เหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือหลายจังหวัดตลอดเดือนที่ผ่านมา สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ ปริมาณฝน ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลัก ในคูคลองธรรมชาติ รวมถึงปัจจัย ‘น้ำป่า’ ปัญหาดินถล่ม ที่ทำให้พื้นที่บางส่วน เช่น อำเภอแม่สายและอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย รวมถึงอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เจอสถานการณ์อุทกภัยที่หนักหนาที่สุดในรอบ 30 ปี
คำถามสำคัญท่ามกลางวิกฤตนี้คือ จะทำความเข้าใจต้นเหตุของอุทกภัยอย่างไร และป้องกันอย่างไรไม่ให้เรื่องเหล่านี้เกิดซ้ำในอนาคต ไม่ว่าจะผ่านการตามหา ‘ต้นเหตุ’ จากป่าต้นน้ำ การตามหาเส้นทางการไหลของน้ำ และการประเมินความเสี่ยงผ่านปริมาณน้ำที่ไหลผ่านจุดสำคัญต่างๆ ซึ่งโจทย์สำคัญย่อมหนี้ไม่พ้นการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
รวมถึงระบบการ ‘เตือนภัย’ ที่เสียงสะท้อนจากในพื้นที่ระบุว่าสามารถทำได้ดีกว่านี้ และเรื่องที่ใหญ่กว่าอย่างระบบจัดการน้ำในแม่น้ำนานาชาติ ที่ต้องผ่านการพูดคุย เจรจา และหาข้อมูลร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในปีนี้ต่างก็เจอวิกฤตอุทกภัยเช่นกัน
ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลภาพใหญ่ของการจัดการน้ำในประเทศ กรมชลประทานมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง กรมชลประทานมี ‘อาคารชลประทาน’ ในมือ ซึ่งหมายรวมทั้งฝาย อ่างเก็บน้ำ และเขื่อน รวมกันหลายแห่งทั่วประเทศ โดยมีเป้าประสงค์คือ ทำให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด และในเวลาเดียวกันยังต้อง ‘ดำเนินการป้องกันและบรรเทาภัยทางน้ำ’ ตามอำนาจและหน้าที่ขององค์กร หมวกใบนี้จึงเป็นหมวกสำคัญยิ่งในวันที่ ‘โลกรวน’ อากาศแปรปรวน วิกฤตอุทกภัยทั้งถี่และรุนแรงขึ้น
The Momentum ชวน นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน ถอดบทเรียนถึงวิกฤตอุทกภัยหลายจังหวัด และมองไปยังอนาคตว่าในความเห็นของผู้ที่สวมหมวกในการดูแล-บริหารจัดการน้ำทั้งระบบ จะมีหนทางอย่างไรเพื่อบรรเทาความรุนแรงของอุทกภัย แจ้งเตือนประชาชนได้ทันท่วงที และทำให้ประชาชน เรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำและเข้าใจน้ำให้ได้มากที่สุด
ในความเห็นของคุณ เพราะเหตุใดพื้นที่ภาคเหนือจึงเกิดอุทกภัยอยู่บ่อยครั้ง
เพราะลักษณะภูมิประเทศของภาคเหนือส่วนมากเป็นที่ราบเชิงเขา โดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และเชียงรายจะมีเทือกเขาอยู่มาก น้ำที่ท่วมจึงเป็นแบบฉับพลัน เช่น น้ำป่าไหลหลากซึ่งก็เกิดขึ้นเป็นประจำในพื้นที่ดังกล่าว
ความรุนแรงก็จะขึ้นอยู่กับปริมาณฝนที่ตกในจังหวัดนั้น แต่น้ำป่าไหลหลากบริเวณที่ราบเชิงเขามักเกิดขึ้นด้วยระยะเวลาไม่นาน เพราะเป็นพื้นที่ยังมีความชัน บางครั้งไม่ถึงวันน้ำก็แห้งแล้ว
อีกพื้นที่ที่มีน้ำท่วมเป็นประจำคือ ลุ่มน้ำยมที่ไหลจากจังหวัดพะเยาลงมาที่จังหวัดแพร่และจังหวัดสุโขทัย เป็นน้ำท่วมที่เกิดจากฝนตกหนักในลุ่มน้ำขนาดใหญ่ ใช้เวลาระบายน้ำประมาณ 2 วันก็เข้าสู่สภาวะปกติ อย่างไรก็ตามใน 2 วัน ปริมาณของน้ำก็ถือว่าสูงมากๆ และเกิดขึ้นในเกือบทุกปี หากปีไหนไม่มีน้ำมากแบบนี้ก็นับว่าแล้ง
น้ำท่วมที่จังหวัดเชียงรายและอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ครั้งล่าสุดเกิดจากอะไร นับว่าเป็นอุทกภัยที่รุนแรงมากเลยหรือไม่
เกิดจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นยางิที่ลดระดับเป็นพายุดีเปรสชันกำลังแรง ทำให้มีฝนตกในแม่น้ำนานาชาติที่ไหลผ่านไทยและพม่า อุทกภัยที่อำเภอแม่สายตรงจุดข้ามพรมแดนไทย-พม่าด่านท่าขี้เหล็กเมื่อต้นเดือนกันยายน ก็มีที่มาจากปริมาณฝนที่ตกหนักในแม่น้ำสายในประเทศพม่า เช่นเดียวกันกับแม่น้ำกกที่ท่วมอำเภอเมืองเชียงราย ก็ไหลมาจากพม่าเข้ามาที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ แล้วจึงไหลผ่านตัวเมืองเชียงราย
หากถามว่ารุนแรงแค่ไหน ถือว่าเป็นอุทกภัยที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา บางหน่วยงานบอกว่าในรอบ 30-40 ปี
ผมเองก็มองว่าน้ำท่วมเหนือครั้งนี้หนักหนาพอสมควร และปกติตัวเมืองเชียงรายก็ไม่ค่อยจะมีน้ำท่วมแบบนี้ พอมาปีนี้ดันท่วม หรือจังหวัดแพร่ที่เป็นทางผ่านของมวลน้ำมายังสุโขทัยเฉยๆ และไม่ค่อยมีน้ำท่วม พอมาปีนี้กลับมีน้ำท่วมเสียอย่างนั้น
น้ำท่วมในพื้นที่ที่ไม่เคยท่วม กำลังเป็นสัญญาณบ่งบอกอะไรหรือเปล่า
ผมมองว่าปีนี้ฝนที่ตกมันแปลกตรงที่มันตกบริเวณขอบๆ ติดกับชายแดนไทย เป็นส่วนใหญ่ หรือหากตกเลยมายังจังหวัดฝั่งไทยก็จะตกบริเวณขอบชายแดนที่ติดกับประเทศอื่นไม่ได้ตกทั่วจังหวัด
อย่างไรก็ตาม ผมถือว่าครั้งนี้เรายังโชคดี คุณลองคิดดูว่า หากพายุยางิขยับลงมาต่ำอีกหน่อยหอบฝนมาตกที่จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน หรือจังหวัดแพร่อีกรอบ ที่เขาเรียกว่า ‘ซ้ำ’ สุโขทัยอาจไม่รอดโดนน้ำท่วม ก็ดีที่ว่าฝนไม่ได้ตกซ้ำ ขยับย้ายไปตกข้างบนหรือเปลี่ยนที่ตก น้ำที่ท่วมจึงเป็นลักษณะของน้ำหลากจากประเทศเพื่อนบ้านไหลมายังฝั่งไทย
ถึงอย่างนั้น ฝนที่ตกในประเทศข้างเคียง ก็จะส่งผลกระทบกับประเทศไทยอยู่ดีใช่หรือไม่
ในส่วนของมวลน้ำในแม่น้ำนานาชาติ เช่น แม่น้ำที่ไหลจากประเทศเพื่อนบ้าน เรายังไม่มีอุปกรณ์หรือเครื่องมือใดที่จะควบคุม บวกกับฝนที่ตกหนักในพื้นที่ก็ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่ง ที่ได้รับความเสียหายจำนวนมากก็จังหวัดเชียงราย ซึ่งมวลน้ำที่ท่วมเชียงรายก็จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงอีกทอดหนึ่ง ประเด็นคือประเทศจีนก็มีฝนตกหนัก เขื่อนจิ่งหงจึงต้องระบายน้ำเหนือเขื่อนลงสู่แม่น้ำโขง เมื่อแม่น้ำโขงมีปริมาณน้ำสูง น้ำจากลำน้ำสาขาที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงจึงระบายได้ช้า เป็นอีกหนึ่งปัจจัยอุทกภัยของเชียงราย
เมื่อน้ำท่วมไทยมีปัจจัยจากฝนที่ตกในลุ่มน้ำนานาชาติ กรมชลประทานมีวิธีจัดการอย่างไร
ต้องพูดว่า ในพื้นที่ราบเชิงเขายังไม่มีอาคารชลประทาน ในการควบคุมการไหลของน้ำให้ไปซ้าย-ขวา เมื่อเครื่องมือไม่มีจึงเป็นเรื่องของการติดตามเฝ้าระวัง เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์และการแจ้งเตือนภัย รวมถึงการเข้าไปฟื้นฟูพื้นที่ได้รับความเสียหาย กรมชลประทานสามารถติดตามข้อมูลหน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็นกรมอุตุนิยมวิทยาหรือข้อมูลจากหน่วยงานด้านการพยากรณ์ต่างๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของเรานำไปประชาสัมพันธ์ต่อไป
เมื่อมีการประกาศพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติไปแล้ว บางอย่างยังไม่สามารถบอกได้ว่าหนักขนาดไหน โดยเฉพาะภัยพิบัติที่รับมาจากประเทศเพื่อนบ้าน แม่น้ำนานาชาติอย่างแม่น้ำโขง หากเขื่อนไซยะบุรีในลาวเขาปล่อยน้ำมามากก็จะท่วมหนองคาย ซึ่งไม่สามารถควบคุมได้ จึงเป็นลักษณะของการลดผลกระทบและทำให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
แปลว่ากรมชลประทานมีหลักในการประเมินผลกระทบใช่หรือไม่
ในเรื่องของผลกระทบ สิ่งที่ต้องมองคือ พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายมาก-น้อยขนาดไหน มีคันกั้นน้ำชำรุดใช้การไม่ได้จากน้ำหลากหรือไม่ ส่วนนี้กรมชลประทานจะต้องเข้าไปดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการผังเมือง หน่วยงานภายในจังหวัดเพื่อร่วมมือกันในการบูรณะฟื้นฟู เตรียมรองรับมวลน้ำรอบใหม่ ซึ่งการป้องกันภัยพิบัติในอนาคตกรมชลประทาน ก็ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย
ในส่วนของการจัดการผังเมือง ต้องมีการฟื้นฟูคลองต่างๆ ที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอย เพื่อช่วยระบายน้ำ มีการขจัดกีดขวางทางน้ำ มีการขุดลอกคลอง หรือขยายคลอง ซึ่งผังเมืองต้องเป็นคนจัดการให้ทั้งหมดโดยเฉพาะเส้นทางน้ำหลาก ในเขตเมืองที่มีน้ำท่วม ต้องบอกว่าบางครั้งผังเมืองไม่ได้รองรับฝนที่ตกเกินกว่าที่คำนวณไว้ จึงต้องกลับไปตรวจสอบและแก้ไขเพื่อให้รองรับได้ สำหรับมวลน้ำที่มาจากพื้นที่ข้างๆ เมืองก็ควรจะมีทางไป เช่น ช่องทางรองรับน้ำหลากหรือฟลัดเวย์
ในเรื่องของการแจ้งเตือนล่วงหน้า กรมชลประทานมีมุมมองอย่างไร
จริงๆ แล้วผมว่า เราควรจะมีการระบุพื้นที่เสี่ยงอย่างชัดเจน สมมติพื้นที่เสี่ยงคืออำเภอ A พื้นที่ B ดังนั้นคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ B ก็ไม่ควรจะอยู่ในพื้นที่ เพราะมีความเสี่ยงมากจะต้องอพยพ
ระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติคือความจำเป็นที่จะต้องมี แต่การจะแจ้งเตือนอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องมีความเชื่อมั่นในระบบข้อมูลที่นำมาแจ้งเตือนก่อน หากประกาศบอกว่า พื้นที่นี้น้ำจะท่วม แต่เอาเข้าจริงๆ ไม่ท่วม ประเด็นนี้ก็มีอิทธิพลต่อความเชื่อมั่นเช่นกัน อย่างไรก็ตามระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องทำไม่ใช่กรมชลประทาน เนื่องจากเราไม่มีเครื่องมือ
กรณีแม่น้ำนานาชาติ กรมชลประทาน จะนำข้อมูลเกี่ยวกับแม่น้ำในต่างประเทศมาพยากรณ์แจ้งเตือนอย่างไร
จริงๆ ข้อมูลแม่น้ำจากต่างประเทศก็ควรมีความเชื่อมโยงกับเรา เราควรมีการแชร์ข้อมูลกันก่อน ต้องรู้ว่าประเทศเพื่อนบ้านมีฝนตกหนักขนาดไหน การบริหารจัดการน้ำผ่านเขื่อนในแม่น้ำที่ไหลผ่านประเทศไทยด้วยเป็นอย่างไร จัดการกับแม่น้ำของเขา (ซึ่งไหลผ่านประเทศเรา) อย่างไร การเป็นแม่น้ำนานาชาติข้อมูลที่มีต้องนำมาแชร์กัน จึงจะรู้วิธีการจัดการ และเตรียมความพร้อมในการรับมือ
เป้าหมายสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องแม่น้ำนานาชาติดำเนินการถึงไหนแล้ว
กรมชลประทานเองก็พยายามผลักดันในตอนนี้ ปัจจุบันเรามีคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงหรือ MRC ซึ่งผู้แทนหลักของประเทศไทยคือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ การแชร์ข้อมูลน้ำก็ถือเป็นนโยบายระดับประเทศที่ต้องตกลงร่วมกันว่า แต่ละประเทศที่ใช้แม่น้ำสายเดียวกันจะแชร์ข้อมูลให้กับในระดับไหน เพราะหากเป็นเรื่องระดับประเทศมันมีเรื่องของความมั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้อง
ถ้าแชร์ข้อมูลน้ำนานาชาติได้ มันจะเป็นการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติทั้งประเทศเราและประเทศเขา ยกตัวอย่างเมื่อมีมวลน้ำจากประเทศจีนไหลเข้ามายังอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายก่อนจะไหลไปที่ประเทศลาว ไทยก็ต้องแจ้งบอกลาวว่า ตอนนี้น้ำที่เชียงแสนมีปริมาณมากและกำลังไหลไปทางลาว เขาก็ต้องแจ้งเตือนเราต่อว่า น้ำที่ไหลเข้าเขื่อนไซยะบุรีไม่สามารถเก็บไว้ได้แล้วและต้องระบายน้ำไหลมาทางจังหวัดหนองคาย ทางจังหวัดที่รับน้ำต่อก็จะได้เตรียมรับมือ
นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับนานาชาติที่หวังให้เกิดขึ้นในอนาคต แล้วกรมชลประทานมีการทำงาน เพื่อลดความเสียหายจากภัยพิบัติกับหน่วยงานอื่นๆ อย่างไร
เรามีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ อยู่แล้ว ประเทศไทยมีคลังข้อมูลน้ำแห่งชาติในความรับผิดชอบของสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทานเป็นหน่วยงานปฏิบัติการหน่วยงานหนึ่งที่จะต้องเข้าไปทำงานแบบบูรณาการกับข้อมูลเหล่านั้น
แต่ในส่วนของการบริหารจัดการในสภาวะที่เกิดภัยพิบัติ อาจจะต้องมีหน่วยงานที่เป็นผู้สั่งการแบบเดี่ยว (Single Command) เข้ามาจัดการกับสถานการณ์ โดยมีกรมชลประทานเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน อย่างครั้งล่าสุดนี้จะมีการประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี เพื่อตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์ภัยพิบัติด้วย
ในมุมมองของหน่วยงานจัดการน้ำของประเทศ มีอะไรที่ประเทศไทยยังขาดในการบริการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
ผมมองว่าเบื้องต้นเป็นเรื่องของข้อมูล เราต้องเปลี่ยนจากข้อมูลเป็นข่าวสารเพื่อบอกให้คนรับรู้และรับทราบว่า ‘พื้นที่ของท่านเสี่ยงน้ำท่วม’ และควรเป็นนโยบายสำคัญที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาทำ ไม่ใช่เฉพาะของกรมชลประทานอย่างเดียว
สำหรับการเตือนภัยพิบัติล่วงหน้าหรือ Early Warning การเตือนภัยเหตุน้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลากยังมองว่าเข้าถึงประชาชนได้ช้า แต่เมื่อมวลน้ำไหลลงลำน้ำแล้วในจุดที่มีอาคารชลประทานบังคับน้ำ ก็ยังสามารถติดตามคาดการณ์น้ำได้
ระบบ Early Warning จะครอบคลุมทั้งในส่วนการตรวจวัดและเป็นเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ผมมองว่าคนในพื้นที่เขารับได้กับน้ำท่วมนะ แต่จำเป็นต้องให้เขารู้ว่ากำลังจะมีน้ำท่วมในพื้นที่ของเขา
เมื่อพูดถึงน้ำท่วมหลายคนคิดถึง มหาอุทกภัยเมื่อปี 2554 เหตุการณ์ครั้งนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นอีกหรือไม่
หลายคนอาจกังวลว่าหากสถานการณ์น้ำเป็นเหมือนปี 2554 จะเป็นอย่างไร ส่วนตัวผมมองว่า แม้ปริมาณฝนจะเทียบเท่าปี 2554 แต่เมื่อพูดถึงปริมาณน้ำที่จะท่วมอาจไม่เท่ากับปีนั้นแล้ว เพราะมีการบริหารจัดการน้ำที่ดีมากขึ้น รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่มีการพัฒนามากขึ้น
อุทกภัยเป็นปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในประเทศไทย ในกรณีที่ฝนตกเกินกว่าที่โครงสร้างพื้นฐานจะรับไหวก็อาจเกิดเหตุสุดวิสัยที่จะรองรับ ฉะนั้นประเทศเราจึงมีพื้นที่ประสบภัยหรือมีพื้นที่เสี่ยงอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราต้องคิดคือ จะทำอย่างไรให้พื้นที่เสี่ยงตรงนั้นมีปัญหาน้อยที่สุด
แล้วเรายังควรนำเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 มาถอดบทเรียนอยู่หรือไม่
ต้องนำมาถอดบทเรียน เราต้องเอากรณีภัยพิบัติที่วิกฤตมาดูว่าเรายังขาดอะไร ต้องจัดการอย่างไร รวมถึงระยะเวลาในการจัดการด้วย เช่น เราต้องพร่องน้ำก่อนไหม พร่องน้ำในเวลาสมควรไหม อ่างเก็บน้ำต้องพร่องน้ำรอไหม น้ำในลำน้ำต้องพร่องน้ำรอไหม น้ำในระบบชลประทานหรือน้ำในทุ่งต่างๆ ต้องพร่องน้ำรอไหม หรือการเชื่อมโยงระหว่างกันในการรับน้ำ จากจุด A ไปจุด B จากจุด B ไปจุด C จะรับต่อเนื่องกันอย่างไร ส่วนนี้มีกระบวนการกลั่นกรองจากประสบการณ์ที่ผ่านมาคือ น้ำจะต้องมีที่อยู่และมีที่ไป เราจะให้น้ำอยู่ตรงไหนหรือไปตรงไหนเราต้องจัดการ ถ้าน้ำไม่มีที่อยู่ไม่มีที่ไปก็จะเกิดการอั้น ก็เหมือนคนโมโหไปไหนไม่ได้ ไม่มีที่อยู่ก็ระเบิดเสียเลย แต่เมื่อทำให้น้ำทยอยมีที่อยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ผลกระทบก็จะเกิดขึ้นน้อย
กรมชลประทานจะสร้างความเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า คนไทยจะปลอดภัยจากปัญหาอุทกภัย
กรมชลประทานเป็นหน่วยงานภาคปฏิบัติ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ในการจัดการน้ำทั่วประเทศ เรามีเครื่องจักรและเครื่องมือ สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีอาคารชลประทาน หรือไม่มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะจัดการบริหารน้ำหลาก เรายังคงนำบุคลากรและนำเครื่องจักรเครื่องมือเข้าไปช่วยบรรเทาหรือฟื้นฟู นอกจากนี้เรายังคงศึกษาจากภัยพิบัติที่เกิดเพื่อการแก้ไขปัญหาระยะยาว
ในระบบชลประทานหรือในพื้นที่ที่มีเขื่อนชลประทาน มีการระบายน้ำผ่านการคำนึงให้มีผลกระทบต่อท้ายน้ำมากที่สุด โดยกักเก็บน้ำให้มากที่สุดในช่วงฤดูฝน ในพื้นที่ที่มีอาคารชลประทาน เราต้องจัดการน้ำที่มีอยู่ในเขื่อน น้ำที่มีที่ไป เราก็ต้องมีเขื่อนแบบเขื่อนทดน้ำ ประตูระบายน้ำที่ก็ต้องพยายามกำหนดตัวเลขว่า จะทดน้ำไปทางซ้ายหรือไปทางขวาเท่าไร เราจะใช้อาคารชลประทานที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพ โดยใช้จากผลคาดการณ์ที่ได้คาดการณ์ล่วงหน้าประกอบไปด้วยกัน
เรายืนยันในเรื่องของการจัดการภายใต้สภาวะของระบบที่มีอยู่ กับการบริหารตามแนวทางปัจจุบัน ซึ่งน่าจะสามารถลดจาก ‘น้อย’ เป็น ‘ไม่มี’ หรือ ‘มาก’ เป็น ‘น้อย’ แต่อุทกภัยบางจุดมันก็เกินวิสัยที่จะต้องรับ ซึ่งเราจะพยายามแจ้งประชาชนในพื้นที่ให้รับทราบล่วงหน้า
Tags: กรมชลประทาน, ชลประทาน, มหาอุทกภัย, แม่น้ำโขง, การเตือนภัยพิบัติ, น้ำท่วม, น้ำท่วมเชียงราย, Branded Content, ฝนตก, อุทกภัย, พายุยางิ, การจัดการน้ำ, น้ำป่าไหลหลาก, เชียงราย, ดินสไลด์, Close-Up