นับตั้งแต่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดนี้ เข้าทำงานได้หนึ่งปีเศษ เรื่องร้อนๆ เผือกร้อนในมือก็เกิดขึ้นมากมาย
‘ร่ำรวย’ – คือข้อวิพากษ์ถึงงบประมาณสำนักงาน กสทช. มากตั้งแต่ ‘เงินเดือน’ ไปจนถึงงบบริหารจัดการภายใน
ปี 2565 ที่ผ่านมา กสทช.รับเผือกร้อนลงมติ ‘รับทราบ’ กรณีการควบรวมทรู-ดีแทค ปีที่แล้ว กสทช.ต้องอนุมัติให้ใช้กองทุน กทปส. 600 ล้านบาท เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ทั้ง 64 นัด ผ่านฟรีทีวีทุกแพลตฟอร์มซึ่งว่ากันว่าเป็นแรงกดดันอย่างหนักหน่วงจาก ‘ฝ่ายการเมือง’
นอกเหนือจากกรณีใช้งบประมาณอย่างสิ้นเปลือง เป็นองค์กรอันร่ำรวย จนประธานฯ สามารถบินไปต่างประเทศได้หลายครา กสทช.ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายกรณีว่า ‘เกียร์ว่าง’ ไม่ทำหน้าที่กำกับดูแลสื่อมากกว่าที่ควรจะเป็น ซ้ำบทบาทการเป็นหน่วยงานตรวจสอบ-กำกับดูแลกิจการสื่อสารของประเทศ ยังถูกตั้งคำถามในฐานะผู้ ‘สร้างปัญหา’ มากกว่าแก้ปัญหา โดยเฉพาะกรณีทีวีดิจิทัลที่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง ขณะเดียวกัน ในบทบาทที่จะต้อง ‘ชี้ขาด’ กสทช.กลับกลายเป็น ‘เสือกระดาษ’ ไม่ยอมใช้อำนาจที่มีในการตัดสินใจ-วินิจฉัยเรื่องใดๆ
The Momentum ถือโอกาสนี้คุยกับ ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ อดีตศาสตราจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มา ‘ตัดเกรด’ ตัวเอง พร้อมตอบบรรดาข้อสงสัยเกี่ยวกับ กสทช. และการเปลี่ยนบทเล่นจากการเป็นนักวิพากษ์ที่เฉียบแหลม สู่การเป็นผู้คุมกฎ เธอมองบทบาทตัวเองที่เปลี่ยนไปอย่างไร
ตลอด 1 ปี 3 เดือนที่ผ่านมา จากการทำงานในฐานะ กสทช. ประเมินการทำงานของตัวเองอย่างไร คิดว่าสอบผ่านหรือไม่
คิดว่าผ่านนะ ที่จริงต้องให้คนอื่นประเมินมากกว่า อาจเป็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคประชาสังคม สาธารณะหรือถ้าเป็นภาคอุตสาหกรรมก็ต้องแยกย่อยลงไปอีก แล้วแต่ละคนอาจประเมินไม่เหมือนกัน
อย่างภาคอุตสาหกรรมมีทั้งทุนใหญ่และทุนไม่ใหญ่ อย่างผู้ประกอบการท้องถิ่น ระดับชุมชน หรือประเภทเคเบิล ดาวเทียม ทุนประกอบการหลักร้อยล้าน คงเทียบกับช่องรายการที่เป็นบริษัทมหาชนไม่ได้ แต่ละระดับก็อาจไม่ประเมินเหมือนกัน คงให้คะแนนไม่เท่ากัน
แต่ถ้าให้คะแนนแค่ตัวเราเอง รู้สึกว่าสอบผ่าน ตลอด 1 ปีกว่า เราทำเต็มที่ ทีมงานก็สนับสนุนเต็มที่
ได้ยินว่าภารกิจของคุณหลังรับตำแหน่ง ต้องลงไปคุยกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะฟากธุรกิจโทรทัศน์ ทำไมต้อง ‘คุย’ เยอะขนาดนั้น
แม้การเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัลจะเป็นการเปิดเสรี ให้ผู้ที่มีทุนใหญ่พอจะประมูลช่องรายการทีวีดิจิทัลได้เข้ามาเป็นผู้ประกอบการ แต่ขณะเดียวกัน ก็ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเคเบิลกับดาวเทียมซึ่งเป็นผู้ประกอบการในอีกภาคส่วนของอุตสาหกรรมโทรทัศน์มาก
ตามกฎหมาย กสทช.มีใบอนุญาตสามประเภท คือใบอนุญาตกิจการบริการสาธารณะ ใบอนุญาตกิจการบริการชุมชน และใบอนุญาตกิจการทางธุรกิจ ผู้มีความประสงค์จะประกอบกิจการจะต้องมีใบอนุญาต เช่น หากมีชุมชนที่พร้อมจะทำโทรทัศน์ชุมชน และสนใจที่จะประกอบกิจการ ก็สามารถมาขอใบอนุญาตได้ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ชุมชน แม้จะผ่านมากว่าสิบปีแล้วก็ตาม
พอเข้ามารับตำแหน่ง เราก็ทยอยไปคุยกับผู้ประกอบการทีวีในทุกระดับ ทุกประเภทใบอนุญาต แม้แต่ผู้ประสงค์จะประกอบการทีวีชุมชนอย่างพะเยาทีวี เราก็ไปคุยด้วย แล้วหลังจากนั้นก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพราะการจะทำให้เกิด License Class ต้องศึกษาว่าจะทำอะไรบ้าง จะใช้โครงข่ายประเภทไหน จะออกใบอนุญาตอย่างไร จะสร้างเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ อย่างไร
จากที่เคยเป็นนักวิชาการด้านสื่อ พอมาทำงานที่ กสทช. บทบาทแตกต่างกันอย่างไร
ต่างกันเยอะมาก แต่คาดไว้อยู่แล้ว ตอนเป็นนักวิชาการมีคนปรามาสไว้เยอะว่า พวกนักวิชาการ ‘ดีแต่พูด’ เวลาไปทำงานจริงเลยต้องไปคุย ไปเรียนรู้จากผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรม ให้เห็นประจักษ์
เมื่อก่อนเราพอมองเห็นภาพรวมเรื่องภูมิทัศน์สื่อว่ากำลังเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แต่พอมาทำงานนี้ก็ได้เห็นภาพครบถ้วนยิ่งขึ้น ถ้าไม่ใช่ กสทช. เขาคงไม่เปิดบ้าน ไม่เปิดอกคุยกับเรา บางช่องบอกเลยว่าต้นทุน-กำไรเท่าไร
ผู้ประกอบการเหล่านี้น่าสงสาร ไม่ได้เข้าข้าง แต่เพราะผู้ประกอบการโดน Disrupt กันทั้งโลก ไม่ใช่แค่ที่ไทย มันคือ Disruption ของเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัลครั้งที่แล้ว การกลัดกระดุมเม็ดแรกก็อาจจะไม่ได้ออกแบบมาให้เอื้อต่อการทำธุรกิจให้อยู่ได้อย่างยั่งยืนจริงๆ
เราไม่เห็นด้วยกับระบบประมูล ตั้งแต่กรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ช่วงนั้นจำได้ว่ามีการแปรญัตติไว้ จำได้ว่าเรื่องประมูลนี่ละ เราไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะการใช้วิธีประมูลในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ผู้ออกแบบตอนนั้นมองว่า การเข้าถึงคลื่นความถี่ให้ใช้วิธีการประมูลเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะโปร่งใสและป้องกันการฮั้วกันได้ ซึ่งก็มีส่วนจริง แต่สำหรับกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ ต่างจากกิจการโทรคมนาคม การประมูลมันอาจไปสร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการแสวงกำไรจนละเลยพันธกิจทางสังคมซึ่งเป็นพื้นฐานของกิจการประเภทนี้
ในมุมนักวิชาการก็เถียงกับผู้ออกแบบวิธีการออกแบบช่องรายการ เราเข้าใจประเด็นที่ต้องการเปิดกว้างให้มีจำนวนช่องมากๆ เพื่อกำจัดการผูกขาด (Monopoly) ที่เคยครอบงำโทรทัศน์ภาคพื้นดินมาในอดีต ที่ช่องทีวีมีอำนาจสูงมากและมีกำไรเยอะ พอเปลี่ยนจาก 4-5 ช่องกลายเป็น 20 กว่าช่อง แล้วยังออกแบบช่องยิบย่อยมาก มีทั้ง HD กับ SD มีช่องข่าว ช่องเด็ก ช่องวาไรตี้ ทำให้มองไม่เห็นสิ่งที่มันซ้อนทับกันอยู่ เช่น ทุกช่องมีรายการข่าวของตัวเองอยู่แล้ว เข้าใจว่าคงมีความตั้งใจดี แต่สุดท้ายหลายช่องก็อยู่ไม่ได้ หาโฆษณาไม่ได้ มีข้อจำกัดเยอะมาก
การเป็นนักวิชาการทำให้รู้เรื่องพวกนี้ แต่หลายอย่างก็เพิ่งมารู้ เช่น การมีมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาช่วยทีวีดิจิทัล ซึ่งนำไปสู่การอุดหนุนให้ไม่ต้องเสียค่าประมูลใบอนุญาตไปจนถึงสิ้นสุดใบอนุญาต การสามารถคืนหรือเปลี่ยนมือใบอนุญาตทีวีดิจิทัลได้ ตลอดจนมาตรการอุดหนุนทางการเงินอีกหลายเรื่อง พูดง่ายๆ ว่า ประมูลมา 4 หมื่นกว่าล้าน พอมีมาตรา 44 คืนให้ช่องต่างๆ ไปสิริรวม 3 หมื่นกว่าล้าน ถามว่าสุดท้ายรัฐได้อะไร? ถ้าออกแบบตั้งแต่แรกไม่ให้มีช่องเยอะขนาดนี้ อาจใช้วิธีการที่ไม่ใช่ประมูล แต่เป็นการประกวดคุณสมบัติก็อาจจะดีกว่า เพราะจะได้ผู้ที่มีความเหมาะสมที่จะเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการโทรทัศน์ และเขาไม่ต้องมานั่งหมกมุ่นหากำไรเพื่อจ่ายค่าประมูลที่สูงลิ่วจนต้องประนีประนอมกับคุณภาพเนื้อหา
พอทีวีดิจิทัลเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน นิยามของสื่อสารมวลชนเปลี่ยนไปด้วยไหม
เปลี่ยน องค์กรกำกับดูแลในต่างประเทศเขามีอำนาจดูแลทุกแพลตฟอร์ม ทั้งออนไลน์ วิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ส่วน กสทช.ดูแลแค่สื่อวิทยุโทรทัศน์เท่านั้น ถ้าสื่อออนไลน์อำนาจจะไปอยู่ที่กระทรวงดิจิทัลฯ แต่คนก็ด่า กสทช.ตลอด ทั้งที่เราไม่มีอำนาจ แล้วตอนนี้ยังมีโซเชียลมีเดีย มีสตรีมมิงซึ่งเนื้อหาภาพและเสียงเหมือนในโทรทัศน์ ทำให้เนื้อหาจำนวนหนึ่งไหลไปตรงนั้น ความยากก็เพิ่มขึ้นอีกว่า เราจะดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านี้ที่มีการแพร่ภาพและกระจายเสียง ซึ่งมักจะเรียกรวมๆ ว่า OTT (Over the Top) ได้อย่างไร
ในแง่ Global Platform ประเด็นนี้ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องอำนาจในระดับภูมิภาค เรื่องเศรษฐศาสตร์และการเมืองภูมิภาคด้วย กสทช.ยุคที่แล้วพยายามจำกัด OTT แต่ก็มีความกดดันในระดับสากล ทำให้ต้องปล่อย ซึ่งธุรกิจประเภทนี้ใหญ่และมีอิทธิพลมากเพราะมันคือสิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับโลก สำหรับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ ก็ไม่ได้สามารถจะไปต่อรองอะไรได้มากนัก
วันนี้ หลายคนพูดว่า ‘คนไม่ดูทีวีแล้ว’ คุณในฐานะกรรมการ กสทช. ด้านทีวี ยังดูทีวีอยู่ไหม
ดู Connected TV ดูหลายรายการเลย เมื่อเช้าก็ดูทั้งเรื่องเล่าเช้านี้ และรายการกรรมกรข่าว คุยนอกจอ ซึ่งอันหลังนี้น่าสนใจ ถึงจะไปอยู่ในยูทูบ ก็ยังมี Eyeball สูงมาก คนที่ไปออกรายการคุณสรยุทธ (สุทัศนะจินดา) ก็ชัดเจนว่าเป็นคนที่มีอิทธิพล หรือมีทัศนะที่ต้องฟัง เลยยังต้องดูอยู่ผ่านทั้งสองแพลตฟอร์มว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร
อีกด้านก็ดูคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มสตรีมมิงด้วย พยายามดูคอนเทนต์หลายเชื้อชาติเหมือนกัน แต่ดูไม่ค่อยจบ ซีรีส์เรื่องหนึ่งดูเป็นเดือนจนถึงหลายเดือน ดูไม่จบเพราะลืมก็มี หนังเรื่องหนึ่งก็ดูหลายวันเลย แต่ก็ต้องดู เพราะทำให้เห็นเทรนด์ที่เปลี่ยนไป
ตอนเปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการที่ต้องต่อสู้เรื่องเสรีภาพสื่อ มาเป็นคนกำกับดูแล หาวิธีบาลานซ์อย่างไร ไม่ให้ใช้อำนาจควบคุมเสรีภาพสื่อเสียเอง
เนื้อหาสื่อที่เป็นปัญหาในปัจจุบันมีอยู่ 2 ประเภท คือเนื้อหาที่ผิดกฎหมายชัดเจน กับเนื้อหาที่อาจไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่ว่าเป็นอันตราย มีผลทางลบ อาจผิดจริยธรรม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลเนื้อหาทางโทรทัศน์ จะมีมาตรา 37 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งระบุไว้ 2-3 เรื่องหลักๆ
คือเนื้อหาที่ล้มล้างระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เนื้อหาที่ขัดกับความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ซึ่งกฎหมายของ กสทช.ก็ล้อตามรัฐธรรมนูญในแง่การจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก อีกเรื่องคือสื่อลามกอนาจาร มีผลต่อความเสื่อมทรามทางจิตใจและสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง
เวลา กสทช.จะพิจารณา กระบวนการโดยส่วนใหญ่คือรับเรื่องที่มีคนร้องเข้ามา ส่วนงานที่เป็นเลขาฯ ของอนุกรรมการด้านเนื้อหาและผังรายการ ก็อาจต้องมอนิเตอร์เองด้วย บางทีก็เจอจากกระแสสังคม เช่น ดูจากเทรนด์ทวิตเตอร์ ทีมงานในสำนักงานต้องประมวลจากข้อมูลเหล่านี้ว่ามีฐานความผิดในการร้องจริงตามกฎหมายไหม ซึ่งต้องทำอย่างละเอียดมาก ถ้าพบว่าเรื่องที่ร้องเรียนมีประเด็นจริง ก็จะเรียกผู้ประกอบการที่ถูกร้องเรียนเข้ามาชี้แจง กรณีที่เป็นช่องรายการ บางช่องมาถึงก็ขอโทษว่าพลาดจริง แต่บางรายก็ Defend ว่าเป็นเรื่องของเสรีภาพ เป็นการทำงานของสื่อ แต่พอเจอกรณีที่ผิดซ้ำๆ แบบเดียวกันหลายครั้ง มันก็คงไม่เกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพแล้ว
เราจำกัดเสรีภาพสื่อไหม คิดว่าไม่ อาจจะมีความรู้สึกของผู้ที่ถูกใช้อำนาจทางปกครองว่าถูกจำกัด เพราะจะมีระดับของมาตรการทางปกครอง เริ่มต้นจากขอความร่วมมือ ตักเตือนทางปกครองว่าอย่าทำอีก ถ้าทำซ้ำอีกก็ปรับ จากนั้นก็พักรายการ พักใบอนุญาต ไปจนถึงระงับใบอนุญาต แต่ในความเป็นจริง เราทำมากสุดแค่ปรับขั้นต่ำ ยังไม่เคยแม้แต่ปรับขั้นสูงเลย เพราะเข้าใจว่ามันก็เป็นภาระของผู้ประกอบการ แต่ก็ต้องเน้นกับเขาว่าเราทำตามหน้าที่ และเขาก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม
แน่นอนว่าเสรีภาพสื่อคือเรื่องสำคัญ แต่ปัญหาอยู่ที่คุณภาพของสื่อมากกว่า อยากเห็นคุณภาพของสื่อดีขึ้น ทุกวันนี้เวลาคนด่าสื่อก็ด่ารวมไง แต่คนที่ตั้งใจทำ ไม่เคยโดนเรียกเลยก็มีเยอะ มีใครชมเค้าไหม ส่งเสริมคนทำดีไหม ก็น่าคิด
ในความคิดคุณ การยกระดับคุณภาพของสื่อสามารถทำอย่างไรได้บ้าง นอกเหนือจากการออกกฎระเบียบ
การคุมกฎต้องทำอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการส่งเสริมมากขึ้น กสทช.สามารถใช้ทั้งไม้แข็งและไม้อ่อน หรือการใช้แรงจูงใจที่ดีด้วยได้ ที่ผ่านมา กสทช.อาจใช้แรงจูงใจที่ดีไม่ค่อยพอ หลายคนบ่นว่าทำดีไม่เห็นได้อะไรเลย ซึ่ง กสทช.คงไม่มาทำรางวัลนาฏราชเองเนอะ (หัวเราะ) คงต้องดูในเชิงระบบ เพราะผลผลิตหลักของช่องรายการทีวี คือเนื้อหา
เราพยายามทำระบบ Social Credit มีการมอนิเตอร์เนื้อหาทั้งคอนเทนต์ที่เป็นปัญหา เช่น เรื่องโป๊เปลือย เซ็กซ์ โฆษณาแฝง รวมถึงมอนิเตอร์เนื้อหาเชิงบวกที่ส่งเสริมกลุ่มเป้าหมายที่อาจถูกมองข้าม เช่น เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่ม LGBTQ ถ้าใครทำเนื้อหาเหล่านี้จะได้คะแนนเพิ่ม ซึ่งการประเมินตรงนี้
ทาง กสทช.ก็ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้ชมผู้ฟังด้วยเหมือนกัน
อาจมีคุณผู้ชมผู้ฟังที่เราไปสร้างเครือข่ายไว้ส่งเรื่องเข้ามาด้วยว่าเจอรายการดีๆ เหล่านี้ รวมถึงรายการที่ทางช่องเองก็ส่งประกวดว่า เรามีเนื้อหาแบบนี้ น่าจะเก็บ Social Credit ได้ แล้วถ้าเขาไม่เคยโดนลงโทษหรือโดนตักเตือนเลย เราก็อาจลดค่าธรรมเนียมรายปีให้ เขาจะได้รู้สึกว่าทำดีก็เกิดผลดีเหมือนกัน ไม่ใช่ทำดีแล้วก็แล้วไป
คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า ตอนมาสมัคร กสทช.ได้แสดงวิสัยทัศน์แล้วคิดว่าคณะกรรมการน่าจะถูกใจ พอเล่าได้ไหมว่าวิสัยทัศน์ที่แสดงตอนนั้นมีอะไรบ้าง มีอะไรที่เอามาใช้จริงบ้าง
ตอนนั้นเขาให้เวลาแค่ 5 นาทีเอง ก็พูดเรื่องของคุณภาพเนื้อหาและจริยธรรม เรื่อง Social Credit เรื่อง Quality Rating นี่แหละว่า เราจะทำให้เกิดระบบที่วัดคุณภาพเนื้อหารายการได้แบบ Objective
อีกเรื่องคือการทำงานกับองค์กรวิชาชีพสื่อ ทำงานกับผู้รับใบอนุญาต เพราะในอารยะประเทศ การกำกับดูแลกันเองของสื่อทำโดยองค์กรวิชาชีพ สื่อเลือกกันมาเองให้องค์กรนี้เป็นผู้กำกับดูแลโดยสมัครใจ ที่ผ่านมาเราก็พยายามโปรโมตตรงนี้
จากนักวิชาการผู้มีผลงานการวิจัยมากมาย พอมาเป็น กสทช.มีงานด้านการวิจัยที่อยากให้ กสทช.ต่อยอดไหม
เป็นอีกเรื่องที่พูดไว้ในวิสัยทัศน์เรื่อง Evidence-based policy and regulation หรือการทำงานกำกับดูแลแบบมีข้อมูลเชิงประจักษ์ ซึ่งสำคัญ ในฐานะที่เป็นนักวิชาการบ้าวิจัย พอมาเป็นผู้วางกฎระเบียบเอง (Regulator) รู้สึกว่าถ้าจะออกกฎอะไรสักอย่าง มันควรจะมาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งจริงๆ กสทช.ก็มีงานวิจัยมากมายที่ Commission ให้มีการศึกษาไว้เยอะ จึงคิดว่าการออกกฎระเบียบควรมีหลักฐานตรงนี้ด้วยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลกระทบทางการกำกับดูแล (Regulatory Impact Assessment)
แต่ก็พบว่ามีความรู้อีกมากมายที่เรายังขาดโดยเฉพาะเรื่องเศรษฐศาสตร์ของ Broadcasting ซึ่งรวมถึงโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ใน Supply-Side ของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปมากจาก Disruption ทางเทคโนโลยี หรือเรื่องของการส่งเสริมทั้งเนื้อหา ผู้ประกอบวิชาชีพ หรือผู้เปิดรับสื่อที่อาจจะอยู่ในกลุ่มชายขอบหรือไม่ใช่กระแสหลักด้วยเหตุอะไรก็ตาม ก็พยายามให้นโยบายกับทางสำนักงานไปว่าต้องการวิจัยในลักษณะนี้ด้วย
ตอนต้องทำเรื่องการควบรวมของ True-Dtac ซึ่งอาจไม่ใช่ Field ที่สนใจ ได้ประสบการณ์อย่างไรบ้าง
สนุกดี ได้เรียนรู้เยอะมาก อ่านเอกสารเยอะมาก ต้องพึ่งพาทีม ทีมหน้าห้องก็ช่วยเยอะมาก รวมถึงทีมภายนอกอย่างผู้รู้และนักวิชาการ บางเรื่องเราไม่รู้ ต้องอาศัยนักวิชาการ แล้วก็พวก กรณีศึกษาต่างๆ ของต่างประเทศที่ทำไว้ดีมาก นั่งอ่านแล้วก็ทะลุปรุโปร่ง เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องที่ไกลตัวเรานิดหนึ่ง เพราะว่าเป็นสายโทรคมนาคม แต่ก็มีงานวิจัยที่ทาง กสทช.จ้างที่ปรึกษาต่างประเทศ แล้วเขาวิเคราะห์ดีมาก ทำให้เห็น Supply-Side ทั้งหมดเลยว่ามันเชื่อมโยงกันอย่างไร และการควบรวมจะส่งผลอย่างไร โดยเฉพาะกับสังคมไทยที่เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง และพึ่งพิงเทคโนโลยีมือถืออย่างมาก
จากประสบการณ์ของประเทศต่างๆ มันสะท้อนให้เห็นอยู่แล้วว่า ถ้าตลาดโทรคมนาคมเหลือแค่สองเจ้าใหญ่ แนวโน้มจะฮั้วกันมันสูง ถ้าฮั้วกันแล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับตลาด เกิดอะไรขึ้นกับผู้บริโภค ก็เป็นประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมายหลายคนกังวลว่า ถ้าเกิดต่อไปในอนาคต สองรายใหญ่ที่เหลืออยู่หลังการควบรวมเขาจูบปากกันขึ้นมา เราจะทำอย่างไร
อำนาจของผู้คุมกฎตอนนี้ชัดเจนมากว่าตามโลกไม่ทัน ออกกฎหมายไม่ทัน คิดว่าบทบาทนี้จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างในอนาคต
ก็ต้องเรียนรู้ว่าโลกเป็นอย่างไร อย่างกรณีของโทรทัศน์ เราพยายามมองหาฉากทัศน์ในอนาคต ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลจะหมดอายุปี 2572 ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อ อาจไปออนไลน์หมดก็ได้ อาจไม่ต้องมี กสทช.โทรทัศน์แล้วก็ได้ แต่พูดอย่างนี้ก็ดูเป็นการมองแบบชนชั้นกลางไปหน่อย
เพราะจริงๆ คนดูทีวีตามผัง ดูแบบ Linear TV ยังเยอะมากในต่างจังหวัด เป็นคนละกลุ่มกับคนเมืองซึ่งวิถีชีวิตผูกกับแพลตฟอร์มมากกว่า เพราะดูตอนไหนก็ได้ แต่คนที่มีวิถีชีวิตอีกแบบเขาทำงานเสร็จ กลับบ้านก็เปิดทีวีตามผังดู สาเหตุหนึ่งที่ฉากทัศน์ของอนาคตในปี 2572 ยังไม่เคลียร์ก็เพราะเรากำลังพูดถึงการเปลี่ยนผ่านทั้งประเทศ เราพยายามศึกษาให้เห็นภาพรวมทั้งหมดว่าจะเป็นอย่างไร ต้องดูข้อดีข้อเสีย ดูบทเรียนจากต่างประเทศว่าเขาเปลี่ยนแล้วเป็นอย่างไรด้วย
อีกเรื่องคือเทคโนโลยีการถ่ายทอดเนื้อหา อนาคตอาจเป็นแบบ 4K ซึ่งก็ใช้คลื่นมากขึ้นเป็นทวีคูณเข้าไปอีก ฉะนั้น อาจจะเหลือคลื่นพอให้จัดสรรได้เพียง 4-5 ช่องรายการเท่านั้น ตอนที่ไปคุยกับช่องรายการต่างๆ ทุกช่องอยากได้ใบอนุญาตช่องโทรทัศน์ภาคพื้นดินกันหมด แต่จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ต้องเอาทุกอย่างมาประมวลก่อน แล้วก็ต้องไม่ลืมสิ่งสำคัญ นั่นคือบทบาททางสังคมของโทรทัศน์ สิ่งนี้ละเลยไม่ได้
ช่วงไหนก็ตามที่มีเหตุปัจจัยต่างๆ ขึ้น เช่น การเลือกตั้ง เรตติงทีวีจะขึ้นทุกช่อง แสดงว่าคนยังหันมาหาโทรทัศน์ในฐานะแหล่งข่าวสารของสังคม เป็นตัวกลางจริงๆ สำหรับทุกเรื่อง เป็นพื้นที่ตรงกลางของสังคมเรา ถ้าเกิดในอนาคต ทุกคนถือสมาร์ตโฟนคนละเครื่อง ดูแต่สิ่งที่ตัวเองสนใจ จะมีตรงไหนที่เชื่อมสังคมเราด้วยกัน ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจร่วมในเรื่องเดียวกัน แม้จะเห็นแตกต่างกัน การที่สังคมไร้ทิศทางและคุณค่าร่วมกัน นี่คือสิ่งที่น่ากังวลที่สุด ถ้าสังคมไม่มีความสนใจร่วมกันเลยจะเป็นอย่างไร
สิ่งที่คุณเล่ามาทั้งหมด กสทช.คนอื่นๆ เห็นไปในทางเดียวกันไหม ทุกวันนี้ต้องการการเห็นพ้องกันทุกคนไหม
เสียงเดียวคงยาก เพราะว่า กสทช.แต่ละคนมีภูมิหลังไม่เหมือนกัน เรายังแอบหวังว่าเขาต้องเห็นว่ามันคือประโยชน์ของประเทศชาติ การทำงานเป็นองค์คณะ เราขับเคลื่อนด้วยตัวเองไม่ได้
ตอนนี้ยิ่งมีปัญหาการบริหารจัดการ มี Memo ออกมาบอกว่าไม่ให้บอร์ดสั่งการอะไรทั้งสิ้น ให้ทุกอย่างผ่านประธาน กสทช. ผ่านเลขาธิการ กสทช. ก็หนักใจ เรามีงานที่อยากทำ เป้าหมายที่อยากไปถึง แต่มาติดเรื่องการเมือง ต้องยอมรับว่าการเมืองภายนอกที่ยังไม่แน่นอนก็กระทบการเมืองภายในด้วย
ได้ยินว่าคุณไม่ใช่ กสทช.เสียงข้างน้อยแล้ว
ถึงจะไม่ใช่เสียงข้างน้อยแล้ว แต่ถ้าประธานยังไม่ฟังเสียงบอร์ด จะมีประโยชน์อะไร
คนภายนอกมักจะวิจารณ์ กสทช. คือ รวย งบประมาณเยอะมาก ในฐานะที่คุณนั่งอยู่ตรงนั้น คุณมองอย่างไร
ก็จริง ตกใจมาก เห็นแล้วก็แบบว่า เยอะขนาดนี้เลยเหรอ แต่หลายอย่างเราก็เกี่ยวข้องเพียงในกรอบงบประมาณเท่านั้น เพราะหน้าที่หลักของบอร์ดคือทำนโยบาย จะทำนโยบายให้เกิดผลก็ทำงานร่วมกับสำนักงาน
แต่ว่าเมื่อพูดถึงเรื่องเงิน งบประมาณส่วนใหญ่จะอยู่ใน กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) แต่ในส่วนนี้ บอร์ดทุกคน ยกเว้นประธานบอร์ด กสทช. แทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลยในแง่ของการบริหารจัดการเพราะว่ากองทุนมีบอร์ดของตัวเอง บอร์ดของกองทุนมีประธาน กสทช. เป็นประธาน และเลขาธิการ กสทช. เป็นเลขานุการ บอร์ดที่เหลือเองไม่ได้เกี่ยวข้อง เราจะเกี่ยวข้องเมื่อกองทุนส่งโครงการที่ผ่านบอร์ดกองทุนเข้ามาในขั้นสุดท้ายเท่านั้น
สำหรับโครงการ การจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO Universal Service Obligation) มีงบประมาณกว่า 8,000 ล้านบาท นั้น ถือว่าเยอะมาก ซึ่งที่ผ่านมา เราใช้วิจารณญาณในการอนุมัติสูงมาก และอาจไม่ถูกใจบางคนเหมือนกัน แต่ว่าเราดูทุกทางว่าเกิดประโยชน์ไหม โปร่งใสหรือไม่ ซึ่งหากไปอนุมัติซ้ำซ้อนก็เสี่ยงในแง่กฎหมาย ไม่สามารถตอบโจทย์กับสาธารณชนได้
ตั้งแต่ทำงานมา คิดว่าทำงานอย่างอิสระแค่ไหน
ส่วนตัวไม่รู้สึกว่าไม่อิสระ แต่อาจจะทำงานยากหน่อย เพราะประธานไม่ค่อยฟังบอร์ด อาจไม่เกี่ยวกับไม่อิสระ แต่มันทำงานเป็นองค์คณะลำบาก รู้สึกถึงความกดดันว่ามีคนพยายามให้นโยบาย มาตรการต่างๆ ออกไปอย่างที่เขาต้องการ มีความพยายามจะกดดันรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ส่งจดหมายขู่เป็นตั้งมาเลยว่าจะฟ้องเรื่องอะไร ตอนนี้ก็มีฟ้องแล้ว อาจยังไม่ถึงตัวโดยตรง แต่ตามรูปการณ์ เขาก็พยายามจะให้เราถูกฟ้องให้ได้ กดดันด้วยนิติสงครามนี่แหละ
แต่ก็ไม่ได้เกินความคาดหมาย ก่อนเข้ามาก็มีคนเตือนแล้วว่า มีความพยายามสร้างข่าวร้าย เราต้องระวังตัว เดี๋ยวนี้เชิญอะไรมาก็ต้องบอกไว้เลยว่า ไม่รับเงิน (หัวเราะ) ไม่อยากมีปัญหา เชิญก็เชิญมา ไม่ต้องทำเบิกให้ มันเป็นเกมด้วยไง จำนวน กสทช.มีอยู่ 7 คน เสียงข้างมาก 4 คนก็ปริ่มน้ำ ถ้าหายไป 1 เสียงจะเป็นประเด็นทันที
จริงๆ เราอาจจะอิสระเกินไปก็ได้ เพราะเราไม่ได้ตอบโจทย์ให้ใครโดยเฉพาะ เราเป็นของเราอย่างนี้ ก็มีความเสี่ยงนิดหนึ่ง ก็พยายามคิดว่าเราต้องไม่ยึดติด ถ้าวันหนึ่งเราอยู่ไม่ได้หรือไม่ได้อยู่ ก็คงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่ระหว่างที่เราอยู่ ก็จะทำให้ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้
การทำงานที่ กสทช.น่าจะหนักมากๆ คุณมีเวลาหาคลังความรู้อื่นๆ เพิ่มเติมไหม แบ่งเวลาให้ตัวเองอย่างไร
ยังหาความรู้อยู่เสมอ คนในแวดวงยังส่งเรื่องราวน่าสนใจมาให้อ่าน กลับบ้านก็อ่านออนไลน์บ้าง อ่านหนังสือบ้าง อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจในวันเสาร์อาทิตย์ อย่างเรื่อง AI อ่านใน Time Magazine แล้วปวดหัว มันทำให้เห็นอนาคตของมนุษยชาติอยู่รำไรว่าไม่ดีเลย ยิ่งสังคมไทยเราไม่ใช่สังคมคิดค้นนวัตกรรมใหม่ แต่เป็นสังคมผู้ใช้โดยสมบูรณ์ เราจะทัดทานผลกระทบของมันได้อย่างไร
ทุกวันนี้อาจอ่านไม่เยอะเท่าสมัยเป็นนักวิชาการ ดีว่ามีทีมหน้าห้องช่วยสรุปเรื่องน่าสนใจให้ บางทีอ่านรายงานทั้งเล่มไม่ไหว ในแง่วิชาการก็ทิ้งไม่ได้ ต้องรู้มากขึ้นไปอีก
ส่วนเวลาพักผ่อน ส่วนใหญ่วันเสาร์อาทิตย์ก็ทำอาหาร ทำขนม จริงๆ ทำกับข้าวเองทุกวัน ยกเว้นวันที่ไม่ได้กลับบ้านตอนเย็น เพราะคุณพ่อกินเค็มไม่ได้ แล้วก็มีลูกที่กินยากมาก (หัวเราะ) เลยต้องทำกับข้าวทุกวัน กินเสร็จก็เล่นกับแมว
อีกนานหลายปีกว่าจะหมดวาระ มีอะไรที่อยากจะให้เป็นผลงานรูปธรรมมากที่สุด
ไม่นานหรอก อีก 5 ปีก็หมดแล้ว น่าจะหมดก่อนใบอนุญาตหมดปี 2572 วาระของเราน่าจะหมดปี 2571 หรืออาจจะหมดก่อนนั้นก็ได้
แต่อย่างน้อยกว่าจะถึงตอนนั้น การเปลี่ยนผ่านใบอนุญาตต้องชัดเจน ที่อยากเห็นคือการเปลี่ยนผ่านในรอบหน้า อยากให้ Well-Planned ที่สุด มีข้อมูลชัดเจนที่สุด คงไม่สามารถทำให้ทุกคนแฮปปี้ได้หมด แต่อย่างน้อยก็อยากให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด เราจะดีไซน์อย่างไรในรอบหน้าให้มันโอเคที่สุด
อีกอย่างคืออยากสร้างโอกาสในวิกฤต อย่างเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ จริงๆ ซอฟต์พาวเวอร์มีอะไรเยอะกว่าอุตสาหกรรมเนื้อหาสร้างสรรค์ ซึ่งอุตสาหกรรมเนื้อหาสร้างสรรค์ต้องไปต่อกับซอฟต์พาวเวอร์อีกที อุตสาหกรรมโทรทัศน์หรืออุตสาหกรรมสร้างคอนเทนต์ของไทยมีศักยภาพสูง เราเก่งมาก ทำโฆษณาได้สวยงาม ทำหนังได้รางวัลเยอะ ซีรีส์ก็ขายไปได้ทั่วโลก และมีตลาดใหญ่อยู่ในอาเซียนและจีน
ก่อนหน้านี้ไปประชุม Asia Video Summit ที่ฮ่องกง มีผู้เข้าร่วม 22 ประเทศทั่วโลก 180 คน หลักๆ เป็นคนในอุตสาหกรรม ส่วนฝั่ง Regulator ไม่ค่อยมีใครไป แต่เราไปเพราะอยากรู้ว่าเขาไปถึงไหนกันแล้ว เขามีให้โหวตออนไลน์ว่า คิดว่าประเทศไหนจะประสบความสำเร็จต่อจากเกาหลี ปรากฏประเทศไทยได้ที่หนึ่ง งงเหมือนกันนะกับผลที่ออกมา ขนาดประเทศเราไม่ได้มีแผนบริหารจัดการเรื่องคอนเทนต์ดีเท่าไรในระดับชาติ คนจำนวนมากยังมองเห็นศักยภาพ แต่ถ้าเราไม่ดูดาย ไม่ผลักดันเองก็น่าเสียดาย
กสทช. สามารถอนุมัติ 600 ล้าน ให้คนไทยดูบอลโลกในช่วงเวลาไม่ถึงเดือนได้ แล้วทำไมไม่ช่วยผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ให้เขาสามารถผลิตเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ แล้วก็โกอินเตอร์ได้ด้วย นี่เป็นสิ่งที่เราอยากให้เกิดมาก
Fact Box
- พิรงรอง รามสูต เป็นบุตรสาวของศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ธีระ รามสูต (ข้าราชการบํานาญ) และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พันธุ์ทิพย์ รามสูต (ข้าราชการบํานาญ)
- เส้นทางก่อนรับตำแหน่งที่ กสทช. พิรงรองเคยทำงานเป็น Reporter-rewriter ให้กับหนังสือพิมพ์ The Nation เมื่อปี 2532-2533 จากนั้นจึงเข้าสู่โลกวิชาการ ทำงานเป็นอาจารย์ประจําภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2535 และเคยดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีด้านการสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2559-2563
- พิรงรองได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ของสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์ ประจำปี 2559
- นับตั้งแต่ได้รับการสรรหาทำหน้าที่ กสทช. พิรงรองมักเป็น กสทช.เสียงข้างน้อยอยู่บ่อยครั้งในกรณีสำคัญๆ เช่น กรณีการควบรวมของ True-DTAC ที่พิรงรองอยู่ในเสียงข้างน้อย 3:2 ที่ให้ กสทช.มีอำนาจมากกว่าการ ‘รับทราบ’ แต่ปัจจุบัน มีรายงานว่าเธอไม่ใช่เสียงข้างน้อยอีกต่อไปแล้ว