เช้ามืดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 พม่าได้ถูกรัฐประหารโดยกองทัพอีกครั้ง พร้อมกับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี

ปรากฏการณ์สำคัญหลังจากนั้นคือ คนพม่า ‘ลุกฮือ’ ขึ้นต่อต้านการยึดอำนาจของทหาร จนเกิดเหตุปะทะขึ้นระหว่าง ตำรวจควบคุมฝูงชน กับประชาชนที่ยืนหยัดต่อต่อสู้ท่ามกลางอาวุธ รถฉีดน้ำ และแก๊สน้ำตา ก่อนจะเริ่มรุนแรงขึ้นไปสู่ ‘การใช้กระสุนจริง’ เพื่อการจับกุมอย่างกว้างขวาง ซึ่งในวันนี้ (17 กุมภาพันธ์ 2564) ยังไม่มีทีท่าจะจบลงง่ายๆ

การยึดอำนาจครั้งนี้ ส่งผลให้ทั่วโลกหันมาจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หลายคนหาเหตุผลของการรัฐประหารจากกองทัพ หลายคนคาดคะเนถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น พร้อมทั้งตั้งคำถามว่าเหตุการณ์ในพม่า จะจบลงเหมือน ‘หนังเรื่องเดิม’ คือเหตุการณ์ ‘นองเลือด’ เมื่อปี 1988 หรือจะเปลี่ยนเป็น‘หนังเรื่องใหม่’  ปี 2021 ว่าด้วยประชาชน ‘ชนะ’ กองทัพทหาร

เพื่อหาคำตอบว่าทำไม พม่าถึงยังวนเวียนอยู่กับ ‘เผด็จการทหาร’ และการต่อสู้ครั้งนี้จะจบแบบเดิม หรือจะเป็นเส้นทางใหม่ The Momentum ชวน อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ประเทศพม่ายุคใหม่ เพื่อวิเคราะห์สาเหตุที่พม่า ยังคงวนเวียนอยู่กับ ‘เผด็จการ’ หาสาเหตุของการรัฐประหาร และประเมินแนวโน้ม การ ‘ลุกฮือ’ ของชาวพม่ารอบนี้

ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของการเป็นเผด็จการ นั่นคือการรัฐประหารเมื่อปี 1962 เหตุการณ์ยึดอำนาจเกิดขึ้นได้อย่างไร 

การรัฐประหารในปี 1962 คล้ายๆ กับสิ่งที่เพิ่งเกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ คือทำตอนเช้ามืด และทำในขณะที่มีการประชุมอยู่ ซึ่งในขณะนั้นเริ่มมีขบวนการเคลื่อนไหวในรัฐฉาน อู้นุที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นจึงได้เชิญผู้นำรัฐไทใหญ่ทั้งหมดมาประชุมที่ย่างกุ้ง นายพลเนวี่นจึงถือโอกาสในขณะนั้นเข้ายึดอำนาจ โดยใช้ข้ออ้างครั้งนี้ว่า หากปล่อยให้ Union of Burma เป็นแบบนี้ต่อไป ประเทศจะแตกเป็นเสี่ยงๆ เพราะมีแนวโน้มว่า อู้นุ นายกรัฐมนตรีพม่าในขณะนั้น จะอนุญาตให้ไทใหญ่สามารถดูแลปกครองกันเองได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 1947 ระบุไว้ว่า 10 ปี ภายหลังการปกครอง หากไทใหญ่ และกะเหรี่ยงแดง (Karenni) ไม่รวมกะเหรี่ยงทั่วไป อยากแยกออกไปเป็นรัฐอิสระก็สามารถทำได้ผ่านกระบวนการทางรัฐสภา

นายพลเนวี่น มีมุมมองแบบทหารและมองว่า พวกไทใหญ่ พวกคอมมิวนิสต์ เป็นกลุ่มคนที่มีลักษณะพยายามจะแยกประเทศออกไป และข้ออ้างอีกหนึ่งเรื่องคือ การที่รัฐบาลอู้นุ ทำเรื่องนโยบายเศรษฐกิจที่หลุดจากแนวทางที่นายพล ออง ซาน วางไว้ คืออยากให้เป็นแนวทางแบบเศรษฐกิจสังคมนิยม

ภายหลังการรัฐประหารในปี 1962 กองทัพก็ปกครองสืบเนื่องยาวนานมาจนถึง 1988 ที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากข้างใน และข้างนอก หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องประหลาดๆ เกี่ยวกับนโยบายการเงิน เช่นเปลี่ยนจากการใช้แบงก์ร้อย เป็นแบงก์ 70 แบงก์ 35 ตามความเชื่อโหราศาสตร์ของกองทัพ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถแลกได้ ด้วยระยะเวลาที่จำกัด และความสามารถในการแลก เลยทำให้เงินถูกทำให้เป็นเศษกระดาษ จากมีเงินอยู่ 100 บาท อยู่ๆ ใช้ไม่ได้ เลยกลายเป็นเหตุการณ์การนองเลือดปี 1988 อย่างที่เราทราบ และอองซานซูจีก็กลับพม่าในช่วงนั้นพอดีเพราะแม่ป่วย เลยตกล่องปล่องชิ้น กลายเป็นผู้นำม็อบและขึ้นปราศรัย

การรัฐประหารเมื่อปี 1962 คนพม่าช่วงนั้นออกมาต่อต้านไหม

ตอนที่นายพลเนวี่นเข้ามายึดอำนาจ ก็มีการต่อต้านมาโดยตลอด แต่กองทัพสามารถควบคุมได้เพราะมีอาวุธ ภายหลังการยึดอำนาจกองทัพก็ตั้งนายทหารเข้าไปบอร์ดบริหาร รัฐวิสาหกิจ ร้านค้า ธนาคารต่างๆ หากเราเดินทางไปย่างกุ้งก็จะเห็นว่า โรงเรียน จะมีชื่อเรียกเป็น โรงเรียนหมายเลข 1 โรงเรียนหมายเลข 2 หมายเลข 3  และร้านค้าก็จะเป็น ร้านค้าเพื่อชุมชนแห่งที่ 1 ร้านค้าเพื่อชุมชนแห่งที่ 2

ขณะเดียวกัน การค้าชายแดนก็ถือกำเนิดขึ้นมาจากความล่มสลายของเศรษฐกิจในประเทศ หลังจากปี 1962 ประชาชนก็อยู่อย่างลำบากยากแค้น ซึ่งขณะนั้นไม่มีโซเชียลมีเดีย และทหารก็มีปืนอยู่ในมือ การประท้วงนั้นแน่นอนว่ามีอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้ลุกฮือขึ้นประท้วงพร้อมกันในแบบที่กองทัพไม่สามารถรับมือได้ แต่ทุกวันนี้ต่างออกไป ทั่วประเทศสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ผ่านโซเชียลมีเดีย ทุกคนรู้ว่าจะจัดการรวมตัวประท้วงอย่างไรให้พร้อมกันทั่วประเทศ ถ้ามีพลังมากพอกองทัพจะไม่สามารถจัดทรัพยากรมาควบคุม มาจัดการได้เลย เพราะฉะนั้น ทางเลือกเดียวที่เหลือคือการใช้ความรุนแรง

แล้วตั้งแต่ยุคเผด็จการจนถึงปัจจุบัน ทหารพม่ามีบทบาทกับระบบเศรษฐกิจมากน้อยขนาดไหน

ทหารมีบทบาททางเศรษฐกิจผ่านทางกลุ่มทุนขนาดใหญ่ เช่น บริษัท เมียนมาร์เบียร์ ธนาคารอย่างอิรวดี หรือบริษัทขนส่ง ซึ่งเมื่อก่อนเป็นรัฐผูกขาดเวลาที่จะนำเข้า-ส่งออก รัฐบาลทหารจะกำหนดเลยว่า จะใช้บริษัทขนส่งอื่นไม่ได้ ต้องใช้บริษัทนี้เท่านั้น เพราะเกิดการผูกขาดและกองทัพเป็นเจ้าของ แต่ภายหลังพรรคเอ็นแอลดี เปิดให้มีการแข่งขันมากขึ้น มันเลยสั่นสะเทือนความมั่นคงทั้งเรื่องของเศรษฐกิจและการเมือง 

หลายคนพูดว่า ก่อนปี 1962 พม่าเจริญกว่าไทย แต่ล่มสลายเพราะเผด็จการทหาร คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ที่เรามักคิดว่า เราเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลก จริงๆ แล้วไม่ใช่ พม่าต่างหากที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลก

เพราะพม่าเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกก่อนไทยนานมาก จากการเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคมอังกฤษ และเข้าไปอยู่ในฐานะ ‘อู่ข้าวอู่น้ำ’ ผลิตเข้าส่งออกเป็นอันดับหนึ่ง หากนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกัน พม่ามีความสามารถในการส่งออกข้าวมากกว่าไทย

รัฐยะไข่ เป็นพื้นที่สำคัญในการเพาะปลูกส่งออกข้าวของพม่า ดังนั้นพื้นที่ในเขตนี้จึงมีความต้องการในเรื่องแรงงานสูง จึงมีการหลั่งไหลเข้ามาของแรงงาน นอกจากแรงงานพม่าที่หลั่งไหลเข้ามาแล้ว ก็มีแรงงานอินเดียเข้ามาเยอะ เข้ามาตั้งรกรากเข้ามาแย่งงาน คนพม่าจึงเกลียดคนอินเดียเป็นอย่างมาก ทั้งการแย่งงาน และการปล่อยเงินกู้ เพราะคนตอนใต้ทางอินเดียที่เรียกกันว่า ‘เชตตะญา’ จะเข้ามาปล่อยเงินกู้ให้ชาวพม่าในดอกเบี้ยที่สูง       

ประมาณปี 1930 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เราจึงจะเห็นว่าพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 1 ใน 3 ของพม่าตกอยู่ภายใต้การครอบครองของเชตตะญา เป็นของนายทุน นอกจากนี้พม่าในฐานะอาณานิคมของอังกฤษ อังกฤษก็นำพวกอินเดียที่มีความรู้ ความสามารถมาเป็นข้าราชการชั้นสองต่อจาก เจ้านายคนอังกฤษ คนพม่าเลยเป็นแค่ข้าราชการระดับล่าง พม่าเลยมองอินเดียในฐานะคนที่คอยออกคำสั่ง คนที่เข้ามาแย่งงาน จึงมีคำพูดที่คล้ายๆ กับคนไทยที่บอกว่า เจอแขกกับงู ให้ตีแขกก่อน พม่าก็เป็นแบบนี้ เพราะมีประวัติศาสตร์ที่ไม่ดีนักกับคนเชื้อชาติอื่น

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนพม่าถึงเกลียดโรฮีนจา เพราะคนอินเดียเข้ามาเอารัดเอาเปรียบ มาแย่งงาน และที่สำคัญคือพม่าแยกคำว่า ‘แขก’ กับ ‘มุสลิม’ ออกจากการกันไม่ได้ เพราะโรฮีนจาเป็นแขกที่เป็นมุสลิม ถ้าหากเป็นแขกฮินดู หรือแขกพุทธ ก็คงไม่เป็นเรื่องใหญ่เท่ากับการเป็นแขกมุสลิม

แนวคิดของกองทัพพม่าในการทำรัฐประหารคืออะไร

ปกป้องประเทศ ประชาชน และรัฐธรรมนูญ เพราะตอนนี้กองทัพและทหารยึดรัฐธรรมนูญเป็นสรณะ แต่สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ หากย้อนไปในประวัติศาสตร์ กลุ่มคนที่ก่อตั้งพรรคเอ็นแอลดีขึ้นมากลับไม่ได้มีแค่นักการเมือง แต่มีพวกทหารเก่าอย่าง พลจัตวา อ่องจี้ ที่เป็นเสมือนมือขวาของนายพลเนวี่น ซึ่งยึดอำนาจและทำให้พม่าอยู่ใต้ระบอบเผด็จการยาวนานตั้งแต่ปี 1962 ร่วมก่อตั้งด้วย

ก่อนที่จะตั้งพรรคอ่องจี้ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงสิ่งที่เขาเคยทำประมาณว่า สิ่งที่เขาทำมันผิดพลาดมาก เขาไม่เคยเดินทางออกนอกประเทศเลยตั้งแต่ปี 1962-1988 เลยไม่รู้ว่าโลกข้างนอกไปถึงไหนแล้ว เพราะอยู่แต่ข้างในประเทศ จึงคิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ดีที่สุดสำหรับประชาชน ประเทศชาติ และกองทัพ แต่จริงๆ แล้วกลับไม่ใช่

ตัดภาพกลับมาที่ปี 2011 ทำไมกองทัพพม่าถึงยอมปล่อยให้พรรคเอ็นแอลดีมีอำนาจ

ปี 2008 มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2010 มีการเลือกตั้งครั้งแรกที่ทุกคนตกใจ ตอนนั้น แม้ว่าจะมีการประกาศใช้โรดแมปในการเดินทางสู่ประชาธิปไตย 7 ขั้นตอนมาก่อนแล้ว แต่ทุกคนก็ไม่มีใครเชื่อว่าจะทำจริง  

ส่วนหนึ่งที่ปล่อยให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น อาจเพราะมั่นใจในรัฐธรรมนูญที่ตัวเองร่างมาว่ารัดกุมแล้ว และต่อให้มีการเลือกตั้ง ก็ไม่สามารถลดอำนาจในการควบคุมการเมืองของกองทัพได้ เพราะรัฐธรรมนูญที่ร่างมาไม่สามารถแก้ได้และเต็มไปด้วยเงื่อนไขจำนวนมาก เช่นเงื่อนไขที่ระบุว่า ‘ผู้ที่มีสามีหรือภรรยาเป็นชาวต่างชาติ ไม่สามารถเป็นประธานาธิบดีได้’ เพื่อเป็นการขวางทางอองซานซูจี ที่มีสามีเป็นชาวอังกฤษ

พอเราอ่านรัฐธรรมนูญก็จะทราบได้อยู่แล้วว่า เป้าหมายมันชัดเจนมาก เพราะยังมีหมวด 11 ที่พูดถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งไม่เคยมีรัฐธรรมนูญประเทศไหน ที่จะระบุเรื่องการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ละเอียดขนาดนี้มาก่อน เราจึงรู้ได้ว่า นี่คือท่าไม้ตายของกองทัพ ที่หากไปไม่รอดก็จะกลับมาใช้หมวดนี้อย่างแน่นอน 

นอกจากนี้ ที่กองทัพปล่อยให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เพราะจีนเริ่มเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจของพม่ามากขึ้นเรื่อยๆ และอเมริกาก็แทรกแซงพม่าจากหลายเหตุการณ์ที่ใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชน กองทัพจึงมีความรู้สึกว่าการที่ต้องพึ่งพาจีนอย่างเดียว เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน เพราะหันซ้ายหันขวาก็มีหลายกรณีที่จีนเข้ามามีอิทธิพลเหนือประเทศ เช่น ศรีลังกาที่จีนยึดท่าเรือไปเลยหลังจากไม่มีเงินใช้หนี้

ผมคิดว่าเป็นความฉลาดของทหารที่อยู่ในตอนนั้น เพราะกองทัพมองว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้ไม่สามารถไปต่อได้ จึงสร้างรัฐธรรมนูญ สร้างความเป็นประชาธิปไตยที่สามารถควบคุมได้ เลยปล่อยให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

กล่าวสำหรับอองซานซูจี หลายคนมองว่าเป็น ‘ความหวัง’ แต่ชื่อเสียงของอองซานซูจีในประชาคมโลกก็ไม่ได้ดีเท่าไร หลายคนบอกว่า ‘น่าผิดหวัง’ เสียด้วยซ้ำ ในมุมมองของคุณ อองซานซูจี จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นอย่างไร 

ผมคิดว่าความนิยมส่วนตัวก็ลดลง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็มีส่วนที่ดีและร้าย มีส่วนที่ ‘เป็นคุณ’ ต่อกองทัพในแง่ที่แก้ไม่ได้ และขณะเดียวกัน ก็ทำให้ประชาชนต้องเลือกระหว่างคำว่า ‘กองทัพ’ และ ‘ไม่ใช่กองทัพ’ ซึ่งหากต้องเลือก ประชาชนส่วนมากก็ต้องเลือกไม่ใช่กองทัพอยู่แล้ว เพราะกองทัพทำปัญหาให้ประเทศมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 1962 และถ้าเลือกสิ่งที่ไม่ใช่กองทัพ ก็ต้องเลือกอองซานซูจี

เพราะฉะนั้น ในฐานะผู้สังเกตการณ์ข้างนอกจึงมองว่าคะแนนของอองซานซูจีลดลง เพราะมีเรื่องสิทธิมนุษยชนต่างๆ และมีปัญหาอย่างโรฮีนจา แต่คนพม่าไม่ได้คิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาอะไรมากมาย เพราะสุดท้ายพอถึงเวลาที่ต้องเลือก คนก็ต้องเลือกฝั่งไม่เอากองทัพ

ภาพจาก Reuters

การเลือกตั้งที่ผ่านมามีสัญญาณบ้างไหมว่าจะเกิดรัฐประหาร

ไม่มี เพราะการเลือกตั้งของพม่า มักจะ Free and Fair อยู่เสมอ ซึ่งเราคาดการณ์กันมาตลอดว่าการเลือกตั้งอาจมีการโกงเกิดขึ้นได้ แต่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ National League for Democracy (เอ็นแอลดี) ก็ชนะแบบถล่มทลาย ซึ่งก็เหมือนกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2015 ที่ทุกคนกังวลว่าจะโกงหรือเปล่า แต่ท้ายที่สุดก็ไม่โกง

ตอนนั้นเรียกว่าไม่มีสัญญาณอะไรเลย เพราะพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ซึ่งทหารสนับสนุน คิดว่าจะได้รับคะแนนเสียงที่เยอะ เพราะเขาพยายามจัดอีเวนต์ต่างๆ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง เช่น การจัด Union peace conference Myanmar เป็นงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ที่จัดขึ้นเพื่อให้ลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (Nationwide Ceasefire Agreement: NCA) กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Armed Organizations: EAOs) แต่พอพรรคเอ็นแอลดีขึ้นมาเป็นรัฐบาล ก็เปลี่ยนชื่อเป็น ข้อตกลงปางโหลง ในศตวรรษที่ 21

รัฐบาลเอ็นแอลดีก็เล่นใหญ่ว่า เฮ้ย ที่ผ่านมากองทัพมักจะคุยกันแค่เรื่องกองกำลังติดอาวุธเท่านั้น แต่ภาคประชาชน ภาคสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ คุณกลับไม่คุยเลยหรือ ดังนั้นเราจะต้องสร้างพื้นที่ในการพูดคุยเพื่อสร้างสันติสุข จากเดิมที่กองทัพมักสวมบทบาทเป็นพระเอกมาตลอดในกระบวนการสันติภาพ แต่ตอนนี้กลับเป็นพรรคเอ็นแอลดีแทน

คุณประเมินตัว มิน อ่อง หล่าย อย่างไร เขามีท่าทีหรือไม่ ว่าจะเป็นผู้นำการยึดอำนาจ

เขาอยู่ในจุดที่สามารถทำได้ เพราะกองทัพพม่ามีความยึดถือในลำดับชนชั้นมากๆ การที่จะเกิดการปฏิวัติซ้อนนี่แทบไม่เกิดขึ้น พม่าอยู่ในวัฒนธรรมที่คล้ายกับประเทศไทยในสมัยโบราณที่กดขี่กันมาเป็นทอดๆ

หากถามว่า มิน อ่อง หล่าย มีบุคลิกที่โหดไหม เด็ดเดี่ยวไหม เขาก็โหด เพราะหากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์แล้ว มิน อ่อง หล่าย ไปรับราชการที่รัฐฉาน ซึ่งเป็นรัฐที่มีการสู้รบโหดมาก ทั้งคอมมิวนิสต์ และกลุ่มชาติพันธุ์ โดยส่วนมากแล้ว ใครที่มาเป็นผู้บังคับบัญชาในพื้นที่นี้ก็จะได้ตำแหน่งสูงๆ ตลอด ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ มิน อ่อง หล่าย จะขึ้นมาเป็นผู้นำการรัฐประหาร

การที่ประชาชนสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของประชาธิปไตยในช่วงการบริหารของพรรคเอ็นแอลดี สิ่งนี้เป็นส่วนสำคัญของการออกมาต่อต้านรัฐประหารหรือไม่

สำคัญอย่างแน่นอน เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว แค่คุณอยู่บ้านก็ทราบได้ว่าทั้งโลกกำลังเกิดอะไรขึ้น เด็กรุ่นใหม่ อาจจะไม่ได้รับรู้ว่าพ่อแม่ตัวเองเมื่อ 30 ปีก่อนลำบาก โหดร้ายอย่างไรบ้าง แต่คนรุ่นใหม่นั้นเติบโตมากับค่านิยม การพูดเรื่องสิทธิมนุษยชน เติบโตมากับการพูดเรื่องประชาธิปไตยจึงเป็นผลกระทบ 2 เด้ง ทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่

ทั้งหมดนี้ รวมเป็นการเคลื่อนไหวของสังคมที่หลายภาคส่วนเกี่ยวโยงกันกลายเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของคนรุ่นใหม่เพียงอย่างเดียว แต่หากมองกลับมาประเทศไทย การชุมนุม ก็จะเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่เป็นส่วนมาก เพราะบริบททางการเมืองของคนยุคก่อนในไทย ไม่เหมือนกับสิ่งที่เกิดในพม่า

ภาพจาก Reuters

ในพม่ามีกลุ่มคนที่เชียร์กองทัพบ้างไหม

ผมคิดว่ามีน้อย เราจะเห็นพวกที่ออกมาเดินขบวนสนับสนุนทหารบ้าง แต่คนพวกนี้ก็มักจะมาเร็วไปเร็ว เดินๆ มาถ่ายรูปเป็นข่าวแล้วก็กลับ หาตัวตนไม่เจอ หรือกลุ่มคนเหล่านี้อาจจะเป็นทหารเองที่เปลี่ยนชุด เพราะมีข่าวออกมาเหมือนกันว่าเห็นคนใส่ชุดธรรมดานั่งมากับรถของกองทัพ ก่อนที่จะมีการเดินขบวนสนับสนุนทหาร ในย่างกุ้งก่อนการยึดอำนาจ

ซึ่งรูปแบบนี้จะออกมาเสมอ คล้ายกับการโยนหินถามทางว่าจะมีเสียงตอบรับอย่างไร เหมือนกับก่อนรัฐประหาร ที่มีข่าวว่ามีคนมาสนับสนุนการยึดอำนาจ มีทหารออกมา ก็ออกข่าวแบบนี้เพื่อหยั่งเสียงว่าจะมีคนสนับสนุนกองทัพบ้างไหม จนภายหลังกองทัพต้องออกมาแถลงว่า สถานทูต องค์กรเอกชนตีความกันไปเอง กองทัพยึดมั่นในประชาธิปไตย ผมจึงคิดว่าการรัฐประหารไม่เกิดขึ้นหรอก แต่ก็เกิดขึ้น

กลุ่มทุนในพม่ามองการรัฐประหารอย่างไร

 ผมคิดว่าเขาก็สองจิตสองใจ เพราะตอนที่ประเทศอยู่ในรูปแบบ ‘กึ่งประชาธิปไตย’ ก็ได้รับผลประโยชน์ ได้รับอานิสงค์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบนี้ แต่ธรรมชาติของนักธุรกิจ ผมมองว่า เขาไม่สนใจหรอก ไม่ว่าจะเป็นการปกครองแบบไหน ประชาธิปไตยหรือเผด็จการ

คุณไปดูเครือซีพีสิ ตอนทักษิณขึ้น หรือประยุทธ์ขึ้นเป็นรัฐบาล ไม่ว่าใครก็ได้หมด ขอแค่ให้ได้รู้ว่าสถานการณ์ในประเทศจะเป็นอย่างไรจะได้เตรียมตัวรับมือให้ทัน

ดังนั้นไม่ควรฝากความหวังไว้กับทุน แต่ควรฝากไว้กับประชาชนมากกว่า ส่วนตัวมองว่ามีผลมาก ใครจะดูแคลนว่าไม่มีพลัง และท้ายที่สุดกองทัพจะสามารถคุมอำนาจได้ ผมมองว่าสิ่งนี้ไม่จริงหรอก หากสามารถทำได้จริง และทำพร้อมกันทั่วประเทศก็จะส่งผลได้เช่นกัน 

แรงกดดันจากประชาคมโลกจะสามารถกดดันพม่าได้ไหม

ประชาคมโลกพยายามกดดันกันอยู่ แต่ผมคิดว่าส่งผลน้อย เพราะกองทัพน่าจะรู้อยู่แล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้น จึงพยายามอ้างรัฐธรรมนูญและทำให้จบอย่างรวดเร็ว และทุกอย่างก็จะค่อยๆ มีท่าทีที่ดีขึ้น คล้ายกับในไทยตอนแรกที่ประชาคมโลกออกมากดดัน ทั้งสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไร เพราะฉะนั้นเราจะไปฝากความหวังไว้กับประชาคมโลกไม่ได้ เพราะทุกคนก็ล้วนดูประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก แต่ถามว่าต้องแสดงท่าทีไหม เขาต้องแสดงท่าทีแบบนี้อยู่แล้วเป็นการบังคับ

คุณจะมาสรรเสริญเยินยอกองทัพ มันไม่ใช่เรื่องปกติที่เขาทำกัน หากคุณไม่ทำก็จะโดนฝ่ายค้านในประเทศคุณอัดเอาอีก เช่นนิวซีแลนด์ประกาศห้ามเดินทาง ผมถามจริงๆ ว่า นิวซีแลนด์มีปฏิสัมพันธ์อะไรกับพม่ามากมายไหม ก็ไม่ ประเทศไหนที่ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์ก็จะออกมาพูดก่อน พูดได้ ส่วนอเมริกาก็อาจจะขึงขังหน่อย เพราะถือเป็นพี่เบิ้มของหลักประชาธิปไตย โลกจะมาหน่อมแน้มไม่ได้

คนไทยเปรียบเทียบม็อบพม่ากับม็อบไทยว่า พม่าจะสำเร็จเร็วกว่า เพราะไม่มีสถาบันฯ แล้วคองบองในมุมมองคนพม่าเป็นอย่างไรบ้าง

คองบองไม่มีใครจดจำในฐานะที่เป็นศูนย์รวมจิตใจ เพราะมันห่างกันมานานมาก เป็นร้อยกว่าปีเกือบสองร้อยปี คนพม่าจึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับเชื้อพระวงศ์เก่าหรือราชวงศ์สักเท่าไหร่ แต่อาจให้ความสำคัญกับตัวบุคคลบางบุคคลเช่นบุเรงนอง เพราะภาพลักษณ์การทำงานหนักเพื่อประชาชนของราชวงศ์พม่าหายไปเลย

ม็อบพม่าจะส่งผลกับม็อบที่ไทยอย่างไร

ผมว่ามันเรียนรู้ซึ่งกันและกันหลายเรื่อง เช่น วัฒนธรรมการคว่ำบาตร Cancel Culture การชูสามนิ้ว ทั้งหมดนี้ มาจากไทย แต่พม่ามันเข้มข้นกว่าเพราะคนทุกกลุ่มเอาด้วย แต่เรามีเฉพาะคนรุ่นใหม่ การเมืองของไทยมันมีหลายกลุ่มมากเกินไป ทั้งพวกรักรัฐบาล ที่ไม่ว่ารัฐบาลจะแย่อย่างไรก็ไม่คิดจะเปลี่ยน มันไม่เหมือนพม่าที่คนทุกกลุ่มสู้กับกองทัพ ซึ่งหากดูแล้วพม่าน่าจะสำเร็จง่ายกว่าไทย ของไทยน่าจะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

แต่เมื่อพูดถึงตอนที่ตำรวจพม่าหันโล่ปกป้องประชาชนแล้วน้ำตาจะไหล มันให้ความรู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยเลย

การปราบปรามผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารมีแนวโน้มที่จะใช้กระสุนจริงไหม

ผมมองว่าทหารพม่าเลือกเส้นทางนี้แล้วคงไปสุดซอย ตัวแปรสำคัญหลังจากนี้ อยู่ที่ประชาชนว่าจะเข้มแข็งรวมกันเป็นปึกแผ่นในการต่อรอง สร้างแรงเสียดทานได้มากแค่ไหน 

จุดนี้มันอาจจะเป็น ถ้าประชาชนแพ้ พม่าจะถูกดึงกลับไป แต่หากรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นลุกขึ้นสู้แล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง จุดนี้จะเป็นการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ถอนรากถอนโคนอำนาจทหาร

แต่กว่าจะถึงจุดนั้นผมคิดว่า คงจะลำบาก เพราะอย่างไรมันก็คือ ‘เลือดจริง’ ‘ชีวิตจริง’

Fact Box

  • อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ประเทศพม่ายุคใหม่ และร่วมสมัย การค้าชายแดน เศรษฐศาสตร์การเมือง เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม
  • ผลงานวิจัยที่ผ่านมา โครงการพลวัตของการค้าชายแดนนอกระบบและเขตเศรษฐกิจพิเศษในบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และโครงการแพลตฟอร์มอีโคโนมีและผลกระทบต่อแรงงานภาคบริการในประเทศไทย: กรณีศึกษาในประเทศไทย มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย
Tags: , , ,