หลายคนอาจไม่เคยคิดมาก่อนว่าการดูนางงามจะเป็นกิจกรรมสำหรับคนคอเดียวกันที่เชียร์สนุก และลุ้นไม่ต่างกับการรวมตัวเชียร์กีฬากับกลุ่มเพื่อน แถมเวทีการประกวดในประเทศไทยยังแตกแขนงแยกย่อยไปอีกหลายเวที ไทยไม่ได้มีนางงามเพียงแค่คนเดียวในประเทศ แต่ละเวทีมีจุดเด่นที่ต่างกัน เมื่อความหลากหลายผสานรวมกับพัฒนาการของเวทีประกวดสาวงาม ยิ่งทำให้การดูนางงามไม่ได้จำกัดกรอบอยู่แค่คนกลุ่มย่อยอีกต่อไป

ถึงเวทีจะมีหลากหลาย หากนับความนิยมของผู้ชมวงกว้าง ทั้งแฟนคลับเดนตายที่เหนียวแน่นจนถึงผู้ชมขาจร ชื่อเวทีประกวดในประเทศไทยที่ถูกพูดถึงและเป็นที่รู้จักมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘นางงามจักรวาล’ หรือมิสยูนิเวิร์ส (Miss Universe) 

อแมนด้า-ชาลิสา ออบดัม คือผู้ชนะจากเวทีประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ปี 2020 เธอกลายเป็นตัวแทนไปท้าชิงมงกุฎระดับโลกร่วมกับมิสยูนิเวิร์สประเทศอื่นๆ ในงาน Miss Universe 2020 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ ณ เมืองฮอลลีวูด รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา

The Momentum ก็มีคนที่เป็นแฟนคลับนางงาม และอยากพูดคุยกับอแมนด้าถึงประเด็นต่างๆ ที่คาใจ ทั้งเรื่องราวก่อนเข้าสู่โลกนางงาม การเตรียมตัวไปสู่เวทีระดับโลก การกลายเป็นความหวังด้วยการแบกคำว่า ตัวแทนประเทศที่จะคว้า ‘มงสาม’ กลับมาให้เมืองไทย รวมถึงหน้าที่ของผู้ชนะการประกวดที่จะต้องเป็นกระบอกเสียงให้กับสังคม โหมโรงก่อนการประกวดใหญ่จะมาถึง

เพราะค่านิยมของเวทีการประกวดสาวงามไม่เหมือนก่อน เมื่อคนคาดหวังว่าผู้ชนะจะต้องส่งเสียงบางอย่างเพื่อสังคม แต่เสียงแบบไหนบ้างล่ะที่สังคมต้องการได้ยิน?

 

 มงกุฎ สายสะพาย และคำติเตียน

กว่าจะเป็นมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ปี 2020 กว่าจะประสบความสำเร็จในการก้าวตามฝัน อแมนด้า ออบดัม เคยพบเจอเรื่องน่าเศร้าชวนให้เจ็บปวดเมื่อนึกถึง แม้เรื่องที่เธอเจอไม่ควรต้องทำให้ใครเสียใจหรือเสียความรู้สึกเลยแม้แต่น้อย

เรื่องที่ว่าคือการเหยียดความรัก การเหยียดเชื้อชาติ และการเหยียดรูปร่างหน้าตา

ด้วยความที่อแมนด้าเป็นลูกครึ่งไทย-แคนาดา ซึ่งอยู่กึ่งกลางระหว่างเชื้อชาติของสองวัฒนธรรม การกลั่นแกล้งล้อเลียนให้เกิดความอับอาย ไม่มั่นใจ จึงเป็นสิ่งที่เธอเคยพบเจอมาก่อนเมื่อครั้งใช้ชีวิตอยู่ที่ภูเก็ต ด้วยเหตุผลเพียงเพราะเธอแตกต่างและมีพ่อเป็นชาวต่างชาติ

กรอบความเข้าใจว่าหญิงไทยที่แต่งงานกับชายต่างชาติมักเป็นผู้หญิงค้าบริการยังคงเป็นค่านิยมเก่าที่ปรากฏให้เห็นในสังคมปัจจุบัน แม้หลายคนจะทำความเข้าใจและพยายามล้างค่าความคิดนี้ แต่คงปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่า ในสังคมย่อมมีคนที่ไม่ยอมเปลี่ยนความเข้าใจเดิมของตัวเอง

“พอนึกย้อนกลับไป การถูกเพื่อนล้อก็ไม่ได้แรงขนาดนั้น แต่ตอนเด็กอาจรู้สึกว่าแรง เช่นคำว่า ‘ฝรั่งขี้นก’ แต่ถ้าร้ายจริงๆ คงเป็นความคิดของคนไทยบางคนที่มองว่า ผู้หญิงมีสามีเป็นฝรั่งเท่ากับการค้าขาย ไม่ใช่ความรัก ความคิดนี้ทำลายความรู้สึกมาก เรารู้สึกแย่ เรารู้สึกโกรธ แต่ที่สุดคือความเสียใจ

“เขาไม่ได้รู้จักครอบครัวเราจริงๆ ไม่ได้รู้ว่าครอบครัวเรามีแต่ความรัก เขาใช้แค่กรอบความคิดค่านิยมบางอย่างที่สังคมบอกเขาว่าต้องเป็นแบบนี้ แต่การตัดสินนั้นไม่ได้มาจากความจริงเลยแม้แต่น้อย การที่คนสองคนรักกันไม่ควรมีใครมาจำกัดความว่าต้องเป็นชาติไหน”

นอกจากการวิจารณ์เรื่องครอบครัวที่ชวนให้รู้สึกเจ็บปวด อีกสิ่งหนึ่งที่อแมนด้าเคยเจอมากับตัวเอง คือการล้อเลียนเพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติ ไปจนถึงเรื่องรูปร่างหน้าตา

“ตอนอยู่โรงเรียนไทย บางครั้งจะมีความรู้สึกว่าเราแตกต่างไม่เหมือนคนอื่นเพราะถูกเพื่อนล้อ พอไปหาญาติที่แคนาดาก็รู้สึกว่ายังแตกต่างอยู่ดี เราเป็นกึ่งกลางไม่ได้เข้ากับที่ไหนเลย แต่ถ้ามองข้ามเรื่องแย่ๆ ก็พอจะมีเรื่องดีอยู่บ้าง การอยู่กึ่งกลางทำให้ได้เรียนรู้สองวัฒนธรรมและเปิดรับอะไรใหม่ๆ ได้มากขึ้น เราทำความเข้าใจว่าแต่ละคนก็มีวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน ความเป็นตรงกลางทำให้เราเข้าไปที่ไหนก็ได้ และด้วยความต่างหลายอย่างทำให้เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับโรคทางจิตเวช เป็น Eating Disorder คล้ายกับการกลัวอาหาร”

หากใครมีโอกาสได้ฟังเรื่องวัยเด็กของเธอในคลับเฮาส์ อแมนด้าเคยถูกผู้ใหญ่ที่รู้จักในละแวกบ้านติเตียนเรื่องรูปร่างจนเสียความมั่นใจ ด้วยความเป็นเด็ก เธอไม่กล้าบอกใครและเก็บคำติเตียนนั้นไว้ในใจมานานหลายปี ถ้อยคำเชิงลบนั้นตามติดเป็นเงาตามตัว และมีส่วนสำคัญที่ทำให้เธอไม่เหมือนเดิม

อแมนด้าโหมออกกำลังกายมากขึ้น ความอยากอาหารลดน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อไปเรียนมหาวิทยาลัยที่แคนาดาแล้วเห็นเพื่อนนั่งกินข้าวอยู่ในโรงอาหาร เธอกลับไม่ได้รู้สึกอยากกินข้าวร่วมกับเพื่อน แม้ตัวเองจะเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน แต่เวลาเดียวกัน เธอก็ไม่อยากทำใจยอมรับว่ากำลังมีบางอย่างที่ผิดปกติเกิดขึ้นกับตัวเอง

จากเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง Anorexia Nervosa ของ แพทย์หญิง ธีราพร ศุภพล ภาคจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึง Eating Disorder ไว้ว่า โรคดังกล่าวเป็นโรคกลุ่มเดียวกับ Anorexia Nervosa หรือโรคกลัวอ้วน ผู้ป่วยจะมีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ ส่งผลให้น้ำหนักตัวมากหรือน้อยแบบผันผวน และเป็นโรคที่มีอัตราการเจ็บป่วยและอัตราการเสียชีวิตสูงที่สุดในกลุ่มโรคทางจิตเวช

กว่าอแมนด้าจะยอมรับว่าร่างกายและความรู้สึกของเธอไม่ปกติก็ใช้เวลานานพอดู คำติติงของคนพูดที่คิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยกลับทำให้ชีวิตของผู้ฟังเจอกับความทุกข์ระทม หลังจากที่ผู้พูดกล่าวคำร้ายๆ ออกไปแล้ว เขาหรือเธออาจจะจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเคยทำให้จิตใจของใครต้องดำดิ่งบ้าง

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ เด็กหญิงอแมนด้าอยากจะบอกเพื่อนและผู้ใหญ่ที่เคยล้อเลียนและตัดสินครอบครัวเธอจากกรอบแคบๆ ว่า 

เปิดใจให้กว้างขึ้นนะ Mind your own business

 

เวทีนางงามและสิทธิพิเศษของคนหน้าตาดี

หลังอแมนด้าคว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์สมาครองได้สำเร็จ สิ่งที่ชวนอยากรู้ไม่น้อยกว่าการถามว่าเตรียมตัวอย่างไรบ้างเพื่อไปคว้า ‘มงสาม’ กลับมาให้คนไทย คือความเข้าใจและความหมายของคำว่า ‘มิสยูนิเวิร์ส’

“มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งมีเสียงที่ดังขึ้น สามารถเป็นกระบอกเสียงและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นได้ ตอนนี้เราได้ใส่สายสะพายที่เขียนว่า THAILAND เป็นตัวแทนของผู้หญิงไทยที่จะไปประกวดในเวทีระดับโลกอย่างมิสยูนิเวิร์สอินเตอร์เนชันแนล สิ่งที่มาพร้อมกับสายสะพายและมงกุฎคือหน้าที่ที่มีความรับผิดชอบสูงขึ้นกว่าเดิม”

เมื่อเข้าสู่โลกมิสยูนิเวิร์ส บรรยากาศกับการแข่งขันที่เธอพบในกองประกวดยิ่งโหมไฟทำให้อยากเดินทางไปถึงฝันที่ตั้งเป้าไว้ให้ได้ และเมื่อมองตัวเองตั้งแต่ต้นจนถึงตอนนี้ ‘อแมนด้าก่อนได้มง’ กับ ‘อแมนด้าหลังมง’ ยังคงเหมือนเดิมเสมอ

“มีคำคำหนึ่งภาษาอังกฤษที่ด้าชอบมากๆ ‘Surround yourself with the people you want to be like’ ให้อยู่ท่ามกลางคนที่เราอยากจะเป็นแบบนั้น และการที่เราไปอยู่ในกองประกวด อยู่ท่ามกลางผู้หญิงที่มีความพยายาม และมีความฝันเหมือนเรา ทำให้เราเกิดความรู้สึกอยากพยายามให้มากขึ้น มีแรงขับเคลื่อนที่จะพุ่งไปให้ถึงฝัน

“ส่วนเรื่องนิสัยและความเป็นตัวของตัวเองเราไม่ได้เปลี่ยนเลย ตั้งแต่ก่อนมาสมัครมิสยูนิเวิร์ส เรารู้ว่าเราเป็นใคร ต้องการที่จะทำอะไร แล้วเราก็เป็นตัวของตัวเองมาโดยตลอด เราไม่เคยเปลี่ยนเพื่อมาประกวด เลยรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เปลี่ยน แต่สิ่งที่เพิ่มมาคือมีคนรู้จักมากขึ้น มีความรับผิดชอบกับตัวเองและสังคมเพิ่มมากขึ้น”

เมื่อได้เป็นมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ กลายเป็นที่รู้จักในฐานะตัวแทนประเทศ เป็นเรื่องปกติที่อแมนด้าย่อมได้รับเสียงเชียร์จากชาวไทย แต่เมื่อลองถามเธอเกี่ยวกับแฟนคลับต่างชาติ กลับกลายเป็นว่าเธอได้รับกำลังใจล้นหลามจากชาวพม่าด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีแฟนคลับฟิลิปปินส์อีกไม่น้อย ที่ลุ้นให้อแมนด้าได้เข้ารอบลึกๆ ทั้งที่แฟนคลับฟิลิปปินส์ถูกกาหัวไว้ว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมาตลอดกาลของแฟนนางงามไทย

“ตอนนี้มีแฟนคลับพม่าเยอะมาก เป็นเพราะ Issue of the day with Amanda เราพูดถึงเรื่องประชาธิปไตย การเรียกร้องความถูกต้องกลับคืนมา พูดความคิดเห็นของเราว่าไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร แล้วพอชาวเมียนมาเห็น ก็เลยเข้ามาขอบคุณที่เราใช้เสียงบอกให้ทุกคนรู้ว่าตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้น ซึ่งมิสยูนิเวิร์สเมียนมาเขาก็ออกมาเรียกร้องเหมือนกัน”

“ด้าก็รู้สึกดีใจที่มีแฟนคลับต่างชาติเยอะขึ้น ส่วนแฟนคลับนางงามฟิลิปปินส์ก็อย่าเพิ่งมองข้าม เราต้องเอาความสัมพันธ์ที่ดีของไทยกับฟิลิปปินส์กลับมา จะบอกว่าปกตินางงามสองประเทศตอนประกวดรักกันมากนะ แต่พอได้ดูแฟนคลับในโลกออนไลน์แล้วแบบ… โอ้ ทุบกันสุดๆ ไม่ตีกันนะคะ”

เมื่อได้มงก็จะถูกคาดหวัง ทั้งคาดหวังกับการคว้ามงสามกลับมาให้คนไทย คาดหวังการตอบคำถามที่จะต้องตรงโจทย์และตราตรึง รวมถึงการคาดหวังว่าจะต้องเป็นคนเฟียซ (Fierce) ซึ่งอแมนด้าตอบว่าเธอไม่ได้เป็นคนกล้า เริ่ด เชิด หรือจะต้องสวยเป๊ะตลอดเวลา

“ด้าไม่ได้เป็นสายฟาดขนาดนั้น ถ้าฟาดตลอดจะรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเราแล้ว เราอยากเป็นตัวของตัวเอง เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ได้แต่งหน้านอน แล้วตื่นมาก็หน้าสดเหมือนคนอื่น ไม่ใช่ว่าตื่นแล้วมีขนตาสองชั้น ส่วนเรื่องมิสยูนิเวิร์ส 2020 เราต้องเตรียมตัวทุกด้าน พยายามเพิ่มความรู้อยู่ตลอดที่จะทำให้พัฒนาตัวเองได้”

เธอตั้งใจไว้ว่าจะเก็บเกี่ยวทุกประสบการณ์ เก็บเกี่ยวทุกอารมณ์ความรู้สึกเมื่อได้ไปเยือนเวทีใหญ่ที่ฟลอริดา เก็บเกี่ยวความทรงจำที่ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปยังเวทีระดับโลก

“เราอยากจะมีความสุขกับทุกโมเมนต์ตรงนั้น เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่โอกาสที่ทุกคนจะได้ไป ด้าบอกกับตัวเองแบบนี้ตั้งแต่วันที่ได้มงเลย พยายามไม่กังวล เพราะความกังวลทำให้เราไม่เป็นตัวของตัวเอง คิดไว้ว่าต้องทำหน้าที่ตรงนี้ให้ดีที่สุด ไม่ว่าผลออกมายังไงเราก็ทำเต็มที่แล้ว และจะพยายามไม่กดดันกับความคาดหวัง เพราะนางงามก็คือมนุษย์คนหนึ่ง”

การประกวดมิสยูนิเวิร์สคือการค้นหาสาวงามที่เพียบพร้อม ความสวยคือปัจจัยสำคัญของเวทีประกวด ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่การประกวดประจำปีเวียนมาถึง หลายคนอาจมองว่าเวทีนางงามสนับสนุนให้สังคมคุ้นเคยกับ ‘สิทธิพิเศษของคนหน้าตาดี’ หรือ Beauty Privilege

เมื่อถามว่าถ้าเป็นแบบนี้ไม่เท่ากับว่าการประกวดสนับสนุนการจำกัดกรอบค่านิยมความงาม หรือสนับสนุนอภิสิทธิ์ของคนหน้าตาดีในสังคมแบบทางอ้อมหรือเปล่า? อแมนด้าตอบทันทีว่า ความสวยไม่ได้วัดกันแค่ภายนอกเท่านั้น

“บทบาทนางงามเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนมาก สมัยก่อนจะมีกรอบกำหนดชัดเจนว่าแบบไหนถึงจะเรียกว่าสวย นางงามจะต้องเป็นไปตามความสวยแบบสมัยนิยม บางยุคคนหน้ากลมถูกมองว่าสวย บางสมัยต้องเป็นผู้หญิงหน้าเรียว หน้าเล็ก เอวคอด สะโพกผาย แต่เวทีประกวดสมัยนี้ส่วนใหญ่ต่างพุ่งเป้าไปที่ความคิดของผู้หญิงมากกว่า อย่างมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ก็มีการทำคีย์เวิร์ดขึ้นมาเพื่อทำให้คนสนใจเรื่องความสวยภายนอกน้อยลง ทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามถึงคีย์เวิร์ดและพูดถึงเรื่องอื่นนอกเหนือจากความสวย เปลี่ยนมาเป็นโฟกัสกับความคิด ความสามารถ และทักษะการพูดของผู้เข้าประกวดมากกว่า”

สิ่งสำคัญที่สุดของเวทีมิสยูนิเวิร์สคือการตามหาบอสเลดี้ (Boss Lady) ผู้หญิงที่สร้างแรงบันดาลใจ เป็นต้นแบบ และเป็นตัวของตัวเอง เพราะสิ่งสำคัญนอกจากความงามภายนอกคือเรื่องของมายด์เซ็ต ความคิดเห็นของผู้เข้าประกวดจะกลายเป็นส่วนสำคัญ นางงามอาจถูกถามว่าคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อดูว่าแต่ละคนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นสังคมมากน้อยแค่ไหน

“นางงามยุคนี้พยายามสร้างอะไรใหม่ๆ พยายามตีความหมายคำว่า ‘ความสวย’ ให้กว้างขึ้น พยายามก้าวออกจากกรอบเดิม และความเปลี่ยนแปลงของเวทีนางงามตามยุคสมัยสามารถเป็นประโยชน์ให้กับผู้หญิงยุคใหม่ ตอนนี้ค่านิยมความสวยเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้ตีกรอบว่าความสวยจะต้องจำกัดเพียงแค่ปัจจัยไม่กี่อย่าง ทำให้คนในสังคมเห็นว่าผู้หญิงไม่ได้มีแค่รูปลักษณ์ ผู้หญิงไม่ได้มีค่าแค่ความสวย”

การประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2020 ในปีนี้น่าสนใจไม่แพ้ปีไหนๆ และคง ‘ไม่ได้มีแค่ความสวย’ อย่างที่อแมนด้าว่าไว้ เพราะผู้ชมจะได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ของมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์

เวทีนางงามในปีนี้ยังให้พื้นที่แก่คนตัวเล็กในแวดวงดีไซน์ ให้พวกเขาได้มีโอกาสเข้าใกล้แสงสปอตไลต์กว่าที่เคย เครื่องแต่งกายของอแมนด้าที่จะสวมใส่ในเวทีระดับโลกล้วนออกแบบโดยดีไซเนอร์ที่มาจากการจัดการประกวด แก้คำครหาว่าจะต้องใช้แต่แบรนด์ใหญ่ แบรนด์ดัง เปิดโอกาสให้ห้องเสื้อน้อยใหญ่ได้มีแสงส่องถึงมากขึ้น และผู้ชมคงต้องฝากความหวังเอาไว้กับกองนางงามและตัวของมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์อีกครั้ง

 

เสียงของสตรี เส้นแบ่งเรื่องเพศ และความเท่าเทียมในสังคมไทย

ไม่ว่าจะถามไปกี่คำถาม นางงามจักรวาลของเราก็ยังคงยิ้มแย้มตอบคำถามอย่างกระตือรือร้น เธอพร้อมแบ่งปันประสบการณ์และความคิดของตัวเอง รวมถึงบอกเล่าว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ โดยเฉพาะการผลักดันเรื่องของบทบาทสตรีในสังคมไทย

ปัจจุบันประเด็นสังคมต่างๆ ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยเสียงของเพศชายเป็นส่วนใหญ่อีกต่อไป วันเวลาเปลี่ยนผู้หญิงที่แต่เดิมต้องอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน สามารถก้าวออกมามีบทบาทหน้าที่ที่ใหญ่กว่าการเป็นแม่หรือเป็นภรรยา พวกเธอสามารถเปล่งเสียงได้มากขึ้นกว่าเก่า สามารถเล่าถึงความชีวิตกับความเจ็บปวด แบ่งปันเรื่องราวที่เจอให้สังคมได้รับฟังมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น เสียงของผู้หญิงก็ยังคงมีกรอบจำกัดบางอย่าง

อแมนด้ามองว่า ‘เสียงของผู้หญิง ณ ที่สาธารณะ’ ในประเทศไทยดังขึ้น แต่ก็ยังไม่ดังเท่าที่ควร

“ต้องยอมรับว่าเสียงของผู้หญิงดังขึ้นกว่าเมื่อก่อน เป็นเรื่องดีที่เสียงของเราดังขึ้น แต่ถ้าจะบอกว่าเสียงของเราดังเท่ากับเพศชายอาจจะยังไม่จริง บางเวลาผู้หญิงพูดอะไรไปแล้วเสียงเหล่านั้นไม่ถูกได้ยินด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เพราะผู้ฟังไม่ตั้งใจฟัง ไม่อยากฟัง หรือเพราะมองว่าผู้พูดเป็นผู้หญิง ซึ่งคนที่จะต้องเปลี่ยนความคิดคือฝ่ายที่รับฟัง ไม่ใช่เราที่เป็นคนพูด แต่ถ้ามีคนเริ่มรู้สึกว่าเสียงของผู้หญิงในสังคมไทยดังขึ้น แปลว่าเรามาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว”

คำตอบน่าสนใจของเธอชวนให้ตั้งคำถามต่อถึงการส่งเสียงของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘เฟมินิสต์’ ที่ออกมาพูดประเด็นต่างๆ ในสังคมโลก ตกลงเฟมินิสต์คือใคร รวมตัวกันทำอะไร แล้ววาทกรรมที่หลายคนเชื่อว่าเฟมินิสต์คือกลุ่มผู้หญิงที่พยายามขึ้นมามีบทบาทหรือมีสิทธิเพศเหนือเพศชาย เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องเท็จกันแน่

ทันทีที่ถามจบ อแมนด้าส่ายหน้าไม่เห็นด้วยและปัดวาทกรรมนี้ตกไป จากมุมมองของเธอ เฟมินิสต์มีความหมายเท่ากับความเท่าเทียม

“เฟมินิสต์ในความเข้าใจของด้า คือการที่เพศหญิงถูกกดขี่มาเป็นระยะเวลานาน แล้วมาถึงจุดหนึ่ง พวกเธอสามารถลุกขึ้นมาเรียกร้องความเท่าเทียม ไม่ใช่แค่ความเท่าเทียมของตัวเองเท่านั้น แต่ยังเป็นความเท่าเทียมระหว่าง ชาย หญิง และคนทุกเพศ เฟมินิสต์ไม่ใช่สิ่งน่ากลัว เพราะการเรียกร้องของคนที่เรียกตัวเองว่าเฟมินิสต์คือต้องการอยากให้ทุกเพศเท่ากัน ไม่มีเรื่องอะไรน่ากลัวเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ มนุษย์ทุกคนเกิดมาแล้วควรที่จะได้รับความเท่าเทียม การที่เราเกิดมามีเพศไม่เหมือนกัน ไม่ได้หมายความว่าใครจะมีอำนาจมากกว่าหรืออยู่เหนือเพศอื่น สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือเส้นตรงกลางสำหรับทุกเพศ

“สังคมไทยอิงอยู่กับปิตาธิปไตย ความคิดว่าผู้ชายคือช้างเท้าหน้ายังมีหลงเหลืออยู่ในสังคม มองในแง่หน้าที่การงานจะเห็นได้ชัด ยิ่งตำแหน่งหน้าที่สูงขึ้นเท่าไหร่ จำนวนเพศหญิงและเพศอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพศชายจะลดลงเรื่อยๆ ไม่ได้แปลว่าผู้หญิงหรือคนเพศอื่นไม่เก่ง ไม่มีความสามารถ แต่เพราะด้วยบทบาทหน้าที่ของเพศชายที่มากกว่ามานาน ซึ่งเพศหญิงหรือเพศอื่นๆ ก็สามารถทำหน้าที่ที่ได้รับได้ดีไม่แพ้กัน”

การเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมของทุกขบวนการทั่วโลกยังคงเดินหน้าต่อ ทุกคนที่เป็นผู้ขับเคลื่อนต่างก็มีบุคคลผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง มีบุคคลผู้เป็นต้นแบบที่ทำให้มีพลังสู้ต่อไป ทั้งเรื่องการงานหรือเรื่องการพยายามแก้ปัญหาในสังคม และนางงามจักรวาลที่เป็นบุคคลต้นแบบของใครหลายคน ก็มีบุคคลต้นแบบของตัวเองเช่นกัน

“ด้าก็มีผู้หญิงที่สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเอง เธอชื่อ จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ เธอสามารถพาประเทศผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 มาได้อย่างน่าประทับใจ เป็นผู้นำที่ชูประเด็นความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจเพื่อนมนุษย์ กรณีของจาซินดาสามารถยืนยันได้ว่าเพศหญิงก็มีความสามารถไม่น้อยไปกว่าเพศชาย แต่สิ่งที่สำคัญกว่าความสามารถของเพศหญิงและเพศอื่นๆ คือการที่ทุกคนในสังคมจะยอมเปิดใจมากกว่า”

แม้ในสังคมปัจจุบัน เสียงของผู้หญิงจะถูกรับฟังมากขึ้น แต่ยังมีคนบางกลุ่มที่ไม่อยากฟังเสียงของผู้หญิงที่กำลังเรียกร้องบางอย่าง เช่น กฎหมายทำแท้ง การทำให้โสเภณีเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย การรณรงค์ให้เลิกเล่นมุกเหยียดเพศหรือล้อเลียนปมด้อย ไปจนถึงการปรามาสว่าเพราะผู้หญิงแต่งตัวโป๊จึงถูกข่มขืน ความแตกต่างในความคิดที่ตัดกันอย่างรุนแรงทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันอยู่บ่อยครั้ง เห็นได้จากการถกเถียงระหว่างคนที่อยากเปลี่ยนค่านิยม กับคนที่มองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะต้องเลิก

บางคนพยายามทำให้เสียงของเฟมินิสต์บางส่วนเงียบลง ด้วยการเบลมว่าเป็นมลพิษและหยาบคาย ทั้งที่บางทีอาจไม่ได้มีถ้อยคำหยาบคายอยู่ในนั้น แต่เป็นเรื่องของน้ำเสียงหรือการพูดเสียดสี ซึ่งอแมนด้าก็มองเห็นการต่อสู้ที่อยู่ในโลกโซเชียลเช่นกัน

“กลุ่มที่ออกมาโจมตีเฟมทวิต (เฟมินิสต์ที่เล่นทวิตเตอร์) อาจจะผู้ชายหรือเพศไหนก็ตามที่ไม่ยอมเปลี่ยน อยากจะทำอะไรเหมือนเดิม เลยทำให้ด้าตั้งคำถามว่าอาจเป็นเพราะสังคมที่เขาถูกหล่อหลอมมาหรือเปล่า เขาอาจดูถูกเราเพราะเขาคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่คือเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่เขาคิดว่าโอเค แต่ตรงนี้คือความคิดเดิมๆ

“บางทีเขาอาจไม่ได้อยากรับฟังเราด้วยซ้ำ เพราะเขาถูกสอนมาแบบนั้น หรือไม่ฟังเพราะนั่นคือสิ่งที่เขาได้รับประโยชน์จากมัน แต่ด้าว่าเราสามารถเปลี่ยนแปลงความคิดเขาได้ เราต้องทำเสียงของเราให้ดังกว่าเดิม ถึงเขาจะไม่อยากฟัง แต่ตอนนี้คนอื่นก็รับฟังเสียงของเรามากขึ้น เพราะฉะนั้นต้องพูดกันต่อไป จะพูดต่อไป จะพูดเหมือนเดิม เพราะเสียงของเราก็มีค่าเหมือนกัน”

เธอยืนยันว่าทุกคนมีสิทธิมีเสียงเป็นของตัวเอง จากที่เห็นในบทสัมภาษณ์ส่วนใหญ่ อแมนด้าจะย้ำถึงความเท่าเทียมเสมอ เธอเชื่อมั่นว่าความเท่าเทียมคือสิ่งที่ทุกคนพึงมี เป็นกติกาที่มนุษยชนต้องทำความเข้าใจเพื่อเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งความเท่าเทียมในมุมมองของเธอคนนี้ก็ไม่ได้ยากที่จะทำความเข้าใจเลยแม้แต่น้อย

“ความเท่าเทียมคือการมองทุกคนว่าเป็นมนุษย์เท่ากัน การที่เราบอกว่าความเท่าเทียมคือทุกคนมีเงินเท่ากัน อันนี้ต้องยอมรับว่าคงเป็นไปไม่ได้ การที่มองคนอื่นเป็นมนุษย์เหมือนเรา ตรงนี้คือความคิดที่สามารถเปลี่ยนได้เลย ถึงตอนนี้จะยังคงมีช่องว่างของความเหลื่อมล้ำที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม แต่ช่องว่างนี้สามารถแคบลงได้ เพราะถ้าบอกว่าไม่ได้เลยก็จะเป็นเหมือนการปิดกั้น เราต้องทำได้ เพราะด้าเองก็อยากให้มีวันนั้น วันที่ความเหลื่อมล้ำลดน้อยลงหรือไม่มีเลย สวนทางกับความเท่าเทียมที่เพิ่มมากขึ้น”

แต่เรื่องนี้คิดว่าต้องให้ ‘ผู้ใหญ่’ เข้ามาช่วยด้วย เพราะจะให้ประชาชนมาแก้ มาช่วยกันเอง มาทำงานกันเองทุกอย่าง มันก็ไม่ใช่ เขาต้องให้คนตัวเล็กๆ ได้มีโอกาสเติบโตด้วย

 

นางงามกับการเป็น ‘กระบอกเสียง’   

ตอนนี้สังคมต่างคาดหวังว่าผู้ชนะการประกวดมิสยูนิเวิร์สรวมถึงเวทีประกวดอื่นๆ จะต้องเป็นกระบอกเสียงถึงปัญหาต่างๆ ทั้งประเด็นสังคม ความเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ หรือการยื่นมือเข้าช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส

ความต้องการที่จะให้มิสยูนิเวิร์สออกมาพูดหลายเรื่อง สร้างความสงสัยมากพอดูว่าทำไมสังคมถึงมีความคาดหวังกับคนที่ได้ครองมงกุฎจากการประกวดมากขนาดนี้ ทำไมพวกเธอถึงต้องทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง แล้วอแมนด้าใช้ ‘เสียงที่ดังขึ้น’ ไปกับอะไรแล้วบ้าง

“เอาจริงๆ เสียงของทุกคนเท่ากัน แต่การได้ยินผู้ฟังอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน หน้าที่ในสังคม ซึ่งไม่ว่าใครเป็นคนพูด ด้าว่าก็สำคัญเหมือนกัน ส่วนตัวด้าเองพูดหลายเรื่อง พูดถึงเรื่องการงดใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในครอบครัวหรือว่าต่อคนในสังคม พูดเรื่องความหลากหลายทางเพศและการเรียกร้องของกลุ่ม LGBTQ+ เพราะเราก็อยากให้สังคมไทยมีความเท่าเทียมมากกว่านี้ ถึงแม้ว่าความเท่าเทียมเรื่องเพศที่เรามีอาจจะดีกว่าหลายประเทศแล้วก็ตาม”

ย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์นางงามจักรวาล แรกเริ่มสังคมอาจไม่ได้ต้องการให้นางงามพูดทุกเรื่อง แต่เวลานี้ผู้คนต่างคาดหวังให้นางงามต้องพูด ‘แทบทุกเรื่อง’ และเมื่อมิสยูนิเวิร์สพูดถึงประเด็นต่างๆ สังคมก็ถามซ้ำอีกว่าการเปล่งเสียงของอแมนด้า เป็นการส่งเสียงจากใจจริงหรือเพราะว่าถูกสั่งให้ทำ

“การประกวดนางงามทำให้เสียงของผู้ชนะดังขึ้น สังคมจึงอยากให้เราที่มีเสียงดังขึ้นมาเป็นกระบอกเสียงให้เขา แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่งเป็นเพราะสังคมยังคงเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ คนเลยต้องการเรียกร้องความเท่าเทียม และก็อยากจะให้เราพูดมากขึ้น ตอนนี้ด้าทำ Issue of the day with Amanda ใน TikTok เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในสังคม นอกจากได้ส่งเสียงเพื่อคนอื่นแล้ว สิ่งที่เราได้คือการฝึกพูดในเวลาที่จำกัด ทุกครั้งที่ด้าอ่านข่าว เราต้องวิเคราะห์แล้วสรุปให้น้อยกว่าหนึ่งนาที เป็นเหมือนการฝึกพัฒนาตัวเองไปในตัว แล้วก็จะมี English with Amanda เป็นการสอนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ เชื่อมโยงกับเรื่อง Mental Health (สุขภาพจิตกับการจัดการกับความเครียดเพื่อภาวะจิตใจที่เป็นสุข) ที่เราพยายามรณรงค์อยู่”

สิ่งที่พูดออกมาทุกเรื่องคือสิ่งที่ตัวด้าอยากพูดอยู่แล้ว เพราะแม้ว่าสังคมอยากให้ด้าพูดเรื่องอะไร แต่เราก็ต้องมาคิดไตร่ตรองก่อนว่าเรื่องนั้นคือสิ่งที่เราเชื่อหรือเปล่า ถ้ามันคือสิ่งที่เราเชื่อ เราก็พูด

นอกจากการได้พูด อแมนด้ามองว่าอีกสิ่งสำคัญคือการรับฟัง

“สิ่งหนึ่งที่ด้าอยากจะพูดให้สังคมได้รู้กันคือการรณรงค์ให้เป็นผู้รับฟังที่ดี ผู้ฟังก็ถือเป็นบทบาทที่สำคัญไม่แพ้กัน ตอนนี้สังคมเต็มไปด้วยผู้คนที่อยากพูดเรื่องของตัวเอง และอาจหลงลืมที่จะรับฟังคนอื่น อย่างที่บอกว่าด้าเคยเป็น Eating disorder แล้วอยู่ในจุดที่รู้สึกว่าร่างกายเราไม่ไหว เราเริ่มขอความช่วยเหลือและต้องการให้มีคนได้ยินเรา ตรงนี้คือเป็นจุดเริ่มต้นโปรเจกต์ Have you Listened โครงการเกี่ยวกับสุขภาพจิตที่จะช่วยรณรงค์ให้คนเป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังคนข้างตัวเรามากขึ้น เพราะรอบๆ ตัวเราอาจจะมีคนที่ร้องขอความช่วยเหลือเหมือนที่ด้าเคยต้องการอยู่ก็ได้ เพราะมีโอกาสสูงมากว่าหลังจากปี 2030 โรคทางจิตจะมาแทนที่โรคหัวใจหรือโรคทางกายอื่นๆ เลยอยากรณรงค์เรื่องนี้ให้มากขึ้น”

Have you Listened คือความพยายามที่อยากให้ทุกคนได้ลองฟังเสียงรอบตัว รวมถึงพยายามแก้ความเข้าใจผิดบางประการ บางคนยังคงคิดว่าอาการเจ็บปวดทางจิตเท่ากับเป็นพวกฟั่นเฟือน เหมือนคนบ้าในละครหรือภาพยนตร์ และหลีกเลี่ยงที่จะยอมรับฟังความเจ็บปวดของผู้ที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหา

“ยังคงมีคนจำนวนไม่น้อยคิดว่าโรคซึมเศร้าหรืออาการทางจิตเท่ากับเป็นโรคจิตต้องอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช ความคิดเหล่านี้เกิดจากการไม่มีข้อมูลเรื่องโรค ถ้าเขามีข้อมูลแล้วมีความรู้เรื่องโรคทางจิตมากขึ้น เขาจะรู้ว่ามันคืออาการไม่สบายอย่างหนึ่งของร่างกายที่สามารถรักษาให้หายได้ เหมือนเราเป็นหวัดไม่สบายแล้วไปหาหมอ การให้ความรู้คือจุดเริ่มต้นและจุดที่สำคัญที่สุดที่จะเปลี่ยนความคิดของคนที่อยู่ในสังคม”

สำหรับแฟนนางงาม โดยเฉพาะแฟนคลับเวทีมิสยูนิเวิร์ส ไม่นานมานี้จะเห็นการเตรียมจับมือกันระหว่างกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกองประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ เลือกให้อแมนด้าเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์หรือทูตของกรมสุขภาพจิต ช่วยสร้างความตระหนักถึงปัญหาเรื่องสุขภาพจิตในประเทศไทยโดยเน้นไปที่การรับฟัง

น่าเสียดายที่หลังการพูดคุยระหว่าง The Momentum กับอแมนด้าผ่านไปได้ไม่นาน ทุกอย่างกลับตาลปัตร เกิดข่าวใหญ่ว่าเธอโดนยกเลิกจากการเป็นทูตสุขภาพจิต แต่การยกเลิกครั้งนี้ไม่ใช่การปลด เพราะกองประกวดยืนยันว่าไม่เคยได้รับหนังสือแต่งตั้งจากกรมสุขภาพจิต ถึงอแมนด้าจะไม่ได้ถูกเรียกว่าทูต แต่โครงการ Have You Listened ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากเธอตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

การเป็นทูตหรือไม่เป็นทูต เป็นมิสยูนิเวิร์สหรือเป็นอแมนด้า ออบดัม ที่ไม่มีตำแหน่งพ่วงท้าย ก็ไม่มีอะไรมาหยุดให้เธอเดินหน้าเพื่อทำในสิ่งที่หัวใจตัวเองยึดมั่น

ด้าอยากสานต่อโครงการนี้ ให้ทุกคนรู้ว่าเสียงของทุกคนสำคัญ ประชาธิปไตย ความเท่าเทียมของมนุษยชน ซึ่งด้าคิดว่าคือหลักการของความเป็นมนุษย์ของทุกคน ด้าก็ไม่ได้คิดว่าเสียงของตัวเองดับลง แต่กลับดังขึ้นด้วยซ้ำ

ใครก็ตามที่เคยบอกว่าการประกวดมิสยูนิเวิร์สปีนี้จืดชืดและคงไม่สนุกเหมือนปีก่อนๆ ตอนนี้หลายคนที่เคยปรามาสไว้อาจเริ่มถอนคำพูดของตัวเองแล้ว เปลี่ยนมาเป็นเตรียมตัวเตรียมใจลุ้นการต่อสู้เพื่อชิงชัยของอแมนด้ากับสาวงามอีกหลายประเทศ สาวงามชาติไหนจะเป็นผู้คว้ามงกุฎมาครอง และความหวังที่สาวไทยจะคว้ามงสามกลับบ้าน อาจไม่ใช่ฝันที่เกินตัวเท่าไหร่นัก 

        

อ้างอิง

พญ.ธีราพร ศุภพล. (2553). Anorexia Nervosa. ภาคจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

Fact Box

อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 1993 มีเชื้อสายไทย-แคนาดา เติบโตมาในจังหวัดภูเก็ต ก่อนศึกษาต่อระดับปริญญาตรีด้านการจัดการและบริหารธุรกิจ (Specialist in Business Administration) มหาวิทยาลัยโทรอนโต ประเทศแคนาดา จบการศึกษาโดยได้เกียรตินิยมอันดับ 1

Tags: , , , , , , , , , ,