเป็นเกมแนวที่เราชอบจริงๆ หรือเปล่าฉันใด การลงทุนใน Game-Fi ก็ต้องศึกษา Tokenomic ของเกมฉันนั้น เพื่อที่จะได้ไม่ต้องสูญเงินเป็นจำนวนมากไปกับการเล่นเกม
ภาพ: CryptoBlades
ที่มา:
– facebook.com/nuuneoicom/posts/428123245335625?_rdc=1&_rdr
– https://www.youtube.com/watch?v=tDXBKPAwK0w
– https://nuuneoi.com/blog/blog.php?read_id=995
.
Tags: TheMomentum, Axie, Ponzimodel, GameFi, PlayToEarn, Cryptonian