ความพยายามชะลอการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทำให้รัฐบาลไทยตัดสินใจออกมาตรการขั้นเด็ดขาด สั่งปิดสถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจร้านอาหารให้สั่งกลับบ้านเท่านั้น ก่อนประกาศสถาการณ์ฉุกเฉิน และบังคับใช้มาตรเคอร์ฟิว เมื่อวันที่ 2 เมษายน ห้ามประชาชนออกจากบ้านระหว่างเวลา 22.00 – 4.00 น. 

มาตรการเหล่านี้ มีผลเด็ดขาดชะงัด ยืนยันได้บ้างจากตัวเลขผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตที่ไม่ทะยานขึ้นสูง หากทว่าก็ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับระบบเศรษฐกิจ ผู้คนใช้สอยน้อยลง ผู้ประกอบการลดการผลิต ผลิตสินค้าน้อยลงก็ไม่ต้องใช้คนจำนวนมาก เกิดการพักงานหรือไล่ออก โรงงานลดการผลิตนานวันก็ต้องปิดตัวเช่นกัน เกินภาวะแรงงานเกินงานที่มี 

คนอีกกลุ่มหนึ่ง เคยเข็นรถขายอาหารตอนกลางคืน แต่เคอร์ฟิวทำให้ไม่มีกิจกรรมตอนกลางคืน ไม่มีผู้คนออกมา ก็ไม่รู้จะขายใคร รายได้หดหายต้องแคะกระปุกใช้เงินเก็บ ที่นับวันยิ่งร่อยหรอลง

ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลทั้งหมด แต่หน้าที่ช่วยเหลือเยียวยาควรเป็นของรัฐบาลทั้งหมด ซึ่งมาถึงจุดนี้ รัฐบาลได้ออกนโยบายเยียวยามาหลายมาตรการ และแบ่งประเภทผู้ได้รับผลกระทบออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรงงานในระบบ กลุ่มแรงงานนอกระบบ และกลุ่มแรงงานต่างด้าว

และจากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมชี้ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ว่า 

  • จำนวนผู้ประตนตามมาตรา 33 มี 11,692,429 คน
  • จำนวนผู้ประตนตามมาตรา 39  มี 1,653,714 คน 
  • จำนวนผู้ประตนตามมาตรา 40  มี 3,311,533 คน 

แรงงานในระบบ 

สำหรับผู้ประตนตามมาตรา 33 ที่มีจำนวน 11,730,351 คน หากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ รัฐมีมาตรการช่วยเหลือหลายด้าน คือ 

    • กรณีที่นายจ้างไม่ให้ทำงาน อาจด้วยเหตุสุดวิสัย อาทิ ความเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด-19 หรือเคยสัมผัสกับผู้ป่วยจนต้องต้องกักตัวตัวเอง 14 วัน แรงงานจะได้รับเงินช่วยเหลือร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน (จ่ายไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท) 
    • กรณีรัฐสั่งหยุด ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน แต่ไม่เกิน 90 วัน (จ่ายไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท)
    • กรณีลาออก ได้รับเงินทดแทน ร้อยละ 45 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน 
    • กรณีเลิกจ้าง ได้รับเงินทดแทน ร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน ทั้งนี้ มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 2 ปี หลังจากนั้นคณะกรรมการประกันสังคมจะพิจารณาอีกครั้ง 
    • กรณีเลิกจ้างและไม่ได้รับเงินตามกฎหมาย  ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์จากเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างผ่านกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง งบประมาณ 4,720 ล้านบาท ทั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะติดตามเงินดังกล่าวจากนายจ้างเพื่อส่งคืนเงินแก่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต่อไป
    • กรณีมีอาการป่วย สามารถเข้าไปตรวจรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิ หากป่วยเป็นโรคโควิด-19 จะได้รับการรักษาฟรี หากไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิได้ สามารถเข้ารักษาโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้หรือของรัฐตามระบบประกันสังคม และเบิกจ่ายกรณีฉุกเฉิน ภายใน 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ สำหรับผู้อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 39 และ 40 ก็จะได้รับการรักษาฟรีเช่นกันหากเป็นโรคโควิด-19
    • ลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมสำหรับนายจ้างและผู้ประกันตน ในส่วนของนายจ้างลดจากจ่ายร้อยละ 5 เป็นจ่ายร้อยละ 4 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนลดจากจ่ายร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 1 เป็นระยะเวลา 3 เดือน 
      • มีผลตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2563 โดยให้เลื่อนจ่ายเงินสมทบงวดเดือนมีนาคมภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2563 และ งวดเดือนพฤษภาคม 2563 ภายในวันที่ 15 กันยายน 2563
    • ยืดระยะเวลาการเสียภาษีบุคคลธรรมดา ออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563

แรงงานนอกระบบ 

สำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 33 หากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงาน ลูกจ้าง และผู้สมัครใจส่งประกันสังคมตามมาตรา 39 จำนวน 1,665,227 คน และมาตรา 40 จำนวน 3,343,470 คน รัฐมีมาตรการช่วยเหลือดังต่อไปนี้ 

    • เงินสนับสนุนคนละ 30,000 บาท โดยจะแบ่งจ่ายเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) ผู้จ่ายประกันสังคมตามมาตรา 33 ที่ยังส่งไม่ครบ 6 เดือน มีสิทธิรับเช่นกัน
    • สินเชื่อฉุกเฉินรายละ 10,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 ต่อเดือน ผ่อนชำระคืนภายใน 2 ปี 6 เดือน ไม่ต้องชำระเงินกู้ 6 งวดแรก มีข้อกำหนดคือต้อง อายุ 20 ปีขึ้นไป มีสัญชาติไทย เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้เดือนละไม่เกิน 30,000 บาท ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 เช่น พ่อค้าแม่ค้า คนขับรถโดยสาร มัคคุเทศก์ มีถิ่นที่อยู่อาศัยแน่นอน และสามารถติดต่อได้ เริ่มเปิดให้ขอ 15 เมษายน 2563
    • สินเชื่อพิเศษ รายละ 50,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการ ผู้มีอาชีพอิสระ และลูกจ้าง ที่เกี่ยวกับอุตสาหรกรรมการท่องเที่ยว และเคยมีรายได้ประจำ โดยต้องมีหลักประกันอาจเป็นบุคคลหรือสินทรัพย์ก็ได้ มีอัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ผ่อนชำระคืน 3 ปี ข้อกำหนดคือ ต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป มีสัญชาติไทย เคยมีรายได้ประจำแต่รายได้ลดลงหรือขาดรายได้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และภัยอื่นๆ มีถิ่นที่อยู่อาศัยแน่นอน และสามารถติดต่อได้
    • สำนักงานธนานุเคราะห์รับจำนำดอกเบี้ยต่ำ โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกิน 0.125% ต่อเดือน รวมเป็นวงเงินที่เตรียมสนับสนุน 2,000 ล้านบาท
    • ยืดระยะเวลาการเสียภาษีบุคคลธรรมดา ออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563
    • ลดอัตราเงินสมทบสำหรับผู้จ่ายประกันตนเอง ลดอัตราเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จากเดิมเดือนละ 432 บาท เหลือเดือนละ 86 บาท และขยายระเวลาจ่ายเงินออกไป 3 เดือน เช่นเดียวกับนายจ้างและลูกจ้างมาตรา 33 
    • การฝึกอบรม เพิ่มทักษะอาชีพ หรือจัดกิจกรรมเพื่อสังคมรวมถึงนักศึกษาที่ยังหางานไม่ได้ รวมถึงขยายฝึกอบรมผ่านภาคีเครือข่ายต่างๆ อาทิ ฝึกทักษะคอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ
    • จัดตั้งศูนย์ Part-Time ตอบสนองความต้องการของนายจ้าง เพื่อรักษาองค์กรให้อยู่ได้ และช่วยเหลือผู้ว่างงาน ให้ลูกจ้าง, ผู้ว่างงาน, นายจ้างที่อยากได้ลูกจ้าง มาลงทะเบียน
      • โครงการจ้างงานเร่งด่วน ค่าตอบแทน 300บาท/วัน จำนวน 7,740 ตำแหน่ง
      • ฝึกทักษะอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง 7,800 คน
      • โครงการเพิ่มอาชีพ เพิ่มรายได้จากกรมจัดหางาน
    • จ้างบัณฑิตที่ว่างงานเป็นผู้ประสานงานโครงการของกระทรวงแรงงาน หาผู้เรียบจบใหม่มาเป็นผู้ประสานงานประจำพื้นที่ 841 อำเภอ อำเภอละ 2 คน รวม 1,682 ตำแหน่ง

แรงงานต่างด้าว

    • แรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตหมดอายุในวันที่ 31 มีนาคม 2563 สามารถทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทยต่อไปได้ถึง 30 มิถุนายน 2563 ขยายอายุใบรับรองแพทย์ให้มีอายุ 90 วัน
    • ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา ลาว กัมพูชา ที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลง MOU แต่ระยะเวลาตามข้อตกลงสิ้นสุดลง สามารทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 
    •  แรงงานต่างชาติชาวเมียนมาและกัมพูชา ที่ถือบัตรผ่านแดนชั่วคราว สามารทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563

เสียงจากผู้ได้รับผลกระทบ

“เงิน 5,000 บาท ต้องให้ทุกคน (ที่ทำประกันสังคม) ไปเลย นี่เป็นเงินของเขา เป็นสิทธิของเขา” บุญยืน สุขใหม่ ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานภาคตะวันออกกล่าวกับเราผ่านการพูดคุยทางโทรศัพท์ ถึงแม้เขาจะยอมรับว่าเงินจำนวนดังกล่าวอาจไม่สามารถแบ่งเบาภาระต่างๆ ได้มากนัก แต่เมื่อตัดสินว่าจะให้แล้ว ต้องทั่วถึงและเท่าเทียม

บุญยืนเล่าต่อว่า การแพร่ระบาดทำให้กลุ่มแรงงานในพื้นที่ภาคตะวันออกนับพันคนถูกไล่ออกหรือพักงาน ทั้งจากบริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทไฮ-เทค โมลด์ แอนด์ พลาสติก (ไทยแลนด์) จำกัด หรือบริษัทเฮช-วัน พาร์ท ศรีราชา จำกัด

 นอกจากนี้ ยังต้องพบกับอุปสรรคในเรื่องค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาสูงขึ้น โดยเขากล่าวว่า ไข่มีราคาถึงฟองละ 6 บาท ข้าวราดแกง 50 บาท ไม่สามารถหาหน้ากากอนามัยได้ในพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรี และเขายังพบเจลล้างมือราคา 450 บาทในระบบออนไลน์ ที่ซ้ำร้ายยังเป็นของปลอมที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคไม่ได้  

เขาเรียกร้องให้ภาครัฐสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ว่า กลุ่มแรงงานจะต้องไม่ถูกทิ้งขว้าง หากโรงงานปิดตัว กลุ่มที่ตกงานต้องได้รับการดูแล และหากโรงงานกลับมาเปิดอีกครั้ง ภาครัฐต้องออกระเบียบใหม่สำหรับโรงงานทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเรื่องการแจกหน้ากากอนามัยก่อนเข้าทำงาน การตรวจวัดอุณหภูมิ หรือการทำความสะอาดครั้งใหญ่

REUTERS/Kham

ในอีกด้านหนึ่ง พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ยอมรับว่า มาตรการเยียวยาแรงงานนอกระบบของรัฐบาลตอบโจทย์ เพราะนอกจากช่วยเหลือค่าใช้จ่ายได้มาก และยังเป็นการสะท้อนว่ารัฐตระหนักถึงตัวตนของแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่รัฐจะเก็บข้อมูลและนำไปปรับปรุงแผนนโยบายในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เธอมองว่าระบบการลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ต อาจทำให้หลายคนตกหล่นไป โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านในชนบท หรือกลุ่มคนพิการ จึงเป็นไปได้ไหมที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาเก็บตกคนเหล่านี้ เพราะใกล้ชิดและมีข้อมูลมากกว่าส่วนกลาง

กลุ่มของเธอมองว่า การขยายระยะเวลาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเป็น 6 เดือน เป็นเรื่องดี แต่เป็นไปได้ไหมที่จะขยายเกณฑ์จำนวนผู้ได้รับเงินเยียวยาให้ครอบคลุมขึ้น เธอต้องการให้ภาครัฐวางแผนถึงมาตรการระยะยาวในด้านเศรษฐกิจ การจ้างและสร้างงาน รวมถึงโครงสร้างทั้งหมด และที่สำคัญรัฐต้องสนับสนุนให้เกิดการอุดหนุนสินค้าในประเทศ ยกตัวอย่าง การสร้างโควตางานให้ประชาชนเรียนตัดเสื้อ แล้วออกนโยบายต่อเนื่องให้ข้าราชการสวมเสื้อดังกล่าว เกิดเป็นวงจรเศรษฐกิจที่เข้มแข็งในประเทศ เพราะหลังจากนี้การส่งออก การท่องเที่ยว และเม็ดเงินต่างๆ ที่มาจากภายนอกจะลดลงอย่างต่อเนื่อง เธอทิ้งท้าย

ถูกต้อง-ตรงจุด-เพียงพอ หรือยัง

ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศมาตรการเคอร์ฟิวและออก พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติม ธนาคาแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของ GDP ในประเทศจะลดลงเป็นร้อยละ -5.3 จากคาดการณ์เดิมที่เติบโตร้อยละ 2.8 ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และภาคการส่งออกหดตัวร้อยละ -16.4 

นอกจากนี้ เจ.พี. มอร์แกน วาณิชธนกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ก็ประเมินว่า ในไตรมาสแรกเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะหดตัวลงร้อยละ 10 และหดต่อไปอีกร้อยละ 25 ในไตรมาสที่สองของปีนี้ และจะทำให้อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นถึงร้อยละ 2.5 สูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 

เป็นสัญญาณเตือนว่าวิกฤตครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกทั้งระบบ ไม่ใช่เพียงแค่ภูมิภาคหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง และสำหรับประเทศไทยอาจหนักหนากว่าครั้งปี 2540 (วิกฤตต้มยำกุ้ง)  และเรียกร้องมาตรการจากรัฐที่เข้มข้น รัดกุม และครอบคลุมอย่างรอบด้านมากกว่าเดิม 

REUTERS/Chalinee Thirasupa

ทั้งหมดทั้งมวล ชวนให้คิดต่อจากคำกล่าวของกรณ์ จาติกวนิช หัวหน้าพรรคกล้า ว่ามาตรการดังกล่าว “ถูกต้อง ตรงจุด และเพียงพอหรือยัง ? “

ประเด็นที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก นอกจากระบบการลงทะเบียนที่ล่มแล้วล่มอีกก็คือ การใช้อาชีพเป็นกรอบพิจารณาจ่ายเงิน โดย 10 อาชีพที่เข้าข่ายได้รับเงินเยียวยา อาทิ นักเรียน นักศึกษา, โปรแกรมเมอร์ ผู้ค้าขายออนไลน์ หรือกลุ่มรับจ้างก่อสร้าง ซึ่งคนเหล่านี้ก็ล้วนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม การใช้ ‘อาชีพ’ เป็นกรอบคัดกรอง จึงถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่าย 

ยังไม่รวมถึงประเด็นของผู้ที่ไม่ได้ หากพิจารณาว่าในปี  2562 สำนักงานสถิติแห่งชาติประเมินว่าประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบประมาณ 20.4 ล้านคน หากเปรียบเทียบจากผู้เข้าเกณฑ์ 9 ล้านคน จะพบว่าแล้วคนอีกกว่า 10 ล้านคน อยู่ในส่วนไหนของมาตรการการเยียวยา

REUTERS/Athit Perawongmetha 

รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยเสนอให้ภาครัฐจัดสรรเงินให้เปล่า ให้กับทุกครัวเรือนที่เดือดร้อน โดยมีกรอบว่าคนในครอบครัวต้องมีทรัพย์สินไม่เกิน 3 ล้านบาท เงินออมไม่เกิน 100,000 บาท หรือเงินเดือนเฉลี่ยไม่เกิน 15,000 บาท 

นอกจากนี้ ยังอาจมีผู้เข้าเกณฑ์แต่ตกหล่น ไม่ว่าด้วยการกรอกข้อมูลผิด หรือเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีก็ตาม รัฐบาลจะช่วยเหลือพวกเขาอย่างไร หรือจะมอบหมายให้ท้องถิ่นรับผิดชอบติดตามในส่วนนี้ โดยต้องไม่ล่าช้าเหมือนการคัดกรองและจ่ายเงินเยียวยาที่ผ่านมา เพื่อเรียกความเชื่อมั่นคืนจากประชาชนซึ่งสำคัญที่สุด 

แม้ว่ามาตรการเยียวยาแรงงานนอกระบบด้วยเงิน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน จะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี แต่ก็มีการมองอีกมุมหนึ่งว่า การมอบเงินเพื่อเยียวยาอาจช่วยเหลือกลุ่มแรงงานได้จริง แต่อาจไม่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจมากนัก พวกเขาอาจนำเงินไปจับจ่าย ซื้อของจำเป็น แต่มันยังไม่มากพอกระตุ้นให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการจ้างงาน 

ล่าสุด คณะกรรมการประชุมร่วมภาคเอกชน ที่ประกอบไปด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินไว้ว่า ภายในเดือนมิถุนายนนี้ จะมีแรงงานตกงานเพิ่มอีก 7.13 ล้านคน โดยลูกจ้างกลุ่มศูนย์การค้าและค้าปลีกจะได้รับผลกระทบสูงสุด 

ประเด็นสำคัญนอกจากการเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ต้องตกงานหรือทำงานได้รับค่าจ้างไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตก็คือ รัฐบาลต้องหลีกเลี่ยงการตกงานให้มากที่สุด ดังนั้น จึงมีการเสนอให้รัฐอุ้มเงินเดือนของแรงงานในอัตราส่วนร้อยละ 60-70 หรือมีสิทธิพิเศษเพิ่มเติมอื่นให้ สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่หักลดเงินเดือนลูกจ้าง และไม่ไล่ลูกจ้างออกเลย

 REUTERS/Juarawee Kittisilpa

อีกทางหนึ่ง เสนอว่ารัฐบาลควรเข้าไปซื้ออุปกรณ์ทางแพทย์ทั้งหมด (หน้ากาอนามัย เจลล้างมือ) และสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะได้ประโยชน์สามต่อในเวลาเดียวกัน คือ หนึ่ง สามารถควบคุมราคาสินค้าไม่ให้ขายเกินราคา สอง แจกจ่ายสินค้าให้กับบุคลากรสาธารณสุข ประชาชน และส่งออกไปประเทศที่ต้องการ และสาม ทำให้โรงงานมีออร์เดอร์ และพนักงานมีงานทำ ไม่โดนพักงานหรือไล่ออก

ในกรอบวงเงินที่กู้เพิ่มเติมส่วนการคลัง 1 ล้านล้านบาท จำนวน 400,000 ล้านบาท ที่ถูกแบ่งไว้สำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะชุมชน แต่รัฐบาลยังไม่มีการประกาศอย่างแน่ชัดว่าจะนำเงินจำนวนนี้ไปทำอะไรบ้าง ซึ่งอาจเป็นโอกาสที่ดีที่รัฐบาลจะส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งอีกครั้ง นำงบประมาณลงทุนกับการฝึกอาชีพและพัฒนาชาวบ้าน หรืออาจนำไปสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์กลางสำหรับการสั่งซื้อสินค้า OTOP ของแต่ละชุมชน 

วิกฤตครั้งนี้ อาจจะเป็นโอกาสอันดีที่จะรื้อระบบเศรษฐกิจของไทยที่พึ่งพิงรายได้หลักจากนักท่องเที่ยว กลับมาเน้นการบริโภคในประเทศ เพื่อยืนด้วยขาตัวเองอย่างมั่นคง

สำหรับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งได้รับผลกระทบสองทอดทั้งจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และภัยแล้ง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็ได้มีมาตรการเยียวยาจากภัยแล้งออกมาแล้ว ทั้งการขยายเวลาชำระหนี้ สินเชื่อรายละไม่เกิน 200,000 บาท และล่าสุด รัฐบาลยังประกาศว่าจะมีแผนมอบเงินเยียวยาให้เกษตรกรจากปัญหาโควิด-19 ครัวเรือนละ 15,000 บาท จำนวน 9 ล้านครัวเรือน ครอบคลุมทั้งชาวไร่ชาวนา, ชาวสวน, ผู้ทำปศุสัตว์ และประมง

REUTERS-Sukee Sukplang

รัฐบาลอ้างว่ามีข้อมูลของกลุ่มเกษตรกรอยู่ถึงร้อยละ 99 การเยียวยาให้ทั่วถึงจึงไม่น่าใช่ปัญหานัก ซึ่ง ประเด็นนี้ต้องติดตามดูกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่หนักหนาสาหัสจริงๆ สำหรับกลุ่มเกษตรกรคือ ภัยแล้งที่ว่ากันว่ารุนแรงเป็นอันดับ 2 ในรอบ 40 ปี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไว้ว่า ภัยแล้งในปี 2563 อาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 17,000-19,000 ล้านบาท สมทบเข้ากับเศรษฐกิจทั่วโลกที่ถดถอย การส่งออกที่มีแนวโน้มหดตัว ซึ่งส่อเค้าผลกระทบให้เห็นมาบ้างแล้วในช่วงที่จีนปิดเมืองอู่ฮั่น 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยเสนอไว้ช่วงปลายปี 2562 ให้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร 2 ด้านคือ มาตรการช่วยเหลือและรักษาเสถียรภาพ โดยอาจมีเงินให้เปล่ามอบเพื่อช่วยบรรเทาภาระของเกษตรกร คู่ไปกับมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร โดยกระตุ้นอุปสงค์และการจัดการอุปทานในตลาด เช่น มาตรการกระตุ้น การใช้ยางพาราของหน่วยงานรัฐ มาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าว 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยเสนอไว้ช่วงปลายปี 2562 ให้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร 2 ด้านคือ มาตรการช่วยเหลือและรักษาเสถียรภาพและช่วยเหลือด้านรายได้เกษตรกร อาทิ มาตรการกระตุ้นการใช้ยางพาราของหน่วยงานรัฐ มาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าว หรือจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างราคารับประกันและราคาอ้างอิง

นอกจากนี้ อีกมาตรการที่น่าจะนำไปพัฒนาต่อคือ นโยบายอาหารไทยยืนหนึ่ง (Eat Thai First) ที่กระตุ้นให้ประชาชน ภาครัฐ และเอกชน หันมาอุดหนุนผลไม้ไทยในการจัดอีเวนท์หรือประชุมต่างๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพการที่เอกชนหลายแห่งต้องปิดตัวลงในขณะนี้ รัฐบาลอาจต้องปรับแทคติก หันไปเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ให้เกษตรกรเข้ามาลงทะเบียน และขายผ่านระบบออนไลน์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ และทำให้เกษตรกรมีช่องทางรองรับสินค้ามากขึ้น   

สิ่งที่เป็นประเด็นที่ได้รับการกล่าวถึงก็คือ หากแรงงานต่างด้าวทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยตกงาน จะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือหรือไม่อย่างไร เพราะรัฐได้ออกมาตรการสะกัดกั้นการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวข้ามจังหวัด เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้แรงงานต่างด้าวที่อาจจะตกงานและต้องการเดินทางกลับประเทศหรือภูมิลำเนา ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ และหากไม่มีงานทำหรือไม่ได้รับความช่วยเหลือก็จะเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา

REUTERS-Athit Perawongmetha

ดร.สมชัย จิตสุชน นักวิชาการจาก TDRI เสนอ หลังวันที่ 30 เมษายน ให้รัฐบาลเปิดเมืองแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยยังคงปิดสถานที่ที่ทำให้เกิดการแออัดของคนจำนวนมากแบบสนามมวย สถานบันเทิง ผับบาร์ โรงภาพยนต์ แต่ให้ทยอยกลับมาเปิดถสถานที่อื่น เช่น ห้องสมุด มหาวิทยาลัย ห้องสรรพสินค้า แต่ต้องมีมาตรการที่เอื้อต่อการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 1.5 เมตร และให้ติดตามเก็บข้อมูลการแพร่ระบาดหรือติดเชื้ออย่างใกล้ชิด

ดร.สมชัย ยังเสนออีกว่า สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก เช่น ร้านตัดผม ร้านอาหาร ให้ภาครัฐหรือมหาวิทยาลัยเป็นแม่งาน ระดมเห็นความจากสังคมเพื่อออกมาตรการที่สามารถนำไปใช้ได้จริง อย่าง การจำกัดคนเข้า หรือร้านอาหารจัดโต๊ะให้ห่างกันมากกว่า 1.5 เมตร 

ประเทศออสเตรเลียก็ออกมาประกาศดำเนินแนวทางใกล้เคียงกันนี้ โดยจะเริ่มให้ร้านค้าที่มีขนาด 400 ตร.ม. ร้านแบบ DIY กลับมาเริ่มเปิดได้หลังวันที่ 14 เมษายน หรือวันอีสเตอร์ และจะให้ร้านค้าอื่นๆ ทยอยกลับมาเปิดใหม่ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม โดยมีข้อแม้ว่า หากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสามารถใช้ ‘เบรกฉุกเฉิน’ เพื่อหยุดมาตรการทั้งหมดได้

การยกเลิกมาตรการเคอร์ฟิวไม่จำเป็นต้องยกเลิกทีเดียวทั้งประเทศ อาจค่อยทยอยยกเลิกในพื้นที่ปลอดภัย หรือส่วนกลางมอบอำนาจให้ท้องถิ่นแต่ละส่วนตัดสินใจด้วยตัวเอง โดยมีกรอบแนวทางจากส่วนกลางคอยชี้แนะ เพื่อให้ส่วนกลางมีเวลาและศักยภาพในการดูภาพรวมมากขึ้น

การต่อสู้กับการแพร่ระบาดครั้งนี้ ไม่ใช่การวิ่งระยะ 100 เมตร แต่เป็นวิ่งแบบมาราธอน การประเมินและหาแนวทางแก้ปัญหาต้องทำอย่างเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตาม การคงและขยายมาตรการเคอร์ฟิวไม่ควรอยู่ในตัวเลือกการตัดสินใจ เพราะมันจะส่งผลอย่างต่อเนื่องต่อการฟื้นคืนของระบบเศรษฐกิจ และอาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวยาวนานกว่า 10-20 ปี

Tags: , , ,