เกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ชื่อของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โดดเด่นในฐานะหัวหมู่ทะลวงฟันของพรรคอนาคตใหม่และพรรคก้าวไกล ลีลาการอภิปรายของวิโรจน์ ส.ส. สมัยแรกและอดีตผู้บริหารของ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น ส่งให้เขาเป็น ‘ดาวสภา’ ในทันที ไม่ว่าจะเรื่องแฉปฏิบัติการ ‘ไอโอ’ ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของกองทัพบก ที่วิโรจน์ปล่อย QR Code ให้ประชาชนแห่กันกด Join Group ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อปี 2563

ไหนจะการเกาะติดเรื่องการบริหารจัดการโรคโควิด-19 ของรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุขที่ผิดพลาดและล้มเหลว เรื่องการแทงม้าตัวเดียว เรื่องการตรวจที่ล่าช้า หรือเรื่อง ‘หมอพร้อม’ ที่ไม่เคยพร้อมจริง จนทำให้ประชาชนติดเชื้อวันละหลักหมื่น ตายวันละ 200-300 คน สิ่งนี้เองจึงทำให้วิโรจน์ และ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นคู่ดีเบตที่สมน้ำสมเนื้อที่สุดในสภาฯ

วันนี้ วิโรจน์กลับมาใหม่ในฐานะแคนดิเดตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ที่ทำให้แฟนคลับหลายคนดีใจ แต่หลายคนก็บ่นด้วยเสียงดังๆ ว่า ‘ผิดหวัง’

บางคนตั้งคำถามว่าพรรคก้าวไกล ‘ไม่มีตัวลงแล้วหรือ?’ ขณะที่อีกหลายคนบ่นเสียดายว่าพรรคไม่ควรทิ้ง ‘ดาวสภา’ อย่างวิโรจน์ไปสู้ในสนามที่ไม่มีทางชนะอย่างสนามผู้ว่าฯ กทม. และในที่สุดก็อาจไปตัดคะแนนเสียง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ให้แพ้ฝ่ายตรงข้ามไปอย่างน่าเสียดาย

หนึ่งวันหลังการประกาศตัวลงสมัครผู้ว่าฯ The Momentum นัดพูดคุยกับวิโรจน์ในบทบาทใหม่ เพื่อตอบข้อสงสัยว่าจะทำอย่างไรในการโน้มน้าวให้ประชากร กทม. 5 ล้านคน กลับมามองเขาในฐานะแคนดิเดตหลักคนหนึ่งที่ไม่ใช่เพียง ‘ไม้ประดับ’ 

ทำอย่างไร ไม่ให้ฝ่ายประชาธิปไตยมองเขาเป็นตัว ‘แย่งคะแนน’ 

และทำอย่างไร ให้คนมองภาพเขาในฐานะผู้ที่มีโอกาสเป็นผู้ว่าฯ กทม. ไม่ใช่แค่อดีต ส.ส. คนหนึ่งที่เก่งเรื่องวาทศิลป์เท่านั้น

นี่คือคำตอบของเขา…  

พอคนเห็นว่าชื่อแคนดิเดตของพรรคก้าวไกล ชื่อว่าวิโรจน์ เสียงวิจารณ์แรกก็คือ พรรคก้าวไกล ไม่มีคนให้ลงแล้วแน่นอน

ไม่ใช่หรอกครับ จริงๆ แล้วความชัดเจนที่กำหนดให้ผมลงมีมาตั้งนานแล้ว แต่ว่าเราจะต้องเตรียมในเรื่องของนโยบายให้ชัดเจน และแผนในเรื่องการทำงาน กทม. ของเรา ก็ชัดตั้งแต่เปิดตัวสมาชิกสภากรุงเทพฯ (สก.) ในเขตต่างๆ ผมก็อยู่ในทีมตรงนั้นอยู่ แต่ก็ต้องมีการเตรียมการเพราะเราก็มีการทำงานมาอย่างยาวนานแล้ว

 

มองฟีดแบ็กของหลายคนที่ ‘ไม่โอเค’ กับการที่ก้าวไกลส่งคนลงผู้ว่าฯ กทม. อย่างไร ทั้งเรื่องการตัดคะแนนและเรื่องอื่นๆ

สำหรับความคิดของประชาชน ถึงอย่างไรก็ต้องเป็นสิ่งที่น้อมรับ แต่สำหรับพรรคก้าวไกล ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง มันคือโอกาส และมีคนที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงเป็นจำนวนมาก คำถามคือ เราจะทิ้งโอกาสที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

หากย้อนกลับไปจะเห็นว่าเราให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจ แล้วสนามผู้ว่าฯ กทม. เป็นสนามที่เราตั้งใจตั้งแต่แรก เจตจำนงของเราชัดเจน คือต้องการส่งผู้ว่าฯ กทม. อยู่แล้ว  ถ้าเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มันจะไม่มีเรื่องอย่างนี้ครับ ฝ่ายเผด็จการ หรือฝ่ายประชาธิปไตย ถ้าเรายังมีคำพูดแบบนี้อยู่แปลว่าเราไม่มีประชาธิปไตย 

วันนี้เรามีแคนดิเดตแต่ละคนที่มีข้อเสนอที่ดี ถือเป็นโอกาสดีที่คน กทม. จะได้มีสิทธิเลือก และได้เห็นการแข่งขันที่เป็นประโยชน์ ผมไม่อยากให้เราเชื่อว่าเป็นการตัดคะแนนกัน ตอนนี้เป็นโอกาสของทุกคนและทุกพรรค ในการนำเสนอวิธีคิดของเราให้กับประชาชนตัดสินใจ 

ผมไม่เคยคิดว่าผมเป็นคนที่ประชาชนจะเลือกเพราะเราเป็น Big Name วิธีคิดของพรรคก้าวไกล คือ ผมเป็น ‘ลูกน้อง’ คนหนึ่งที่เสนอแนวทางข้อเสนอให้กับ ‘เจ้านาย’ ซึ่งก็คือประชาชนคนกรุงเทพฯ นี่คือวิธีของเรา เราอาจจะเคยชินกับเลือกตั้งระบบหัวหน้าห้อง หัวหน้าชั้นเรียน แต่ในการเลือกตั้งในระบบประชาธิปไตย เราไม่ได้เลือกหัวหน้า เราเลือกตัวแทนที่จะมาทำงาน

 

แล้วรู้สึกอย่างไรที่มีคนรู้สึก ‘เสียดาย’ ที่ ส.ส. ฝ่ายค้านเก่งๆ จะหายไปเพื่อไปลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. 

ต้องขอบคุณมากๆ นะครับที่เสียดาย ผมรู้สึกดีใจมากๆ นึกย้อนกลับไปตอนที่ตั้งพรรคอนาคตใหม่ ที่ประชาชนเลือกผู้สมัครฯ ของเราในวันที่ 24 มีนาคม 2562 วันนั้นไม่มีใครรู้จักผม ผมเป็นแค่คนที่ทำงานเบื้องหลังคนหนึ่ง แล้วก็ใช้เวลา 3 ปี ในการทำงานอย่างเต็มที่ สิ่งที่ผมทำอาจจะล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยเห็นความตั้งใจของผม ถือเป็นกำลังใจที่ดีมากในการทำงาน 

แต่อยากจะบอกว่างานในสภาฯ ก็ส่วนหนึ่ง แต่งานบริหาร กทม. ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะ กทม. มีงบประมาณมากกว่า 1 แสนล้านบาท นี่คือโอกาสที่ผมรวมถึงตัวผู้สมัคร สก. ของพรรค และตัวพรรคก้าวไกลเอง จะได้พิสูจน์ว่ารัฐบาลก้าวไกลจะทำงานอย่างไรในการเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นตัวตั้ง เพื่อรีดงบประมาณทุกเม็ดอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และไม่ยอมให้เกิดสิ่งที่ไม่ชอบธรรมกับประชาชน ขณะเดียวกันถ้ามีปัญหาก็ต้องจัดการปัญหาให้เร็วที่สุด 

3 ปีที่ผ่านมาผมพิสูจน์มาแล้ว และผมเชื่อว่าจะสามารถพิสูจน์ตัวเองในการบริหาร กทม. ที่มีงบประมาณ 1 แสนล้านบาท และจะส่งโมเมนตัมไปให้กับประชาชนทุกคนในประเทศ ให้เห็นว่าต้องมีการแก้ไขอำนาจของผู้ว่าฯ กทม. ให้มีอำนาจที่พอเหมาะพอเจาะขึ้น ไม่ใช่อ้างว่าไม่มีอำนาจ เป็นข้ออ้างในการเอาตัวรอดของผู้ว่าฯ เพื่อที่จะไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

ครั้งนี้ ที่น่าจะเป็นการให้สัมภาษณ์ครั้งท้ายๆ ในฐานะ ส.ส. อยากให้ลองสรุปว่า 3 ปีที่ผ่านมา ได้อะไรจากการเป็น ส.ส. บ้าง

การพูดแบบ ส.ส. เป็นวิธีการ shape หรือปรับทิศทางนโยบายของรัฐบาล เพราะหน้าที่ ส.ส. คือ 

1. การสะท้อนความเดือดร้อนของประชาชนให้กับรัฐบาลทราบ

2. การตรวจสอบงบฯ ของรัฐบาลและความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้น

3. พิจารณาผ่านร่างกฎหมายที่สำคัญ

แต่เราลองมานั่งทบทวน จากเดิมที่เราต้องพูดว่าอย่าแทงวัคซีนแค่ตัวเดียว ม้าตัวเดียว จนวันนี้เราเห็นการดำเนินนโยบายวัคซีนเปลี่ยนไป นี่แหละคือหน้าที่ของ ส.ส. ทุกคนในสภา ไม่ใช่เพียงแค่เรา เราเห็นรัฐบาลกระวีกระวาดในการจัดการเนื้อหมูแพง เราเห็นการยอมรับของรัฐบาลที่ยอมรับว่ามีหมูติดเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกรจริง เพราะการพูดและสะท้อนปัญหาของ ส.ส.ในสภาและนอกสภา แม้ว่าจะช้าเกินไป แต่ก็มีจุดเริ่มต้นในการแก้ไขแล้ว

ขณะเดียวกัน การตรวจสอบงบประมาณก็ทำให้เกิดความระมัดระวัง อย่างน้อยงบประมาณกางเกงในที่ตัวเดียวแพงกว่า 3 ตัว 3 เท่า ก็ไม่มีแล้ว อีกทั้งยังมีกลไกกรรมาธิการที่ ส.ส.อภิชาติ (อภิชาติ ศิริสุนทร ส.ส.พรรคก้าวไกล ประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ได้ช่วยเหลือแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน

หรือกระทั่งที่พรรคก้าวไกลพูดว่าผู้ป่วยสีเขียวต้องทำ Home Isolation เพราะเราเอาผู้ป่วยทุกคนเข้าโรงพยาบาลไม่ได้ เราก็พูดตั้งแต่แรกๆ แล้ว และสุดท้ายผู้ป่วยสีเหลืองสีแดง ไม่มีเตียง สุดท้ายระบบ Home Isolation ก็เกิด

เช่นเดียวกับเรื่องไอโอ ที่ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่และอาจจะมีมากขึ้น แต่เราได้ทำให้สังคมได้ตระหนักว่าขบวนการแบบนี้ยังมีอยู่ หลายอย่างที่มีการปรับนโยบายล้วนมาจากทั้งพรรคก้าวไกล และพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นๆ ที่ร่วมกันทำงานจนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง

 

ถ้าหากให้ลองรีวิวการทำงานของผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมา มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง

ทุกคนมองกรุงเทพเป็นสิ่งปลูกสร้างและทัศนียภาพ ไม่ได้เอาผู้คนไปอยู่ในสมการ คนกรุงเทพฯ ไม่ใช่แค่คนที่เรามองเห็นตามรถไฟฟ้า ตามตึกระฟ้า แต่รวมไปถึงคนที่อยู่ในตรอก อยู่ในซอย อยู่ในชุมชน คนเหล่านี้มี 2 มิติ ตอนกลางวันเขาก็เป็นพนักงานออฟฟิศเหมือนกับเรา พอตอนกลางคืนเขาก็กลับไปยังชุมชนของเขา ดังนั้นเรามองคนกรุงเทพแค่เพียงคนบนรถไฟฟ้า ตามตึกระฟ้าไม่ได้ เราต้องมองเห็นคน กทม. ทุกคนเป็นคนเหมือนกัน

เรามักเอาคนขับรถเป็นตัวตั้งในการพัฒนากรุงเทพฯ เรามักเห็นการกระจุกรวมตัวกันแค่ในห้างสรรพสินค้าที่มีที่จอดรถ แต่สถานที่ต่างๆ ก็ต้องมีที่จอดรถ เศรษฐกิจตามตึกแถว และตาม 2 ฝั่งข้างถนน ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่ถูกต้อง รวมไปถึงตามตลาดสดต่างๆ หลายแห่งกลับซบเซาไปเยอะมาก เราแทบไม่ได้เอาการ ‘เดินเท้า’ หรือการ ‘เดินระยะสั้น’ เป็นตัวตั้ง เราเอาคนขับรถเป็นตัวตั้ง เลยทำให้แทนที่จะมีการกระจายรายได้ตามชุมชน แต่ทุกอย่างดันไปอยู่กับห้างสรรพสินค้า ไปอยู่ในพื้นที่ที่มีที่จอดรถแทน 

ในต่างประเทศ คุณสามารถเดินซื้อของตามตึกแถวได้ แต่ในไทยการค้าขายตามตึกแถวซบเซาลงไปเยอะ และถ้าคุณต้องการขายของ คุณก็ต้องไปเช่าพื้นที่ขายของเล็กๆ ในห้างแทน คุณจะถูกบีบคอ ถูกขึ้นค่าเช่าอย่างเป็นระยะๆ ขายของได้เท่าไรก็ต้องไปจ่ายค่าเช่าที่เพิ่มสูงขึ้นแทน ควรต้องมองเศรษฐกิจที่เอาการเดินเท้าและการเดินระยะสั้นเป็นตัวตั้งด้วย ไม่ใช่เศรษฐกิจที่เอาการขับรถเป็นตัวตั้งอย่างเดียว

นอกจากนี้ เราพบว่ามีพื้นที่ที่ประชากรหนาแน่นมักมีพื้นที่ตลาดน้อย จึงเกิดการลักลอบขายของบนทางเท้า ตราบใดที่เรายังไม่สามารถแก้ไขให้พื้นที่การค้าขายสัมพันธ์กับประชากร การลักลอบขายก็จะมากขึ้น เพราะอุปสงค์และอุปทานไม่เท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันพอเกิดการลักลอบขายขึ้น ก็จะเกิดระบบมาเฟียที่เกี่ยวโยงกับข้าราชการบางคนอีก คราวนี้คนเดินทางก็เดือดร้อนจากการลักลอบขาย ทั้งยังมีมาเฟียมาเก็บค่าคุ้มครองอีก ต้องถามว่าผู้ว่าฯ กทม. จะปล่อยได้อย่างไร หลับตาข้างเดียวได้อย่างไร ทุกอย่าง จึงต้องมี Empathy ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย

นั่นแปลว่าเราจะบังคับใช้กฎหมายแบบไร้หัวใจไม่ได้ ถึงเราต้องบังคับใช้กฎหมาย แต่เราต้องมีหัวใจ ต้องพยายามค้นหาปัญหาเชิงโครงสร้างและแก้ไขเพื่อทำให้เมืองนี้น่าอยู่ 

คุณจะไม่เอาประชาชนมาอยู่ในการพัฒนาไม่ได้ คุณไม่เอาชุมชนมาใส่ในสมการก็ไม่ได้ การพัฒนาที่ไม่ได้วางสมการให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการพัฒนา สุดท้ายเขาจะไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ไม่เกิดความหวงแหนในสิ่งที่พัฒนาขึ้นเลย กลายเป็น Alien Tradition เป็นวัฒนธรรมจากถิ่นอื่นที่เอามายัดไว้ในตรงนี้ เรื่องการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่งั้นทัศนียภาพมันจะกลายเป็นการเอาเส้นสีเหลืองไปคาด แบบที่ไปขีดว่าให้นักท่องเที่ยวเข้าไปได้เท่านั้น แต่ชุมชนไม่ได้ประโยชน์จากตรงนี้เลย

วันที่แถลงข่าวเปิดตัว พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล บอกว่าวิโรจน์มีดีเอ็นเอพรรคก้าวไกลมากที่สุด ช่วยขยายความให้นิดหนึ่งว่า ดีเอ็นเอของพรรคก้าวไกลเป็นอย่างไร

การที่เราจะเลือกเฟ้นผู้สมัครในพรรค เราเริ่มต้นจากการทำนโยบายก่อน แต่เราไม่ได้คิดแค่นโยบายอย่างเดียว เราคิดถึงวิถีทางในการขับเคลื่อนนโยบายและการดำรงตน ซึ่งวิถีทางในการดำรงตนที่ถือเป็นดีเอ็นเอของพรรคก้าวไกล คือ

1. ต้องเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง

2. ไม่หวั่นไหวต่อผลประโยชน์

3. ไม่เกรงกลัวต่ออำนาจที่มาเอารัดเอาเปรียบประชาชน 

นี่คือดีเอ็นเอของอนาคตใหม่ เป็นวิถีการทำงานของพรรคก้าวไกล พอมารวมกันระหว่างนโยบายและวิถีทางการทำงาน เราก็ใช้ส่วนนี้เฟ้นหาตัวผู้สมัครเรื่อยมา ผมเองเป็นคนที่อยู่ในทีมคัดสรรผู้สมัครมาตั้งแต่แรก และกรรมการก็เล็งเห็นตรงกันว่าน่าจะเป็นคนนี้ ทีมเลยถามว่าวิโรจน์เป็นได้ไหม ผมก็ตอบรับทันที ผมเชื่อว่าตัวผมสามารถดำรงตนในวิถีทางของก้าวไกลได้

 

แล้วก้าวไกลจะใช้อะไรในการชนะใจคน กทม.

ผู้ว่าฯ ต้องมีภาวะผู้นำ กล้าจะเผชิญกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่น งบส่วยกรุงเทพฯ ที่มีตัวเลขต่ำสุดที่ 5,000 ล้านบาท สูงสุด 1.5 หมื่นล้าน หากเทียบกับงบประมาณที่ กทม. มีปีละหนึ่งแสนล้านบาท นั่นแปลว่าส่วยฯ กลายเป็น 15% ของงบประมาณทั้งหมด  

ทุกคนรู้ว่าสิ่งนี้กำลังถ่วงความเจริญของคน กทม. และทุกคนรู้ว่ามันแทรกซึมไปกับทุกระบบ ผูกรวมกับคอร์รัปชัน รวมกับเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ถ้าเราสามารถจัดการเรื่องนี้ได้ หลายสิ่งหลายอย่างที่มาพัวพันกับชีวิตเราจะหมดไปเอง นี่คือหมุดหมายสำคัญของคนที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ต้องมีความพร้อมที่จะไม่สยบยอมต่อระบบแบบนี้ ถ้าเกิดเราสยบยอมต่อปัญหานี้ กทม. จะพัฒนาไม่ได้เลย 

เราต้องพร้อมจะชนและต้องไม่ชนแบบมั่วซั่ว มีคนถามผมหลายคนว่าจะทำงานกับข้าราชการได้เหรอ เท่าที่ผมทำงานมา ข้าราชการน้ำดีมี 90% หรืออาจจะมากถึง 99% แต่เขาอึดอัด น้ำท่วมปาก พูดไม่ได้ เพราะเกรงกลัวข้าราชการไม่กี่คนที่มีอำนาจและผลประโยชน์ เราต้องสร้างความกล้าหาญในการสร้างข้าราชการที่ดี และพร้อมจะมีวิธีการแก้ไขที่ตรงไปตรงมา ข้าราชการการเมืองที่ทำงานกับผมในสภาก็รู้สึกสบายใจในการทำงาน ที่ผมอ่อนน้อมถ่อมตน และให้เกียรติในการทำงาน และทำงานตรงไปมา นำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานกับข้าราชการน้ำดีใน กทม. ผมเชื่อว่าข้าราชการน้ำดีต้องการผู้ว่าฯ แบบนี้ ไม่ใช่เกรงใจใครก็แล้วแต่ที่มีอำนาจ 

 

คำว่า “กรุงเทพฯ เปลี่ยนแล้ว” ของผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง นั้นเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

คน กทม. ได้ยินคงถอนหายใจว่าเปลี่ยนแล้วได้แค่นี้เหรอ

ผู้ว่าฯ มักจะอ้างว่าตนมีอำนาจแค่นี้ ทำได้แค่นี้ ส่งหนังสือไปแล้วก็จบ ผมคิดว่า ผู้ว่าฯ ในมุมมองหลายคนอาจจะต้องเป็นซีอีโอ ต้องใส่สูท แต่สำหรับตัวผมเอง ผู้ว่าฯ กทม. จะต้องเป็นผู้จัดการทั่วไป เป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลที่เก็บทุกเม็ด มาทำงานเป็นคนแรก คนไหนมีปัญหาอะไร ผู้ว่าฯ ต้องเป็นตัวกลางในการประสานงาน ผู้ว่าฯ ควรจะต้องเป็นคนที่ใส่ใจในรายละเอียด เอาใจเขามาใส่ใจเรา มองทุกคนเป็นญาติพี่น้อง ไม่ใช่ลูกน้อง

ยกตัวอย่างอุบัติเหตุบนทางม้าลาย ถ้าเราพูดกันตรงๆ ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ได้มีอำนาจอะไรในตรงนั้น แต่ถ้าเราคิดว่า พี่น้องเรา ญาติเราถูกรถชน มีอำนาจหรือไม่มีอำนาจเราก็ต้องช่วย ต้องเข้าไปแก้ปัญหาอยู่แล้ว ในเรื่องนี้หลายคนมักพูดถึงการติดตั้งเสาไฟสัญญาณ แต่มันจะมีประโยชน์อะไรถ้าเราไม่มีสิ่งที่เรียกว่าความใส่ใจและการเก็บรายละเอียด ถ้าผู้ว่าฯ มีความใส่ใจ ถึงไม่มีอำนาจ แต่เกี่ยวกับคนในครอบครัวของเรา ในบ้านของเรา เราก็ต้องแก้ปัญหา 

จากการเก็บรวบรวมข้อมูล มาตรา 70 ของพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 22 วรรค 4 ต้องให้สิทธิกับคนบนทางเท้า ผู้ว่าฯ กทม. และสำนักจราจรเองก็รวบรวมข้อมูลอยู่แล้ว ต้องมาเป็นเจ้าทุกข์แทน เรามีเลขทะเบียนอยู่แล้ว แค่ส่งให้กองบังคับการตำรวจจราจรในการปรับ ตัดคะแนน และมีการประชาสัมพันธ์ว่าเราจะเป็นเจ้าทุกข์ให้เอง ไม่ใช่ใครโดนก็ไปร้องทุกข์กันเอง ถ้าทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เราจะสามารถทำลายค่านิยมเดิมได้

ในความเห็นของวิโรจน์ ตอนนี้ กทม. ยังเหลืออะไรที่ไม่ได้เปลี่ยนบ้าง

1. ส่วย กทม. ที่เกาะกิน กทม. ยังมีเหมือนเดิม และมีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นด้วย เปลี่ยนไปในแง่ที่หนักกว่าเดิม

2. ความปลอดภัยในการใช้ชีวิตและการใช้ชีวิต 

3. โรงพยาบาลและระบบสาธารณสุข ต้องสามารถส่งตัวคนไข้ในโรงพยาบาลเครือกทม.ได้ ต้องหารือ ต้องร่วมพูดคุยกันให้มีระบบร่วมกัน มีเอกภาพร่วมกัน และต้องปรับปรุงโรงพยาบาลในเครือสังกัด กทม. 11 แห่ง ให้สามารถดูแลสุขภาพประชาชนได้

กทม. มีศูนย์บริการสาธารณสุขอยู่ 69 แห่ง กับสาขาอีกประมาณ 76 แห่ง รวมแล้ว 145 แห่ง มีคลินิกชุมชนอบอุ่นที่คนกทม.ใช้บัตรทองได้ 261 แห่ง แต่วันนี้ ก็ยังไม่ครอบคลุม  ถ้าคุณคิดว่าคน กทม. คือพี่น้องของคุณ คุณคิดแค่กรอบอำนาจของคุณไม่ได้ คุณต้องไปเจรจากับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องหาทางช่วยคลินิกชุมชนอบอุ่นให้คน กทม. เพราะวันนี้ คน กทม. ใช้บัตรทองน้อยก็จริง แต่อย่าคิดว่าคน กทม. แข็งแรง ปัญหาคือคน กทม. ทั้งหลายต่างก็ไปพึ่งร้านขายยา หายากินเองแทน

4. โรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กอ่อน ผมเองเป็นคนที่แคร์การศึกษามากๆ การฝึกทักษะการบริหารจัดการตนเองขั้นสูง (Max-executive function) ในเด็กเป็นอะไรที่สำคัญมาก และโภชนาการเป็นปัจจัยที่สูงมาก วันนี้อยู่ได้สปิริตของครูพี่เลี้ยง เรื่องนี้ปล่อยไม่ได้เลยเพราะเกี่ยวข้องกับอนาคตของเด็ก

5. ความพร้อมในการรับมือกับฤดูฝน อาจยังไม่ต้องใช้ Internet of things ในการจัดการน้ำ แต่สิ่งที่พื้นฐานที่สำคัญที่สุดคือฤดูฝนมาเดือนเดียวกันทุกปี เราสามารถจัดการระบบสูบน้ำ เตรียมเครื่องสูบน้ำให้พร้อม แบบ 150% ซ่อมบำรุงให้พร้อม ยกตัวอย่างบนถนนศรีนครินทร์ อย่างในเขตบางนาที่ติดกับสมุทรปราการ เครื่องสูบน้ำขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการทำงานได้ตลอด ผิดกับในเขตบางนาที่สูบไม่ทันตลอดเวลา

คน กทม. เวลามีปัญหาอะไรมักจะยอม ‘จ่าย’ เป็นเรื่องปกติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เป็นราคาค่าครองชีพที่สูงเกินไป จ่ายจนเคยชิน โดยที่ไม่ได้นึกถึงว่าสิ่งเหล่านั้นต่างก็เป็นสิ่งผิดปกติ 

หรืออย่างการข้ามถนน เราต้องมองซ้ายมองขวา ต้องมองตลอดเวลา ขึ้นสะพานลอยต้องอย่าจับราวบันไดเพราะไฟจะดูดตาย ทั้งหมดคือการผลักภาระให้ประชาชนรับผิดชอบตัวเอง มีอำนาจหรือไม่มีอำนาจผู้ว่าฯ กทม. ก็ต้องดิ้นรนเพื่อทำอะไรสักอย่างเพื่อปกป้องคนอื่น ซึ่งพรรคก้าวไกลไม่อยากให้คน กทม. ทนแบบนี้อีกต่อไป

 

อยากให้ขยายข้อดีของสะพานลอยคนข้าม

สะพานลอยเป็นทางเลือกเดียวสำหรับคนข้ามถนนทุกวันนี้ แต่ถ้าเรากลับมาคิดในมุมสังคมผู้สูงอายุ มันยากมาก มันจำเป็นแค่บางที เช่นพื้นที่ถนนที่รถขับเร็วมาก หรือถนน 8 เลน ถ้าจะทำ ก็ต้องทำลิฟต์สำหรับผู้สูงอายุด้วย แน่นอนว่าต้นทุนในการหลบรถมันสูง แต่ต้องมีพื้นที่ที่คนขับรถต้องให้เกียรติคนเดินถนนด้วย อย่างทางม้าลายที่มากกว่า 4,600 กว่าแห่ง เราคงไม่สามารถติดตั้งสัญญาณไฟคนข้ามถนนทั้งหมดได้ แต่เราสามารถติดตั้งพื้นที่ที่คนสัญจรได้มากกว่า ทั้งหน้าโรงเรียน โรงพยาบาล หน้าสถานที่สำคัญต่างๆ เราตีเส้นชะลอความเร็ว ติดกล้องจับความเร็วได้ 

เราต้องทำพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตรนี้ ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของทุกคน แต่พอเราทำ ก็จะเจอคนบ่นว่ารถติด รถต้องชะลอ ผมก็อยากชวนให้คิดว่า คนจำนวนมากที่ต้องข้ามถนน เขาก็ต้องรอเหมือนกัน เราก็ต้องเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกัน

ผมมองว่าคนที่ขับรถชนคน ไม่ว่าจะเสียชีวิตหรือไม่เสียชีวิต ทุกคนมือไม้สั่นทุกครั้ง รู้สึกเสียใจทุกครั้ง คุณอยากรู้สึกผิดบาปต่อความรู้สึกอย่างนั้นเหรอ ถ้าเราเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกันได้ ไม่ต้องการให้ใครเสี่ยง สะพานลอยต้องเป็นทางเลือกสุดท้ายแล้ว เมืองนี้ต้องให้ความสำคัญกับคนเดินทาง ไม่ใช่ผลักภาระผลักความเสี่ยงให้กับคนเดินถนนทั้งหมด 

 

การ ‘กล้าชน’ ในแบบผู้ว่าฯ กับการกล้าชน ในแบบ ส.ส. มีความแตกต่างกันไหม

การชนแบบผู้ว่าฯ เราไม่ได้ชนแบบตรวจสอบ แต่เป็นการชนเพื่อปกป้องชีวิตของคน กทม. ปกป้องไม่ให้สิทธิของคนกรุงเทพถูกย่ำยี ไม่ให้เขายอมจำนนต่อสิ่งเขาเจอ ไม่ต้องให้เขาต้องจ่ายค่าครองชีพที่สูงเกินไป 

ผมยกตัวอย่างเรื่องการจองวัคซีน ทำไม ‘หมอพร้อม’ หรือ ‘ไทยร่วมใจ’ ถึงทำงานไม่ได้ ต้องจองผ่าน QueQ แทน แต่ก็ไม่ได้จองได้ง่ายๆ กว่าจะหาศูนย์ฉีดวัคซีนก็ยากมาก เหมือนกับปล่อยให้ประชาชนค้นหาวิธีกันเอง และต้องปกป้องความเป็นธรรมให้กับจังหวัดอื่น ไม่ใช่ไม่สนใจพวกเขาเลย 

สำหรับผู้สมัครคนอื่นๆ บางคนเป็นรัฐมนตรีมาก่อน บางคนเป็นอธิการบดีมาก่อน แต่คนอาจยังไม่เคยเห็นภาพของคุณในการเป็นนักบริหาร

สำหรับประสบการณ์ ผมเคยมีประสบการณ์ในการบริหารมา 15 ปี คิดว่าอาจจะแนะนำให้ไปคุยกับคนที่เคยทำงานร่วมกันกับผม แต่การพูดถึงตัวเอง ผมอาจจะไม่สะดวกจริงๆ คงต้องให้คนอื่นพูดให้แทนดีกว่า ให้คนที่เคยทำงานกับผมพูดดีกว่า 

ดังนั้น ผมก็ต้องย้ำถึงประชาชน ต้องเอาชนะใจประชาชน ทำให้เขาเห็นว่าผมเข้าใจปัญหาจริงๆ ทำได้จริง ทำให้เขารู้ว่าผมและทีมงานสามารถทำงานได้จริง ให้เจ้านายที่เป็นคน กทม. เห็นว่าผมเองทำงานได้ และนี่ก็เป็นโอกาสอันดีที่คน กทม. ที่จะได้เห็นผมทำงานจริง

 

ถ้าเทียบสัดส่วนประชากร ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 51% เป็นคนอายุเยอะ ในขณะที่แฟนคลับของก้าวไกล ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ อายุ 18-45 ปี 

สิ่งที่ผมพูดไปในวันที่ 23 มกราคม 2565 ผมไม่ได้พูดถึงคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผมพูดถึงคน กทม. ทุกคน ผมต้องการให้ความสำคัญกับสังคมผู้สูงอายุด้วย และผมพร้อมที่จะเปิดรับทุกความคิดเห็น พร้อมสร้างสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ดี ดังนั้นเวลาเราคิดโจทย์เราจะต้องใส่ใจคนทุกคน ต้องเก็บรายละเอียดทุกคน

 

ในฐานะคนที่เรียนจบวิศวะฯ ทำไมรอบนี้ แคนดิเดตผู้ว่าฯ ทุกคน ถึงมีแต่วิศวะฯ 

(นิ่งคิด) มันก็ตอบไม่ได้นะ อย่างผมเองก็ทิ้งงานวิศวกรไป 3 ปี หลังจากนั้นก็ไปทำงานบริหารธุรกิจ แต่พอเป็นวิศวะฯ ก็จะคิดวิธีการแก้ไขแบบ Systematic (คิดอย่างเป็นระบบ) หลังจากนั้นพอได้มาทำงานในสายบริหาร ก็จะมีวิธีคิดอีกแบบ ทั้งเรื่องการเงิน ผลตอบแทน พอมาเรียนเศรษฐศาสตร์เราก็ได้มาคิดในมุมของ Social Welfare (สวัสดิการสังคม) ด้วย ผมก็เป็นคนที่หลากหลาย ไม่ได้แค่วิธีคิดแบบวิศวกร อีกอย่างหนึ่งอาจจะเป็นเพราะคนสมัยก่อนเรียนวิศวะเยอะมากด้วยก็ได้

 

การเป็นวิศวกรถือเป็นจุดเด่นไหม

จริงๆ เป็นทั้งจุดเด่นและจุดด้อย สังคมต้องการคนที่คิดแก้ไขได้อย่างหลากหลาย ถ้าคิดแบบวิศวะฯ ก็จะคิดได้แค่ Efficiency (ประสิทธิภาพ) อย่างเดียว แต่ไม่ได้คิดถึงหัวใจคน เราต้องยอมรับว่า ต้องมีนักคิดในสายสังคมฯ มาช่วยกันแก้กรุงเทพด้วย ถ้าคิดแบบวิศวะอย่างเดียว คำนวณตัวเลขอย่างเดียว หัวใจคนมันจะประเมินเป็นตัวเลขอย่างไร มันประเมินไม่ได้

จากประสบการณ์ที่ผมเป็น HR manager ทำให้เข้าใจว่า การคำนวณในกระดาษมันแก้ไขไม่ได้ บางทีก็ต้องโยนทิ้งเลย มาเอาหัวใจแก้ดีกว่า และผมเคยบุกเบิกโรงเรียนเพลินพัฒนา ยิ่งเคยทำงานกับเด็กกับผู้ปกครอง ทำงานในสายศึกษา ตัวเลขเป็นเพียงแค่ข้อมูลทางสถิติที่นำมาประกอบในการตัดสินใจ แต่การตัดสินใจบางครั้งเราต้องใส่ใจความรู้สึกของคนด้วย

ถ้า ผู้ว่าฯ ชื่อวิโรจน์ คลองโอ่งอ่าง และคลองช่องนนทรี จะหน้าตาเป็นแบบไหน

การปรับปรุงคลองไม่ใช่ไม่ดีนะ แต่คำถามคือประชาชนได้ประโยชน์อย่างไร การแสดงอะไรต่างๆ เป็นสิ่งที่ประชาชนได้รับประโยชน์ไหม หรือเป็นภาระที่ กทม. สร้างขึ้นมา ประชาชนได้ประโยชน์อะไรจากการจัดสรรพื้นที่ขายสินค้าที่เป็นระเบียบ ทุกอย่างต้องมีการจัดสรรให้ตั้งแต่แรก ไม่ใช่ปล่อยให้เขามาลักลอบขาย คุณต้องคิดตั้งแต่แรกให้มีพื้นที่หรือเปล่า มีการจัดเก็บอย่างเป็นธรรมเป็นไปตาม พ.ร.บ.สาธารณสุข หรือไม่ ทั้งหมดคือคุณทำให้เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่คุณไม่ได้เอาทั้งชุมชนมาอยู่ในสมการเลย 

ผมยกตัวอย่าง การเช่าเรือ เช่าซับบอร์ด ประชาชนได้ประโยชน์อะไรไหม การที่คุณกันประชาชนไม่ให้เขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา ถือเป็นสิ่งที่ล้มเหลวที่สุด เพราะมันจะเป็นภาระทางงบประมาณ ประชาชนไม่ได้มีความเป็นเจ้าของตรงนั้น แล้วความหวงแหนจะเกิดขึ้นได้ยังไง สุดท้ายแล้ว ตรงนั้นจะกลายเป็นพื้นที่หวงห้าม เพื่อนักท่องเที่ยวและคนต่างถิ่นเท่านั้น มันต้องทำให้คนต่างถิ่นมีความสุข ขณะเดียวกันคนที่อยู่ตรงนั้นก็ต้องมีความสุขในการหารายได้และเป็นเจ้าบ้านที่ดี และสุดท้ายเขาจะมีความรู้สึกว่าถ้าเขาไม่ดูแลให้ดี แขกก็จะไม่มา เขาก็จะเสียผลประโยชน์ด้วย

แต่กทม.ไม่เคยคิดในมุมนี้เลย คิดเพียงแต่ว่าเป็นแค่เจ้านายที่เข้าจัดการทุกอย่าง ซึ่งหลายอย่างล้มเหลวและเป็นภาระทางงบประมาณทั้งสิ้น

Fact Box

  • วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เป็น ส.ส. สมัยแรก อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรค ‘อนาคตใหม่’ เป็นลำดับที่ 33 โดดเด่นในเรื่องการอภิปรายด้วยลีลาดุดัน โผงผาง และใช้สไตล์การตรวจสอบอย่างเข้มข้น ผลงานที่สำคัญคือการตรวจสอบเรื่อง ‘วัคซีน’ ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจตลอด 2 ครั้ง เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา
  • วัยเด็กของวิโรจน์ เติบโตมาในฐานะ ‘ลูกชาวบ้าน’ พ่อเป็นเซลล์ขายผ้าที่สำเพ็ง ส่วนแม่ทำงานเป็นแม่บ้าน เขาเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านวิศวกรรมยานยนต์ ก่อนเรียนจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากจุฬาฯ และจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เคยทำงานในบริษัทรถยนต์ ก่อนจะย้ายไปทำงานที่บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหาร และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคลนานหลายปี จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคล และยังแปลหนังสือเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอยู่หลายเล่ม
  • เขาเป็นแฟน ‘ลิเวอร์พูล’ ตัวยงตั้งแต่จำความได้ และหลายครั้งในสภาฯ วิโรจน์มักจะใส่ทั้งเนคไทและหน้ากากของแท้ที่วางขายในร้าน LFC Official Club Store ที่สนามแอนฟิลด์เท่านั้น
Tags: , , , , ,