นักปฏิวัติ นักต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมือง มักมีเพียง 3 ทางเลือก ไม่หนีก็ติดคุก ไม่ติดคุกก็ตาย

คำกล่าวนี้ไม่ได้เกินจริงสักนิด…

‘ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์’ ชื่อเล่นว่า ‘น้อย’ แต่คนทั่วไปมักเรียกเธอติดปากว่า ‘ป้าน้อย’ เธอคือคู่ชีวิตของ สุรชัย แซ่ด่าน (ด่านวัฒนานุสรณ์) ก่อนที่สุรชัยจะถูกอุ้มหายสาบสูญไม่พบแม้แต่ศพ แม้เวลาจะล่วงเลยมาแล้วกว่า 4 ปี

สุรชัยเข้าสู่เส้นทางการเมืองตั้งแต่ปี 2516 จากเหตุการณ์ที่นิสิตนักศึกษาและประชาชนออกมาประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยจากพลเอก ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เขาจึงเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านเรื่อยมา ภายหลังสุรชัยเข้าป่าเพื่อร่วมอุดมการณ์กับพรรคคอมมิวนิสต์เป็นเวลา 5 ปี

หลังออกจากป่า เขาถูกจำคุก 16 ปี นอกจากนี้ยังถูกดำเนินคดีทางการเมืองและติดคุกมาหลายต่อหลายครั้ง แน่นอนว่า กฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นหนึ่งในคดีที่เขาถูกกล่าวหาเช่นกัน

18 พฤษภาคม 2557 สี่วันก่อนการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สุรชัยตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

9 ธันวาคม 2561 เป็นวันสุดท้ายที่ สุรชัย – ปราณี สองสามีภรรยาได้พูดคุยกัน ก่อนที่สุรชัยจะถูก ‘อุ้มหาย’ ภายหลังพบว่า ‘กาสะลอง’ และ ‘ภูชนะ’ สหายคนสนิทที่ร่วมเดินทางลี้ภัยไปด้วยกันก็หายสาบสูญตามไปด้วย ต่อมาพบศพของกาสะลองและภูชนะถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด ลำคอถูกรัดด้วยเชือกป่านขนาดใหญ่ ถูกของแข็งทุบใบหน้า คว้านท้องและยัดด้วยเสาปูนยาว 1 เมตร

แม้จะเตรียมใจมาบ้างแล้วกับการเป็นคู่ชีวิตของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ปราณีบอกกับเราว่า “รู้ว่าคุณสุรชัยต่อสู้กับอิทธิพลมืด คงไม่มีชีวิตที่ยืนยาว”

ใช่ แม้จะเตรียมใจมาแล้วบ้าง แต่คนเราต้องเตรียมใจมากแค่ไหน จึงจะมากพอกับการแบกรับความรุนแรงโหดเหี้ยมที่เกิดขึ้นเช่นนี้…

The Momentum พูดคุยกับ ‘ป้าน้อย’ ถึงชีวิตรักและอุดมการณ์ของทั้งสอง ท่ามกลางอุปสรรคในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย อะไรคือสิ่งที่ยึดเหนี่ยวทั้งสองไว้ด้วยกันอย่างเหนียวแน่นเสมอมา แม้เผด็จการ หรืออำนาจมืดใดก็ไม่อาจพราก ‘รัก’ และ ‘อุดมการณ์’ จากกันได้ แม้ฝ่ายหนึ่งจะจากลาไปแล้วอย่างไร้ร่างก็ตามที…

ภาพจำแรกของคุณสุรชัย ในสายตาป้าน้อยเป็นแบบไหน

จริงๆ ป้าไม่เคยรู้จักคุณสุรชัยมาก่อน รู้จักเขาผ่านข่าวหนังสือพิมพ์ที่ลงหน้าหนึ่งเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ และมีรูปคุณสุรชัยอยู่ในนั้น ตอนแรกก็รู้สึกกลัว เพราะตอนนั้นมีการเขียนข่าว หรือให้ข้อมูลข่าวสารในแง่ว่า คอมมิวนิสต์ร้ายกาจ โหดเหี้ยม ก็พูดทำนองฆ่าพระบ้าง เอาคนแก่ไปทำปุ๋ย เอาพระไปไถนา และช่วงที่ป้าเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยก็จะจัดเสวนาเชิญคอมมิวนิสต์กลับใจมาพูดที่หอประชุม

ทางมหาวิทยาลัยก็ประกาศว่า นักศึกษาชั้นปีที่ 1-2 หอพักในให้มาฟังการสารภาพจากผู้พัฒนาชาติไทยคอมมิวนิสต์เก่า เขาก็มากันครั้งละ 5-7 คน แต่ละคนก็จะมาพูดให้ฟังว่าร้ายกาจขนาดไหน 

พวกเขาพูดเล่าอะไรบ้าง และป้าน้อยเชื่อไหม

ตอนนั้นเราก็เชื่อเพราะยังไม่ได้ออกค่ายอาสาฯ เขาจะพูดทำนองว่า ผมถูกหลอกให้เข้าป่า ถ้าเข้าป่าแล้วจะมีเงินเดือน เข้าไปฝึกทหารเพื่อสู้กับเจ้าหน้าที่ แต่พอเข้าไปร่วมพรรคแล้วก็อดๆ อยากๆ ไม่ได้เป็นดั่งที่โฆษณาไว้ เลยพยายามหลบหนีออกมา เขาก็จะพูดทำนองนี้เกือบทุกคน

แล้วเลิกกลัวคอมมิวนิสต์ตั้งแต่เมื่อไร

ด้วยการที่ป้าได้ทุนเรียนฟรีที่ปัตตานี แต่พื้นเพเป็นคนจังหวัดลำปาง มันไกลบ้านมาก ทำให้กลับบ้านไม่บ่อยนัก เพราะค่ารถแพง เดินทางก็ใช้เวลาหลายวัน และต้องต่อรถไฟอย่างเดียว รถทัวร์ไม่กล้าขึ้นเพราะโดนปล้นบ่อย พอถึงวันหยุดเลยทำให้ป้าต้องเที่ยวบ้านเพื่อนใกล้ๆ อย่างเช่นนครศรีธรรมราช หรือไม่ก็ไปออกค่ายอาสาฯ ไปซ่อมโรงเรียน ซ่อมอาคาร ช่วยงานชาวบ้าน และชาวบ้านแบ่งคนมาช่วยงานบ้าง ก็จะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน แต่ตอนนั้นเรายังไม่รู้จักนะว่าคอมมิวนิสต์เป็นอย่างไร

มีอยู่ครั้งหนึ่งไปทำค่ายในพื้นที่สีชมพู ซึ่งตอนนั้นไม่รู้ว่าพื้นที่สีชมพูคืออะไร พื้นที่สีชมพูหมายถึงพื้นที่ที่คอมมิวนิสต์เข้าไปได้ ทางการเข้าไปได้ แต่ถ้าสีแดง ทางการเข้าไปไม่ได้เลย เพราะคอมมิวนิสต์ยึดพื้นที่ได้แล้ว การออกค่ายแต่ละครั้งก็จะแบ่งงานกันทำ ป้าก็ไปมวลชนสัมพันธ์เยี่ยมบ้านชาวบ้าน เวลาลงพื้นที่ส่วนใหญ่จะเจอแต่คนแก่ เพราะตอนกลางวันคนหนุ่มสาวก็ออกไปทำงาน ชาวบ้านก็ยากจนมาก กินแต่น้ำบูดูและน้ำพริก บ้านส่วนใหญ่ก็เป็นกระท่อม นานๆ ทีถึงจะไปเจอบ้านตึกหลังใหญ่

มีอยู่ครั้งหนึ่งขณะทำมวลชนสัมพันธ์ อยู่ๆ ชาวบ้านก็ทักว่า “คุณหมอเคยรักษาฉัน จำได้ไหม” เขาบอกว่าป้าเคยรักษาเขา แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เราแค่หน้าตาเหมือนคอมมิวนิสต์นักศึกษาแพทย์ที่หนีเข้าป่า สมัยก่อนคอมมิวนิสต์จะมีการแบ่งหน้าที่กันตามความถนัด นักศึกษาแพทย์จะออกไปช่วยเหลือชาวบ้าน ตรวจสุขภาพ ใครป่วยก็จัดยาให้ หรือแม้แต่การสอนหนังสือเด็กๆ พอเจอชาวบ้านทักมาแบบนี้ ป้าก็ตอบไปว่า ไม่เคยรักษาค่ะ แต่เพื่อนที่เดินทางไปด้วยกันเริ่มกลัว ก็สะกิดบอกเราว่า น้อยกลับกันเถอะ เพราะเขารู้ว่าที่นี่เป็นพื้นที่สีชมพู

ป้าน้อยเริ่มรู้จักกับคุณสุรชัยตอนไหน

ป้าก็ถามชาวบ้านว่า คอมมิวนิสต์เป็นแบบไหน แล้วรู้จักสุรชัยไหม พวกชาวบ้านก็เล่าให้ฟังว่า คอมมิวนิสต์เป็นกลุ่มที่คอยช่วยเหลือ ไม่ทำลายข้าวของ ไม่รังแก ไม่ใช้อำนาจ สุภาพ ตรงตามกฎ 10 ข้อของคอมมิวนิสต์ ไม่เหมือนกับข้าราชการที่เข้าไปข่มขู่ ขูดรีด ทัศนคติเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ของป้าเลยเริ่มเปลี่ยน

หลังจากเรียนจบ ป้าก็กลับไปเป็นครูที่ลำปางได้ประมาณ 1-2 ปี แต่ยังติดตามข่าวสารเรื่อยมาจนเห็นข่าวว่า คุณสุรชัยได้รับอภัยโทษพิเศษจากประหารชีวิตเป็นติดคุกตลอดชีวิต จากคดีเผาจวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช คดีปล้นรถไฟ และฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ป้าเลยเขียนจดหมายไปแสดงความยินดีกับเขา

พอจะจำเนื้อหาของจดหมายฉบับแรกที่เขียนได้ไหม

เราก็แนะนำตัวเองไปว่า ดิฉันเป็นครูอยู่โรงเรียนเด็กยากจน ก็เขียนไปสั้นๆ คุณสุรชัยก็ตอบมาว่า เขาดีใจมากที่ป้ามีทัศนคติที่ดีต่อคอมมิวนิสต์ เขาก็ถามต่อว่าข้างนอกเป็นอย่างไรบ้าง มีความคิดเห็นเกี่ยวกับเขาบ้างไหม ป้าก็ตอบว่าส่วนใหญ่ชาวบ้านจะรู้ข่าวจากทางรัฐบาลอย่างเดียว เลยมองว่าคอมมิวนิสต์ร้ายกาจ แต่โชคดีที่ป้ามีโอกาสได้สัมผัสทั้งสองด้าน ทั้งในมหาวิทยาลัยที่มีอดีตคอมมิวนิสต์กลับใจมาพูดคุย และการที่เราออกค่ายไปพบปะชาวบ้าน

ป้าก็แสดงความยินดีที่เขาได้รับพระราชทานอภัยโทษจากประหารชีวิตเป็นติดคุกตลอดชีวิต เราชื่นชมเขา เพราะได้ข่าวจากชาวบ้านเวลาไปออกค่ายสมัยเป็นนักศึกษามาตลอดว่า คนนี้เป็นคนดี มีอุดมการณ์ ช่วยเหลือส่วนรวม ก็เขียนไปสอบถามเขาเพิ่มเติมว่า อยู่ในคุกกินอยู่อย่างไร และผู้หญิงอยู่กันแบบไหน คือตอนนั้นป้าไม่รู้ว่าผู้หญิงผู้ชายขังแยกกัน 

เขียนจดหมายส่งถึงกันบ่อยไหม

ตอนแรกตอบกันไปมาอาทิตย์ละฉบับสองฉบับ และเริ่มส่งเทปคาสเซต คือคุณสุรชัยเป็นช่างซ่อมวิทยุโทรทัศน์ เขาเป็นผู้ช่วยในเรือนจำที่ให้นักโทษมาทำงาน เลยมีเครื่องเล่นเทปเสียงเหล่านี้เยอะมาก เพราะมีคนส่งมาให้ซ่อม และมีอีกจำนวนมากที่หลายคนส่งมาซ่อมและไม่ได้เอากลับ แกอาจจะเขียนจดหมายแล้วเมื่อยมือเลยอัดเสียงส่งมาแทน และเรามีเครื่องเล่นเทปเสียงอยู่แล้ว ประกอบกับป้าลายมือไม่ค่อยสวย เลยอัดเสียงไปคุยบ้าง เหมือนกำลังพูดคุยกันอยู่ ส่วนมากก็คุยกันสัพเพเหระ สมมติแกเขียนหนังสืออะไรก็อัดเสียงส่งมาให้ป้าน้อยฟังครั้งละบทสองบท

แบบนี้เรียก ‘จีบ’ หรือยัง

ตอนนั้นยังไม่ได้จีบเลย ตอนนั้นป้าอายุ 30 ปี คุณสุรชัยก็บอกว่าเขาไม่มีน้องสาวเลย มีแต่น้องชาย 3-4 คน ป้าก็ไม่มีพี่ชายเลย มีแต่พี่สาว แกเลยพูดว่าอายุของครูปราณีน่าจะเป็นน้องสาวเขาพอดี เพราะตอนนั้นสุรชัยอายุประมาณ 45 ปี

มาจีบกันจริงๆ น่าจะประมาณปี 2533-2534 แกบอกว่าอยากเห็นหน้าครูปราณี ช่วยส่งรูปให้ดูหน่อยได้ไหม ป้าก็ส่งรูปหมู่ถ่ายรวมกับพวกครูไปสี่คน และบอกว่าเราคือคนซ้ายมือสุด เมื่อคุณสุรชัยเห็นรูปก็บอกว่า หน้าน้อยเหมือนคุณขจีเลย คือหน้าคล้ายคู่หมั้นของแกตอนอยู่ในป่า แต่ตอนนั้นสุรชัยถูกจับก่อนเลยไม่ได้หมั้น

ส่งจดหมายคุยกันนานไหม กว่าจะได้พบหน้ากันแบบตัวจริงเสียงจริง

ส่งกันอยู่ 1-2 ปี ช่วงนั้นเรือนจำเปิดให้เยี่ยม แต่เข้าไม่ถึงตัวนะ ไม่มีไปกินข้าวที่โต๊ะหรือนั่งคุย เป็นเพียงการตะโกนคุยผ่านลูกกรงห่างกัน 5-10 เมตร

ป้าน้อยตัดสินใจนานไหมที่จะเดินทางจากลำปาง เพื่อมาเยี่ยมคุณสุรชัยที่เรือนจำบางขวาง 

คุณสุรชัยขอให้ไปเยี่ยม เพราะคุยกันทางจดหมายได้ 1-2 ปีแล้ว เขาก็บอกว่าอยากเจอ มาเยี่ยมได้ไหม ตอนแรกป้าไม่กล้าไป แต่เพื่อนและแม่เพื่อนสนับสนุน บอกว่าคุณสุรชัยน่าสงสาร ไปเยี่ยมเขาเถอะ เพราะเขียนจดหมายและอัดเสียงมาด้วย เขาก็อ่านจดหมายและบันทึกเสียงมาว่าไม่ได้เป็นคนชั่วร้ายเหมือนในข่าว  ป้าก็เปิดเทปที่เขาอ่านให้แม่ฟัง ตอนนั้นเราไม่อยากไปเท่าไร เพราะแม่ตาบอด ไม่อยากทิ้งแม่ และเสาร์อาทิตย์ป้าก็ต้องทำงานสหกรณ์ฯ ไม่ว่างเลย ไหนจะสอนหนังสืออีก แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไป ระหว่างทางก็แวะเยี่ยมเพื่อนที่นนทบุรี เพื่อนเลยขับรถมาส่งที่เรือนจำ ภายหลังเพื่อนรู้ว่าเรามาเยี่ยมสุรชัย แซ่ด่าน เขาก็ไม่คบกับเราอีกเลย

ความรู้สึกแรกที่พบหน้ากันเป็นอย่างไรบ้าง เคอะเขินไหม

ตอนมาเยี่ยมครั้งแรกก็เยี่ยมไม่เป็น (หัวเราะ) ตอนนั้นก็เริ่มชอบๆ กัน แต่ไม่มีอะไรมาก เจอกันครั้งแรกก็ธรรมดาค่ะ แกทำตัวเป็นผู้ใหญ่ที่น่านับถือ เห็นกันไกลๆ ประมาณ 5 เมตร อยู่กันคนละฝั่งในลูกกรงเป็นซี่ๆ ตะโกนคุยกัน ได้คุยกันนิดเดียว

“พี่เป็นอย่างไรบ้าง พี่สบายดีไหม” คุณสุรชัยก็ตะโกนกลับมาว่า “น้อยมาอย่างไร  แล้วจะกลับเวลาไหน”

ป้าน้อยไปเยี่ยมบ่อยไหม กว่าคุณสุรชัยจะพ้นโทษ

เยี่ยมแบบตะโกนครั้งนั้นครั้งเดียว เพราะคุยแล้วเจ็บคอ ป้าเป็นโรคเจ็บคอ ต่อมทอนซิลอักเสบ แต่หลังจากนั้นเรือนจำก็มีงานพบญาติ เราก็ส่งสำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้านไปแจ้งว่าเป็นญาติทางไหน ตอนแรกป้าบอกแกไปว่านามสกุลเราไม่เหมือนกันจะเยี่ยมได้หรือ สุรชัยก็บอกว่าไม่เป็นไร ให้บอกว่าเป็นน้องสาว ไม่ได้ใช้แซ่เดียวกัน คนละพ่อคนละแม่ก็ได้ ป้าน้อยก็แจ้งตามที่แกบอก 

ทีแรกคุณสุรชัยอยากให้ไปวันเดียวกับญาติๆ ของแก ให้พบครอบครัวของแกด้วย แต่ป้าไม่ไป เขาเปิดให้ญาติเยี่ยมได้ 7 วัน ป้าก็บอกว่าขอไม่ไปตรงกับวันพบญาติของแก วันที่ป้าไปแกเป็นผู้ช่วยพนักงานร้านก๋วยเตี๋ยว ยังจำได้อยู่เลยตอนไปถึง คุณสุรชัยสั่งก๋วยเตี๋ยวให้ป้ากิน และนั่งคุยกันธรรมดาตามประสาหนุ่มสาว หลังจากนั้นก็เจอกันปีละครั้งสองครั้ง จนกระทั่งแกจะได้ออกจากคุกปี 2535 แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ออก และกว่าจะได้รับอภัยโทษก็ปี 2539

ระหว่างที่ยังไม่พ้นโทษก็ไปเยี่ยมปีละครั้งสองครั้ง แต่จดหมายที่คุยกันก็ถี่ขึ้น อัดเสียงก็ถี่ขึ้น และแกบอกว่า พี่ชอบเสียงของน้อย อันนี้จะจีบหรือเปล่า เราก็ไม่รู้แหละ (หัวเราะ)

อะไรในตัวคุณสุรชัยที่คุณครูปราณีหลงรัก

ป้าชอบความเสียสละ ชอบที่แกรักความเป็นธรรม แกไม่ได้สู้เพื่อตัวเองอย่างเดียว แต่สู้เพื่อคนที่ทุกข์ยากเหมือนกัน

แล้วคุณสุรชัยเคยบอกไหมว่าชอบอะไรในตัวป้าน้อย

แกบอกว่าเรามีชีวิตคล้ายๆ กัน ลำบากยากจนเหมือนกัน ป้าเป็นลูกกำพร้าพ่อ พ่อเสียชีวิตตั้งแต่อายุ 4-5 ขวบ และแม่ก็ตาบอดตอนป้าเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ต้องออกโรงเรียนมาดูแลแม่ เพราะไม่มีผู้นำครอบครัว และยังมียายอีกคน ตอนช่วงวัยเด็กลำบาก ต้องพับถุงกระดาษ เก็บผักขาย รับจ้างถูบ้าน ของคุณสุรชัยก็ลำบาก ต้องระเหเร่ร่อนตั้งแต่เด็ก เพราะเตี่ยไม่รัก และเข้าใจผิด ไล่ตีแก

ถ้าให้เลือกสีแทนความรักของทั้งป้าน้อยและคุณสุรชัย คิดว่าน่าจะเป็นสีอะไร

สีแดงค่ะ มันเป็นสีแห่งดวงอาทิตย์ เป็นสีแห่งพลัง เห็นแล้วมีแรง มีความสว่างไสว มีความหวังอยู่ในนั้น ในตอนเช้ามีความเบิกบานของดวงอาทิตย์ เป็นสีแห่งการเริ่มต้นวันใหม่ ในตอนเย็นก่อนลาลับมันก็เปล่งแสงสีแดงสดชื่น ป้าว่าคือสีที่ดี มอบความมีชีวิตชีวา และเป็นสีของประชาชน

หลายคนรู้จักคุณสุรชัยในแง่ของนักเคลื่อนไหว นักต่อสู้ทางการเมือง แล้วในแง่ของคนรักหรือคู่ชีวิต คุณสุรชัยเป็นคนแบบไหน

จริงๆ แกเคยบอกกับป้าว่า รู้สึกเหมือนขาดอะไรสักอย่าง ถ้าจะออกมาต่อสู้และไม่มีครอบครัว เหมือนยังขาดอะไรไป แต่หากให้แบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ น้ำหนักส่วนใหญ่ก็อยากทุ่มให้กับส่วนรวมมากกว่า คือหมายถึงชีวิตแกอย่างน้อยครึ่งหนึ่งต้องทำเพื่อสังคมส่วนรวม เหมือนเตือนเราว่า อย่าคาดหวังว่าก่อนจะตกลงปลงใจเป็นสามีภรรยากันหรือออกมา จะได้ชีวิตร่วมกันและเอาครอบครัวเป็นหลักเป็นใหญ่ มันไม่ใช่แบบนั้น 

ตอนแรกป้าบอกว่าไม่เป็นไรหรอก ออกจากเรือนจำไม่ต้องแต่งงานกันก็ได้ รักกันเฉยๆ ก็ได้ เพราะไม่ได้คาดหวังว่าจะได้แต่งงานกับสุรชัยอยู่แล้ว ป้าก็บอกแกต่อว่า ถ้าพ้นโทษออกมาก็ไปศึกษาผู้หญิงคนอื่นดูก่อน หรือคืนดีกับภรรยา เพราะอยู่ในคุกไม่ได้เจอใคร มีแต่ป้าคนเดียวที่เขียนจดหมายไปคุย ไปถามนู่นนี่ แลกเปลี่ยนความคิด แกตอบกลับมาว่าไม่มีใครอื่น ใครได้ยินชื่อสุรชัยก็กลัวกันหมดแล้ว ก็มีแต่น้อยนี่แหละ ถึงแม้น้อยไม่แต่งงานด้วยก็คงกลับไปคืนดีกับภรรยาไม่ได้แล้ว เราเลยตกลงกับตัวเองว่าถ้าเป็นคุณสุรชัย เราจะแต่งงานด้วย แต่ถ้าไม่ได้แต่งก็จะอยู่เป็นสาวแก่ต่อไป

เคยคิดบ้างไหมว่า เมื่อคุณสุรชัยพ้นโทษแล้ว ชีวิตจะหนักหนาขนาดนี้

คิดสิ อย่างตอนที่ยังไม่ได้แต่งงานกัน หลังคุณสุรชัยพ้นโทษมาก็ไปแห่ศพเพื่อนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อนแกถูกลอบยิงลอบฆ่า เพราะไปแคะคุ้ยที่รุกล้ำป่าชายเลนของผู้มีอิทธิพล ตอนนั้นเราก็คิดว่าถ้าคุณสุรชัยถูกลอบยิง เราก็ต้องเป็นแม่ม่าย นึกในใจว่าอนาคตเรากับคุณสุรชัยอาจจะไม่ยั่งยืนยาว เพราะเขาต่อสู้กับอิทธิพลมืด ก็รู้ค่ะ ทำใจไว้ตลอดเลย

อะไรที่ทำให้ป้าน้อยยืนหยัดเคียงข้างคุณสุรชัย

เวลาไปลงพื้นที่ เพื่อนหรือชาวบ้านมักจะถามว่า ไม่กลัวหรือมากันแค่สองคน คุณสุรชัยก็จะตอบว่าไม่กลัวหรอก เรามีปืนมาด้วย เพราะตอนหลังแกขออนุญาตมีปืนในครอบครอง เนื่องจากสมัครเป็นสมาชิกสภาจังหวัด (สจ.) เลยมีปืนสั้นคอยติดตัวไว้ เวลาไปไหนก็ไปกันสองคน ป้าก็ไม่กลัวนะ คือตายเป็นตาย ไปไหนก็ไปด้วยกัน เราไม่มีเงินจะไปจ้างบอดี้การ์ดหรอก เงินเดือนเราก็แค่ประมาน 6-7 พันบาท หลังแต่งงานแกให้ป้าลาออกจากครูมาอยู่ด้วยกัน

เวลามีคนถามแบบนี้ ป้าชอบหยิบกระเป๋ามาโชว์ให้พรรคพวกดูทำทีว่ามีปืน แต่จริงๆ เราไม่มี แค่คนนั่งข้างคนขับเท่านั้น (หัวเราะ) คุณสุรชัยก็พร้อมตาย แกบอกชาวบ้านบอกเพื่อนว่า ไม่เป็นไรหรอกถ้าตาย แต่หากจะตายก็ขอให้ยิงตายทั้งคู่ จะได้ไม่เป็นห่วง คล้ายกับว่าถ้ายิงก็เอาให้ตายทั้งคู่ แกจะได้ไม่เป็นห่วงเรา

มักมีคำพูดที่ได้ยินเสมอ คือนักต่อสู้นักปฏิวัติมีเพียง 3 ทางให้เลือก ถ้าไม่หนีก็ติดคุก ไม่ติดคุกก็ตาย ป้าน้อยเชื่อว่าความรักและอุดมการณ์สามารถไปด้วยกันได้จริงไหม

ป้าไม่ใช่นักต่อสู้ ป้าแค่เป็นกำลังใจให้เขาทำงานตามอุดมการณ์ คอยเป็นปากเป็นเสียงให้ชาวบ้าน แกก็พูดบ่อยนะประโยคนี้ ชีวิตของนักต่อสู้ ไม่หนีก็ติดคุก ไม่ติดคุกก็ตาย แต่มันเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ต้องมีกำลังใจ ต้องมีครอบครัว แกก็เปรียบเทียบว่า มันจะมีช่องโหว่ของหัวใจบางส่วนที่ยังหนาวเหน็บ ที่บางส่วนยังต้องการความอบอุ่น พูดเป็นภาษากวีอะไรของแกก็ไม่รู้แหละ (น้ำเสียงแกมขำ) เหมือนกับว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร ปุถุชนทั่วไป นักต่อสู้ เจ้าขุนมูลนาย หรือเป็นกษัตริย์ก็ต้องมีครอบครัว มีคนรักมีกำลังใจ อะไรทำนองนั้น

แต่คู่รักคู่ชีวิตควรมีความคิดมีอุดมการณ์ในทางเดียวกัน ถ้าไม่ทางเดียวกันมันก็ยาก ขาดกำลังใจไปยังฝั่งฝัน ป้าว่าส่วนหนึ่งที่ป้ายอมแต่งงานกับแกเพราะป้าเห็นว่าแกเป็นคนเสียสละ ไม่เหมือนกับใครที่เราเคยพบเจอ การที่ป้าได้เรียนหนังสือเพราะมีคนเสียสละมอบทุนให้ มันเลยคล้ายๆ กับถูกปลูกฝังมาตลอดให้เราชอบคนที่เสียสละ ชอบคนมีอุดมการณ์ ประกอบกับการที่เราแลกเปลี่ยนผ่านจดหมายผ่านเสียงมาหลายปี มันเลยซึมซับเห็นอกเห็นใจ เขาก็ชอบถามเราว่า น้อยคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องสังคม เศรษฐกิจการเมือง

ความรู้สึกเหล่านี้ป้าก็เอามาผสมผสานกับหนังจีนกำลังภายในเพราะเราชอบ  เป็นการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม คนถูกย่ำยี ถูกกดขี่ และคุณสุรชัยเป็นคนที่หัวสมองคิดแต่เรื่องการเมือง เรื่องปัญหาเศรษฐกิจสังคม ปัญหาของชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาส่วนตัว ปัญหาส่วนรวม ชาวบ้านก็โทรหาแกหมด

เคยมีสักครั้งไหมที่นึกอยากให้คุณสุรชัยเลิกเคลื่อนไหวทางการเมือง

ไม่มี ป้าชอบให้แกทำงานให้ส่วนรวม เพราะคุยกันก่อนแต่งงานแล้วว่า ให้ยอมรับในตัวตนของแก

รัฐประหารปี 2557 พรากอะไรไปจากชีวิตป้าน้อยบ้าง

ปี 2557 ที่แกต้องลี้ภัยเพราะแกป่วย เพิ่งผ่าตัดหลายเรื่อง แต่ป้าก็ไม่คิดว่าจะต้องตามไปอุ้มฆ่าอุ้มหาย ตอนแรกเข้าใจว่าถ้าสถานการณ์การเมืองดีขึ้น คงมีการอภัยโทษพิเศษได้กลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายด้วยกัน แกก็พูดว่าสงสารน้อย เดี๋ยวจะกลับลำปาง ไปเป็นเขยลำปาง เพราะอยู่ที่นครศรีฯ น้อยไม่มีญาติ เพราะญาติพี่น้องของคุณสุรชัยก็อยู่กรุงเทพฯ อยู่ภูเก็ต อยู่ตรัง ก็กะว่าจะกลับไปอยู่ลำปางด้วยกัน แต่ป้าก็ไม่เคยคิดว่ามันจะถึงขั้นตามล่าอุ้มหาย ป้าว่ามันเกินไป คนมันเห็นแก่ตัว ลุแก่อำนาจ 

ถ้าคุณสุรชัยยังอยู่แล้วเห็นเด็กสมัยใหม่ ป้าว่าเขาจะต้องดีใจ นอนตายตาหลับแล้ว ต้องพูดแบบนี้แน่นอน ตอนพ้นโทษมาใหม่ๆ ลูกศิษย์ก็บอกแกว่า พอแล้วอาจารย์ หยุดกันเถอะ พักผ่อน อาจารย์ไม่ต้องแล้ว แกก็ตอบว่า ผมอยากจะพักถ้ามีคนมาสานต่อ ตอนนั้นมีดีเจซุนโฮ (อิทธิพล สุขแป้น) ตั้ง อาชีวะ (เอกภพ เหลือรา) ดีเจอ้น (ชัยนรินทร์ กุหลาบอ่ำ) ออกมาเคลื่อนไหว แกก็บอกว่าผมตายตาหลับแล้วมีพวกนี้เป็นลูกศิษย์ แต่ตอนนี้มีทั้งกลุ่มทะลุฟ้า มีเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) มีอานนท์ นำภา มีอีกหลายกลุ่มหลายคน สุดยอดทั้งนั้น แกคงไม่ห่วงแล้ว ถ้าแกอยู่ตอนนี้คงออกมาวิเคราะห์การเมืองบ่อย เพราะมีประเด็นอะไรเยอะ

ป้าน้อยมองสังคมไทยอย่างไรบ้าง จากสิ่งที่ตัวเองและคู่ชีวิตต้องเผชิญ

สังคมไทยมันต้องเปลี่ยน มันต้องได้รับการปฏิวัติ เพราะมันล้าหลังและเห็นแก่ตัวเยอะ มันน่าจะเกิดเร็วๆ นี้แหละ เพราะคนไทยพัฒนาความคิด เจริญทางจิตใจ มีสื่อ มีตัวอย่างประเทศอื่นให้ดูให้เปรียบเทียบเยอะแยะ มันต้องเปลี่ยนแปลงถึงจะอยู่ได้ และเยาวชนคนหนุ่มสาวก็ไม่ยอมแล้ว เรียกว่าตาสว่าง ไม่ยอมรับความล้าหลัง มันต้องก้าวไปข้างหน้า

ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นกับเรา ป้าก็เอาธรรมะมาช่วย มองว่าอาจจะเป็นกรรมเก่า ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของสังคม แต่สิ่งที่มีเหตุมีผลและปฏิเสธไม่ได้ คือถ้าเราไปพูดความจริง ไปขัดขวางในสิ่งที่ผู้มีอำนาจรับไม่ได้ เขาจะใช้ความป่าเถื่อนความไร้อารยธรรมไม่มีศีลธรรมมาทำร้ายเรา ซึ่งนี่มันเป็นเหตุเป็นผล แต่ป้าคิดว่าสังคมเราจะดีขึ้น ประชาชนเดี๋ยวนี้ไม่ยอมรับความคิดความเชื่อ วัฒนธรรมเดิมๆ อีกต่อไปแล้ว

แปลว่ายังมีหวังกับประเทศนี้

มีหวังสิ ป้าคิดว่าอีกไม่นานต้องเปลี่ยนไปในทางที่ดี แนวคิดของประชาชนตั้งแต่คนรากหญ้าเขารับไม่ได้กับความเห็นแก่ตัว ขูดรีดขูดเนื้อ ไม่เห็นอกเห็นใจ และซ้ำเติมประชาชน

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ‘ครูปราณี’ คนนี้ยังจะยืนหยัดอยู่ข้างนักปฏิวัติอย่าง ‘คุณสุรชัย’ อยู่ไหม

ยืนหยัด เพราะป้ารักที่เขาเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม เห็นใจคนยากไร้ ไม่เห็นแก่ตัว ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ป้าก็ไม่คิดว่าตัวเองคิดผิด ไม่เคยเสียใจเลย

Fact Box

  • ภายหลังที่ สุรชัย แซ่ด่าน (ด่านวัฒนานุสรณ์) ถูก ‘อุ้มหาย’ ปราณีได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิให้สามีของเธออย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการยื่นหนังสือเรียกร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผ่านไปแล้วกว่าสามปี ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
  • ปัจจุบัน ปราณียังต้องจ่ายค่าปรับศาลในคดีที่ อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำ นปช.และพวก ขึ้นไปยื่นหนังสือบนโรงแรมรอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา ซึ่งสุรชัยไม่มีส่วนร่วมกับคดีดังกล่าว แต่ถูกกล่าวหาและเสียค่าปรับเพราะไม่ได้มาขึ้นศาล เนื่องจากลี้ภัยอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนลาว ปราณีมีรายรับเพียงแค่เบี้ยผู้สูงอายุในแต่ละเดือน และปล่อยบ้านให้เช่าเพื่อหารายได้เพิ่มเดือนละ 4,000 บาท นานๆ ครั้งที่เธอขายหมวกดาวแดงหรือหนังสือของสุรชัยได้ จึงจะมีเงินเพิ่มเติมเพื่อจ่ายค่าปรับ
  • หากใครสนใจ สามารถติดต่อสั่งซื้อหมวกดาวแดงและหนังสือของ สุรชัย แซ่ด่าน ได้ทางโทร. 09-2963-9550 
Tags: , , , ,