เที่ยงวันหนึ่งของต้นเดือนมีนาคม ผมนั่งอยู่ในคาเฟ่ของบ้านกอบัว โฮสเทลเล็กๆ ใกล้กับวัดบวรนิเวศวิหาร พลางดื่มอเมริกาโนเย็นๆ มองฝ่าเปลวแดดไปยังสะพานข้ามคลองบางลำพู

บนสะพาน หญิงชราแม่ค้าขายอาหารปลากำลังนั่งใช้พัดโบกไล่ลมร้อน ใบหน้าเปื้อนเหงื่อเพราะความอบอ้าว ชายชราอีกคนเดินจูงจักรยานสวนทางมา สีหน้าบอกบุญไม่รับ ดูจะไม่มีใครมีความสุขในฤดูร้อน ยกเว้นฝูงปลาเสือที่ว่ายหลบเงาพักผ่อนอยู่ในลำคลอง

ตอนนั้นเอง ชายหนุ่มร่างผอมบาง สกินเฮด สวมแว่นกันแดด ภายใต้เสื้อเชิ้ตแขนยาว กางเกงผ้าตัวโคร่ง รองเท้าผ้าใบเก่าคร่ำ ก็ปรากฏตัวขึ้นกลางสะพาน เขาโปรยยิ้มมาแต่ไกล ก่อนยกมือขวา ‘ชูสามนิ้ว’ เหนือศีรษะเป็นการทักทาย

นั่นแหละเขา ‘วรพจน์ พันธุ์พงศ์’

รู้กันว่านักเขียนรางวัลศิลปาธรวัยห้าสิบคนนี้ ย้ายจากกรุงเทพฯ ไปใช้ชีวิตอยู่ที่น่านนานกว่า 4 ปีแล้ว เขียนหนังสือ ปลูกต้นไม้ ซ่อมบ้าน เล่นกับแมว สลับกับเดินทางไปเยี่ยมเยียนเพื่อนฝูงตามแต่ใจจะบงการ ชีวิตดูช่างสงบราบรื่น น่าอิจฉา ทว่าภายใต้สถานการณ์บ้านเมือง ‘ไม่ปกติ’ ด้วยสำนึกในวิชาชีพสื่อมวลชน บวกกับความคับแค้นใจยามเห็นข่าวประชาชนผู้เห็นต่างถูกอำนาจเถื่อนคุกคาม ทำร้าย ถูกจับขังคุก ถูกอุ้มหาย ถูกบีบคั้นให้ต้องลี้ภัยไปต่างแดน ทำให้วรพจน์ไม่อาจอยู่นิ่งเฉย

สัปดาห์ก่อน เขานั่งติดตามข่าวสารทางโซเชียลมีเดียที่บ้านป่า สัปดาห์ถัดมา เขาโผล่ไปสังเกตการณ์ในขบวนเดินทะลุฟ้าที่สระบุรี สัปดาห์นี้ เขาเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อจัดงานเสวนา ‘ไผ่ ทนายอานนท์ และคนหนุ่มสาวของเรา’ ณ ร้าน On The Rose งานเล็กๆ ที่เขาและ ‘บินหลา สันกาลาคีรี’ เป็นโต้โผ ชักชวนมิตรสหายในวงการมาร่วมส่งเสียงให้กำลังใจไปยัง ‘เพื่อนที่อยู่ในเรือนจำ’ จากมาตรา 112

ในฐานะนักเขียนที่เกาะติดการเมืองไทยอย่างจริงจังต่อเนื่องมาหลายปี ตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 เหตุการณ์ล้อมปราบคนเสื้อแดงปี 2553 รัฐประหาร 2557 คดีความอันเกี่ยวเนื่องกับกฎหมายอาญามาตรา 112 จนถึงการชุมนุมเคลื่อนไหวของม็อบคนรุ่นใหม่ในรอบปีที่ผ่านมา วรพจน์เฝ้ามอง ศึกษา และเขียนมันออกมาเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนผู้รักประชาธิปไตย จนกลายเป็นหนังสือสมควรอ่านหลายเล่ม เช่น สถานการณ์ฉุกเฉิน, ความมืดกลางแสงแดด, จุดเทียนทั้งปลายทั้งโคน, ปรารถนา และเล่มล่าสุด ตอบแสงตะวัน

ท่ามกลางความเสื่อมโทรมของประเทศที่นับวันยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ หนทางดูสิ้นหวังริบหรี่ แต่วรพจน์บอกว่าไม่เคยคิดเรื่องแพ้ชนะ เพราะที่สุดของการต่อสู้คือความรู้ ถ้ามีความรู้มากพอก็สามารถชนะกระบอกปืนได้

“ระหว่างความรู้กับกระบอกปืน ความรู้สู้กระบอกปืนไม่ได้หรอก กระบอกปืนมันรูปธรรมกว่า ความรู้มันนามธรรม แต่ถ้าความรู้มากขึ้น กระบอกปืนมันจะไม่มีที่อยู่ไปเอง เรามองเห็นว่าชะตากรรมของบ้านเมืองมันแย่ เมื่อเราเห็นและไม่ยอมจำนนที่จะมีชีวิตแย่ เราก็ต้องดิ้นรนสร้างสิ่งที่เรารัก และทางเดียวที่จะทำให้พัฒนาชีวิตได้ก็คือการศึกษาหาความรู้”

เรานัดคุยกันเพราะมีเรื่องราวมากมายที่อยากจะฟังความคิดเห็นจากเขา ตั้งแต่ทัศนะที่มีต่อม็อบคนหนุ่มสาว, กระแส ม.112 รีเทิร์น, การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในวันที่ ‘เพดานขยับ’, ปรากฏการณ์ ‘ตาสว่าง’, บทเรียนที่เขาได้จากกวีเพื่อนรัก – ไม้หนึ่ง ก.กุนที, ประสบการณ์เรียนภาษาฝรั่งเศสในวัยห้าสิบ จนถึงอุดมการณ์และการอยู่รอดของนักเขียนในยุค ‘ทมิฬมารครองเมืองด้วยควันปืน’

 

เล่าถึงที่มาของกิจกรรมเสวนา ‘ไผ่ ทนายอานนท์ และคนหนุ่มสาวของเรา’ เมื่อวันที่ 10 มีนาคมหน่อย ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

เราเป็นนักเขียน เป็นสื่อมวลชน ก็สนใจความเป็นไปของบ้านของเมืองอยู่แล้ว โดยเฉพาะ 5-6 เดือนมานี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องใหญ่ที่สุดก็เป็นเรื่องความตื่นตัวทางการเมืองของคนหนุ่มสาวที่ลุกขึ้นมาส่งเสียง บอกเล่าความทุกข์ของสังคม แล้วคนที่ลุกขึ้นมาบอกเล่าความทุกข์กลับกลายเป็นผู้ถูกกระทำ

สถานการณ์แบบนี้ ในฐานะผู้ใหญ่ ในฐานะพ่อของลูก ในฐานะพี่ของน้อง เราพิจารณาดูแล้วว่ามันแย่เกินไป มันเศร้าเกินไป มันใจร้ายเกินไป มันอ้างว้างเปล่าเปลี่ยวเกินไปที่จะปล่อยให้คนหนุ่มสาวเผชิญความทุกข์เพียงลำพัง

เราอยู่ภาคเหนือ ระยะทาง 700 กว่ากิโลฯ จากกรุงเทพฯ บินหลา (บินหลา สันกาลาคีรี, นักเขียนซีไรต์ หนึ่งในโต้โผจัดงานครั้งนี้) อยู่ภาคใต้ 1,000 กว่ากิโลฯ จากกรุงเทพฯ ช่วงนี้เป็นจังหวะที่บินหลากับเราเข้ามาเมืองกรุงพอดี

ในเมื่อมันประจวบเหมาะกันในหลายเหตุผล ก็เลยคุยกันว่าเรามาเจอกันหน่อยดีกว่า ไม่ใช่แค่มานั่งกินเหล้า เมาแล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน ไหนๆ มาเจอกัน ก็มาส่งเสียง บอกเล่าความคิดเห็น บอกเล่าความปรารถนาของเรา ว่าถ้าสังคมนี้มีความเดือดร้อน มีความทุกข์ พวกเราก็เป็นเพื่อนร่วมทุกข์กับพวกเขา

ก่อนหน้านี้ คุณก็เพิ่งไปสังเกตการณ์ในขบวนเดินทะลุฟ้าที่สระบุรี

เมื่อมีข่าวสารบ้านเมืองในวาระสำคัญ เราก็อยากไปสังเกตการณ์มากกว่านั่งดูโซเชียลมีเดียที่บ้าน กรณีไผ่ ดาวดินก็อยากให้กำลังใจ เพราะเขาทำในสิ่งที่สงบ เป็นสันติวิธี ก็แค่การเดิน

เราเห็นไผ่มายาวนาน เห็นความเป็นนักต่อสู้ของเขา จิตใจกล้าหาญเสียสละที่เขาทำ เราเห็นตั้งแต่ตอนที่ประยุทธ์ จันทร์โอชาไปขอนแก่น แล้วเขากับเพื่อน 5 คนรวมตัวกันไปชูสามนิ้ว อาจจะพูดได้ว่าเป็นภาพแรกๆ ของการชูสามนิ้วต่อหน้าผู้มีอำนาจรัฐเลยก็ว่าได้ แล้วช่วงนั้นก็เป็นบรรยากาศที่กระบอกปืนยังอยู่สูงมาก ประยุทธ์มีอำนาจมาก แต่ไผ่ก็แสดงให้เห็นว่าเขาพร้อมที่จะแลก พร้อมที่จะประกาศออกมาว่าสิ่งที่คณะรัฐประหารทำมันไม่ถูกต้อง เขาเรียนกฎหมายมา รู้อยู่แล้วว่าทำอย่างนี้ต้องพบเจออะไรบ้าง แต่เขาก็พร้อมที่จะแลกด้วยอิสรภาพของตัวเองเพื่อให้สังคมดีขึ้น

คุณชื่นชมอะไรในตัวเด็กหนุ่มคนนี้

เราชอบบุคลิกเขานะ เป็นคนหนุ่มอายุน้อย อยู่ในวัยที่ถ้าเทียบกับวัยรุ่นทั่วไปก็คึกคะนอง เที่ยวเตร่เฮฮา จีบหญิง ซึ่งมันก็เป็นธรรมดาของวัย ไม่ได้แปลว่าไผ่ไม่จีบสาว ไม่กินเหล้า แต่เขาเอาประเด็นบ้านเมืองมาเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต เขาต่อสู้ในสิ่งที่ยิ่งใหญ่มาก แล้วก็ได้รับผลร้ายแรงมาก แต่เขายังยิ้มตลอดเวลา ไม่ใช่บ้านะ แต่ยิ้มต่อสู้ปัญหา เขาไม่เลือกที่จะนั่งกอดเข่าร้องไห้อยู่ในห้องมืด หรือชกกำแพงที่บ้าน เขาเชิดหน้า ยิ้มกว้าง สบตากับเผด็จการแบบไม่ยี่หระ ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้เห็นอะไรแบบนี้เท่าไหร่ ก็รู้สึกว่าเขาเป็นเด็กหนุ่มที่น่ารัก

ย้ายจากกรุงเทพฯ ไปอยู่น่าน คุณอัพเดตข่าวสารสถานการณ์บ้านเมืองใกล้ชิดมากไหม

เราไม่ใช่นักข่าวการเมือง เป็นสื่อมวลชนที่สนใจประเด็นกว้างๆ แล้วแต่ว่ามีเรื่องอะไรที่สำคัญและน่าสนใจ ซึ่ง 5-6 ปีมานี้เรื่องการเมืองน่าจะเป็นประเด็นใหญ่สุดแล้ว พวกเรื่องพิมรี่พาย ลุงพล ถ้าข้ามๆ ได้ก็ข้ามไปเพราะเรื่องแต่ละวันมันเยอะ ก็ต้องเลือกที่จะละวางและปัดทิ้ง ไม่รับรู้เสียบ้าง เราไม่มีทางรับรู้ทุกอย่างในโลกได้

โดยสรุป เรื่องหลักที่ติดตามก็คือเหตุบ้านการเมือง ก็ดูผ่านอินเทอร์เน็ตนั่นแหละ อำนาจของเทคโนโลยีไม่ว่าคุณจะอยู่ลาดพร้าว สีลม หรือจะอยู่บนภูเขาในจังหวัดน่าน โซเชียลมีเดียมันทำให้ทุกคนเท่ากัน อีกอย่างเราทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ มานาน เป็นสื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ก็มีแหล่งข่าว มีเครือข่าย มันเสริมรับได้ แม้ว่าอยู่ต่างจังหวัด แต่ถ้ามีม็อบ มีงานสำคัญ เราก็ต้องออกแรงเดินทาง อยากไปดูไปฟังด้วยหูด้วยตาตัวเอง โดยเฉลี่ยก็เดินทางประมาณเดือนละครั้ง นั่งรถทัวร์มา เหนื่อยหน่อยก็ไม่มีปัญหา เพราะว่ามันจำเป็นกับอาชีพเราที่ต้องเห็นอย่างใกล้ชิด

การชุมนุมเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในรอบปีที่ผ่านมาสร้างความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ทั้งรูปแบบ เนื้อหา สีสันต่างๆ คุณมีทัศนะอย่างไรกับม็อบเหล่านี้

เวทีการต่อสู้ทางการเมืองไม่เคยขาดแคลนคนหนุ่มสาว เพียงแต่ว่าเท่าที่เห็นรอบนี้ คนที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวอายุน้อยกว่าสมัย 14 ตุลาฯ อีก ระดับมัธยมนี่พึ่บพั่บเลย น่าสนใจมากว่าอายุของนักเคลื่อนไหวที่สนใจการบ้านการเมืองน้อยลงไปเรื่อยๆ

ทุกครั้งที่ฟังเด็กมัธยมพูด ไม่ว่าจะที่เชียงใหม่ โคราช สงขลา กรุงเทพฯ น่าน ความรู้ความสนใจของเขามันน่าทึ่ง น่าชื่นชม น่าเคารพ ย้อนกลับไปในวัยที่เราอายุเท่าเขา ถามว่าเราทำอะไรอยู่ คือมันต่างกันพอสมควร ไม่ได้บอกว่ามนุษย์ยุคนี้มหัศจรรย์ เราว่ามันก็เป็นไปตามพัฒนาการของสังคม เป็นความก้าวหน้าที่สืบเนื่องต่อยอดมาจากการต่อสู้ของคนรุ่นก่อนๆ ไม่ว่าเดือนตุลาฯ เดือนพฤษภาฯ คนเสื้อแดง เราต้องให้เครดิตประวัติศาสตร์ที่พวกเขาลุกขึ้นมาต่อสู้ก่อน แล้วก็ให้เครดิตน้องนักเรียนนักศึกษาที่มารับไม้ต่อ นี่เป็นความงดงามของการสืบทอดสายธารประชาธิปไตย

เรื่องความคิดสร้างสรรค์ในการแสดงออกก็เรียกว่าน่าสนใจ ไร้องค์กรนำ ไม่เหมือนม็อบแบบเดิมๆ อย่าง นปช. กปปส. ยุคนี้อาจจะมีการนำ แต่ก็หลวมมาก หลากหลายกลุ่มเป็นอิสระต่อกัน แต่มีจุดร่วมกันบางอย่าง เคลื่อนไหวเร็ว เปลี่ยนแปลงเร็ว ต่อยอดกันเร็ว ส่วนเรื่องความแหลมคมมันก็เคลื่อนไปเหมือนกัน ยุคหนึ่งคำว่า ‘เผด็จการ’ อาจจะหมายถึงทหาร แต่ตอนนี้ถ้ามีเรื่องสำคัญอะไรที่ส่งผลรุนแรงต่อสังคม เขาก็พร้อมที่จะเอามาพูดโดยไม่มีพื้นที่ละเว้นอีกแล้ว ไม่ว่าจะเรื่องในรั้วโรงเรียน เพศสภาพ สถาบันกษัตริย์

ที่ผ่านมาสังคมไทยเต็มไปด้วยพื้นที่ละเว้น พื้นที่แห่งอำนาจ พื้นที่แห่งความศักดิ์สิทธิ์ ถ้าเราต้องการสังคมที่พัฒนาจริงๆ ต้องพูดคุยถกเถียงกันได้ทุกเรื่อง มันจะนำไปสู่สังคมที่ดีกว่าการกดเอาไว้หรือห้ามพูด อะไรที่หลบอยู่ก็ฉายไฟเข้าไปหามันแล้วเอามาพูดกันในที่แจ้ง ดีกว่าปล่อยให้คลุมเครืออยู่ ใครทำผิดทำถูกจะได้เห็น ไม่อย่างนั้นถ้ามีใครไปหลบซ่อนอำพรางในที่มืด สังคมก็ไม่รับรู้ว่ามันถูกผิดอย่างไร

ความคิดความอ่านของคนหนุ่มสาวยุคนี้เป็นอย่างไรในสายตาคุณ เพราะบ้างก็ว่าล้ำเส้นเกินไป ก้าวร้าวเกินไป

ชัดเจนแล้วว่าพลเมืองคนหนุ่มสาวของไทยมีประสิทธิภาพมากไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ก็มีอารมณ์กึ่งๆ ดีใจบวกเศร้าใจ ดีใจว่าโคตรเก่งเลย เก่งทั้งเนื้อหา วิธีการนำเสนอ ความกล้าหาญ แต่ที่เศร้าใจคือสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย รัฐบาลไม่เคยส่งเสริมพวกเขาเลย กดเอาไว้ทุกวิถีทาง มันน่าเสียดาย เหมือนคุณมีสวนดอกไม้ที่พร้อมจะเติบโตงดงาม แต่สังคมเราไม่เคยทำหน้าที่ให้น้ำ ให้แสงแดด มีแต่จะเอาปืนไล่ฆ่า เอาตีนไปกระทืบ มันน่าเศร้าและโหดร้ายที่สุด

ผู้ใหญ่มีหน้าที่ฟูมฟักส่งเสริมเยาวชน แต่นอกจากคุณไม่ทำหน้าที่ กลับระดมเงิน ระดมสรรพกำลังมาทำในสิ่งที่ปิดปากเขาไว้ ไม่ปล่อยให้มีเวที มีความเคลื่อนไหวอะไรเลย มัวแต่อ้างเบื้องสูง อ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่เปิดให้ถกเถียง ทุกคำกล่าวอ้างก็ล้วนฟังไม่ขึ้น ฟังไม่เข้าใจ ฟังไม่รู้เรื่อง ไม่มีน้ำหนัก ใช้แต่อำนาจ ใช้แต่กฎหมายที่ป่าเถื่อน

ทุกครั้งที่คนรุ่นใหม่ออกมาต่อสู้ก็มักจะถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามด้วยวาทกรรมเดิมๆ เช่น ถูกล้างสมอง จูงจมูก มีคนชักใยอยู่เบื้องหลัง รู้สึกอย่างไรบ้าง

ทุกวันนี้ในหัวในเนื้อตัวเราไม่เหลือถ้อยคำใดอีกแล้ว ไม่มีอะไรจะพูด ในใจเรามีแต่ความคับแค้น

คำว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง โดนจูงจมูก ถูกล้างสมอง เราได้ยินคำนี้มาชาชิน โกรธจนขำน่ะ มนุษย์เวลาเจอกัน คุณต้องเริ่มต้นด้วยการเคารพเขา ไม่ใช่เริ่มต้นด้วยคำว่ารับงานใครมา หรือมีคนอยู่เบื้องหลัง ความคิดแบบนี้มันดูถูกผู้อื่น ใส่ร้ายผู้อื่น จะผิดจะถูกก็ให้ดูคำพูด ดูเนื้อหา การกระทำ ไม่ใช่เริ่มต้นก็เอากรอบไปใส่เขา แล้วบอกว่ารับเงินมา ถูกล้างสมอง ทัศนะแบบนี้บัดซบ เป็นทัศนะที่ไม่เคารพคนอื่น ซึ่งสุดท้ายมันสะท้อนว่าคุณไม่มีความเคารพต่อตัวเอง สะท้อนว่าคุณเป็นคนที่โง่เขลา

เมื่อผู้ใหญ่บางคนมีทัศนคติแบบนี้กับเด็ก เลยมีคนพูดถึงประเด็น Generation gap และมองว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างวัย คุณคิดอย่างไร

ด้วยความที่ว่าเทคโนโลยีพัฒนาก้าวไกลมาก เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็วมาก ทำให้มนุษย์โตเร็วขึ้น สมมติว่าจะค้นหาข้อมูลสักเรื่อง สมัยก่อนเราอาจต้องเดินออกจากบ้าน นั่งรถเมล์ไปหอสมุดแห่งชาติ ไปรื้อแฟ้มจนกว่าจะเจอ เอาไปให้บรรณารักษ์ถ่ายเอกสาร ใช้เวลานานมากกว่าจะได้ข้อมูล ทุกวันนี้กดจิ้มทีเดียว ความรู้กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ คนมันก็รู้กว้างไกลขึ้น เด็กโตเร็วขึ้น โลกใบใหม่ของคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นทุกวัน โลกหลายๆ แบบ โลกหลายๆ ใบ จริงๆ มันไม่เกี่ยวกับเรื่องอายุหรอก คนอายุ 70 ปีที่หัวทันสมัย ใช้เทคโนโลยีได้ดีก็มี แต่ผู้ใหญ่บางคนปิดกั้นตัวเอง เลยทำให้เหมือนอยู่กันคนละโลก ผู้ใหญ่ที่มีหัวใจคับแคบ ชอบบงการ ชี้นำ ควบคุมคนที่อายุน้อยกว่า แต่ไม่ว่าจะอย่างไรมันเป็นโลกคนละใบไปแล้ว คุณไม่มีทางควบคุมได้ จะเอาโซ่ไปล่ามแท่นพิมพ์เหมือนเมื่อก่อนมันทำไม่ได้แล้ว

วันก่อนเห็นสื่อพม่าบอกว่า ต่อให้ถูกปิดสำนักข่าว เขาก็ไม่สามารถละเว้นหน้าที่สื่อมวลชนได้ หนังสือพิมพ์ถูกปิด เขาอาจต้องติดคุก ต้องลี้ภัย แต่คุณปิดจิตวิญญาณของนักหนังสือพิมพ์ไม่ได้ สปิริตพวกนี้มันเบ่งบานไปหมดแล้ว เปรียบเหมือนกับว่า เมื่อมนุษย์รู้จักการเดิน รู้จักคำว่าคนเท่ากัน ก็ไม่มีทางที่จะกลับไปคลานเข่า ไม่มีทางที่จะกลับไปเป็นสัตว์สี่เท้าอีก มนุษย์จะพัฒนาไปเรื่อยๆ เผอิญว่าตอนนี้เราอยู่ในวันเวลาที่มันปะทะกันระหว่างสองโลกนี้อย่างรุนแรง ถ้าผู้ใหญ่จิตใจปกติก็จะไม่มีอะไรเลย ทุกคนก็เดินไปด้วยกัน แต่นี่เวลาเถียงกัน เราไม่เคยเห็นผู้ใหญ่ใช้เหตุผลในการเถียงเลย มีแต่บอกว่าผมสู้อะไรมาเยอะ ผมผ่านอะไรมาก่อน ไอ้เด็กพวกนี้ยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม ไอ้เด็กเมื่อวานซืน ไม่รู้จักอดีต ไม่รู้ประวัติศาสตร์ ไม่กตัญญูต่อแผ่นดิน

 

แล้วคิดอย่างไรกับข้อเรียกร้องของม็อบราษฎร

เห็นด้วยทุกอย่าง เป็นสิ่งที่ดี

สำหรับเรา เมื่อมีคนจำนวนหนึ่งลุกขึ้นมาเสนออะไรสักอย่าง เราควรรับฟัง ทำให้มันเป็นบทสนทนาในสังคม ไม่ใช่ห้ามไม่ให้พูด

ในฐานะหน่วยหนึ่งของสังคม คุณมีความทุกข์หรือความเห็นอะไรคุณก็เสนอขึ้นมา คนมีอำนาจก็เอาความเห็นต่างๆ มาวิเคราะห์ พิจารณา ถกเถียงกัน ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เอาก็ถูกตีตกไปเท่านั้นเอง แต่เบื้องต้นต้องเข้าใจให้ชัดก่อนว่า สิ่งเหล่านี้มันเป็นเพียงข้อเสนอ เหมือนครั้งหนึ่งกลุ่มนิติราษฎร์เคยเสนอให้แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 แค่นี้ก็มีคนไปชกอาจารย์วรเจตน์ (ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์, อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มนิติราษฎร์) คุณไม่เห็นด้วยก็เสนออย่างอื่นสิ ก็มาเถียงกัน มนุษย์ก็เถียงกันไปเรื่อยๆ เพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุด การโยนออกมาในที่แจ้งและให้ถกเถียงกันเป็นสิ่งที่สวยงาม และทุกข้อเสนอในโลก ถ้าห่วยมันก็จะตกไปเอง คุณไม่ต้องไปกังวล 

เรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พูดง่ายๆ เร็วๆ เลย เรายังไม่ต้องพูดเรื่องเจ้าเลยก็ได้ มองแค่ตัวบท มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่กำหนดโทษไว้อย่างไม่เป็นธรรม เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าคุณขับรถแล้วจอดผิดที่ จอดในที่ห้ามจอด ใครเดินมาเจอก็สามารถเผารถคุณทิ้งได้เลย แบบนี้คุณว่าเป็นธรรมไหม ถ้าคุณจอดผิดที่ต้องติดคุก 15 ปี เอาไหมล่ะ คุณเอาไหมไม่รู้แต่ผมไม่เอา เรายอมรับไม่ได้ บางคนบอกว่าเพิ่มโทษให้มันหนักๆ คนจะได้ไม่ทำผิด มันไม่จริงหรอก ถ้าทัศนะแบบนี้มีจริง โลกนี้ไม่มีคนทำผิดหรอก โลกนี้ไม่มีคนมาสาย ถ้ามาสาย เอาไปประหาร นึกออกไหมว่ามันไม่เป็นธรรม

แล้วบางทีมันอาจเป็น human error  คุณไม่ได้ตั้งใจจะจอดผิดที่ ไม่ได้ตั้งใจจะฝ่าไฟแดง บางทีก็เผลอ บางทีก็เบลอ บางทีก็งง เข้าไปซื้อของ แต่ลืมจ่ายตังค์ก็อาจเป็นไปได้ กฎหมายประเภทหยิบของราคา 5 บาท ถ้าลืมจ่ายตังค์ก็เอาไปประหารชีวิต เฮ้ย มันเกินไป

กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ มันคือความป่าเถื่อน มันไม่เข้าท่า มนุษย์ศิวิไลซ์ต้องมีกติกาที่เหมาะสม ลงโทษอย่างเหมาะสมตามโทษานุโทษ อย่างสวิตเซอร์แลนด์ที่ว่ากันว่าสังคมดีก็ยังมีการปล้นฆ่า มีการข่มขืน ความดีความเลวในตัวมนุษย์มันปะปนกันอยู่ในทุกผู้ทุกนาม ทุกชนชั้น โดยปกติคุณอาจไม่ใช่คนเลว แต่ถ้ามีโอกาส สันดานปีศาจอาจแสดงตัวขึ้นมา ซึ่งในสังคมอารยะ สังคมที่มีกฎหมายเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ มันจะช่วยจัดการกับคนเหล่านี้ไม่ให้มีโอกาสทำความชั่ว ระบบการตรวจสอบที่ดีจะป้องกันการฉ้อฉลได้ ทำให้คนต้องระมัดระวัง เราควรเอาเวลาไปช่วยกันคิดตรงนี้ดีกว่ามาปิดกั้น ห้ามไม่ให้พูด คุณจะไปกลัวอะไรกับความจริง

เรื่อง ม.112 ที่ผ่านมามีทั้งการเสนอให้แก้ไขและยกเลิก คุณคิดว่าทางออกควรเป็นในรูปแบบไหน

จะแก้ไขหรือยกเลิกไปเลยก็ได้ แต่ต้องไม่นิ่งเฉยดูดาย มันเป็นปัญหาใหญ่สุดแล้วในตอนนี้ ยังไงก็ต้องเอามาวางบนโต๊ะแล้วพูดคุยถกเถียงกัน ไม่ใช่ใครพูดอะไรขึ้นมา ก็จับ จับ จับ ไล่จับเยาวชนคนหนุ่มสาวเอาไปใส่ไว้ในคุก เราจะสร้างชาติกันแบบมีลูกมีหลานก็จับเอาไปไว้ในคุกหมดเลยเหรอ มันจะเป็นสังคมเป็นประเทศได้ยังไง เมื่อมีปัญหาเรามาคุยกันไม่ดีกว่าเหรอ ยิ่งมาทำอย่างนี้คนยิ่งสงสัย ยิ่งกระโดดเข้าไปดู แม้กระทั่งคนที่ไม่รู้เรื่องมาก่อนเลยก็จะต้องหันมาสนใจ

เราเดินทางมาถึงในจุดที่เลี่ยงไม่ได้แล้ว ม.112 เกี่ยวกับเจ้าแน่ๆ เลี่ยงไม่ได้แล้วที่จะไม่พูดถึง เวลามันเดินทางมาถึงจุดนี้แล้ว คุณต้องมาเถียงกันในที่แจ้ง ทุกเรื่องที่คนสงสัยหรือมีปัญหาต้องเอามาวางบนโต๊ะ ไม่ใช่พอพูดขึ้นมาคำหนึ่งก็จับไปติดคุก นี่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา

เพิ่งมีข่าวว่ารัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมมีแผนจะสร้างคุกเพิ่มเพื่อรองรับนักโทษการเมืองโดยเฉพาะ

ถ้าอยากอยู่ก็ไปสร้างคุกที่บ้านคุณดีกว่าไหม ประเทศที่เจริญแล้วมันต้องหาวิธีลดคุกให้มากที่สุด หรือถ้ามีคุกอยู่ก็ไปทำให้มันสะดวกสบาย ให้มันสะอาดที่สุด คุกในประเทศแถบสแกนดิเนเวียเขาแทบจะทำเป็นรีสอร์ตแล้ว ต้องสร้างเสริมให้ผู้ถูกกักขังอยู่สบายที่สุด เพิ่มความรู้ความสามารถที่สุด เพื่อเขาจะได้ปรับตัว คิดใหม่ ออกมามีชีวิตที่ดี

คุณควรเอาเวลาไปสร้างสวนสาธารณะ สร้างโรงพยาบาล สร้างโรงเรียน ไม่ใช่มาคิดเรื่องการสร้างคุก การเมืองไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยคุก การเมืองต้องแก้ด้วยการถกเถียงพูดคุย ต้องแก้ด้วยการศึกษา เรามีรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมแบบนี้ไง ประเทศมันถึงเป็นแบบนี้ คุณไปไล่ถามหรือทำโพลอย่างจริงใจดูบ้างไหม ว่าตอนนี้มีใครเขายังยอมรับว่าสังคมไทยมันเหลือความเป็นธรรมอะไรบ้าง เรายังเหลือสิ่งใดที่ยังเป็นกฎกติกาที่จะเคารพได้อยู่ มันพังพินาศกันไปหมดแล้ว

คดีคุณอัญชันติดคุก 80 กว่าปี เพนกวินตอนนี้โดนไป 13 คดี รวมแล้วโทษสูงสุด 195 ปี เด็กหนุ่มคนหนึ่ง เรียนเก่ง มีความรู้ ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง แล้วดูสิ่งที่สังคมไทยกระทำต่อเขา รุ้งได้รางวัลของบีบีซี อานนท์ได้รางวัลกวางจู ปีก่อนโน้น ไผ่ ดาวดินก็เคยได้รางวัลนี้  ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่รางวัลของไทยนะ เป็นรางวัลของชาวโลกที่มอบให้คนหนุ่มสาวของไทย แล้วคุณดูสิ่งที่สังคมไทยกำลังทำต่อคนหนุ่มสาวของตัวเอง คุณกำลังทำอะไรกับลูกหลานของคุณเอง จะใจร้ายโหดเหี้ยมกันไปถึงไหน เมื่อไรจะเปิดหูเปิดตายอมรับเสียที ว่าโลกใบเก่าที่คุณสร้างขึ้นมาหลายอย่างมันไม่ฟังก์ชันแล้ว คุณจะกอดรัดเอาไว้ทำไม ทำไมไม่ปล่อยให้โลกเคลื่อนไป ทำไมไม่ส่งต่อให้ไปอยู่ในมือของคนหนุ่มสาว

 

คำว่า ‘ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์’ ที่กำลังดังกระหึ่มตอนนี้ มีคนบอกว่าเป็นการขยับเพดานครั้งใหญ่ของสังคมไทย คุณคิดอย่างไรต่อประเด็นนี้

ตอนนี้ทุกอย่างสาธารณะหมดแล้ว สะท้อนว่าสถาบันกษัตริย์กับสังคมไทยเป็นเรื่องใหญ่ที่คุณหนีไปไหนไม่ได้อีกแล้ว นอกจากนี้ยังสะท้อนความรู้สึก สะท้อนอารมณ์ของผู้คนและสังคมว่ามันไม่ไหวแล้ว ไม่มีทางที่จะไปห้ามไม่ให้พูด แต่การพูดการแสดงความเห็นไม่ได้แปลว่าไม่มีความผิดเลย ใครไปพูดด่าทอ ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย ประเทศไทยมีกฎหมายหมิ่นประมาทอยู่แล้ว การพูดทุกอย่างมันมีกติกา มีเส้นของมันอยู่ เพียงแต่เส้นมันต้องได้มาตรฐาน ไม่ใช่พูดนิดเดียวก็บอกว่าเกินเหตุ

บ้านเรามีประชาชน บ้านเรามีเจ้า นี่คือความจริง จะให้เอาใครไปไว้ที่ไหน ก็สังคมชาติบ้านเมืองเราอยู่มาแบบนี้ เพียงแต่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับประชาชนมันเคลื่อนไป เปลี่ยนแปลงไป การอยู่ร่วมกันมันก็ต้องหากฎกติกาที่ถูกต้องเหมาะสมเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

จากเดิมที่คุณเคยเขียนเรื่องชีวิต ผู้คน ความรัก การเดินทาง สายลมแสงแดด ถึงจุดหนึ่งทำไมตัดสินใจหันมาเน้นเขียนเรื่องการเมือง

ความรัก การเดินทาง หนังสือ หนัง เพลง ท้องทะเล ชีวิตอย่างนั้นมันย่อมสบายกว่าอยู่แล้ว และไม่มีคนเกลียด เขียนเรื่องทะเลมันขัดแย้งยาก ทุกคนอยากเป็นที่รักกันทั้งนั้น ไม่มีใครอยากถูกโกรธเกลียด หรือถูกมองด้วยความไม่เข้าใจ แต่เมื่อเราเห็นมันอยู่ต่อหน้าต่อตา เมื่อเราได้ศึกษาจนคิดว่ามีความรู้พอที่จะแชร์ แลกเปลี่ยน บอกเล่า เราก็ต้องทำ และพร้อมจะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น

เราไม่ได้มีชีวิตอยู่ในยุคไพร่ฟ้าหน้าใส ถ้าบ้านเมืองสงบสุข มีรอยยิ้ม มีเสียงเพลง เราก็คงยังอยู่ในเรื่องของความสวยงาม แต่ตอนนี้บ้านเมืองเราอยู่ในยุคสงครามทางความคิด อยู่ในปัญหาที่มันเป็นก้อนใหญ่มาก เราเป็นนักเขียน เป็นสื่อมวลชน มันจำเป็นต้องพูด คุณจะหนีไปไหนล่ะ คุณจะไปนั่งมองทะเลโดยลำพังเหรอ สังคมเรามีความทุกข์ เราก็ต้องเกาะเกี่ยวติดตามไปกับชะตากรรมของประชาชน ชะตากรรมของประเทศ

เราอยากมีชีวิตที่ดี อยากไปนั่งมองทะเลเหมือนเดิม อยากเขียนเรื่องดอกไม้เหมือนเดิม แต่ตอนนี้มันอยู่ในความเดือดร้อนทุกข์ยาก อยู่กลางกองเลือด ก็เลี่ยงไม่ได้ ต้องศึกษาเรียนรู้ พูดคุย รายงาน ถกเถียง เพื่อก้าวให้มันผ่านพ้นไปโดยเร็วที่สุด เพื่อจะกลับไปสู่ยุคสายลมแสงแดดอีกครั้ง

หลังจากนำเสนอเรื่องการเมืองอย่างจริงจัง แฟนหนังสือของคุณยังคงติดตามอ่านผลงานของคุณเหมือนเดิมไหม หรือหายไป

คนจำนวนหนึ่งหายไปแน่นอน บางคนหายไปด้วยความที่ไม่สนใจการเมืองเลย ไม่อยากจะรับรู้เรื่องพวกนี้ บางคนสนใจการเมืองมาก แต่มีความเห็นต่างจากเรา เราก็เคารพและพร้อมที่จะรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ ต่อให้วันนี้มันน้อยลง พรุ่งนี้อาจจะน้อยลงไปอีก ก็ต้องยอมรับ แต่จะให้เราหวั่นไหวไปทำในสิ่งที่เราไม่เชื่อคงเป็นไปไม่ได้ เราทำได้ในแบบของเราเท่านั้น หนังสือที่เขียนที่ทำออกมา ถ้ามันขายดีก็ดีใจ ถ้ามันขายไม่ดีเราก็ทำใจและเข้าใจ

 

สังเกตว่าคุณชอบคบหาพูดคุยกับคนหนุ่มสาวมาทุกยุค มีอะไรที่น่าสนใจในตัวพวกเขาบ้าง

ยิ่งมองยิ่งเห็นว่าแต่ละวันที่ผ่านไป พวกเขายิ่งเก่งขึ้นเรื่อยๆ แต่ความซวยคือประเทศนี้มันไม่ทำหน้าที่ หน้าที่ของรัฐไม่ใช่การกด หน้าที่ของรัฐคือการปลดปล่อย ถ้าคุณไร้สติปัญญา ไร้ความสามารถที่จะส่งเสริม ขอเถอะ กราบส้นตีนเลยก็ได้ อย่าทำลายได้ไหม

ปล่อยให้คนหนุ่มสาวได้เดิน ได้เลือกชีวิตอย่างที่เขาอยากจะมี อยากจะเป็น ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ก็น่าจะอยากเห็นลูกของคุณเติบโตก้าวหน้า คุณน่าจะเป็นพ่อแม่ที่ให้อิสรภาพแก่ลูกของคุณ อะไรที่คิดไม่เหมือนกันก็ถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน แล้วคุณก็ต้องเคารพความคิดความเชื่อใหม่ๆ เพราะถึงเขาจะเป็นลูกหลานของคุณ แต่เขาก็มีชีวิตของเขา

เราชอบคนหนุ่มสาว และนับถือมากๆ ทั้งคนที่เจอในชีวิต ทั้งคนที่ก้าวออกมาทำงานแบบไผ่ เพนกวิน รุ้ง แอมมี่ ทุกคนมีความเก่ง มีความกล้าหาญกันหมด เราถึงบอกว่าพลเมืองของไทยโคตรมีประสิทธิภาพมากๆ เป็นบุคลากรชั้นเลิศ น่าเสียดายที่เขาเกิดในแผ่นดินไทย เกิดและเติบโตในวันเวลาที่ผู้ใหญ่ไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง ผู้ใหญ่ไทยไม่รู้จะหวาดกลัวอะไรกับลูกหลานของตัวเอง มันน่าแปลกประหลาด คุณทำความผิดอะไรไว้เหรอ คุณกังวลกับอาชญากรรมอะไรที่คุณสร้างไว้เหรอ คุณกังวลว่าเขาจะค้นพบบาดแผลอะไรที่คุณหมกซ่อนเอาไว้เหรอ คุณถึงได้หวาดกลัวกันนัก

ทุกครั้งที่ฟังปราศรัย ดูการสัมภาษณ์ของคนหนุ่มสาว เรารู้สึกว่า ความเรียงดีๆ บทกวีดีๆ มันถูกเขียนไปหมดแล้ว บทกวีที่ดีที่สุด ไผ่ได้เขียนขึ้นมาแล้วด้วยลำแข้งของเขา หรือไอเดียที่เราอยากจะเขียน รุ้งพูดไปแล้ว แอมมี่ก็ทำไปแล้ว นี่พวกคุณเป็นห้องสมุดหรือเปล่า เขียนความเรียง 10 เรื่องจะได้เท่าที่เพนกวินปราศรัย 15 นาทีหรือเปล่ายังไม่แน่ใจเลย พวกเขาทุกคนโคตรมีประสิทธิภาพ สังคมไทยมีคนระดับนี้อยู่อีกเต็มไปหมด แต่สังคมไทยก็ยัดคดี โดยเฉพาะ ม.112 ใส่ร้าย ทำร้ายด้วยหัวใจโหดเหี้ยม เราควรรู้สึกยังไงเมื่อเห็นแม่ๆ ของนักกิจกรรมทั้งหลายกอดคอกันร้องไห้ คุณทนดูได้จริงๆ เหรอ

ตอนเขียนหนังสือ ความมืดกลางแสงแดด (พ.ศ. 2555) ที่พูดถึงเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจาก ม.112 ทำงานยากไหม มีความกดดันอะไรบ้าง

เราทำงานด้วยความเจ็บปวด ทำด้วยความรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหญ่มาก แล้วมันกระทบผู้คนอย่างรุนแรง อาชีพเราคือนักข่าว นักเขียน เรายืนยันหลักการ Free speech ไม่เห็นด้วยก็ถกเถียงมา ไม่ใช่ปิดปาก ยิ่งสื่ออื่นไม่ทำเราก็ต้องพูด ต้องช่วยกันยืนยันสิ่งนี้

ในฐานะสื่อมวลชน เราภาคภูมิใจที่ได้นำเสนอเรื่องพวกนี้ออกมา เป็นปากเป็นเสียงแม้ว่าจะเล็กๆ แต่มันประเด็นแหลมคม

คิดอย่างไรกับปรากฏการณ์ ‘ตาสว่าง’ ที่คนพูดถึงกันมาหลายปีแล้ว และดูจะขยายวงกว้างขึ้นมากในช่วงปีสองปีนี้

คำว่า ‘ตาสว่าง’ แปลว่าประชาชนกับสถาบันกษัตริย์เป็นความสัมพันธ์ที่อยู่ในความมืด อยู่ในเงาสลัวมายาวนาน จนวันหนึ่งพระอาทิตย์มันขึ้นแล้ว ไฟมันส่อง ทีนี้ก็ขึ้นอยู่ว่าใครจะมองกันอย่างไร แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะไม่หันหน้าหนี ไม่ปิดหูปิดตาอีกต่อไป

เป็นคำที่น่าดีใจและเสียใจในเวลาเดียวกัน น่าดีใจที่คนตาสว่าง และน่าเสียใจคือถูกปิดตามายาวนาน มันไม่ควรมีคำนี้ มันควรเป็นเรื่องปกติที่รับรู้ที่เข้าใจมานานแล้ว คำนี้เพิ่งถูกใช้ไม่กี่ปีมานี้เอง ก็ดีใจที่มันเกิดขึ้น แต่เสียใจที่มันมาช้ามาก

ระหว่างฝ่ายประชาชนมือเปล่ากับอีกฝ่ายที่มีอำนาจล้นฟ้า มีเงิน มีกองทัพ มีอาวุธ มีกฎหมายในมือ คิดว่าประชาชนจะชนะได้อย่างไรในการต่อสู้ครั้งนี้

เราไม่คิดเรื่องแพ้ชนะเลย คิดแต่ว่าควรจะทำอะไร ที่สุดของการต่อสู้ก็คือความรู้ ยิ่งมีความรู้มากเท่าไรก็ยิ่งดี ระหว่างความรู้กับกระบอกปืน ความรู้สู้กระบอกปืนไม่ได้หรอก กระบอกปืนมันรูปธรรมกว่า ความรู้มันนามธรรม เชื่องช้า แต่ถ้าความรู้มากขึ้น กระบอกปืนจะไม่มีที่อยู่ไปเอง

ความรู้มันใช้เวลา มันไม่ได้เดิน แต่ค่อยๆ คืบคลาน คนทำงานด้านนี้จะใจร้อนไม่ได้ ไม่มีใครอยากเจ็บปวดนานหรอก ทุกคนอยากจะจบเร็วๆ ให้มันจบที่รุ่นเรา แต่ต้นไม้จะใหญ่ต้องใช้เวลา กว่าต้นมะฮอกกานีจะโต แค่ 3 ปีมันไม่ได้ เหล้าจะอร่อยไม่ใช่แค่ 3 วัน มันต้องหมักบ่มยาวนาน คุณไม่สามารถคดโกงหรือคอร์รัปชันต่อเวลาได้ งานที่เราทำอยู่ งานเขียน งานสื่อสารมวลชน มันคือธรรมชาติเดียวกับต้นไม้ใหญ่ มันคือธรรมชาติเดียวกับสุราที่ต้องผ่านการหมักบ่มยาวนาน รสชาติถึงจะหอมอร่อย น่าดื่มกิน

ฉะนั้น กับบางเรื่องโดยเฉพาะความรู้มันใจร้อนไม่ได้ เราต้องเชื่อ ต้องเลือก ต้องทำอย่างเคร่งครัด เข้มแข็ง มีแต่ทางนี้เท่านั้น

 

คุณเองก็สูญเสียเพื่อนรัก ไม้หนึ่ง ก.กุนที (กวีราษฎรที่ถูกลอบสังหารเมื่อปี 2557) จากการต่อสู้ทางการเมือง การตายของไม้หนึ่งเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวคุณบ้างไหม

ถ้าเทียบกับไผ่ (ชื่อเล่นของไม้หนึ่ง ก.กุนที) เราเป็นคนเหยาะแหยะ รักสนุก รักสบาย ไม่ได้ซีเรียสเอาจริงเอาจังกับการต่อสู้เท่าเขา เราเทียบอะไรไม่ได้เลยกับไผ่

อยากเล่าให้ฟังเรื่องหนึ่ง ตอนเริ่มมีม็อบคนเสื้อแดงแถวทำเนียบ พวกขาใหญ่ ดารา ซูเปอร์สตาร์ นักการเมืองก็ไปขึ้นเวทีหมด ช่วงนั้นไผ่ขายข้าวหน้าเป็ดตอนกลางวัน กลางคืนเขาขับรถมาจากศาลายา เพื่อมารอขึ้นเวทีอ่านบทกวีตอนตี 2 ตี 3 ซึ่งแทบไม่มีคนฟัง เช้าก็กลับไปทำงาน กลางคืนก็มาใหม่ วันแล้ววันเล่า ทำอยู่อย่างนี้มายาวนานจนพิสูจน์คุณภาพและฝีมือตัวเอง สุดท้ายได้ขึ้นเวทีช่วงไพรม์ไทม์ตอนทุ่มหนึ่ง ไผ่ต่อสู้ทุกสนาม ทุกวิธี กว่าจะเติบโตขึ้นมา กว่าคนจะเห็น

การเสียชีวิตของไผ่เป็นส่วนที่สร้างเราขึ้นมา จากเคยอยู่ในโลกส่วนตัวเรื่อยๆ เปื่อยๆ ไม่ค่อยแคร์เรื่องสังคม เราก็เพียรพยายามที่จะขยับตัวเอง ทำงานมากขึ้น เอาจริงเอาจังมากขึ้น ทำให้ตัวเองแข็งแรงขึ้น ไม่จมอยู่กับเรื่องหยุมหยิม เพราะถ้าเราเป็นอยู่อย่างนั้น หรือนิ่งเฉยดูดาย เรารู้ว่าเพื่อนจะไม่ชอบ เดี๋ยวมาหักคอที่บ้าน แต่ถ้าเราขยันทำการงาน ทำในสิ่งที่รักที่เชื่อ เพื่อนจะสบายใจ นอนตายตาหลับ ว่างั้นเถอะ

ช่วงที่ไผ่ลี้ภัยหลังปี 2553 เราไปขึ้นเวทีอ่านบทกวีหลายครั้ง ไปทั้งที่ไม่คุ้นเคย ไม่ถนัด ก่อนหน้านั้นไผ่ชวนเราตลอด แต่เราไปน้อยมาก ไปก็แค่ไปติดตามดู แล้ววันหนึ่งเมื่อไผ่ลี้ภัยไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน ยุคนั้นเริ่มมีถ่ายทอดสด มีเวทีและกิจกรรมการเมืองบ่อย เราก็ไปขึ้นเวที ไปอ่านบทกวี ไผ่เล่าให้ฟังว่า ฟังเราแล้วเขาก็ร้องไห้อยู่คนเดียวในต่างแดน เล่าในทำนองว่า ตอนกูอยู่ กูชวนพวกมึงไป แม่งก็ไม่เคยไปเลย กว่ามึงจะเห็น กว่ามึงจะไปร่วมทุกข์สุขกับประชาชน กูก็ไม่อยู่แล้ว

ถ้าวันนี้ไม้หนึ่ง ก.กุนทียังอยู่ คุณว่าเขาน่าจะทำอย่างไรบ้าง

ไผ่เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถอยู่แล้ว ทั้งทางเนื้อหาการเมือง ทั้งทางกวีนิพนธ์ มีบุคลิกผู้นำ แบบลูกผู้ชายบ้านนอก แบบนักเลงโบราณ กล้าได้กล้าเสีย มีมวลชนของตัวเอง ถ้าไผ่ยังอยู่ เขาน่าจะเป็นผู้นำที่มีมวลชนกลุ่มก้อนใหญ่ที่มีพลังมากๆ แต่ความจริงเขาก็ไม่อยู่แล้ว จากไปแล้ว ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เราคิดว่าสิ่งที่ไผ่ทำไว้ไม่ได้หายไปไหน ไม่สูญเปล่า เรื่องราวการต่อสู้ของเขา บทกวีอันมีพลังของเขายังถูกอ่านถูกบอกเล่าเสมอ

ความป่าเถื่อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยตั้งแต่คุกคาม จับขังคุก อุ้มหาย ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ทำให้คุณนึกหวาดกลัวบ้างไหม

เราไม่ใช่คนกล้าหาญ เรากลัวเหมือนคนทั่วๆ ไป หวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา เวลาจะเขียนอะไร จะทำอะไร ความกลัวเหมือนเงาที่ตามตัวเราอยู่ตลอด เพียงแต่เราตอบตัวเองเสมอว่า อะไรที่ต้องทำก็ต้องทำ อย่าให้เงามากำหนด อย่าให้เงามาเป็นเจ้าชีวิต

เราอายุห้าสิบแล้ว เห็นคนหนุ่มสาวหลายคนอายุน้อยกว่าลูกสาวเราอีก เขาปรารถนาดีต่อสังคมขนาดนี้ ถูกทำร้ายขนาดนี้ ในฐานะผู้ใหญ่จะให้เรานิ่งเฉยดูดายอยู่บ้านมันใจร้ายเกินไป ไม่มีใครอยากประสบเคราะห์กรรมอะไรหรอก เป็นนักเขียนก็แย่อยู่แล้ว ความมั่นคงอะไรก็ไม่มี จะหาเรื่องอีกทำไม เราไม่ได้อยากมีเรื่อง แต่ว่าเรื่องมันมีอยู่ แล้วถ้ามันเป็นเรื่องที่ต้องเล่าก็ต้องเล่า เรามีอาชีพเขียน ไม่ให้เขียนแล้วจะให้ทำอะไร

 

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่ากำลังเรียนภาษาฝรั่งเศส เตรียมตัวลี้ภัยหรือเปล่า แล้วถ้าถึงจุดหนึ่งมีโอกาสจะไปไหม

เรียนฝรั่งเศสไม่ใช่การเตรียมตัวลี้ภัย เรียนฝรั่งเศสคือการเพิ่มพูนความรู้ให้กับตัวเอง ฝรั่งเศสเป็นสิ่งเราสนใจ มุ่งมั่น และสนุก ก็ฝึกฝนพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด แล้วถ้าความรู้นี้มันเป็นปีกเป็นขา ทำให้เรามีประตูมีทางเลือก มีโอกาสเพิ่มมากขึ้นในชีวิต ก็ทำไมจะไม่ล่ะ (ยิ้ม)

เราจบเอกฝรั่งเศส แต่กลับมาเรียนจริงจังอีกครั้งตอนอายุห้าสิบ สมัยก่อนมุ่งมั่นอยากเป็นนักข่าวนักเขียนก็ใช้เวลาทุ่มไปตรงนั้น ธรรมชาติเราเป็นคนที่ทำอะไรได้ทีละอย่าง ถ้าสนใจอยากทำนิตยสาร ก็คิดแต่เรื่องทำนิตยสาร จะสัมภาษณ์ยังไง หาคนที่น่าสนใจมายังไง ตั้งคำถาม คุยยังไงให้สนุก แล้วเราก็มีครอบครัว ต้องเลี้ยงลูก มันก็จมไปเลยกับชีวิตประจำวัน

จนกระทั่งวันนี้ ผ่านไป 30 ปี เราไม่มีงานประจำแล้ว และเท่าที่ดู ประเทศที่รักของเราก็แย่ลงไปเรื่อยๆ เราเห็นแต่ความเสื่อมโทรม พังพินาศ ถ้าเราปล่อยอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จิตใจเรามันก็เหมือนมีแต่สิ่งมาทำร้าย แล้วหัวใจคนที่ถูกทำร้ายไปเรื่อยๆ มันจะมีชีวิตอยู่ยังไง ถ้าขืนปล่อยไปอย่างนี้ เราก็จะทรุดโทรมเหี่ยวเฉาไปกับชะตากรรมของประเทศ เราอยากมีชีวิตที่ดี ไม่อยากมีชีวิตที่แย่ เรามองเห็นว่าชะตากรรมของบ้านเมืองมันแย่ เมื่อเราเห็นและไม่ยอมจำนนที่จะมีชีวิตแย่ เราก็ต้องดิ้นรนสร้างสิ่งที่รัก ทางเดียวที่จะทำให้พัฒนาชีวิตได้ก็คือความรู้ การศึกษาเป็นทางเดียวที่ทำให้หัวใจเราชุ่มชื่นเบิกบานขึ้นมาอีกครั้ง

ทุกวันนี้การทำงานสัมภาษณ์ยังมีความตื่นเต้นท้าทายอยู่ไหม

เราไม่เคยเบื่ออาชีพนี้ ยังตื่นเต้นเหมือนเดิม ยากเหมือนเดิม ตันเหมือนเดิม ก็แก้ปัญหาไป คิดหัวแตกกับมันไป ถามว่าพอรู้วิธีไหม ก็พอรู้ ถามว่ามีความมั่นใจอยู่ไหม ก็มั่นใจ แต่ก็มีความกังวล มีความยาก มีปัญหาอยู่ตลอด ซึ่งเรามองว่าเป็นข้อดี เหมือนขับรถก็ควรมีความหวาดกลัวอยู่บ้าง ความหวาดกลัวจะช่วยให้เราระมัดระวัง ทำให้เราขับรถได้ดี ไม่บ้าบิ่น ใช้ความหวาดกลัวให้ไปสู่เป้าหมายอย่างปลอดภัย

เรายังสนุกสนาน เบิกบาน อยากล้มลุกคลุกคลานไปเรื่อยๆ คิดหาวิธีทำให้มันดีขึ้นไปเรื่อยๆ เราสนใจความเรียบง่ายธรรมดา แต่สนุก ลึก จริงจัง โดยธรรมชาติไม่ใช่คนในสายกิมมิก หวือหวา เราอยากทำให้มันปกติ เหมือนกินข้าว อาบน้ำ แต่ให้มันได้น้ำได้เนื้อ ให้มันอิ่ม ให้มันแหลมคมเข้มข้น

ในฐานะนักเขียนที่ทำงานต่อเนื่องมากว่า 30 ปี ซึ่งอาชีพนี้ก็ไม่เคยอยู่ง่ายอยู่แล้วไม่ว่ายุคไหน ยิ่งในยุคนี้ มันจะมีทางไหนที่ดีกว่านี้ เราไม่ใช่นักเขียนเบสต์เซลเลอร์ แต่เรารู้สึกว่าได้รับสิ่งที่ดีมาตลอด เจอแต่ผู้อ่านที่ดี เป็นคนน่าสนใจ น่าเคารพ น่าสนุก ทุกครั้งที่ได้ฟังข้อคิดเห็นของพวกเขามันก็น่าฟัง น่าร่วมพิจารณาไปด้วย

ผู้อ่านหลายคนจากระยะไกลมองไม่เห็นหน้าก็มาอยู่ในระยะใกล้ มีความสัมพันธ์อยู่ในชีวิต กลายเป็นมิตรสหาย การมีผู้อ่านที่ดี มันตอกย้ำให้เราอย่าทำตัวเลอะเทอะเปรอะเปื้อน อย่าหยุด อย่ายอม ให้เราทำงานต่อไปเหมือนที่เคยเชื่อในเส้นทางนี้

ถ้าพูดถึงวันเวลาที่เดินอยู่บนเส้นทางนี้ สำหรับเรา มีแต่คำว่าขอบคุณ ขอบคุณที่อยู่ด้วยกัน

 

ในวัยนี้ วันนี้ สถานการณ์แบบนี้ มีความหวังหลงเหลืออยู่บ้างไหม

ไม่มีความหวัง แต่ยิ่งไม่มียิ่งต้องสร้าง ถึงต้องทำเทศกาลบทกวี ‘น่านโปเอซี’ ไง (เทศกาลอ่านบทกวี จัดขึ้นแล้วสองครั้งที่จังหวัดน่าน) เราถึงต้องทำงานแบบนี้ต่อไป แม้จะเมาบ้าง ขี้เกียจบ้าง แต่ก็ไม่ควรขี้เกียจ ไม่ควรเมาเสียจนไม่ทำงาน ก็คงต้องทำไปด้วยกินเหล้าไปด้วยนี่แหละ แต่ไม่ว่ายังไงก็ต้องทำต่อไป

ช่วง 5-6 ปี ที่ผ่านมา เราเหมือนกลายเป็นผู้จัดงานอยู่บ่อยๆ ตั้งแต่หลายๆ กิจกรรมที่ร้านไรท์เตอร์ซีเคร็ท น่านโปเอซี หรืองานที่เพิ่งจัดไปที่ร้าน On The Rose แม้จะไม่ถนัด แม้จะไม่ใช่อาชีพ แต่ทุกครั้งทุกงานมันเป็นโอกาสที่เราได้เห็นผู้อ่าน เห็นนักเขียน กวี เห็นยอดฝีมือคนใหม่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องโคตรดี

เมื่อไม่มีสนาม ไม่มีใครทำ เราก็ต้องทำ เหมือนนักบอลมันไม่มีสนามเล่น เราชอบเตะบอล ถ้าพอจะขุดหญ้าพรวนดิน หรือทำอะไรได้ก็ทำไป ไม่งั้นนักบอลไม่มีสนามเล่น ชาวนาไม่มีที่ดินให้ทำนา นักเขียน กวี ไม่มีพื้นที่ให้เขา ประเทศไทยเป็นประเทศที่ขาดแคลนพื้นที่ทั้งในทางรูปธรรมและนามธรรม เราอยู่ในฝ่ายโลกของคนทำงานทางความคิด ก็อยากมีพื้นที่ทางความคิด มนุษย์มันต้องมีพื้นที่ มนุษย์ต้องได้มาเจอกันตัวเป็นๆ

โลกออนไลน์มันไม่พอ มันจำเป็นที่เราต้องมีบางกิจกรรมที่มนุษย์เดินทางมาเจอกันจริงๆ มาจับมือกันจริงๆ มาสบตากันจริงๆ มิติความเป็นมนุษย์ถึงจะครบถ้วนสมบูรณ์

 

Fact Box

  • วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เกิดเมื่อปี 2513 เป็นชาวโคราช จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เข้าสู่วงการสื่อสารมวลชนปี 2536 เคยเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ เคยเป็นคนทำสัมภาษณ์ สารคดี และคอลัมนิสต์ให้นิตยสารหลายเล่ม อาทิ GM, open, IMAGE และ WRITER 
  • มีผลงานพ็อกเก็ตบุ๊กรวม 26 เล่ม ผลงานเด่นๆ ได้แก่ เราต่างมีแสงสว่างในตัวเอง (ความเรียง 2545), ที่เกิดเหตุ (บันทึกหนึ่งปีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2550), เสียงแห่งทศวรรษ (รวมบทสัมภาษณ์คัดสรรในรอบสิบปี 2551), เสียงพูดสุดท้ายของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ (บทสัมภาษณ์ 2552), ความมืดกลางแสงแดด (บทสัมภาษณ์ร่วมกับ ธิติ มีแต้ม 2555), The Writer's Secret (บทสัมภาษณ์: งาน ความคิด ชีวิตนักเขียนไทย 2557), วัยหนุ่ม (รวมความเรียงคัดสรรในรอบ 15 ปี 2561) และเล่มล่าสุด ตอบแสงตะวัน (ความเรียง 2564)
  • วรพจน์ได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2562
  • ปัจจุบันเป็นสื่อมวลชนอิสระ ยังคงเขียนหนังสืออย่างสม่ำเสมอ เดินทางขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างจังหวัดน่านกับกรุงเทพฯ เพื่อพบปะมิตรสหาย และสังเกตการณ์ความเป็นไปของสังคม
  • ติดตามผลงานของวรพจน์ พันธุ์พงศ์ได้ที่ เฟซบุ๊ก No.1 banglumpoo
Tags: , , , , , , ,