ในบรรดาคณะที่ปรึกษาของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ถือเป็นที่ปรึกษาผู้มีอายุน้อยที่สุดเพียง 30 ปีเท่านั้น
ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว พรพรหมเป็นหนึ่งใน ‘เลือดใหม่’ ของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและสมาชิกกลุ่ม New Dem รวมถึงเป็นผู้สมัคร ส.ส.เขตบึงกุ่ม พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากอิทธิพลของ พนิต วิกิตเศรษฐ์ ผู้เป็นพ่อ ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็น ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์
แต่หลังจากพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งครั้งแรก เส้นทางของพรพรหมกับพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่ได้ยาวนานนัก เขาลาออกจากพรรคตั้งแต่กลางปี 2562 หลังการเลือกตั้งใหญ่ไม่นาน และห่างหายจากวงการการเมืองไปทำงานที่องค์การสหประชาชาติ
พรพรหมปรากฏตัวตามสื่ออีกครั้งในฐานะทีมงานของ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ’ โดยเริ่มลงพื้นที่และเก็บข้อมูลตั้งแต่ปลายปี 2564 กระทั่งชัชชาติได้รับชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ 1.3 ล้านเสียง ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ส่งให้พรพรหมกลายเป็นหนึ่งใน ‘ข้าราชการการเมือง’ ในตำแหน่งที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. ด้านนโยบาย ‘สิ่งแวดล้อม’
แน่นอนว่า 1.3 ล้านเสียงเป็นทั้ง ‘ความคาดหวัง’ อันแรงกล้าของคนกรุงที่อยากเห็นกรุงเทพฯ ที่ดีกว่า และ ‘ความหวัง’ ที่อยากจะเห็นนักการเมือง ‘ทำงาน ทำงาน ทำงาน’ เพื่อเข้าไปแก้ไขและเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ อันสุมรุมด้วยปัญหา
แน่นอนว่า ย่อมเป็นแรงกดดันไปถึงพรพรหมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน
เพราะนโยบาย 216 ข้อของชัชชาตินั้น เขาต้องรับผิดชอบถึง 34 ข้อที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมทั้งหมด
.
“คุณชอบที่ไหนที่สุดในกรุงเทพฯ และที่ไหนที่จะตอบโจทย์ กทม. ในยุคของผู้ว่าฯ ชัชชาติมากที่สุด” เป็นคำถามที่ The Momentum ให้พรพรหมเลือก
เขาเลือกมา 2 แห่ง หนึ่ง คือสวนป่าทวีสุข สวนสาธารณะใหม่ในเขตบึงกุ่ม พื้นที่ในอดีตที่เขาเคยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
อีกแห่งคือสวนเบญจกิติบนพื้นที่โรงงานยาสูบเก่า ถนนพระรามที่ 4 ที่ที่เราเลือกสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเขา ทั้งเรื่องมุมมองทางการเมือง การทำงานร่วมกับผู้ว่าฯ ชัชชาติ และที่สำคัญ คือนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในความรับผิดชอบของเขา อันเป็นปัญหาของกรุงเทพฯ ที่ ‘แก้ไม่ตก’ มาทุกยุคทุกสมัย
.
พรพรหมเท้าความถึงแพสชั่นที่ทำให้เขาตัดสินใจมาทำงานการเมืองว่า “ผมโชคดีระดับหนึ่ง คือพ่อแม่ส่งไปเรียนเมืองนอกตั้งแต่อายุ 13-14 แล้วก็ได้เห็นว่าประเทศอื่นเขามีอะไร เขาทำอะไรกันมาบ้าง แล้วก็น่ากลับมาส่งเสริมในประเทศ ยกตัวอย่างก็เรื่องสวนหรือเรื่องสิ่งแวดล้อม
“ผมอยู่ลอนดอนมานาน ก็เห็นว่าเป็นเมืองที่เข้าถึงสวนน่าจะเกือบมากที่สุดในโลก อาจจะไม่ได้เป็นสวนหลักแบบ Hyde Park แต่มีสวนเล็กๆ ที่เรียกว่า Square สามารถเดินเข้าไปอ่านหนังสือได้เงียบๆ
“หรืออีกอย่างคือพื้นที่รกร้าง แต่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้แบบนิวยอร์ก ที่มีรางรถไฟเก่าที่เขาเรียกว่า High Line ตอนแรกจะทุบทิ้ง จนสุดท้ายก็กลายเป็นสวนที่เป็นทางเดินและทางเชื่อมอาคารต่างๆ ซึ่งเรื่องพวกนี้ก็น่าทำในประเทศเรา
“อีกส่วนคือผมให้ความสำคัญเรื่องของ Climate Change คือว่ามันจะต้องผลักดันให้เป็นวาระเลย พอมีโอกาสได้เข้ามาทำงานให้เมือง ก็อยากทำให้เห็นผลจริง”
อยากถามย้อนไปตั้งแต่ตอนที่คุณเคยสังกัดกลุ่ม New Dem เคยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในนามพรรคประชาธิปัตย์ และเพราะเหตุใดคุณถึงลาออก
ต้องเข้าใจว่าพอเป็นพรรคใหญ่และมีหลายกลุ่มวัย เราก็แสดงความคิดเห็นของเราได้ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์นะครับ ผมขอพูดแค่นี้ละกันครับ
นั่นแปลว่า หลังจากแพ้เลือกตั้งแล้วลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ คุณก็ยังมีความตั้งใจจะทำงานการเมือง หรือผลักดันนโยบายที่สนใจต่อไปอีก
ผมไม่ท้อนะ ผมก็คิดว่าเป็นแพสชั่นและผมเชื่อในกลไกการเมืองในระบอบประชาธิปไตย คือประชาชนเลือกคุณมา เพราะคุณทำนโยบายที่ตอบโจทย์เขาได้ ผมชอบคิดนโยบายใหม่ๆ ตอนอยู่ประชาธิปัตย์ก็อยู่ในคณะนโยบาย พอเข้ามาร่วมงานกับอาจารย์ชัชชาติก็ช่วยเรื่องนโยบายเป็นหลัก
อีกอย่างคือผมชอบลงพื้นที่ ไม่ได้คิดในห้องประชุมอย่างเดียว แต่ได้ลงมาคุยกับภาคประชาสังคม พอเข้ามา กทม. ก็ดึงภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ ที่ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาเยอะมาก เพื่อร่วมกันแก้ Puzzle ว่าปัญหาคืออะไร แล้วจะสื่อสารกับประชาชนอย่างไร
ก่อนหน้านั้น ช่วงที่เว้นจากงานการเมือง ผมก็ไปสอนที่ธรรมศาสตร์และทำงานกับองค์การสหประชาชาติ ซึ่งการทำงานที่องค์การสหประชาชาติ ก็เพิ่มเติมจากสิ่งที่ผมเรียนตอนอยู่เมืองนอก ได้เห็นว่าแต่ละที่เขาทำอะไรกันบ้าง หลักคิดเขาเป็นอย่างไร วิธีในการได้นโยบายมานั้นเป็นอย่างไร
แล้วคุณเข้ามาร่วมงานกับคุณชัชชาติได้อย่างไร
สัก 2 ปีที่แล้ว มีรุ่นพี่ที่แนะนำให้รู้จักอาจารย์ชัชชาติ อาจารย์ก็ถามสั้นๆ ว่า อยากทำอะไร ผมบอกว่า ผมสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม อาจารย์บอกว่า “ดีเลย มาร่วมทีมกัน”
ตอนที่ผมทำงานกับองค์การสหประชาชาติ ก็คิดว่าอยากทำนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็เป็นอาจารย์ชัชชาติที่ให้โอกาส และช่วงหาเสียงก็ได้มีโอกาสลงพื้นที่กับอาจารย์เยอะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์มาก เราได้รับฟังปัญหาชาวบ้านโดยตรง
ข้อสังเกตของผมก็คือ การลงพื้นที่ไม่เหมือนที่ผมเคยเจอมาในอดีตที่เป็นการปราศรัยเยอะๆ ขึ้นเวทีแล้วก็พูดๆๆ หรือแจกใบปลิว แต่ของอาจารย์ชัชชาติ เน้นเป็นรูปแบบ Town Hall Meeting คือแวะไปตามชุมชน แล้วก็ฟังสิ่งที่เขาเสนอมา ส่วนผมก็มีหน้าที่จด อะไรที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อาจารย์ก็จะบอก “พรหมจดนะ” ผมก็จดๆ แล้วก็เอาไปพัฒนาต่อ คือได้ความรู้เยอะนะครับ ก็เลยสนุกกับมัน หลังจากนั้นก็วิ่งตอนเช้า คอยดูทุกสวนเลย จนเริ่มคุ้นเคยว่าสวนไหนเป็นสวนไหน เป็นอย่างไร
2 เดือนผ่านไปหลังเลือกตั้งผู้ว่าฯ ก็ได้ทำจริง ซึ่งก็ต้องปรับตัวบ้าง เพราะ กทม. เป็นองค์กรใหญ่ แต่สิ่งที่เราคิดมาก็ได้ลุยกันจริงๆ
การตัดสินใจช่วงที่ลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์แล้วไปร่วมงานกับคุณชัชชาติ คุณพ่อของคุณว่าอย่างไรบ้าง ในฐานะที่คุณพนิตก็เคยเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. มาก่อน (ยุคอภิรักษ์ โกษะโยธิน)
ผมบอกคุณพ่อหลังจากผมลาออกแล้ว (หัวเราะ) ส่วนเรื่อง กทม. เอาจริงๆ คุณพ่อไม่ได้พูดเชิงนโยบายลึก เพราะว่าเราทำงานกันคนละสาย คุณพ่อเคยทำงานด้านการคลังหรือระบบงบประมาณ ส่วนผมทำเรื่องสิ่งแวดล้อม คุณพ่อพูดอย่างเดียวเลย คือต้องให้เกียรติข้าราชการ
เพราะถึงเราจะเป็นข้าราชการการเมือง เข้าไปได้ แต่ถ้าจะมาสั่ง สั่ง สั่ง อย่างเดียวนั้นไม่ได้ ต้องฟังเขาก่อน อันนี้คือสิ่งที่คุณพ่อฝากอย่างเดียว และท่านพูดหลายรอบมาก
ภาพภายนอกของคุณชัชชาติที่คนเห็น ก็คือเป็นคน ‘บ้างาน’ หรือ ‘แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี’ การทำงานร่วมกับคุณชัชชาติจริงๆ แล้วเป็นอย่างไรบ้าง ท้าทายขนาดไหน
ผมว่าอาจารย์ชัชชาติเป็นคนที่คาดหวังเยอะ สิ่งที่ท่านทำคืออาจจะให้แนวทางสั้นๆ แต่เป็นหน้าที่ของคุณละที่ต้องขยายความมันออกมาให้ดีที่สุด ผมชอบนะแนวทางนี้ ในความเห็นผม มันท้าทายมาก คือไม่ต้องมาทำอะไรเองทุกอย่าง แต่ท่านให้ข้อคิด ให้แนวทาง ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของคุณ ถ้าทำได้ดีก็ชื่นชม ถ้าไม่ดีก็หาแนวทางปรับตัว ผมว่าอันนี้สำคัญ
แล้วท่านเป็นคนแอกทีฟ เป็นคนที่คิดเชิงบวก ซึ่งมันช่วยลูกน้องได้จริง ช่วยทีมงานได้จริง ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่ผู้นำต้องคิดในเชิงบวก แล้วก็ให้กำลังใจทุกคนที่ทำงานด้วย
มีมุมไหนเกี่ยวกับคุณชัชชาติที่คุณรู้ แต่ประชาชนอาจยังไม่รู้
ผมคิดว่าท่านเป็นคนละเอียดมาก คือพอเราเสนออะไรไป บางครั้งท่านก็หลับตาแล้วก็ถามลงรายละเอียด ท่านก็รู้ว่าเราคิดมาหนักนะ แต่พอท่านถามอะไรมา เราตอบไม่ได้ก็เหนื่อย คือบางครั้ง ถ้าเราไม่มีรายละเอียดก็ยังไม่กล้าเสนอ เพราะท่านลงรายละเอียดทุกเรื่อง
ถามจริงๆ ว่าในบทบาทที่ปรึกษาของคุณ คุณชัชชาติได้ปรึกษาอะไรกับคุณบ้าง
นโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมทั้งหมดเลยครับ ถ้าใครอยู่กับประเด็นไหนก็ต้องเกาะประเด็นนั้นตลอด บางเรื่องที่เราทำ ท่านอาจจะรู้อยู่แล้ว แต่ท่านก็ถามเรา เพราะฉะนั้นต้องมีข้อมูลเตรียมพร้อมตลอด อีกอย่างคือท่านชัดเจนมากว่า บทบาทของรองผู้ว่าฯ แต่ละคน ของที่ปรึกษาแต่ละคนดูเรื่องอะไร
อย่างผมชัดเจนว่าอยากทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ท่านก็ให้โอกาสเต็มที่ เวลามีภาคประชาสังคมหรือเอกชนที่จะเข้ามาพูดคุยเรื่องสิ่งแวดล้อม ท่านก็เข้าด้วย ถามตลอดว่ามีอะไรจะเสริมไหม ซึ่งเข้าใจว่าบางคนที่เป็นผู้ใหญ่เขาอาจจะไม่ได้ให้โอกาสตรงนี้ ซึ่งผมก็ชื่นชมและดีใจที่มีผู้นำที่เปิดกว้าง
การที่คุณมีอายุค่อนข้างน้อย การรับตำแหน่งที่ปรึกษาหรือการทำงานกับข้าราชการประจำ เป็นเรื่องที่ชวนกังวลหรือมีอุปสรรคอะไรบ้างไหม
การเป็นที่ปรึกษาอายุน้อยตอนแรกก็กังวลนะครับ ผมเคยคุยเรื่องนี้กับผู้ใหญ่ คุยกับคุณพ่อ แต่ในเมื่อท่านผู้ว่าฯ ให้โอกาสแล้ว ก็ต้องทำให้ดีที่สุด แล้วผมคิดว่าเมื่อเราอายุน้อย ประสบการณ์น้อยกว่าคนอื่น ก็อาจทำให้มีมุมมองบางอย่างที่คิดนอกกรอบ อีกอย่างคือเราได้เรียนรู้จากภาคประชาสังคม ได้เรียนรู้จากนานาชาติที่เราได้เห็นประสบการณ์มา ก็อยากทำทุกอย่างให้ดีขึ้น
สำหรับข้าราชการประจำ ผมคิดว่าเราต้องพยายามฟังเขาเยอะๆ นะ เพราะเขามีประสบการณ์ตรง เราอาจจะมองแค่จากมิติข้างนอก แต่ข้างในอาจจะมีหลายเรื่องที่เขามองเห็นว่า ทำไมถึงไม่เกิดเรื่องนี้ตั้งแต่แรก ทำไมถึงไม่เป็นอย่างนั้น… เพราะฉะนั้น หน้าที่ของเราก็คือต้องตั้งคำถาม แล้วมาหาช่องทางที่จะ ‘ไปต่อ’ ด้วยกัน
ถ้าผมมาคนเดียว ผมคิดแต่นอกกรอบ แต่ทำไม่ได้จริง ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ต้องเรียนรู้จากเขาทุกคน แล้วไม่ใช่แค่สำนักต่างๆ ของ กทม. ยังรวมถึงสำนักงานเขต ยังรวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาด เจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้ปฏิบัติจริง ยกตัวอย่างเช่น นโยบายสิ่งแวดล้อม เราคิดเรื่องขยะเยอะมาก แต่สุดท้ายก็ต้องลงไปดูว่าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะว่ามีระบบอย่างไร คนคัดแยกขยะอยู่ที่ไหน ทำอะไรบ้าง ซึ่งฟังจากมิตินี้ก็ได้ประโยชน์จริงๆ
คุณมองอย่างไรกับ 1.3 ล้านเสียงที่เลือกคุณชัชชาติเข้ามา ถือว่าเป็นแรงกดดันของทีมงานอย่างมากไหม หากทำอะไรไม่สำเร็จจริงๆ
ผมว่าคือความหวังนะครับ แล้วถ้าพูดแบบตรงไปตรงมา การเมืองระดับชาติทำให้คนเซ็งๆ ค่อนข้างเยอะ เพราะฉะนั้น เมื่อการเมืองเล็กมีความหวัง แล้วมีผู้นำที่คาดว่าจะทำให้เมืองดีขึ้นจริงๆ คนก็คาดหวังสูง
สิ่งที่ทีมงานเราเน้นเป็นพิเศษ คือเราอยากสร้างความโปร่งใส เรื่องไลฟ์นี่เป็นเรื่องหนึ่ง คือเราไม่ได้ต้องการจะมาประชาสัมพันธ์หรือโชว์อะไร แต่เป็นเรื่องพื้นฐานที่นักการเมือง ข้าราชการ หรือองค์กรอย่าง กทม. ควรต้องทำให้สังคมเห็น หรืออย่าง Traffy Fondue ก็เป็นเรื่องความโปร่งใสเหมือนกัน ที่ทุกคนสามารถร้องเรียนแต่ละประเด็นเข้าไป แล้วใส่ในแพลตฟอร์มได้เลย ไม่จำเป็นต้องมีเส้นสายอะไรทั้งสิ้น
นี่คือหลักคิดในการทำงานของเรา แล้วประชาชนเขาชอบอะไรที่ตรวจสอบได้ ผมว่าประชาชนเห็นตรงนี้ก็เลยให้คะแนนท่านเยอะ
อยากให้อธิบายถึงภาวะผู้นำของคุณชัชชาติว่าเป็นอย่างไรบ้าง เท่าที่คุณได้ร่วมทีมมาจนถึงปัจจุบัน
ผมเรียกว่า Lead by Example คือเริ่มจากตัวท่านก่อน “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ท่านคลั่งต้องการที่จะทำงาน ต้องการที่จะแอ็กชัน แล้วลูกทีมก็ทำอย่างนั้น แต่ท่านก็พูดเสมอนะครับว่า “ไม่ต้องตื่นมาวิ่งกับผม” แต่ทุกอย่างมันตั้งหลักไว้แล้วว่า ท่านมาแล้วนะ ท่านตื่นตี 4 แล้วทุกคนก็จะขยันทำงานตาม ทุกอย่างมันมีประสิทธิภาพมากขึ้นจริงๆ
อีกอย่างคือท่านเป็นคนที่ไม่ได้เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง เหมือนวันแรกที่ท่านพูดตอนรับตำแหน่งก็บอกว่า เวลาไปงานไหนไม่ต้องติดป้าย ไม่ต้องเน้นพิธี เป็นคาแรกเตอร์แบบฝรั่งๆ ที่ผู้นำนานาชาติหลายชาติเป็นแบบนี้ ซึ่งผมก็ประทับใจ
คุณกังวลไหมว่าวันหนึ่ง คนกรุงฯ จะ ‘หมดโปรโมชัน’ ไม่ว่าประเด็นฝนตก น้ำท่วม ฝุ่นควัน ฯลฯ จนกลายเป็นกระแสตีกลับและทำให้เกิดกระแสเชิงลบกับคุณชัชชาติและทีมงาน
ธรรมดาครับ คือทุกวงรอบของการเมืองไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยหรือประเทศไหน คุณเข้ามาตอนแรก คนย่อมให้ความหวังเยอะ เขาเรียกว่า Political Capital คุณเข้ามา Capital สูง มันก็จะลดลงมาเรื่อยๆ เป็นธรรมดา
แต่ถ้าตอนแรกมันสูง แต่ตกไม่เยอะเกินไป แล้วเราทำงานได้ ผมว่าก็โอเคแล้ว หลังจากนั้นก็จะมีตัวงานที่จะทำให้ตัว Capital เพิ่มขึ้นไปอีก อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสร้างตรงนี้ได้มากน้อยขนาดไหน แต่ผมยังเชื่อว่าผมทำได้
หลายคนมองว่าคุณชัชชาตินั้น ‘Nice’ เกินไป แต่ปัญหาหลายอย่างของกรุงเทพฯ ไม่ได้ Nice ขนาดนั้น
ผมคิดว่า Nice มันก็คือนิสัยของอาจารย์ชัชชาติ แต่ถ้า Nice แล้วผลงานมันเดินก็ต้องทำ ผมคิดว่าสุดท้าย เวลามันจะพิสูจน์เอง แต่ถ้าเราไปตีโจทย์ว่า Nice แล้วงานจะไม่เดิน ไม่เสร็จ ในความเห็นผม ความสำเร็จที่เกิดจากความ Nice ก็มีเยอะนะ
บรรยากาศการทำงานในศาลาว่าการ กทม. ช่วง 2-3 เดือนที่เข้ามา ต่างจากที่คุณวาดภาพไว้ไหม
แน่นอนว่า กทม. เป็นองค์กรใหญ่ที่เวลาดำเนินเรื่องหรือนโยบายก็อาจจะเกิดความล่าช้า เพราะมีองค์กรย่อยเยอะ กว่าจะผ่านลงไปถึงสำนักฯ ลงไปยังสำนักงานเขต แต่สิ่งที่เราไม่คาดหวังมาก่อน และเป็นสิ่งที่ดีก็คือคนของ กทม. ข้าราชการ กทม. เก่งมากในทุกมิติ
ไม่ใช่ก่อนหน้านี้เราคิดว่าทุกคนจะไม่เก่งนะ แต่อันนี้คือเก่งเกินคาด ยกตัวอย่างเช่น หัวหน้าหนึ่ง (สุธานีย์ แสนกล้า นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร) หัวหน้าสวนนี้คือคนที่มีความรู้ มีความสามารถ และที่สำคัญคือมีแพสชั่น เวลาพูดแต่ละครั้งคือเห็นสายตาเขาเลยว่าเขารักในงานนี้ เขารู้จักความหลากหลายทางชีวภาพ รู้จักนกทุกพันธุ์ แล้วไม่ใช่หัวหน้าหนึ่งของสวนเบญจกิติคนเดียว แต่รวมถึงอีกหลายๆ สวน
ผมประทับใจเรื่องนี้ แล้วก็ดีใจว่าคณะเราที่เข้ามาใหม่ ไม่ได้เข้ามาคนเดียว แต่ยังมีข้าราชการอีกมากเข้ามาช่วยส่งเสริมตรงนี้
ความท้าทายที่สุดของคุณในการทำงาน กทม. คือเรื่องอะไร
การที่ กทม. เป็นองค์กรใหญ่ บางครั้งเราเคาะในที่ประชุมแล้ว และคิดว่ามันเป็นแนวทางที่ดี แต่เรื่องการสื่อสารลงไปถึงระดับเขต อาจจะยังไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น วิธีแก้ตอนนี้คือพยายามดึงคนที่เกี่ยวข้องในเขตเข้ามาคุยตั้งแต่แรก เช่น นโยบายคัดแยกขยะที่ต้องทำกับเขตเยอะ เราจะใช้ 3 เขตนำร่อง ตอนนี้กับฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะก็สนิทกันแล้ว เราฟังจากเขาเยอะ แล้วให้เขาช่วยคิด ให้เขาร่วมเสนอความคิดด้วยกัน ไม่ใช่เราทำนโยบายแล้วบอกให้เขาทำ
นี่คือสิ่งที่เราพยายามแก้ไขและเป็นแนวคิดของผู้ว่าฯ อยู่แล้ว คือทำงานให้เป็นแนวนอน ไม่ใช่แนวดิ่ง แล้วเบรกไซโล ทุกคนต้องมีความเชี่ยวชาญ ทุกคนมีแนวทางของตนเอง แล้วเราก็เชื่อมเข้ามาเป็นก้อนเดียวกันแทนที่จะมาสั่งๆ อย่างเดียว
ที่ผ่านมา เราเห็นนักการเมืองจากกลุ่ม New Dem แยกย้ายกันไปทำงานกับพรรคการเมืองต่างๆ แล้วคุณพรพรหมมีเป้าหมายแบบนั้นด้วยไหม
ผมเข้ามาตรงนี้คือตัดสินใจแล้วว่าอยากทำการเมืองท้องถิ่น แล้วถ้า 4 ปี ผมสามารถผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมที่อยากทำมานานแล้วได้เต็มที่ ถ้าโอกาสมาถึงขนาดนี้แล้ว ผมจะไปคิดนู่นคิดนี่อีกก็ผิดแล้ว ผมมุ่งเน้นตรงนี้เต็มที่
ผมเองก็ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไหน ยังไม่รู้เลยว่าเลือกตั้งคราวหน้า ซึ่งอาจจะเป็นเดือนมีนาคม 2566 ว่าเราจะเลือกใคร เดี๋ยวค่อยว่ากัน แต่ตอนนี้ได้โอกาสซึ่งเป็นโอกาสที่ไม่ได้มาง่ายนะ ท่านผู้ว่าฯ ให้โอกาสผมตรงนี้ ได้ทำงานตรงกับที่เราศึกษามา ก็ขอทำเต็มที่ คงยังไม่คิดเรื่องอื่นครับ
คุณมีเมืองในฝันที่อยากให้เป็นต้นแบบของ กทม. ไหม
ผมเคยอยู่มา 2 เมืองหลัก คือเคยเรียนที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ กับนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สำหรับผม นิวยอร์กคือเมืองน่าเที่ยว ซึ่งปัจจุบันก็คล้ายกันกับกรุงเทพฯ แต่ลอนดอนคือเมืองที่น่าอยู่ คือเมืองในฝันของผม ผมอยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่อย่างลอนดอน ทั้งการเข้าถึงสวนสาธารณะ การเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้ การที่คุณสามารถเดินไปได้ทุกที่ และการที่มีความปลอดภัยในทุกมิติ
ในวันที่กรุงเทพฯ อากาศดีๆ คุณจะแนะนำให้คนกรุงเทพฯ ไปเที่ยวที่ไหนดี
จริงๆ เพื่อนผม ผมก็แนะนำให้มาสวนนี้ – สวนเบญจกิติ เพราะเราอยากโปรโมตในเรื่องความหลากหลาย ความน่าตื่นเต้น แต่จริงๆ แล้ว เรามีสวนอีกเยอะในทุกมุมของเมือง แต่ละสวนก็มีเอกลักษณ์เป็นของตนเองนะครับ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ก็เชิญสื่อไปทำข้อมูลเกี่ยวกับสวนอื่นด้วยนะครับ (หัวเราะ)
ทำไมถึงแนะนำสวนเบญจกิติ
สวนนี้เป็นสวนใหญ่มาก ใจกลางเมืองเลย แล้วก็เป็นสวนที่มีสกายวอล์ก เป็นจุดเช็คอิน มีคนมาถ่ายรูป แต่จริงๆ นอกเหนือจากมิติการท่องเที่ยว ก็ยังมีมิติของสถานที่ออกกำลังกาย มีมิติของการเป็นสวนชุ่มน้ำในการแก้ปัญหาน้ำท่วม หรือคอนเซปต์เมืองฟองน้ำ (Sponge City) คือการบริหารจัดการเมืองเพื่อแก้ปัญหาน้ำขังในเมือง ทำให้ทำสวนและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ สามารถดูดซับน้ำ กักเก็บ และกรองน้ำฝนได้ รวมถึงปรับปรุงคุณภาพน้ำได้ ถือเป็นจุดสำคัญเลยของสวนนี้
สวนนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับ 34 นโยบายสิ่งแวดล้อมของคุณชัชชาติ
เรื่องของสวนมี 2 มิติหลัก คือการพัฒนาสวนที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น ผมอยากยกตัวอย่างสวนป่าทวีสุขที่ติดกับสวนเสรีไทย และเป็นพื้นที่ของ กทม. อยู่แล้ว น้ำก็เป็นของสำนักระบายน้ำ แต่พื้นที่รอบๆ นั้นสวยมาก และเราก็อยากจะเข้ามาพัฒนาให้มันดีขึ้นนะครับ
แต่อีกมิติหนึ่งคือการทำสวน 15 นาที สวนนี้อาจไม่ต้องใหญ่มาก เป็นพ็อกเกตพาร์ก (Pocket Park) ใกล้ๆ หมายถึงว่าคุณเดินจากบ้านไปสวนได้ภายใน 15 นาที หรือในระยะ 800 เมตร เพราะคนที่ไม่ได้อยู่แถวนี้ อยู่หนองจอก อยู่คลองสามวา ก็จะได้ไม่ต้องเข้ามาถึงสวนเบญจกิติ คุณสามารถเดินออกจากบ้านคุณไปสวนได้เลย
พ็อกเกตปาร์คไม่จำเป็นต้องเป็นสวนใหญ่ๆ นะครับ พื้นที่อาจจะต่ำกว่า 2 ไร่ ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องออกกำลังกาย ไม่ต้องมีลู่วิ่งใหญ่โต แต่เป็นพื้นที่ที่คุณสามารถเข้าไปหลบจากโลกของความวุ่นวายได้ หนี PM2.5 ได้ อาจจะเรียกว่าพื้นที่ปลอดฝุ่น มีต้นไม้ อาจจะมีม้านั่ง อุณภูมิอาจจะดรอปลงมาก็ได้ เพราะมีต้นไม้ใหญ่ที่เราจะปลูกด้วย ตามนโยบายต้นไม้ล้านต้น
สิ่งแรกที่เราจะหาคือหาพื้นที่ของ กทม. ที่มีอยู่แล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ เป็น Land Bank ซึ่งเรากำลังเร่งสำรวจ เช่น พื้นที่ใกล้ๆ สำนักงานเขต พื้นที่ใกล้ๆ โรงพยาบาลที่เรามีอยู่ 11 แห่ง หรือเราอาจร่วมมือกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งมีพื้นที่ใต้ทางด่วน ว่ามีแนวทางจะพัฒนาพื้นที่ร่วมกันได้ไหม
หาก 2 ข้อนี้ยังไม่พอ ยังมีอีกแนวทางหนึ่ง คือหารือกับเอกชนว่า หากยังไม่รู้จะเอาที่ไปทำอะไร ยังไม่อยากขาย แต่ทิ้งไว้รกร้างอาจเจอภาษีที่ดิน ก็อาจมอบให้ กทม. เป็นเวลา 7 ปี 10 ปี 15 ปี ก็ว่ากัน แล้วเดี๋ยว กทม. จะช่วยพัฒนาให้เป็นสวนที่สำคัญ
วิธีการคือ หากมีพื้นที่ว่าง เราจะตีวง 800 เมตรรอบๆ เพื่อดูว่ามีประชากรอยู่เยอะไหม ถ้ามีประชากรอยู่เยอะก็ต้องรีบทำ เพราะว่าคนจะได้เข้ามาใช้สวนนี้ได้เยอะ และในวงนี้มีสวนอื่นๆ อยู่ด้วยไหม ถ้าไม่มี ต้องยิ่งทำ เพราะแปลว่าคนอยู่เยอะและเขาเข้าถึงสวนไม่ได้ ตรงนี้เราก็พยายามวางแผนยุทธศาสตร์
มีจำนวนตัวเลขไหมว่าจะทำสวนแบบพ็อกเกตพาร์กสักกี่แห่ง
ตอนนี้มีคนที่อยากจะเข้ามาพัฒนา หรือเข้ามาร่วมพัฒนา หรือให้ กทม. ใช้ประโยชน์จากที่ดินของเขาเยอะนะครับ แต่เราอยู่ในขั้นตอนที่กำลังตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ เพราะเราไม่อยากให้เพียงแค่คนหนึ่งคนตัดสินใจว่ารับหรือไม่รับ
นอกจากนี้ก็ต้องคุยกันทั้งมิติของสิ่งแวดล้อม หรือมิติการใช้พื้นที่อื่นๆ เช่น สำนักวัฒนธรรมและกีฬาของ กทม. ก็อาจอยากใช้พื้นที่ ณ จุดใดจุดหนึ่ง หรือหากเห็นว่าเหมาะสมทำเป็นลานจอดรถได้หรือไม่ หรือควรมีตลาดของชุมชน เพื่อที่จะได้ส่งเสริมเศรษฐกิจของชุมชนไปด้วย จึงต้องมีหลายภาคส่วนเข้ามาพูดคุยกัน
คือต้องเข้าใจว่าการที่เขาบอกว่าถ้าให้พื้นที่ฟรี มันอาจจะไม่ฟรีนะ เพราะว่าการที่เรารับไว้แล้ว เราจะไม่เก็บภาษี ก็เหมือนกับการยกเว้นภาษีมาทำสาธารณประโยชน์ แต่ถ้าเขาปล่อยพื้นที่ไว้เฉยๆ กลายเป็นพื้นที่รกร้าง กทม. ก็เก็บภาษีได้ ซึ่งหากเราเอาพื้นที่เหล่านี้มาทำสวน ก็แปลว่า กทม. กำลังสูญเสียรายได้จากภาษีตรงนี้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีค่าลงทุนที่ต้องเอาไปใช้จ่ายการพัฒนาสวน จึงต้องพิจารณาดีๆ ว่าเหมาะสมหรือไม่
34 นโยบายเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมของคุณชัชชาติซึ่งคุณร่วมรับผิดชอบ ตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว
34 นโยบายที่ว่าอาจจะต้องแบ่งนะครับ เพราะสำนักสิ่งแวดล้อมรับหลายส่วนเหมือนกัน
เรื่องที่ 1 คือเรื่องสวนที่เราคุยกัน
เรื่องที่ 2 สำคัญมากคือเรื่องของการบริหารจัดการขยะ
เรื่องที่ 3 คือเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งท่านผู้ว่าฯ ก็ออกแผนปฏิบัติไปแล้วว่าจะทำอย่างไรบ้าง
นอกจากนี้ ยังมีมิติอื่น เช่น เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาอาจไม่ได้เป็นงานหลักขนาดนั้น เพราะ กทม. มีงานเยอะมากใช่ไหมครับ
แต่ทั้งหมดผมอยากผลักดันให้มากขึ้น เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบกับเราในอนาคตแน่นอน แล้วเราก็ต้องทำงานรองรับเรื่องเหล่านี้ เช่น ลดมลพิษ ไม่ให้เป็นภาระ หรือการทำสวนแบบนี้ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำรองรับน้ำท่วม หรือฝนที่จะตกมากขึ้นในอนาคต
เสียงวิจารณ์ที่ว่า 34 นโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมของผู้ว่าฯ กทม. มีแต่ปริมาณ ไม่มีคุณภาพ คุณคิดอย่างไร
ตัวยากจริงๆ ก็คือปริมาณนะ คุณภาพเราก็ทำ แต่ถ้าคุณภาพทำได้แล้วแต่ขยายได้ไม่ทั่วทั้งเมือง ก็ยากนะ แปลว่าปริมาณก็สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น สวน 15 นาที ถ้าในเชิงปริมาณ ผมทำที่สวนเบญจกิตินี่ดีที่สุด แต่คนหนองจอกหรือบางขุนเทียนเข้าถึงไหม ก็อาจจะเข้ายาก เผลอๆ รถติดอีก ฉะนั้น ปริมาณสวน 15 นาทีจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และคุณภาพก็สำคัญเช่นกัน
เรื่องอะไรบ้างที่คิดว่าทำได้แน่นอน และจะเห็นเป็นรูปธรรมแน่ๆ ภายใน 4 ปีนี้
ผมคิดว่าเรื่องขยะเป็นเรื่องสำคัญ เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำคือต้องคัดแยกขยะให้ถูกวิธี ตอนนี้คุยกับใครก็ไม่มีใครอยากแยกขยะ เพราะเชื่อว่า กทม. จะเอาขยะไปรวมกัน ซึ่งผมบอกได้ว่าไม่จริง ไม่เป็นไร วันนี้คนอาจจะไม่เชื่อ แต่ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ทำให้เชื่อได้ว่ามีการแยกขยะจริงๆ นะ และคุ้มแล้วที่จะแยกขยะ ขณะเดียวกัน การเดินทางของขยะจะถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีเช่นกัน เช่น ถ้าแยกเศษอาหารมาแล้วก็จะนำไปทำปุ๋ยหมัก หรือเชื่อมกับเกษตรกรเพื่อขายเป็นอาหารสัตว์
เรื่องนี้จะเริ่มใน 3 เขตนำร่องที่จะมีการคัดแยกขยะเต็มรูปแบบ คือเขตปทุมวัน เขตพญาไท และเขตหนองแขม ไม่ต้องทำเยอะ แต่เราจะแยกเศษอาหารออกมาก่อน เพราะเศษอาหารคือตัวปัญหา หากสามารถแยกออกมาได้ ขยะอย่างอื่นก็จะแห้งและคัดแยกง่าย
วิธีการคือรถเก็บขยะของเราจะเพิ่มช่องพิเศษสำหรับเศษอาหาร ตอนนี้ เราจะทดลองนำร่องไม่กี่ถนนก่อน แต่สุดท้ายจะมองเห็นถึงโอกาสในการเดินรถที่เก็บเฉพาะเศษอาหารอย่างเดียว
ปัจจุบัน รถขยะที่เราเห็นบรรทุกขยะกัน 2 ตัน 5 ตันนั้น เก็บทุกอย่าง แล้วไม่ได้แยกขยะ แต่ต่างประเทศแยกกันชัดว่าคันนี้เก็บพลาสติก คันนี้เก็บเศษอาหาร เราจะพยายามไปทางนั้น เดี๋ยวเริ่มที่เขตหนองแขม จะชวนไปดูตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนนี้ จะเป็นรถเปิดข้างที่จะวิ่งรับเศษอาหารอย่างเดียว แล้วหลังจากนี้จะช่วยกันดูว่าเวิร์กขนาดไหน ทำให้ประชาชนเห็นเลยว่า กทม. ไม่เทขยะรวมกันนะ แล้วเราจะแยกขยะจริงจัง
ผมคิดว่าภายในปีแรก เราทำเรื่องเก็บขยะทั้ง 3 เขตให้เต็มรูปแบบ ภายใน 1 ปีทำให้ครบ แล้วเอากลับมาสะท้อนกัน โดยมีหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยประเมินด้วย ถ้าโมเดลนี้โอเค เราก็สามารถทำได้ทั้ง 50 เขตให้เป็นรูปธรรมเลย จะได้เชื่อมั่นว่าเราเริ่มจากการเอาเศษอาหารออกจากระบบ จากนั้นก็ไปดูคนคัดแยกขยะ ขวดแก้ว ซึ่งถ้าเราเอาเศษอาหารออกมาก่อนได้ ที่เหลือก็ไม่ยากแล้ว
สงสัยจริงๆ ว่า ทำไมที่ผ่านมา กทม. ถึงทำเรื่องนี้ไม่สำเร็จ
ผมคิดว่าคนยังขาดความเชื่อมั่น เพราะคิดว่าแยกขยะแล้วรถก็เก็บมาเทรวมกันอยู่ดี ตอนนี้เรากำลังขอให้ประชาชนช่วยกันหน่อย ช่วยแยกขยะทุกประเภทเลย ขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะอันตราย ขยะรีไซเคิล แต่การขอประชาชน กทม. เองก็ต้องออกแรงบางอย่าง คือต้องทำให้เชื่อได้ว่า กทม. จะแยกขยะจริง เหมือนเจอคนละครึ่งทาง คือถ้าคุณแยกขยะ เราก็แยกเหมือนกัน
ว่าแต่ฝั่ง กทม. พร้อมแน่ใช่ไหมในเรื่องการแยกขยะ
พร้อมแน่ครับ แล้วที่สำคัญคือประชาชนแยก เราแยกบนรถขยะ มีรถแยกเก็บเหมือนกัน แล้วปลายทางก็ต้องชัดด้วยว่าเศษอาหารที่แยกออกมานั้นไปไหนต่อ ยกตัวอย่างเช่น ที่อ่อนนุชมีศูนย์หมักขยะ หมักเศษอาหารพันกว่าตัน ซึ่งทำได้ดี
แต่จริงๆ เราก็อยากจะส่งเสริมการจัดการเศษอาหารตั้งแต่ต้นทาง ทำสวนผักคนเมืองได้ไหม? เพราะขยะหรือเศษอาหารถ้าหมักในชุมชนก็สามารถทำปุ๋ยหมักได้เลย แล้วปุ๋ยหมักเอาไปปลูกพริก ปลูกผักสวนครัว ก็เด็ดกินได้ทันที
ก่อนที่จะมาที่นี่ ผู้อำนวยการเขตดอนเมืองก็พาผมไปดูที่ดอนเมืองวิลล่า ว่าเป็นชุมชนต้นแบบเรื่อง Zero Waste แบบนี้ที่อยากให้กระจายทั่วๆ ทุกชุมชนเมือง
อีกส่วนหนึ่งคือ ‘ค่าเก็บขยะ’ คุณมีแนวคิดอย่างไร
ที่เราทำตอนนี้คือหยุดไว้ปีหนึ่งด้วยสภาพเศรษฐกิจ แล้วเราจะตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาเพื่อให้ค่าเก็บขยะสะท้อนความเป็นจริง เพราะตอนนี้ ทุกอย่างยังเป็น Flat Rate ไม่ใช่คุณผลิตขยะเท่าไร คุณก็จ่ายเท่าเดิม แต่เราจะเพิ่มมิติ Pay as you throw คือถ้าคุณผลิตขยะเยอะ ก็ต้องจ่ายเยอะ
อีกส่วนสำคัญคือเรื่องเศษอาหาร หรือ Food Waste ก็ต้องมีกลไกพิเศษ ใส่ไปในเงื่อนไขเลยว่า ถ้าห้างฯ หรือร้านอาหารแยกเศษอาหารออกมา ก็ไม่ต้องจ่ายค่าขยะ หรือจ่ายน้อยลง เป็นส่วนลดเพื่อเป็นแรงจูงใจ
ผมไปนั่งรถขยะมาหลายที่ มีเส้นทางหนึ่งที่เขาพาผมไปห้างสรรพสินค้าหนึ่งในเขตปทุมวัน ซึ่งเขาทำได้ดี คือมีมาตรการแยกเศษอาหารจากขยะอื่นๆ ชัดเจน
ผมยืนข้างๆ พี่คนหนึ่งที่ทำหน้าที่เก็บขยะได้ตลอด 2 ชั่วโมง โดยไม่เหม็นเลย เพราะเป็นขยะแห้งทั้งหมด ที่เขาต้องแยกอย่างเดียวก็คือขวด
แต่ถ้ามีเศษอาหาร มันเหม็นมาก มีน้ำไหลออกมา แล้วเขาต้องคอยแยกขยะพวกนี้ ซึ่งผมก็สงสารพวกเขานะ ฉะนั้น เรื่องเศษอาหารคือตัวสำคัญที่ต้องแยกออกมา ส่วนขยะที่เหลือที่ไม่เหม็นก็แยกง่ายแล้ว
อีกเรื่องที่คุณชัชชาติดูจะกระตือรือร้นมาก คือปลูก ‘ต้นไม้ล้านต้น’ ข้อนี้เป็นมาอย่างไร
ท่านผู้ว่าฯ จะพูดเสมอว่าอยากทำอะไรที่ใช้เงินน้อย แต่ได้เยอะ สมมติการทำอุโมงค์ระบายน้ำ อาจจะใช้เงินเยอะนะ แต่ไม่แน่ใจว่าจะได้เยอะหรือไม่
แต่ต้นไม้คือตัวอย่างชัดเจนของการใช้น้อย แต่ได้เยอะ คุณปลูกต้นไม้จากกล้าประมาณ 30 บาท แต่พอต้นไม้โต สิ่งที่ได้ประโยชน์ให้กับเมืองนั้นมหาศาล ทั้งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ สร้างพื้นที่ร่มเงา ช่วยเรื่องน้ำท่วม และลดอุณหภูมิให้กับเมือง ในขณะเดียวกันก็สร้างความผูกพัน เป็นพื้นที่ที่คนมีความผูกพันกับต้นไม้ และโตไปด้วยกัน
อันนี้ก็เน้นเชิงปริมาณเหมือนกัน คือปลูกเยอะก็จริง แต่ปริมาณอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องมีคุณภาพด้วย ให้คนผูกพันกับต้นไม้ ปลูกแล้วเข้าไปเชื่อมกับฐานข้อมูลของเรา จะรู้ทันทีว่าปลูกที่ไหน ต้นอะไร ใครปลูก แล้วเราก็มียุทธศาสตร์เลยว่าปลูกไปเพราะอะไร โซนหนึ่งนอกเมืองอาจจะปลูกไปเพื่อดูดซับคาร์บอนฯ ในเมืองอาจจะเน้นปลูกริมถนนเพื่อสร้างร่มเงา หรือกรองฝุ่น PM2.5 ซึ่งเราก็วางยุทธศาสตร์ไว้ครบถ้วนทั้งหมด
ตอนนี้ปลูกไปแล้วประมาณ 7 หมื่นต้น แต่มีคนสัญญาว่าจะปลูกแล้ว 1.7 ล้านต้น ซึ่งเป็นเรื่องดี แปลว่าประชาชนให้ความสนใจกันมาก
อย่างสวนเบญจกิติที่เรานั่งคุยกันอยู่นี่ อีก 4 ปีข้างหน้าจะดีขึ้นอย่างไรบ้าง
ก็ต้องเป็นอย่างนี้ คือเป็นพื้นที่อนุรักษ์ แต่สิ่งที่ทำให้ดีขึ้น คือพื้นที่ต่างๆ เช่น อาคาร โกดัง ที่เป็นโรงบ่มยาสูบเก่า ก็อาจมีลานกีฬา อาจทำคอร์ตแบดมินตัน อาจนำโต๊ะปิงปองมาวาง หรืออาจจะมีโซนที่คล้ายๆ Hawker Center เป็นศูนย์อาหาร เป็นตลาดชุมชนให้ชาวบ้านมาขายของ หรืออาจจะจัด Farmer Market ให้คนที่ไม่รู้จะไปที่ไหน แทนที่จะเข้าห้างฯ ก็มาที่นี่ได้ มาเจอกันที่นี่
ให้เป็นที่ที่วัยรุ่นเข้ามาได้ เป็นจุดเช็กอิน ทำให้เท่ได้ ซึ่งผมว่ามันตอบโจทย์นะ
อีกส่วนหนึ่งคืออาจจะเป็น Dog Park เป็นสวนสำหรับสัตว์เลี้ยงได้ เป็นไปตามนโยบาย 216 ข้อของผู้ว่าฯ แต่ก็อาจจะไม่ได้ให้สัตว์เลี้ยงเข้ามาได้ในพื้นที่ทั้งหมด อาจต้องจัดโซนเฉพาะ
ก่อนหน้านี้ กทม. มีโครงการดนตรีในสวน โครงการหนังกลางแปลง โครงการหนังสือในสวน หลังจากนี้จะมีโครงการอื่นๆ ในสวนอีกหรือไม่
ทั้งหมดเริ่มจากหลักคิดว่า สวนไม่ใช่ที่ออกกำลังกายอย่างเดียว สวนคือพื้นที่พักผ่อน สวนคือพื้นที่ของการเข้าสังคม ให้เจอคนใหม่ๆ มาเจอกับเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนาน โดยที่เอากิจกรรมอื่นๆ มารวมกับสวนได้ ฉะนั้น ฟังเพลงได้ ดูหนังได้ แล้วเดือนนี้เป็นเดือนของบางกอกวิทยา ส่งเสริมเรื่องวิทยาศาสตร์ ก็มีกิจกรรมให้กลุ่มที่สามารถใช้มือถือ สามารถใช้แอปพลิเคชันเดินดูหาสัตว์หายาก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ เผื่อเจอนก เจอแมลงหายาก แล้วก็ชวนเด็กๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมเหล่านี้
อีกส่วนคือเรื่องเทรนด์ Net Zero (เป้าหมายสุทธิที่ศูนย์ หรือการไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มเติม) กทม. จะมีส่วนร่วมอะไรได้บ้าง
ในส่วนของผลกระทบจาก Climate change สิ่งที่เราเห็นแน่นอนคือพื้นที่กรุงเทพฯ ฝนตกที่หนักขึ้น ทำให้น้ำท่วมได้ง่ายขึ้น และมีผลกระทบที่เห็นชัดแล้ว อย่างไรก็ตาม กทม. มีหลายบทบาทที่ยังทำไม่ได้เพราะไม่ใช่หน้าที่ของ กทม. เช่น การที่จะไปปรับรถยนต์เครื่องสันดาปให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า
แต่ในฐานะองค์กร กทม. สามารถปรับตัวได้ หนึ่ง คือ กทม. ผลิตมลพิษเยอะ จากการมีศาลาว่าการฯ 2 แห่ง คือดินแดงและเสาชิงช้า เรายังมีสำนักงานเขตอีก 50 แห่ง และมียานพาหนะเต็มไปหมด ไม่ว่าจะรถตู้ รถเก็บขยะ รถรดน้ำต้นไม้ คำถามก็คือยานพาหนะเหล่านี้เปลี่ยนเป็นรถยนต์อีวีได้หรือไม่ หรืออาคารต่างๆ จะช่วยติดแผงโซลาร์เซลล์ได้ไหม
ขณะนี้เข้าใจว่าเขตสาทรเริ่มมีการเปลี่ยนรถยนต์เครื่องสันดาปเดิมมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ในส่วนของ กทม. ก็อยากเป็นผู้เล่นสำคัญเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้หน่วยงานรัฐ หน่วยงานเอกชนอื่นๆ เพื่อให้เป็นไปตามเทรนด์ Net Zero ทั่วโลก
คำถามสำคัญก็คือ ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัย ทำไม กทม. ถึงไม่สามารถแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้สักที
(นิ่งคิด) มันเป็นโจทย์ยากนะ บางครั้งก็ชนกับเรื่องเศรษฐกิจ คือคนอาจจะมองเรื่องรายได้ก่อน สิ่งแวดล้อมมาทีหลัง แต่เราไม่โทษใครนะ ผมก็เชื่อว่าผู้ว่าฯ คนก่อนๆ ทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเยอะ เราก็เห็นผลงานของเขา แต่ปัจจุบันเทรนด์สิ่งแวดล้อมมันมาแรงขึ้น แล้วไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่นะ
ภาคเอกชนวันนี้อาจจะมีเรื่อง ESG (Environmental, Social, and Corporate Governance/ แนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน) ซึ่งเขาก็ต้องคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่เช่นนั้นคนจะไม่มาลงทุนกับเขา เราก็ใช้แรงตรงนั้นผลักดันเข้าไปเลย ให้คนเอาสัญญามาปลูกต้นไม้กับเราล้านต้น จนเกินไปเป็น 1.7 ล้านต้นแล้ว เลยได้เห็นเอกชนแห่งหนึ่งปลูกหมื่นต้น อีกบริษัทบอกถ้าอย่างนั้นขอปลูกแสนต้น
นโยบายพวกนี้ เราคิดกันมานาน 2 ปี ก่อนที่ผู้ว่าฯ จะเริ่มรับตำแหน่ง แล้วได้หารือกันหมดแล้วทั้งภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคเอกชน เพราะฉะนั้น เราเข้าใจว่านโยบายมันคืออะไรนะครับ บวกกับแรงที่ถูกผลักดันมาโดยธรรมชาติซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเรา
พอ 2 ข้อนี้มาเจอกันก็ทำให้คนตื่นตัวมากขึ้น ยิ่งเห็นผู้ว่าฯ ไลฟ์ตั้งแต่เช้า ใช้สวนมากขึ้น เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ยิ่งผลักดันไปด้วยกัน เลยมีความหวังว่าจะช่วยส่งเสริมกันได้ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
สภาพของสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพฯ ในอนาคตหรืออีก 4 ปีข้างหน้า จะเป็นอย่างไร
อย่างเรื่องคัดแยกขยะที่พูดไปแล้ว เราจะให้ความสำคัญนะ คงต้องทำให้เป็นวาระแห่งเมือง วาระแห่งชาติมากขึ้น ซึ่งก็ดีใจนะครับ อย่างคุณแอนนา เสืองามเอี่ยม มิสยูนิเวิร์สประเทศไทย เพิ่งเข้าพบท่านผู้ว่าฯ คุณแอนนาก็พูดถึงเรื่องขยะ พร้อมเข้ามาเป็น Ambassador ในเรื่องนี้
อีกส่วนคือเรื่อง PM2.5 เราอาจจะควบคุมไม่ได้หมด เพราะบางครั้งมลพิษไม่ได้มาจากในกรุงเทพฯ อย่างเดียว แต่เราจะมี ‘นักสืบฝุ่น’ ที่คอยหาต้นทางมลพิษเลยว่ามาจากไหนบ้าง ตรงนี้ เราคิดว่าจะทำได้ดีที่สุด อาจจะลดไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าฝุ่นมา เราสามารถแจ้งเตือนได้ทันที และมีหน้ากากครบ มีทุกอย่างให้พร้อม คนสามารถป้องกันตัวเองได้ เชื่อมโยงกับเรื่องสิ่งแวดล้อมได้
Fact Box
- พรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ปัจจุบันอายุ 30 ปี จบปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์และการต่างประเทศ จากคิงส์คอลเลจลอนดอน และจบปริญญาโทด้านนโยบายพลังงานเเละสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เคยเป็นอาจารย์พิเศษคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ และร่วมงานด้านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development’s Goals) ด้านสิ่งแวดล้อม
- เขาเคยเป็นหนึ่งในสมาชิกและผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม New Dem หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นสมัยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค และเป็นกำลังสำคัญในการดึงคะแนนเสียงให้กับคนรุ่นใหม่ นอกจากพรพรหมก็ยังมีบุคลากรคนอื่นๆ อาทิ พริษฐ์ วัชรสินธุ, สุรบถ หลีกภัย รวมถึง ลูกนัท-ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย เขาเคยลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขตบึงกุ่ม ในปี 2562 แต่พลาดตำแหน่งไป ภายหลัง พรรคประชาธิปัตย์ได้ยุบกลุ่ม New Dem ลงเมื่อช่วงกลางปี 2562 ใกล้เคียงกับการที่พรรคตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่พรพรหมลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค
- ปัจจุบัน พนิต วิกิตเศรษฐ์ บิดาของพรพรหม เป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และถือเป็น ‘สายตรง’ ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนหน้านี้ พนิตเคยถูกจับกุมในกัมพูชา พร้อมกับ วีระ สมความคิด ขณะลงพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา และถูกกัมพูชาตั้งข้อหาข้ามพรมแดนผิดกฎหมาย จนถูกคุมขังในเรือนจำกรุงพนมเปญเป็นเวลา 16 วัน