‘‘นางงามขับเคลื่อนสังคมไม่ได้จริง ดูแค่สนุกอย่างเดียวพอ”

 

“การประกวดนางงามก็เป็นแค่ธุรกิจ เป็นโชว์แบบหนึ่ง”

 

“มีแค่ประเทศโลกที่สามเท่านั้นละที่ยังบ้านางงาม”

 

ส่วนหนึ่งของสารพันคำกล่าวที่เราจะได้ผ่านหูผ่านตากันทุกปี ในช่วงที่มีการประกวดนางงามทั้งบนเวทีระดับชาติและระดับโลก

รวมถึงทัศนะต่อคุณค่าของนางงาม ที่บ้างก็มองว่าเป็นภาพสะท้อนของแนวคิดปิตาธิปไตย ลดทอนศักดิ์ศรีและคุณค่าของสตรีเพศ บ้างก็มองว่าเป็นการใช้อภิสิทธิ์ของความงามสำหรับผู้หญิงบางคนเพียงเพื่อการไต่ระดับทางสังคมและสร้างผลประโยชน์ส่วนบุคคล หรือเป็นเพียงผลประโยชน์เชิงธุรกิจแก่ผู้ลงทุนเพียงเท่านั้น หาได้มีคุณค่าใดมากไปกว่า ‘โชว์บันเทิง’ ประเภทหนึ่ง ที่ไม่ได้ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทางสังคม หรือมิพักต้องพูดถึงการผลักดันที่จะเปลี่ยนกลายการประกวดนางงามสู่ระดับซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ

กระแสความเห็นเหล่านี้ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างไม่รู้จบในสังคมไทย

ในโค้งสุดท้ายของการประกวดมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส 2022 The Momentum ถือโอกาสสนทนากับ ธง-ฐิติพงษ์ ด้วงคง ผู้มีหลากหลายบทบาท ทั้งอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนานาสถาบัน นักวิชาการผู้ชำนาญการด้านวัฒนธรรมการประกวดนางงาม หนึ่งในกรรมการกองประกวดและโค้ชด้านวิชาการของมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ เพื่อเปิดมุมมองต่อ ‘การประกวดนางงาม’

และเพื่อให้คุณหาคำตอบของตัวเองในท้ายที่สุดว่า — โลกยุคนี้ยังต้องมีนางงามอยู่อีกไหม?

 

เวทีนางงาม: พื้นที่จำกัดเฉพาะผู้มี ‘ความงามเป็นอภิสิทธิ์’

 การประกวดนางงาม — ชัดเจนตามชื่อว่าเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อการแข่งขันของเหล่าสาวงามที่มีหน้าตา เรือนร่าง และบุคลิกเป็นมาตรวัดหลัก รวมถึงเสน่ห์และไหวพริบในการตอบคำถามแสดงทัศนคติต่อสังคม ที่ส่งเสริมให้ภาพการประกวดนางงามในยุคหลัง ไม่จดจ่อเพียงแค่ความงาม แต่เป็นการเฟ้นหาผู้หญิงที่มีพร้อมทั้ง ‘Beauty and Brain’

ถึงอย่างนั้นไม่อาจปฎิเสธได้ว่า ‘ความงาม’ หรือภาพลักษณ์ภายนอกของนางงามยังเป็นภาพนำในการรับรู้ทั่วไปของสังคมและมองเวทีนางงามเป็นพื้นที่จำกัดเฉพาะ ผู้มีอภิสิทธิ์ของความงาม (Beauty Privilege) เท่านั้น ทั้งมีไม่น้อยในสังคมยุคใหม่ที่มองว่าควรยกเลิกการประกวดความงามเช่นนี้ได้แล้ว

อาจารย์ธงแสดงทัศนะต่อประเด็นนี้ว่า มีโอกาสและพื้นที่มากมายในสังคมนี้ที่แต่ละคนย่อมต้องมองหาโอกาสและช่องทางที่ตนถนัด และผลักดันคุณสมบัติที่มีอยู่ออกมาเป็นธรรมดา

เวทีประกวดนางงามก็เป็นหนึ่งในพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับบรรดาผู้หญิงหลากหลายที่ก้าวเข้ามาด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป

“อย่างน้อยก็มีทางเลือกหนึ่งให้ผู้หญิงคนหนึ่ง ไม่มีประโยชน์เลยที่จะไปปิดพื้นที่ที่มีอยู่แล้วทำให้ผู้หญิงมีตัวเลือกในเส้นทางชีวิตน้อยลง เราอาจจะต้องพูดกันไปถึงปรากฏการณ์ผีเสื้อขยับปีก (The butterfly effect) ที่ถ้าเปิดพื้นที่หนึ่งได้ก็จะมีหลายอย่างตามมา และเราอาจต้องพูดถึงกรณีของ ‘แอนนาเสือ’ เพราะคนจะชอบประณามเธอว่า มีวันนี้เพราะได้สิทธิจาก beauty privilege”

‘แอนนาเสือ’ หรือ ‘แอนนา เสืองามเอี่ยม’ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ปี 2022 ก่อนชนะการประกวดคลิปวิดีโอของเธอถูกพูดถึงอย่างมากในโซเชียลมีเดีย เมื่อกรรมการขอให้แอนนาแนะนำตัวเอง เธอเล่าถึงภูมิหลังครอบครัวด้วยรอยยิ้มว่าพ่อมีอาชีพพนักงานเก็บขยะ ส่วนแม่เป็นพนักงานกวาดถนนของรัฐวิสาหกิจ สำนักงานเขตตลิ่งชัน แต่เพราะพ่อติดแอลกอฮอล์ขั้นหนัก แม่จึงตัดสินใจขอหย่า

แอนนาเติบโตมากับการถูกล้อเลียนอาชีพของพ่อแม่ ซ้ำการทำงานเป็นกะของบุพการี ทำให้ไม่มีใครดูแลเธอในตอนกลางคืน ทวดของแอนนาที่อาศัยอยู่กับสำนักชีจึงช่วยนำแอนนาไปเลี้ยงดูที่วัดช่างเหล็ก เธอจึงเติบโตมาท่ามกลางบรรยากาศของพุทธศาสนาในชุมชนแออัด แต่ครอบครัวก็พยายามผลักดันให้แอนนามีชีวิตที่ดีขึ้นผ่านการศึกษา ดังที่เธอเคยให้สัมภาษณ์ว่า “แม่แทบไม่มีอะไรให้เลย สมบัติที่มีให้อย่างเดียวคือการศึกษา เพราะแม่พยายามทำงานเยอะๆ เพื่อส่งให้หนูเรียนจบ”

อาจารย์ธงกล่าวต่อไปว่าเรื่องความเหลื่อมล้ำที่แอนนาเสือเจอมากลายเป็นแรงสั่นสะเทือนกลับไปยังสังคมไทย ชีวิตของเธอสะท้อนถึงสวัสดิการรัฐที่ไม่เคยเข้าถึงกลุ่มคนระดับล่างและคนในพื้นที่ชุมชนแออัด แบบนี้หมายความว่าเป็นเรื่องแย่มากใช่ไหมที่แอนนาเสือใช้ beauty privilege ของตัวเองในพื้นที่ของการประกวดนางงามเผื่อไต่ระดับทางสังคม

“ถ้ามองกันในแง่ผลลัพธ์ ผู้หญิงคนหนึ่งอยากพาตัวเองไปสู่ตำแหน่งแห่งที่ที่ดีขึ้น แล้วเธอก็กล้าพูดถึงความเหลื่อมล้ำที่ยังมีอีกมากในสังคม พูดถึงคนที่มีพื้นฐานชีวิตเหมือนกับเธอ เปิดเผยความจริงอีกมากมายในประเทศนี้ที่ถูกปิดบังหรือถูกซ่อนไว้ใต้พรมแล้วทำให้คนเห็น ทำให้กลายเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถพูดถึงและวิพากษ์ได้

“สังคมได้เห็นภาพย้ำของน้องๆ ที่มีฐานะยากจนเหมือนแอนนา ภาพของพนักงานเทศบาลเก็บขยะอีกกี่คนที่อาจจะประสบชะตากรรมเดียวกับครอบครัวของแอนนา ทั้งจากการถูกเหยียดหยามว่าอาชีพที่ทำอยู่ไม่ใช่อาชีพที่มีคุณค่า หรือการที่พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการที่รัฐไม่เคยจะดูแลคนกลุ่มนี้อย่างจริงจัง มันมีความน่าจะเป็นที่เพิ่มมากขึ้น เพราะมีภาพพวกนี้ออกมาสู่พื้นที่สาธารณะมากขึ้น

“แอนนาเสือคือหนึ่งคนในอีกหลายล้านคนที่ทุ่มหลายสิ่งเพื่อให้ตัวเองและคนรอบข้างมีวันคืนที่ดี แต่พอเธอเป็นนางงาม คุณก็พูดว่าเธอไต่เต้าได้เพราะว่าหน้าตาดี ผู้ชมบางส่วนอาจจะต้องทำความเข้าใจถึงจุดประสงค์ที่หลากหลายของผู้เข้าประกวดด้วยเหมือนกัน

“อีกคนอย่าง อายกัญ (กัญญาลักษณ์ หนูแก้ว ผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2022) ต้องมาประกวดเพราะหาเงินเรียน หาเงินกินข้าว หรือแอนนาเสือที่พยายามต่อสู้กับการเปลี่ยนชนชั้นทางสังคมให้กับครอบครัว ถามว่าคนเหล่านี้ไม่ควรได้รับโอกาสจริงหรือ

“ถ้าคิดว่าพื้นที่ตรงนี้ไม่แฟร์เพราะให้โอกาสแค่คนสวยเท่านั้น เมื่อไม่ยุติธรรมก็ควรปิดพื้นที่ไปเลย เท่ากับว่าคุณปิดโอกาสของผู้หญิงอีกจำนวนหนึ่งไปพร้อมกันด้วย เราไม่อยากให้ความคิดเห็นแบบนี้เกิดขึ้นเพียงเพราะไปจำใครมาพูดหรือวิจารณ์โดยขาดการวิพากษ์

“การจะเป็นนางงามไม่ใช่ว่าเกิดมาสวยเลย เป็นได้เลย แต่คือการลงทุนหลายด้านเพื่อสร้างอะไรบางอย่าง ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจ ต้องฝึกฝนเหมือนกับโสเภณีหรือนักกีฬาเพื่อทำให้ตัวเองสร้างรายได้ได้ ซึ่งบริบทที่กำลังพูดถึงอยู่นี้คือการไม่เหยียดหยามหรือรังเกียจโสเภณี แต่มองว่าพวกเธอต่างก็ทำเต็มที่ในการประกอบอาชีพนั้นๆ แล้วคุณจะไปปิดโอกาสผู้หญิงเหล่านี้ทำไม”

ความเห็นของอาจารย์ธงชวนให้นึกย้อนถึงเหตุการณ์ที่ เอสเตฟาเนีย โซโต (Estefania Soto) มิสยูนิเวิร์สเปอร์โตริโก ปี 2021 ถูกสื่อมวลชนถามว่าคิดว่าตัวเองเป็นหนึ่งในผู้ที่กำลังถืออภิสิทธิ์บางอย่างเพราะความงามหรือไม่ เธอตอบคำถามนั้นทันทีว่า เมื่อพูดถึงนางงาม ผู้คนย่อมต้องนึกถึงอภิสิทธิ์ของความงามเป็นธรรมดา และเราก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงประเด็นดังกล่าวได้

“ถ้าคุณอยู่ในจุดที่รูปร่างหน้าตาตรงตามมาตรฐานที่คนส่วนใหญ่บอกว่าสวย บางครั้งคุณจะได้รับความไว้วางใจมากกว่า ได้รับการยอมรับมากกว่า เราควรพูดถึงเรื่องเหล่านี้เพื่อเรียนรู้และหาคำตอบว่าเราจะใช้อภิสิทธิ์ที่สังคมให้มาอย่างคุ้มค่าที่สุดได้อย่างไรบ้าง จะใช้สิ่งที่มีอยู่นี้เพื่อส่งข้อความดีๆ หรือสร้างแรงบันดาลใจให้สังคมอย่างไรบ้าง เพื่อทำให้ทุกคนมองใจความสำคัญที่ฉันอยากสื่อมากกว่ารูปร่างภายนอก 

“ประเด็นนี้เป็นเรื่องท้าทายมาก เพราะมาตรฐานของความงามที่นางงามหลายคนพบเจอมาก็ไม่ใช่สิ่งดีๆ ไปเสียหมด คนรอบข้างหลายคนอาจหมั่นไส้และเกลียดชังพวกเธอ สิ่งที่ท้าทายนางงามก็คือ การจะทำอย่างไรให้คนที่ทั้งชอบพอฉันเพราะความงาม กับคนที่เกลียดฉันเพราะความงาม รู้สึกสบายใจและอยู่ร่วมกับฉันได้”

อีกประเด็นหนึ่งที่อาจารย์ธงตั้งคำถามขึ้นมาก็คือ ทำไมโสเภณีหรือนางงามจึงมักไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสังคม มักโดนเหยียดหยาม ถูกวิจารณ์ในเชิงลบ และลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์

เขายกตัวอย่างกรณีของ อแมนด้า-ชาลิสา ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ที่หลังจากชนะการประกวดก็เผชิญการวิจารณ์หนักในหลายเรื่อง รวมถึง แอนชิลี สก็อต-เคมมิส มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2021 ที่ถูกวิจารณ์รูปร่างหน้าตาจนถึงปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกัน ก็มีผู้หญิงไม่น้อยที่บอกว่าอแมนด้าทำให้เธอสนใจแนวคิดสตรีนิยมและการให้คุณค่าต่อ ‘เสียง’ ของสตรีในพื้นที่สาธารณะ และแอนชิลีก็ทำให้พวกเธอกล้ายืนยันถึงความรักและความภูมิใจของตัวเองต่อสังคมไม่ว่าจะมีรูปร่างแบบใด (Real size beauty)

“เราอาจจะพุ่งไปยังประเด็นสิทธิพิเศษของคนหน้าตาดีเพียงอย่างเดียว หลายคนพยายามบอกว่าเมืองนอกพูดเรื่องนี้อยู่ เราก็ต้องวิพากษ์ด้วย แต่เรื่องของแอนนาเสือหรือนางงามคนอื่นๆ ที่ประสบชะตากรรมคล้ายกัน ก็สะท้อนให้เห็นว่าคนบางส่วนในสังคมไทยไม่เคยสำรวจบริบทพื้นที่ที่แตกต่างกัน ไม่เคยสำรวจคนที่อยู่ในสังคมเดียวกันกับเราเลย

“ในพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจสูงมากอย่างประเทศไทย ผู้หญิงทุกคนควรมีสิทธิเลือก ไม่มีใครคิดแทนใครได้ ในโลกประชาธิปไตยเราทุกคนมีสิทธิเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเอง แล้วถ้าหากเข้าใจหลักการประชาธิปไตยจริงๆ จะรู้ว่าตัวเองนั้นสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้เต็มที่ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีสิทธิไปตัดสินว่าสิ่งที่พวกเธอเลือกมันผิดหรือล้มเหลว และเราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอำนาจบางอย่างในเวทีนางงามที่แสดงออกมานั้น empower ให้กับผู้หญิงได้”

 

เวทีนางงาม: มีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคม หรือเป็นเพียงธุรกิจบันเทิงประเภทหนึ่ง

 

‘บางทีนางงามก็แค่อยากจะพูดเรื่องตัวเองเท่านั้น’

 

‘นางงามขับเคลื่อนสังคมไม่ได้จริง ดูแค่สนุกอย่างเดียวพอ’

 

‘การประกวดนางงามก็เป็นแค่ธุรกิจ เป็นโชว์แบบหนึ่ง’

 

เป็นอีกประเด็นที่ไม่อาจข้ามได้ที่คนส่วนใหญ่มองว่า เวทีนางงามเป็นเพียง ‘Show Biz’ ประเภทหนึ่ง แม้จะมีช่วงเวลาของการถาม-ตอบ เพื่อให้เหล่าผู้เข้าประกวดแสดงวิสัยทัศน์ผ่านประเด็นคำถามที่สังคมให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา เยาวชน หรือแม้แต่การเมือง แต่นั่นก็เป็นเพียงการ ‘แตะ’ ประเด็นอย่างผิวเผิน เหมือนการสร้างภาพให้เห็นว่า เวทีนางงามก็ตระหนักรู้และพยายามมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคม

อาจารย์ธงยอมรับว่าการประกวดนางงามในยุคหลังเป็นเรื่องของธุรกิจเอกชน เป็นเรื่องของการลงทุนเพื่อตามหา ‘นักแสดง’ ที่ดีที่สุด แต่ในระหว่างทางที่เฟ้นหาคนที่ตอบโจทย์ ขั้นตอนการประกวดก็สร้างบางสิ่งขึ้นในสังคมแล้วโดยไม่รู้ตัว

“เวลาเวทีจะเริ่ม แม่ปุ้ย (ปิยาภรณ์ แสนโกศิก กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเอ็น โกลบอล ผู้จัดการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์) จะพูดกับผู้ประกวดฯ ว่า ‘สู้ๆ นะลูก โชว์เราต้องปัง’ โดยไม่ได้ปิดบังว่ามิสยูนิเวิร์สคือโชว์ ทุกคนรู้ว่าผู้เข้าแข่งขันบทเวทีคือนักแสดงที่จะต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ในแว่นของการมองว่าการประกวดนางงามคือความบันเทิง สิ่งที่กองประกวดต้องการคือการตามหานักแสดงที่เก่งที่สุด และอยู่ในบทบาทของการเป็นนางงามที่ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดให้ได้

“เราต้องการคนที่มีความรู้สึกนึกคิดว่าฉันคือใคร ฉันทำอะไรได้บ้าง ฉันมายืนอยู่ตรงนี้ทำไม แล้วตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน และเมื่อผู้ชนะกำลังรับบทนางงาม เธอก็พูดหลายๆ เรื่องได้อย่างไม่ต้องเกรงใจใคร

“ส่วนหนึ่งของการประกวดนางงามคือโชว์ และอีกส่วนก็ไม่ได้เป็นโชว์ เป็นเรียลลิตี้ที่ถูกตัดต่อแล้วส่วนหนึ่ง และอีกส่วนก็เป็นเรียลลิตี้ที่ยังไม่ได้ถูกตัดต่ออีกเหมือนกัน โดยทั้งหมดถูกนำเสนอผ่านสื่อในแง่ของการดูเพื่อความบันเทิง แม้การประกวดนางงามจะเป็นโชว์เพื่อความบันเทิง แต่ก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เบื้องลึกเบื้องหลังมันก็มีอะไรมากกว่านั้น เพราะการมีอยู่ของนางงามก็ไม่ใช่แค่ความสนุก แต่ต้องส่งเสียงสะท้อนบางอย่างกลับไปสู่สังคมด้วย

“การประกวดแต่ละช่วงก็ได้ก่อการตระหนักรู้ สร้างกระบวนการคิดทั้งกับตัวนางงามเองและตัวของผู้ชม สังเกตได้ว่าการประกวดในปี 2022 ก็ทำให้คนหยิบบางสิ่งมาพูดกัน เช่น เรื่องที่ครูไม่สามารถเข้าประกวดนางงามได้ก็ถูกตีแผ่เป็นข่าว จนกระทรวงศึกษาธิการต้องออกมาชี้แจงว่าจะทบทวนเรื่องกฎ ล้อไปกับกระแสสังคมที่พูดกันว่าอาชีพครูมีปัญหาหลายอย่าง ทั้งความไม่เท่าเทียมทางเพศในอาชีพ ปัญหาเรื่องภาพลักษณ์ครู เงินเดือนครู หรือการพูดคุยเรื่องระบบงานที่ไม่เอื้อต่อคนทำงาน”

อาจารย์ธงย้ำว่าเรื่องเหล่านี้สามารถย้อนกลับไปดูข่าวการประกวดในแต่ละปีได้ว่า นางงามทำอะไรบ้าง ก่อนที่จะไปด่วนตัดสินว่าพวกเธอเป็นเพียง ‘กระบอกเสียงปลอมๆ’ อันเป็นความเข้าใจผิดและเป็นพิษต่อผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง

“หลายเรื่องที่พูดกันบนเวทีนางงามไทยก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในโลกตะวันตก เช่น แนวคิดที่ว่าทุกรูปร่างล้วนมีความสวยงามจากแอนชิลี เรื่องการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social movement) ซึ่งเป็นคำถามที่ มารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ปี 2017 เจอในการประกวดเวทีระดับโลก สิ่งเหล่านี้ก็เข้ามาสู่สังคมไทยด้วยพื้นที่ของนางงาม รวมถึงประเด็นที่จะขาดไม่ได้ในโลกสมัยใหม่อย่างการวิพากษ์เรื่องเพศ เวทีนางงามก็เป็นอีกพื้นที่ให้กับกลุ่มคนที่ศึกษาเรื่องเพศ ตัวนางงามก็พูดเรื่องเพศมากขึ้น กล้าที่จะบอกว่าฉันเองก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ อย่างกรณีของ เฟิร์ส หวัง ผู้เข้าประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ปี 2022

“คำถามบนเวทีนางงามแต่ละปีล้วนแล้วแต่ดึงการตระหนักรู้ในแง่ต่างๆ ของผู้หญิงที่เข้าแข่งขันออกมาให้สังคมได้เห็น เปิดพื้นที่ให้พวกเธอได้ใช้เสียงของตัวเอง เป็นหนึ่งในกระบวนการผลักดันแนวคิดสิทธิสตรี เพราะชุดคุณค่าของเฟมินิสต์คือการเชื่อในเสียงของผู้หญิง และเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เล่าสิ่งที่ตัวเองประสบพบเจอมา แต่เมื่อใดก็ตามที่นางงามถูกกดปุ่มปิดเสียง ขายเพียงแค่ความสวยและเรือนร่างอย่างเดียว มองว่านางงามไม่ได้ต่างอะไรจากแม่พันธุ์หรือเทียบกับผลิตภัณฑ์สินค้า เมื่อนั้นเราก็จะสามารถด่าเวทีนางงามได้เต็มปาก เพราะการกระทำแบบนี้คือความคิดที่ผิดและล้าสมัยจริง

“นี่คือคอนเซปต์ที่ตอบคำถามว่านางงามพูดได้จริงไหม สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มีแค่ในเฉพาะเมืองไทย แต่สังคมของเรากำลังพ้องไปกับชุดคุณค่าสากลพร้อมกับการมีอยู่ของการประกวดนางงาม มีครั้งหนึ่งมิสยูนิเวิร์สเปรูกับมิสยูนิเวิร์สสหรัฐฯ เอาตัวเลขมาโชว์บนเวทีว่า ยังคงมีผู้คนอีกมากที่เจ็บปวดจากการที่รัฐดูแลประชาชนได้ไม่ทั่วถึง นางงามกลายเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ยังคงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยไม่จำเป็นต้องเป็นตัวแทนของรัฐชาติอย่างเดียว

“ในเวลาเดียวกัน อาชีพนางงามคือหนึ่งในการสร้างพื้นที่ให้ผู้หญิงก้าวออกมาจากอาชีพเดิมๆ แล้วสรรหาอาชีพใหม่ๆ เช่น ยูทูบเบอร์ นักพูด อินฟลูเอนเซอร์ นักแสดง หรืออาชีพใดๆ ตามความถนัดและความสามารถที่นางงามคนนั้นมี หรือแม้กระทั่งการเป็นนางงามมืออาชีพ

“คุณยังมีทหารมืออาชีพที่บอกว่าตัวเองทำได้ทุกอย่างได้เลย แต่กับนางงามที่มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างเห็นชัดเจน ผู้หญิงบางกลุ่มทำให้เห็นว่าพวกเธอก็กำลังสร้างอะไรบางอย่างอยู่ แล้วทำไมบางคนถึงต้องสร้างตราบาปให้กับนางงามอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับที่บางคนชอบสร้างตราบาปให้ Sex worker สร้างตราบาปให้กับ Sex creator ทำไมไม่เห็นว่าพวกเธอกำลังทำอะไรอยู่ แต่ละปีที่นางงามทำได้ พูดได้ สร้างปรากฏการณ์บางอย่างแก่สังคม

“เสียงของนางงามส่วนหนึ่งคือเสียงที่พูดแทนคนในสังคมที่พูดไม่ได้ พูดแทนเสียงของคนในสังคมที่กำลังถูกบางสิ่งทำให้บอดใบ้ และบางครั้งนางงามทำได้มากกว่าโฆษกรัฐบาลเสียอีก”

 

เวทีนางงาม: มีแต่บรรดาประเทศโลกที่ 3 ที่ยังสนใจการประกวดแบบนี้?

 

“ประกวดนางงามคือกิจกรรมคลายเครียด เป็นความบันเทิงของกลุ่มประเทศยังไม่เจริญ”

 

“พวกบ้านางงามแบบชัดๆ ก็มีแค่ไทย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม แล้วประเทศแถบลาตินอเมริกาที่ยังไม่เจริญไง”

 

“ดูทำไมก็ไม่รู้ ประกวดไปก็ไม่ให้ได้อะไร มีแค่นายทุนกับตัวนางงามเท่านั้นที่ได้ประโยชน์”

 

น่าแปลกใจที่ท่ามกลางความเห็นเชิงลบทำนองนี้ แต่เมื่อมีการประกวดนางงามระดับชาติหรือนานาชาติขึ้นเมื่อไร แฮชแท็กเกี่ยวกับนางงามกลับทะยานขึ้นเทรนด์ในโซเชียลมีเดียทุกครั้งไป และเผลอๆ คนที่ ‘ไม่สนใจ’ หรือไม่เห็นด้วยกับการโชว์ประเภทนี้ อาจรู้ถึงความเคลื่อนไหวต่างๆ ในการประกวดมากกว่าบรรดา ‘คอนางงาม’ ตัวจริงเสียด้วยซ้ำไป

อาจารย์ธงกล่าวว่า ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าการประกวดนางงามนั้นประสบความสำเร็จแล้ว

“ต้องยอมรับว่ามีบางคนพูดจาร้ายๆ เพียงแค่ให้ตัวเองดูเก๋ ดูฉลาด บางคนอาจรู้สึกว่าถ้ายอมรับว่าตัวเองดูนางงามแล้วจะไม่คูล เลยต้องปกปิดด้วยการด่า หรือเลือกยืนอยู่ตรงข้ามเพราะสนุก สะใจ ได้อรรถรส จริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้ควรดูประเด็นที่พูดกันบนเวทีประกวดเพื่อจะได้เห็นใจคนอื่นสักเล็กน้อย ส่วนหนึ่งที่มีคนคิดแบบนี้เพราะพวกเขาอาจไม่คิดว่า ‘Anyone can be a feminist.’ อาจคิดว่าตัวเองมีอำนาจมากกว่าผู้หญิงที่เข้าประกวด ก็เลยขอกดไว้ก่อนเพื่อที่ตัวเองจะได้มีอภิสิทธิ์หรืออำนาจในฐานะที่เป็นคนดูหรือไม่ ผู้พูดอะไรทำนองนี้อาจจะรับแนวคิดที่ว่า ‘ประเทศพัฒนาแล้วไม่ดูนางงาม คนที่ดูคือพวกประเทศโลกที่สาม’ มาจากฝั่งแองโกล-แซกซอนอย่างเดียวก็เป็นได้ เพราะในกลุ่มนี้ก็มีคนที่มองว่าการประกวดนางงามเป็นเรื่องคร่ำคร่าล้าสมัย

“แต่เราอาจจะต้องลองไปดูว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นกับประเทศที่โคตรจะนำเสนอเกี่ยวกับสังคมปรัชญา นำเสนอหลักการมากมายในสายสังคมศาสตร์อย่างประเทศฝรั่งเศส เราจะเห็นได้ว่ามิสยูนิเวิร์สฝรั่งเศสเป็นอะไรที่ใหญ่มากๆ แต่อีกแง่มุมหนึ่งถ้าลองดูสารคดีของ BBC ที่วิพากษ์การประกวดมิสอิงแลนด์กับมิสยูเค จะเห็นว่าในประเทศที่ดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจการประกวดนางงามก็มีข้อความบางอย่างซ่อนอยู่

“ในลอนดอนหรือเบอร์มิงแฮมไม่ได้มีแค่ชาวอังกฤษที่เป็นแองโกล-แซกซอน แต่มีคนอพยพเข้ามาจนมีความหลากหลายเยอะมาก มีคนอังกฤษเชื้อสายจาไมกา คนจากแถบแคริบเบียน คนอังกฤษเชื้อสายอินเดีย หรือชาติอื่นๆ ที่เคยตกอยู่ในอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งคนเหล่านี้ต้องการพื้นที่ที่จะบอกว่าฉันก็เป็นพลเมืองอังกฤษเหมือนกัน แล้วเวทีนางงามก็สามารถเป็นพื้นที่ให้กับความหลากหลายที่ว่านี้ได้

“ต่อให้ไม่มีรัฐชาติ เขตแดน พรมแดน ทุกคนหลอมรวมกันเพราะมีแนวคิดแบบพลเมืองโลก แต่อาจต้องตั้งคำถามต่อว่าเราจะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันได้จริงหรือ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าในพลเมืองโลกต่างก็ร้อยพ่อพันแม่ แต่ละพื้นที่ก็ยังคงมีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ชนชั้นทางเศรษฐกิจ

“หากเราคิดต่อไปอีกอาจจะเกิดสงครามตัวแทนในมิติใหม่ที่ไม่ใช่สงครามตัวแทนแบบเดิมๆ ที่เคยเห็นในช่วงสงครามเย็น แต่เป็นตัวแทนที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ใหม่อย่างเมตาเวิร์ส แฟนด้อม กลุ่มวัฒนธรรม หรือกลุ่มความคิดอื่นๆ ซึ่งนางงามก็อาจจะยังคงมีความหมายเสมือนเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่อาจจะไม่มีความชัดเจน กลุ่มคนที่ไม่ถูกสนับสนุน ถูกเหยียด และเข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐ

“การประกวดในยุคหลังเปิดโอกาสให้นางงามได้พูดมากขึ้น แต่ละประเทศนำคุณค่าของเฟมินิสต์มาหักล้างกับความโบราณล้าสมัย หรือแม้กระทั่งข้อตำหนิที่กลุ่มเฟมินิสต์หัวรุนแรงเคยยกมาต่อต้าน เพราะการที่ผู้หญิงมีพื้นที่ให้พูดก็ยิ่งส่งเสริมให้เกิดบทสนทนาถึงอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน บางครั้งก็เกิดการวัดกันเลยว่าความคิดใครจะฟาดฟันได้มากกว่ากัน แล้วถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพ่ายแพ้แล้วกลับไปเลียแผล นางงามเหล่านั้นก็จะเรียนรู้แล้วพยายามพัฒนาตัวเองเพื่อกลับมาอีกครั้ง

“เช่นในกรณีของ เฟิร์ส หวัง ที่กลับมาไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งจนเกิดวลี ‘ใครไม่หวัง เฟิร์ส หวัง’ หรืออย่าง เปีย อลอนโซ (Pia Alonzo) มิสยูนิเวิร์สปี 2015 และ แคทรีโอนา เกรย์ (Catriona Gray) มิสยูนิเวิร์สปี 2018 ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จในครั้งแรก แต่คนเหล่านี้มีคุณสมบัติของการเป็นพลเมืองโลก คือการล้มแล้วลุกเพื่อกลับมาใหม่”

เปีย อลอนโซ (Pia Alonzo) มิสยูนิเวิร์สปี 2015

นอกจากทัศนคติที่อาจเกิดขึ้นเพราะการมองมุมเดียว อาจารย์ธงยังเอ่ยถึงค่านิยมหนึ่งของการเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ที่ไม่สามารถมองข้ามได้เลย นั่นคือ ‘The Right to be beautiful’ หรือ ‘Beauty is considered a human right’ เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะสวยงาม ไม่ว่าจะสวยในบ้าน สวยในที่ทำงาน สวยในสถานศึกษา หรือสวยบนเวทีประกวดนางงาม ทุกคนสมควรมีสิทธิเลือกได้ว่าอยากสวยแบบไหนและควรได้รับสิทธินั้น เพราะทุกคนมีอำนาจในการตัดสินใจและมีอิสระที่จะสวยงาม

แนวคิดเรื่อง ‘สิทธิ’ นี้สะท้อนได้ถึงเสรีของ ‘ทางเลือก’ และสังคมก็ควรที่จะเคารพทางเลือกของแต่ละปัจเจกบุคคล ตราบใดที่การใช้สิทธิที่จะเลือกอย่างเสรีนั้นไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ผู้ใด 

“บางครั้งคนไทยขาดการมองออกไปข้างนอก ขาดการออกไปสัมผัสกับโลกภายนอก หรือรับแต่ข้อมูลทางเดียวจนมีแต่ Echo chamber (ห้องสียงสะท้อนก้อง ปรากฏการณ์ของการรับรู้แต่แนวคิดในทางเดียวกัน เช่น จากฟีดตามโซเชียลมีเดียต่างๆ จนคิดไปว่าเป็นแนวคิดหนึ่งเดียวที่ดีที่สุด ถูกต้องที่สุด จนไม่ได้รับรู้ถึงแนวคิดอื่นๆ ที่แตกต่าง และอาจจะดีกว่า)

อาจารย์ธงมองว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการศึกษาไทยที่ไม่เคยนำเรื่องราวหลากหลายมารวมกันให้คนเลือกรับรู้ และเปิดโอกาสให้พิจารณาถึงความหลากหลาย ความแตกต่าง รวมถึงเบ้าหลอมการสอนที่ปลูกฝังให้คนเป็น ‘พิมพ์เดียวกัน’ ไปหมด เน้นแต่การท่องจำตามๆ กันไปโดยไม่มุ่งสอนให้คิด

“ประเทศโลกที่ 3 เท่านั้นที่ยังบ้าดูประกวดนางงาม” สำหรับอาจารย์ธงจึงไม่ใช่ข้อเท็จจริง และส่วนหนึ่งก็มาจากการปิดกั้นโอกาสต่อการรับรู้ใหม่ๆ

 

เวทีนางงาม: การเสริมสร้าง ‘อำนาจละมุน’ ให้กับสังคมไทย

การประกวดนางงามยุคใหม่ในระยะหลังได้รับการกล่าวถึงในวงกว้างขึ้น จากที่เคยมีแต่ผู้ชมที่เกาะขอบเวที หรือติดตามการถ่ายทอดจากจอโทรทัศน์ในช่องทางที่จำกัด ทุกวันนี้ อิทธิพลของโซเชียลมีเดียทำให้การรับรู้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าใครจะสนใจติดตามการประกวดหรือไม่ก็ตาม

แล้วนางงามจะสามารถกลายเป็นหนึ่งใน ‘อำนาจละมุน’ หรือซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของประเทศไทยได้หรือไม่?

ในอดีต หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 คณะราษฎรก็เคยจัดประกวด ‘นางสาวสยาม’ ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2477 ที่บ้างก็เรียกว่า ‘เทพีแห่งรัฐธรรมนูญ’ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันอุดมการณ์ทางการเมือง ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยให้เป็นที่รู้จักและเข้าใจในวงกว้างขึ้น ซึ่งก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์แบบหนึ่ง

อาจารย์ธงย้อนเล่าถึงการประกวดนางงามยุคก่อนว่าเมื่อก่อนเวทีประกวดนางงามถูกก่อร่างสร้างตัวแบบเล็กๆ มีแค่ค่ายนางงามของคุณศรีเวียง ตันฉาย ที่ถูกเรียกว่าเป็นนักปั้นนางงาม หรือสังกัดค่ายของคุณสมชาย นิลวรรณ ที่ในช่วงเวลานั้นยังไม่ยึดโยงกับธุรกิจ หรือเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ทางสังคมมากเท่าตอนนี้

“แต่ช่วงที่นายพลยุคหลังๆ ต่างขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็เคยมีการนำเวทีนางงามมาเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างเศรษฐกิจแห่งชาติและโปรโมตการท่องเที่ยว หรือตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมา หลังยุคของ สาวิณี ปะการะนัง นางสาวไทยคนที่ 22 ธุรกิจนางงามก็เข้าสู่ภาคเอกชนมากขึ้น และสังคมได้เห็นภาพนางงามเป็นพรีเซนเตอร์มากขึ้น ซึ่งกรณีที่เห็นได้ชัดเกิดขึ้นกับ ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก มิสยูนิเวิร์สประจำปี 1988 ที่ได้โปรโมตสินค้าทั้งในไทยและต่างประเทศร่วมกับศิลปินระดับโลกอย่าง ไมเคิล แจ็กสัน  

“การประกวดระยะหลังที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ามีนางงามที่พูดภาษาอังกฤษได้และเติบโตมาจากโลกตะวันตกเข้ามาในเวทีประเทศไทย แล้วเราก็จะส่งนางงามกลุ่มนี้กลับไปยังโลกตะวันตก แต่ไม่ใช่แค่ว่าเขาเข้ามาแล้วเราส่งกลับไปแบบไม่มีอะไรเพิ่มเติม เราได้เติมอะไรบางอย่างแบบไทยๆ เข้าไปผสมโดยเรียกสิ่งนี้ว่า ชาตินิยมทางวัฒนธรรม (Cultural Nationalism) ที่ทำให้นางงามรู้ว่าตัวเองเป็นตัวแทนประเทศไทยและกำลังสวมสายสะพายไทยแลนด์”

‘ชาตินิยม’ ดังกล่าวที่ผสมผสานเข้าไปนางงามนั้น ไม่ได้เป็นเพียงชาตินิยมกระแสหลักเพื่อการรับใช้รัฐชาติ แต่อาจหมายถึงการเป็นตัวแทนวัฒนธรรมย่อยและแนวคิดร่วมสมัยของคนรุ่นใหม่ในสังคม

“เราจะเห็นว่าการประกวดนางงามหรือแม้กระทั่งตัวของนางงามจะถูกนำมาใช้กับกิจกรรมของภาครัฐและเอกชนเสมอ แต่ถ้าให้พูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ในปี 2022 เป็นต้นไป ไม่ว่าอย่างไรรัฐบาลก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง การจะเอ่ยว่านางงามเป็นซอฟต์พาวเวอร์อยู่แล้ว เพราะทำให้เรามีแฟนคลับต่างชาติบินมาดูการประกวดที่ไทยได้ แต่ถ้ารัฐไม่ยื่นมือเข้ามาช่วย มันก็จะไม่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ในคอนเซปต์แบบที่นักวิชาการศึกษากัน จะเป็นเพียงแค่การสร้างอำนาจนำทางเศรษฐกิจของกลุ่มเอกชนที่มีผลิตภัณฑ์เป็นความบันเทิง มิหนำซ้ำรัฐบาลก็มักมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของเอกชนเพียงอย่างเดียวอีก

“ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าคอนเซปต์ซอฟต์พาวเวอร์จะต้องผลักดันโดยรัฐบาล เช่น ในกรณีของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการยกระดับตัวเองขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจที่ไม่ใช่แค่อำนาจทางทหาร รัฐบาลจึงออกนโยบายขยายอิทธิพลของตัวเองผ่านวัฒนธรรม ความบันเทิง ทีวีโชว์ ฮอลลีวูด หรือข้อมูลข่าวสารใดๆ ที่ทำให้วัฒนธรรมของตนกลายเป็นโลกกระแสหลัก เพื่อนำมาสู่กระบวนการโลกาภิวัตน์

“ทั้งหมดที่ว่ามานี้จะต้องเกิดขึ้นอย่างละมุนละม่อม เป็นอำนาจละมุนทางการเมือง วัฒนธรรม และการทูต ที่ทำให้ผู้คนยอมโน้มตามโดยไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ใดๆ ไปข่มขู่ บังคับ ทำให้เกิดความหวาดกลัว ซึ่งแนวคิดนี้ถูกนำเสนอโดย โจเซฟ เนย์ (Joseph Nye) นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

อีกตัวอย่างของซอฟต์พาวเวอร์ที่เห็นชัดในยุคนี้คงหนีไม่พ้นการที่รัฐบาลเกาหลีใต้ผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิงในประเทศตัวเองทั้งภาพยนตร์และดนตรี การนำธุรกิจ K-Pop หรือซีรีส์เรื่องดังมาผลักดันการท่องเที่ยว การดึงดารานักแสดงมาเป็นพรีเซนเตอร์การเกณฑ์ทหาร การนำไอดอลมาร่วมรณรงค์แคมเปญกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือการเป็นพันธมิตรกับธุรกิจเอกชนเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของเกาหลีใต้ ทำให้โลกได้มองเห็นตัวตนของพวกเขามากขึ้น

“ชาวบ้านเขาทำมานานแล้ว เขาฉลาด ปรับตัวเปลี่ยนแปลงแบบไม่หยุดนิ่ง เอาจริงๆ เรื่องนี้ไม่ต้องมองไปไกลถึงต่างประเทศก็ได้ วงการนางงามตอนนี้มีส่วนทำให้ห้องเสื้อใหม่ๆ ดีไซเนอร์หน้าใหม่เกิดขึ้นมากมาย มีพื้นที่ให้พวกเขารังสรรค์และโชว์ฝีมือ ช่างแต่งหน้าไทยได้สร้างชื่อไปไกลระดับอินเตอร์ฯ รวมถึงเรื่องของผลิตภัณฑ์เสริมความงาม เครื่องสำอาง ที่มีแนวโน้มส่งออกมากขึ้น ในแง่การกระตุ้นธุรกิจถือว่าทำให้เกิดขึ้นได้จริง 

“บางทีรัฐบาลอาจจะยังคิดไม่ได้ว่าคอนเซปต์เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย อยู่ที่จะผลักดันให้เกิดเป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างไร ไม่ใช่ไม่ให้การสนับสนุนแล้วรัฐจะมารอแค่นางงามไปประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ แล้วก็ฉกฉวยโอกาส รอเคลมผลงานอย่างเดียว

“สิ่งนี้ไม่ได้พูดลอยๆ แต่เห็นได้จากภาพที่นายกรัฐมนตรีเรียกมิสยูนิเวิร์สเข้าพบหลังกลับจากการแข่งบนเวทีโลก หรือการที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เชิญไปร่วมงานโปรโมตการท่องเที่ยวเล็กน้อย ซึ่งถ้าจะเคลมว่านางงามเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ก็ต้องสนับสนุนให้จริงจังด้วย

“หากสังคมไทยกำลังถกเถียงกันเรื่องที่ว่า จะทำอย่างไรให้นางงามกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ก็คงต้องตอบว่าภาครัฐคือส่วนสำคัญที่สุดที่จะต้องออกนโยบายว่า จะใช้ entertainment หรือ edutainment (การศึกษาผนวกความบันเทิง) อย่างไรให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศ เช่น นโยบายที่จะทำให้คอนเทนต์นางงามที่ปรากฏอยู่ในสังคมไทยไปเชื่อมโยงกับการศึกษาโลกในเรื่องของการสร้างให้คนไทยกลายเป็นคนที่มีความคิดเป็นพลเมืองโลก (Global Citizenship) หรือในแง่ของการทูต ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการสนับสนุนการท่องเที่ยวไทย

“ที่สำคัญที่สุดคือ หากรัฐกำหนดนโยบายออกมาแล้วจะต้องมีการวัดผลอย่างจริงจังว่าประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด เมื่อสิ่งเหล่านี้ถูกดำเนินการผ่านนโยบายของรัฐ เราถึงจะเรียกว่าซอฟต์พาวเวอร์ได้เต็มปาก”

ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปอีกกี่สิบปี ประเด็นของ ‘อภิสิทธิ์แห่งความงาม’ การมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมไทย และสร้างนางงามให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ในระดับโลก คงยังจะต้องมีการตั้งคำถามและมีเสียงวิพากษ์กันต่อไป เพื่อพิจารณาถึงค่านิยมและคุณค่าที่แท้ของ ‘เวทีนางงาม’ อย่างไม่รู้จบในอีกหลากหลายแง่มุม

หรือแม้แต่ผู้ที่ยังมีคำถามที่ว่า — โลกยุคนี้ยังต้องมีนางงามอยู่ไหม?

……….

 

Fact Box

  • ฐิติพงษ์ ด้วงคง จบการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาสเปน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาบัณฑิตด้านการแปลจากมหาวิทยาลัยกอมปลูเตนเซแห่งมาดริด (Universidad de Complutense de Madrid) ประเทศสเปน
  • ปัจจุบันเป็นอาจารย์อาจารย์ของศูนย์บริการวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, วิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
  • นอกจากนี้ ฐิติพงษ์ยังเป็นผู้ชำนาญการด้านนางงาม ทั้งการเป็นนักวิชาการด้านวัฒนธรรมการประกวดนางงาม แนวคิดสตรีนิยม เพศวิถี และเพศสถานะ เป็นหนึ่งในกรรมการของกองประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ เป็นครูผู้สอนวิชาการให้กับมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ที่จะไปแข่งขันบนเวทีระดับโลก และเป็นผู้บรรยายภาษาไทยการถ่ายทอดสดการประกวดมิสยูนิเวิร์ส

 

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , ,