นับเป็นข่าวที่ทั่วโลกติดตาม เมื่อแบรนด์ยักษ์ใหญ่ของโลกอย่างไนกี้ เขย่าวงการกีฬาและการเมืองด้วยแคมเปญ Just do it โดยนำเอา โคลิน เคเปอร์นิค (Colin Kaepernick) อดีตควอเตอร์แบ็คทีม San Francisco 49ers มาเป็นพรีเซนเตอร์ หลังจากในปี 2016 เคเปอร์นิคนั่งลงคุกเข่า ปฏิเสธจะลุกขึ้นยืนในเพลงชาติสหรัฐฯ ก่อนลงแข่งเมื่อปี 2016 เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการปฏิบัติไม่เป็นธรรมต่อคนผิวสี ซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดข้อถกเถียงขึ้นในวงกว้างถึงความเหมาะสมและสถานะของเหล่านักกีฬาผิวสีในอุตสาหกรรมกีฬาที่ถูกยกมาเป็นประเด็นอีกครั้ง รวมถึง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่วิจารณ์ว่าการกระทำดังกล่าวของเคเปอร์นิคและเพื่อนร่วมทีมเป็นการไม่แสดงความเคารพต่อธงชาติสหรัฐฯ จนออกกฎใหม่ว่าผู้เล่นทุกคนต้องยืนตรงเพื่อแสดงความเคารพต่อธงชาติในเวลาต่อมา

ต้นกำเนิดการประท้วง

ย้อนกลับไปในปี 2016 เราอาจจะเห็นภาพชัดขึ้นว่าเหตุใดเคเปอร์นิคจึงตัดสินใจ ‘ส่งสาร’ นั้นออกมาก่อนการแข่งขัน นั่นเพราะปีดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่ประชากรผิวสีในสหรัฐฯ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายและวิสามัญอย่างเกินกว่าเหตุ โดยเฉพาะกรณีของ พอล โอนีล (Paul O’Neal) เด็กหนุ่มผิวสีวัย 18 —ไม่มีอาวุธ ที่ขับรถหนีตำรวจและปฏิเสธที่จะหยุดรถตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ พร้อมกับขบวนการ Black Lives Matter ซึ่งเป็นขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความยุติธรรมให้คนผิวสีที่ระอุขึ้นมาอีกครั้ง

นอกเหนือจากนั้น มันยังเป็นปีที่โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตนักธุรกิจผู้ผันตัวมาเป็นนักการเมืองพร้อมนโยบายขวาจัด ชนะการเลือกตั้งด้วย บรรยากาศในอเมริกาตอนนั้นจึงเต็มไปด้วยความคุกรุ่น

“ผมจะไม่ลุกขึ้นยืนเพื่อบอกว่าตัวเองภาคภูมิใจกับธงของประเทศที่กดขี่คนผิวสีหรอกครับ” เคเปอร์นิคกล่าวอย่างเผ็ดร้อนก่อนลงแข่งในปี 2016 ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วนักกีฬาทุกคนควรจะยืนเพื่อประกาศความภูมิใจที่มีต่อธงและความเป็นชาติของอเมริกา “สำหรับผมแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่กว่าฟุตบอลและผมคงจะเห็นแก่ตัวเหลือเกินหากทำเป็นเมินเรื่องนี้ ทั้งที่มีคนตายนอนอยู่บนถนน และมีคนที่จ่ายเงินเพื่อรอดพ้นจากการฆาตกรรมอยู่”

และราคาที่เคเปอร์นิคต้องจ่ายสำหรับการแสดงจุดยืนในครั้งนั้น คือการที่เขากลายเป็นคนว่างงานทันที…

หลังจากนั้นก็ไม่มีทีมไหนเลือกเขาไปเซ็นสัญญาเลย จนเขาต้องออกมาว่าจ้างทนายเพื่อฟ้องร้องเหล่าทีมอเมริกันฟุตบอลในลีก NFL ต่อการเลือกปฏิบัติเช่นนี้ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ราคาแสนแพงที่เขาต้องจ่ายในครั้งนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งให้ไนกี้ตัดสินใจเลือกเขามาเป็นใบหน้าสำคัญของแคมเปญครบรอบ 30 ปีสโลแกน  Just do it เพราะไนกี้เชื่อว่าเคเปอร์นิคและการกระทำของเขาคือโหมโรงของ Just Do It ในหมู่นักกีฬารุ่นใหม่ และทำให้ Just do it. ของเคเปอร์นิคมาพร้อมข้อความ “Believe in something. Even if it means sacrificing everything.” (หรือ ‘เชื่อในบางสิ่ง แม้ว่านั่นจะแลกกับการสูญเสียทุกสิ่งไปก็ตาม’) ซึ่งก็แสนจะตรงตัวกับสิ่งที่นักกีฬาวัย 30 ต้องแลกไปเพื่อยืนหยัดในจุดยืนของเขา

แน่นอนว่าทันทีที่ไนกี้ปล่อยแคมเปญนี้ออกมา แม้ว่าจะถูกต่อต้านจากคนที่ไม่เห็นด้วยกับเคเปอร์นิค แต่มันก็ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากเหล่านักกีฬาด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ชอว์น เมอร์ริแมน อดีตไลน์แบ็คเกอร์จาก NFL, ดักจ์ มิดเดิลตัน เซฟตี้วัย 24 ปีทีม New York Jets ข้ามไปถึงฟากนักกีฬาบาสเก็ตบอลอย่าง เลบรอน เจมส์ หรือนักฟุตบอลชาวอังกฤษอย่าง อีริค ไดเออร์ ที่ออกมาแสดงท่าทีสนับสนุนแคมเปญนี้ด้วยการโพสต์ภาพเคเปอร์นิคลงโซเชียลมีเดียของตัวเอง พร้อมทั้งมีรายงานว่ายอดขายของไนกี้พุ่งขึ้นมา 31 เปอร์เซ็นหลังจากปล่อยแคมเปญนี้ออกสู่สาธารณะ

ขณะที่คนดังจากวงการภาพยนตร์อย่าง จิม แคร์รี่ ก็ออกตัวสนับสนุนแคมเปญนี้ด้วยการโชว์รองเท้าไนกี้ แอร์ จอร์แดน พร้อมบอกอย่างภาคภูมิใจว่า “ดูนี่สิ วันนี้ผมเพิ่งไปถอยไนกี้มา ช่างเป็นไนกี้ที่เป็นมิตรและเปี่ยมเสรีภาพจริงๆ ขอแสดงความนับถือแก่โคลิน เคเปอร์นิคด้วยนะครับ” ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะแต่ไหนแต่ไร แคร์รี่ก็นับเป็นหนึ่งในคนที่แสดงออกชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับทรัมป์มาโดยตลอด เขายังเปรียบเทียบทรัมป์กับ อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐฯ ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงเปลี่ยนผ่านทางสังคมหลายอย่าง “เขาต้องเจอกับความข้นแค้นอย่างหนักหนาที่สุดเท่าที่ประเทศของเราเคยผ่านพบ แต่ก็ยังรวบรวมเราเป็นหนึ่งเดียวได้ แล้วดูตอนนี้สิครับ ตรงกันข้ามเลย”

ส่วนในทางธุรกิจ แม้ยอดขายจะกระฉูด หากแต่หุ้นของไนกี้ก็ร่วงลงมา 2.1 เปอร์เซ็นหลังปล่อยแคมเปญนี้ออกมา และกระแสรณรงค์คว่ำบาตรไนกี้ที่สนับสนุนเคเปอร์นิค พร้อมข่าวและวิดีโอที่ผู้คนพากันเผารองเท้าหรือสินค้าอื่นๆ ของไนกี้เพื่อประกาศว่าไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของแบรนด์ดัง (จนถูกพิธีกรชื่อดังอย่าง จิมมี คิมเมล แซวเอาเจ็บๆ ว่า “แหม คงเป็นการประกาศตัวของคนเหล่านี้ว่า พวกเขามีถุงเท้าอยู่เยอะเกินไปละมั้ง”) ส่วนที่รัฐหลุยเซียน่าก็เกิดเรื่องวุ่นขึ้นเมื่อนายกเทศมนตรีเมืองเคนเนอร์ในรัฐ ออกคำสั่งเด็ดขาดแบนไนกี้อ้อมๆ ด้วยการห้ามไม่ให้มีการใช้อุปกรณ์กีฬาไนกี้ หรืออุปกรณ์ใดๆ ที่ไนกี้เป็นผู้สนับสนุน ในพื้นที่สันทนาการเมืองเคนเนอร์ จนเกิดเรื่องวุ่นและมีผู้คนจำนวนมากออกมาประท้วงว่า ข้อห้ามของนายกเทศมนตรีครั้งนี้ “บ้องตื้น”

แน่นอนว่าทรัมป์ ประธานาธิบดีผู้เป็นไม้เบื่อไม้เมากับการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ออกมาให้สัมภาษณ์อย่างดุเดือดว่า “ผมว่ามันช่างเป็นข้อความที่น่ากลัวเหลือเกิน และเป็นข้อความที่ไม่สมควรถูกส่งต่อไปไหนด้วย” เขากล่าว “และนี่แหละคือประเทศนี้ ว่าคุณมีเสรีภาพในการจะทำในสิ่งที่คนอื่นคิดว่าคุณไม่สมควรทำน่ะ”

นักกีฬาผิวสี VS. ประธานาธิบดีตัวร้าย

เคเปอร์นิคไม่ใช่นักกีฬารายแรกที่ออกมาปะทะกับทรัมป์อย่างถึงพริกถึงขิงเช่นนี้ ก่อนหน้าเขานั้น นักกีฬาหลายคนไม่ว่าจะเป็นคนขาวหรือคนแอฟริกัน-อเมริกัน ล้วนแล้วแต่คัดง้างกับทรัมป์มาแล้วไม่มากก็น้อย นำขบวนโดยเลบรอน เจมส์ ฟอร์เวิร์ดชื่อดังที่เมื่อครั้งทรัมป์ชนะเลือกตั้งในปี 2016 เขาออกมาโพสต์ข้อความแสดงความเสียใจแต่ยังคง ‘ไม่สิ้นหวัง’ ต่อประเทศอเมริกา (ทั้งที่เขาโตมากับโอไฮโอ, คลีฟแลนด์ ที่โหวตให้ทรัมป์) และยืนยันว่าทรัมป์นั้นพยายามจะ “ใช้กีฬาเพื่อแบ่งแยกเราออกจากกัน” เจมส์กล่าว

“นี่เป็นเรื่องที่ผมสัมผัสได้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ว่าเขา (ทรัมป์) กำลังพยายามใช้กีฬาเพื่อแบ่งแยกเรา และนั่นก็เป็นเรื่องที่ผมไม่อาจเข้าใจได้สักนิด เพราะกีฬานี่แหละที่ทำให้ผมได้สัมผัสกับพวกคนขาว มีโอกาสได้รู้จักพวกเขา และพวกเขาก็ได้รู้จักผมเหมือนกัน ทั้งที่กีฬาไม่เคยเป็นเรื่องของการแบ่งแยกผู้คน แต่มันคือสิ่งที่รวมผู้คนเข้าด้วยกันต่างหาก”

นอกจากเจมส์แล้วนักบาสเก็ตบอลอีกรายที่ต่อต้านทรัมป์อย่างชัดเจนคือ สตีเฟน เคอร์รี การ์ดของโกลเดน สเตต วอร์ริเออร์ ที่ประกาศไม่เข้าไปพบทรัมป์ตามธรรมเนียมนักกีฬาที่ต้องเข้าไปเยี่ยมเยือนประธานาธิบดีหลังคว้าแชมป์มาได้ ขณะที่ สตีฟ เคอรร์ โค้ชของทีมวอร์ริเออร์เคยออกมาวิจารณ์ลีก NFL อย่างเผ็ดร้อน ด้วยการบอกว่ากฎที่ทรัมป์กำหนดขึ้นใหม่นั้น “ปัญญาอ่อนสิ้นดี” และ “เป็นปกติของ NFL ล่ะ แบบที่พยายามใช้เพลงชาติแสดงออกว่าเป็นการรักชาติแบบปลอมๆ ชาตินิยมแบบปลอมๆ ทำให้ผู้คนกลัว ปัญญาอ่อนน่ะ แต่ก็นะ มันก็เป็นการทำธุรกิจแบบฉบับของ NFL เขาล่ะ” (ก่อนจะบอกว่า ภูมิใจมากๆ ที่ลีกบาสเก็ตบอล NBA ที่เขาสังกัดนั้น ‘ไม่มีเรื่องพรรค์นี้’)

NFL กีฬาของอเมริกันชน

จากคำพูดของเคอร์รี อันที่จริงแล้วก็น่าคิดว่าเหตุใด กีฬาที่ได้รับความนิยมในหมู่ชาวอเมริกันในระดับไล่เลี่ยกันอย่างบาสเก็ตบอลกับอเมริกันฟุตบอลจึงมีส่วนผสมของ ‘ความเป็นชาติ’ ที่แตกต่างกันขนาดนี้ ทั้งที่มันต่างเป็นลีกที่มีเม็ดเงินมหาศาลหมุนเวียน มีผู้คนจับตารอดูการแข่งขันรอบลึกๆ และมีนักกีฬาที่เป็นสตาร์ให้คนได้คลั่งไคล้ หากแต่อย่างที่เราเห็น การออกมา ‘ส่งเสียง’ ของเคเปอร์นิคต่อความอยุติธรรมกลับทำให้เขากลายเป็นคนว่างงานอย่างน่าเศร้า ทั้งที่ที่ผ่านมา เขาไม่ใช่นักกีฬายอดแย่ และมีสถิติที่น่าชื่นชมอยู่เสมอด้วยซ้ำไป

และความเป็นที่นิยมอย่างมหาศาลของลีก NFL นี่เองที่อาจทำให้เคเปอร์นิคต้องเผชิญชะตากรรมอันน่าหดหู่นี้ เพราะหลายคนออกความเห็นว่ามีแนวโน้มอย่างมากที่ลีกจะรู้สึกกดดันจากการกระทำของเคเปอร์นิค และตัดสินใจ ‘คว่ำบาตร’ เขาเพื่อจะได้ไม่เสียฐานคนดูที่อาจไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของนักกีฬาหนุ่มวัย 30 ปีผู้นี้ และด้วยความพยายามที่ต้องการจะรักษาฐานเสียงจำนวนมหาศาลของคนดูเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้เคเปอร์นิคต้องรับตำแหน่งอดีตนักกีฬาไปโดยปริยาย

หากแต่เส้นทางการต่อสู้ของเคเปอร์นิคยังไม่จบ และยังไม่มีแนวโน้มจะจบลงในเร็ววันนี้แน่ๆ เมื่อเขาได้กลายมาเป็น ‘ใบหน้า’ ของการเคลื่อนไหวครั้งใหม่ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้การคุกเข่าประท้วงก่อนการแข่งขัน ซึ่งน่าจับตาว่า NFL และชาวอเมริกันจะมีท่าทีอย่างไรต่อจากนี้ ไม่ว่าจะต่อตัวเคเปอร์นิค ต่อแบรนด์ หรือต่อการเคลื่อนไหวต่อต้านความไม่เท่าเทียมในสังคมก็ตามที

Tags: , , , , ,