ในวันที่โควิด-19 กำลังระบาดไปทั่วโลก สร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้คนมากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีทีมพัฒนาหลายทีมที่พยายามนำเสนอข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในไทย อีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจก็คือเว็บไซต์ https://covid19.th-stat.com/ เว็บไซต์รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในไทยที่มีการนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจ และมีการจัดทำฟีเจอร์ต่างๆ เพื่อให้เข้าใจง่าย เป็นระบบ สร้างขึ้นโดย ‘ณัฐวุฒิ เนียมสุวรรณ’ ผู้ก่อตั้งและเจ้าของโปรดักชั่นเฮาส์ Kidkarnmai Studio ซึ่งหลังจากทำเว็บไซต์นี้มาได้ระยะหนึ่ง เขาก็ได้ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรค เพื่อนำข้อมูลจากกระทรวงโดยตรงมาพัฒนาและนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ในเว็บไซต์
อยากทราบว่า เว็บไซต์ https://covid19.th-stat.com/ เกิดขึ้นได้อย่างไร กลุ่มคนที่ทำเป็นใครบ้าง
ตัวผมเองเป็นเจ้าของโปรดักชั่น Kidkarnmai Studio จุดประสงค์ที่จัดทำเว็บนี้คือในช่วงแรกข้อมูลที่ปรากฏในที่ต่างๆ มันกระจัดกระจายทำให้คนเกิดความตื่นตระหนก เลยอยากทำให้เกิดความเข้าใจในตัวโรคนี้เพื่อให้เห็นว่าโอกาสหายมันก็มี ไม่ต้องตื่นตระหนก แต่ต้องระมัดระวังและดูแลตัวเองอย่างเท่าทัน
ซึ่งนอกจากตัวผมแล้วก็มีเพื่อนอีกสองคนที่ช่วยหาข้อมูลและนำเสนอมีทีม TCDG ที่ช่วยนำโครงการนี้มาจุดประเด็นตั้งแต่วันแรกๆ Longdo Map ที่ให้ API (Application Programming Interface) มาใช้ฟรี ทีม smilehost.asia ที่เสนอ cloud server ให้ใช้ฟรีเนื่องจากมีคนเข้าเว็บเยอะมากจนเว็บล่มไปและอีกหลายๆคนที่ช่วยเหลือแชร์ข้อมูลบอกต่อรวมถึงให้กำลังใจ
รูปแบบการทำงานเป็นอย่างไร และเจอกับอุปสรรคในการทำงานอย่างไรบ้าง
ผมเริ่มเก็บข้อมูลในวันเสาร์ (7 มีนาคม) โดยเป็นข้อมูลจากกระทรวงเป็นหลัก แล้วเอามาทำข้อมูลในวันอาทิตย์ (8 มีนาคม) ก่อนจะปล่อยในวันจันทร์ (9 มีนาคม) แล้วสักพักมีเพื่อนมาช่วยทำ เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ให้ด้วย เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้นสำหรับชาวต่างชาติ
ปัญหาที่พบส่วนใหญ่เป็นเรื่องของข้อมูล เพราะแถลงการณ์และข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขช่วงหลังมีปัญหา อาจเพราะพบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน ทำให้มีรายละเอียดไม่ดีพอ อย่างเคส 11 คนที่ติดจากสถานบันเทิง ก็ให้ข้อมูล (ในช่วงต้น) แค่ว่าชาย 5 หญิง 6 แต่ไม่ได้บอกว่า อายุเท่าไหร่ ข้อมูลการเดินทางเป็นไงมาไง รวมถึงเรื่องการหายของผู้ป่วยที่ไม่ได้ระบุว่าการหายป่วยมาจากเคสไหน ซึ่งเป็นข้อมูลทั่วไปที่ประชาชนควรรู้ และเมื่อข้อมูลที่สธ.ให้มาไม่ดีพอในแง่รายละเอียดและความชัดเจน ทำให้ต้องไปหาตามเว็บไซต์หลักของกระทรวง
คอนเซ็ปต์ของ Network Map คืออะไร เพราะยังไม่เห็นทีมพัฒนาทีมอื่นที่ทำฟีเจอร์นี้
มีคนอินบอกซ์เข้ามาพูดถึงตัว Network Map ซึ่งเราเห็นแล้วมันน่าสนใจมาก เพราะทีมพัฒนาทีมอื่นเขาก็ทำแผนที่ที่ระบุตำแหน่งไปเยอะแล้ว เราเลยคิดว่าตัว Network Map จะเป็นอีกหนึ่งวิธีนำเสนอที่น่าสนใจ โดยคอนเซ็ปต์ของมันคือการเชื่อมโยงของการแพร่เชื้อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง ส่งต่อให้ใครบ้าง ซึ่งจะมีชุดข้อมูลเรื่องสถานที่และความสัมพันธ์ของผู้คนมาอธิบาย ทำให้เราเข้าใจถึงสถานการณ์ได้ง่ายขึ้น
อย่างตัวสถานที่พอเราเห็นเราจะระมัดระวังตัวเองมากขึ้นหรือเรื่องความสัมพันธ์ของคนเช่นมีคนในเคสหนึ่งกับอีกเคสหนึ่งเป็นคนในครอบครัวเดียว มันทำให้เห็นว่าเขามีโอกาสแพร่เชื้อให้คนอื่นแม้จะเป็นครอบครัวเดียวกันซึ่งก็จะทำให้เราเฝ้าระวังมากขึ้น
คิดว่าการทำข้อมูลโควิด-19 ในสถานการณ์ที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการและครบถ้วนนั้น จะต้องระมัดระวังอะไรบ้าง
ข้อมูลทั้งหมดผมนำมาจากกระทรวงเท่านั้น ไม่ได้ต้องการข้อมูลจากวงในหรือแหล่งข้อมูลอื่นๆ และการจัดทำข้อมูลจะไม่ใส่ความเห็นส่วนตัว เพราะเชื่อว่าข้อมูลของทางการผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว พร้อมที่จะนำไปใช้และนำเสนอ
แต่ตอนนี้ปัญหาคือข้อมูลช่วงหลังๆ เขาให้รายละเอียดกว้างมาก อย่างกรณี 11 คนติดเชื้อ ซึ่งรายละเอียดมันไม่เท่ากับเคสก่อนๆ ทั้งอายุ ข้อมูลการเดินทาง หรือเรื่องอาการและอาชีพ ซึ่งข้อมูลชุดนี้มีผลกับประชาชนมาก เพราะหลายคนก็อยากรู้ว่าตัวเขาเข้าข่ายในกลุ่มเสี่ยงที่ไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วยหรือไม่ เช่น ช่วงอายุ การทำงาน สถานที่ เป็นต้น
ความตระหนกของผู้คนในเรื่องของพื้นที่ อย่างเรื่องร้านอาหารหรือห้างที่พบผู้ติดเชื้อ ที่คนกลัวจนไม่กล้าไป แม้ทางสถานที่จะฆ่าเชื้อและพื้นที่นั้นผ่านระยะฟักตัวไปแล้ว หรือกรณีที่ประกาศว่าเจอคนป่วยที่นครปฐมแต่ไม่ได้บอกว่าตรงไหน ทำให้คนในแถบนั้นตื่นตระหนกและหวาดกลัวกันหมด ทำให้ตอนนี้ทางเว็บไซต์มีฟีเจอร์ ‘แผนผังการพบผู้ติดเชื้อ’ ที่มีข้อมูลของเคสผู้ติดเชื้อและอัตราการพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่เทียบกี่คนต่อกี่คนและกี่เปอร์เซนต์ของประเทศ
มันจะช่วยให้ประชาชนสามารถประเมินว่าในพื้นที่อาศัยของตัวเองสามารถเฝ้าระวังในระดับไหน เช่น ผู้ติดเชื้อในจังหวัดเพชรบูรณ์ 1 คน แต่มาจนถึงตอนนี้ยังไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม คนเพชรบูรณ์ก็สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่มีการเฝ้าระวังในระดับหนึ่ง ไม่ถึงกับระมัดระวังอย่างเคร่งครัดแบบพื้นที่กรุงเทพฯซึ่งเป็นพื้นที่ระบาด
ใช้เกณฑ์อะไรพิจารณาเพื่อนำเสนอข้อมูล (โดยเฉพาะข้อมูลที่ไม่ได้มาจากทางภาครัฐ) เพื่อลดความเสี่ยงในการนำข้อมูลที่ก่อให้เกิดความสับสน
ใช้เกณฑ์ของสธ. เป็นหลักครับ ยึดตามข้อมูลต่างๆ ที่สธ.เปิดเผย ทั้งเรื่อง เพศ สัญชาติ อายุ ฯลฯ แต่ถ้ารายละเอียดน้อยอาจจะต้องเอามาจากสำนักข่าวใหญ่ๆ ที่เชื่อถือได้ เช่น BBC หรือ MCOT
ในฐานะที่ทำการนำเสนอข้อมูลโควิด-19 คิดเห็นอย่างไรกับการที่ภาครัฐไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้ออย่างรอบด้านและเป็นระบบ
เรื่องข้อมูลการติดเชื้อยังน้อย ก็ถือเป็นเรื่องดีที่หลายทีม (นักพัฒนา) จะนำข้อมูลมาทำ แต่ทางสธ.ยังเปิดเผยข้อมูลไม่ชัดเจน อาจจะมีผลต่อความปลอดภัย มีคนอินบ็อกซ์มาว่าอยากได้ข้อมูลเรื่องนี้ ซึ่งมันมีหลายมิติมาก ซึ่งเราทำไม่ได้
อีกทั้งทางภาครัฐเปิดเผยข้อมูลอย่างไม่เท่าเทียมกัน เลยทำให้คนคิดว่ามีการปกปิดข้อมูลทั้งที่จริงๆ ทางรัฐอาจจะไม่ได้อยากปกปิดก็ได้
การร่วมงานกับทางกระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรค พบปัญหาอะไรหรือไม่ ในแง่การเรียกร้องชุดข้อมูลและการให้ความร่วมมือกัน
อย่างที่กล่าวไปว่า ช่วงหลังๆ นั้นรายละเอียดของผู้ติดเชื้อไม่สมบูรณ์ จึงทำให้เราทำงานต่อไปค่อนข้างยาก เราจึงเข้าไปคุยกับทางกรมควบคุมโรค เพื่อผลักดัน และสร้างจุดเริ่มต้นของการเปิดเผยข้อมูลที่ประชาชนควรเข้าถึงได้ในอนาคต และในที่สุดเราก็มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรค
ตอนนี้กำลังผลักดันให้มีการอัปเดตตัวเลขผู้ติดเชื้อแบบ Realtime เพราะปัจจุบันการอัปเดตตัวเลขของกระทรวงยังเป็นแบบวันต่อวันเราไม่เห็นว่าเวลานี้มีผู้ติดเชื้อกี่คนและพอตกเย็นมีผู้ติดเชื้ออีกกี่คน มันเลยทำให้ประชาชนคิดว่าภาครัฐทำงานช้าและไม่มีประสิทธิภาพ
การทำข้อมูลแบบ Realtime เป็นเรื่องที่ดีนะครับ แต่ปัญหาคือการได้มาซึ่งข้อมูลชุดนั้นมันไม่ง่าย มันมีขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ เยอะมาก เลยทำให้เราได้ข้อมูลค่อนข้างช้า ซึ่งถ้าเรานำเทคโนโลยีมาช่วยลดขั้นตอนพวกนี้ได้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก
และถึงแม้ทางกระทรวงจะทำชุดข้อมูลออกมาในเว็บไซต์ก็เจอปัญหาเรื่องความไม่เชื่อในระบบที่สร้างขึ้นของประชาชน โดยการที่จะทำให้ระบบมันน่าเชื่อถือได้ มันต้องมาจากการร่วมมือระหว่างภาครัฐที่เป็นผู้ถือชุดข้อมูล กับภาคเอกชนที่มีวิธีการนำเสนอข้อมูลผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งจะช่วยทำให้ตัวระบบมันมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นและลดโอกาสเกิดเฟคนิวส์ ซึ่งภาครัฐก็ต้องมีความร่วมมือในเรื่องชุดข้อมูลและจัดการปัญหาการใช้ชุดข้อมูลร่วมกันในองค์กรเองด้วย
คิดว่าหากพัฒนาการนำเสนอข้อมูลผ่านรูปแบบที่ปรากฏในเว็บไซต์นี้ เพื่อให้ข้อมูลครบถ้วนสมบูรณ์มากขึ้น ต้องการรูปแบบข้อมูลชุดไหนเพิ่มเติมอีกบ้าง
ฟีเจอร์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเว็บฯ สร้างขึ้นมาตามความต้องการประชาชนเป็นหลักรวมถึงตัวผมเองด้วย โดยเฉพาะฟีเจอร์ระบุพื้นที่ติดเชื้อ ตัวอย่างเช่น มีการระบุว่ามีผู้ติดเชื้อในนครปฐม ถ้าระบุแค่ว่านครปฐมซึ่งมันกว้างมาก ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าส่วนไหนของจังหวัด ก็จะทำให้คนในพื้นที่ตื่นตระหนกมากขึ้น แต่ถ้าอย่างการเจอผู้ติดเชื้อที่ทองหล่อ มีการระบุชัดเจนว่าเป็นพื้นที่ทองหล่อ ก็จะทำให้คนในพื้นที่ระมัดระวังมากขึ้นและไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป แต่ก็ต้องระมัดระวังว่าเราอาจจะเปิดข้อมูลมากเกินไป เช่น ระบุว่าร้านนี้ ห้างนี้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาคธุรกิจ เลยต้องระมัดระวัง
มองปรากฏการณ์ที่มีหลายๆ คน หลายๆ องค์กรลุกขึ้นมาทำข้อมูลต่างๆ เรื่องโควิด ในตอนนี้อย่างไรทั้งข้อดี ข้อเสีย และข้อกังวล
ดีมากนะครับ มันเป็นการช่วยเหลือกันและกัน ใครทำอะไรได้ในจุดไหนก็ทำ ซึ่งเราเห็นได้ชัดเจนจากเหตุการณ์โควิด-19 นี้และที่น่าสนใจก็คือเราเห็นการใช้ระบบเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการทำงานเรื่องโควิด-19 เยอะมาก ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากๆ ในประเทศไทยเราเช่นกัน ซึ่งทุกๆ คนก็ทำงานกันหนักมากๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและตรงตามความต้องการของประชาชน อย่างเว็บฯ ผมเปลี่ยนเซิร์ฟเวอร์ไป 3 รอบ เพราะมีการรีเควสข้อมูลกว่า 1,400,000 ครั้ง มันทำให้เราเห็นว่าคนต้องการข้อมูลในเรื่องนี้มากจิงๆ
แม้บางครั้งจะเป็นว่าแต่ละทีมอาจจะมีข้อมูลที่แย้งกัน ด้วยความที่ภาครัฐให้ข้อมูลบางส่วนไม่ชัดเจนและไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งมันจะไม่มีปัญหาเลยถ้าข้อมูลจะมาจากต้นทางเดียวกัน
คิดว่าตอนนี้และในเฟสต่อไป มีข้อมูลอะไรที่เป็นข้อมูลสำคัญที่ควรจะมีการจัดการ หรือนำเสนอต่อประชาชน
ในเฟสต่อไป ทางเราจะพัฒนาการแจ้งพื้นที่เสี่ยงให้ดีและชัดเจนขึ้น กำลังวางแผนพัฒนาแอปพลิเชัน สำหรับคนที่ไม่ได้มีเวลามาก เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถนั่งฟังคำแถลงยาวๆ ได้ เลยอยากทำระบบแจ้งเตือนที่มีประสิทธิภาพให้ประชาชนได้รับรู้
อาจมีการร่วมกันทำงานบางอย่างในแบบการเข้าถึงน้อยที่สุด แต่แม่นยำที่สุด ซึ่งตอนนี้หลายคนกำลังเข้ามาช่วยอยู่ อย่างที่ประชุมล่าสุดกับกรมควบคุมโรค ก็วางแผนจะทำตัว API เพื่อให้ทีมพัฒนาทีมอื่นนำข้อมูลตัวนี้ไปใช้ต่อได้ ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการทำงานร่วมกับกรมควบคุมโรคอยู่ครับ
มองการทำงานเรื่องโควิด-19 อย่างไรต่อไปในอนาคต
ทำเท่าที่ทำได้ และคิดว่าอนาคตจะผลักดันให้มีการเปิดรับข้อมูลจาก สธ.อย่างถูกต้อง อาจจะมี Open API ให้ทีมอื่นๆ ได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้และเผยแพร่ได้
Tags: โคโรนาไวรัส, โควิด-19, th-stat