2 เดือนที่แล้ว วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. พรรคก้าวไกล ‘อภิปรายไม่ไว้วางใจ’ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ว่าอาจมีปัญหา ทั้งการผูกขาดวัคซีนไว้ที่ 2 บริษัท ทั้งล่าช้า และตัวเลือกน้อย

เสียงเตือนจากวิโรจน์ในเวลานั้นก็คือ หากมีการระบาดระลอกใหม่ ไทยอาจไม่ได้ ‘โชคดี’ อย่างที่คิด และด้วยวัคซีนที่มีในมือขณะนี้ อาจไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้

ทว่าเสียงตอบกลับจากทั้งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และจากอนุทินในวันนั้น ก็ยังคงเชื่อว่าวัคซีนที่มีอยู่เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องจัดหาเพิ่ม

ผ่านมา 2 เดือน เสียงเตือนจากวิโรจน์ผ่านรัฐสภานั้น ‘จริง’ ทุกเรื่อง จนถึงวันนี้ที่มีการระบาดระลอกใหม่ ประเทศไทยมีผู้ได้รับวัคซีนราว 1.15 ล้านโดสเท่านั้น และส่วนใหญ่ได้รับเพียงโดสเดียว จากที่ต้องรับ 2 โดส ขณะที่ภาคเอกชน 40 บริษัท ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าวัคซีนที่มีอยู่ในมือนั้นน้อย รวมถึงกระบวนการฉีด ‘ช้า’ และไม่เพียงพอ ซึ่งจะทำให้กระทบกับปัญหาเศรษฐกิจปีนี้อย่างหนัก

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นบุคคลแรกที่เข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวค ที่มา: เฟซบุ๊ก อนุทิน ชาญวีรกูล

The Momentum ชวนวิโรจน์คุยเรื่องวัคซีนอีกครั้ง ว่าในวันนี้ เขามองเห็นอะไร และมองกระบวนการจัดการ ‘วัคซีน’ ความหวังเดียวของประเทศ ในเวลาที่รัฐบาลไล่ควานหาวัคซีนจากทั่วโลกอย่างไร

วิโรจน์เริ่มต้นด้วยการอธิบายสถานการณ์การจัดการวัคซีนขณะนี้ว่า ‘เป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างยากลำบาก’

“กระทรวงสาธารณสุขมองไว้ว่าจะฉีดวัคซีนในเดือนกรกฎาคมให้ได้ 10 ล้านโดสต่อเดือน ผ่านการจัดตั้งโรงพยาบาลสำหรับการฉีดวัคซีน 1,000 แห่ง มีระยะเวลาเปิดทำการฉีดวัคซีน 20 วันต่อสัปดาห์ มีวันหยุดด้วย ซึ่งในแต่ละวันจะฉีดกันวันละ 500 โดส อันนี้ตามที่คุณอนุทินเคยพูดเอาไว้

“แต่ตอนนี้ ประเทศไทยมีวัคซีนซิโนแวค 2 ล้านโดส และมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) อีก 1 แสนกว่าโดส ก็ยังมีปัญหาตามมามากมาย แล้วถ้าสัญญาที่วัคซีนจะส่งมาอีก 6 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายน และ 10 ล้านโดส ในเดือนกรกฎาคม กระทรวงสาธารณสุขจะมีระบบกระจายวัคซีนที่ดีพอไหม

“ดังนั้นเราประมาทไม่ได้ ประเทศไทยต้องเริ่มเตรียมระบบให้มั่นใจว่า ถ้ามีวัคซีนในระดับ 6 ล้านโดส ศักยภาพในการฉีด 500 โดสต่อวันในแต่ละโรงพยาบาลตามที่อ้างไว้จะทำได้จริงไหม

“แต่สถานการณ์ตอนนี้ ไม่ค่อยสู้ดีนัก” วิโรจน์กล่าวอย่างตรงไปตรงมา 

 “บุคลากรทางการแพทย์ ปกติเวลาที่ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องรับมือกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มากขนาดนี้ก็เหนื่อยอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากอัตราการติดเชื้อของผู้ป่วยโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอยู่ทุกวัน ดังนั้นโรงพยาบาลต่างๆ จากเดิมที่มีภาระอยู่แล้วคือ ผู้ป่วยโรคอื่นที่ต้องการใช้เตียง และผู้ป่วยโควิดที่มีปริมาณมาก และหากยังต้องเพิ่มปริมาณเตียงเพื่อผู้ป่วยที่ฉีดวัคซีนอีก จะเป็นไปได้ไหม”

“ซึ่งคำตอบคือ อย่างไรก็ต้องได้ ผมตอบให้เลย

“เพราะการฉีดวัคซีนเป็นมาตรการเดียวที่จะฟื้นฟูประเทศได้ ตราบใดที่ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นในประเทศ ลำพังหน้ากากอนามัยที่โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เคยบอกเอาไว้ว่า เรามีหน้ากากอนามัย ไม่ต้องเจ็บตัวฉีดวัคซีน วันนี้พิสูจน์แล้วว่ามันไม่จริง

“ดังนั้น หากการระบาดในรอบที่ 4 และรอบที่ 5 ยังเกิดขึ้นได้อยู่ จากการที่ประเทศไม่มีภูมิคุ้มกันหมู่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ มาตรการการท่องเที่ยวใดๆ มาตรการการเงินการคลังใดๆ ที่จะออกมา แทบจะคาดหวังผลได้เลย นอกจากจะมีการเยียวยาก่อน”

วิโรจน์วิจารณ์ถึงแผน 4 ระยะของรัฐบาล ที่จะทำการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังจากที่ระยะแรกได้ลดการกักตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาประเทศจาก 14 วัน เหลือ 7 วัน ภายในโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการ ‘แอเรีย ควอรันทีน’ (Area Quarantine) ไปแล้วเมื่อต้นเดือนเมษายน โดยระยะที่สอง ซึ่งจะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนโควิดเข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตโดยไม่ต้องกักตัวในวันที่ 1 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ว่าเป็นไปได้ยาก หากสถานการณ์ในการกระจายการฉีดวัคซีนยังไม่มี ‘ท่าทีว่าจะดีขึ้น’ เท่าไหร่นัก

าพประชาชนต่อแถวเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวค ที่มา: Reuters

“ผมอยากเสนอแนวคิดผ่านระบบหนึ่งที่เรียกว่า 1 แถวคอย หลายสถานีบริการ ประกอบกับการทำการบริการตัวเอง (Self Service) ให้มากที่สุด เช่น การลงทะเบียนผ่านบัตรประชาชนที่อาจให้ประชาชนลงทะเบียนด้วยตัวเอง การชั่งน้ำหนัก การวัดความดัน ที่วันนี้จะต้องมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการ ก็อาจจะลดลง แล้วให้ประชาชนวัดความดันเอง ชั่งน้ำหนักเอง แล้วก็มีเครื่องพิมพ์อัตโนมัติ เพื่อเอาไปให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ซักประวัติ 

“แต่ถ้าเอาให้ดีกว่านั้นอีก การซักประวัติก็ควรมีระบบเช็กลิสต์ไปให้เอง แทนที่จะให้เจ้าหน้าที่ซักประวัติ ก็ให้ประชาชนจัดการเองเลย จะทำให้ประหยัดบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น และมีสภาพคล่องในการฉีดวัคซีนมีปริมาณที่สูงขึ้นต่อวัน ในขณะเดียวกัน ฝั่งบุคลากรทางการแพทย์เอง การสลับกะในการทำงานบุคลากร รวมทั้งการจ่ายเบี้ยเลี้ยง ค่าเสี่ยงภัย และค่าล่วงเวลาจะต้องไม่ขาดตกบกพร่องเช่นกัน

“และผมยังเชียร์แนวคิดการกักตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) มาสักระยะแล้ว โอเค ถ้าสถานการณ์เตียงมันเหลือ การอยู่ที่โรงพยาบาลมันก็ดีกว่าอยู่ที่บ้าน แต่ในวันที่เตียงขาดแคลน การจัดลำดับความสำคัญเพื่อให้เตียงเพียงพอกับผู้ป่วยอาการหนักและผู้ป่วยภาวะวิกฤตน่าจะสำคัญกว่าหรือไม่

ข้อเสนอในการปรับปรุงระบบการกระจายวัคซีนของนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร

1. ทำการกักตัวอยู่ที่บ้าน (Home Isolation)

2. หากจะเข้ารับการตรวจ สามารถลงทะเบียนกรอกข้อมูลด้วยตัวเองจากที่บ้าน

3. ในการนัดคิวฉีดวัคซีนต้องมีการเลือกวันและเวลา สถานที่เข้ารับการตรวจ เพื่อป้องกันการรวมกลุ่มกันในสถานที่ฉีดวัคซีน

4. ผลักดันให้ผู้รับการฉีดวัคซีนดำเนินขั้นตอนผ่านเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อลดภาระงานบุคลากรทางการแพทย์มากยิ่งขึ้น 

The Momentum ถามวิโรจน์ว่า เชื่อมั่นไหมว่า ‘เอกชน’ จะสามารถช่วยรัฐจัดหาวัคซีนได้? หลังจากหนึ่งในประเด็นร้อนเกี่ยวกับวัคซีนในตอนนี้ ซีอีโอของบริษัทใหญ่กว่า 40 บริษัทจากทุกกลุ่มธุรกิจของไทย ได้จัดการประชุมเพื่อร่วมกันวางแผนการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของภาคเอกชน และต้องจัดหาวัคซีนทางเลือกให้เพียงพอ โดยสนับสนุนภาครัฐให้สามารถเปิดประเทศได้อย่างรวดเร็ว เพื่อความปลอดภัยและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้

ที่มา: หอการค้าไทย

“จริงๆ หน้าที่ในการจัดหาวัคซีนและการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนเป็นหน้าที่รัฐบาล แต่การที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด มันก็อาจทำให้รัฐบาลสามารถบริหารสถานการณ์ได้เร็วขึ้นด้วย โดยรัฐบาลใช้การอุดหนุนงบประมาณลงไปก็ได้

“หลายๆ คนก็เคยเสนอแล้วว่า ถ้าโรงพยาบาลเอกชนจัดหาวัคซีนมาได้ รัฐบาลมีงบประมาณต่อหัวเท่าไหร่ ช่วยอุดหนุนเอกชนเพื่อควบคุมราคาไม่ให้โรงพยาบาลเอกชนโก่งราคาจนเกินไป ก็มาดูว่าค่าต้นทุนในการดำเนินการต่างๆ เป็นอย่างไร ค่าบริการทางการแพทย์ กำไรจากการฉีดวัคซีน มันสมเหตุสมผลหรือเกินควรหรือไม่ เมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีนทำได้เร็วขึ้น มีวัคซีนทางเลือกมากขึ้น

“แต่ก็ต้องยอมรับว่าทำได้ยากเหมือนกัน เพราะผู้ผลิตวัคซีนเขาต้องการที่จะเจรจากับรัฐบาลเป็นหลัก เพราะว่าวัคซีนที่ใช้ในกรณีฉุกเฉินมีเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น เงื่อนไขในการที่ห้ามฟ้องร้องจากผลข้างเคียงที่ใช้วัคซีน รวมทั้งเงื่อนไขการจ่ายเงินต่างๆ เขาจึงอยากที่จะเจรจาซื้อขายกับรัฐบาลมากกว่า หรือหากจะซื้อขายเอกชน รัฐบาลก็ต้องมีการรับรองเพื่อแบกรับความเสี่ยงนั้นด้วย

“แต่มันก็ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง ถ้ารัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจน ก็ให้องค์การเภสัชกรรมซื้อวัคซีนทางเลือกอื่นมาสิ แล้วก็กระจายขายต่อให้กับโรงพยาบาลเอกชนในราคาทุน และควบคุมราคาขาย ราคาฉีดของโรงพยาบาลเอกชนให้มีความเหมาะสมไม่แพงจนเกินไป การควบคุมราคาทำได้ รัฐบาลจะไม่รู้ได้ไง เพราะรัฐบาลต้องเจรจากับวัคซีนทุกเจ้าเอง รวมไปถึงการที่รัฐบาลช่วยจ่ายส่วนหนึ่งเพื่อให้เอกชนได้รับการฉีดวัคซีนในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป ก็จะสามารถทำให้การฉีดวัคซีนดำเนินได้อย่างรวดเร็ว

“ถ้าทำแบบนี้ได้ ผมมองว่าไม่ได้ใช้สิ่งที่เลวร้าย แต่สำคัญที่สุดเลย อย่าให้วัคซีนเป็นเครื่องมือของบางกลุ่มบุคคล อย่าเอาความเดือดร้อนของประชาชนไปทำให้ใครบางคนรวย มันบาปกรรม”

สุดท้ายวิโรจน์ได้เล่าถึงเหตุการณ์ที่บุกไปถึงสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอเอกสารสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยและแอสตร้าเซเนก้า เกี่ยวกับการจัดหาและจัดซื้อวัคซีนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง

“ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย

“ตอนไปยื่นหนังสือขอสัญญา เขาก็รับหนังสือ แล้วก็บอกว่าต้องขอเวลาพิจารณา แล้วก็เงียบไป แต่ผมก็น่าจะดำเนินการต่อ เพราะการได้สัญญามา อย่างน้อยจะได้เห็นว่าราคาในการซื้อขายวัคซีนมีความเป็นธรรมไหม มีเงื่อนไขที่รัฐบาลต้องไปแบกรับความเสี่ยงไหม ต้องชดเชยอะไรไหม มีเงื่อนไขอะไรที่รัฐบาลต้องดำเนินการที่ไม่เป็นธรรมกับการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีนทางเลือกอื่นหรือเปล่า

“อย่างน้อยมันต้องตรวจสอบได้

“สมมติมีกรณีวัคซีนที่ไม่ได้มีคุณภาพ ประชาชนจะได้รู้ว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิด วัคซีนในช่วงนี้ผลข้างเคียงอาจจะฟ้องร้องอะไรกันไม่ได้ ประชาชนเข้าใจ แต่ประชาชนต้องสามารถตรวจสอบได้เสมอว่าวัคซีนแต่ละล็อตมีคุณภาพไหม ถ้าไม่มีจะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ไหม เรื่องนี้สำคัญมาก รัฐบาลอิดออดในการกระจายความเสี่ยงในการจัดหาวัคซีน ถ้าผีไม่ถึงป่าช้าแล้วเขาจะยอมทำเหรอ

“วันแรกที่ประเทศไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดคือ 13 มกราคม 2563 วันที่ตั้งคณะทำงานการจัดหาวัคซีนทางเลือกคือวันที่ 9 เมษายน 2564 ใช้เวลา 1 ปี 2 เดือน 27 วัน มันจะไม่ให้ประชาชนต่อว่าได้อย่างไร พอตั้งมาคณะขึ้นมา วันที่ 21 เมษายนนี้ ประเทศไทยจะเจรจาเรื่องวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) แล้ว ใช้เวลาแค่ 12 วันเอง

“เห็นไหมว่าทำเร็วก็ทำได้ แต่ไม่ทำกันเอง ดังนั้นประชาชนจึงต้องมาตรวจสอบเรื่องนี้กันให้มากยิ่งขึ้น การที่ขอสัญญา ผมไม่ได้ขอให้นายวิโรจน์ แต่ผมขอให้ประชาชน และถ้ายิ่งคุณไม่เปิดเอกสารให้ดู ความชอบธรรมคุณก็ยิ่งหาย เพราะนี่เป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ มันเป็นวาระของชาติ”

Tags: , , , ,