ความพยายามชะลอการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ทำให้รัฐบาลไทยตัดสินใจออกมาตรการขั้นเด็ดขาด สั่งปิดสถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจร้านอาหารให้สั่งกลับบ้านเท่านั้น ก่อนประกาศสถาการณ์ฉุกเฉิน และบังคับใช้มาตรเคอร์ฟิว เมื่อวันที่ 2 เมษายน ห้ามประชาชนออกจากบ้านระหว่างเวลา 22.00 – 4.00 น.
มาตรการเหล่านี้ มีผลเด็ดขาดชะงัด ยืนยันได้บ้างจากตัวเลขผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตที่ไม่ทะยานขึ้นสูง หากทว่าก็ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับระบบเศรษฐกิจ ผู้คนใช้สอยน้อยลง ผู้ประกอบการลดการผลิต ผลิตสินค้าน้อยลงก็ไม่ต้องใช้คนจำนวนมาก เกิดการพักงานหรือไล่ออก โรงงานลดการผลิตนานวันก็ต้องปิดตัวเช่นกัน เกินภาวะแรงงานเกินงานที่มี
คนอีกกลุ่มหนึ่ง เคยเข็นรถขายอาหารตอนกลางคืน แต่เคอร์ฟิวทำให้ไม่มีกิจกรรมตอนกลางคืน ไม่มีผู้คนออกมา ก็ไม่รู้จะขายใคร รายได้หดหายต้องแคะกระปุกใช้เงินเก็บ ที่นับวันยิ่งร่อยหรอลง
ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลทั้งหมด แต่หน้าที่ช่วยเหลือเยียวยาควรเป็นของรัฐบาลทั้งหมด ซึ่งมาถึงจุดนี้ รัฐบาลได้ออกนโยบายเยียวยามาหลายมาตรการ และแบ่งประเภทผู้ได้รับผลกระทบออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรงงานในระบบ กลุ่มแรงงานนอกระบบ และกลุ่มแรงงานต่างด้าว
และจากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมชี้ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ว่า
- จำนวนผู้ประตนตามมาตรา 33 มี 11,692,429 คน
- จำนวนผู้ประตนตามมาตรา 39 มี 1,653,714 คน
- จำนวนผู้ประตนตามมาตรา 40 มี 3,311,533 คน
แรงงานในระบบ
สำหรับผู้ประตนตามมาตรา 33 ที่มีจำนวน 11,730,351 คน หากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ รัฐมีมาตรการช่วยเหลือหลายด้าน คือ
-
- กรณีที่นายจ้างไม่ให้ทำงาน อาจด้วยเหตุสุดวิสัย อาทิ ความเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด-19 หรือเคยสัมผัสกับผู้ป่วยจนต้องต้องกักตัวตัวเอง 14 วัน แรงงานจะได้รับเงินช่วยเหลือร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน (จ่ายไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท)
- กรณีรัฐสั่งหยุด ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน แต่ไม่เกิน 90 วัน (จ่ายไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท)
- กรณีลาออก ได้รับเงินทดแทน ร้อยละ 45 เป็นระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
- กรณีเลิกจ้าง ได้รับเงินทดแทน ร้อยละ 70 ของค่าจ้าง ระยะเวลาไม่เกิน 200 วัน ทั้งนี้ มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 2 ปี หลังจากนั้นคณะกรรมการประกันสังคมจะพิจารณาอีกครั้ง
- กรณีเลิกจ้างและไม่ได้รับเงินตามกฎหมาย ลูกจ้างมีสิทธิยื่นคำขอรับเงินสงเคราะห์จากเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างผ่านกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง งบประมาณ 4,720 ล้านบาท ทั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะติดตามเงินดังกล่าวจากนายจ้างเพื่อส่งคืนเงินแก่กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างต่อไป
- กรณีมีอาการป่วย สามารถเข้าไปตรวจรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิ หากป่วยเป็นโรคโควิด-19 จะได้รับการรักษาฟรี หากไม่สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามสิทธิได้ สามารถเข้ารักษาโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้หรือของรัฐตามระบบประกันสังคม และเบิกจ่ายกรณีฉุกเฉิน ภายใน 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ สำหรับผู้อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 39 และ 40 ก็จะได้รับการรักษาฟรีเช่นกันหากเป็นโรคโควิด-19
- ลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมสำหรับนายจ้างและผู้ประกันตน ในส่วนของนายจ้างลดจากจ่ายร้อยละ 5 เป็นจ่ายร้อยละ 4 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนลดจากจ่ายร้อยละ 5 เหลือร้อยละ 1 เป็นระยะเวลา 3 เดือน
- มีผลตั้งแต่งวดค่าจ้างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2563 โดยให้เลื่อนจ่ายเงินสมทบงวดเดือนมีนาคมภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2563 และ งวดเดือนพฤษภาคม 2563 ภายในวันที่ 15 กันยายน 2563
- ยืดระยะเวลาการเสียภาษีบุคคลธรรมดา ออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563
แรงงานนอกระบบ
สำหรับกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่เข้าข่าย พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 33 หากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงาน ลูกจ้าง และผู้สมัครใจส่งประกันสังคมตามมาตรา 39 จำนวน 1,665,227 คน และมาตรา 40 จำนวน 3,343,470 คน รัฐมีมาตรการช่วยเหลือดังต่อไปนี้
-
- เงินสนับสนุนคนละ 30,000 บาท โดยจะแบ่งจ่ายเดือนละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563) ผู้จ่ายประกันสังคมตามมาตรา 33 ที่ยังส่งไม่ครบ 6 เดือน มีสิทธิรับเช่นกัน
- สินเชื่อฉุกเฉินรายละ 10,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักประกัน ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 ต่อเดือน ผ่อนชำระคืนภายใน 2 ปี 6 เดือน ไม่ต้องชำระเงินกู้ 6 งวดแรก มีข้อกำหนดคือต้อง อายุ 20 ปีขึ้นไป มีสัญชาติไทย เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้เดือนละไม่เกิน 30,000 บาท ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 เช่น พ่อค้าแม่ค้า คนขับรถโดยสาร มัคคุเทศก์ มีถิ่นที่อยู่อาศัยแน่นอน และสามารถติดต่อได้ เริ่มเปิดให้ขอ 15 เมษายน 2563
- สินเชื่อพิเศษ รายละ 50,000 บาท สำหรับผู้ประกอบการ ผู้มีอาชีพอิสระ และลูกจ้าง ที่เกี่ยวกับอุตสาหรกรรมการท่องเที่ยว และเคยมีรายได้ประจำ โดยต้องมีหลักประกันอาจเป็นบุคคลหรือสินทรัพย์ก็ได้ มีอัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ผ่อนชำระคืน 3 ปี ข้อกำหนดคือ ต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป มีสัญชาติไทย เคยมีรายได้ประจำแต่รายได้ลดลงหรือขาดรายได้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และภัยอื่นๆ มีถิ่นที่อยู่อาศัยแน่นอน และสามารถติดต่อได้
- สำนักงานธนานุเคราะห์รับจำนำดอกเบี้ยต่ำ โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกิน 0.125% ต่อเดือน รวมเป็นวงเงินที่เตรียมสนับสนุน 2,000 ล้านบาท
- ยืดระยะเวลาการเสียภาษีบุคคลธรรมดา ออกไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563
- ลดอัตราเงินสมทบสำหรับผู้จ่ายประกันตนเอง ลดอัตราเงินสมทบสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จากเดิมเดือนละ 432 บาท เหลือเดือนละ 86 บาท และขยายระเวลาจ่ายเงินออกไป 3 เดือน เช่นเดียวกับนายจ้างและลูกจ้างมาตรา 33
- การฝึกอบรม เพิ่มทักษะอาชีพ หรือจัดกิจกรรมเพื่อสังคมรวมถึงนักศึกษาที่ยังหางานไม่ได้ รวมถึงขยายฝึกอบรมผ่านภาคีเครือข่ายต่างๆ อาทิ ฝึกทักษะคอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ
- จัดตั้งศูนย์ Part-Time ตอบสนองความต้องการของนายจ้าง เพื่อรักษาองค์กรให้อยู่ได้ และช่วยเหลือผู้ว่างงาน ให้ลูกจ้าง, ผู้ว่างงาน, นายจ้างที่อยากได้ลูกจ้าง มาลงทะเบียน
- โครงการจ้างงานเร่งด่วน ค่าตอบแทน 300บาท/วัน จำนวน 7,740 ตำแหน่ง
- ฝึกทักษะอาชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง 7,800 คน
- โครงการเพิ่มอาชีพ เพิ่มรายได้จากกรมจัดหางาน
- จ้างบัณฑิตที่ว่างงานเป็นผู้ประสานงานโครงการของกระทรวงแรงงาน หาผู้เรียบจบใหม่มาเป็นผู้ประสานงานประจำพื้นที่ 841 อำเภอ อำเภอละ 2 คน รวม 1,682 ตำแหน่ง
แรงงานต่างด้าว
-
- แรงงานต่างด้าวที่ใบอนุญาตหมดอายุในวันที่ 31 มีนาคม 2563 สามารถทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทยต่อไปได้ถึง 30 มิถุนายน 2563 ขยายอายุใบรับรองแพทย์ให้มีอายุ 90 วัน
- ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวชาวเมียนมา ลาว กัมพูชา ที่เข้ามาทำงานตามข้อตกลง MOU แต่ระยะเวลาตามข้อตกลงสิ้นสุดลง สามารทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563
- แรงงานต่างชาติชาวเมียนมาและกัมพูชา ที่ถือบัตรผ่านแดนชั่วคราว สามารทำงานและอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563
เสียงจากผู้ได้รับผลกระทบ
“เงิน 5,000 บาท ต้องให้ทุกคน (ที่ทำประกันสังคม) ไปเลย นี่เป็นเงินของเขา เป็นสิทธิของเขา” บุญยืน สุขใหม่ ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานภาคตะวันออกกล่าวกับเราผ่านการพูดคุยทางโทรศัพท์ ถึงแม้เขาจะยอมรับว่าเงินจำนวนดังกล่าวอาจไม่สามารถแบ่งเบาภาระต่างๆ ได้มากนัก แต่เมื่อตัดสินว่าจะให้แล้ว ต้องทั่วถึงและเท่าเทียม
บุญยืนเล่าต่อว่า การแพร่ระบาดทำให้กลุ่มแรงงานในพื้นที่ภาคตะวันออกนับพันคนถูกไล่ออกหรือพักงาน ทั้งจากบริษัทมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทไฮ-เทค โมลด์ แอนด์ พลาสติก (ไทยแลนด์) จำกัด หรือบริษัทเฮช-วัน พาร์ท ศรีราชา จำกัด
นอกจากนี้ ยังต้องพบกับอุปสรรคในเรื่องค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาสูงขึ้น โดยเขากล่าวว่า ไข่มีราคาถึงฟองละ 6 บาท ข้าวราดแกง 50 บาท ไม่สามารถหาหน้ากากอนามัยได้ในพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรี และเขายังพบเจลล้างมือราคา 450 บาทในระบบออนไลน์ ที่ซ้ำร้ายยังเป็นของปลอมที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคไม่ได้
เขาเรียกร้องให้ภาครัฐสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ว่า กลุ่มแรงงานจะต้องไม่ถูกทิ้งขว้าง หากโรงงานปิดตัว กลุ่มที่ตกงานต้องได้รับการดูแล และหากโรงงานกลับมาเปิดอีกครั้ง ภาครัฐต้องออกระเบียบใหม่สำหรับโรงงานทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเรื่องการแจกหน้ากากอนามัยก่อนเข้าทำงาน การตรวจวัดอุณหภูมิ หรือการทำความสะอาดครั้งใหญ่
ในอีกด้านหนึ่ง พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ยอมรับว่า มาตรการเยียวยาแรงงานนอกระบบของรัฐบาลตอบโจทย์ เพราะนอกจากช่วยเหลือค่าใช้จ่ายได้มาก และยังเป็นการสะท้อนว่ารัฐตระหนักถึงตัวตนของแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่รัฐจะเก็บข้อมูลและนำไปปรับปรุงแผนนโยบายในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เธอมองว่าระบบการลงทะเบียนทางอินเทอร์เน็ต อาจทำให้หลายคนตกหล่นไป โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านในชนบท หรือกลุ่มคนพิการ จึงเป็นไปได้ไหมที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาเก็บตกคนเหล่านี้ เพราะใกล้ชิดและมีข้อมูลมากกว่าส่วนกลาง
กลุ่มของเธอมองว่า การขยายระยะเวลาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเป็น 6 เดือน เป็นเรื่องดี แต่เป็นไปได้ไหมที่จะขยายเกณฑ์จำนวนผู้ได้รับเงินเยียวยาให้ครอบคลุมขึ้น เธอต้องการให้ภาครัฐวางแผนถึงมาตรการระยะยาวในด้านเศรษฐกิจ การจ้างและสร้างงาน รวมถึงโครงสร้างทั้งหมด และที่สำคัญรัฐต้องสนับสนุนให้เกิดการอุดหนุนสินค้าในประเทศ ยกตัวอย่าง การสร้างโควตางานให้ประชาชนเรียนตัดเสื้อ แล้วออกนโยบายต่อเนื่องให้ข้าราชการสวมเสื้อดังกล่าว เกิดเป็นวงจรเศรษฐกิจที่เข้มแข็งในประเทศ เพราะหลังจากนี้การส่งออก การท่องเที่ยว และเม็ดเงินต่างๆ ที่มาจากภายนอกจะลดลงอย่างต่อเนื่อง เธอทิ้งท้าย
ถูกต้อง-ตรงจุด-เพียงพอ หรือยัง
ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศมาตรการเคอร์ฟิวและออก พ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติม ธนาคาแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตของ GDP ในประเทศจะลดลงเป็นร้อยละ -5.3 จากคาดการณ์เดิมที่เติบโตร้อยละ 2.8 ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และภาคการส่งออกหดตัวร้อยละ -16.4
นอกจากนี้ เจ.พี. มอร์แกน วาณิชธนกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ก็ประเมินว่า ในไตรมาสแรกเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะหดตัวลงร้อยละ 10 และหดต่อไปอีกร้อยละ 25 ในไตรมาสที่สองของปีนี้ และจะทำให้อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นถึงร้อยละ 2.5 สูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008
เป็นสัญญาณเตือนว่าวิกฤตครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกทั้งระบบ ไม่ใช่เพียงแค่ภูมิภาคหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง และสำหรับประเทศไทยอาจหนักหนากว่าครั้งปี 2540 (วิกฤตต้มยำกุ้ง) และเรียกร้องมาตรการจากรัฐที่เข้มข้น รัดกุม และครอบคลุมอย่างรอบด้านมากกว่าเดิม
ทั้งหมดทั้งมวล ชวนให้คิดต่อจากคำกล่าวของกรณ์ จาติกวนิช หัวหน้าพรรคกล้า ว่ามาตรการดังกล่าว “ถูกต้อง ตรงจุด และเพียงพอหรือยัง ? “
ประเด็นที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก นอกจากระบบการลงทะเบียนที่ล่มแล้วล่มอีกก็คือ การใช้อาชีพเป็นกรอบพิจารณาจ่ายเงิน โดย 10 อาชีพที่เข้าข่ายได้รับเงินเยียวยา อาทิ นักเรียน นักศึกษา, โปรแกรมเมอร์ ผู้ค้าขายออนไลน์ หรือกลุ่มรับจ้างก่อสร้าง ซึ่งคนเหล่านี้ก็ล้วนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม การใช้ ‘อาชีพ’ เป็นกรอบคัดกรอง จึงถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่าย
ยังไม่รวมถึงประเด็นของผู้ที่ไม่ได้ หากพิจารณาว่าในปี 2562 สำนักงานสถิติแห่งชาติประเมินว่าประเทศไทยมีแรงงานนอกระบบประมาณ 20.4 ล้านคน หากเปรียบเทียบจากผู้เข้าเกณฑ์ 9 ล้านคน จะพบว่าแล้วคนอีกกว่า 10 ล้านคน อยู่ในส่วนไหนของมาตรการการเยียวยา
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เคยเสนอให้ภาครัฐจัดสรรเงินให้เปล่า ให้กับทุกครัวเรือนที่เดือดร้อน โดยมีกรอบว่าคนในครอบครัวต้องมีทรัพย์สินไม่เกิน 3 ล้านบาท เงินออมไม่เกิน 100,000 บาท หรือเงินเดือนเฉลี่ยไม่เกิน 15,000 บาท
นอกจากนี้ ยังอาจมีผู้เข้าเกณฑ์แต่ตกหล่น ไม่ว่าด้วยการกรอกข้อมูลผิด หรือเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีก็ตาม รัฐบาลจะช่วยเหลือพวกเขาอย่างไร หรือจะมอบหมายให้ท้องถิ่นรับผิดชอบติดตามในส่วนนี้ โดยต้องไม่ล่าช้าเหมือนการคัดกรองและจ่ายเงินเยียวยาที่ผ่านมา เพื่อเรียกความเชื่อมั่นคืนจากประชาชนซึ่งสำคัญที่สุด
แม้ว่ามาตรการเยียวยาแรงงานนอกระบบด้วยเงิน 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน จะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี แต่ก็มีการมองอีกมุมหนึ่งว่า การมอบเงินเพื่อเยียวยาอาจช่วยเหลือกลุ่มแรงงานได้จริง แต่อาจไม่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจมากนัก พวกเขาอาจนำเงินไปจับจ่าย ซื้อของจำเป็น แต่มันยังไม่มากพอกระตุ้นให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการจ้างงาน
ล่าสุด คณะกรรมการประชุมร่วมภาคเอกชน ที่ประกอบไปด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ประเมินไว้ว่า ภายในเดือนมิถุนายนนี้ จะมีแรงงานตกงานเพิ่มอีก 7.13 ล้านคน โดยลูกจ้างกลุ่มศูนย์การค้าและค้าปลีกจะได้รับผลกระทบสูงสุด
ประเด็นสำคัญนอกจากการเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ต้องตกงานหรือทำงานได้รับค่าจ้างไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตก็คือ รัฐบาลต้องหลีกเลี่ยงการตกงานให้มากที่สุด ดังนั้น จึงมีการเสนอให้รัฐอุ้มเงินเดือนของแรงงานในอัตราส่วนร้อยละ 60-70 หรือมีสิทธิพิเศษเพิ่มเติมอื่นให้ สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่หักลดเงินเดือนลูกจ้าง และไม่ไล่ลูกจ้างออกเลย
อีกทางหนึ่ง เสนอว่ารัฐบาลควรเข้าไปซื้ออุปกรณ์ทางแพทย์ทั้งหมด (หน้ากาอนามัย เจลล้างมือ) และสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะได้ประโยชน์สามต่อในเวลาเดียวกัน คือ หนึ่ง สามารถควบคุมราคาสินค้าไม่ให้ขายเกินราคา สอง แจกจ่ายสินค้าให้กับบุคลากรสาธารณสุข ประชาชน และส่งออกไปประเทศที่ต้องการ และสาม ทำให้โรงงานมีออร์เดอร์ และพนักงานมีงานทำ ไม่โดนพักงานหรือไล่ออก
ในกรอบวงเงินที่กู้เพิ่มเติมส่วนการคลัง 1 ล้านล้านบาท จำนวน 400,000 ล้านบาท ที่ถูกแบ่งไว้สำหรับฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะชุมชน แต่รัฐบาลยังไม่มีการประกาศอย่างแน่ชัดว่าจะนำเงินจำนวนนี้ไปทำอะไรบ้าง ซึ่งอาจเป็นโอกาสที่ดีที่รัฐบาลจะส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งอีกครั้ง นำงบประมาณลงทุนกับการฝึกอาชีพและพัฒนาชาวบ้าน หรืออาจนำไปสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์กลางสำหรับการสั่งซื้อสินค้า OTOP ของแต่ละชุมชน
วิกฤตครั้งนี้ อาจจะเป็นโอกาสอันดีที่จะรื้อระบบเศรษฐกิจของไทยที่พึ่งพิงรายได้หลักจากนักท่องเที่ยว กลับมาเน้นการบริโภคในประเทศ เพื่อยืนด้วยขาตัวเองอย่างมั่นคง
สำหรับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งได้รับผลกระทบสองทอดทั้งจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และภัยแล้ง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็ได้มีมาตรการเยียวยาจากภัยแล้งออกมาแล้ว ทั้งการขยายเวลาชำระหนี้ สินเชื่อรายละไม่เกิน 200,000 บาท และล่าสุด รัฐบาลยังประกาศว่าจะมีแผนมอบเงินเยียวยาให้เกษตรกรจากปัญหาโควิด-19 ครัวเรือนละ 15,000 บาท จำนวน 9 ล้านครัวเรือน ครอบคลุมทั้งชาวไร่ชาวนา, ชาวสวน, ผู้ทำปศุสัตว์ และประมง
รัฐบาลอ้างว่ามีข้อมูลของกลุ่มเกษตรกรอยู่ถึงร้อยละ 99 การเยียวยาให้ทั่วถึงจึงไม่น่าใช่ปัญหานัก ซึ่ง ประเด็นนี้ต้องติดตามดูกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่หนักหนาสาหัสจริงๆ สำหรับกลุ่มเกษตรกรคือ ภัยแล้งที่ว่ากันว่ารุนแรงเป็นอันดับ 2 ในรอบ 40 ปี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไว้ว่า ภัยแล้งในปี 2563 อาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 17,000-19,000 ล้านบาท สมทบเข้ากับเศรษฐกิจทั่วโลกที่ถดถอย การส่งออกที่มีแนวโน้มหดตัว ซึ่งส่อเค้าผลกระทบให้เห็นมาบ้างแล้วในช่วงที่จีนปิดเมืองอู่ฮั่น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยเสนอไว้ช่วงปลายปี 2562 ให้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร 2 ด้านคือ มาตรการช่วยเหลือและรักษาเสถียรภาพ โดยอาจมีเงินให้เปล่ามอบเพื่อช่วยบรรเทาภาระของเกษตรกร คู่ไปกับมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร โดยกระตุ้นอุปสงค์และการจัดการอุปทานในตลาด เช่น มาตรการกระตุ้น การใช้ยางพาราของหน่วยงานรัฐ มาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยเสนอไว้ช่วงปลายปี 2562 ให้มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร 2 ด้านคือ มาตรการช่วยเหลือและรักษาเสถียรภาพและช่วยเหลือด้านรายได้เกษตรกร อาทิ มาตรการกระตุ้นการใช้ยางพาราของหน่วยงานรัฐ มาตรการสินเชื่อชะลอการขายข้าว หรือจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างระหว่างราคารับประกันและราคาอ้างอิง
นอกจากนี้ อีกมาตรการที่น่าจะนำไปพัฒนาต่อคือ นโยบายอาหารไทยยืนหนึ่ง (Eat Thai First) ที่กระตุ้นให้ประชาชน ภาครัฐ และเอกชน หันมาอุดหนุนผลไม้ไทยในการจัดอีเวนท์หรือประชุมต่างๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพการที่เอกชนหลายแห่งต้องปิดตัวลงในขณะนี้ รัฐบาลอาจต้องปรับแทคติก หันไปเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ให้เกษตรกรเข้ามาลงทะเบียน และขายผ่านระบบออนไลน์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ และทำให้เกษตรกรมีช่องทางรองรับสินค้ามากขึ้น
สิ่งที่เป็นประเด็นที่ได้รับการกล่าวถึงก็คือ หากแรงงานต่างด้าวทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยตกงาน จะมีมาตรการให้ความช่วยเหลือหรือไม่อย่างไร เพราะรัฐได้ออกมาตรการสะกัดกั้นการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวข้ามจังหวัด เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ซึ่งทำให้แรงงานต่างด้าวที่อาจจะตกงานและต้องการเดินทางกลับประเทศหรือภูมิลำเนา ไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ และหากไม่มีงานทำหรือไม่ได้รับความช่วยเหลือก็จะเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา
ดร.สมชัย จิตสุชน นักวิชาการจาก TDRI เสนอ หลังวันที่ 30 เมษายน ให้รัฐบาลเปิดเมืองแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยยังคงปิดสถานที่ที่ทำให้เกิดการแออัดของคนจำนวนมากแบบสนามมวย สถานบันเทิง ผับบาร์ โรงภาพยนต์ แต่ให้ทยอยกลับมาเปิดถสถานที่อื่น เช่น ห้องสมุด มหาวิทยาลัย ห้องสรรพสินค้า แต่ต้องมีมาตรการที่เอื้อต่อการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 1.5 เมตร และให้ติดตามเก็บข้อมูลการแพร่ระบาดหรือติดเชื้ออย่างใกล้ชิด
ดร.สมชัย ยังเสนออีกว่า สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็ก เช่น ร้านตัดผม ร้านอาหาร ให้ภาครัฐหรือมหาวิทยาลัยเป็นแม่งาน ระดมเห็นความจากสังคมเพื่อออกมาตรการที่สามารถนำไปใช้ได้จริง อย่าง การจำกัดคนเข้า หรือร้านอาหารจัดโต๊ะให้ห่างกันมากกว่า 1.5 เมตร
ประเทศออสเตรเลียก็ออกมาประกาศดำเนินแนวทางใกล้เคียงกันนี้ โดยจะเริ่มให้ร้านค้าที่มีขนาด 400 ตร.ม. ร้านแบบ DIY กลับมาเริ่มเปิดได้หลังวันที่ 14 เมษายน หรือวันอีสเตอร์ และจะให้ร้านค้าอื่นๆ ทยอยกลับมาเปิดใหม่ภายในวันที่ 1 พฤษภาคม โดยมีข้อแม้ว่า หากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสามารถใช้ ‘เบรกฉุกเฉิน’ เพื่อหยุดมาตรการทั้งหมดได้
การยกเลิกมาตรการเคอร์ฟิวไม่จำเป็นต้องยกเลิกทีเดียวทั้งประเทศ อาจค่อยทยอยยกเลิกในพื้นที่ปลอดภัย หรือส่วนกลางมอบอำนาจให้ท้องถิ่นแต่ละส่วนตัดสินใจด้วยตัวเอง โดยมีกรอบแนวทางจากส่วนกลางคอยชี้แนะ เพื่อให้ส่วนกลางมีเวลาและศักยภาพในการดูภาพรวมมากขึ้น
การต่อสู้กับการแพร่ระบาดครั้งนี้ ไม่ใช่การวิ่งระยะ 100 เมตร แต่เป็นวิ่งแบบมาราธอน การประเมินและหาแนวทางแก้ปัญหาต้องทำอย่างเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตาม การคงและขยายมาตรการเคอร์ฟิวไม่ควรอยู่ในตัวเลือกการตัดสินใจ เพราะมันจะส่งผลอย่างต่อเนื่องต่อการฟื้นคืนของระบบเศรษฐกิจ และอาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวยาวนานกว่า 10-20 ปี
Tags: กระทรวงแรงงาน, โคโรนาไวรัส, โควิด-19, มาตรการแรงงาน