ทหารมีไว้ทำไม?
ยังคงเป็นคำถามยอดฮิต ที่หลายคนยังสงสัยและตั้งคำถามอยู่เสมอ ทั้งเรื่องความ ‘ลี้ลับ’ ของกองทัพ การบังคับเกณฑ์ทหาร ที่ยังเป็นข้อถกเถียงในสังคมไทยมาตลอดช่วงหลายปี รวมถึงภาพของทหารไทยที่ปรากฏผ่านหน้าสื่อ ไม่ว่าจะเป็นภาพความรุนแรง การใช้อำนาจ การบาดเจ็บ ไปถึงขั้นเสียชีวิตของทหารชั้นผู้น้อย
กระแสปัญหาภายในกองทัพยังคงสามารถนำมาพูดถึงได้อยู่เรื่อยๆ เหตุเพราะข่าวอาชญากรรมความรุนแรง หรือการตั้งคำถามถึงทุจริตภายในกองทัพ ยังปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดหลายช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา คำถามคือทำไมเหตุการณ์เหล่านี้ยังคงปรากฏให้เห็นในสังคมอยู่เสมอ ต้นตอปัญหาเหล่านี้คืออะไรกันแน่ และสิ่งที่หลายหน่วยงานรวมถึงภาคประชาชน พยายามผลักดันนโยบายเกณฑ์แบบสมัครใจมาตลอด นโยบายนี้มีความสำคัญอย่างไรต่อระบบทหารไทย
The Momentum ถือโอกาสนี้ชวน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ในฐานะประธานกรรมาธิการการทหาร มาร่วมหาคำตอบเพื่อเจาะลึกเบื้องหลังระบบทหารไทย ตั้งแต่บทบาทความจำเป็นของทหาร กระบวนการทุจริตที่แฝงตัวอยู่ในทหารรับใช้ การตั้งคำถามถึงบทลงโทษที่รุนแรงของครูฝึก ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของนโยบายเกณฑ์แบบสมัครใจที่มีต่อกิจการทหารไทย
“ทหารยังจำเป็นอยู่ไหม?”
คำถามแรกของบทสนทนาที่เราเลือกถามวิโรจน์ อาจเพราะในช่วงเวลานี้ ภาพลักษณ์ของทหารที่ปรากฏส่วนใหญ่มักเป็นภาพเชิงลบค่อนข้างมาก คำถามอย่าง ทหารมีไว้ทำไม หรือทหารยังจำเป็นอยู่ไหม จึงดูเป็นเรื่องปกติไปเสียอย่างนั้น
“ทหารยังคงมีความจำเป็น แต่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเกณฑ์ทหาร” วิโรจน์ยังคงเชื่อในบทบาทหน้าที่ทหารว่า มีความสำคัญต่อประเทศ แต่เขามีความคิดว่า การจะพัฒนากองทัพได้จะต้องยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารเสียก่อน ควบคู่ไปกับการพัฒนาสวัสดิการและความปลอดภัยของทหารเกณฑ์ เมื่อเข้ามาอยู่ในรั้วค่ายทหาร ทั้งหมดนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภาพลักษณ์ของทหารดีขึ้น และจะสามารถกำหนดจำนวนทหารที่เหมาะสม เพียงพอต่อภารกิจด้านความมั่นคงของประเทศได้
“ไม่ใช่แสนนายแน่ ไม่ใช่ 9 หมื่นนายแน่ เพราะทางทีดีอาร์ไอ (สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย) เคยบอกว่า ควรจะลดลงสักครึ่งหนึ่ง หรือถ้าเทียบกับบริบทของจํานวนพลทหารต่อประชากร เราก็ควรจะต้องมีสักประมาณ 6 หมื่นไม่เกิน 7 หมื่นนายต่อปี แต่ปัจจุบันมันมีอยู่ในระดับ 8-9 หมื่นกว่านาย ซึ่งเราสามารถที่จะขยับลดลงได้อีก” วิโรจน์อธิบายคำตอบของคำถามว่า คิดว่าปัจจุบันกระทรวงกลาโหมกำหนดตัวเลขทหารเกินความจำเป็นหรือไม่?
สิ่งสำคัญที่วิโรจน์มองคือ ต้องหยิบปัญหาขึ้นมาทบทวนและนำมากางออกว่า ปัจจุบันภัยคุกคามที่ประเทศกำลังเผชิญหน้าอยู่คืออะไร จากนั้นจึงจะค้นหาคำตอบว่า ประเทศไทยต้องการทหารกี่นายกันแน่
ในประเด็นนี้ยังตั้งข้อสังเกตได้อีกว่า มีทหารที่ถูกสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ใช่การรักษาความมั่นคงหรือไม่ ถ้าให้พูดชัดเจนก็คือ นำไปเป็นทหารรับใช้ให้บ้านนายพลหรือเปล่า หรือมีโครงสร้างหน่วยงานภายในกระทรวงกลาโหม ที่ไม่ได้มีความจําเป็นทางด้านภารกิจด้านความมั่นคงเกิดขึ้นหรือไม่
“ถ้าอย่างนั้น ตรงนี้เราลดลงได้ เรากระชับ ควบรวมหน่วยงานได้ ประกอบกับถ้าเราดูว่า ภารกิจด้านความมั่นคงจริงๆ ต้องการกําลังพลกี่คน ผมเชื่อว่า ระดับสัก 5-6 หมื่นนายก็สามารถจัดการได้”
สบายงานบ้าน สะดวกฟอกเงิน
‘ทหารรับใช้’ เป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ถูกพูดถึงในวงกว้างมาเป็นเวลานาน เพราะเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์กองทัพโดยตรง และมีผลต่อการพิจารณาปรับลดจำนวนทหาร ทั้งระดับนายพลและพลทหารในกองทัพ
ปัญหาส่วนหนึ่งคือ แม้กระทรวงกลาโหมจะออกมาประกาศว่า กฎกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2455 ว่าด้วยหน้าที่ของทหารรับใช้ประจำตัวนายทหาร ถูกยกเลิกไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 ด้วยเหตุที่ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดเกียรติและศักดิ์ศรีของทหาร และผู้บังคับบัญชาหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะต้องได้รับการลงโทษทางวินัยโดยไม่มีการยกเว้นทุกกรณี ทั้งนี้แม้จะมีประกาศอย่างที่ว่า แต่เราก็ไม่สามารถการันตีได้เลยว่า ปัจจุบันยังมีพลทหารที่คอยรับใช้นายพลที่บ้านอยู่หรือไม่
“ตอนนี้รู้สึกว่า มันกระมิดกระเมี้ยนมากขึ้น สมัยก่อนนี้ไม่กระมิดกระเมี้ยนเลย คุณลองดูสิบ้านนายพลต่างๆ ก็ไม่ใช่จะอยู่กันแบบสงบเสงี่ยมเจียมตัว ชอบทําประตูอัลลอยแล้วติดป้ายด้วยว่า บ้านหลังนี้พลเอก พลโท พลตรีอะไร ถ้ามองเข้าไปปุ๊บก็จะเจอคนหัวเกรียนๆ คอยซักผ้า คอยดูแล คอยล้างรถ”
วิโรจน์เห็นว่า ปัจจุบันปัญหาทหารรับใช้มีท่าทีเบาบางลง แต่มีประเด็นใหม่ที่เขาหยิบขึ้นมาพูดคือ ‘การฟอกเงิน’ ประธานกรรมาธิการการทหารอธิบายเพิ่มว่า ทหารรับใช้ไม่ใช่แค่เรื่องของการรับใช้งานบ้าน แต่ยังถูกใช้เป็นกลไกการทุจริตที่มีมูลค่ากว่าหลักพันล้านบาท
หากมีคนที่ไม่ต้องการเป็นทหาร แต่จำเป็นต้องผ่านเกณฑ์ทหาร เขาจะต้องไปเสนอผลประโยชน์ให้กับสัสดีหรือผู้มีอำนาจเพื่อ ‘ใบ สด.43’ หรือที่วิโรจน์เรียกว่า ‘ใบก๊อปเกรดเอ’ ซึ่งก็คือ ใบผ่านเกณฑ์ทหารปลอม หากเป็นไปตามข่าวลือจริง กระดาษแผ่นนี้จะมีราคาจ่ายสูงถึง 4-5 หมื่นบาท นับว่า เป็นผลประโยชน์มหาศาลที่ผู้บงการอยู่เบื้องหลังจะได้รับไป
“สมมุติอยู่ดีๆ คุณเข้าไปในค่ายแล้วคุณฝึก 2-3 เดือนแรก คุณไม่อยากอยู่แล้ว จนครบ 2 ปีคุณก็สามารถขอกลับบ้านได้ บางคนก็ไปอยู่บ้านนาย ไปเป็นทหารรับใช้ บางคนบอกว่า นายพลบอก “ฉันไม่ต้องการคน แต่ฉันต้องการเงิน” ก็เอาชื่อมาแปะที่นายพลแล้วคุณก็กลับบ้านไป วันไหนมีการเรียกตรวจกําลังพล จะมีโทรศัพท์โทรหาให้กลับเข้ามา แล้วเงินค่าเบี้ยเลี้ยงต่างๆ ก็โอนให้กับนายพลคนนั้น หรือมีการส่งส่วยตามลําดับชั้น แบ่งสันปันส่วนอะไรก็แล้วแต่ข้อตกลงของขบวนการเหล่านี้
“จากความที่เขามีความจําเป็นในการที่ต้องไปดูแลครอบครัว ไปดูแลพ่อแม่ หรือว่าไปช่วยพ่อแม่ประกอบอาชีพ หรือไปประกอบอาชีพที่เขาอยากทํา เขาก็สละเงินเดือนให้กับนายพล สละเบี้ยประกอบเลี้ยงต่างๆ ให้กับนายพล ดังนั้นเรื่องพลทหารรับใช้ เราอย่ามองแค่ว่า มีแค่พลทหารแล้วไปทํางานบ้านให้กับนายพล แต่มันเป็นกลไกในการฟอกเงินและเรียกรับผลประโยชน์”
ถ้าไม่ใช่ก็ย้ายซะ
นอกจากประเด็นการทุจริตภายใต้ระบบทหารรับใช้งานบ้าน ยังมีประเด็นความรุนแรงในค่ายทหาร ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ในกองทัพที่ต้องรีบเร่งแก้ไข เพราะถือว่า เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อชีวิตพลทหารหลายนายมาเป็นระยะเวลานาน
ในฐานะกรรมาธิการการทหารภายใต้การนำของวิโรจน์ จึงได้วางนโยบายสำคัญคือ การตรวจสอบและดูแลสวัสดิภาพความปลอดภัยของทหารเกณฑ์ในกองทัพ ให้มีความโปร่งใส เป็นธรรม ปราศจากการซ้อมทรมานและการละเมิดสิทธิมนุษยชน
‘โครงการพลทหารปลอดภัย’ จึงถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับพลทหารที่ถูกกระทำโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งคณะกรรมาธิการการทหารได้ตั้งเป้าหมายสูงสุดให้กับโครงการนี้คือ ‘การตายในค่ายทหารต้องเป็นศูนย์’
ตลอดระยะเวลาที่ทำโครงการมา วิโรจน์มองว่า สถิติการเกิดเหตุลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่เหตุการณ์ในค่ายนวมินทราชินี ตำบลบ้านสวน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ที่เผยแพร่ผ่านสื่อเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ทำให้ประเด็นความรุนแรงในค่ายทหารถูกหยิบขึ้นมาพูดอีกครั้ง
“เพิ่งจะมีเรื่องเกิดขึ้นที่เรารู้สึกไม่สบายใจ ที่ค่ายนวมินทราชินี จังหวัดชลบุรี ทราบรายงานเบื้องต้นว่า มีลักษณะของการซ้อมทรมานมากกว่าการธํารงวินัย เพราะธํารงวินัย อวัยวะภายในจะต้องไม่บอบช้ำขนาดนั้น คงเรียกสิ่งนั้นว่า เป็นการธํารงวินัยไม่ได้ เราเรียกว่า เป็นการกระทําที่ป่าเถื่อน ทารุณกรรม และซ้อมทรมาน”
พลทหาร วรปรัชญ์ พัดมาสกุล ทหารเกณฑ์ชลบุรี อายุ 18 ปี โดนซ้อมจากการซ่อมวินัยจนเป็นเหตุให้เสียชีวิต หลังเข้ารับการเกณฑ์ทหารไม่ถึง 3 เดือน เบื้องต้นแพทย์แจ้งผลว่า วรปรัชญ์เสียชีวิตจากอาการสมองบวม ซี่โครงหักทั้ง 2 ข้าง ปอดฉีก ปอดรั่ว ไหปลาร้าหัก และกระดูกสันหลังหัก
นอกจากกรณีของวรปรัชญ์ ที่ผ่านมามีพลทหารอีกมากต้องเจ็บปวดและทุกข์ทรมานจากการลงโทษที่ไร้จริยธรรม เช่น พลทหาร นพดล วรกิจพันธ์ ค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฎร์ธานี, พลทหาร ทรงธรรม หมุดหมัด ค่ายพยัคฆ์ จังหวัดยะลา และพลทหาร สมชาย ศรีเอื้องดอย ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ เหตุการณ์เหล่านี้มีลักษณะร่วมกันคือ การเสียชีวิตจากการซ้อมทรมานภายใต้การกระทำที่เรียกว่า ‘ธำรงวินัย’ เราจึงถามวิโรจน์ว่า มาตรการควบคุมระดับความรุนแรงในบทลงโทษนั้นมีหรือไม่
วิโรจน์ตอบในประเด็นนี้ว่า แต่เดิมการธำรงวินัยไม่ได้มีการชำระสะสางอย่างชัดเจนว่า ควรมีมาตรฐานการฝึกเป็นอย่างไร ในปัจจุบันมีการสร้างระเบียบแบบใหม่เพื่อกำกับดูแลการฝึก ทั้งเรื่องของการระมัดระวังอาการฮีตสโตรก (Heatstroke) และระบบทางการแพทย์ ที่มีการวางระบบส่งตัวระหว่างโรงพยาบาลค่าย และโรงพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังไม่มีกฎระเบียบที่ควบคุมระดับความรุนแรงของบทลงโทษอย่างชัดเจน
เมื่อเจาะเข้าไปในประเด็นนี้เพิ่มเติมก็พบว่า ในงานสัมมนา ‘พลทหารปลอดภัย’ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ณ อาคารรัฐสภา วิโรจน์แนะนำให้แต่ละเหล่าทัพมีการประเมินสุขภาวะผู้ควบคุมการฝึกอย่างสม่ำเสมอ เพราะจากที่คณะกรรมาธิการการทหารได้รับเรื่องร้องเรียนมา ปัญหาการทารุณกรรมและการลงโทษกำลังพลที่เกินกว่าเหตุ ส่วนใหญ่มักเกิดจากปัญหาสุขภาพจิตของผู้ควบคุมการฝึก
เป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า ที่ผ่านมาเราจะเห็นความพยายามในการตรวจคัดกรองทหารเกณฑ์ เพื่อดูความพร้อมทั้งเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิตมาโดยตลอด แต่วิโรจน์ทำให้เราหันกลับมามองที่ตัวผู้ควบคุมการฝึกหรือผู้บังคับบัญชาว่า ถ้าหากพบความผิดปกติทางบุคลิกลักษณะ (Personality Disorders) เมื่อใด นั่นหมายความว่า บุคคลคนนั้นจะไม่มีความพร้อมมากพอที่จะมากำกับดูแลการฝึกทหารเกณฑ์ได้
“เรื่องนี้เราก็ยังผลักดันให้ทางเหล่าทัพหากระบวนการคัดกรองสุขภาพจิตที่แม่นยำ ถ้าเกิดกรณีหลุดรอด มันเกิดเคสแล้วกับคนใดคนหนึ่ง ก็ควรจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ หากเป็นเช่นนั้นควรจะต้องโยกย้ายเขาไปยังหน่วยงานที่ไม่ต้องเจอกับคน ไปทํางานกับเอกสารหรือทํางานกับเครื่องจักร เพราะคนแบบนี้ถ้าถูกพิสูจน์ว่า ทํางานกับคนไม่ได้ ไม่เห็นหัวใจคน ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ ผมคิดว่า ไม่ควรที่จะมอบหมายภารกิจให้เขา”
ในอีกแง่หนึ่ง การลงโทษที่รุนแรงเหล่านี้ ส่วนใหญ่เกิดจากพลทหารหรือว่าทหารในบังคับบัญชาไปกระทําการที่ร้ายแรง เช่น ทําอนาจารกับพลเรือน ข่มขืนกระทําชําเราพลเรือน ลักขโมยพลเรือน หรือจําหน่ายยาเสพติดในค่ายทหาร วิโรจน์มองว่า วิธีการแก้ไขที่ถูกต้องคือ ดำเนินคดีตามกฎหมายตามที่ควรจะเป็น เพราะการใช้ความรุนแรงไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
“คุณคิดว่าไปซ้อมเขา ตีเขา กระทืบเขา แล้วก็ปล่อยให้เขาอยู่ในค่ายทหารเหมือนเดิม แถมคนที่มันค้ายาเสพติด มันก็ยังค้าเหมือนเดิม ลักลอบค้าด้วยวิธีการที่แยบยลกว่าเดิม แล้วคุณจะทำอย่างไร จับได้อีก กระทืบอีกเหรอ เขาอาจจะไม่เหมาะกับอาชีพทหารแล้ว คุณก็จําหน่ายเขาออกแล้วดําเนินคดีไปตามกฎหมาย ตามครรลองคลองธรรมของบ้านเมือง ไม่ดีกว่าเหรอ”
“สุดท้ายก็ต้องฝากถึงผู้บัญชาการเหล่าทัพแหละว่า คนที่มันไม่ใช่ก็ต้องย้ายซะ เพราะอย่างนั้นก็ต้องก่อกรรมทำเวรกับพลทหาร แล้วก็เสียทั้งภาพลักษณ์ทั้งกองทัพแบบนี้ คุณดูอย่างกองทัพอากาศ ผมรู้สึกว่า ณ วันนี้ เขามีการปรับตัวดีขึ้นมาก เราก็ต้องชื่นชมเขา กองทัพเรือก็ถือว่าการปรับตัวในการดูแลพลทหารก็ถือว่าดี กองทัพบกก็ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่ทําไมมันไม่สะเด็ดน้ำสักทีผมก็ไม่เข้าใจ เท่านั้นเอง”
ความสมัครใจจึงสำคัญ
“ปัญหาเหล่านี้มันจะไม่เกิดเลย ถ้าคุณเอาคนที่เขาสมัครใจมาเป็นทหาร คุณพาคนที่เขาไม่อยากเป็นทหารต้องมาเป็นทหาร เขาก็ไม่มีความเต็มใจจะฝึก สุดท้ายคุณก็ต้องเอาความกลัว กลัวที่จะถูกทําร้าย กลัวที่จะถูกทําจนตาย มาขู่ให้พวกเขายอมจํานน จนถึงจุดหนึ่งที่ขู่อย่างไร กลัวอย่างไร เขาก็ไม่พร้อมปฏิบัติตามคําสั่ง ซึ่งมันจะเกิดผลกระทบกับทั้งหมู่ ทั้งกองร้อย แบบที่คุณกลัวอยู่ดี”
วิโรจน์เชื่อว่า นโยบายเกณฑ์ทหารแบบสมัครใจจะเป็นตัวแปรสำคัญ ที่จะทำให้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในกองทัพลดลง เพราะถ้าคนที่สมัครใจเข้ามา เขาจะเตรียมความพร้อมมาแล้วว่า ต้องมาเจอกับการฝึกวินัยที่กดดันและเข้มข้น แต่ถ้าคนที่ไม่ได้เตรียมใจเข้ามา เขาก็อาจจะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมแบบนี้ได้ยากกว่าปกติ
การเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดนโยบายนี้ จำเป็นต้องปรับปรุง 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ความกังวลของคนที่จะเข้ามาเกณฑ์ทหาร โดยเริ่มจากการทำให้เห็นว่า พลทหารที่เข้ามาจะมีชีวิตที่มั่นคงปลอดภัย ส่วนที่ 2 คือ รายได้และสวัสดิการทหารที่เหมาะสม ทั้งกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจ พลทหารต้องสามารถประกอบอาชีพทหารได้จริง ไม่มีการตัดงบรายได้อย่างไม่เป็นธรรม
หากมีภาพความรุนแรงในค่ายทหารดำรงอยู่ สิ่งเหล่านี้จะบั่นทอนความสมัครใจของคนที่อยากเป็นทหารอาชีพมากขึ้น ภาพลักษณ์ที่พยายามสร้างให้ประชาชนกับทหารมีความเข้าอกเข้าใจกันจะยิ่งบั่นทอนลง เมื่อภาพลักษณ์มีปัญหา เวลาที่กองทัพมีการปฏิรูปหรือต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างในสิ่งที่มีความจำเป็น ก็จะเกิดแรงต้านจากประชาชนอย่างที่ไม่ควรจะเป็น
ในฐานะหัวหน้ากรรมาธิการการทหาร วิโรจน์ตั้งความหวังว่า จะต้องทำให้การฝึกในค่ายทหารเป็น ‘ทหารอาชีพ’ ให้ได้ กลไกการรับสมัครจะต้องมีประสิทธิภาพมากพอ มีสวัสดิการ มีรายได้ที่ดีเพียงพอให้พลทหารดูแลปากท้องตนเองและคนที่รักได้ และต้องทำให้พื้นที่ในค่ายทหารมีความมั่นคง ปลอดภัย ปราศจากการใช้ความรุนแรงไปพร้อมๆ กับการจัดสรรกําลังพลให้สอดคล้องกับบริบทความมั่นคงของประเทศ ด้วยเงื่อนไขที่มีประสิทธิภาพเช่นนี้ วิโรจน์เชื่อว่า กองทัพจะสามารถดึงความน่าเชื่อถือจากประชาชนกลับคืนมาได้อีกครั้ง
“ดังนั้นเราจึงยืนยันและตอบกลับไปที่คำถามแรกของการสัมภาษณ์นี้ว่า ทหารยังมีความจําเป็น แต่ไม่มีความจําเป็นที่จะต้องเกณฑ์ทหาร” วิโรจน์กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา
https://crcfthailand.org/2023/08/15/death-of-private-wichian/
https://www.sanook.com/news/9068650/
https://prachatai.com/journal/2024/08/110343
https://www.dailynews.co.th/news/3750101/
https://www.facebook.com/share/p/Fvar7d27kKzaJbW3/
Fact Box
พลทหารปลอดภัย คือช่องทางร้องเรียนรูปแบบ LINE OA ที่เปิดให้ร้องเรียนในกรณีพบพลทหารถูกทำร้ายหรือถูกลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม เพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดการทำร้ายทหารเกณฑ์ในกองทัพ อีกทั้งยังมีมาตรการพาคนหนีทหารกลับเข้ากรม โดยมีการรับรองความปลอดภัย สามารถร้องเรียนได้ที่ https://liff.line.me/1645278921-kWRPP32q/