“ช่างเป็นปีที่ไม่ควรจะมีความยินดีปรีดากับความสำเร็จของตัวเองเอาเสียเลย อย่างที่เราทราบกันดี ทุกคนกำลังเผชิญกับความยากลำบากในระดับที่แตกต่างกันไป แต่ทุกคนก็ต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 นอกจากนั้นก็ยังมีปัญหาอื่นๆ มีวิกฤติการเมือง มีปัญหาความถดถอยของประชาธิปไตย การถูกกดขี่โดยอำนาจเผด็จการ ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับงานศิลปะและงานเขียน นั่นก็คือการถูกลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในการแสดงออก ในการแลกเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองที่ต่างไปจากสิ่งที่อำนาจต้องการให้เราเป็น”

ส่วนหนึ่งจากถ้อยคำของ ‘ปราบดา หยุ่น’ นักเขียนรางวัลซีไรต์ และผู้กำกับภาพยนตร์ ในวิดีโอความยาวเกือบแปดนาที ที่บันทึกไว้สำหรับเผยแพร่ในงานประกาศรางวัลฟุกุโอกะไพรซ์ 2021 (Fukuoka Arts and Culture Prize 2021) ที่เขาได้รับรางวัลดังกล่าวในสาขาศิลปวัฒนธรรม และนับเป็นคนไทยคนที่ 3 ที่ได้รับรางวัลในสาขานี้ ต่อจากถวัลย์ ดัชนี (2001) และอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (2013)

ในวัย 48 ปี ชื่อของปราบดายังคงน่าสนใจสำหรับนักอ่าน เขายังคงมีผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานเขียน และงานศิลปะอื่นๆ และอาจเพราะเขาไม่ได้ให้สัมภาษณ์บ่อยครั้งนัก การได้ฟังถ้อยคำสั้นๆ ในวิดีโอประกาศรางวัลดังกล่าว สะท้อนภาพความคิดของเขาที่มีต่อสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้อย่างเด่นชัด จึงน่าสนใจที่ The Momentum จะนำมาต่อยอดบทสนทนา

ท่ามกลางสภาวการณ์ของโรคระบาด การเคลื่อนไหวทางสังคมของประเทศไทย และวิกฤติทางการเมืองจากการปกครองของเผด็จการ ที่ก่อให้เกิดบรรยากาศหดหู่และกดดันสำหรับผู้คน โดยเฉพาะนักสร้างสรรค์ทางความคิดและศิลปะ ปราบดา หยุ่น ได้มาร่วมสนทนากับ The Momentum เพื่อวิเคราะห์ วิพากษ์ ถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะการปะทะกันของแนวคิด ‘เผด็จการ’ กับ ‘เสรีนิยม’ ที่เป็นขั้วตรงข้าม และทำให้สังคมไทยต้องติดหล่มมาเนิ่นนาน รวมไปถึงการลุกขึ้นของ ‘มวลชนคนรุ่นใหม่’ ที่ลุกขึ้นต่อกรกับ ‘อำนาจเก่า’

ก็เป็นอย่างที่เขาว่า, “ช่างเป็นปีที่ไม่ควรจะมีความยินดีปรีดากับความสำเร็จของตัวเองเอาเสียเลย” โดยเฉพาะในยุคสมัยที่กลิ่นอายของความสิ้นหวังปกคลุมอยู่หนาแน่นเช่นที่เป็นอยู่

แต่อย่างน้อยที่สุด การเคลื่อนไหวของพลังคนรุ่นใหม่ก็กำลังพาความหวังใหม่ๆ มาปลุกสังคมไทยให้ ‘ตื่น’ และ ‘ยืนขึ้น’ เพื่อที่สักวันหนึ่ง เราอาจจะได้ยินดีปรีดากับความสำเร็จของมวลชนร่วมกัน

สักวันหนึ่ง, หวังว่า

ชีวิตของคุณช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง เห็นว่ากำลังจะมีซีรีส์ทางเน็ตฟลิกซ์ด้วย

ใช่ เราโชคดีที่ได้ทำงานซีรีส์กับเน็ตฟลิกซ์ ชื่อ Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง จะออนแอร์วันที่ 23 กันยายนนี้ ช่วงที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็เลยยุ่งกับโปรเจ็กต์ซีรีส์ที่ว่า คือก่อนหน้าโควิดเรามีโปรเจ็กต์ที่กำลังเริ่มทำกับศิลปินญี่ปุ่นและศิลปินเบลเยียม แต่ว่าตอนเกือบจะเริ่มโปรเจ็กต์ โควิดก็มาพอดี แล้วโปรเจ็กต์นั้นจำเป็นต้องเดินทาง พอเดินทางไม่ได้เลยต้องหยุดไว้ก่อน ทีนี้ตอนที่เริ่มมีมาตรการล็อกดาวน์ครั้งแรก เน็ตฟลิกซ์ก็ติดต่อมาพอดี เลยได้เริ่มงานตั้งแต่ตอนนั้น ตั้งแต่เริ่มคิด เริ่มเขียน และกระบวนการต่างๆ จนมาถึงตอนนี้ที่ซีรีส์กำลังจะฉาย รวมแล้วใช้เวลาประมาณปีกว่าๆ

แล้วงานเขียนล่ะ คุณเองมีช่วงเวลาได้หยุดคิดเพื่อเขียนงานใหม่บ้างไหม

เขียนอยู่ครับ ความจริงสิ่งที่ทำเยอะมากตอนอยู่บ้านช่วงโควิด คืออ่านหนังสือ แต่ก็อ่านเพื่อเขียนด้วย เป็นงานเล่มใหม่ที่กำลังเขียน หวังว่าน่าจะเสร็จภายในปีนี้ ข้อมูลเยอะเลยยังไม่ค่อยอยากจะรับปากกับใครว่าจะเสร็จ (หัวเราะ) แต่ก็ควรจะเขียนเสร็จภายในปีนี้

ในฐานะที่คุณอยู่ในแวดวงคนเขียนหนังสือ ช่วงโควิดที่ผ่านมาได้รับผลกระทบหรือต้องปรับตัวอย่างไรบ้างไหม

ในมุมของคนเขียนหนังสืออิสระ ซึ่งอาจจะแตกต่างกับคนเขียนหนังสือแบบอื่นๆ เราคิดว่าไม่ต่างไปจากวิถีชีวิตปกติ เพราะว่าการเขียนหนังสือเป็นงานที่ทำกับตัวเองคนเดียว ส่วนใหญ่นักเขียนจะเขียนงานที่บ้าน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่ใกล้เคียงกับการล็อกดาวน์มากๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันไม่มีใครมาบังคับให้ต้องล็อกดาวน์ ให้ต้องอยู่กับบ้านอย่างเดียว เพราะฉะนั้น ในแง่ความรู้สึก ในแง่จิตวิทยาจะต่างไป เพราะว่าถึงแม้โดยรูปธรรมมันไม่ได้แตกต่าง แต่ในแง่ความรู้สึกของการออกไปไหนไม่ได้ หรือการต้องระมัดระวังเรื่องการระบาดของโรคก็อาจจะต่างไปบ้าง แต่เราคิดว่าโดยวิถีชีวิตไม่ต่าง เราค่อนข้างจะคุ้นชินกับการอยู่คนเดียวและทำงานโดดเดี่ยวอยู่แล้ว

ขอถามคำถามแห่งยุคสมัย คุณฉีดวัคซีนแล้วหรือยัง

ฉีดเข็มแรกแล้วครับ

ตลอดช่วงปีนี้ที่ผ่านมา เราได้เห็นว่าบ้านเมืองอยู่ในบรรยากาศไม่ค่อยจะสู้ดีเท่าไร โดยเฉพาะตั้งแต่มีโควิด ภาพความล้มเหลวหรือการบริหารจัดการของรัฐบาลในเรื่องต่างๆ หรือเรื่องความรุนแรงต่างๆ ยิ่งชัดขึ้น คุณได้ติดตามสถานการณ์บ้านเมืองมากน้อยขนาดไหน

เราติดตามตลอด หลีกเลี่ยงไม่ได้ และก็มีประเด็นทางสังคมมากมายที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด ในช่วงที่เราเผชิญกับวิกฤตโรคระบาด เรียกว่า ‘บรรยากาศไม่ค่อยจะสู้ดี’ นี่ฟังดูดีเกินไปนะ (หัวเราะ) จริงๆ อาจจะต้องเรียกว่าเป็น ‘หายนะ’ ในแง่ความสนใจส่วนตัวของเรา มันต่อเนื่องมาจากสิ่งที่คิด สิ่งที่ทำ และสิ่งที่เขียนอยู่แล้ว ตั้งแต่ก่อนที่จะมีโควิด เราได้เขียนหนังสืออกมาเล่มหนึ่ง ชื่อ เสรีนิยมยืนขึ้น เนื้อหาเกี่ยวกับการสังเกตวิถีชีวิตและแนวคิดสังคมการเมืองของคนที่อยู่ในสังคมจารีต แต่มีแนวคิดหรือมีทัศนคติต่อโลก ต่อชีวิต ในลักษณะที่เป็นเสรีนิยม ซึ่งก็เชื่อมโยงกันพอดีกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้

ต้องบอกว่าเราเองไม่ใช่คนที่แอกทีฟเท่าไรในแง่ของการปฏิบัติ ทำแค่นั่งคิดนั่งเขียนอยู่กับบ้านเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น การติดตามหรือความสนใจของเราจะมีระยะห่างอยู่บ้าง มันมีหลายความรู้สึกที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา มีทั้งความตื่นเต้นกับความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าบางคน มันเป็นการผสมผสานระหว่างยุคสมัย และมีหลายเรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย ที่อาจจะไม่ค่อยมีการพูดถึงกัน หรือไม่ค่อยกล้าพูดถึงกันมาก่อน ก็ถูกนำมาพูดถึงในที่แจ้งอย่างชัดเจนโดยคนรุ่นใหม่ที่มีความกล้าหาญหลายๆ กลุ่ม อันนี้เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับเรา ในฐานะที่เป็นคนที่สังเกตการณ์แล้วก็คิดเรื่องเหล่านี้มาตลอด

บรรยากาศสังคมขณะนี้ ความจริงแล้วก็นับเป็นผลพวงที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2557 และการเข้าสู่อำนาจของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้อนกลับไปก่อนที่จะมีโควิด ในช่วงที่สังคมเริ่มอยู่ภายใต้ คสช. คุณรู้สึกอย่างไรกับบรรยากาศสังคมไทย

โดยส่วนตัว เราอยู่ในความหดหู่มาตั้งแต่ที่เกิดรัฐประหารครั้งล่าสุด จำได้เลยว่าวันที่เกิดรัฐประหาร สิ่งแรกที่ทำคืนนั้นคือเสิร์ชอินเทอร์เน็ตหาว่าประเทศไหนเข้าง่ายบ้าง (หัวเราะ) คือตอนนั้นตั้งใจอพยพเต็มที่แล้ว ซึ่งก็ได้ข้อมูลมาเยอะ แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ได้ง่ายแบบนั้น เราทำไปเพราะความหดหู่ เพราะความหมดหวังในสังคมบ้านเรา

มันมีเหตุการณ์ซ้ำซากหลายครั้ง เรื่องการรัฐประหาร เรื่องการแย่งชิงอำนาจ เรื่องการปะทะกันระหว่างประชาธิปไตยกับอำนาจนิยมเก่า ทำให้เกิดความหดหู่มาตลอด เราพยายามที่จะหาช่องทางหรือจัดการกับความรู้สึกของตัวเองผ่านการทำงานแทน เพราะตอนนั้นเราคิดว่าเราเป็นคนกลุ่มน้อย เรามีทัศนคติแบบนั้นมาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ที่เริ่มทำงานก็รู้สึกว่า คนที่มีทัศนคติแบบเราหรือว่าคิดคล้ายๆ กันกับเราไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของสังคมไทย

แต่พอมันเกิดความเคลื่อนไหวใหม่ๆ โดยกลุ่มเยาวชน กลุ่มคนรุ่นใหม่ ก็ทำให้เรามีความตื่นเต้นกับอนาคตของชาติขึ้นบ้าง คืออย่างน้อยไม่รู้สึกเป็นคนแปลกแยกเท่าไรแล้ว มันมียุคสมัยที่เรารู้สึกแปลกแยกมากๆ แต่ตอนนี้รู้สึกว่าเป็นเพื่อนกับเด็ก (หัวเราะ)

แต่ในการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ปัจจุบันก็ยังต้องปะทะกับอำนาจเก่าอยู่ดี

พอมีแรงปะทะกลับมาจากรัฐ จากฝั่งที่กุมอำนาจอยู่ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นอำนาจสืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร ความหดหู่ก็กลับคืนมา เพราะว่าเรารู้สึกว่า คนรุ่นอำนาจนิยมเก่าหรืออภิสิทธิ์ชนในสังคมไทยมีทิฐิอย่างมากในความต้องการที่จะครองอำนาจของตัวเอง และไม่ปล่อยให้สังคมได้เดินไปข้างหน้า หรือได้ถูกจัดการ ถูกบริหารโดยคนใหม่ๆ โดยความคิดใหม่ๆ โดยวิสัยทัศน์ที่ต่างไปจากเดิม โดยที่ยังสามารถประคองวัฒนธรรมประเพณีไทยต่างๆ ไปด้วยกันได้ มันดูไม่มีแนวคิดที่จะให้เกิดช่องทางนี้ได้เลย อย่างน้อยก็ในตอนนี้

แต่ถึงความรู้สึกหดหู่กลับคืนมา ความตื่นเต้นกับคนรุ่นใหม่ก็ยังคงอยู่ เรารู้สึกว่ามันเป็นสัญญาณที่ดีต่อประเทศ เพียงแต่ว่าโชคร้ายที่มันเกิดขึ้นในช่วงที่มีโรคระบาดไปทั่วโลก ก็ทำให้การขยับเขยื้อนทำอะไรต่างๆ ตามที่มันควรจะเป็นไปได้ดีกว่านี้ ถูกชะลอโดยวิกฤตด้านอื่นๆ ที่เราควบคุมไม่ได้

ก่อนหน้านี้คุณได้รับรางวัลฟุกุโอกะไพรซ์ 2021 และในคลิปวิดีโอที่บันทึกข้อความสำหรับการรับรางวัลดังกล่าว คุณพูดถึงปัญหาด้านการเมืองและเรื่องประชาธิปไตยที่ถดถอย เรื่องเหล่านี้สำคัญสำหรับคุณอย่างไร จึงใช้สปอตไลต์จากเวทีโลกในการพูดถึงปัญหาในประเทศไทยให้คนได้รับรู้ในวงกว้าง

มิติในเรื่องปัจเจก ในความรู้สึกส่วนตัวของความเป็นประชาชนคนหนึ่งในสังคม มันสำคัญแค่ตรงที่ว่า เราอยากอยู่ในสังคมที่ดี ในสังคมที่เจริญทางปัญญา เจริญทางจิตใจ และให้โอกาสกับคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันในการเติบโต ไม่ว่าทางด้านไหนก็ตาม ทางเศรษฐกิจ ทางความคิด ทางการสร้างสรรค์

แน่นอนว่าในมุมคนทำงานศิลปะ เราก็ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ ซึ่งอาจจะมากกว่าเรื่องอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเรื่องอื่นๆ ไม่สำคัญ เราคิดว่าถ้าสังคมไทยเปิดกว่านี้ สังคมไทยเป็นสังคมที่ให้คุณค่ากับความเป็นประชาธิปไตย ความเท่าเทียมทางสิทธิ และการเติบโตโดยเสรีของคนทุกคน เมืองไทยก็มีแนวโน้มที่จะเป็นสังคมที่เจริญได้มากๆ สังคมหนึ่ง เพราะว่าเราไม่ได้ขาดแคลนอะไรในแง่ทรัพยากร หรือแม้แต่ทรัพยากรคน คนไทยเก่งๆ มีมากมายที่เราเห็น เพียงแต่ว่าเรายังถูกระบบและโครงสร้างเดิมกดทับเอาไว้ ซึ่งมันก็น่าเสียดาย น่าเสียใจ

โดยเฉพาะเมื่อมีเหตุการณ์รุนแรงที่ชัดเจนว่ามันเป็นการกระทำอันไม่ยุติธรรมโดยฝั่งอำนาจ มันยิ่งรู้สึกแย่ ยิ่งรู้สึกหดหู่ เพราะเรารู้สึกว่าไม่มีความจำเป็นอะไรเลยที่จะต้องเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น ปัญหาในสังคมไทยส่วนใหญ่ เป็นปัญหาที่แก้ไขได้โดยกระบวนการต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในสังคมที่มีอารยะ ไม่ว่าจะเป็นด้านกฎหมายที่ยึดถือความเป็นธรรมอย่างแท้จริง หรือว่าระบบทางรัฐสภา ถ้าคนที่มีอำนาจทางการเมืองให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นอันดับแรกจริงๆ ทุกอย่างไม่ได้ยากในการแก้ไข ในการเดินไปข้างหน้า และไม่จำเป็นที่จะต้องมีความรุนแรงใดๆ ทั้งสิ้น

แต่ที่ผ่านมามันมีปัญหาเพราะฝั่งอำนาจเก่ามีความอ่อนไหวและเปราะบางมาก เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อถูกท้าทาย เมื่อรู้สึกว่าถูกคุกคามโดยความเป็นสมัยใหม่ ความคิดใหม่ๆ ความคิดที่เน้นเสรีภาพ เขาจึงโต้ตอบอย่างรุนแรงเกินไป เกินความจำเป็น และพยายามที่จะดึงสังคมไทยเอาไว้ให้เหมือนเป็นยุคสมัยที่เขาคิดว่าเป็นยุคทอง ยุครุ่งเรืองของเขา หรือพยายามจะดึงมันกลับไปให้เก่ากว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะมีมายาคติยึดติดบางอย่างว่าสังคมไทยที่ดีควรจะเป็นอย่างไร แทนที่จะมองไปข้างหน้า อันนี้เป็นกรอบความคิดที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ในสังคมที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ปัญหาไม่ได้มาจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ ไม่ได้มาจากฝั่งที่เรียกร้องประชาธิปไตย เพราะว่าสิ่งที่เขาเรียกร้องหรือว่าสิ่งที่หลายๆ คนอยากเห็นเมืองไทยเป็น มันมีตัวอย่างมากมายในโลกนี้ ที่ให้การยืนยันได้ว่ามันไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ตรงกันข้าม เป็นทางที่ดีกว่าด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ความเจริญ ในแง่ปากท้องของประชาชน ความเหลื่อมล้ำ การแก้ปัญหาความยากจนต่างๆ มันมีตัวอย่างที่เราสามารถหยิบยืมมาใช้ได้จากสังคมอื่น ที่เขาเห็นความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้

แต่ทุกวันนี้ยังคงเต็มไปด้วยคนเก่าหรือคนที่ยึดติดกับกรอบความคิดแบบเก่า ที่ไม่ยอมปล่อยให้สังคมไทยดำเนินไปในทางอื่น มันจึงยังติดหล่มอยู่ตรงนี้อยู่ ซึ่งน่าเสียดายและน่าเสียใจ แต่ต้องบอกว่ามุมมองหรือสิ่งที่เราพยายามนำเสนอ แม้แต่ในหนังสือ เสรีนิยมยืนขึ้น มันเป็นข้อสังเกตจากการศึกษาประวัติศาสตร์ จากการศึกษาสภาพสังคมการเมืองโดยรวม หมายถึงในแง่ของความเป็นสากล ไม่ใช่ทัศนคติส่วนตัวของเราเองทุกเรื่อง

ถ้าอย่างนั้นคุณขีดเส้นเสรีนิยมในความหมายของตัวเองว่าอย่างไร และอยากนำเสนออะไรในความหมายของคำว่าเสรีนิยม

เราต้องยอมรับว่าสังคมเต็มไปด้วยมนุษย์ที่มีความหลากหลาย ความหลากหลายมันซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะเข้าใจด้วยซ้ำว่ามันหลากหลายแบบไหน แม้แต่ตัวเราเองในฐานะปัจเจกบุคคล เรายังไม่เข้าใจตัวเองอย่างละเอียดได้เลย มันมีความซับซ้อนขนาดนั้น เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราพยายามจะเสนอจะเป็นการนำตัวอย่างและการพิจารณาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต ในประวัติศาสตร์ มาสะท้อนปัญหาและสะท้อนพฤติกรรมของคน หรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

มันไม่ได้แปลว่าเราเห็นด้วยกับทุกอย่าง อย่างเช่นคำว่า ‘เสรีนิยม’ บางคนที่เรียกตัวเองว่าอยู่ฝ่ายซ้ายก็อาจจะไม่ชอบด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นคำที่ถูกใช้ไปกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจบางอย่างไปแล้ว ซึ่งมันก็มีหลายคนที่เห็นว่าเสรีนิยมไม่ใช่ทางออก เสรีนิยมจะนำมาซึ่งความเป็นเผด็จการอีกแบบหนึ่ง คือเผด็จการทุนอะไรต่างๆ ซึ่งอันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สิ่งที่เราต้องการพูดถึงมันเป็นความหมายของเสรีนิยมที่พื้นฐานกว่านั้น

เราคิดว่าในสังคมที่แนวคิดเกี่ยวกับเสรีภาพเปิดกว้าง มีการยอมรับว่ามนุษย์มีความแตกต่าง มีการยอมรับว่าหลายๆ เรื่องที่เราเรียกว่าเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นสิ่งสมมติขึ้นโดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งในยุคสมัยหนึ่ง และไม่จำเป็นว่าคนกลุ่มนั้นหรือแนวคิดแบบนั้นจะต้องถูกเสมอไป หรือจะถูกต้องในทุกๆ ยุคสมัย เพราะฉะนั้น เมื่อสังคมเปลี่ยน โลกเปลี่ยน เราก้าวไปข้างหน้าตลอด ย่อมต้องมีบางเรื่องที่เราต้องพิจารณาใหม่ เราต้องปฏิรูป เราต้องแก้ไข หรือกระทั่งต้องตัดทิ้งไป เพราะว่ามันใช้ไม่ได้แล้วกับยุคสมัยใหม่ของเรา

ดังนั้นสังคมในโลกนี้ เราจะสังเกตว่า ประเทศหรือสังคมที่เราเรียกว่าโลกที่หนึ่ง หรือที่เจริญแล้ว หรือที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยกว่าเรา เราจะเห็นว่าเขาได้ยอมรับสิ่งเหล่านี้แล้ว เขาอยู่ร่วมกับวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมได้ในเชิงสัญลักษณ์ ในเชิงจิตใจ ว่าครั้งหนึ่งชาติเขาเคยมีความหมายว่าอย่างไร แต่ในปัจจุบันก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีความหมายเช่นเดิมอีกต่อไป

มันคือความแตกต่างของสังคมจารีตที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ขณะที่ในสังคมทุกวันนึ้มีผู้คนที่เชื่อในแนวคิดเสรีนิยมมากขึ้น

ใช่ เสรีนิยมในที่นี้หมายถึงยอมรับและเข้าใจในความแตกต่างทางความคิดของคน และไม่คิดว่าความแตกต่างเหล่านั้นคือศัตรูหรือปัญหา หรือเป็นการคุกคามความคิดของตัวเอง ซึ่งแม้แต่ในสังคมไทยก็มีความเปลี่ยนแปลงมาตลอด บางเรื่องอำนาจนิยมอาจจะยอมให้เกิดขึ้นได้ไม่ยาก เช่น มักจะมีคนตั้งข้อสังเกตว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศสภาพมากกว่าที่อื่น เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้บางสังคมยังถือว่าเป็นเรื่องต้องห้ามอยู่ หรือมีทัศนคติที่ไม่เปิดกว้างเท่าเรา ดังนั้นในสังคมไทยเองก็มีบางเรื่องที่เรามีความเปิดกว้างกว่าที่อื่น

เราคิดว่าถ้าอำนาจนิยมเก่ายอมรับตรงนี้และเข้าใจประเด็นเหล่านี้ มันจะทำให้ปัญหาลดลงมาก และวิธีคิดแบบเขาก็จะยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้อย่างแข็งแรงด้วยซ้ำ ทุกวันนี้ที่คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม และถูกกดขี่มากๆ เพราะมันไม่มีการยืดหยุ่นตรงนั้นเลย

เราควรอยู่ในครอบครัวที่มีผู้ปกครองที่เปิดกว้าง พูดคุยกับเรา ยอมให้เราได้ทดลองสิ่งต่างๆ โดยไม่บังคับเราจนเกินไป ประคองไปด้วยกัน เขาอาจจะมีความเชื่อแบบหนึ่ง เราอาจจะอยากลองอีกแบบหนึ่ง ก็ได้รับอนุญาตให้ลองผิดลองถูก โดยไม่ตัดสินไปล่วงหน้าว่าสิ่งที่เราทำมันเลวหรือดี หรือเหมาะสมหรือเปล่า เพราะบางเรื่องต้องยอมรับจริงๆ ว่าไม่มีใครรู้ทุกอย่าง

ถ้าคนที่อยู่ในอำนาจยอมรับตรงนี้ได้ และมีพฤติกรรมแบบนี้ได้ มันไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่ประชาชนจะไม่นับถือชื่นชมเขา เราคิดว่านี่เป็นสิ่งที่อำนาจนิยมเก่าของไทยไม่เข้าใจ เขาไม่เข้าใจว่าความรักมาจากการให้เสรีภาพ เขาเข้าใจว่าเขาต้องบังคับให้รักอย่างเดียว

สามารถพูดได้ไหมว่าต้นตอที่ขัดไม่ให้แนวคิดแบบเสรีนิยมเติบโตในสังคมไทยคือจารีต ประเพณี การปกครองแบบอำนาจเก่า

ถ้าเรามองจากระยะห่างเราอาจจะคิดแบบนั้นได้ เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้มีชื่อกำกับ มีระบอบกำกับ มีตำแหน่งของคนกำกับอยู่ และมียศถาบรรดาศักดิ์ต่างๆ แต่ความจริงแล้ว ถ้าวิเคราะห์ใกล้ๆ เราคิดว่ามันอาจเป็นลักษณะเฉพาะบางอย่างของสังคมไทยด้วยซ้ำ เพราะตัวอย่างในสังคมอื่นที่มีระบอบคล้ายๆ กับเรามาก่อน เขาก็ยังเปลี่ยนแปลงได้ในทางที่ดีขึ้น และไม่จำเป็นต้องมีปัญหาติดหล่มเหมือนเรา

เราคิดว่ามันน่าจะมีจุดเปลี่ยนบางอย่างในประวัติศาสตร์ไทย ที่เป็นแรงขับและเป็นตัวแปรที่ทำให้ปัญหานี้ยังคงอยู่ อาจจะเป็นช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2475) ที่มีการปะทะกันระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ แล้วอำนาจเก่ากลับมามีบทบาท กลับมามีอำนาจในประเทศได้ มากกว่าอำนาจใหม่ที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงประเทศ ความพยายามที่จะยังรักษาอำนาจเก่าไว้ก็ยังคงอยู่ และยังถูกสืบทอดมาเรื่อยๆ จนถึงบัดนี้

แต่ถ้าพูดโดยกลไกอัตโนมัติของความเปลี่ยนแปลง ถึงวันหนึ่ง สิ่งต่างๆ ก็ต้องเปลี่ยน คุณคิดว่าตัวแปรที่จะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงคืออะไร

มันต้องเปลี่ยนแน่ๆ ในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นข้อสังเกตที่เราได้พูดถึงในหนังสือด้วยเช่นกัน ว่าสังคมไทยไม่ใช่สังคมปิดจากการสื่อสารกับโลก เราไม่ใช่เกาะที่โดดเดี่ยวอยู่กลางมหาสมุทรโดยที่ไม่ติดต่อกับประเทศอื่นเลย เพราะฉะนั้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย มันไม่ได้มีตัวแปรมาจากแค่สิ่งที่เกิดในสังคมไทยอย่างเดียว มันเป็นอิทธิพลจากต่างชาติ ต่างวัฒนธรรมด้วย เพราะฉะนั้น ในความเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วโดยอัตโนมัติ ก็จะมาจากข้างนอกด้วยเช่นกัน

มาถึงยุคสมัยนี้ มันไม่มีความเป็นไปได้อีกแล้วที่เราจะปิดประเทศ เพราะเราพึ่งพาต่างประเทศเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นในทางเศรษฐกิจ หรือว่าแม้แต่ฝั่งอำนาจเก่า เขาเองก็ต้องพึ่งพาต่างชาติ เพราะโดยลำพังเขาไม่สามารถที่จะอยู่ได้ สิ่งนี้แหละที่เป็นวิกฤติ คือเราจะเลือกไปทางไหนในความเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งตอนนี้แนวโน้มก็ไม่ค่อยดีเท่าไร เพราะนอกจากความเปลี่ยนแปลงในไทยที่ไม่ยอมให้เปลี่ยน เราดูเหมือนจะยังเลือกไปเจริญรอยตามประเทศที่เป็นเผด็จการด้วย

ประเทศไทยกำลังเจริญรอยตามประเทศที่เป็นเผด็จการอย่างไร ขอให้ขยายความหน่อย

ครั้งหนึ่งเราเคยปราบคอมมิวนิสต์จีน แต่ตอนนี้เราไปเข้ากับเขาแล้ว ตอนนี้เราอยากจะเจริญรอยตามเผด็จการทุนนิยมแบบจีน เพราะอำนาจเก่าเห็นว่ามันเป็นทางออกที่ยังทำให้เขาอยู่ในอำนาจได้ แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศเราก็ไม่ใช่ประเทศยากจนนัก คือในเชิงเศรษฐกิจมันเป็นเสรีนิยมได้ ในขณะที่การปกครองและการเมืองยังเป็นอำนาจนิยมอยู่ เราคิดว่าแนวโน้มดูเหมือนว่าเขาต้องการจะไปทางนั้น สิ่งที่น่ากลัวคือ มีความเป็นไปได้สูงที่จะสำเร็จ เพราะว่าจีนก็เป็นประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ในตอนนี้

มันเหมือนว่าประชาคมโลกจะถูกแบ่งอีกครั้งหนึ่ง เป็นฝั่งเสรีนิยมกับฝั่งเผด็จการ แต่ว่าในรูปแบบทั้งหมดก็เป็นทุนนิยมเหมือนกัน คือในแง่ของอำนาจทางเศรษฐกิจมันสู้กันได้ อันนี้คือสิ่งที่น่ากลัว เพราะสังคมไทยก็จะยังก้าวข้ามไปไม่พ้นความเหลื่อมล้ำ คนจน คนด้อยโอกาส หรือคนที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่เป็นอภิสิทธิ์ชน ก็จะยังถูกกดเอาไว้อยู่ดี

ในขณะที่คุณบอกว่าเรากำลังดำเนินรอยตามเผด็จการแบบจีน การลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ในทุกวันนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนได้ไหม หรือคุณมองว่าการเคลื่อนไหวอย่างสันติของคนรุ่นใหม่จะประสบความสำเร็จได้ไหม เพราะบางคนก็ตั้งข้อสังเกตว่า ในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา สันติวิธีอาจจะไม่ใช่ทางออก แต่ต้องมีความรุนแรงเกิดขึ้น ถึงจะสามารถเป็นจุดพลิกผันได้

จากการศึกษาหรือจากสิ่งที่เราอ่าน จากข้อสังเกตของนักประวัติศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการปฏิวัติ เขาว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมต่างๆ การเปลี่ยนแปลงมันจะเกิดขึ้นได้จริง ต่อเมื่อฝั่งที่อยู่ในอำนาจมีแนวโน้มที่จะอยากเปลี่ยนอยู่แล้ว

สมมติว่าดูเรื่องสถาบันกษัตริย์ไทย เราจะเห็นว่ามีบางช่วงที่สถาบันพระมหากษัตริย์ มีแนวโน้มที่จะเปิดประเทศให้มีเสรีนิยมมากขึ้น มีกษัตริย์บางพระองค์ที่คิดเรื่องนี้อยู่ หมายถึงว่า นั่นเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งในการบริหารประเทศของพระองค์ เช่น รัชกาลที่ 5 ทรงเลิกทาส สิ่งเหล่านี้ลงล็อกกับสิ่งที่นักประวัติศาสตร์สังเกตว่า ความเปลี่ยนแปลงจะง่ายขึ้นและเกิดได้จริงก็ต่อเมื่อสถาบันที่มีอำนาจที่สุดในสังคมมีแนวโน้มที่จะทำแบบนั้นอยู่แล้ว อาจจะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้เต็มใจทำนัก หรือไม่ได้ทำแบบหมดจดทันที แต่ถ้ามีแนวคิดอยู่มันจะง่ายขึ้น เมื่อมีการลุกฮือของประชาชน หรือเมื่อมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิ่งเหล่านี้

แต่ทุกวันนี้สังคมไทยดูจะไม่ใช่แบบนั้น ทุกสถาบันที่มีอำนาจหรือเป็นฝั่งจารีตของไทยดูไม่มีแนวโน้มที่อยากจะเปลี่ยนเลย แต่อยากกลับไปเข้มงวดแบบโบราณด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นอันนี้น่าจะยาก ในแง่ที่ถ้าถามว่าการเคลื่อนไหวของม็อบ หรือของนักประท้วง นักเคลื่อนไหวต่างๆ ที่ออกมาเรียกร้องจะสำเร็จไหม

การที่ฝั่งที่มีอำนาจไม่มีแนวโน้มจะเปลี่ยน อาจจะทำให้การเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ไม่มีทางประสบความสำเร็จ พูดอย่างนี้ได้ไหม

เป็นไปไม่ได้เลยไหม ก็ไม่เชิง ไม่มีอะไรที่เราจะคาดเดาได้ 100 เปอร์เซ็นต์ มันอาจจะมีเหตุการณ์บางอย่างที่เราคาดไม่ถึง หรือมีตัวแปรบางอย่าง ซึ่งอาจจะมาจากวิกฤตของโลก เหมือนโรคระบาด หรืออะไรบางอย่างที่มาเป็นตัวแปรใหม่ให้กับสังคมไทยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อันนี้เราไม่รู้

แต่จากการศึกษาประวัติศาสตร์ในสังคมอื่นๆ หนึ่งคือ ถ้าฝั่งอำนาจไม่มีแนวโน้มจะเปลี่ยนก็ยากที่จะเปลี่ยน สองคือ ถ้าจำนวนของประชาชนที่เรียกร้องความเปลี่ยนแปลงไม่มากพอก็ยาก เคยมีการคำนวณกันว่าต้องมีคนออกมาเกินกี่เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศถึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าเป็นประเทศไทยก็น่าจะต้องมีคนออกมาเดินขบวนประมาณ 2-3 ล้านคน ซึ่งน่าจะเป็นไปได้ยาก

เพราะฉะนั้น ถ้าคนที่เรียกร้องความเปลี่ยนแปลงยังถูกมองว่าเป็นชนกลุ่มน้อย ฝั่งอำนาจก็จะมีข้ออ้างว่า นี่ไม่ใช่ความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งอาจจะไม่จริงก็ได้ เพราะประชาชนส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้ออกมาเรียกร้อง แต่ประชาชนที่เห็นด้วยว่าควรจะเปลี่ยนแปลงก็อาจจะมีจำนวนมากกว่าที่คิด ซึ่งเราคิดว่ามีเยอะพอสมควร

อีกอย่างหนึ่งที่น่าสังเกตคือ ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นอนุรักษนิยมหรือเป็นจารีตนิยมก็มีจำนวนมากที่รับความเปลี่ยนแปลงได้ สมมติว่าข้อเรียกร้องต่างๆ ได้รับการยอมรับ สมมติว่ารัฐไทยยอมปฏิรูปสิ่งต่างๆ ที่ม็อบเรียกร้อง ก็ไม่ได้แปลว่าฝั่งอนุรักษนิยมทุกคน หรือว่าฝั่งขวาทุกคนจะออกมาต่อต้าน มันก็จะมีคนจำนวนมากที่เป็นอนุรักษนิยมที่คอยดูสถานการณ์เฉยๆ แล้วหากการเปลี่ยนแปลงนั้นมันดีขึ้น ทำให้สังคมเจริญขึ้น ทำให้ปากท้องคนดีขึ้น คนรวยขึ้น เขาก็จะยอมรับได้ไปเอง อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ที่เขาขึ้นจากหล่มนี้ได้

ถึงจุดหนึ่ง เมื่อมีการพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมว่าแนวคิดเสรีนิยมหรือการเปิดกว้างมากขึ้นทำให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแรง มีอนาคตที่ดีขึ้น ประเทศเจริญขึ้น มันก็ไม่มีอะไรจะมาเป็นข้อโต้แย้งได้ คือการทำให้เห็นเป็นรูปธรรมดีที่สุด การพูดอย่างเดียว พูดอะไรก็ได้ คุณวาดภาพอนาคตอันสวยหรูแบบไหนก็ได้ แต่ถ้าไม่มีหลักฐาน ถ้ายังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ มันก็พูดยากว่าอะไรจะเป็นไปได้จริง หรืออะไรจะเป็นไปไม่ได้

คุณคิดว่าประเด็นไหนที่เราควรพูดถึง ควรให้สปอตไลต์ หรือควรผลักดันมากที่สุดในแนวคิดเสรีนิยม

ถ้าในมุมของการยึดถือสันติวิธี และการประนีประนอม สิ่งที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เรายังรู้สึกว่าการเขียนหนังสือเสนอความคิดเห็นเหล่านี้ หรือการทำงานศิลปะด้านใดก็ตามที่พูดถึงสิ่งเหล่านี้ ยังไม่ไร้ประโยชน์จนเกินไป เพราะเห็นชัดอยู่แล้วว่าศิลปวัฒนธรรมมีอิทธิพลต่อความคิดของคนมาก ยกตัวอย่างง่ายที่สุดก็คือการชูสามนิ้ว ซึ่งมาจากศิลปวัฒนธรรม การเสพงานศิลปะ การเสพงานบันเทิง การอ่านหนังสือ การฟังเพลง มันมีอิทธิพลกับคนมากๆ โดยเฉพาะคนที่เป็นเยาวชน

นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่เราชอบและให้การสนับสนุนติดตามกลุ่ม ‘นักเรียนเลว’ มากเป็นพิเศษ เพราะเรารู้สึกว่าการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มนี้ หรือวิธีคิดของเขา เจาะเข้าไปถึงต้นตอและหัวใจของปัญหา ที่มันอาจจะใช้เวลาในการแก้ไข แต่มันเป็นแกนกลางที่สำคัญ คือถ้าเรื่องวัฒนธรรมแข็งแรง มันจะกระจายตัวออกไปเอง ถ้าคนไทยหรือสังคมไทยโดยลึกๆ มีความเชื่อในการเปิดกว้าง ในแนวคิดเสรีนิยม ในความเท่าเทียมกันของความเป็นมนุษย์ เรื่องอื่นๆ มันจะตามมาจากทัศนคติแบบนี้เอง

แต่ทุกวันนี้เรายังมีคนจำนวนมากเกินไปที่ยึดติดกับแนวคิดจารีตนิยม โดยที่ไม่คำนึงถึงเหตุผลหรือตรรกะใดๆ มันจึงยังคงมีปัญหานี้อยู่ ที่เขาเรียกการยอมเป็นทาสด้วยตัวเอง คือรู้สึกชื่นชม ซาบซึ้ง โรแมนติกกับการอยู่ใต้อำนาจของใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งก็เป็นแก่นที่ทำให้เรื่องอื่นๆ ในสังคมเป็นแบบนี้เหมือนกัน มันถูกกระจายออกมาจากทัศนคติหรือกรอบความคิดของคนที่ถูกฝังอยู่ลึกๆ

มันมีคำอธิบายเรื่องแนวคิดจารีตนิยมของการยอมเป็นทาสด้วยตัวเองไหม

ในมุมมองทางประวัติศาสตร์ที่มองว่า มีความรู้สึกรวมหมู่ที่เป็นความรู้สึกจากจิตใต้สำนึก เขาจะอธิบายว่ามีหลายอย่างที่เราทำ หรือพฤติกรรมของคนในสังคม ที่เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเรากำลังทำอยู่ มันถูกครอบงำโดยอำนาจที่ถูกปลูกฝังมา เราเชื่อว่าปัญหาตรงกลางของสังคมไทยคือเรื่องนี้ เรื่องที่หลายๆ คนยอมรับการตกอยู่ใต้อำนาจของคนอื่นโดยที่ไม่ได้คิดถึงมันด้วยซ้ำ

โดยเฉพาะการให้ค่ากับยศถาบรรดาศักดิ์หรือยูนิฟอร์มราวกับว่ามันเป็นเรื่องจริง ราวกับว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องสมมติ คนเป็นครูแปลว่าต้องน่านับถือ คือทุกอย่างมาพร้อมกับสูตรสำเร็จของแนวคิดว่าคุณควรจะคิดอย่างไร คุณควรจะทำอะไร ปฏิบัติอย่างไรกับคนที่อยู่ในตำแหน่งนั้น ซึ่งยังไม่ถูกคลี่คลายออกมา เราเชื่อว่าถ้าเราเน้นเรื่องศิลปวัฒนธรรม เน้นเรื่องการมองโลกให้เข้มแข็ง ถึงจุดหนึ่งคนที่มองแบบจารีตนิยมก็จะกลายเป็นคนส่วนน้อยของสังคม พอเขาเป็นคนส่วนน้อยของสังคม เขาก็จะไม่มีแรงพอที่จะต้านความเปลี่ยนแปลงได้

เราจึงให้ความสำคัญกับเรื่องวัฒนธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าเราคิดว่าทำแค่นี้ก็พอ เพียงแต่ว่าโดยปัจเจกเราให้ความสำคัญและให้ความสนใจกับเรื่องนี้เป็นหลัก เพราะฉะนั้นเราก็อาจจะศึกษาหรือคิดเรื่องนี้มากหน่อย แต่ในขณะเดียวกันก็เข้าใจด้วยว่าความเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น หรือว่าความเปลี่ยนแปลงที่มันจะเกิดขึ้นได้เร็วจริงๆ ก็ต้องมาจากการเมือง มาจากนักการเมือง มาจากพรรคการเมือง มาจากนโยบายต่างๆ เพราะว่าเราอยู่ในระบอบนั้นใช่ไหม ฉะนั้นเราก็ควรจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการเมืองด้วย

เสรีภาพที่ค่อนข้างคับแคบและอ่อนแอในสังคมไทย ส่งผลอะไรต่ออาชีพการงานของคุณบ้าง

มีโดยตรงเลย (หัวเราะ) เกือบ 10 ปีที่แล้ว เราอยู่ในกลุ่มนักเขียนที่ออกมาเสนอว่ากฎหมายมาตรา 112 ควรจะถูกปรับแก้ ตอนนั้นมีสองแนวคิด คือแก้ไขกับยกเลิกไปเลย ซึ่งสองฝั่งนี้จะตีกันเองเล็กน้อย ถึงแม้ว่าจะเห็นด้วยว่ากฎหมายมาตรานี้มีปัญหา แต่วิธีการที่จะแก้เห็นไม่ตรงกัน ในตอนนั้นเราอยู่ฝั่งของการแก้ไข เพราะมองแบบความเป็นไปได้จริงในสังคมไทย ณ ตอนนั้น เรารู้สึกว่ายกเลิกไปเลยน่าจะหาแนวร่วมได้ยากมาก ถึงแม้เราจะคิดว่ายกเลิกไปเลยจะดีกว่า แต่น่าจะยากที่จะทำให้มันเกิดขึ้นได้จริงในแง่กระบวนการทางกฎหมาย ก็เลยออกมารณรงค์ให้แก้ไข

ตอนนั้นเราทำไปโดยความใสซื่อบริสุทธิ์มากๆ ในแง่ที่คิดว่าเป็นเจตนาดี คือในชีวิตปกติของเรา เราไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับคนเยอะ ต่อให้ดูเหมือนว่าทำงานในแวดวงสื่อหรือในแวดวงบันเทิงอะไรต่างๆ แต่โดยวิถีชีวิตจริงๆ เราไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับใครมาก เพราะฉะนั้นจะจับความรู้สึกไม่ได้ว่าประเด็นไหนในสังคมมันเปราะบางเป็นพิเศษ พอมีกรณีเรื่องมาตรา 112 ตอนนั้นเราคิดแค่ว่าการแก้ไขก็ดีกับทุกฝ่าย พูดง่ายๆ ว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดในทัศนคติของเรา ไม่ว่าจะเป็นมุมฝั่งสถาบันกษัตริย์เอง หรือว่าจะเป็นมุมฝั่งประชาชน หรือในแง่ของระบอบประชาธิปไตยอะไรต่างๆ เลยคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรที่จะรณรงค์หรือเสนอเรื่องนี้

แต่ตอนนั้นก็ได้สัมผัสกับความโหดเหี้ยมของ ‘ขวาไทย’ อย่างชัดเจน รุนแรง และเป็นบทเรียน ทำให้เรารู้ว่าโดยลึกๆ แล้ว ความเป็นจารีตนิยมของสังคมไทยฝังลึกแค่ไหน แล้วมันมีมิติที่ทับซ้อนกันอยู่กับโลกสมัยใหม่อย่างที่ต้องทำความเข้าใจถึงจะรู้ เพราะเวลาที่เราใช้ชีวิตปกติประจำวัน โดยเฉพาะในแวดวงการงานของเราเอง เราจะเจอแต่คนทันสมัย เราทำงานนิตยสาร ทำงานภาพยนตร์ มันมีแต่คนที่คิดว่าตัวเองทันสมัย เป็นสมัยใหม่ ทันยุค ทันเทรนด์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งแนวคิดตะวันตกก็รับได้ เป็นขบถอย่างนั้นอย่างนี้

แต่เอาเข้าจริง ประเด็นของสิ่งที่ฝั่งอนุรักษนิยมชอบเรียกว่าขนบธรรมเนียมประเพณีไทยอันดี มันเป็นสิ่งที่ฝังลึกมากๆ อยู่ในจิตสำนึกของสังคมไทย มันมีหลายๆ เรื่องที่เราแตะไม่ได้แม้แต่นิดเดียว เพราะเราจะกลายเป็นคนเลว เป็นคนชังชาติไปเลย เพราะฉะนั้น แม้แต่การออกมารณรงค์ว่ามาตรา 112 มีปัญหาและควรจะแก้ไข มันทำให้เพื่อนกลายเป็นศัตรู คนรังเกียจ คนเลิกจ้างงาน พูดง่ายๆ คือถูกมองว่าเป็นอาชญากร นั่นคือช่วงเวลาในชีวิตที่ทำให้ได้สัมผัสกับปรากฏการณ์ ‘ทัวร์ลง’ มาก่อนยุค (หัวเราะ)

ปรากฏการณ์ครั้งนั้นไม่ได้ทำให้คุณกลัวการพูดเรื่องมาตรา 112 ใช่ไหม เพราะสองปีก่อนที่มีกลุ่มนักเขียนร่วมลงชื่อให้มีการยกเลิกมาตรา 112 ก็มีชื่อของคุณร่วมอยู่ด้วย

ถามว่ากลัวไหม ไม่ได้กลัวในการแสดงความเห็น เพราะเรารู้ตัวเองว่าสิ่งที่พูดหรือสิ่งที่คิดมันไม่ได้มาจากเจตนาร้าย หรือความรู้สึกรังเกียจเดียดฉันท์ใดๆ เลย เรียกได้ว่ามันไม่ใช่เรื่องส่วนตัวเลยดีกว่า เราเองไม่จัดอยู่ในกลุ่มฮาร์ดคอร์ใดๆ ไม่ว่าจะในฝั่งไหน เพราะส่วนใหญ่เราคิดแบบพยายามทำความเข้าใจมากกว่า คือพยายามทำความเข้าใจสถานการณ์ พยายามทำความเข้าใจความแตกต่างหลากหลายของคน พยายามทำความเข้าใจความรู้สึกในมุมต่างๆ ของคน เป็นคนที่โดยปกติแล้วจะไม่สนใจเรื่องส่วนตัวของใครเลย เพราะฉะนั้นจะไม่ได้มุ่งไปในแง่ของการนินทาว่าร้ายใครลับหลัง ไม่มี เราไม่สนใจกรุ๊ปอะไรเหล่านี้ เราไม่เคยฟัง ไม่เคยเข้าร่วม

เราคิดแค่ในมุมของระบบ โครงสร้าง และแนวคิดมากกว่า ถึงได้บอกว่า พอมองแบบนี้ พอคิดเรื่องมาตรา 112 ยังไงแก้ก็ดีกว่า คือคิดในแง่ตรรกะกับเหตุผลอย่างเดียว ไม่ได้มีเรื่องอารมณ์ความรู้สึกอะไรมาเกี่ยวข้อง ไม่ได้มีเรื่องว่าใครอยู่ในอำนาจตอนนี้ ไม่มี เราเลยไม่กลัว ไม่ได้กลัวในแง่ที่ว่าเราไม่ได้เจตนาร้ายอะไรกับใคร

ในมุมของเรา ในแง่คนทำงานเขียน คนทำงานศิลปะ ถ้าไม่มีความเห็นอะไร หรือไม่มีการปะทะกับสถานการณ์อะไรในสังคม เราก็จะไม่ได้มีกิจกรรมอะไรที่เชื่อมโยงกับสังคมเลย เพราะฉะนั้น พอมีเรื่องเกี่ยวกับสังคม มันก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เราก็แค่สะท้อนวิธีคิดหรือความเห็นของเราออกไป ไม่ได้บอกว่าถูกต้องที่สุด ไม่ได้บอกว่าทุกคนควรจะเชื่อแบบนี้ แต่มันไม่ได้ถูกปรุงแต่งด้วยความคิดว่าต้องพูดในสิ่งที่คนอยากได้ยิน คือเราพูดตามความรู้สึก ตามสิ่งที่เราเรียนรู้มา ตามสิ่งที่เราศึกษาไปตรงๆ

ในยุคที่คุณทักษิณเป็นนายกฯ เราก็วิจารณ์เขาเหมือนกัน เราวิจารณ์นโยบาย วิจารณ์ความประพฤติในฐานะที่เขาเป็นนายกฯ ที่เป็นผู้มีอำนาจในยุคนั้น เป็นคนที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของคนในสังคม คือไม่ว่าใครที่อยู่ในตำแหน่งแบบนี้ก็ควรจะถูกวิจารณ์ได้ทั้งนั้น ตอนที่เขียนวิจารณ์คุณทักษิณบ่อยๆ ก็มีคนถามเหมือนกันว่าไม่กลัวเหรอ ปรากฏว่านั่นน่ากลัวน้อยกว่า (หัวเราะ) อย่างที่บอก มันเป็นความรู้สึกหดหู่มากกว่า ไม่ใช่ความกลัว

ผ่านมาสิบปีจากครั้งที่คุณโดนทัวร์ลงเรื่องแตะมาตรา 112 วันนี้สังคมเรายังพูดเรื่องเดิมอยู่เลย ในมุมของคุณ แนวคิดเสรีนิยมบ้านเราเหมือนจะไม่ได้พัฒนาขึ้นเลยหรือเปล่า

(หัวเราะ) ในมุมของเรามันพัฒนาขึ้นนะ เพราะความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ หลายเรื่องที่กลุ่มคนรุ่นใหม่พูด มันไม่เคยพูดได้ในยุคสมัยของเรา ในยุคสมัยที่เราอายุน้อยกว่านี้หรือเติบโตขึ้นมา มันแทบจะเรียกว่าเป็นสิ่งต้องห้าม เป็นทาบู (taboo) มากๆ ของสังคมไทย เพราะฉะนั้นหลายๆ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงปีสองปีที่ผ่านมา เป็นปรากฏการณ์ที่ให้ความหวังกับเราเยอะมาก

เพราะฉะนั้นจะเรียกว่าไม่เห็นการพัฒนาแนวคิดเสรีนิยมในสังคมไทยไหม ก็ไม่ใช่ มันพัฒนาเร็วกว่าที่เราคิดด้วยซ้ำ และเป็นการเกิดแบบการกระเพื่อมออกที่รุนแรง และจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ

แสดงว่าในแง่หนึ่งแนวคิดเสรีนิยมมีการพัฒนาขึ้น โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พยายามผลักเพดานในการพูดเรื่องต่างๆ ให้สูงขึ้น และกลายเป็นเรื่องที่พูดกันได้ในชีวิตปกติประจำวัน

ใช่ แล้วมันปรากฏในทุกสายงาน ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่าหัวรุนแรงหรือว่าฮาร์ดคอร์ คือเมื่อก่อนถ้าใครหัวก้าวหน้ามากๆ หรือพูดถึงการปฏิรูปสถาบันฯ การปฏิรูปกองทัพ จะถูกมองว่าเป็นพวกหัวรุนแรง ที่ทำได้อย่างมากคือคุยกันในกระทู้ลับอะไรทำนองนี้ เหมือนอยู่อีกโลกหนึ่ง ไม่ได้อยู่ในสังคมปกติ แต่ทุกวันนี้คนที่พูดเรื่องเหล่านี้อยู่ในทุกสายงาน ทุกอาชีพ นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้รู้สึกดี

โดยเฉพาะสายงานของเราเอง ในหมู่คนทำภาพยนตร์ ในหมู่นักเขียน เรารู้สึกว่ามันเป็นบรรยากาศที่เป็นมิตรขึ้น โดยส่วนตัวก็เป็นมิตรกับตัวเราเอง แล้วเราไม่ถูกตัดสินด้วยเรื่องนี้อีกต่อไป คือในฐานะคนทำงานศิลปะ เราอยากถูกตัดสินแค่จากตัวงานเท่านั้น ไม่ใช่เพราะว่าเราทำตามขนบประเพณีไทยหรือเปล่า อันนั้นมันดูเป็นเหตุผลที่ไร้สาระมากสำหรับเรา

มีคนตั้งข้อสังเกตหรือข้อสงสัยกับคนที่เชียร์กลุ่มผู้กุมอำนาจเผด็จการในปัจจุบัน ซึ่งมักมีความคิดทำนองว่าเขาเด็ดขาด’, ‘เขารักชาติ’, ‘เขาไม่โกงบ้านเมืองเวลาได้ยินคำพวกนี้คุณคิดอย่างไร หรือมันสะท้อนอะไรได้บ้าง

แล้วแต่คนนะ คือถ้าแยกแยะเราเข้าใจได้ แนวคิดอนุรักษนิยมไม่ใช่สิ่งที่เข้าใจไม่ได้หรือน่ารังเกียจไปเสียทั้งหมด มันมีหลายด้านที่เข้าใจได้เหมือนกัน อันที่จริงแล้ว การมีชาติ การที่เราเป็นส่วนหนึ่งของชาติชาติหนึ่ง คนในชาติก็ต้องมีคุณสมบัติของความเป็นอนุรักษนิยมประมาณหนึ่ง ไม่อย่างนั้นเราจะไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับคนในชาติเดียวกัน อันนี้มองในมุมแบบความเป็นจริง ไม่ใช่มุมปักเจก โดยส่วนตัวเราอาจจะไม่ได้แคร์ ไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้ เราไม่นับตัวเองว่าเป็นคนอะไร แต่ในความเป็นจริงของการอยู่กันในสังคม มันก็ต้องมีความเป็นอนุรักษนิยมประมาณหนึ่งเพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกหรือเข้าใจยาก หรือควรต้องกำจัดให้สิ้นซากไป มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

คุณสมบัติที่แข็งแรงมากๆ อย่างหนึ่งของอนุรักษนิยมคือความสามัคคี เห็นด้วยไปกันหมดอย่างง่ายดาย โดยที่ไม่มีการตั้งคำถามใดๆ ทั้งสิ้น เขาไม่มาตีกันเองแบบฝ่ายซ้าย แต่จะไปกันเป็นกลุ่มก้อน มีความยึดติดกับสัญลักษณ์โดยที่ไม่รื้อถอนใดๆ ไม่วิเคราะห์ว่าบุคคลคนนี้อาจจะอยู่ในตำแหน่งนี้แต่เขาเหมาะสมหรือไม่ เขาจะคิดว่าคนนี้อยู่ในตำแหน่งนี้เหมาะสมแล้ว และควรจะสนับสนุนต่อไปเรื่อยๆ

เวลาเห็นแนวคิดของฝั่งอนุรักษนิยมมากๆ ส่วนตัวแล้วคุณรู้สึกอย่างไร

เข้าใจได้ แต่ถ้าถามความรู้สึก บางครั้งก็รู้สึกหดหู่ บางครั้งก็รู้สึกสมเพช บางครั้งก็รู้สึกอเนจอนาถใจ เพราะหลายเรื่องมันไม่สมเหตุสมผลเลย และเป็นการพูดเข้าข้างกันเองแบบไม่แคร์ความเป็นจริงใดๆ คือมีความหน้าด้านสูงในการยืนยันสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลต่างๆ ซึ่งหมายความว่าเขาพูดแค่เพื่อจะเกาะกลุ่มกันเป็นก้อนเท่านั้นเอง เขาอาจจะไม่ได้เชื่อแบบนั้นจริงๆ ก็ได้ หรือแม้แต่ว่า ถ้าคนเปลี่ยน เขาก็อาจจะเปลี่ยนไปตามคนก็ได้อีกเช่นกัน

เราเห็นตัวอย่างนักการเมืองบางคนที่อาจจะเคยอยู่ฝั่งประชาธิปไตยแล้วย้ายข้างมาอยู่ฝั่งเผด็จการ อันนี้ก็เป็นตัวอย่างว่ามันไม่สำคัญสำหรับเขาหรอกว่า อุดมการณ์คืออะไร สิ่งที่สำคัญของเขาคือใคร อยู่ในอำนาจ เขาก็จะไปอยู่กับฝั่งนั้น เขาจะยึดอยู่กับอำนาจนั้น วันหนึ่งถ้าประชาธิปไตยชนะขึ้นมา หรือกลายเป็นอำนาจหลักของประเทศขึ้นมา เขาก็อาจจะชื่นชมประชาธิปไตยได้เหมือนกัน เราคิดว่ามีคนแบบนี้อยู่เยอะพอสมควร คนที่เปลี่ยนไปตามน้ำ เปลี่ยนไปตามนายเขา ซึ่งอันนี้เป็นปัญหาที่เรารู้สึกว่าแก้ยาก เพราะหลายครั้งมันเป็นเรื่องปักเจกมากๆ เราจะไปบังคับให้เขาเปลี่ยนก็ไม่ได้เหมือนกัน

ทุกวันนี้สังคมมีกระแสเรียกร้องให้คนมีชื่อเสียงออกมาคอลเอาต์ คุณมองเรื่องนี้อย่างไร มันเป็นสิ่งที่ทำได้ไหมในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่จะเรียกร้องให้คนที่มีเสียงดังกว่าประชาชนทั่วไปออกมาพูด แล้วคนที่ถูกเรียกร้องให้ออกมาคอลเอาต์มีสิทธิ์ไหมที่จะไม่ออกมาพูด หรือว่าเขาอาจจะมีวิธีแสดงในแบบของเขาเอง

โดยส่วนตัวเราคิดว่าต้องแยกแยะ เราเข้าใจฝั่งที่ออกมาเรียกร้อง เพราะทุกคนก็อยากจะให้คนที่ตัวเองชื่นชม คนที่ตัวเองศรัทธา มีทัศนคติเหมือนกับเรา มาช่วยให้ขบวนการหรือความคิดนั้นแข็งแรงขึ้น อันนี้เข้าใจมากๆ

แต่ในขณะเดียวกัน เรารู้สึกว่ามันต้องแยกแยะคนที่เขาเรียกร้องบ้าง เพราะคนที่ทำงานบันเทิง เป็นเซเลบ หรือมีอิทธิพลในสังคม ไม่ใช่ว่าทุกคนเขามาด้วยเงื่อนไขว่าจะเป็นผู้นำทางสังคมการเมือง เราจะไปคาดหวังคนที่มาเป็นนักร้องเพราะเสียงดี ให้เขามีแนวคิดทางการเมืองก้าวหน้า ก็คงจะเป็นเรื่องแปลกไปหน่อย คือเขาก็มาด้วยความสามารถของเขาในแบบของเขา หรือสิ่งที่เขาสนใจเท่านั้น มันไม่ได้แปลว่าเขาจะรอบรู้ไปทุกเรื่อง หรือจะต้องมีทัศนคติที่เหมาะที่ควรเกี่ยวกับทุกเรื่อง

ฉะนั้นบางกรณีเราคิดว่าก็ไม่แฟร์กับคนที่ถูกเรียกร้อง แต่ว่าก็เข้าใจฝั่งที่เรียกร้องด้วยเหมือนกัน ทีนี้มันก็ต้องเลือก เพราะไม่มีใครที่จะไปกำหนดให้แต่ละคนได้ สมมติว่าคนที่เราเรียกร้อง เราต้องการให้เขาออกมาสนับสนุนความเคลื่อนไหวของเราแล้วเขาไม่ทำ หรือเขาแสดงออกไปตรงกันข้ามจากที่เราต้องการ เราจะรู้สึกยังไงกับความชื่นชอบที่เรามีต่อเขา

บางคนเราอาจจะยังสนับสนุนต่อไปก็ได้ต่อให้เขาเงียบ เราก็ต้องจัดการกับความรู้สึกของเราเองว่า เขาอาจจะมีความคิดไม่เหมือนเรา แต่จะไปเรียกร้องให้เขาเปลี่ยนเพื่อเรา หรือให้เขาออกมาพูดในสิ่งที่เขาไม่ได้อยากจะพูด หรือให้เขาออกมาแสดงตัวในสาธารณะ โดยที่เขาอาจจะมีเงื่อนไขหลายอย่างที่ทำให้เขาทำไม่ได้ แล้วไปบอยคอตเขาเลยหรือไปแบนเขาเลย บางครั้งก็รู้สึกว่ามันก็ไม่เป็นธรรมไปหน่อย ตราบใดที่เขาไม่ได้ออกมาซ้ำเติมหรือเหยียดหยามคน หรือสนับสนุนให้รัฐกวาดล้างทำร้ายประชาชน ยังไงเราก็ต้องอยู่ร่วมกับคนในสังคมที่ไม่ได้คิดเหมือนเราอยู่แล้ว

ในสังคมที่เปิดกว้างและเป็นเสรีนิยม เป็นประชาธิปไตยกว่านี้ เรื่องคนเป็นอนุรักษนิยมหรือเสรีนิยมอย่างเปิดเผยจะไม่มีปัญหาอะไรเลย และสามารถชื่นชมข้ามฝั่งกันได้เป็นธรรมดา สาเหตุที่สังคมเราเป็นแบบนี้เพราะมันผิดเพี้ยนมาแต่แรกและยังเพี้ยนอยู่

แต่ถ้าเป็นนักเขียน เป็นคนที่งานของเขาคือการแสดงความเห็นต่อสังคม นำเสนอแนวคิดวิพากษ์สังคม แล้วสิ่งที่เขาทำมันไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เขาอ้างว่าเป็น อันนี้เราคิดว่าคนมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้อง มีสิทธิ์ที่จะแบนหรือบอยคอตงานของเขาได้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับงานเขาโดยตรง เช่น คุณเป็นนักเขียนที่ประกาศว่ารังเกียจคนโกง ต่อต้านความเหลื่อมล้ำ แต่พออยู่ภายใต้เผด็จการคุณเงียบกริบ ไม่พูดถึงแม้แต่น้อย คุณเบี่ยงไปเขียนอย่างอื่นแทน หรือแย่กว่านั้นคือเขียนเลียเผด็จการ มันก็สะท้อนว่าคุณไม่ใช่สิ่งที่คุณเคลมว่าคุณเป็น หรือวิธีคิดของคุณมีตรรกะผิดเพี้ยนจนไม่น่าเชื่อถือ อันนี้เราคิดว่าก็แฟร์ที่คนอ่านหรือคนที่เคยชื่นชอบเขาจะออกมาแบน หรือออกมาเรียกร้องให้เขาทำความเข้าใจใหม่ หรือให้เขาพูดอะไรบางอย่าง

งานเขียนเป็นงานสื่อสารกับสาธารณะ คำว่าสาธารณะก็แน่นอนว่าผู้เสพของคุณหรือประชาชน ย่อมต้องเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณมีตัวตนขึ้นมาได้ ถ้าคุณมีตัวตนขึ้นมาได้เพราะคนอื่น เพราะประชาชน เพราะสังคม เพราะคนที่เสพงานคุณ แต่คุณทรยศเขาด้วยการรับใช้อำนาจเผด็จการอย่างเดียว สำหรับเราคิดว่ามันไม่ถูกต้อง ในกรณีแบบนี้เราคิดว่ามันโอเคที่จะแบนหรือบอยคอตเขา

ที่ผ่านมาเคยให้สัมภาษณ์ว่า คุณแตะการเมืองแบบกวนตีนๆในงานเขียนนิยาย แต่กับสถานการณ์ตอนนี้ คุณรู้สึกว่าอยากพูดเรื่องนี้แบบตรงไปตรงมามากขึ้นไหม

ตัวอย่างเช่นหนังสือ เสรีนิยมยืนขึ้น ก็เป็นความพยายามที่จะพูดตรงไปตรงมา ในแง่ที่ว่าเป็นความตรงไปตรงมาที่ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึก และความสามารถของเราซึ่งมีจำกัด เราก็ไม่ได้สนใจที่จะเป็นนักวิพากษ์สังคมออกสื่อ หรือต้องการแสดงความเห็นทุกวัน เราไม่ต้องการที่จะเสแสร้งว่าเรารู้ไปหมดทุกอย่าง หรือความคิดของเรามันถูกต้องไปหมดทุกอย่าง

เราแค่ต้องการนำเสนอมุมที่เราคิด ที่เราศึกษามา หรือที่เราคิดว่าน่าจะมีประโยชน์บ้างกับคนที่ได้อ่านได้ฟัง เพราะฉะนั้นก็ไม่ถึงกับว่ามีแรงขับที่จะออกมาพูดเยอะๆ หรือออกมาวิพากษ์วิจารณ์ตรงไปตรงมาเยอะๆ เพราะเราก็ต้องการจะกลั่นกรองให้มันเป็นสิ่งที่ออกมาแล้วมีประโยชน์ ได้ผ่านการทบทวนแล้ว มันคงเป็นนิสัยส่วนตัว เราไม่ใช่คนที่ชอบมีความเห็นทันทีกับอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น หรือการวิพากษ์วิจารณ์แบบการด่า ไม่ใช่คนที่ชอบด่าใคร ไม่ได้ชอบเขียนเพื่อด่าคน ดังนั้นจะเรียกว่าอยากพูดตรงๆ ไหม เราก็พยายามอยู่ ในสิ่งที่รู้สึกว่าพอจะมีความเห็นบ้าง แต่คงไม่ได้มีกับทุกเรื่อง

สังเกตว่าคุณมักเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคมในทวิตเตอร์เป็นส่วนใหญ่ เป็นเพราะอะไร

เรารู้สึกว่าแต่ละสื่อมีลักษณะต่างกันไป อาจจะเป็นลักษณะการเสพของเราเองด้วย อย่างอินสตาแกรม เราชอบเพราะได้ดูงานศิลปะ งานวาดภาพอะไรต่างๆ คือเน้นสิ่งที่เป็นทัศนศิลป์มากกว่า เราเลยไม่คิดว่ามันเป็นพื้นที่สำหรับการแสดงออกทางการเมืองหรือความเห็นอะไรมากมาย ชอบใช้เพื่อแชร์ ได้ฟังเพลงนี้แล้วรู้สึกเพราะดีก็แชร์ มากกว่าจะใช้เป็นพื้นที่ในการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ทวิตเตอร์สามารถเขียนความเห็นสั้นๆ ได้ แชร์ความเห็นของคนอื่นที่เรารู้สึกว่าตรงกว่าที่เราคิดได้ง่ายและเร็ว เลยชอบใช้ทวิตเตอร์ด้วยเหตุผลนั้น อีกอย่างคือเอาไว้ตามข่าวสารโดยตรง ในทวิตเตอร์เลยมีประเด็นสังคมการเมืองมากกว่าเรื่องอื่นๆ โดยปริยาย

Fact Box

ปราบดา หยุ่น เป็นนักเขียนรางวัลซีไรต์และผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีผลงานต่อเนื่องกว่ายี่สิบปี และเฝ้ามองปรากฏการณ์ของสังคม โดยเฉพาะการศึกษาแนวคิด ‘เสรีนิยม’ ปัจจุบัน นอกจากงานเขียน เขากำลังจะมีผลงานในฐานะผู้จัดและผู้อำนวยการผลิต ซีรีส์ Bangkok Breaking มหานครเมืองลวง ทางเน็ตฟลิกซ์

Tags: , , , ,