ช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ถูกกลับมาพูดถึงมากขึ้น ข้อมูลเหตุการณ์นี้ใน Wikipedia ทั้งยาวและลึก บทสนทนา หลักฐาน พยาน ที่พูดถึง ‘เบื้องหน้า’ และ ‘เบื้องหลัง’ ค่อยๆ พรั่งพรูออกมา เพื่อหาความจริงว่าเช้ามืดของวันนั้น เกิดอะไรขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากที่เรื่องนี้ต้องพูดในทางลับ ต้องพูดในเชิงกระซิบ และอยู่ในความเงียบต่อเนื่องมาหลายสิบปี

เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการหาคำตอบเรื่องนี้ เรานัดคุยกับ สุธรรม แสงประทุม นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปีที่ 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในเวลานั้น ตัวละครสำคัญที่มีส่วนสำคัญในการจัดการชุมนุม ซึ่งปูทางไปสู่การล้อมปราบนักศึกษา หนึ่งใน ‘คณะเจรจา’ เพื่อขอให้หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี หยุดการล้อมปราบ และหนึ่งใน 18 นักโทษ ‘6 ตุลาฯ’ ซึ่งถูกจำคุกนานกว่า 2 ปี ภายใต้ข้อหาหนักอย่าง ‘ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่น ร่วมกันสะสมกำลังคนและอาวุธเพื่อเป็นกบฏ ดูหมิ่นองค์รัชทายาท’ ว่าในสายตาเขา เหตุการณ์ก่อนหน้าและเหตุการณ์หลังจากนั้นคืออะไร แล้วปัจจัยอะไรบ้างที่ ‘ประกอบสร้าง’ จนนำไปสู่การสังหารโหดเช้าวันนั้น

และในวันนี้ วันที่ 45 ปีที่พ้นไป ความทรงจำของเขากับ 6 ตุลาฯ ที่เหลืออยู่คืออะไร เขายังหวังอยู่ไหมว่า กระบวนการยุติธรรมจะไปถึงคนที่สั่งฆ่าเพื่อนเขา คนที่สั่งจับเขา จะได้รับโทษทัณฑ์นั้น อย่างที่ควรจะเป็น

ทั้งหมดนี้ คือคำตอบของสุธรรม…

“เช้าวันนั้น วันที่เราไปหาเสนีย์ เสนีย์คิดจะให้เขาจับเราอยู่แล้ว เพื่อให้เห็นว่าเอากฎหมายมาใช้ เพื่อให้ฝ่ายขวาเห็นว่าใช้กฎหมายแล้ว แต่มันไม่ใช่ แผนคือต้องการยึดอำนาจของเราเป็นเพียงเครื่องมือแค่นั้น”

ทราบว่าคุณเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทางการเมืองมาตั้งแต่ 14 ตุลาฯ แล้ว เล่าสักนิดว่าเกี่ยวข้องอย่างไร

พี่เรียนปี 1 นิติ จุฬาฯ ก็มาเช่าบ้านอยู่ท่าวาสุกรี เช่าบ้านรวมหลายมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ก็มี เกษตรก็มี คนหนึ่งที่พักด้วยคือ สมาน เลิศวงศ์รัฐ เป็นเพื่อนเบญจมราชานุสรณ์ เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนเอเอฟเอส รุ่นน้องเสกสรรค์ (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล) ก็มาอยู่กับเรา เราก็ไปมาบ้านพี่เสกสรรค์ ทำหนังสือด้วยกัน แล้วเสกสรรค์ก็เป็นคนจุดชนวน 14 ตุลาคม

ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรทางการ เคลื่อนช้า ต้องประชุมเยอะไปหมด แต่นักศึกษาอิสระนี่เคลื่อนง่าย เสกสรรค์ก็ชุมนุมที่ลานโพธิ์ ธรรมศาสตร์ ก็ไปร่วมเกือบทุกวัน เรียนเสร็จก็กลับมาบ้าน คนจาก 5 คน ก็เป็น 20-30 คน พอใหญ่ขึ้น ศูนย์นิสิตฯ ก็เป็นเจ้าภาพร่วม ก็เข้าไปร่วมชุมนุม ฟังเสกสรรค์ปราศรัย เขาปราศรัยดีมาก เขากึ่งนักเขียน นักกลอน การใช้คำของเขาจี้จุด เช่น “เรายื่นดอกไม้ให้ไป เขาให้ลูกปืนกลับมา” 

พี่ออกจากธรรมศาสตร์วันที่ 13 ตุลาคม แล้วเคลื่อนมาลานพระบรมรูปทรงม้า ในที่สุดก็ปล่อย 13 คน รัฐบาลจอมพลถนอมสัญญาว่าจะได้รัฐธรรมนูญภายใน 1 ปี พี่ก็คิดว่าจบแล้ว

แต่ไม่ เช้าวันนั้น ระหว่างที่เรากลับบ้าน แล้วกำลังนั่งซักผ้า รถถังจากเกียกกายผ่านท่าวาสุกรี ก็รู้ว่าจลาจลแล้ว ก็เลยเอากางเกงขามอสมา กางเกงในไม่ได้ใส่ เพราะซักอยู่ แล้วก็หยิบเอาเสื้อเพื่อนมาใส่ เดินเท้าจากท่าวาสุกรีไปเทเวศร์ ต้องการไปที่ธรรมศาสตร์ แต่ติดที่ชนะสงคราม คนเริ่มเผากรมประชาสัมพันธ์ เผากองสลากแล้ว พอไปถึง ปรากฏว่ามวลชนมันร้อนแรง เหมือนม็อบทะลุแก๊ส มันสู้ พอแกล้งประชาชน ประชาชนก็เผาป้อมยาม เขาก็ส่งรถดับเพลิงมาดับไฟ เรายึดรถดับเพลิงได้ ใช้เป็นรถบัญชาการ 

เราก็เป็นโฆษกโดยอัตโนมัติ ทั้งที่อยู่ปีหนึ่ง ยังพูดทองแดงอยู่ ควบกล้ำยังไม่ได้ แต่เราเป็นนักกลอน ทหารก็ยิงเข้ามา ยึดรถดับเพลิงได้ พอยึดได้ เราก็บอกพี่น้องอย่าไปไหน นั่งลงที่แยกบางลำพูเลย พอเราปราศรัยปุ๊ป ทหารที่อยู่ตรงนั้นก็จับไปเลย ขังที่ชนะสงคราม สัก 4-5 โมง รวมๆ แล้ว จับมา 11 คน มาต่างกรรมต่างวาระ บางคนปีนหน้าต่างออกมาจากกรมประชาสัมพันธ์ ความจริงเขาเป็นมือกลอง แต่ทหารเห็นว่าหนีออกมาก็จับด้วย

พอสัก 5 โมง เขาส่ง พันโท มนูญ รูปขจร ทหารของ พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ที่คุม กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน 4) คุมรถถังมารับจากชนะสงคราม มาที่กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เพราะมีการกล่าวหากันว่าพลเอกกฤษณ์หักหลังจอมพลถนอม โดยร่วมกับ พลโท วิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ ซึ่งคุมเสือพรานที่ลาว ตอนนั้นพี่ผมยาว ฮิปปี้ เขาก็นึกว่าพี่เป็นเสือพราน 

สุดท้าย มีการสอบสวนหลายฝ่ายในกองพลที่ 1 สักทุ่มหนึ่ง เสียงผู้สอบสวนเริ่มเบาลง พันตำรวจเอก เสมอ ดามาพงศ์ รองผู้บัญชาการสอบสวนเหนือ มาสะกิดพี่ บอกว่า “น้องชาย น้องกลับบ้านได้แล้ว ถนอมลาออกแล้ว แต่น้องกลับแล้วอย่าไปยุ่งกับเขาอีกนะพี่ว่า” ก็เลยตอบกลับท่านเสมอว่า จะกลับอย่างไร ค่าแท็กซี่ก็ไม่มี ท่านก็เลยให้ค่าแท็กซี่มา

 

ในความรับรู้ของคุณ สรุปแล้วเกิดอะไรขึ้น ที่หน้าสวนจิตรลดา จนเกิดเหตุปะทะกับตำรวจ ช่วงเช้าวันนั้น

ที่หน้าสวนจิตรลดา พลตำรวจโท มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น (ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจในเวลานั้น) เขาดูอยู่ แต่มันมีหลายปัจจัยมาก มวลชนมันเปลี้ย คนคุมม็อบก็ไม่ใช่มืออาชีพ เสกสรรค์กับธีรยุทธ (ธีรยุทธ บุญมี เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ในเวลานั้น) ก็ทะเลาะกันหน้าสวนจิตรฯ 

เพราะพอธีรยุทธได้รับการปล่อยตัว ก็อยากให้คนกลับบ้าน แต่เสกสรรค์ก็บอกว่า จะให้ปล่อยทันทีได้อย่างไร คนมันรวมตัวกันมาขนาดนี้ มันหลอมกันหลายวัน ธีรยุทธก็ด่าเสกสรรค์ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ศูนย์นิสิตฯ ก็แตกกันตั้งแต่วันนั้น สมบัติ เลขาฯ ศูนย์ก็อยู่ฝ่ายธีรยุทธ 

ความขัดแย้งระหว่างนักศึกษาครั้งแรกน่าสนใจนะ พวกที่เหลืองส่วนใหญ่ก็ไปตรงนั้น ธีรยุทธก็ไปทางนั้น ก็ไปตั้งแต่วันนั้น แต่เราก็ประคบประหงมกัน เราไม่พูดรายละเอียด เสกสรรค์ถึงไปตั้งสหพันธ์นักศึกษาเสรี แล้วธรรมศาสตร์ ก็อิกนอร์ศูนย์นิสิตฯ เลย

อยากให้คุณช่วยเล่าบรรยากาศ หลังจาก 14 ตุลาคม 2516 ถึง 6 ตุลาคม 2519 เกิดอะไรขึ้นกับตัวคุณบ้าง

ระหว่างที่พี่ถูกจับอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ก็คิดว่าไม่น่าออกมาเลย ซักผ้าอยู่ดีๆ แท้ๆ แล้วตอนนั้น ไม่มีใครรู้ว่าไปไหน พี่นูญ (พลเอก มนูญกฤต รูปขจร ประธานวุฒิสภาในเวลาต่อมา) ก็เล่าย้อนหลัง บอกว่า ถ้าจอมพลถนอมไม่ออก น้องตาย เขาเอาไปฆ่าเลยแน่ๆ นั่นคือตำนานชายชุดดำ เพราะเขาจะโยนให้คนอื่นเสมอ โยนให้มือที่สามเสมอ จริงๆ ไม่ใช่ ไอ้ที่ถูกจับคือคนธรรมดาทั้งนั้น อยู่ที่นั่น หนีไม่ทันก็เผา หนีไม่ทันก็ไปจับมัน แต่พอออกมา พลิกสถานการณ์จากทรชนเป็นวีรชนทันที นักศึกษาชนะแล้ว 

ตอนนั้น ผู้พิพากษาที่สอนพี่ที่จุฬาฯ ขอดูตัวเลยว่าสุธรรมเป็นใคร ที่นี้ชาวบ้านก็อยากฟังว่าเกิดอะไรขึ้น เราก็เล่าถึงเหตุการณ์ที่เราเผชิญ หลังจาก 14 ตุลาฯ เราก็ได้เสรีภาพ เสรีภาพในการพูด ในการระบายทุกข์ เพราะเรื่องที่ฝังกลบไว้ต่างๆ มันถูกปลดออกมามากขึ้น กรรมกรค่าแรงวันละ 10 บาท ทำงานวันละ 24 ชั่วโมงก็ยังไม่พอ ชาวนา ข้าวเปลือกถูก ข้าวสารถูก เขาอยู่ไม่ได้ ก็ร้องทุกข์อีก

นิสิตนักศึกษาก็รู้เลยว่าปัญหามันเยอะกว่าที่เราคิด แต่นิสิตนักศึกษาไปยุ่งอะไรมากไม่ได้ เราก็ไปช่วยเขา ให้เขาจัดองค์กรเขาเอง เขาจึงมีองค์กรสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย แล้วก็เรียกร้องให้มี พ.ร.บ.ค่าเช่านา สมัยอาจารย์สัญญา (สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกรัฐมนตรี หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ) ก็เริ่มมีการประกันราคาข้าว แล้วตอนนั้น กรรมกรตั้งสหภาพแรงงาน เรียกร้องค่าแรงวันละ 25 บาท เป็นค่าแรงเบื้องต้น เดินกันมาจากโรงงานอ้อมน้อย มี เทิดภูมิ ใจดี, ประสิทธิ์ ไชโย เข้ามาร่วมกัน ขอทำงานวันละ 8 ชั่วโมง เอาแบบชิคาโก ขอให้มีสวัสดิการ ถ้าเจ็บป่วยจากการทำงานมีหลักประกัน จากที่เมื่อก่อนไม่มี

ฉะนั้น กิจกรรมมันก็เกิดขึ้น มีการร่างรัฐธรรมนูญปี 2517 มีการตั้งสภาสนามม้า (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งประชุมกันครั้งแรกที่สนามม้านางเลิ้ง) ขึ้นมา หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธาน ก็มีโครงการรับฟังความเห็นประชาชน โดยใช้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เป็นอนุกรรมาธิการรับฟังความเห็น

พี่ไปอยู่ที่ตรังหนึ่งเดือน ตระเวนไปตามที่ต่างๆ มีนิสิตนักศึกษากลับบ้านเกิด พี่เป็นคนนครศรีธรรมราช แต่พอมาเรียนหนังสือ เราเป็นสินค้าเมืองไปแล้ว เวลานั้น ที่ภาคใต้มีคนถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ถีบลงเขา เผาลงถังแดง ถูกฆ่าตายทั้งหมู่บ้านกันเยอะมาก ที่พัทลุงตายกันหลายพันคน ตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาฯ เราก็คิดว่าเป็นไปได้ยังไง ก็เอาญาติพี่น้องมากลางสนามหลวงเลย ที่จริงก่อนหกตุลา มันฆ่ากันมานานแล้ว แต่เป็นการฆ่าหมู่ในชนบท มันไม่ได้เกิดกลางเมือง 

เรื่องถังแดงก็เป็นตำนานใหญ่ กระดูกร้องได้ แรงพวกนี้มันเป็นแรงบันดาลใจว่าอยู่เฉยไม่ได้แล้ว บ้านเมืองมันเลวร้าย ก็มีกิจกรรมต่อเนื่อง มีกิจกรรมบรรยาย ไปพูด ไปรับปัญหาเขามา พอปี 2 ขึ้นปี 3 ก็ไปรับรู้ว่ามีเหตุการณ์ 5 ศพ ที่ปัตตานี

มีชาวบ้านที่ปัตตานี ชาวบ้านไปธุระกลับมา ผ่านด่านตรวจทหาร พูดจากันไม่รู้เรื่อง ทหารก็ใช้ดาบปลายปืนแทงตายหมดเลย แล้วโยนลงแม่น้ำ1 มีเด็ก 11 ปีคนหนึ่ง สือแม บราเซะ ไม่ตาย ก็คลานออกมาบอกความจริง โอ้โฮ คนมาชุมนุมเรียกร้อง พี่ไปชุมนุมนานเกือบ 2 เดือน เราถึงเห็นว่าประชาชนถูกแบ่งแยกโดยข้ออ้างทางศาสนา รัฐบาลด่ามลายู ด่าอีสานว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้คนแตกกันหมด

พอเดือนธันวาคม แม้ภาคใต้จะเป็นหน้าฝน แต่คนก็ยอมชุมนุม กางร่ม ฝนตก มันทรมานกันอย่างหนัก แต่ถ้าไม่เดือดร้อนจริงๆ ก็ไม่ทำ เป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกหลัง 14 ตุลาฯ ที่พี่เห็น จนสุดท้ายคึกฤทธิ์ประกาศยุบสภาพอดี

ตอนนั้นบรรยากาศช่วงก่อน 6 ตุลาฯ เริ่มรุนแรงหรือยัง 

เริ่มแล้ว นักศึกษาก็ถูกลอบฆ่า ชาวนาก็ถูกยิง แบ่งแยก มันใช้กลยุทธ์สงครามกองโจร ที่ใช้ในสงครามเวียดนาม จับฆ่า แบ่งแยก ปกครอง เอาแก๊งสเตอร์ ตั้งอันธพาลการเมือง แยกอาชีวะออกจากนักศึกษา เพราะอาชีวะกับนักศึกษารวมกันแล้วมีพลัง ก็เลยไปยุเขา ยุอาชีวะบอกว่า “เฮ้ย พวกนี้พอชนะแล้วได้ไปหมด พวกมึงได้อะไร”

แล้วทหารก็เอางบลับไปให้ จ้างเด็กพวกนี้ฝึกทำระเบิด ปาระเบิดขวด นักศึกษาชุมนุมที่ไหนก็ปาใส่ แล้วทางการก็จับไม่ได้เลย เหมือนกับทุกวันนี้ ปัญหาต่างๆ ก็ค่อยๆ กรุ่นขึ้น แต่ยิ่งกด แรงต้านมันก็เยอะ

ผลก็คือ นักศึกษาฝ่ายก้าวหน้ากลับได้รับการเลือกตั้งในปี 2519 ชนะทุกสโมสร เพราะศูนย์นิสิตฯ ประกอบด้วยสโมสรนักศึกษาที่เลือกตั้งทุกแห่งเป็นทางการ นายกสโมสร คือกรรมการกลาง กรรมการบริหาร ก็เลือกมาคนหนึ่ง อย่าง สุรชาติ บำรุงสุข ก็เป็นกรรมการคนหนึ่งจากจุฬา แล้วก็เลือกเลขาธิการศูนย์นิสิตฯ คล้ายเลขาธิการสหประชาชาติ บริหารเทอมละ 1 ปีเท่านั้น พี่ก็เป็นต่อจาก เกรียงกมล เลาหะไพโรจน์

ตอนพี่ขึ้นมา คนก็ยอมรับว่าพี่สู้จริง แล้วก็ยืนหยัดสื่อสารกับมวลชนได้ เขาก็คัดเลือกว่า ให้เลือกคนเก่งมาเป็นคนนำ ตอนนั้นคนไม่กล้าเยอะ แต่พี่ก็รู้ตั้งแต่รับตำแหน่งเลขาฯ แล้วว่า ถ้าไม่ติดคุกก็ตาย แต่เมื่อเราก็อยู่บนกระดานแล้ว ให้ทำอย่างไรได้ สุดท้ายเขาก็ปิดฉากด้วยการเอาจอมพลถนอมกลับมา ในวันที่ 19 กันยายน 2519

จริงๆ เขาลองเอา จอมพล ประภาส จารุเสถียร กลับมาแล้ว ซึ่งสุดท้าย จอมพลประภาสก็ต้องออกไป จอมพลถนอมก็กลับมาทีหนึ่งแล้วนะ ปี 2517 บอกว่ามาเยี่ยมพ่อ เพราะข้อตกลงตอนถนอมออกไป คือให้เหตุการณ์สงบแล้วกลับมา แต่ตอนนั้นเสกสรรค์ตั้งกลุ่มค้าน ก็ไล่ถนอมกลับ นั่นคือปี 2517 นะ ปีเดียวถนอมก็กลับแล้ว คนไม่จำแล้ว คนไทยไม่จำหรอก ลืมหมด ไม่รู้ห่าอะไรเลย คนไทยชอบพูด ขี้เกียจอ่าน อ่านก็อ่านไม่แตก มันไม่เหมือนฝรั่ง ฝรั่งมันบันทึกหมด มีลายแทง มันตายมา คนมาอ่านทีหลังก็รู้ แต่คนไทยตายไปกับตัว

ตอนที่พี่ติดคุกทางการเมือง 5 ปี (ถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี จากการเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย) พี่ก็ไล่ย้อนกลับไปอ่านที่ฝรั่งบันทึกเรื่องเมืองไทยไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยา พี่เห็นบันทึกตั้งแต่อยุธยาว่า คนไทยนี่เหมือนเดิมทุกอย่าง แล้วก็เขียนบันทึกกลับไปถึงกษัตริย์เขา เป็นพ่อค้า มาดู National Resource ว่าจะเก็บแร่อย่างไร รวบรวมความเห็นมาวิเคราะห์ แล้วพวกนี้ 20 ปี มันตีพิมพ์ได้ ก็จะเห็นเลยว่านิสัยคนไทยเหมือนเดิม ที่เห็นอีกอย่างคือ คนไทยแทบไม่เคยจนบันทึก ใช้แต่วิธีเล่า แล้วพอเล่า มันเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา อารมณ์ดีก็เล่าสนุก อารมณ์ไม่ดีก็พูดสั้นๆ

ในความทรงจำของคุณ มีสัญญาณหรือไม่ว่าเขาใช้กำลังกับพวกคุณแน่

มีอยู่ตลอดเวลาแล้ว มันยิง มันฆ่า ในการชุมนุมทุกครั้ง มันเป็นสัญญาณที่ยิ่งกว่าสัญญาณ ฆ่าผู้นำชาวนา ตายเป็นร้อย ผู้นำกรรมกรถูกยิง ผู้นำนักศึกษาถูกยิง ดร.บุญสนอง (บุญสนอง บุณโยทยาน ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และเลขาธิการพรรคฯ) ถูกยิง นั่นคือการฆาตกรรม คือการสังหารเท่านั้น แต่เป็นอีเวนต์ย่อยๆ ส่วน 6 ตุลาฯ คือการรวบยอดของการสังหาร พร้อมกับล้มระบอบประชาธิปไตยไปด้วย

รู้อย่างนั้นแล้ว ทำอะไรได้ไหม 

เราก็เปิดโปง ทำได้แค่บอกความจริง อีกอย่างก็คือ หรือเราจะกลัว หนีไปเลย ไม่ต้องทำ แต่มันหนีได้ที่ไหน ในเมื่อเราทำถูกต้อง ทำโดยสุจริต นี่คือสิ่งที่เราทำถูกต้อง คือเรามาชุมนุม ถ้าไม่มาฆ่าเรา ก็ไม่เกิดความรุนแรง แต่คนไม่เข้าใจ คนบอกว่านักศึกษารุนแรง ที่จริง เราไม่มีปืน ไม่มีอะไรเลย เรามีแต่มือเปล่าเท่านั้น แล้วเราจะหนีได้อย่างไร เราใช้สิทธิของเรา สิทธิที่จะร้องทุกข์ สิทธิที่จะบอกความจริง สิทธิที่จะโต้แย้ง 

ทุกครั้งที่มีเหตุก่อกวน มีปาระเบิดขวดเข้ามา วิธีการของนักศึกษาต้องทำอย่างไรบ้าง

หนึ่ง เราระมัดระวัง ก็บอกหน่วยที่ไปดูแลการชุมนุม ว่าถ้าใครมีลับๆ ล่อๆ แจ้งตำรวจ แต่ตำรวจก็ไม่เคยจับหรอก สอง ชุมนุม 6 ตุลาฯ ศูนย์นิสิตฯ ขออนุญาตต่อรัฐบาลเสนีย์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ท่านเซ็นมาเป็นลายลักษณ์อักษร สาม ให้ส่งตำรวจมาดูแลคุ้มครองคนชุมนุม สี่ ส่งไฟสว่างๆ มาในที่ชุมนุม ไม่ให้มีใครมาก่อกวน ใครมันจะใหญ่กว่ารัฐบาล แก๊งสเตอร์ไหนล่ะจะใหญ่กว่ารัฐบาล อันธพาลไหนจะใหญ่กว่าตำรวจ ทหาร แต่สุดท้ายมึงไม่ได้ทำหน้าที่ของมึง มึงรู้เห็นเป็นใจกับพวกนั้น นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ

จากที่คุณคลุกคลี มีขบวนการนักศึกษาที่เป็นคอมมิวนิสต์จริงไหม

มันก็กล่าวหาเท่านั้น มลายูแยกดินแดน นักศึกษาที่เห็นต่างเป็นคอมมิวนิสต์ มันเป็นคำซึ่งสหรัฐอเมริกาใช้มานานแล้ว ใบปลิวลงมาตั้งแต่ปี 2500 ลงมา 5 ล้านแผ่น ในขณะประเทศยังเวอร์จินอยู่ ก็ฝังซึมอยู่ในชาวบ้าน คอมมิวนิสต์คืออะไรก็ไม่รู้ เป็นไอโอ (Information Operation) ทั้งนั้น

ปี 2500 ไอ้กันเอาสฤษดิ์ (จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น) เข้ามา แล้วก็ใช้ไทยเป็นฐาน เป็นหน้าด่านในการส่งกำลัง ส่งปืน อาวุธ กระสุน มีกองทัพ ฐานทัพในประเทศไทย เขาก็ไอโอให้คนไทยยินยอม เพราะถ้าคนไทยบอกว่าใช้ปืน ใช้บ้านเราเป็นแหล่งไปฆ่าเขา แล้วเขาฆ่ากลับ ไม่ฉิบหายเหรอ จะรู้ได้ไงว่าเวียดนามจะแพ้ แล้วถ้ามันชนะขึ้นมาจริงๆ บ้านเมืองเราก็กลายเป็นที่ซ่องสุมคนไปฆ่าเขา

จริงๆ อเมริกาก็แพ้สงครามด้วย ประชาชนบ้านเขาก็ตั้งคำถามว่า หนุ่มสาวหายไปไหน เหมือนดอกไม้กำลังบาน ทำไมกลับมาเป็นกระดูกหมด กลับมามีแต่โลงศพ Where Have All the Flowers Gone เพลงเสรีภาพพวกนี้มาถึงคนไทย คนหนุ่มสาวก็ซึมซับ คลื่นลมมันไปทั้งโลก คุณจะขังคนได้ แต่คลื่นลมแห่งเสรีภาพ คุณขังไม่ได้ 

เป็นเรื่องเข้าใจได้ไหมในเวลานั้น ที่ชนชั้นนำจะจัดการกับนักศึกษาอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นคอมมิวนิสต์ 

เขารู้ว่านักศึกษาไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์หรอก แต่เขาอ้างเพื่อจัดการกับนักศึกษา เพราะนักศึกษาพูดความจริง เขาไม่อยากให้ความจริงมันปรากฏ เหมือนอยากให้คนโง่ การปกครองทุกวันนี้ เพราะเขาอยากให้คนโง่ อาจารย์ปรีดีถึงเอาลูกหลานชาวบ้านมาเรียนที่ธรรมศาสตร์ ให้เห็นว่าคนมีการศึกษามันไม่ได้โง่หรอก ชาวนาก็เป็นได้ พวกเขาถึงเกลียดอาจารย์ปรีดี

เมื่อก่อนมีแต่จุฬาฯ จุฬาฯ เป็นโรงเรียนฝึกขุนนาง ฝึกข้าราชการเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งคือต้องสร้างทรัพยากรบุคคลใหม่ ลูกหลานชาวนา ครูประชาบาล ก็มาเรียนธรรมศาสตร์ได้ ไม่จำเป็นต้องจบ ม.6 มศ.3 มศ.5 อาจารย์ปรีดีสร้างช่องทางขึ้นมา เพื่อจะสร้างความสมดุล เอาคนชนบทว่า เห็นไหม ก็เป็นผู้นำได้หมด เป็นผู้พิพากษา เป็นอะไรก็ได้ แค่ต้องการโอกาสเท่านั้น 

เพราะฉะนั้น นักศึกษามันไม่ใช่คอมมิวนิสต์จริง รัฐบาลแต่งตั้งให้เป็นคอมมิวนิสต์ เหมือนรัฐบาลตั้งข้อหาให้เป็นนู่นเป็นนี่ เหมือนวันนี้ มันใส่เท่าไรแล้วให้เด็ก มาตรา 112 มันนึกใส่ก็ใส่ มันจะกล่าวหายังไงก็ได้ เมื่อก่อน คนเห็นต่างจากรัฐคือคนบ้า ก.ศ.ร. กุหลาบ เป็นคนบ้า พระเจ้าตากก็บ้า เพื่อที่จะจับพระเจ้าตาก เรื่องพวกนี้รวมร้อยมาเป็นข้อหา

หลังจากจอมพลถนอมบวชพระ กลับไทย การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาลำบากอย่างไรบ้าง

ก็เรารู้ว่าเป็นข้อจำกัดของเราอย่างมาก เพราะเขาก็เตรียมการ แต่ปัจจัยถนอม ปัจจัยนักศึกษา นี่เป็นปัจจัยปลาย แต่ต้นของเขาคือกองทัพมันแตกแยก กฤษณ์ (พลเอก กฤษณ์ สีวะรา) ที่ล้มถนอมตาย พอกฤษณ์ตาย2 ห่วงโซ่หายไป ฝ่ายถนอมก็กลับมา รวมตัวได้ หม่อมเสนีย์และพรรคประชาธิปัตย์ เขาก็ต้องการสู้กับถนอมเหมือนกัน โดยตั้งกฤษณ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กฤษณ์เอง หลัง 14 ตุลาฯ ก็ตั้งพรรคการเมือง ทวิช กลิ่นประทุม ก็มาเป็นสปอนเซอร์ให้พรรคกฤษณ์ ชื่อพรรคธรรมสังคม แต่ทำอย่างไร เราก็ต้องสู้

แต่ที่สำคัญคือเมื่อ หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ยุบสภาเสร็จ เลือกตั้งทั่วไป หม่อมคึกฤทธิ์ลงสมัครที่เขตดุสิต แล้วแกแพ้ เพราะทหารไม่เอา ส่วนหนึ่งเพราะคึกฤทธิ์เห็นด้วยกับการถอนทหารในประเทศไทยภายใน 1 ปี 

ในเวลานั้น การมีทหารในประเทศไทยเป็นผลประโยชน์มหาศาลของทหารไทย การกินหัวคิว เครื่องแบบ กระสุน กระสุนส่วนใหญ่ เหมือนที่ส่งในอัฟกานิสถานวันนี้ มันถึงแพ้ตาลีบัน อันนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่เวียดนามแพ้ก็เพราะส่วนหนึ่งทหารไทยกินหัวคิวหมด

พลเอก ฉลาด หิรัญสิริ ท่านไปบัญชาการอยู่ที่เวียดนามนานเหมือนกัน ท่านก็เล่าว่า ทหารรับจ้าง ยิ่งเป็นชื่อจัดตั้ง ไม่ใช่ชื่อจริง ส่งทหารไปสิบคน มันบอกส่งไปร้อยคน พันคน เวลารบสุดท้ายถึงไม่ใช่ของจริง ถึงได้แพ้เวียดนามเหนือ 

คึกฤทธิ์เองเห็นด้วยกับนักศึกษา ให้ถอนทหารออกจากประเทศภายใน 1 ปี หม่อมคึกฤทธิ์รู้แล้วว่า นิกสัน (ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเวลานั้น) ก็มาแล้ว จับมือ เหมา เจ๋อตุง แล้วแกฉลาดพอ แต่คนโง่คือชาวบ้าน คือทหารไทยที่หากินกับสิ่งนี้ มันเลยให้ทหารเวียนไปลงคะแนนไม่รู้กี่ครั้ง คึกฤทธิ์ถึงแพ้ 

คึกฤทธิ์โกรธ ก็เลยตั้งพลเอก ฉลาด หิรัญศิริ เป็นรองผู้บัญชาการทหารบก ขึ้นมา เพราะพลเอกฉลาดเขาไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกับพวกนี้ พอหม่อมราชวงศ์เสนีย์ขึ้นมา ถึงได้ให้ ‘โป๊งเหน่ง’ – พลเอก ทวิช เสนีย์วงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาถอดสลัก ย้ายพลเอกฉลาดให้พ้นวงจรอำนาจ แล้ววันที่ 6 ตุลาฯ ฉลาดไม่ได้ไปรายงานตัว ก็ถูกปลด พลเอกฉลาดเลยโดนกดดันให้มายึดอำนาจซ้ำ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 25203 หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ กำลังก็เลยน้อยมาก กำลังส่วนใหญ่ก็จากกาญจนบุรี เป็นทหารสารบรรณ ไม่ใช่ทหารรบ ถึงยึดแล้วแพ้ 

วันที่ปฏิวัติก็จับ พลเอก เสริม (พลเอก เสริม ณ นคร) ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก ไม่ได้ เพราะทหารที่มายึดอำนาจ เป็นทหารบ้านนอก ไม่รู้จัก พอไปหาพลเอกเสริม ดันไปถามพลเอกเสริมว่าตัวแกอยู่ไหน แกบอกว่าท่านพลเอกเสริมนั่งอยู่ข้างใน แล้วแกก็หนีออกไปเลย (หัวเราะ)

คุณมองภาพความขัดแย้งของทหารเหล่านี้ออกไหม ว่าสุดท้ายเขาจะใช้เราเป็นเหยื่อ

เขาไม่ได้ใช้เราเป็นเหยื่อหรอก เราเป็นเหยื่อกันเองด้วย ปัจจัยถนอมก็เป็นปัจจัยหนึ่ง ไม่ค้านก็ไม่ได้ ถ้าถนอมกลับมาอยู่ได้ ก็จะมีคนบอกว่า ระบอบนั้นกลับมาอีกแล้ว เราก็ต้องค้าน มันมาตั้งแต่ 19 กันยายน วันแรก เราก็ได้ข่าวมาก่อนแล้ว ศูนย์นิสิตฯ จัดประชุม สภาแรงงาน นักเคลื่อนไหว 200 องค์กร จัดประชุมแล้วมีมติ ว่ามีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วนะ รัฐบาลต้องทำหน้าที่แทนความต้องการประชาชน คือถนอมต้องออกนอกประเทศไป เราให้เวลาสามวัน แต่เสนีย์ก็ด็อกแด็กๆ 

พรรคประชาธิปัตย์เอง มันไปอยู่กับทหารก็มี อยู่กับชาวบ้านก็มี อยู่กับกระทิงแดง4 ก็มี เป็นคนจัดตั้ง อยู่ในพรรคเดียวกันหมด เหมือนวันนี้ กปปส. ก็อยู่ในพรรค มั่วไปหมด จับปลาหลายมือ จนไม่รู้ว่ามือไหนจับปลาตัวไหน ก็เจ๊งเลย นี่ก็แบบเดียวกัน ประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่เหลี่ยมคูมากกว่าการบริหารจัดการ ก็เป็นเหยื่อ สุดท้าย พวกเราก็ถูกฆ่า

ก่อนหน้านั้น เราก็ชุมนุมที่จุฬาฯ ก่อน เพราะจุฬาฯ มันไม่แดง ไม่ร้อนแรงเท่าธรรมศาสตร์ ชุมนุมแล้วก็สลาย รอคำตอบ แล้วก็ให้รัฐบาลไปคิดหาทาง จนหลายครั้งเข้า คนมันก็รอไม่ไหว มาชุมนุมสนามหลวง ก็ถูกก่อกวนแล้ว อันธพาล กระทิงแดงก็ก่อกวนแล้ว ปล่อยงูบ้าง ใช้ของแหลมทิ่มแทงชาวบ้านบ้าง 

สุดท้าย เรากลับธรรมศาสตร์ ก็เหมือนกลับบ้าน ถ้าคุณไม่ก่อกวน ธรรรมศาสตร์จะเป็นที่ที่ปลอดภัยที่สุด แต่นั่นคือเขาคิดจะยึดอำนาจอยู่แล้ว นักศึกษาแสดงละคร เลียนแบบการแขวนคอช่างไฟฟ้านครปฐม ก็ถูกบิดเบือนไปว่าหมิ่นรัชทายาท เอาสถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือ แล้วกลไกต่างๆ วิทยุทุกสถานีเป็นของทหารหมด ทีวีของทหารหมด หนังสือพิมพ์คนออกใบอนุญาตก็รัฐบาลโดยทหารเป็นใหญ่ เราไม่มีเครื่องมือชี้แจง ทำให้เสียเปรียบ แล้วเรื่องสถาบันฯ ก็ชี้แจงลำบาก พูดมากก็ไม่ได้ พูดน้อยก็ไม่ได้ ละครแขวนคอหมิ่นรัชทายาทเป็นแค่ข้ออ้างที่เขาเอาขึ้นมาเพื่อกล่าวหา และฆ่าคน 

6 ตุลาฯ เป็นความตายที่ไม่มีวันตาย จนกว่าจะได้รับการพูดถึงอย่างทุกแง่มุม และเกิดความยุติธรรมกับคนเสียชีวิต ต้องมีการใช้กรรม กรรมอาจจะเป็นเวลาก็ได้ ถึงตายไปกับเวลา แต่ความจริงก็ยังไม่ตาย ข้อเท็จจริง คนอยู่ข้างหลัง เด็กรุ่นใหม่ก็ยังค้นว่าเกิดอะไรขึ้น

จุดเปลี่ยนของเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ คือละครแขวนคอใช่ไหม

เป็นจุดพีก เพราะละครแขวนคอฯ5 และการหมิ่นสถาบันฯ เพราะจริงๆ แล้ว ชาวบ้านก็ยังเคารพสถาบัน ถึงละครจะไม่จริง แต่ชาวบ้านก็เชื่อไปด้วย เหมือนกับกล่าวหาคอมมิวนิสต์นานๆ มันก็เชื่อ กล่าวหาทุกวัน ด่าทุกวัน บอกว่าไอ้นี่ญวณ ลูกญวณ คนก็เฮ้ย ญวนนี่หว่า ใส่ไปเรื่อย คนรู้จักเรามีน้อย ไม่รู้จักมันเยอะนะ ไม่รู้จักก็เชื่อเลย แล้วอีกอย่าง คนที่รู้จักเรามันก็ชักไม่แน่ใจ ว่าไอ้นี่เพื่อนกูนี่ใช่ไหม แต่พ่อแม่มาจากไหนไม่รู้ สงสัยมาจากเวียดนาม นานๆ ไปเป็นอย่างนั้นหมด

ในฐานะแกนนำนักศึกษา ทำไมถึงไม่สลายการชุมนุมในคืนวันที่ 5 ตุลาฯ

หนึ่ง เราอยากเลิกอยู่แล้ว แต่ความรุนแรงเกิดขึ้นช่วงค่ำ เราสลายการชุมนุมได้อย่างไร สอง มันสกัดไม่ให้เราสลายแน่ คือถ้าเราสลายการชุมนุม มันก็เข้าทาง ก็ปราบตอนนั้นล่ะ เพราะฉะนั้นรอให้สว่างก่อน เราก็คิดสลาย เราคิดแผนสอง เช่น สร้างชุมนุมที่อื่นขึ้นมาเพื่อรองรับ เช่น ที่รามคำแหง จุฬาฯ มหิดล แต่ก็ไม่ทัน 

เพราะข่าวการแสดงละคร มันเป็นข่าวใหญ่เอาช่วงค่ำ แล้วเหตุการณ์ก็เริ่มก่อขึ้นกลางคืน มันไม่อยากให้เช้า พอตี 3 ตี 4 ก็เริ่มยิงเข้ามา เราไม่อยากสลาย ชุมนุมไปก็ไม่เกิดประโยชน์แล้ว ความจริง ถ้าสลาย เราก็ประท้วงอย่างอื่น แต่เขาไม่อยากให้เราสลาย 

ลองสลายกลางคืนสิ ปัง ปัง ปัง ปัง ยิงกันมั่วหมดล่ะ เราเลยคิดว่าให้สว่างก่อน พี่ถึงตัดสินใจเข้าพบนายกฯ เสนีย์เพื่อเอาตัวเราเป็นประกัน ให้เห็นว่าเราไปหาแล้ว ถ้าผิดก็จับเราสิ ฝ่ายขวาจะได้เห็นว่ารัฐบาลทำตามเรียบร้อยนะ คือจับกุมคนที่เกี่ยวข้อง จะเป็นใคร จริงไม่จริงก็พิสูจน์กันในศาล แต่ไม่ใช่ เสนีย์ก็ถูกยึดอำนาจไปแล้ว 

ตอนเช้าวันที่ 6 ตุลาฯ คุณอยู่ตรงไหน

อยู่ที่ อมธ. (องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ประชุมกัน ศูนย์นิสิตฯ ก็ประชุม ระดมสมองกัน ว่าใครจะทำอะไร แก้สถานการณ์อย่างไร ในธรรมศาสตร์จะรักษาไม่ให้คนบาดเจ็บ-ล้มตายอย่างไร แล้วก็ติดต่ออาจารย์ เจริญ คันธวงศ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ขอโอกาสชี้แจงว่านายกฯ อาจจะเข้าใจผิดหรือเปล่า ก็ต้องให้นายกฯ เข้าใจว่าการแสดงละครไม่ใช่อย่างที่เขาว่า แต่นายกฯ เสนีย์เองก็ไม่อยู่ในภาวะที่แข็งแรงที่จะคุ้มครองประชาชน

จากที่ อมธ. พี่ก็เห็นสุรชาติ (สุรชาติ บำรุงสุข) อยู่ เห็นประพนธ์ (ประพนธ์ วังศิริพิทักษ) อยู่ ก็ชวนไปด้วย เอาคนแสดงละคร เอาคนเกี่ยวข้องไปพบนายกฯ รัฐบาลก็ส่งตำรวจมารับตัวเรา เพื่อคุ้มครองถึงบ้านนายกฯ เสนีย์ 

ความจริง ถ้ามองย้อนกลับไป 6 ตุลาฯ มันมาตั้งแต่คึกฤทธิ์ย้ายพลเอก ฉลาด ข้ามห้วยมาเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก หลังจากนั้นก็มั่วไปหมด ถ้าไปย้อนอ่านประวัติศาสตร์จะเห็นว่าหลายฝ่ายคิดยึดอำนาจวันที่ 6 ตุลาฯ ตอนแรก พลเรือเอกสงัดยึดอำนาจได้ก่อน เพราะเสนีย์ตั้งพลเรือเอกสงัดเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และตั้ง พลเอก บุญชัย บำรุงพงศ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบก พอเสนีย์รู้สึกมั่นคงแล้ว หม่อมเสนีย์ก็ปล่อย ตอนนั้น วันที่เราไปหาเสนีย์ เสนีย์คิดจะให้เขาจับเราอยู่แล้ว เพื่อให้ฝ่ายขวาเห็นว่าใช้กฎหมายแล้ว แต่สุดท้ายไม่ใช่ แผนของเขา (พลเรือเอกสงัด) คือต้องการยึดอำนาจ ส่วนเราเป็นเพียงเครื่องมือแค่นั้น

คุณรู้ไหมว่าสุดท้ายอาจไม่ได้เจอหม่อมเสนีย์จริงๆ

ไม่รู้ พอไปถึง เราก็รู้ว่าเขาจะจับเราแล้ว ไม่ได้อยากเจอเรา เราก็ไม่ว่า แต่ถือว่าจับเรา คนอื่นปลอดภัย เราก็ดีใจ แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น… 

ไม่กี่วันก่อน พี่เพิ่งได้เห็นรูป หลังจากวันที่ถูกขังที่กองปราบ คือหลังจากครบ 7 วัน เขาต้องนำตัวเราจากกองปราบ ไปฝากขังที่ศาล วันนั้นเรานั่งรถจากกองปราบไปที่ศาลอาญา สนามหลวง กลิ่นไหม้ของการเผาคนนั้นยังอยู่

แล้วหลังจากนั้นเราก็ไม่รู้ว่าจะถูกเอาไปไหน ก็พาเราเวียนไปขังไว้ที่บางขวาง แล้วเราก็เปลี่ยนสภาพ ถูกกร้อนผม ไม่รู้ไปอยู่แดนไหน พวกพี่มีกัน 6 คน ก็มียาสีฟันอยู่หลอด แบ่งเป็น 6 ส่วน ใส่กระดาษขาวไว้ สุดท้ายก็อยู่รวมกันเป็นแดนขัง บังเอิญว่าแดนที่ขังเรามีคนเสียสติอยู่วันนั้น วันที่จะเข้าแดน คนบ้าก็มองเราผ่านไป แล้วบอกว่า “มึงมาไล่ที่กู ไอ้เ-ดแม่ กูมาอยู่ลำบากอยู่แล้ว ยังมาไล่ที่กูในห้องขังอีก” 

หมายความว่า คุณรู้ทีหลังว่ามันเกิดเหตุการณ์แบบเผาคน หรือเอาคนแขวนกับต้นไม้แล้วฟาด

รู้ทีหลัง เราออกไปแล้ว พอออกไป 6-7 โมง ออกจากประตูท่าพระจันทร์ ระหว่างนั้นก็แรงหมดแล้ว เพราะรู้ว่าพอเราไปพบนายกฯ เสนีย์ เงื่อนไขอาจจะเปลี่ยน เขาก็รุมเลย ตะลุมบอนเลย ไม่อยากให้ปัจจัยที่เราไปพบ ไม่อยากให้เกิดความเข้าใจระหว่างเรากับรัฐบาล พอพี่ไปติดอยู่ ถูกขังอยู่ที่กองปราบฯ สักพัก ผู้สื่อข่าวก็สัมภาษณ์เรา

ภรรยาพี่ ซึ่งตอนนั้นเป็นแฟนกัน เขาเป็นผู้สื่อข่าวมติชน เขาก็มากระซิบว่า ในธรรมศาสตร์เรียบร้อยหมดแล้ว แล้วตอนเย็น ทุ่มกว่าๆ ก็มีประกาศยึดอำนาจ แล้วเราอยู่ในกองปราบ ถูกขัง เขาก็บอกว่า เฮ้ย! เดี๋ยวลูกเสือชาวบ้านจะมาเอาตัว ก็บอกเอาก็เอา กูอยู่ในนี้อยู่แล้ว จะทำอะไรก็ได้ เพราะว่าเป้าเขาจริงๆ เขาไม่ได้จะทำอะไรเรา เขาต้องการสร้างสถานการณ์ที่จะยึดอำนาจอยู่แล้ว เมื่อยึดอำนาจได้แล้ว เรื่องอื่นมันเรื่องเล็กหมด

ในฐานะผู้นำนักศึกษา ถือเป็นความรู้สึกผิดหรือรู้สึกเสียใจไหม ที่สถานการณ์มันไปถึงขั้นนั้น

เสียใจอยู่แล้ว ว่าเราก็… ประเมินจิตใจเขาสูงไป แต่ในการต่อสู้ มันต้องมีการสูญเสีย เราก็รู้ ถ้ากระสุนถูกหัวเราก็ตาย แต่กระสุนมันไม่ตรงมาที่เราเท่านั้น ทุกคนเสี่ยงหมด ไม่ใช่ว่าเราจะปลอดภัย เราก็เสี่ยงเอาตัวเข้าแลกเหมือนกัน เอ็ม-79 มีสิทธิ์ลงบนหัวเราเหมือนกัน ไม่ใช่ว่ากำหนดให้ลงไปที่อื่นได้ มันไม่ตรง ก็หมายความว่ามึงฆ่ากูไม่ตายก็ได้

ในความเห็นคุณ มันเกิดอะไรขึ้น ทำไมเขาถึงทำกับพวกคุณเหมือนไม่ใช่มนุษย์แบบนั้น

เขาทำทุกอย่าง เขาฆ่าคนได้เพื่อผลประโยชน์ของเขา ทำมานานแล้วประเทศนี้ ฆ่ามากี่รุ่นแล้วล่ะ 4 อดีตรัฐมนตรี6 เห็นไหม โจรมลายูจี้ตัว จริงๆ มันสร้างเรื่องยิงเอง อันนั้นก็ใช่ คนไทยจำไหม รู้ไหม ไม่คิด ไม่รู้ ไม่เคยสนใจ ไม่เคยมองลึก ถ้ามองลึกสิ ก็จะรู้ว่ามันเป็นเมืองที่ฆ่าคนบริสุทธิ์มานานแล้ว บอกว่าโจรมลายูมาแย่งตัว มลายูไหนที่บางเขนน่ะ คนยังเสือกเชื่ออีก 

คำว่าคอมมิวนิสต์มันเรื่องเล็กไปแล้ว ถ้า 4 รัฐมนตรีถูกโจรมลายูมาแย่งชิงที่บางเขน แล้วคุณเชื่อก็… (นิ่งคิด) คนไทยเป็นอย่างนี้ นี่คือความเจ็บลึก 

2 ปีที่อยู่ในคุก เปลี่ยนคุณอย่างไรบ้าง

การเมืองอะไรก็เปลี่ยนได้ พี่ก็นั่งคำนวณว่าข้อหา 11 ข้อหา ทั้งประหารชีวิต ตลอดชีวิต ก็คงตายในคุก เพื่อนฝูงที่เข้าป่าไปก็คงไม่ได้เจอกัน เจอกันก็แก่งั่กแล้ว แต่มนุษย์เกิดมาเพื่อมีชีวิตอยู่ เกิดมาเพื่อสู้ ในที่แคบลง ต้องเตรียมตัวเตรียมใจ เหมือนวันนี้ พี่รู้ วันนี้พี่ 60 กว่า วันนี้พี่ต้องบริหารร่างกายให้แข็งแรง ให้ตายช้าลง เพื่อทำอะไรที่เรามีชีวิตอยู่ได้บ้าง ในคุกก็เหมือนกัน วันนี้เราติดคุก ก็ดีกว่าเราตาย รักษาสุขภาพให้ดี สร้างสติปัญญาให้ดี เผื่อเรามีโอกาสได้ออกไป แค่เรายิ้มได้ ไม่เหงาหงอย ไม่หงอให้เขาเห็น เห็นไหม พอเราขึ้นศาล ก็ต้องทำให้เขาเห็นว่าเราไม่ได้ยอมจำนนนะ ดอกไม้ที่เขามอบให้มันยิ่งกว่าใช้ปืนยิงเรา สำหรับคนที่อยู่ข้างนอก เมื่อเรายิ้มแย้มแจ่มใส เขาก็เห็นว่าเราไม่ได้ผิดเลย

วันที่รัฐบาลนิรโทษกรรมคุณออกมาได้ แต่ในขณะเดียวกัน คนที่ฆ่าพวกคุณ คนที่อยู่เบื้องหลัง 6 ตุลาฯ ก็ไม่ต้องรับผิดด้วย คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง 

รู้ คือมันไม่ใช่วันเดียวที่จะพิสูจน์ได้ มันก็ต้องใช้เวลา เราตะโกนคนเดียว คนได้ยินไม่ทั่ว ก็ใช้คนร่วมตะโกน คนรุ่นใหม่เขาตะโกน เมื่อก่อนพวกพี่นี่เสียงเบา เพราะพวกพี่มีน้อย เราจัดงาน 6 ตุลาฯ ทีก็ไปไม่กี่คน ทุกคนไปก็รีบกลับ เสียงไม่ดัง วันนี้กระหึ่มแล้ว ปิดไม่อยู่แล้ว ดูสิ ทุกมหาวิทยาลัย พี่สัมภาษณ์เป็นร้อยครั้งแล้วปีนี้ ก็เบื่อไม่ได้ เป็นหน้าที่ที่เราต้องพูดแทนคนบาดเจ็บ จนกว่าความจริงปรากฏ

ทำไมตระกูลชุณหะวัณ อาจารย์ไกรศักดิ์ (ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ หลานชายของ พลตำรวจเอก ผิน ชุณหะวัณ) ถึงต้องขอขมาลูกหลานหะยีสุหลง (หะยีสุหลง โต๊ะมีนา ผู้นำศาสนาซึ่งถูกอุ้มหายเมื่อปี 2492) ว่าที่เอาหะยีสุหลงไปฆ่า ไปถ่วงน้ำตาย เป็นการกระทำที่โหดร้าย ลูกหลานรับรู้แล้วเสียใจ เบาไประดับหนึ่ง

6 ตุลาฯ ก็เช่นเดียวกัน 6 ตุลาฯ มันต้องมีคนรับผิด รับผิดโดยฉันทามติ โดยอะไรก็แล้วแต่ แล้ววันนี้ก็เห็นกัน 40 กว่าปีแล้ว คุณดูสิ คนรุ่นใหม่ค้นหาความจริง คนต่อจิ๊กซอว์กันไป มันถึงกว่าจะต่อติดเป็นรูปเป็นร่าง มีวิญญาณ ใช้เวลา มันรู้ว่าคำว่าชนะก็คือแพ้ก่อน แล้วค่อยๆ คืบไป ทุกอย่างมันไม่ได้สมบูรณ์ภายในวันเดียว คนชนะวันนี้ก็แพ้พรุ่งนี้ได้ ของเก่า วันนี้ก็เสื่อมโทรมไปตลอดเวลา ของใหม่มันกำลังโตนะ ยาวนานกว่า

ตอนเราเป็นเด็ก ตอนเราเป็นคนหนุ่มสาว มันมีแต่โตขึ้น เพราะฉะนั้นมีโอกาสชนะแน่นอน ไอ้นู่นเสื่อม การฆ่า ไม่ใช่ความกล้า แต่เป็นความกลัว ทุกวันนี้ ตำรวจที่มันจับเด็กเพราะมันกลัว กลัวจะถูกปลด ต้องรีบจับ ผู้ใหญ่กลัวถูกปลด ก็ให้ลูกน้องไปจับเด็ก เด็กคือเหยื่อหมด ตำรวจจับ ศาลปล่อย เหรียญทอง (นายแพทย์ เหรียญทอง แน่นหนา) จะเอาเรื่องศาลอีก ศาลก็กลัวเหรียญทอง

เด็กเป็นเหยื่อหมดเพราะความกลัว ถ้าผู้ใหญ่กล้าเสี่ยง ถ้าทุกคนคิดว่าไม่ถูกต้อง กูไม่ทำ ความถูกต้องจะเกิด เหมือนปรองดอง มึงไม่ต้องสร้างหรอก มึงหยุดสร้างความแตกแยก ปรองดองก็เกิด เพราะมึงขุดหลุมเอง แล้วเอากูมาถมด้วย เ-็ดแม่ เอากูมาถมทำไม มึงหยุดถมเท่านั้นแหละ ไม่ต้องถม เดี๋ยวมันก็เต็มขึ้นมาเอง บอกจะปรองดอง แต่มันกลับสร้างความแตกแยก

เหมือนวันนี้ ประยุทธ์ (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี) ก็อยู่เบื้องหลังการสร้างความแตกแยก กปปส. ก็ประยุทธ์อยู่เบื้องหลัง ไม่งั้นไอ้เทพ (สุเทพ เทือกสุบรรณ) มันจะใหญ่คับเมืองได้อย่างไร มันก็คนธรรมดาคนหนึ่ง ต้มกันทั้งนั้น ประเทศนี้อยู่กันด้วยการต้ม ต้มจนเปื่อย จนประเทศนี้เปื่อย คุณก็เปื่อยไปด้วย 

สิ่งแรกที่นึกถึงในโอกาสครบรอบ 45 ปี 6 ตุลาฯ คืออะไร

คือความสูญเสีย ความสูญเสียในสิ่งซึ่งเราต่อสู้ได้มาด้วยความลำบาก คือประชาธิปไตย ได้มาเป็นยุค เป็นช่วง แต่สุดท้ายเขาก็สังหารประชาธิปไตย ล้มระบอบการปกครองที่ได้มาจากการต่อสู้ กว่าจะได้มา พอตายไปก็มาปล้นเราต่อไปอีก ขณะเดียวกัน ระหว่างการปล้นนั้นก็มีการฆ่าเจ้าทรัพย์ ทำร้ายเจ้าทรัพย์ วิธีการนี้ก็เรียกง่ายๆ ว่าคือโจร 

แต่หลายคนอาจจะพูดว่า 45 ปีผ่านไป บ้านเมืองก็ยังเหมือนเดิม ไปไม่ถึงไหน

ไม่เหมือนเดิมหรอก คือคำว่าดีขึ้น แย่ลง มีทุกมิติ จะมองมิติในแง่ไหนล่ะ การที่คนคัดค้านมากขึ้น สุดท้ายไม่มีพี่ ก็จะมีคนสู้นะ พี่ตายไป พี่นอนหลับไป พี่ก็ยังสู้ 

เราต้องสบายใจได้ว่า คนทุกคนเกิดมาไม่มีใครโง่หรอก แต่รอจังหวะในการแสดงออกเท่านั้นเอง เด็กๆ รู้จักเราที่ไหนล่ะ แต่ที่เขาสู้ มันเรื่องเดียวกันทั้งหมดล่ะ แค่วิธีการพูดต่างๆ มันไม่เหมือนกัน ศูนย์กลางของปัญหาอยู่ตรงไหน ห่วงโซ่ของอำนาจมืดมันอยู่ตรงไหน มันร้อยรัดกัน ลองต่อจิ๊กซอว์ดูสิ

บทเรียนถึงคนที่เป็นแกนนำในอีก 45 ปีให้หลังคืออะไร

ก็ต้องให้คนเข้าร่วมเยอะๆ งานอย่างนี้ทำคนเดียวไม่ได้ คนน้อยทำยาก ต้องทำเยอะๆ หาแนวร่วมให้เยอะ หาคนเห็นด้วยกับเราให้เยอะ อย่าจำกัดปัญหา งานนี้เป็นงานส่วนรวม เป็นกฐินสามัคคี เป็นงานบุญ ที่ร่วมกันคนเล็กละน้อย ถึงจะสร้างโบสถ์ใหญ่ได้ สังคมที่งดงาม ก็คือโบสถ์ใหญ่ ที่เกิดขึ้นจากคนเล็กคนน้อย เอาศรัทธามารวมกัน ไม่ใช่คนเดียวมีเงินพันล้านสร้างโบสถ์ ไม่น่าดีใจ โบสถ์นั้นพังง่าย

แต่ถ้าคนเล็กคนน้อยร่วมกันสร้าง ทุกคนจะร่วมกัน ทุกคนจะรู้สึกเป็นเจ้าภาพ บ้านเมืองก็เช่นเดียวกัน เราอย่าผูกขาด อย่าแสดงวิธีหยาบๆ ต้องละมุนละม่อม เพื่อให้คนเห็นใจเรา เข้าร่วมกับเรามากขึ้น เราตายไป คนอื่นจะได้เดินต่อ 

 

เชิงอรรถ

1 เหตุการณ์นี้เรียกว่าเหตุการณ์ ‘สะพานกอตอ 2518’ ซึ่งทหารนาวิกโยธิน สังหารชาวบ้านกว่า 6 ศพ นำไปสู่การชุมนุมใหญ่ของคนปัตตานีนานกว่า 45 วัน ที่มัสยิดกลางปัตตานี

2 พลเอก กฤษณ์ สีวะรา เสียชีวิตเพราะ ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ จากการรับประทานข้าวเหนียวมะม่วงมากเกินไปจนท้องเฟ้อ ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ กระนั้นเอง เกิดมีโรคแทรกซ้อนเป็นโรคหัวใจขาดเลือด อาการทรุดหนัก และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ในวันที่ 23 เมษายน 2519 7 วัน หลังจากเข้าโรงพยาบาล ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่าพลเอกกฤษณ์อาจถูก ‘วางยา’ จากฝ่ายจอมพลถนอม 

3 พลเอก ฉลาด หิรัญศิริ พร้อมด้วยนายทหารกลุ่มหนึ่ง ได้นำกองกำลังทหารจากกองพลที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี เข้ายึดสถานที่สำคัญ 4 แห่ง คือ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก สวนรื่นฤดี กองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้า สนามเสือป่า และกรมประชาสัมพันธ์ ในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 เพื่อยึดอำนาจรัฐบาลเกรียงศักดิ์ซ้ำอีกครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ มีความพยายาม ‘เจรจา’ ของคณะผู้ก่อการ ขอหลบออกนอกประเทศ แต่สุดท้ายเกิดการ ‘หักหลัง’ โดยรัฐบาลเกรียงศักดิ์จับกุมผู้ก่อการทั้งหมดบนเครื่องบิน พลเอกฉลาดถูกประหารชีวิตในเวลาต่อมา

4 ขบวนการฝ่ายขวาที่ได้รับการจัดตั้งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดย พันเอกพิเศษ สุตสาย หัสดิน สมาชิกส่วนใหญ่เป็นนักเรียนอาชีวะ ในเวลาต่อมา พันเอก พิเศษสุตสาย ได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พลเอก เปรม ติณสูลานนท์

5 หนังสือพิมพ์ ‘ดาวสยาม’ หนังสือพิมพ์ของฝ่ายขวา ตีพิมพ์และออกจำหน่ายกรอบบ่ายวันที่ 5 ตุลาคม 2519 โดยพาดหัวว่า “แขวนคอหุ่นเหมือนเจ้าฟ้าชาย แผ่นดินเดือด! ศูนย์ฯ เหยียบหัวใจไทยทั้งชาติ” ซึ่งกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ฝ่ายขวาเห็นว่ามีการ ‘หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ จนวิทยุยานเกราะระดมพลจำนวนมากเพื่อชุมนุมกันบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อแสดงความไม่พอใจ และเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการกับนักศึกษาอย่างเด็ดขาด

6 วันที่ 4 มีนาคม 2492 4 รัฐมนตรีสาย ปรีดี พนมยงค์ ได้แก่ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีต ส.ส.อุบลราชธานี, ถวิล อุดล อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด, จำลอง ดาวเรือง อดีต ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม และ ทองเปลว ชลภูมิ ถูกสังหารเสียชีวิตเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2492 บริเวณบางเขน ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างตำรวจนำตัวทั้งหมดไปฝากขังไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน ทั้งนี้ ตำรวจอ้างว่าเป็นฝีมือของ ‘โจรมลายู’ สุดท้าย ศาลได้พิพากษา ‘จำคุกตลอดชีวิต’ 3 นายตำรวจ ได้แก่ พลตำรวจจัตวา ผาด ตุงคะสมิธ, พลตำรวจจัตวา ทม จิตรวิมล และ สิบตำรวจเอก แนบ นิ่มรัตน์ ในขณะที่จอมพลสฤษดิ์ดำรงตำแหน่งนายกฯ กระนั้นเอง ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า ทั้ง 3 คนอาจไม่ใช่ผู้ที่ลงมือสังหารจริงๆ

Fact Box

  • สุธรรม แสงประทุม เป็นหนึ่งใน ‘นักโทษการเมือง’ คดี 6 ตุลาฯ ร่วมกับนักศึกษาอีก 18 คน หลายคนเป็นที่รู้จักในเวลาต่อมา อาทิ ธงชัย วินิจจะกุล, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ โดยสุธรรมและนักศึกษาคนอื่นๆ ถูกตั้งข้อหาหนักทั้งคดี ‘คอมมิวนิสต์’, คดีร่วมกันฆ่าผู้อื่น, คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ฯลฯ กระนั้นเอง หลัง พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ‘รัฐประหารซ้อน’ ยึดอำนาจอีกครั้ง จึงได้มีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งนอกจากจะทำให้ทั้งหมดพ้นผิดแล้ว ในทางกลับกัน ยังทำให้ไม่สามารถ ‘เอาผิด’ กับผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์สังหารหมู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เช้าวันนั้นได้เช่นกัน
  • ปี 2531 สุธรรมได้รับเลือกเป็น ส.ส. นครศรีธรรมราช สังกัดพรรคก้าวหน้า หลังจากนั้นได้ย้ายมาอยู่พรรคพลังธรรม เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย รวมถึงเป็นหนึ่งในสมาชิกพรรค ‘ไทยรักษาชาติ’ ซึ่งโดนศาลรัฐธรรมนูญสั่ง ‘ยุบพรรค’ เมื่อปี 2562 เขาพูดติดตลกว่า เขามักจะสังกัดพรรค ‘รอยุบ’ เพราะก่อนหน้านี้ พรรคไทยรักไทยที่เขาร่วมก่อตั้งก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคเช่นกัน ปัจจุบัน สุธรรมเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย
  • เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ดำรงอยู่ในความเงียบนานกว่า 20 ปี จนกระทั่งมีการจัดงานรำลึกอย่างจริงจังครั้งแรกในปี 2539 แต่ก็ไม่ได้ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง ประวัติศาสตร์ว่าด้วย 6 ตุลาฯ ไม่เคยมีที่ทางชัดเจนในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งก็เพราะไม่สามารถพูดได้ว่า ‘เบื้องหลัง’ ของเหตุการณ์นี้คืออะไร และเกิดจากอะไร...
Tags: , ,