‘อายุเท่านี้ต้องมีอะไรบ้าง’
‘อายุขนาดนี้ต้องมีชีวิตที่มั่นคงแล้วหรือยัง’
‘ต้องมีเงินเก็บเท่าไร เพื่อพอใช้ยามเกษียณ’
ข้อความข้างต้นถือเป็นคำถามอมตะที่ไม่ว่ายุคสมัยไหน ผ่านไปเท่าไร คำถามดังกล่าวก็จะถูกหยิบยกขึ้นมาถามครั้งแล้วครั้งเล่า ส่วนคำตอบก็ขึ้นอยู่กับค่านิยมและยุคสมัยขณะนั้น
ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดความสำเร็จในแต่ละช่วงอายุ การวางแผนเพื่อพิชิตเป้าหมายให้ไวที่สุด การวางแผนชราอย่างไรให้มีคุณภาพ และตายอย่างไรให้ไม่เป็นภาระคนอยู่ มากไปกว่านั้นคือการหาความหมายในชีวิต
“คุณอย่าไปคิดอะไรมาก ชีวิตมันก็แค่นี้”
อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา เจ้าของฉายา ‘เจ้าพ่อโพสต์โมเดิร์น’ ตอบกลับผ่านสายโทรศัพท์หลังฉันแจ้งเขาว่า มีธุระด่วนที่ต้องขอขยับเวลานัดหมายไปสักนิด ส่วนหัวข้อในการสนทนาก็หนีไม่พ้นข้อความที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งจะนำไปถามบุคคลที่พูดอยู่เสมอว่า เขาไม่เคยวางแผนชีวิตอะไรไปมากกว่าสัปดาห์ที่กำลังถึง และการวางแผนเกษียณเป็นคอนเซปต์ที่ไม่ค่อยมีอยู่ในหัว
บทสนทนาเริ่มต้นด้วยคำถามอย่าง เพราะเหตุใดมนุษย์ถึงหมกมุ่นกับการจัดแจง วางแผนชีวิตมากขนาดนี้ แล้วหากชีวิตไม่มีการทำงาน การเกษียณ ชีวิตมนุษย์จะหาความหมายจากอะไร ไปจนถึงคำถามส่วนตัวอย่าง อาจารย์ธเนศก่อนเกษียณและในวัยย่าง 68 ปี เขาในวันนั้นกับเขาในวันนี้มีมุมมองต่างกันไหม
อาจารย์คิดว่าปัจจัยหรือเหตุผลอะไร ที่ทำให้คนสมัยนี้พยายามวางแผนทุกอย่างในชีวิตมากมายขนาดนี้
เราต้องเข้าใจก่อนว่า การวางแผนหมายถึงเรากำลังจัดการปฏิบัติต่ออนาคต ซึ่งคำว่าอนาคตมันไม่ใช่ของเรา ดังนั้นการที่คุณบอกว่า The Future is in Your Hands. จึงเป็นคอนเซปต์ใหม่ เพราะเมื่อก่อนอนาคตเป็นของพระเจ้า แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นของเรา เราเลยกลายเป็นคนที่เล่นบทพระเจ้า
อีกสิ่งที่ต้องพูดต่อคือ ‘เวลา’ ซึ่งเป็นของรัฐ เวลาไม่ใช่สิ่งที่เป็นของพวกคุณ รัฐเป็นคนกำหนด จริงๆ มันเริ่มกำหนดมาตั้งแต่การสร้างมาตรฐานเวลาใน International Meridian Conference ปี 1884 ซึ่งการประชุมครั้งนั้นได้กำหนดให้เส้นเมอริเดียนปฐม (Prime Meridian) ผ่านหอดูดาวกรีนิช (Royal Observatory, Greenwich) ในอังกฤษ ซึ่งทำให้ฝรั่งเศสโกรธมาก เพราะมหาอำนาจมันแย่งกัน ดังนั้นเวลาไม่ใช่ของเราเวลาเป็นของรัฐ
ยกตัวอย่าง ถ้าผมบอกคุณว่า ผมมาตอน 4 โมงเย็น ซึ่งเป็น 4 โมงเย็นของผม แต่เวลาของพวกคุณเป็น 4 โมงเย็นของรัฐบาล แล้วเวลาไม่ตรงกัน คุณคิดว่าจะทะเลาะกันไหม เพราะฉะนั้นเวลาไม่ได้เป็นของพวกคุณ แต่พวกคุณถูกทำให้เชื่อว่าเวลาเป็นของคุณ ซึ่งแท้จริงแล้วเวลาเป็นของรัฐบาล
อาจารย์จะบอกว่า เวลาที่มนุษย์คิดว่ามีในแต่ละวัน ผ่านการวางแผนอย่างถี่ถ้วนนั้น จริงๆ แล้วไม่เคยเป็นของมนุษย์
ทำไมสิงคโปร์เวลาเขามาก่อนเรา ทำไมศรีลังกาห่างกับไทยครึ่งชั่วโมง เหล่านี้คือรัฐกำหนดทั้งนั้น ไอ้ Time Zones, Daylight Saving Time (DST) และการแบ่งเวลาโลก ซึ่งอีกแง่หนึ่งคือการจัดระเบียบของสังคม เช่น หลังการปฏิรูปศาสนา การที่พวกรัฐคาทอลิกและโปรเตสแตนต์พยายามจัดระเบียบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดระเบียบว่าคุณต้องตื่นนอนกี่โมง จัดระเบียบลึกลงไปถึงสายสัมพันธ์ทางเพื่อน พูดง่ายๆ ยันเรื่องบนเตียง ซึ่งพอพวกโลกตะวันตกมันกลายเป็นเจ้าอาณานิคม มันก็ขยายไอเดียเหล่านี้เข้าไปจัดระเบียบในพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่ การทำงาน ค่านิยม เข้าออฟฟิศไม่เข้าออฟฟิศ
ดังนั้นไอ้การที่คุณมีระเบียบวินัย มีการวางแผนชีวิต ตั้งเป้าหมายทำนั่นทำนี่ สำหรับผม มองว่า เหล่านี้คือส่วนขยายของสังคม เพราะฉะนั้นอนาคตมันกลายเป็นสิ่งที่มนุษย์เริ่มเข้าไปควบคุมที่ผมขอเรียกสิ่งนี้ว่า To Dream The Impossible Dream มาจากเพลง The Impossible Dream ของแอนดี วิลเลียมส์ (Andy Williams)
อาจารย์ต้องการจะสื่อว่า การที่มนุษย์พยายามควบคุมอนาคตเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
เนื้อเพลงร้องต่อว่า To Dream The Impossible Dream, To Fight The Unbeatable Foe, To Bear With Unbearable Sorrow. คือคุณกำลังไปรบกับคนที่คนไม่คิดว่าจะมีวันชนะ ซึ่งมันเป็นความฝันของพวกคุณ การที่ความฝันอันสูงสุดของพวกคุณคือ การพยายามควบคุมอนาคตหรือจัดการอนาคตให้ได้ สำหรับผมนั้นมันคล้ายกับว่าคุณพร้อมจะไปตาย
ยิ่งร้ายไปกว่านั้นคือ ทั้งหมดคุณไม่สามารถ To Fight The Unbeatable Foe. คือการต่อสู้กับศัตรูที่ไม่มีวันชนะได้ แล้วหากสู้ไม่ได้ก็เป็นความผิดของใครก็ของคุณ คือเวลามันถูกรัฐ Privatization ด้วยนาฬิกา
ดังนั้นถ้าคุณทำอะไรไม่สำเร็จ มันก็คือความผิดของคุณ ทั้งหมดคือความรับผิดชอบของคุณ ซึ่งมันยิ่งชัดเจนขึ้นอีกเมื่อคุณเข้าไปอยู่ในโลกเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) ที่ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของปัจเจกชน เพราะฉะนั้นมันก็จะเกิด Self-Responsibilization ที่ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องส่วนตัว แม้แต่ปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์
แปลว่า ‘แนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่’ ส่งผลให้มนุษย์ต้องพยายามวางแผนและควบคุมอนาคต
ซึ่งไม่ดีเหรอ
พวกคุณก็รับผิดชอบตัวคุณเอง คุณชอบกันไม่ใช่เหรอครับที่ต้องรับผิดชอบชะตาชีวิตตัวเอง The Future is in Your Hands. พวกคุณพูดกันเองว่า มีเสรีภาพก็เลือกแล้ว คือคนในเจเนอเรชันพวกคุณถูกฝึกให้คิดแบบนี้ แล้วจะไปโทษใคร คุณก็แฮปปี้ไม่ใช่เหรอ สมมติผมไปสั่งคุณให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้คุณก็โกรธผมตายห่าถูกไหม ซึ่งแน่นอนว่าคุณไม่สามารถที่จะได้ทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะฉะนั้นคุณก็ Depress ไป ก็กินยาไป
แล้วถ้าชีวิตมนุษย์ไม่มีโครงสร้างการทำงานและการเกษียณ ชีวิตมนุษย์จะหาความหมายจากอะไร
คือสมัยตอนผมอยู่อเมริกาช่วงปี 1970-1980 มันมีคำพูดว่า “Rich and Famous Before 30” ทีนี้ต้องมาคุยกันก่อนว่า เป้าหมายในชีวิตและความหมายในชีวิตเป็นคนละเรื่องกัน เวลาเราพูดถึง The Meaning of Life คุณเคยคิดไหมว่า ทำไมเราต้องหาความหมายในชีวิต เราใช้ชีวิตแบบไม่มีความหมายได้ไหม
ซึ่งหากมาพิจารณาในมิติของศาสนา ศาสนาคริสต์จะบอกคุณอย่างชัดเจนว่า ท้ายที่สุดคุณจะกลับไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นมันก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของชีวิต ชีวิตคุณมีเป้าหมายที่จะได้กลับไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า กลับไปอยู่ในอาณัติของศาสนา หรือแม้แต่ศาสนาพุทธก็คือการปรินิพพาน
แต่คำถามคือเป้าหมายพวกนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่มีมาตลอด แต่พอศาสนาเริ่มเสื่อมถอยเท้งเต้งอยู่ในอากาศ มันกลายเป็นว่าคุณก็ต้องหาความหมายในชีวิตเอง ก็กลายเป็นเรื่องปัจเจกอีกแล้ว มึงก็ไปหาของมึงเองสิ
ดังนั้น In The Meaning of Life จึงเริ่มชัดเจนมากในศตวรรษที่ 19 คนอังกฤษคนแรกๆ ที่พูดถึง The Meaning of Life คือ โทมัส คาร์ไลล์ (Thomas Carlyle) ที่ได้รับอิทธิพลมาจาก German Romanticism ซึ่งการหาความหมายในชีวิตก็คล้ายกับ The Impossible Dream ที่เราพูดถึง ซึ่งผูกกับ Rationality (เหตุผลนิยม) และ Goal Setting (การตั้งเป้าหมายในชีวิต) คือการที่คุณจะต้องเป็นบุคคลที่ตัดสินใจโดยใช้เหตุผล (Rational Agent) มีเป้าหมายในชีวิตและผลักดันให้ตัวเองบริหารชีวิต จนนำไปสู่เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ใช้เวลาสั้นที่สุดและเร็วที่สุด เหล่านี้ก็ย้อนกลับมาเหมือนคริสต์ศาสนาคือ ถ้าคุณหาพระเจ้าไม่เจอ ก็แปลว่าคุณยังไม่มีศรัทธามากพอ ก็กลายมาเป็นความผิดคุณอีก ก็ปัจเจกอีก
แล้วอาจารย์มี The Impossible Dream กับเขาบ้างไหม
ผมไม่มี
อาจารย์เกษียณมาประมาณ 8 ปี ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
8 ปีก็ถอยหลังไปเรื่อยๆ ชีวิตมันถดถอยไม่มีวันจะหนุ่มไปข้างหน้า บางคนอาจจะมีก็ได้แต่สำหรับผมสังขารมันเสื่อมไปทุกวัน ผมไม่คิดว่าความเสื่อมต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมต้องการชะลอ และการเสื่อมถอยของร่างกายก็ไม่ได้ทำแบบเป็นแบบแผน เช่น คุณจะบอกว่าการที่คุณสายตายาวเป็นเพราะคุณวางแผนมาแล้วว่าจะสายตายาว หรือวางแผนมาแล้วว่าจะมีผมหงอก เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบชีววิทยาที่คุณสามารถทำได้มากที่สุดคือการชะลอ
หรือแม้กระทั่งที่หลายคนมีความใฝ่ฝันอันสูงสุดอย่าง Impossible Dream คือฉันจะเป็นอมตะก็ไม่ว่ากัน คือผมไม่ได้เป็นคนวางแผน ทุกอย่างเป็นเรื่องของชีววิทยา เว้นแต่ว่าคุณจะสามารถเอาชนะชีววิทยาได้ ซึ่งหลายคนก็มีความคิดที่อยากจะทำแบบนี้ เพราะหากคุณเอาชนะความตายได้คุณจะรวยยิ่งกว่า อีลอน มัสก์ (Elon Musk) อีก
ส่วนตัวอาจารย์มองว่าการเกษียณคืออะไร
เกษียณ ผมไม่ได้เป็นคนกำหนดนะ รัฐเป็นคนกำหนด บริษัทเป็นคนกำหนด คุณลองไปถามพวกเขาดูสิ มาถามอะไรผม คือผมไม่อยากหยุดงาน แต่มึงมาบังคับให้กูหยุดนะโว้ย คือมันเป็นคำถามเดียวกับเรื่องเวลา เวลาเกษียณก็ไม่ใช่ของคุณ ผมไม่ได้เป็นคนกำหนด Early Retirement แล้วทำไมไม่เป็น Late Retirement บ้าง นึกออกไหม คือเขากำหนดมาไว้ให้แล้วว่า พวกมึงควรจะ Early Retirement พวกกูจะได้ตัดงบ คือมันไม่มีมาบอกว่า เฮ้ย คุณเกษียณตอนอายุ 90 ปีไหม เพราะฉะนั้นเราไม่ได้เป็นคนกำหนด
ดังนั้นเวลาเราคิดว่าจะเกษียณก่อนกำหนด มันเป็นการตัดสินใจของเรา หรือโครงสร้างรัฐหรือบริษัทกำหนด ผ่านการเปิดตัวเลือกให้คุณ แต่เขาไม่เคยมีตัวเลือก Late Retirement ถูกไหม เพราะฉะนั้นมันเป็นสิ่งที่ซับซ้อนมาก แต่สำหรับผมมันคือสิ่งที่ถูกกำหนด เขาเซตมาแล้วว่า เอ็งจะมีเสรีภาพนะ เอ็งจะกระโดดโลดเต้นได้แค่ไหนก็ได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบนี้นะ
เพราะฉะนั้นผมไม่ได้เป็นคนเลือก คือเขาวางแผนมาให้ผม คนอื่นเป็นคนจัดระเบียบให้คุณทั้งนั้น อีกอย่างที่ต้องพูดกันต่อคือ มนุษย์เริ่มมีสำนึกว่า ตัวเองมีเสรีภาพในการเลือกตั้งแต่เมื่อไร อันนี้ผมว่าเราต้องพูดกันอีกยาว
ดังนั้นแปลว่ามนุษย์ก็เหมือนถูกหลอกให้คิดว่าสามารถกำหนดชีวิตตัวเองได้
เราก็ยินดีให้เขาหลอกไม่ใช่เหรอ ก็มีความสุข
อาจารย์คิดว่า อิสรภาพของมนุษย์หลังเกษียณมีอยู่จริงไหม หรือเป็นเพียงโครงสร้างของตลาดแรงงานที่บอกว่า มนุษย์ต้องแสวงหาอะไรบางอย่างในช่วงท้ายของชีวิต
คุณเคยฟังเพลงของ แจนิส จอปลิน (Janis Joplin) ไหม เป็นนักร้องในยุค 60s มีเพลงหนึ่งที่ชื่อว่า Me and Bobby McGee เพลงนี้เขียนโดย คริส คริสตอฟเฟอร์สัน (Kris Kristofferson) ในเนื้อเพลงมีประโยคหนึ่งที่พูดว่า Freedom is Just Another Word for Nothin’ Left to Lose ถ้าคุณ Nothin’ Left to Lose คุณก็มี Freedom
เพราะฉะนั้นคุณอาจต้องกลับมาดูว่า ถ้าสมมติไม่มีเกษียณเลย เช่น โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) บอกว่าจะเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 10 แล้วจะอยู่ตลอดไปคุณโอเคไหม ดังนั้นการมีการเกษียณอายุในโครงสร้างสังคมแบบอุตสาหกรรม มันหมายถึงการเลื่อนฐานะทางชนชั้น ไม่อย่างนั้นคุณก็ตายห่าดิ คุณผูกขาดอยู่คนเดียว
ก็อย่างที่พวกคุณด่าคนบูมเมอร์อย่างผมว่า พวกมึงไม่ไปสักที ขณะเดียวกันถ้าผมไม่ทำงานคุณก็ด่าผมอีกว่า ไอ้ห่านี่แม่งรกโลก ใช่หรือเปล่า เพราะฉะนั้นคุณจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อคุณมีงานทำ หรือมี Productivity อะไรบางอย่าง เพราะฉะนั้นสำหรับผมแล้ว การเกษียณเหมือนสมบัติผลัดกันชม
ก่อนหน้านี้อาจารย์กล่าวว่า ไม่ได้คิดถึงอนาคตมากนัก แล้วการมีลูกทำให้อาจารย์ต้องคิดถึงอนาคตลูกในแบบที่ไม่เคยคิดมาก่อนบ้างหรือเปล่า
สิ่งแรกเลยนะ ผมไม่คิด เพราะอย่างแรก อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่ได้เดินบนเส้นตรง มันมีทางแยกอะไรต่างๆ ตลอดเวลา ซึ่งผมไม่มีวันที่จะคาดการณ์ได้ และเราก็ถูกบอกถูกสอนกันมาตลอด ภายใต้อุดมการณ์ความเชื่อว่า The Future is in Your Hands. แล้วผมจะไปกำหนดอนาคตเขาได้อย่างไรถูกไหม ผมกำหนดอนาคตเขาไม่ได้ ผมไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้าที่จะมากำหนดอนาคต ผมไม่ใช่รัฐที่อยากจะเสือกไปกำหนดอนาคตใคร รัฐอยากกำหนดอนาคตพวกคุณ เพราะพวกคุณเป็นพลังในทางเศรษฐกิจให้เขาถูกไหม แต่ผมไม่มีปัญญา
คุณคิดว่าพ่อแม่คุณเคยสั่งอะไรคุณได้จริงๆ ไหม จริงๆ แล้วมันแทบจะไม่ได้เลย คนไทยเราถึงชอบบอกกันว่า ลูกเลี้ยงได้แต่ตัว ซึ่งในสภาวะสมัยใหม่เราพูดกันมาตลอดว่า อนาคตถูก Privatization ไปที่คน ผมใช้คำนี้เลย เพราะว่าพ่อแม่เข้าไปยุ่งกับเรื่องลูกไม่ได้ถูกไหม คือพวกเราก็ชอบพูดกันว่าอย่ามายุ่งกับชีวิต ล่าสุดมีการบอกว่า ห้ามตีลูกหรืออะไรแบบนี้ คำถามคือ ถ้าคุณ Privatization ทุกอย่าง คุณจะอยู่ในโลกนี้อย่างไร
แปลว่าในบทบาทความเป็นพ่อของอาจารย์ ก็ไม่ได้วางแผนอะไรมากมายถูกไหม
ผมไม่วางแผนด้วยซ้ำ ผมบอกแล้วว่าอนาคตเป็นของลูก ผมไม่รู้จะไปวางแผนอย่างไร อย่างดีที่สุดผมก็เอาไปเข้าโรงเรียน คือผมก็ไม่ได้รู้สึกว่าเขาต้องมีเป้าหมายในชีวิต ทำไมเราต้องมีเป้าหมายในชีวิต เช่นโฆษณาเมื่อก่อนที่บอกว่า ฉันอยากเป็นหมอ อยากเป็นอะไรต่างๆ นานา
คือพวกนี้มันตอบสนองต่อโครงสร้างสมัยใหม่ที่คุณจะได้ตอบสนองต่อตลาด ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าผิดถูกนะ แต่ผมถามคำถามหนึ่งว่า คุณให้คนอายุ 14-15 ปีมีเป้าหมายในชีวิตว่า ฉันอยากจะทำนี่ ฉันอยากจะทำนั่น คือไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ถ้าคุณมาถามผมตอนที่ผมอายุ 68 ปีว่า อาจารย์คุณมีเป้าหมายในชีวิตคืออะไร เป้าหมายในชีวิตผมตอนนี้ชัดเจนมากคือเข้าโรงผี
คือผมก็ถามลูกนะว่าอยากทำอะไร แต่ผมก็จะเฉยๆ ว่า ถ้ามึงไม่รู้ก็ไม่รู้ แต่ผมคิดว่าในโรงเรียนเขาก็จะต้องบังคับใช่ไหม ซึ่งคนรุ่นสมัยผมไม่มีครูแนะแนวนะ เพราะฉะนั้นมันจะเห็นว่าโครงสร้างของพวกคุณถูกล็อกให้เดินตามกลไกต่างๆ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องตลกที่พวกคุณพูดถึงเสรีภาพ อย่างตอนผมเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย ตอนอยู่มัธยมปลายผมก็ไม่รู้จะเลือกคณะอะไรดี ก็เลือกไปอย่างนั้นแหละ ติดก็ติด ไม่ติดก็ไม่ติด แต่รุ่นพวกคุณถูกกำหนดมาเลยว่า จะต้องมีเป้าหมาย แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริงๆ ที่ให้เด็กอายุ 13, 14, 15 ปี คิดเป้าหมายของชีวิต ผมคิดว่าเป้าหมายชีวิตลูกผมตอนนี้คือเล่นเกม
สมมุติว่ามีคนอ่านบทความนี้แล้วเห็นด้วยกับการไม่ต้องวางแผนชีวิต ไม่ต้องเตรียมตัวเกษียณ อาจารย์จะแนะนำไหม
ผมบอกแล้วว่า The Future is in Your Hands. มันอยู่ในอุดมการณ์แบบนี้ คุณจะมาถามผมกันทำไม มันเป็นสิ่งที่คุณต้องเลือก คุณเกิดในสังคมที่ต้องเลือก ถ้าไม่มีตัวเลือกมันคือเผด็จการ เพราะฉะนั้นบทความนี้ การสัมภาษณ์ครั้งนี้ ไม่ควรจะเอฟเฟกต์กับใครทั้งนั้น ทุกคนมีทางเลือกของตัวเอง นี่เป็นเพียงความคิดของอีแก่ตัวหนึ่งเท่านั้น ถ้าคุณมีเป้าหมายในชีวิตแล้ว บทสัมภาษณ์ผมต้องไม่กระทบอะไรคุณอยู่แล้ว
ถ้าอย่างนั้นแล้วคำว่า ‘อนาคต’ ในนิยามของอาจารย์คืออะไร
มันคือส่วนขยายของปัจจุบัน มันไม่ใช่อนาคต เพราะอนาคตคือสิ่งที่คุณไม่มีทางรู้ว่าคืออะไร อนาคตไม่ได้อยู่ข้างหน้า อนาคตต้องอยู่ข้างหลัง คอมนุษย์หมุนได้แค่ 180 องศา เราไม่ใช่ผีแม่นากพระโขนงที่จะหันได้ 360 องศา เพราะฉะนั้นการวางแผนต่างๆ มันคือการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตในปัจจุบัน คุณไม่มีทางรู้หรอกว่า เครื่องบินจะตกหรือเปล่า แต่พอคุณทำบางอย่าง คุณมีระเบียบวินัย ซึ่งทำแล้วทำให้คุณรู้สึกชีวิตปัจจุบันมั่นคงขึ้น คุณก็จะทำ เพราะคุณต้องจัดการตัวเอง ไม่มีใครจัดการให้คุณได้
คำถามสุดท้าย ส่วนตัวแล้วอาจารย์มีความเชื่ออะไรบ้างไหมในชีวิต
เคยมีคนมาสัมภาษณ์ผมเหมือนกัน ถามว่าผมมีความเชื่อไหม ผมตอบว่าผมเชื่อ ผมเชื่อว่ามนุษย์ต้องมีความเชื่อ