เมื่อเอ่ยชื่อซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) สิ่งที่ผุดขึ้นมาในความคิดส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้น เรื่องของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ความฝัน และแรงปรารถนาของมนุษย์ แต่วันนี้เราจะมาชวนคุยเรื่องอื่นที่ว่าด้วยชุดสะสมสุดรักของฟรอยด์ที่มีส่วนในการพัฒนาแนวทางของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของเขา
เมื่อไม่กี่วันมานี้ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเยือน Freud Museum London ซึ่งตั้งอยู่ในบ้านหลังที่ฟรอยด์ใช้เวลาในช่วงสุดท้ายของชีวิตอยู่ที่นั่น ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ก่อนหน้านั้น ในปี ค.ศ.1938 ฟรอยด์ต้องลี้ภัยคุกคามของทหารนาซีจากบ้านที่เขาและครอบครัวอยู่อาศัยกันมานานถึง 47 ปีในเมืองเวียนนา ประเทศออสเตรีย อย่างเร่งด่วน หลังจากที่กองทัพเยอรมันบุกเข้ายึดออสเตรียได้ ด้วยเหตุที่ฟรอยด์นั้นมีเชื้อสายยิว และเป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงแล้วจึงเริ่มตกเป็นเป้าหมายในการคุกคามได้ง่าย เป็นที่มาของบ้านในลอนดอนของฟรอยด์หลังนี้ ที่เขาใช้เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำงานจนวาระสุดท้ายของชีวิต แน่นอนว่าปัจจุบันมันถูกเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก
ห้องสำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้คือห้องทำงานของฟรอยด์ ที่ข้าวของต่างๆ ส่วนใหญ่ถูกขนย้ายมาจากบ้านเดิมที่เวียนนา แม้ว่าหนังสือจำนวนมากต้องถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง แต่ที่ขนมาได้นั้นก็มีอยู่ประมาณ 2,500 เล่ม นอกจากหนังสือแล้วบรรดาโบราณวัตถุกว่า 3,000 ชิ้น เฟอร์นิเจอร์ และพรมประดับห้องก็ยังถูกขนมาด้วย จะเห็นว่าในฐานะของผู้ลี้ภัยที่ต้องหนีมาอย่างเร่งร้อน นี่ไม่ได้ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะสามารถนำของเหล่านี้ตามมาด้วยได้ ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าฟรอยด์มีความผูกพันกับวัตถุเหล่านี้จริงๆ เมื่อย้ายเข้ามาฟรอยด์ยังมีโอกาสได้ใช้ห้องทำงานแห่งนี้ในการบำบัดคนไข้และเขียนหนังสือของเขาต่อไปด้วย
เสียงเล่าเรื่องผ่านเครื่องนำชม (audio guide) ของพิพิธภัณฑ์กล่าวว่าเมื่อเข้าสู่ห้องนี้แล้วผู้ชมกำลังก้าวเข้าสู่โลกของฟรอยด์ ในสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศของห้วงเวลาที่ฟรอยด์กำลังพัฒนาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ และศูนย์กลางสำคัญของห้องนี้ก็คือโบราณวัตถุและศิลปวัตถุในความครอบครองของเขา ห้องที่ความฝัน ความทรงจำ และวัตถุจากอดีตที่ฝังลึก ได้ออกมาโลดแล่น ห้องถูกจัดแสดงนี้ถูกรักษาสภาพไว้เหมือนตอนที่ฟรอยด์ยังมีชีวิตอยู่
วัตถุสะสม และแรงบันดาลใจที่ส่งผลต่อการพัฒนาทฤษฎีจิตวิเคราะห์
วัตถุที่ฟรอยด์สะสมมีความหลากหลายและยากที่จะบอกว่าเขามีความสนใจหรือมีรสนิยมด้านความงามอย่างใดเป็นพิเศษ และคนใกล้ชิดก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเขามีรสนิยมทางด้านความงามน้อยมาก ชุดสะสมของเขาหลักๆ แล้ว ประกอบด้วย วัตถุจากวัฒนธรรมอียิปต์ โรม กรีก เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก และอเมริกาใต้ แหล่งที่มาของวัตถุเหล่านี้ส่วนใหญ่คือการซื้อหาเข้ามาเองของเขาผ่านดีลเลอร์ที่ไว้ใจได้โดยเขามีดีลเลอร์ประจำอยู่ที่เวียนนา และหลายชิ้นก็ได้รับมาในฐานะของขวัญจากเพื่อน และนักวิชาการทั่วโลกที่เขาทำงานด้วย
จากจำนวนของวัตถุในชุดสะสมของฟรอยด์ที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าเขาเป็นเพียงนักสะสมสมัครเล่นที่สะสมอย่างสะสมอย่างสะเปะสะปะ คำถามสำคัญที่ตามมาคือ อะไรคือแรงผลักดันที่ทำให้ฟรอยด์สะสมโบราณวัตถุ และทำไมเขาถึงเลือกที่จะสะสมของเหล่านี้ เหตุผลที่ทำให้ฟรอยด์เริ่มต้นสะสมโบราณวัตถุนั้นยังไม่แน่ชัดแต่คาดกันว่าสาเหตุสำคัญน่าจะเกิดจากมรณกรรมของบิดาในปี 1896 ซึ่งแม้ว่าฟรอยด์จะเริ่มสะสมโบราณวัตถุมาก่อนหน้านั้นพอสมควร แต่น่าจะเริ่มต้นสะสมจริงจังหลังปี 1896 และชุดสะสมที่เขาเริ่มเก็บจำนวนมากหลังจากนั้นก็มักเกี่ยวเนื่องกับความตาย และโลกหลังความตาย
เหตุผลที่สำคัญอีกประการและทำให้เรามองเห็นความคิดของฟรอยด์ต่อวัตถุ คือ เขาไม่ได้มองวัตถุเหล่านี้ในฐานะงานศิลปะ (art object) สำหรับเขาแล้วความสนใจต่อวัตถุนั้นอยู่ที่ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่สุนทรียะด้านความงาม (aesthetic) และด้วยความคิดเช่นนี้เองโบราณวัตถุและวิชาโบราณคดีจึงส่งอิทธิพลต่อการพัฒนาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์เป็นอย่างมาก
การอุปมาทางโบราณคดี (archaeological metaphor) ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการพัฒนาทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของเขา กล่าวคือ ฟรอยด์ใช้วัตถุสะสมอธิบายแนวคิดในการบำบัดของเขา นั่นก็คือความเชื่อมโยงระหว่างความทรงจำสำนึกรู้ (conscious memory) และความทรงจำที่อยู่ใต้จิตสำนึก (unconscious memory) ในที่นี้ หลุมศพที่ปิดตายใต้ดินก็เปรียบเสมือนจิตใต้สำนึกของคนเราที่ไม่สามารถมองเห็นหรือรับรู้ได้จากพื้นผิวดิน วัตถุที่ถูกเก็บรักษาไว้ในหลุมฝังศพที่ปิดตายในอียิปต์ ก็เปรียบได้กับความทรงจำที่ถูกฝังเก็บไว้ในส่วนลึกของจิตใจถึงชั้นที่เรียกว่าเป็นจิตใต้สำนึก เพราะฉะนั้น นักจิตวิเคราะห์ก็ทำงานเช่นเดียวกับนักโบราณคดีคือ การที่จะเข้าไปถึงความทรงจำระดับใต้จิตสำนึกได้ ก็ต้องค่อยๆ ขุดลอกชั้นของจิตที่ยังสำนึกรู้ลงไปทีละชั้น ทีละชั้น กระทั่งบรรลุสู่จิตใต้สำนึกนั่นเอง
ปรัมปรา ความฝัน ความทรงจำ และความตาย ในโลกของฟรอยด์
บรรยากาศในห้องทำงานของฟรอยด์นั้นไม่ได้ให้ความรู้สึกเหมือนห้องทำงานของนายแพทย์ที่ควรให้ความรู้สึกโปร่ง หรือมีเครื่องมือทางการแพทย์เป็นองค์ประกอบ แต่ดูเหมือนห้องทำงานของนักโบราณคดี หรือภัณฑารักษ์ในพิพิธภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยโบราณวัตถุจัดอยู่ตามตู้ที่แทรกระหว่างชั้นหนังสือ รวมไปถึงโต๊ะทำงานที่ฟรอยด์ใช้ประจำ
ผนังด้านหนึ่งของห้องทำงานเต็มไปด้วยชั้นหนังสือและตู้บรรจุโบราณวัตถุ ขณะที่ผนังฝั่งตรงกันข้ามกันคือโซฟาสำหรับคนไข้ที่มาบำบัดกับฟรอยด์ใช้สำหรับนอนและเล่าเรื่องความฝัน ความทรงจำ และสิ่งที่อยู่ในความคิด ขณะที่ฟรอยด์เองจะนั่งอยู่บนเก้าอี้ติดกับศีรษะของคนไข้เพื่อที่คนไข้จะมีอิสระในการบอกเล่าเรื่องราวโดยฟรอยด์เองจะได้ไม่เข้าไปรบกวนการเล่าเรื่องของคนไข้ หรือบางครั้งฟรอยด์จะนั่งอยู่บนโต๊ะทำงานที่อยู่กลางห้อง หันหน้าไปหาโซฟา ขบคิดทำความเข้าใจเรื่องเล่าของคนไข้พร้อมๆ กับการพิจารณาโบราณวัตถุชิ้นโปรดที่วางอยู่ตรงหน้าของเขา รูปแบบการจัดวางตำแหน่งของชั้นหนังสือ โซฟานอน และโต๊ะทำงานนี้เอง ทำให้หลายคนตีความว่าตำแหน่งของฟรอยด์นั้นคือจุดที่อยู่ตรงกลางระหว่างทฤษฎี (หนังสือ) และการบำบัด (โซฟา)
วัตถุที่ถือว่ามีความใกล้ชิดหรืออาจจะเรียกว่าเป็นชิ้นโปรดของฟรอยด์นั้นคือชิ้นที่ถูกวางเรียงรายอยู่บนโต๊ะทำงานของเขา โต๊ะทำงานนี้ตั้งอยู่กลางห้องและหันไปหาโซฟาสำหรับคนไข้ที่มาบำบัดได้นอนเล่าสิ่งที่พวกเขาฝันหรือนึกคิดให้ฟรอยด์ฟัง บางครั้งขณะที่ฟังคนไข้เล่า ฟรอยด์จะนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานพร้อมกับหยิบโบราณวัตถุชิ้นใดชิ้นหนึ่งมาถือลูบคลำไว้ในมือ ปัจจุบันมีความพยายามทำความเข้าใจกระบวนการสร้างทฤษฎีของฟรอยด์ผ่านวัตถุสะสมที่รายรอบตัวเขา ซึ่งวันนี้เราจะเลือกมากล่าวถึงเป็นบางชิ้น
ปมออดิปุส (Oedipus complex) และตำนานเทพเจ้าของกรีกไม่ใช่ปรัมปราที่ฟรอยด์เลือกขึ้นมาใช้ในการอุปมาเพื่อการวิเคราะห์จิตของมนุษย์อย่างบังเอิญ แต่เกิดจากความหลงใหลของเขาต่อเทพปกรณัมกรีก ตัวเขาเองยังหาโอกาสเดินทางท่องเที่ยวไปยังโรมและแหล่งโบราณคดีอันเกี่ยวเนื่องอยู่เป็นประจำ ชุดสะสมของเขาจำนวนมากก็เกี่ยวกับเนื่องกับวัฒนธรรมกรีก-โรมัน
ย้อนกลับมาที่ตำนานของกษัตริย์ออดิปุส กษัตริย์ของกรีกที่กระทำปิตุฆาตและแต่งงานกับมารดาที่แท้จริงโดยไม่ตั้งใจ ฟรอยด์พบว่าเมื่อสำรวจความทรงจำวัยเด็กของตัวเขาเองก็พบว่าเขาตกหลุมรักมารดาของตนเองพร้อมๆ กับที่มีความริษยาพ่อของเขาเอง นอกจากนี้เขายังพบว่าเรื่องเล่าอันคล้ายคลึงกันนี้ก็ปรากฏอยู่ในความฝันของคนไข้ของเขาเช่นกัน ดังนั้น ฟรอยด์จึงมองว่าเรื่องราวของกษัตริย์ออดิปุสเป็นสิ่งสะท้อนจิตใต้สำนึกที่เกิดขึ้นอย่างเป็นสากลในมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ สฟิงค์—สิ่งมีชีวิตรูปร่างกึ่งสิงโตกึ่งสตรี ซึ่งมีบทบาทสำคัญในเรื่องราวของออดิปุสโดยการเป็นผู้ตั้งปริศนาคำทายให้กับเขา จึงได้กลายมาเป็นวัตถุสะสมหลายชิ้นของฟรอยด์และเชื่อมโยงกับทฤษฎีว่าด้วยปมออดิปุส
ชุดวัตถุสะสมจากอารยธรรมอียิปต์ก็ถือว่าเป็นชุดสะสมชุดใหญ่พอๆ กับชุดสะสมในอารยธรรมกรีก-โรมันที่ฟรอยด์มีอยู่ วัตถุจากอียิปต์นี้เองที่หลายคนให้ความเห็นว่าน่าจะสัมพันธ์โดยตรงกับการจากไปของบิดาของฟรอยด์ ตัวเขาเองได้เคยวิเคราะห์ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ว่าก่อให้เกิดผลกระทบต่อเขาอย่างใหญ่หลวง อันเนื่องมาจากความรู้สึกสูญเสียอันท่วมท้นอยู่ภายในจิตใจ แม้ว่าตลอดชีวิตของเขาจะมีความสัมพันธ์ที่ลุ่มๆ ดอนๆ กับบิดามาโดยตลอด อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าการสะสมวัตถุจากอารยะธรรมอียิปต์จะเริ่มขึ้นอย่างจริงจังหลังเหตุการณ์นี้ โดยคาดกันว่าวัตถุที่ส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับความตายและชีวิตหลังความตายของมัมมี่ และวิถีที่ผู้วายชนม์มีผลต่อผู้คนที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังนี้เองที่ช่วยเยียวยาความรู้สึกของฟรอยด์
ผู้เขียนขอทิ้งท้ายที่วัตถุสะสมชุดสุดท้ายสำหรับบรรดาทาสแมวทั้งหลาย เป็นที่รู้กันว่าฟรอยด์มีหมาเป็นสัตว์เลี้ยงแสนรักประจำบ้านโดยเฉพาะหมาพันธุ์เชา เชา ที่มักปรากฏร่วมอยู่ในรูปถ่ายของเขาและครอบครัว
แมวไม่ใช่สัตว์ที่ฟรอยด์ชื่นชอบ แต่กระนั้นก็มีแมวอยู่ตัวหนึ่งที่ฟรอยด์เคยกล่าวถึง เป็นแมวที่ชอบแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนห้องทำงานที่บ้านในเวียนนา มีครั้งหนึ่งที่แมวตัวนี้เข้ามาสำรวจตรวจดูบรรดาวัตถุสะสมของฟรอยด์และแสดงอาการพึงพอใจออกมา ฟรอยด์จึงเสนอนมหนึ่งถ้วยเพื่อเป็นการผูกมิตรอยู่หลายครั้งและดำเนินต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน แต่แมวตัวนี้ก็ยังรักษาระยะห่างระหว่างเขากับมันอยู่อย่างสม่ำเสมอ จนฟรอยด์นิยามความสัมพันธ์แบบนี้ว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกัน (ดูเหมือนความสัมพันธ์รูปแบบนี้จะเป็นที่คุ้นเคยในหมู่ทาสแมว คงไม่ต้องบอกว่าฟรอยด์เป็นนายหรือทาส) และให้ฉายาแมวเหมียวตัวนี้ว่า ‘แมวที่หลงตัวเอง’ (the narcissistic cat)
ในชุดสะสมของฟรอยด์ก็ปรากฏรูปสัตว์อยู่หลายชิ้น และแมวเองก็เป็นหนึ่งในสัตว์เหล่านั้น แต่ความสนใจของเขาน่าจะอยู่ในระดับลึกกว่าแค่ประเภทของสัตว์ เพราะสัตว์หลายชนิดนั้นมักจะมีลักษณะแบบที่เรียกว่าทวิลักษณ์หรือลักษณะผสมที่มากกว่าหนึ่ง อาจเป็นสัตว์หลายประเภทในตัวเดียว หรือกึ่งสัตว์กึ่งมนุษย์ กึ่งมนุษย์กึ่งเทพ เช่น รูปเคารพของเทพีบัสเตต (Bastet) ที่มีรูปร่างกึ่งมนุษย์สตรีกึ่งแมว และมีสองบุคลิกคือสงบอ่อนโยนแต่ในขณะเดียวกันก็อาจเปลี่ยนไปสู่บุคลิกที่มีอารมณ์รุนแรงได้อย่างง่ายดาย ใครที่ตาดีจะเห็นว่ารูปเคารพของเทพีบัสเตตก็เป็นหนึ่งในวัตถุที่วางอยู่บนโต๊ะทำงานของฟรอยด์ด้วย
ความซับซ้อนทางความคิดของฟรอยด์ในการพัฒนาแนวคิดจิตวิเคราะห์ผ่านวัตถุสะสมยังมีอยู่อีกหลายแง่มุม และหลากหลายชิ้นที่ไม่อาจบรรยายในบทความสั้นๆ นี้ได้หมด และคาดว่าอาจมีการค้นพบความเชื่อมโยงใหม่ๆ เมื่อมีการศึกษาวัตถุสะสมของเขามากขึ้น เป็นที่น่าดีใจว่าพิพิธภัณฑ์ฟรอยด์แห่งนี้มีการวิจัยและตีความวัตถุในความครอบครอง รวมไปถึงความคิดและตัวตนของฟรอยด์อยู่อย่างสม่ำเสมอ ผ่านนิทรรศการพิเศษที่เวียนนำมาจัดแสดงทั้งปีควบคู่กับห้องจัดแสดงถาวร ผู้อ่านท่านใดที่สนใจหากวางแผนเดินทางมาลอนดอน ขอแนะนำให้แวะเวียนมาเยี่ยมชมรับรองไม่ผิดหวังค่ะ
เอกสารอ้างอิง:
Freud Museum. 1998. 20 Maresfield Gardens: A guide to the Freud Museum London. London: Serpent’s Tail.
Freud Museum. 2019. Freud & Egypt: Between Oedipus and the Sphinx. Exhibition catalogue, London.
Davies, Bryony. 2019. Sigmund Freud’s Collection: Highlights from the Freud Museum London. Poland: B3Project.
Tags: Sigmund Freud, psychoanalysis, Museums Now, Freud Museum London, collection