โรเบิร์ต คลิตการ์ด นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน สรุปสาเหตุของปัญหาคอร์รัปชันด้วยสมการง่ายๆ นั่นคือ

C = M + D – A
       คอร์รัปชัน = การผูกขาด + การใช้ดุลยพินิจ – กลไกความรับผิดชอบ

หรือพูดง่ายๆ ว่าคอร์รัปชันจะเพิ่มขึ้นหากระบบเศรษฐกิจมีการผูกขาดและมีการใช้ดุลยพินิจมาก ขณะที่ปัญหาจะลดลงหากกลไกความรับผิดชอบทำงานอย่างเข้มแข็ง

จากสมการข้างต้นเมื่อย้อนกลับมามองการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของสังคมไทย ดูเหมือนว่าทั้งสามตัวแปรจะไม่ได้รับความใส่ใจมากนัก กระทั่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็ดูจะกลับตาลปัตร คือสิ่งที่ควรลดกลับเพิ่ม และสิ่งที่ควรเพิ่มกลับมองหาไม่ค่อยเห็น

หลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 สังคมไทยอุดมไปด้วยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบการทุจริต ไล่เรียงมาตั้งแต่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ตรวจสอบการทุจริตของข้าราชการและนักการเมือง) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินแผ่นดินของหน่วยงานราชการ) ไปจนกระทั่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สอบสวนหาข้อเท็จจริงจากเรื่องร้องเรียนของประชาชนแล้วส่งเรื่องให้หน่วยงานตรวจสอบอื่นๆ)

ขณะที่ในกระบวนการยุติธรรมก็มีการตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้การดำเนินคดีทุจริตที่ข้องเกี่ยวกับนักการเมืองเป็นไปอย่างรวดเร็วในศาลเดียว

นอกจากนี้ ในปี 2551 รัฐบาลก็ตั้งหน่วยงานในการกำกับดูแลของตนอย่างสำนักงานคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และในปี 2559 ก็ตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อรับฟ้องคดีทุจริตทั่วประเทศ

“การทำรัฐประหารไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชัน”
ผาสุก พงษ์ไพจิตร

ถึงแม้จะใช้บุคลากรและงบประมาณมากมาย แต่สถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศไทยกลับไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น ทั้งในเชิงการรับรู้ของผู้คนในประเทศและในเชิงของตัวเลขผลคะแนน โดยประเทศไทยยังไม่เคยได้คะแนนดัชนีภาพลักษณ์การมีคอร์รัปชันเกินครึ่งของคะแนนเต็ม นับตั้งแต่องค์กรความโปร่งใสสากลเริ่มให้คะแนนในปี 2540

สมการคอร์รัปชัน: แก้โจทย์ บวก ลบ คูณ หาย ในสังคมไทย คือการรวบรวมบทสัมภาษณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผูกขาด การใช้ดุลยพินิจ และกลไกความรับผิดชอบ เพื่อบอกเล่าความเป็นมาเป็นไปและสถานะความเป็นอยู่ของตัวแปรทั้งสามในสังคมไทย ซึ่งผู้จัดทำคาดหวังว่ามันจะช่วยให้สังคมไทยเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันมากขึ้น และเราจะได้ลงมือแก้โจทย์(ที่ควรจะแก้)กันแบบจริงๆ จังๆ เสียที

คอร์รัปชันกับการเมือง

ปัญหาคอร์รัปชันอยู่คู่กับนักการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย และมันก็ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการผลักนักการเมืองลงจากเวทีมาทุกยุคทุกสมัยเช่นกัน แต่นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2490 เมื่อกลุ่มทหารนอกราชการที่นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ นำกำลังทหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ปัญหาคอร์รัปชันก็ยังไม่หายไปจากสังคมไทย ซึ่งอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร บอกว่ามัน “แสดงว่าการทำรัฐประหารไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชัน”

นอกจากสามตัวแปรข้างต้น ‘การเมืองแบบเปิด’ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่จำเป็นสำหรับการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทย และบทสัมภาษณ์ของ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร ก็เน้นย้ำว่าการเมืองแบบเปิดจะลดปัญหาคอร์รัปชันได้ง่ายกว่าการเมืองแบบปิด และการทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการ รวมทั้งสิทธิเสรีภาพของสื่อ คือวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการต่อสู้กับคอร์รัปชัน

อาจารย์ผาสุกย้ำว่า “ในระบบการเมืองแบบปิด การปฏิบัติแบบเสมอเหมือนกันมันไม่เกิดขึ้น คือการปฏิบัติแบบไม่เสมอเหมือนกันมันยิ่งขยายต่อไป แต่ในระบบการเมืองแบบเปิด มันจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ เดินขบวนต่อต้านแบบสันติได้ และจะส่งผลให้จะต้องมีการปรับ ซึ่งคิดว่ามันเร็วกว่าระบบปิด ถึงแม้จะไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์”

บวก ลบ คูณ หาย

จากสมการคอร์รัปชัน สิ่งที่สังคมไทยควรจะทำจึงประกอบด้วยการ ‘บวก’ กลไกความรับผิดชอบ และการ ‘ลบ’ การผูกขาดและการใช้ดุลยพินิจที่ไม่เหมาะสม ขณะเดียวกัน ‘ตัวคูณ’ ที่จะช่วยแก้ปัญหาก็คือความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักของประชาชนทุกคน ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไร ทุกคนในประเทศต้องหารแบ่งความเสีย ‘หาย’ ที่เกิดจากการทุจริตคอร์รัปชันโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง

สมการคอร์รัปชัน

พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ บรรณาธิการ
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
จำนวน 200 หน้า
ราคา 220 บาท

Tags: , , , ,