สนามนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จะมีการเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะเป็นอีกหนึ่งสนามที่ร้อนแรง ดุเดือด พรรคก้าวไกลประกาศพร้อมเปิดหน้าชนบรรดากลุ่มการเมืองหน้าเก่า กลุ่มการเมืองบ้านใหญ่ โดยมีหมุดหมายว่าต้อง ‘เอาชนะ’ ในสนามเล็กให้ได้ เพื่อขยายฐานที่มั่นทางการเมือง ครองอำนาจบริหาร ปูทางไปสู่การเลือกตั้งสนามใหญ่รอบหน้า
แต่เอาเข้าจริง สนาม อบจ.ไม่ใช่เรื่องง่าย หลากสนามมี ‘เจ้าถิ่น’ ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน ด้วยฐานจากทั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (สมาชิกสภา อบจ.) ด้วยฐานจากสายสัมพันธ์ของ ส.ส. รวมถึงความใกล้ชิด ‘อำนาจรัฐ’ โดยเฉพาะพรรคที่เป็นรัฐบาล ที่จะส่งให้บรรดา ‘คนหน้าเก่า’ ได้กลับมาเป็น นายก อบจ.อีกรอบ
แต่สำหรับภูเก็ตอาจเป็น ‘ข้อยกเว้น’ การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไกลกวาด ส.ส.ยกจังหวัด 3 คน เป็นพรรคอันดับหนึ่ง ได้คะแนนเสียงปาร์ตี้ลิสต์รวม 9.2 หมื่นเสียง เป็นสนามเดียวในภาคใต้ที่พรรคก้าวไกลได้ ส.ส.
นั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้พรรคก้าวไกลประกาศเปิดตัวผู้ท้าชิงนายก อบจ.ภูเก็ต เป็นจังหวัดแรก ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมี นายแพทย์เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล อายุรแพทย์สมอง อดีตรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต คนหน้าใหม่เอี่ยมในทางการเมือง เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ชนกับ เรวัต อารีรอบ นายก อบจ.ภูเก็ตคนปัจจุบัน ที่ประกาศว่าจะลงสมัครเป็นวาระที่ 2 แน่ๆ
ความน่าสนใจอยู่ตรงที่เรวัตไม่ได้เชี่ยวกรากในการเมืองสนามเล็กเท่านั้น แต่เขายังพะยี่ห้อ มีดีกรีเคยเป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์มาก่อน พร้อมกับเครือข่ายคอนเนคชั่นอันซับซ้อน ขณะเดียวกัน ‘อารีรอบ’ ก็เป็นตระกูลใหญ่ เป็นหนึ่งในตระกูลเก่าแก่ของภูเก็ต
ด้วยความที่เป็นคนหน้าใหม่ถอดด้าม ไม่มีเขี้ยวเล็บทางการเมือง คำถามก็คือ ‘หมอเลอศักดิ์’ มีดีอย่างไร ที่จะท้าชิงกับนักการเมืองรุ่นเก๋า ในสายตาเขา
วันหนึ่งในฤดูร้อน The Momentum ชวนคุณหมอเลอศักดิ์เปิดใจหมดเปลือก นั่งคุยยาวๆ ในร้านกาแฟที่ถนนถลาง คุยทั้งปัญหา ‘การเมือง’ และปัญหาของ ‘เมือง’ ภูเก็ตเป็นอย่างไร มีอะไรต้องรื้อ มีอะไรต้องปรับปรุง เรื่องเรื้อรังอย่าง ‘การจราจร’ ในสายตาของเลอศักดิ์ ต้องปรับ-แก้ตรงไหน แล้วเพราะเหตุใดคนภูเก็ตจึงต้องเลือกพรรคที่ไม่รู้จะโดนยุบเมื่อไรก็ได้
ถ้าให้แนะนำตัวสั้นๆ คุณหมอเป็นใคร มาจากไหน
คุณพ่อผมเป็นคนพังงา ส่วนคุณแม่เป็นคนภูเก็ต ผมเองก็เป็นคนภูเก็ต เกิดที่นี่ เรียนชั้นประถม-มัธยมที่นี่ ก่อนที่มัธยมปลายไปเรียนที่เตรียมอุดมศึกษา จากนั้น ไปเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จบแล้วไปใช้ทุนที่ศรีสะเกษอยู่ 2 ปี แล้วก็กลับมาเรียนต่อด้านผ่าตัดสมองที่สถาบันประสาทวิทยา กลับมาเป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เป็นหมอผ่าตัดสมอง ก่อนจะได้ตำแหน่งบริหาร เป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาล
ผมเริ่มทํางานที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ตตั้งแต่ปี 2548 วันนี้ก็ 19 ปีแล้ว ดูแลคนไข้ตั้งแต่เคสผ่าตัดจากอุบัติเหตุจราจร เคสเนื้องอกสมอง รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง เส้นเลือดในสมองตีบ เส้นเลือดในสมองแตก
มุมมองส่วนตัวของคุณ มองเห็นภูเก็ตอย่างไร
สมัยก่อนภูเก็ตเป็นเมืองเหมืองแร่ ตอนผมเกิดมาก็ไม่ทันแล้ว อีกส่วนหนึ่งคือเป็นเมืองท่องเที่ยว เป็นเมืองชายหาด แล้วก็มีการเติบโตด้านธุรกิจ การท่องเที่ยวทางทะเลมาโดยตลอด ผมเองไปกรุงเทพฯ มา 10-20 ปี กลับบ้านปีละ 2-3 ครั้ง ก็ไม่มีอะไรที่ต่างไปจากเดิม
จนกระทั่ง 10 ปีที่ผ่านมา มีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมากขึ้น อย่างถนนถลาง ก็มีเรื่องการท่องเที่ยวแบบถนนคนเดิน เริ่มมีการรื้อฟื้นวัฒนธรรมที่เป็นเพอรานากัน ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานแบบบาบ๋า-ย่าหยา แล้วก็มีการจัดงานอื่นอย่างภูเก็ต Gastronomy (วิทยาการทำอาการ)
สำหรับภูเก็ต คนที่มาทัวร์กินจะชอบมาก เพราะเรามีอาหารการกินที่เป็นเอกลักษณ์ แล้วก็โดดเด่นมาก ร้านอาหารอร่อยมาก อย่างไรก็ตาม 80-90% ยังคงพึ่งพาการท่องเที่ยวในเชิงทะเล
ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เราเห็นชัดว่าการท่องเที่ยวภูเก็ตมันหยุดชะงัก จากที่เคยมีจีดีพีสูงๆ มันก็ชัดว่าเราพึ่งพาการท่องเที่ยวเสาเดียว เป็นเศรษฐกิจเสาเดียว ก็เลยคิดว่าต้องมีเศรษฐกิจที่พึ่งพาได้ ต้องยืนด้วยตัวเองบ้าง
มีความคิดก่อนหน้านี้ไหมว่าอยากทำงานการเมืองในภูเก็ต
(ตอบทันที) ไม่มีความคิดเลยครับ ผมก็เอ็นจอยอยู่กับการเป็นหมอ เจอปัญหามากมาย แต่ในแง่หนึ่ง เราก็อยากไปเยี่ยมคนไข้ตามบ้าน ไปพูดคุยกับคนไข้ในชุมชน เพราะการที่คนเราจะเจ็บป่วย เข้าโรงพยาบาล มันมีภาวะแวดล้อมมากมาย รวมถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สังคม สิ่งแวดล้อม ทุกอย่างมันโยงไปหมด แยกกันไม่ออก พีรามิดของการเจ็บป่วยคือวงจรอุบาทว์ การเจ็บป่วย มันคือโง่ จน เจ็บ จน ไม่ได้เรียน ก็ไม่มีความรู้ ดูแลสุขภาพไม่ดี ตามมาด้วยเจ็บป่วย มีค่าใช้จ่าย ทำงานไม่ได้ กลับมาจนก็วนอยู่อย่างนี้
คุณตัดสินใจอย่างไรในวันที่เลือกลงสมัคร
มีเพื่อนรุ่นน้องที่รู้จักกันท่านหนึ่ง เขาชวนทีเล่นทีจริง จริงๆ ผมก็ชอบการเมือง ตั้งแต่สมัยคุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) ตั้งพรรคอนาคตใหม่ เขาเองเป็นคนอุดมการณ์แรงกล้ามากเลย ผมตามคุณธนาธรตั้งแต่ทำพรรคการเมืองต่อมามีการยุบพรรค ซึ่งผมก็รู้สึกว่ามันไม่แฟร์ที่อนาคตใหม่ถูกยุบ แล้วคุณธนาธรก็ถูกกีดกัน ถูกผลักออกไป
จนกระทั่งมาเป็นพรรคก้าวไกล รุ่นน้องผมสนิทกับ ส.ส.ในพื้นที่ ก็ชวนว่า “พี่โอ มาลงพรรคก้าวไกลไหม” เพราะเขาหาคนลงนายก อบจ.ภูเก็ต ผมก็สนใจนะ แต่ยังไม่ได้ตอบรับ พอเดือนหนึ่งผ่านไป วันดีคืนดีก็มี ส.ส.เขตหนึ่งโทรเข้ามาหาผม ถามว่าคุณหมอสนใจลง นายก อบจ.ไหม
ผมไม่ได้มีตั๋วช้าง ต้องเข้าสู่กระบวนการสอบ สอบข้อเขียน มีให้แสดงวิสัยทัศน์ผ่านกูเกิลฟอร์ม แล้วก็สอบสัมภาษณ์ พื้นที่จังหวัดก็สัมภาษณ์เรา คัดเราไป แล้วก็ต้องสัมภาษณ์กับทางกรรมการบริหารพรรค เพราะสุดท้ายต้องเคาะโดยกรรมการบริหารพรรคอีกรอบ ทั้งหมดคือกระบวนการที่เราเข้าไปแบบตรงไปตรงมา
สรุปนโยบายคุณเน้นเรื่องอะไรมากที่สุด
ด้านหนึ่งที่ผมเน้นคือการเข้าถึงบริการสาธารณสุข เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน แล้วต้องเข้าสู่ระบบ ไม่ว่าจะป่วยที่บ้านเฉียบพลันหรือเจ็บป่วยบนท้องถนนก็ต้องมีหน่วยงานเข้ามาดูแลคุณให้เร็วที่สุด
หนึ่งคือเรื่องเครือข่ายรถพยาบาล ต้องรู้พิกัดของรถฉุกเฉิน ทั้งของรัฐ ของมูลนิธิต่างๆ เพื่อที่จะดูว่าอยู่ใกล้ผู้ป่วยที่ไหน จุดไหน แล้วก็มีศูนย์บัญชาการว่าต้องเข้าไปจุดไหน ต้องเข้าที่ไหนเป็นที่แรก
ภูเก็ตเป็นเมืองไม่เคยหลับ ทุกคนทำงานไม่เป็นเวลา เวลาป่วยเลือกไม่ได้ แต่พอสี่โมงครึ่ง โรงพยาบาลปิด กลายเป็นว่าทุกคนต้องเข้าห้องฉุกเฉิน ฉะนั้นต้องมีแผนกผู้ป่วยนอกรอรับตรงนี้ หรือไปพัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในย่านชุมชน ต้องไปขยายศักยภาพให้มีหมอ 24 ชั่วโมงให้ได้
อีกเรื่องก็คือการคัดกรอง ผมอยากสร้างบรรยากาศให้ตัวเองอยากตรวจสุขภาพ จะมีการตรวจสุขภาพเชิงรุก อายุเกิน 35 ปี มีความเสี่ยงเรื่องอะไรบ้าง แม้ต้องคัดกรองคนเป็นแสน แต่ก็สามารถสร้างแคมเปญให้ดึงดูดสถานประกอบการ ประชาชนทั่วไป เพื่อให้ตรวจสุขภาพ ถ้าอยู่ในเกณฑ์ดี อบจ.ต้องให้รางวัลอะไรบ้าง
อีกอย่างคือการคัดกรองมะเร็ง เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม ปอด ถ้ารู้ตั้งแต่แรกก็มีโอกาสรักษาหาย ผมอยากคัดกรองเรื่องพวกนี้ให้มากขึ้น ปกติค่าเคมีบำบัด ค่าฉายแสงมันแพงมากนะครับ แล้วพอเข้าระยะ 3-4 การให้คีโมสมัยใหม่ๆ ก็เป็นเพียงแค่การยื้อชีวิตเท่านั้น
และอีกเรื่องคือเรื่องของภาวะสุขภาพใจ อันนี้ถูกละเลยมาก ภูเก็ตเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีอัตราการฆ่าตัวตายต่อประชากร คือโดยปกติ กว่าจะไปจนถึงจุดที่ฆ่าตัวตาย จะต้องผ่านการเป็นโรคซึมเศร้า มีความวิตกกังวลไปจนถึงจุดที่จะฆ่าตัวตาย ฉะนั้น เราต้องตรวจคัดกรองสุขภาพจิตเด็กนักเรียน คนชรา ตอนนี้สภาพสังคมมันย่ำแย่เด็กนักเรียนในภูเก็ตจำนวนไม่น้อยอยู่ในครอบครัวแตกแยก พ่อแม่หย่าร้าง อยู่ตรงไหน เรื่องพวกนี้เป็นปัญหาที่ถูกสร้างไว้ สร้างคะแนนเสียงไม่ได้หรอก แต่ผมคิดว่าปล่อยปละละเลยไม่ได้ ตรงนี้จะดักจับได้ว่าเด็กคนไหนมีปัญหาครอบครัว
หรืออีกอย่างคือเรื่องอุบัติเหตุ ปัจจุบัน คนไทยตายจากอุบัติเหตุบนถนน 1-2 หมื่นคนต่อปี สงครามอัฟกัน 12 ปี ตาย 1 หมื่นคน แต่เราไม่ได้อยู่ในสงครามนะ กลายเป็นว่าประชากรเราเกิดน้อยแล้ว ยังต้องเสี่ยงตาย-พิการ บนถนนอีก ฉะนั้น ต้องทำระบบขนส่งสาธารณะให้ดี ต้องบูรณาการร่วมกันได้ทั้งหมด เพิ่มเส้นทาง ออกแบบเส้นทาง ต้องเหมาะกับนักเรียน นักศึกษา ต้องออกแบบเส้นทางให้ดี
คุณยกเรื่องขนส่งสาธารณะขึ้นมาก็ดี เพราะเรื่องหนึ่งที่คนภูเก็ต และคนอื่นๆ เห็นว่าวิกฤตจริงๆ คือเรื่องการจราจร แนวคิดคุณเรื่องนี้เป็นอย่างไร
(ตอบทันที) เราละเลยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานมานานกว่า 20 ปี ปัญหาสำคัญคือรถเยอะกว่าถนน เมืองมันโตในเวลาเดียวกับที่ระบบขนส่งมวลชนเองไม่ดี แล้วทุกคนก็ต้องใช้รถส่วนตัวหมด เพราะถ้าไม่มีรถมอเตอร์ไซค์ ไม่มีรถส่วนตัว ก็ไปไหนมาไหนไม่ได้ เดินทางกันยากลำบาก
วิธีแก้ปัญหา คือหนึ่ง ต้องใช้วิศวกรรมจราจรมาแก้ เพิ่มถนน เพิ่มทางลอด ขยายเส้นทางรถไฟฟ้ารางเบา หรือรถใต้ดิน สุดโต่งไปเลย
หรือถ้าคิดแบบสุดโต่งไปเลย สนามบินติดทะเล สถานที่ท่องเที่ยวเราก็ติดทะเล ถ้าจะไปโรงแรม ไม่ต้องใช้ถนนแล้ว ไปขึ้นท่าเรือ ขึ้นเรือให้เสร็จ คุณก็ไปดรอปนักท่องเที่ยวตามโรงแรมที่อยู่ตามหาดได้เลย เคยมีคนคิดวางแผนไว้ แต่ก็รู้สึกจะติดประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมกับเรื่องของกฎระเบียบกรมเจ้าท่า ไอเดียนี้ผมยังศึกษาอยู่ แต่คิดว่าดีมาก
การขนส่งที่ดีอาจช่วยได้ไม่หมด แต่อย่างน้อยต้องมีช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่าน เช้าๆ ถ้าพ่อแม่จะส่งลูกไปโรงเรียน สามารถส่งลูกขึ้นรถประจำทางได้ ก็จะลดรถบนท้องถนนไปได้เป็นพันคัน หรือคนที่ไปทำงานโรงแรมที่หาดป่าตอง โรงแรมอาจมีพนักงานเป็นหมื่นคน บางโรงแรมมีรถรับส่ง แต่ก็เท่ากับต้องมีรถ 5,000 คัน ที่วิ่งจากเมืองไปหาดป่าตอง ถ้าเราทำรถบัส รถพวกนี้หายไปครึ่งหนึ่ง จะดีกว่าไหม ถ้ารถส่วนตัวหายไป 2,500 คัน ก็จะเพิ่มพื้นที่บนท้องถนนได้มากขึ้น
แต่ปัจจุบัน อบจ.ก็ทำรถสองแถวสีชมพูวิ่งในเมืองอยู่แล้ว
สองแถวก็คือการทำขนส่งสาธารณะ มันไม่ใช่จัดเฉพาะรถ แต่ต้องมีแพลตฟอร์มและการจัดการ ถ้าคุณเห็นรถสองแถวใหญ่ๆ คันสีชมพู คุณไปดูคนอายุ 60-70 ปี ที่ไหนจะขึ้นได้ เพราะรถมันสูงมาก วิธีคิด ต้องคิดแบบ Design Thinking ต้องคิดแบบ Human Centric เด็กขึ้นได้ คนแก่ก็ต้องขึ้นได้ คนพิการก็ต้องขึ้นได้ วันนี้ได้ยินว่าเขากำลังสั่งรถอีวีพื้นต่ำ ผมก็ชื่นชมเขา อะไรที่เขาทำดีก็ว่าดี แต่ยังไม่พอในเชิงปริมาณ
คุณต้องทำให้เหมือนอารยะประเทศที่เปิดดูได้ว่าป้ายรถเมล์อยู่ที่ไหน สายไหนจะมากี่โมง รอนานเท่าไร จะไปที่ไหนบ้าง แล้วการออกแบบเส้นทางก็ต้องตอบโจทย์ เพราะขนส่งสาธารณะไม่ใช่แค่รถ รถเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่ยังมีการออกแบบเส้นทางที่ต้องตอบโจทย์ ไม่ใช่ต้องรอรถเมล์ครึ่งชั่วโมง
ผมเคยท้าผู้บริหารจังหวัดตอนประชุม ว่าให้ลองขึ้นรถประจำทางดูว่าจะขึ้นได้ไหม จะเห็นว่ามันไม่ได้สะดวกนะ แล้วไม่ได้ end-to-end เพราะลงแล้วต้องเดินต่ออีกสองกิโลเมตรเข้าบ้านก็ไม่โอเค
ผมกำลังคิดเรื่องตุ๊กตุ๊กอีวี แม้กระทั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างให้ปลอดภัย เส้นทางหลักให้รถใหญ่วิ่ง แต่ถ้า 1-2 กิโลเมตร ให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างดีดี มีหมวกกันน็อก ก็จะแก้ปัญหานี้ได้
อีกส่วนคือนโยบายการศึกษาที่คุณเน้นเป็นพิเศษ
สมัยเด็กๆ ผมเป็นชนชั้นกลาง ห้องเรียนหนึ่งมีเด็กประมาณ 40 คน ห้องผมมีทั้งลูกเศรษฐี มีชนชั้นกลางแบบผมเป็นส่วนใหญ่ มีเด็กที่ลำบากยากจน แล้วเราก็เรียนด้วยกัน เพื่อนลำบาก เราก็แบ่งปันบางอย่างให้เขา
วันนี้ มีเพื่อนที่ประสบความสำเร็จ มีเพื่อนที่ลำบาก ก็ช่วยเหลือแบ่งปันกัน แต่ในสมัยนี้ไม่แล้ว Upper Middle Class ชนชั้นกลางระดับบนขึ้นไป เด็กที่เกิดจากชนชั้นนี้จะไม่มีวันรับรู้ว่าโลกนี้มีคนจน ถ้าพ่อแม่ไม่พาไปดู เขาจะอยู่แต่กับคนที่มีฐานะ ปิดเทอมก็ไปเล่นสกีที่สวิตเซอร์แลนด์
ลูกผมเองก็เรียนโรงเรียนนานาชาติ ทุกคนก็พยายามดิ้นรนให้ลูกตัวเองเข้าโรงเรียนดีๆ เพราะโรงเรียนไทยเราก็ไม่ศรัทธา ทุกคนก็ดิ้นรน ค่าเทอมก็แพงมาก ผมก็ไม่ได้รวย ยังต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ แต่เราก็พยายามให้ลูกได้สิ่งที่ดีที่สุด
Upper Middle Class โตมาแบบนี้ ในขณะที่คนที่ลำบาก ก็จะอยู่โรงเรียนที่ธรรมดาและการศึกษามาตรฐานก็ยังไม่ดี มันจะถูกถ่างไปอีก
เรื่องความเหลื่อมล้ำ มันชัดเจนว่าโรงเรียนที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีคุณภาพดีกว่าโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในระดับประถม โรงเรียนเทศบาล อบจ. ดีเลย แต่ถามว่าดีเลิศไหม ก็ไม่ใช่ แต่ถ้าโรงเรียนของ สพฐ.บางโรงเหมือนโรงเรียนอนาถา ส้วมก็ห่วย อุปกรณ์ไม่มี ห้องหนึ่ง 4 ฟังก์ชัน เป็นทั้งห้องภาษา ห้องนักเรียน ป.2เป็นห้องพักครู ห้องประชาสัมพันธ์ เพราะไม่มีงบมาซ่อมหลังจากพายุพัดถล่ม อุปกรณ์การเรียนไม่มี ครูภาษาต่างประเทศไม่ต้องพูดถึง ไม่มี
ทั้งที่คุณโตมาในจังหวัดภูเก็ต คุณโตมาย่อมด้วยการรับรู้ภาษาที่ 2-3 มีฝรั่งมากมายที่พร้อมให้จ้างมาสอน แต่โรงเรียนก็ไม่มีเงินจ้าง เพราะฉะนั้น การพัฒนาการศึกษาจึงต้องอยู่บนพื้นฐานของลดความเหลื่อมล้ำ เราจะปรับหลักสูตรให้เด็กรู้จักชีวิต จะมีเวิร์กชอปครูหลายระดับ ภูเก็ตเป็นเมืองนวัตกรรมหลักสูตรสาธารณะ เราปรับหลักสูตรได้ ทางกระทรวงศึกษาธิการ เอื้อให้ภูเก็ตสามารถปรับหลักสูตรได้ 30% ให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะชีวิต สามารถลงหลักปักฐาน ให้ผู้ประกอบการเป็นส่วนหนึ่งการพัฒนาการศึกษา ทำให้เด็กค้นหาตัวตนตัวเองให้เร็วที่สุดให้ได้ ไม่ต้องฝืนเรียน ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ถ้าไม่ชอบในช่วงมัธยมปลาย
เพราะฉะนั้น คุณต้องรีบรู้จักตัวเองตั้งแต่การศึกษาขั้นต้น ถ้าชอบหรือเก่งอะไร ก็ลุยทางนั้นเลย ไม่ต้องให้เด็กไม่ชอบไปนั่งเรียน แล้วสุดท้ายก็ไม่มีความสุข เราต้องลดความเหลื่อมล้ำ จัดโครงสร้างพื้นฐานให้ดี ปรับหลักสูตรให้เด็กเรียนรู้ทักษะตัวเองให้ดี รู้จักตั้งคำถาม ตั้งแต่ป.1- ป.4 ให้เล่นเยอะๆ ไม่ควรมีการบ้าน ให้เล่นเลย ผมคุยกับผู้บริหารโรงเรียนลูกผม เขาก็ยินดีถ่ายทอดหลักสูตรบางอย่างให้ ผมมานั่งดูแล้วก็คิดว่าเด็กโรงเรียนนี้โชคดีจัง น่าเรียนจังเลย ผมอยากไปนั่งเรียน เป็นการเรียนที่จรรโลงใจมาก สมัยผมนั่งเรียนอะไรบนกระดาน นั่งอยู่บนโต๊ะ ตามมีตามเกิด ฉะนั้นก็ต้องไปช่วยกัน
สำหรับเรื่องการท่องเที่ยว คุณสนใจเรื่องอะไร
ผมสนใจเรื่องการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทำอย่างไรจะกระจายรายได้สู่คนฐานรากได้ เวลามีอีเวนต์ งานกีฬา ต้องคิดว่าคนพื้นถิ่นได้อะไร คนฐานรากได้อะไร ให้เขามีรายได้เพิ่มในการอยู่ใน Supply Chain ของอีเวนต์ ไม่ใช่มีแค่เศรษฐี นายหัว กลุ่มทุน ที่ได้ประโยชน์
ไม่ได้มองแค่รายได้ระดับพนักงาน แต่ต้องมองลงไปถึงชาวบ้านที่ออกเรือหาปลา เช้าไปเย็นกลับ เขาเป็น Supply Chain เขาได้อะไรบ้าง เราต้องเชื่อมเขาให้ได้ เขาไม่มีปากไม่มีเสียง ไม่มีช่องทาง ฉะนั้น ผู้บริหาร ผู้ปกครองเมือง ต้องไปดึงเขาเข้ามา
ยกตัวอย่างการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอีกเรื่อง เช่น ต้องหาช่องทางให้คนสนใจชุมชนชาวเล ทำหมู่บ้านชาวเลให้เหมือนชิราคาวะโกะ (Shirakawa-Go) มีชาวบ้านแกะหอย นั่งเล่น วันนี้อาจจะยังระเกะระกะ การจัดการขยะยังไม่ดี แต่ถ้าปรับใหม่ ให้คนมาเที่ยว มีงานคราฟต์ มีวิถีชีวิต ก็จะกระจายรายได้ลงสู่ฐานรากได้ด้วย
ย้อนกลับไป 14 พฤษภาคม 2566 ที่พรรคก้าวไกลชนะยกจังหวัด คุณแปลกใจไหม
แปลกใจมาก เพราะต้องยอมรับว่าคนภูเก็ตนั้นคอนเซอร์เวทีฟจริงๆ แต่สำหรับผม มี 2-3 ปัจจัย คือคนที่อยู่ในภูเก็ตเป็นคนที่มาจากต่างจังหวัดมาทำงานพอสมควร สอง ภูเก็ตมีสัดส่วนคนที่อายุต่ำกว่า 40 เฉียดครึ่ง ครึ่งหนึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ สาม มีการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ทำให้คนที่อยู่ในวัยทำงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ สามารถใช้สิทธิล่วงหน้าได้ ทั้งคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ คนที่อยู่ต่างจังหวัด ต่างประเทศ ได้คะแนนตรงนี้เยอะเลย แต่ว่าเลือกตั้งท้องถิ่นไม่มี นี่เป็นข้อเสียเปรียบของผมแล้ว ว่าใครจะบินกลับมาถ้าเลือก อบจ.
ข้อสำคัญที่หลายคนวิเคราะห์คือฝั่งตรงข้ามคะแนนตัดกันเอง ทำให้ก้าวไกลชนะ
มีส่วนครับ เพราะจริงๆ แล้วถ้าวิเคราะห์เนี่ยก้าวไกลถือคะแนนอยู่สักประมาณ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ แล้วที่เหลือก็ถูกหาร ฝั่งอนุรักษนิยมก็ถูกหารออกไป รอบนี้เขารู้ทันเราแล้ว เลยเป็นศึกหนักของผม เป็นไปได้ว่าอาจเหลือแค่ผมกับคุณเรวัตแค่สองคนเท่านั้น ผมก็หืดขึ้นคอเหมือนกัน ไม่ง่ายเลย
ภาพบ้านใหญ่ของภูเก็ตมีไหม
ไม่เชิง ไม่ชัดเหมือนบางจังหวัด ของภูเก็ตเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มดั้งเดิมมากกว่า แต่บ้านใหญ่ภูเก็ตไม่ได้ก้าวร้าวเหมือนที่อื่น ยังดูกลมกลืน แล้วก็มีความเป็นพื้นถิ่น
สำหรับคุณเรวัตเองก็มาจากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นกลุ่มดั้งเดิมที่ทำการเมืองมานาน แล้วภูเก็ตก็เป็นประชาธิปัตย์มาโดยตลอด ตั้งแต่ผมเกิดจนโต กระทั่งก่อนหน้านู้นก็เป็นพลังประชารัฐ เป็นอนุรักษนิยม ก่อนจะมาเป็นก้าวไกล
จะเป็น นายก อบจ.ได้ ต้องมีฐานเสียงของ สจ. คุณประเมินอย่างนั้นไหม
กังวลใจเหมือนกัน ของตัวเองอาจจะหนักแล้ว แต่ สจ.หนักกว่า เพราะยิ่งการเมืองท้องถิ่น เขตยิ่งเล็ก ต้องยึดโยงกับตัวบุคคล แต่เราก็ไม่ย่อท้อ เราบอกทุกคนว่าต้องขยันทำงาน เราเป็นพรรคที่งบน้อย ต้องอาศัยลูกขยัน พบปะผู้คน คุณธนาธรบอกว่า เดิน เดิน เดิน แล้วก็สามจริง คนจริง พื้นที่จริง แล้วก็รูปจริง ผมว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น ไม่งั้นจะไปรับรู้ปัญหาชาวบ้าน ประชาชนได้อย่างไร
ภูเก็ตมี สจ.ได้ 24 คน บางเขตคู่แข่งเขาแข็งมาก คนของเราเขารู้ว่าลงไปก็ไม่ชนะ แต่สำหรับผม ก็ต้องลง ให้มีคนของพรรคเราได้รับฟังปัญหาชาวบ้านบ้าง
ผมเดาว่าคุณเรวัตน่าจะลาออกก่อนช่วงกลางปี อาจจะชิงความได้เปรียบ เพราะพวกเราหน้าใหม่หมด อาจจะมีเวลาลงพื้นที่ได้น้อย ขณะที่เขาอยู่ในพื้นที่มานานแล้ว เขาชื่อทีม ‘หยัดได้’ หลับตาคนก็รู้แล้ว เพราะฉะนั้น การทำ Brand Awareness เพื่อให้คนรับรู้ตัวตนของผม มันต้องอาศัยเวลาและการลงพื้นที่ ถ้าเลือกเร็ว ผมก็จะดรอปไป เพราะยิ่งการเมืองเป็นเรื่องท้องถิ่นเท่าไร การยึดโยงกับตัวบุคคลก็จะสูงเท่านั้น ในที่สุด อิทธิพลของพรรคก็จะดรอปลง แต่ถ้าให้ภูเก็ตเลือกตั้งนายก อบจ. พร้อมกับทั่วประเทศ กระแสพรรคก็จะกลับมา เพราะเลือกทั้งประเทศ แคมเปญพรรคก็จะเป็นภาพใหญ่ทั้งประเทศ คุณเรวัตก็จะเสียเปรียบ ฝั่งคุณเรวัตอาจจะไม่มีพรรคอื่นลง เพื่อแก้ปัญหาเสียงแตกเหมือนครั้งก่อน แต่สำหรับคนก้าวไกลก็เลือกก้าวไกลอยู่แล้ว
แต่โดยส่วนตัวผมไม่มีปัญหาอะไรกับนายกฯ เรวัต มีครั้งหนึ่งผมไปงานสรงน้ำพระที่เชิงทะเล เจอกับคุณเรวัต ก็รู้จักกันอยู่แล้ว เพราะคุณเรวัตเคยเป็นเลขานุการของคุณสาธิต (สาธิต ปิตุเตชะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) สำหรับผม คุณเรวัตท่านก็น่ารัก ท่านก็ช่วยโรงพยาบาลเยอะ ผมเองก็ยังเคยไปสมัครงานกับท่านเลย ตอนนั้นจะย้ายไปเป็นผู้อำนวยการกองการแพทย์ของ อบจ. แต่ก็ไม่ได้เป็น สุดท้ายพอมากลายเป็นคู่แข่งของคุณเรวัต ก็เลยเขินๆ
ผมถามท่านอยู่ว่าโกรธไหม แกก็ไม่ว่าอะไร บอกว่าหมอ เอาเลย สู้กันทางการเมือง ทำการเมืองสร้างสรรค์ ซึ่งผมเองก็เห็นด้วย
คุณกังวลไหม ในแง่ที่คุณต้องมาลงนายก อบจ. กับพรรคที่อาจโดนศาลรัฐธรรมนูญยุบในวันหนึ่ง
กังวลนิดเดียวว่าอาจต้องเปลี่ยนสติกเกอร์ เปลี่ยนเสื้อใหม่ (หัวเราะ) แต่ไม่เป็นไร เพราะซื้อเสื้อมาหลายตัว ด้อมส้มก็คือด้อมส้ม ต่อให้เปลี่ยนชื่อเป็นชื่อไหน คนก็จะตามมาเลือกอยู่ดี ไม่กระทบคะแนนเสียงอยู่แล้ว ก้าวไกลมันคือมูฟเมนต์ คือก้อนของอุดมการณ์ ไม่ใช่แค่พรรคการเมือง ฉะนั้นจะเปลี่ยนชื่ออะไร สัญลักษณ์อะไร ผมก็ยืนยัน ต่อให้เปลี่ยนสี คนก็ตามมาเลือก แต่สีไม่เปลี่ยนหรอก
คือการเมืองมันมาไกลพอสมควรแล้ว ผมรู้สึกดีใจนะที่ยุคนี้มันมาถึงจุดที่มี Wisdom พอสมควรแล้ว ใช้สติปัญญา ใช้ความมุ่งมั่น ใช้ความตั้งใจที่จะพัฒนาประเทศชาติ มากกว่าจะต้องไปเลือกกลุ่มทุนหรือยึดโยงบ้านใหญ่อะไรอย่างนี้ ในภูเก็ตไม่ต้องกลัวตะโกนด่า ยกป้าย สามารถเดินได้อย่างสง่าผ่าเผย มีแต่รอยยิ้มต้อนรับ
ภูเก็ตยังเป็นเมืองคอนเซอร์เวทีฟอยู่ไหม
ยังเป็น ผมว่าก็ยังสูสี มันยังเป็นกลุ่มช่วงวัยชัดเจน แต่ก็ไม่กล้าคัดพอยต์ว่า 50-60 เป็นฝั่งคอนเซอร์เวทีฟ เพราะญาติผมก็ยังเลือกก้าวไกล ไม่ใช่เพราะว่าหลานลงนะ แต่เป็นเพราะเขาก็เห็นปรากฏการณ์จากสื่อ มันก็มีส่วน ก็ต้องเลือกเพื่อคนรุ่นหลานเขาแล้ว แล้วพรรคก้าวไกลก็คือพรรคที่ทำงานเป็นระบบชัดเจน
ถามว่าภูเก็ตยังเป็นคอนเซอร์เวทีฟอยู่ไหม ผมว่ายังเป็นอยู่
แต่วันนี้ กระแสพรรคก้าวไกลดีกว่าเดิมมาก สมัยพรรคอนาคตใหม่ลงพื้นที่ในนามคณะก้าวหน้า ยังมีภาพของพรรคล้มเจ้า ก็ยังมีการด่าทอ ชูป้ายประท้วง ขว้างปาสิ่งของ แต่ตอนนี้ไปที่ไหน มีแต่คนบอกว่าก้าวไกลมาแล้ว กระแสพรรคก้าวไกลในภูเก็ตถือว่าดีมาก อาจจะด้วยการเมืองระดับชาติที่ ส.ส. เราทำงานกันอย่างหนัก
แล้วถ้าดูการอภิปรายของเราแต่ละครั้ง มันโคตรจะมีคุณภาพ มันลบภาพการอภิปรายที่มีแต่วาทกรรม คำพูดมันๆ มันเป็นการอภิปรายโดยใช้หลักการ ข้อมูล มีการสังเคราะห์อย่างมีคุณภาพจริงๆ คุณจะเห็น ส.ส.ระดับชาติของเราทำหน้าที่ได้ดี
แม้จะมีทางลบอยู่บ้าง ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีการโจมตี แต่ผมเชื่อว่าดีเอ็นเอก้าวไกลก็ยังยืนหยัดอุดมการณ์ แล้วคนที่เลือกเขาก็รู้ว่าเรามาเพื่อเปลี่ยนประเทศ เราไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแค่ภูเก็ต ฉะนั้นต้องหนักแน่น เข้มแข็ง ทำตัวให้ดี แล้วอย่าสะดุดขาตัวเอง เพราะวันนี้สวมเสื้อพรรคแล้ว เราไม่ใช่ตัวคนเดียว แต่เป็นคนของสังคมแล้ว
Fact Box
- นายแพทย์เลอศักดิ์ ลีนะนิธิกุล เป็นศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท เคยดำรงตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด
- ในการเลือกตั้งปี 2566 ภูเก็ตเป็น ‘สีส้ม’ ทั้งจังหวัด เซอร์ไพรส์คนไทยทั้งประเทศ แม้กระแสพรรคส้มจะมาแรงจริง แต่ในอีกแง่หนึ่ง หลายคนวิเคราะห์ว่า ภูเก็ตต้องเพิ่มจุดขายนอกจากความเป็น ทะเล ชายหาด และ แสงแดด
- มุมที่นายแพทย์เลอศักดิ์ชอบมากที่สุดในจังหวัดภูเก็ตคือ ‘ถนนถลาง’ ใจกลางเมืองภูเก็ต เพราะเป็นศูนย์รวมของร้านค้า ความคึกคักใจกลางเมือง และยังเป็นที่ตั้งของร้านหนังสือ 2521 ซึ่งคุณหมอเลือกให้เป็นที่ใช้ในการสัมภาษณ์กับ The Momentum ครั้งนี้