ประธานบริษัทหลักทรัพย์ ประธานคณะกรรมาธิการการเงินการคลังและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึงการดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะทำงานตรวจสอบการขายหุ้นชินคอร์ป ของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
เหล่านี้คือเส้นทางอาชีพด้านการเงินของ กรณ์ จาติกวณิช ที่มาบรรจบกับงานภาคการเมืองในตลอดเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา จนทำให้เขามีภาพจำในฐานะนักการเมืองที่มีวิสัยทัศน์ทางการเงินที่ก้าวหน้า และเป็นกำลังสำคัญในการเสนอแนวทางแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศอยู่บ่อยครั้ง
ทว่าในเส้นทางด้านการเมือง ยังมีอีกหลายเวทีที่กรณ์ยังต้องพิสูจน์ตัวตน
ในเดือนกันยายน 2565 เป็นข่าวฮือฮาเมื่อกรณ์ได้ยกทีมงานจากพรรคกล้าที่ก่อตั้งขึ้นมากับมือ ไปควบรวมกับพรรคชาติพัฒนา ของ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายกระทรวง ผู้ดำรงตำแหน่งประธานพรรค ทั้งนี้ เพื่อ ‘เอาตัวรอด’ จากกติกาใหม่ ภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ซึ่ง ‘พรรคเล็ก’ จะฝ่าฟันได้ยาก จากคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ที่ต้องสูงเกินพอ และสมรภูมิเลือกตั้งที่วัดกันที่ ‘เขตเลือกตั้ง’ มากกว่าจะอาศัย ‘ส้มหล่น’ แบบกติกาการเลือกตั้งแบบเดิม
กรณ์เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ซึ่งเขายืนยันว่าพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่ในอีกเกือบ 60 วันข้างหน้าอย่างเต็มที่
The Momentum พูดคุยกับ กรณ์ จาติกวณิช หนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคชาติพัฒนากล้า นักการเมืองที่หวังแก้ปัญหาประเทศด้วยการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี ไปจนถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวแบบส่งเสริมพุทธพาณิชย์และมูเตลู พร้อมกับคำถามว่า ทั้งหมดนี้ เขา ‘กล้า’ จริงไหม และ ‘กล้า’ แค่ไหนที่จะเปลี่ยนการเมืองไทยไปสู่โฉมใหม่
คุณกรณ์เริ่มเตรียมตัวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ตั้งแต่เมื่อไร และมองทิศทางหรือวางกลยุทธ์ไว้อย่างไรบ้าง
สำหรับผมคือตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้วจบเลย ผมมองว่ามีอีกหลายเรื่องที่จะต้องทำ แนวคิดที่จะทำงานการเมืองต่อมันเลยเริ่มต้นตั้งแต่ลาออกจากการพรรคเก่า ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะรู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันไม่ตอบโจทย์ จากนั้นจึงค่อยเริ่มมาวางแผนว่า อยากจะทำพรรคการเมืองแบบไหน อยากสร้างโอกาสให้กับคนอื่นๆ ในการมาทำงานพรรคการเมืองอย่างไร แล้วเรื่องราวมันก็ดำเนินมาเรื่อยๆ จนถึงการเข้าร่วมกับพรรคชาติพัฒนากล้าในปัจจุบัน
อะไรคือเหตุผลเบื้องหลังในการตัดสินใจร่วมกับพรรคชาติพัฒนา คุณและคุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ มีแนวทางใดในการเลือกตั้งครั้งนี้
ทั้งตัวผมกับคุณสุวัจน์ คงมีเหตุผลส่วนตัวในการตัดสินใจ แต่สุดท้ายผมมองว่าพวกเราร่วมมือกันเพราะเชื่อว่ามันจะมีพลังมากกว่า
ในมุมมองของผม การตัดสินใจเข้าร่วมครั้งนี้เกิดจากกติกาการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไป คือพอพรรคการเมืองใหญ่รู้สึกว่ากติกาเลือกตั้งแบบเดิมจะทำให้คะแนนของพวกเขาไม่ได้เปรียบ ก็เลยรวมตัวกันไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ พอแก้รัฐธรรมนูญเสร็จ กลายเป็นว่าพรรคการเมืองที่ขายแนวความคิดและอุดมการณ์จะสู้ได้ยากกว่าพรรคใหญ่ๆ ในเรื่องของสัดส่วนของจำนวนสมาชิกพรรคการเมือง
ผมก็เลยมาดูว่ามีใครบ้างที่เหมาะสมที่เราจะทำงานร่วมด้วยได้ สำหรับคุณสุวัจน์ เรื่องที่คุยกันชัดเจนเลย คือการให้ความสำคัญกับประเด็นเศรษฐกิจว่าเป็นปัญหาหลักของสังคม เป็นปัญหาหลักของพี่น้องประชาชนซึ่งเป็นเรื่องที่ผมพูดมาตลอด
อีกอย่างคือเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง หนึ่งในสาเหตุที่ผมตั้งพรรคกล้ามาแต่เดิม เพราะผมไม่อยากจะมีส่วนร่วมอยู่ในขั้วของความขัดแย้งอีกต่อไป ผมรู้สึกว่าที่ผ่านมามันมีการขายความขัดแย้ง
ต้องขออนุญาตใช้คำว่า มีเจตนาเพื่อให้ประชาชนเกลียดกันโกรธกันเพื่อจะได้แบ่งกลุ่มคะแนนกันอย่างชัดเจนระหว่างฝ่ายนี้กับฝ่ายนี้ มันเป็นแบบนั้นเลย ซึ่งสุดท้ายผมมองว่าประเทศชาติไม่ได้อะไร ถอยหลังด้วยซ้ำไป ประชาชนไม่ได้อะไรแน่นอน แต่มันมีกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์ที่ได้อำนาจจากการแบ่งขั้วทางสังคมและทางการเมือง ผมอยากเลิกการทำงานการเมืองแบบนั้น แล้วคุณสุวัจน์ก็มีแนวความคิดตรงกันในเรื่องนี้ มันก็เลยทำให้เราคุยกันแล้วสรุปกันได้โดยเร็ว
อีกอย่างคือเรื่องพื้นที่ทางการเมืองที่ไม่ทับซ้อนกัน เพราะคุณสุวัจน์จะดูแลฝั่งอีสาน ส่วนผมก็ดูแลส่วนของกรุงเทพฯ และภาคใต้ มันเลยไม่มีประเด็นที่เป็นปัญหาระหว่างลูกทีมของเรามากนัก ทุกคนก็เลยสนับสนุนในการร่วมมือกันครั้งนี้
สรุปชัดๆ ว่าเหตุผลหลักในการกลายเป็นพรรคชาติพัฒนากล้า เพราะไม่เห็นด้วยกับการขายความขัดแย้งทางการเมือง
นั่นคือสาเหตุหลักๆ ที่เราย้ายพรรคมารวมกัน แต่การจะควบรวมสองพรรคมาเป็นพรรคเดียวกัน กฎหมายไม่เปิดช่องให้เราทำแบบนั้นได้ แล้วด้วยความที่พรรคชาติพัฒนามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้วในสภาฯ ก็ใช้พรรคชาติพัฒนาเป็นที่ตั้ง แล้วพวกเราก็ย้ายไปอยู่ที่พรรคชาติพัฒนา แล้วก็เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารแทน
นอกจากเรื่องแนวคิดที่ตรงกัน มีเรื่องไหนอีกที่คุณรู้สึกว่าคุณสุวัจน์คือคนที่สามารถทำงานการเมืองร่วมกันได้
ผมคิดว่าประสบการณ์การของท่านมีผลในการตัดสินใจ ยิ่งทำงานกันไปยิ่งเห็นจุดแข็งตรงนี้มากยิ่งขึ้น ที่สำคัญตัวคุณสุวัจน์และทีมงานพรรคชาติพัฒนาเดิมก็มีประสบการณ์สายเศรษฐกิจเป็นหลัก หลายคนในพรรคก็เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมันตรงกับยุทธศาสตร์ของเรา แล้วก็ตรงกับสิ่งที่เรามองว่าประเทศต้องการ
นอกเหนือจากนั้น ถ้าผมจะพูดตามจริงก็คือ ท่านอายุก็ขึ้นเลข 7 แล้ว แต่ยังเป็นคนที่ทันโลก ไม่ได้เป็นคนที่ตกยุคหรืออะไรเลย ความคิดค่อนข้างทันสมัย และพร้อมที่จะเปิดรับข้อเสนอหรือความคิดใหม่ๆ
หนึ่งในสิ่งแรกที่เราทำกันเลยซึ่งอาจจะต่างกับพรรคอื่น คือเราให้เวลาในการคิดนโยบายร่วมกันพอสมควร ซึ่งพอตัดสินใจได้แล้ว เรื่องที่เหลือแทบไม่ต้องคุยอะไรกันเลย เหมือนเราคุยกันคิดกันผ่านนโยบายเป็นหลัก
ยอมรับครับ แรกๆ ก็แอบกังวล พรรคชาติพัฒนาก็อยู่มานาน แต่พรรคกล้าเป็นพรรคใหม่ แนวความคิดของเราหลายเรื่องที่เสรีนิยมจะเข้ากับเขาได้ไหม แต่ปรากฎว่าบางเรื่องไม่ใช่เพียงแค่คุณสุวัจน์จะพร้อมรับฟัง แต่ท่านมีข้อเสนอที่ก้าวหน้า ไปได้ไกลกว่าเราอีก จนผมมีความรู้สึกว่าแบบนี้ใช้ได้ ซึ่งเรื่องนี้มันก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นโยบายที่คลอดออกมามันถึงสะดุดตา และโดนใจประชาชน
ชื่อ ‘พรรคชาติพัฒนากล้า’ หลายคนสงสัยว่าจริงๆ แล้ว ชื่อนี้มีความหมายว่าอย่างไร เพราะฟังดูแปลกๆ
เรื่องนี้หลายคนมองว่าเป็นชื่อโคตรแปลกเลย วันก่อนผมเห็นแชร์กันในทวิตเตอร์ก็ยังอดขำไม่ได้ คือเขาถ่ายภาพป้ายพรรคไป แล้วตั้งคำถามเป็นคำถามขำๆ ว่า ตกลงมันอ่านจากข้างล่างขึ้นไป หรืออ่านจากข้างบนลงมา
คือวันที่เราตัดสินใจร่วมมือกัน เรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นถกเถียงมากที่สุด ก็คือเรื่องชื่อพรรคว่าควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งผมก็กล้าที่จะเสนอว่า กล้าพัฒนาชาติดีไหม เพราะพูดคล่องปากดี แต่ผมก็เคารพความคิดของชาติพัฒนาเดิม ที่เขาก็มีความรู้สึกว่าชื่อชาติพัฒนาของเขาอยู่มานานแล้ว แล้วชื่อพรรคเขาก็เป็นที่รู้จัก โดยเฉพาะในพื้นที่โคราชและอีสานของอดีตนายกรัฐมนตรี พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ผู้ก่อตั้งพรรค ถ้าเราไปสลับชื่อพรรคของเขา พวกเขาก็คงต้องคิดหนัก เราก็เข้าใจตรงนี้
สุดท้ายก็คุยกันว่ารับได้ไหมถ้าเป็นชื่อพรรคชาติพัฒนากล้าแทน แม้มันอาจจะดูแปลกๆ แต่ก็เชื่อว่าสุดท้ายคนก็จะคุ้นหูกันไปเอง ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร อีกอย่างพอมันเป็นประเด็น กลายเป็นไวรัลขึ้นมา ก็เลยช่วยให้คนจำได้มากขึ้นไปอีก แต่ในอีกมุมหนึ่งมันมีความหมายที่น่าสนใจนะ เพราะในหลายๆ เรื่องที่เราอยากทำ มันต้องอาศัยความกล้าจริงๆ มันต้องไปชน มันต้องไปแก้ ต้องไปรื้อระบบ
มันก็คือชาติพัฒนากล้ารื้อระบบพลังงาน ชาติพัฒนากล้ารื้อระบบการเงิน นั่นคือความหมายที่ดีที่สุดโดยที่ไม่ได้เสียเจตนาแต่เดิมของชื่อพรรค ซึ่งพวกเราทุกคนก็มีความภาคภูมิใจกับภารกิจนี้ แล้วก็มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าเราต้องกล้าที่จะทำอะไรในการที่จะช่วยพัฒนาชาติ
แต่เดิมที่เราตั้งชื่อพรรคกล้า เราก็สนุกกับมันพอสมควร เพราะเป็นชื่อพยางค์เดียวและเป็นชื่อที่แปลกกว่าชื่อพรรคการเมืองทั่วไป ได้คำว่ากล้าออกมาก็เกิดจากว่า ในการเมืองมีคนคิดเก่งพูดเก่งเยอะมาก แต่คนที่กล้าลงมือทำจริงๆ เป็นสิ่งที่ยังขาดอยู่ ก็เลยเอาคำว่า ‘กล้า’ ก็แล้วกัน แต่อีกความหมายของมันจริงๆ ก็คือ ‘ต้นกล้า’ มันมีความหมายแฝงตรงนั้นด้วย
ตอนที่เราจะคิดชื่อภาษาอังกฤษ ก็ถกเถียงกันว่าจะเป็น Brave หรือ Courage ดีไหม สุดท้ายทับศัพท์ไปดีกว่า KLA เพราะแต่ละคำในภาษาอังกฤษก็มีความหมายที่แตกต่างกัน โดยที่เราไม่อยากจะสูญเสียความหมายทั้งหมดของคำคำนี้ พอเป็นชาติพัฒนากล้า เราก็ทับศัพท์เหมือนเดิมเป็นภาษาอังกฤษ ความหมายก็อย่างที่บอก
นโยบายที่โดดเด่นในการเลือกตั้งครั้งนี้ของพรรคชาติพัฒนากล้า คือการยกเลิกแบล็กลิสต์เครดิตบูโร แนวคิดการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเรื่องนี้เริ่มขึ้นจากอะไร
สำหรับผมมันเป็นสิ่งที่ต้องทำโดยเร่งด่วน จากการลงพื้นที่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาในฐานะพรรคกล้าและชาติพัฒนากล้า ประเด็นปัญหาที่เราพบในช่วงการระบาดของโควิด-19 สภาวะเศรษฐกิจที่มันฝืดเคือง คือเรื่องหนี้สินของประชาชน สมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรีเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 50% ของ GDP ซึ่งก็ว่าเยอะแล้ว แต่ตอนนี้กลับสูงถึง 90% ของ GDP แสดงว่ามันมีปัญหาอย่างมาก ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน
ตอนที่ผมเป็นรัฐมนตรีก็มีนโยบายแก้หนี้นอกระบบ ตอนนั้นวิธีการก็ง่ายมาก ไม่มีใครทำมาก่อน คือเราประกาศโอนหนี้จากประชาชนที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบธนาคารของรัฐ จากที่เคยจ่ายดอกเบี้ยเดือนละ 20% มาจ่ายให้กับธนาคารออมสินเพียงแค่เดือนละ 1% ซึ่งตอนนั้นเราประสบความสำเร็จในการโอนหนี้เข้ามาประมาณ 5 แสนคน เงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นเดือนละหลายพันคน ซึ่งสำหรับคนมีรายได้น้อยมันมีผลต่อชีวิตเขาอย่างมากนะ อาจจะเป็นเพราะผมมาจากสายการเงินด้วย เลยให้ความสำคัญกับสิทธิและโอกาสในการที่จะให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินอย่างเป็นธรรมได้ ตอนนั้นผมก็ผลักดันเรื่องพระราชบัญญัติทวงหนี้อย่างเป็นธรรม (พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558) เรื่องของการสร้างกองทุนการออมแห่งชาติขึ้นมา เพื่อให้คนไทยมีเงินออมด้วย การแก้ปัญหาเรื่องการเงิน การแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินผมถือว่าเป็นภารกิจที่สำคัญ
ดังนั้น เมื่อมีโอกาสที่จะได้กำหนดนโยบายในสภาวะปัจจุบัน ได้เห็นสถิติของปัญหาประชาชนช่วงโควิด-19 ที่มีคนติดแบล็กลิสต์มากยิ่งขึ้นวันละประมาณพันกว่าคนทุกวัน ทั้งที่ช่วงก่อนโควิด-19 คนกลุ่มนี้ไม่เคยมีปัญหาเครดิตเลย แล้วอยู่ดีๆ มาสูญเสียโอกาสในการทำมาหากิน ต้องมาเกิดประเด็นปัญหาขาดความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ ชื่อไปปรากฏอยู่ในแบล็กลิสต์พวกนี้ อนาคตของเขาคือดับวูบเลย หาโอกาสที่จะกู้ยืมเงินในระบบเพื่อจะมาซื้อบ้านหรือทำอะไร ก็ทำไม่ได้
เรื่องนี้มันประหลาดมากตรงที่ถ้าไปถามทางการ เขาก็จะบอกว่าไม่มีแบล็กลิสต์ ไปอ่านกฎหมายฉบับไหนก็ไม่มีเขียนคำว่าแบล็กลิสต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเองก็ออกมาบอกว่าแบล็กลิสต์ไม่มี แต่ถึงจะมีการปฏิเสธโดยธนาคารหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องว่าไม่มีแบล็กลิสต์ แต่ถ้าลงพื้นที่เราจะพบในชีวิตจริงของประชาชน แบล็กลิสต์มันมี และมันมีวิธีการแก้ไขด้วยการสร้างระบบเพื่อให้สถาบันการเงินสามารถที่จะประเมินระดับความน่าเชื่อถือของประชาชนได้
ถ้าคุณไปดูประเทศอื่นๆ เขาใช้สิ่งที่เรียกว่า เครดิตสกอร์ (Credit Score) หรือใช้เป็นแต้ม ที่ไม่ใช่การระบุว่าคุณเคยทำอะไรผิดพลาดมา แต่เอาคะแนนทั้งหมดที่เป็นประโยชน์ต่อการประเมินความน่าเชื่อถือมาบวกรวมด้วย
อย่างเช่น สมมติลูกผมป่วย ต้องรักษาฉุกเฉิน ผมไปรูดบัตรเครดิต แต่ช่วงนั้นผมมีปัญหาจริงๆ พลาดการผ่อนชำระไปงวด 2 งวด ซึ่งสุดท้ายผมก็กลับมาชำระตามปกติได้นะ แต่ชื่อผมก็กลับติดอยู่ในแบล็กลิสต์บูโรไปแล้วอย่างน้อยอีก 3 ปี แบบนี้มันก็ดูไม่ถูกต้อง เพราะผมมีความสามารถในการชำระหนี้แล้ว แต่ชื่อของผมยังติดแบล็กลิสต์ พูดง่ายๆ ก็คือมันมีข้อมูลอีกตั้งเยอะที่สะท้อนให้เห็นว่า ผมก็ยังเป็นมนุษย์ที่ใช้ได้นะ ไม่ใช่ล้มเหลวไปทั้งหมด
เราอยากมีระบบที่มีการเอาข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลรวมเป็นคะแนนให้กับคนทุกคน ซึ่งสถาบันการเงินก็สามารถที่จะกำหนดอัตราดอกเบี้ย และปริมาณวงเงินสินเชื่อที่เหมาะสมตามคะแนนนั้นๆ ซึ่งโดยความจริงที่ผ่านมา บริษัทเครดิตบูโรก็อยากทำแบบนี้ แต่กฎหมายยังไปไม่ถึง กฎหมายไม่เปิดให้เขาทำได้
คุณรู้ไหม ทุกวันนี้เครดิตบูโรเขาอยากจะเอาบิลค่าไฟมาประมวลรวมเหมือนที่ผมเสนอนี่แหละ แต่เขาทำไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เลยกลายเป็นที่มาของข้อเสนอของเราว่าระบบนี้จะต้องรื้อ ซึ่งผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือประชาชนทุกคน แม้แต่คนที่ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องของการผ่อนชำระหนี้ ไม่ได้ติดแบล็กลิสต์ ก็จะได้ประโยชน์ด้วย เพราะคะแนนคุณก็จะสูงขึ้น จากการรวบรวมข้อมูลด้านอื่นๆ แล้วจะทำให้คุณสามารถกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง
แบบนี้จะส่งผลกระทบต่อสถาบันที่ให้กู้ยืมเงิน จนสุดท้ายกลายเป็นไม่กล้าที่จะให้ประชาชนกู้ยืมเงินในอนาคตไหม คุณมองเรื่องนี้อย่างไร
ผมเข้าใจว่าคนที่พูดแบบนั้นเขาอาจจะเข้าใจผิด คิดว่าเราจะไปยกเลิกเครดิตบูโร เราจะไปยกเลิกระบบแบล็กลิสต์ในเครดิตบูโร คือเครดิตบูโรอย่างไรมันก็ต้องมี แต่ผมแค่จะบอกว่าแทนที่คุณจะเอาแค่ข้อมูลทางลบของประชาชนมาคิด คุณต้องเอาข้อมูลด้านอื่นๆ โดยเฉพาะด้านบวกมาให้ครบสิ เพื่อที่จะมากำหนดคะแนนที่จะสะท้อนตัวตนของเขาได้มากกว่า ฐานข้อมูลของประชาชนก็ยังมีให้เอามาพิจารณา ผมถึงได้บอกว่าเรื่องของข้อมูล อย่างไรก็ต้องมี แต่มันจะต้องเป็นข้อมูลที่ครบด้าน เพื่อที่จะสามารถสะท้อนตัวตนที่แท้จริงของประชาชนได้
หากมองนโยบายเศรษฐกิจเรื่องอื่นๆ คุณกรณ์ดูสนใจกับการผลักดันให้ประชาชนกู้ยืมเงินน้อยลง และสามารถเลี้ยงชีพได้ด้วยรายได้ของตัวเอง
แน่นอนว่าเราถึงได้มีนโยบายที่เสนอเกี่ยวกับการสร้างรายได้ ซึ่งหลังจากที่เราเปิดตัวนโยบายเกี่ยวกับการรื้อสินเชื่อ เรื่องการยกเลิกแบล็กลิสต์บูโร เราเสนอการรื้อโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มความเป็นธรรมให้กับคนทำงานหรือมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อย
คือใครที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 40,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี ที่ผ่านมาหากคุณมีรายได้ประมาณเดือนละ 26,000-27,000 บาท คุณต้องเริ่มเสียภาษีแล้ว แต่ในปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้นเท่าไร เพดานมันก็ยังอยู่เท่าเดิม ทำไมประชาชนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน คนทำงาน กลับไม่ได้รับการดูแลเรื่องภาษีเลย
ผมก็เลยเสนอว่ามันถึงเวลาที่เราจะต้องลดภาระให้กับผู้มีรายได้น้อย ด้วยการเปลี่ยนกติกา เป็นการเก็บภาษี 40,000 บาทแรกไม่ต้องเสียภาษีเลย แล้วค่อยดูว่ารายได้ของประเทศมียุทธศาสตร์อะไรที่จะมาทดแทนเงินตรงนี้ เราก็เสนอว่ามันมียุทธศาสตร์ที่ชื่อว่า 7 เฉดสี ที่จะสร้างรายได้โดยรวม 5 ล้านล้านบาทให้กับประเทศภายใน 5 ปีได้ เพราะในปัจจุบัน GDP โดยรวมคือ 17 ล้านล้านบาท ถ้าภายใน 4-5 ปีเราดันให้เป็น 22 ล้านล้านบาท และหารต่อจำนวนประชากร คนไทยเราจะหลุดพ้นเกณฑ์ที่เขาบอกว่าเป็นเกณฑ์รายได้ปานกลางครั้งแรก ซึ่งผมมั่นใจว่าเราทำได้
ย้อนไปที่คำถามแรกเลยว่า อะไรเป็นแรงบันดาลใจ หรืออะไรที่ทำให้คิดเรื่องการเลือกตั้งในครั้งนี้เมื่อไร คำตอบของเรื่องนี้ คือผมเห็นโอกาสว่ามีเรื่องที่ประเทศสามารถทำได้เยอะมาก เราก็คิดว่าเราเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในสถานะที่สามารถช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ มีหลายเรื่องที่เรามั่นใจว่าเราทำได้ถ้ามีโอกาสที่จะทำ นั่นคือสาเหตุที่เรายังอยู่ในเกมนี้
ผมไม่ได้บอกว่าการเป็นหนี้มันจะหมดไป การทำธุรกิจ การดำรงชีวิต การซื้อบ้าน การซื้อรถ อย่างไรเราก็ต้องมีหนี้ แต่มันจะต้องเป็นหนี้สินที่อยู่ในระดับที่เขาจัดการได้ คือไม่ได้สร้างความทุกข์จนเกินไป และที่สำคัญจะต้องเป็นการกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม อันนี้สำคัญมาก เรารู้กันอยู่แล้วในสังคมไทย ส่วนต่างในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเงินกู้กว้างที่สุดประเทศหนึ่งในโลก มันควรที่จะต้องมีคนถามสักทีว่ามันเป็นเพราะอะไร ถึงแม้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะบอกว่ามันเป็นเรื่องปกติเพราะว่าเรื่องอะไรก็แล้วแต่ แต่มันควรถูกตั้งคำถามว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้น ทำไมมันถึงเป็นเรื่องปกติ คำว่าปกติหมายความว่าแก้ไม่ได้ หรือไม่ควรแก้หรือเปล่า
นี่คือสาเหตุที่สุดท้ายแล้วหลายๆ เรื่องที่จะแก้ มันต้องแก้ด้วยการรื้อโครงสร้างจริงๆ มันอยู่กันได้อย่างไรในสังคมแบบนี้ อย่างช่วงปีที่แล้วที่คนไทยทั้งประเทศเดือดร้อนเพราะน้ำมันแพง แต่กลับมีโรงกลั่นขนาดใหญ่อยู่ 6 โรงที่มีกำไรเพิ่มขึ้น 400-500-600-1,000% ผมว่าเราปล่อยให้เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้นไม่ได้ ประเทศอื่นๆ เขารวยกว่าเรา ตอนนั้นเขายังออกภาษีพิเศษเลย เพื่อจะนำกำไรส่วนเกินมาแบ่งปันกับประชาชน ที่เราเรียกว่าภาษีลาภลอย แต่รัฐบาลนี้ก็ไม่ได้ขยับ
การแก้ไขเรื่องพวกนี้ มันเป็นสิ่งที่ทำในโครงสร้างพรรคการเมืองเดิมที่มีอยู่ไม่ได้ ด้วยข้อจำกัดหลายๆ อย่าง มันพิสูจน์มาแล้ว จึงเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่จะต้องเกิดพรรคการเมืองใหม่ และมันเป็นสาเหตุที่ผมถึงได้เน้นว่ามันจะต้องอาศัยความกล้า
เพราะนโยบายเดิมไปต่อไม่ได้ ชาติพัฒนากล้าเลยต้องมารื้อใหม่
ใช่ครับ
นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ พรรคชาติพัฒนาก็ดูจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีไม่แพ้กัน
เรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในนโยบาย 7 เฉดสีของชาติพัฒนากล้า ซึ่งปรากฏอยู่ในนโยบายสีน้ำเงิน โดยผมสรุปไว้เป็น 3 ยุทธศาสตร์ที่ผมคิดว่าเราควรจะต้องทำ
เรื่องแรกคือเรื่องแพลตฟอร์ม วันนี้ทุกอย่างที่เราทำ เราทำบนแพลตฟอร์มของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอี-คอมเมิร์ซ โซเชียลมีเดีย ซึ่งผมคิดว่ามันถึงเวลาที่เราจะต้องเอาจริงกับการสร้างแพลตฟอร์มของเราเอง โดยเฉพาะในเรื่องที่เป็นเรื่องของเรา ผมยกตัวอย่างเรื่องท่องเที่ยว คนมาท่องเที่ยวประเทศไทยถือว่าเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ แต่คนที่มาท่องเที่ยวประเทศไทย เวลาที่เขาจองห้องโรงแรม เขาจองผ่าน Travel Agency หรือ OTA ซึ่งเป็นของต่างชาติ ซึ่งมีการเก็บค่าธรรมเนียม 5-20% ของค่าที่พัก
ผมยกตัวอย่างให้ฟังง่ายๆ สมมติเราประสบความสำเร็จในการดึงนักท่องเที่ยวกลับมา 20 ล้านกว่าคน นั่นหมายความว่าจะมีค่าที่พักค่าท่องเที่ยวถึง 6 แสนล้านบาท แต่มีการจองผ่านบุ๊กกิ้งที่เป็นแพลตฟอร์มต่างประเทศซึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียม 20% นั่นคือ 120,000 ล้านบาทที่ควรจะเป็นรายได้ของผู้ประกอบการหรือเจ้าของโรงแรมไทย แต่กลับกลายเป็นค่าการตลาดที่จะต้องจ่ายให้กับแพลตฟอร์มต่างประเทศ
หรือแม้แต่แอปพลิเคชันเป๋าตังค์ ผมมองว่าก็ขยายเป็นแพลตฟอร์มได้ มีคนโหลดแอปพลิเคชันเป๋าตังค์ไว้ในมือถือ 34 ล้านคน วันนี้ก็เริ่มทำอย่างอื่นได้ นอกจากรับเงินจากรัฐบาลแล้ว ก็ซื้อพันธบัตรรัฐบาลก็ได้ ซื้อลอตเตอรีก็ได้ แต่ก็น่าตั้งคำถามนะครับว่าทำไมเป๋าตังค์ถึงขายลอตเตอรีอยู่แค่งวดละ 15 ล้านใบจากทุกงวดซึ่งมีร้อยล้านใบ แต่ก่อนหน้านี้แพลตฟอร์มของเอกชนเขาก็ขายได้มากกว่านี้อีก แล้วแถมเขาขายราคาที่แพงกว่าแอปพลิเคชันเป๋าตังค์อีก ดังนั้น เราควรที่จะขยายบทบาทของแอปพลิเคชันของไทยเรา ในกรณีนี้ก็คือแอปพลิเคชันของรัฐบาล
แล้วยิ่งกว่านั้นมันเป็นเรื่องตลกมากเลยที่เป๋าตังค์วันนี้ขายลอตเตอรีซึ่งเป็นสินค้าของรัฐบนแพลตฟอร์มของรัฐ แต่รู้ไหมว่าทุกใบจะต้องจ่ายค่าการตลาดให้กับยี่ปั๊วใบละ 60 บาท คำถามคือจ่ายให้ใคร เพื่ออะไร ของก็ของเรา แพลตฟอร์มก็ของเรา มันต้องรื้อเรื่องแบบนี้ แค่รื้อเรื่องนี้เรื่องเดียวเงินก็กลับมาในมือประชาชนประมาณเกือบ 30,000 ล้านต่อปี
เรื่องที่ 2 คือ ผมอยากจะเห็น Natural Sandbox พื้นที่ทดลองให้กับกิจการใหม่ๆ สตาร์ทอัพในเรื่องของสิทธิ ทำเรื่องที่กฎหมายยังไม่เอื้อให้ทำ เปิดพื้นที่จำกัด ให้ทุนสนับสนุน ทุกอย่างนั้นก็คือ Sandbox ที่จะทำให้ทั้งสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการใหม่ไทย หรือแม้แต่ของต่างประเทศที่อยากมาทดลองนวัตกรรมของเขาในประเทศไทย
เรื่องที่ 3 คือ Government Tech การนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทุกๆ ฝ่าย เป็นเรื่องตลกร้ายมากที่เรื่องนี้ในประเทศไทย ฝ่ายที่ล้าหลังที่สุดและรอการปฏิรูปมากที่สุดคือฝ่ายราชการ ซึ่ง Government Tech นั้นพิสูจน์มาจากหลายประเทศแล้วว่า มันทำได้จริงและทำได้ทันที คิดตามง่ายๆ หากเอาระบบราชการทั้งหมดมาไว้ในโทรศัพท์ของคน แต่ละคนสามารถติดต่อทุกเรื่องกับราชการได้ตามที่ประชาชนคนหนึ่งจะต้องติดต่อผ่านโทรศัพท์มือถือ ลองจินตนาการดูว่าผลจะเป็นอย่างไร ทั้งเรื่องความสะดวก ความโปร่งใส ป้องกันการทุจริตได้อีก
ผมเคยได้มีโอกาสไปดูงานของประเทศที่ถือว่าเป็นแม่แบบของ Government Tech คือประเทศเอสโตเนีย ประเทศนี้ไม่ใช่ประเทศใหญ่ มีประชากร 2 ล้านกว่าคน เป็นประเทศที่ได้อิสรภาพจากสหภาพโซเวียตเมื่อ ค.ศ. 1991 ตอนนั้นไม่มีงบประมาณที่จะสร้างระบบราชการขึ้นมา เขาเลยบอกว่าเขาจะสร้างระบบราชการด้วยเทคโนโลยีแทน จะได้ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณเยอะ เขาก็พัฒนาระบบที่ทุกวันนี้เราเรียกว่าบล็อกเชน (Blockchain) ขึ้นมา ซึ่งกว่า 99% ของทุกเรื่องที่ประชาชนต้องมีปฏิสัมพันธ์กับราชการ มันสามารถทำผ่านโทรศัพท์มือถือได้ คำถามคือเราจะทำแบบนี้กับประเทศไทยได้ไหม
ปัญหาค่าครองชีพพื้นฐานอย่างค่าไฟแพง ถ้าพรรคชาติพัฒนากล้าเป็นรัฐบาลจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร
ผมมองว่าเรื่องนี้มันมีทิศทางและโอกาสทั้งของประชาชนและภาคเอกชนที่จะมีส่วนเป็นผู้ผลิต ไม่ใช่เพียงแค่เป็นผู้บริโภค ทุกวันนี้เทคโนโลยีมันไปไกลแล้ว ตอนนี้ทุกบ้านเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าได้ แต่ประเด็นปัญหาก็คือ เราไม่สามารถที่จะเจรจาขายไฟของเรากลับคืนเข้าไปสู่ระบบ หรือมีสัญญาซื้อขายระหว่างกันเองได้
ดังนั้น ในเรื่องของการผลิตหรือการขายไฟ ต้องทำให้เสรี สิ่งที่เราต้องทำก็คือแยกระบบสายส่งออกมาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิต และทุกวันนี้ผูกขาดช่องทางการเป็นผู้ขายไฟด้วย อาจจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็แล้วแต่ ทำให้เขาไม่ค่อยกระตือรือร้นที่จะเปิดทางให้คนอื่นมาช่วยผลิตไฟแทนเขา วิธีของเขาก็คือสร้างเงื่อนไข ทำให้คนอื่นไม่สามารถส่งไฟที่ผลิตเองเข้าสู่ระบบสายส่งของเขา โดยอ้างความมั่นคงหรืออะไรก็แล้วแต่ ดังนั้น เพื่อที่เราจะได้รู้ชัดว่าเหตุผลมันคืออะไร มันมีอุปสรรคเรื่องอะไรบ้าง เราจะต้องแยกระบบสายส่งออกมา
เรื่องแบบนี้มันก็ต้องชน ไม่อย่างนั้นมันก็จะไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง ผมคิดว่าโครงสร้าง วิธีการทำสัญญา ทุกๆ อย่างมันต้องกลับมาทบทวน
เศรษฐกิจสายมูเตลู ก็เป็นอีกนโยบายหนึ่งที่แปลกหูแปลกตาและน่าสนใจของพรรคชาติพัฒนากล้า
เรื่องการท่องเที่ยว เรื่องมูเตลู ต้องบอกว่ามันอยู่ในกระแสหลักของโลกมาแต่ไหนแต่ไร ที่สำคัญเรื่องนี้มันไม่ใช่ของคนรุ่นเก่าแล้ว คนรุ่นใหม่เขาก็ให้ความสนใจกับเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือการหาที่พึ่งทางใจ มันมีความสำคัญมากขึ้น ตอนนี้เริ่มปรากฏเป็นกระแสว่านักท่องเที่ยวจีนแห่มาเที่ยวเมืองไทย ไปเที่ยวห้างสรรพสินค้าพันธุ์ทิพย์พลาซ่า เพื่อไปเช่าพระแล้วเอากลับไปขายที่บ้านของเขาตามสไตล์หัวการค้าของจีน ซึ่งทั้งหมดมันสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่เรานำเสนอมันเป็นธุรกิจและโอกาส
ผมคิดว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือที่พึ่งทางใจของไทยเรามีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทุกจังหวัด ของดีเรามี และด้วยบางครั้งในความเก่งของการบริหารจัดการมันก็เกิดขึ้นเป็นกระแสตามพื้นที่ต่างๆ อย่างช่วงโควิด-19 เราก็จะได้ยินชื่อเจดีย์ไอ้ไข่ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีนักท่องเที่ยวแห่ไปเที่ยวเต็มไปหมด แล้วเรื่องนี้มันได้ประโยชน์กันถ้วนหน้า สายการบินได้แน่นอน ที่พักแถวนั้นก็ถูกจองเต็มหมด ร้านอาหารไม่ต้องพูดถึง
ข้อดีของการท่องเที่ยวแบบนี้ก็คือเงินมันกระจาย เงินมันไปถึงมือประชาชนในวงกว้าง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ชาติพัฒนากล้าให้ความสำคัญกับเรื่องมูเตลูและควบรวมไปถึงการท่องเที่ยวมาก เพราะผมคิดว่าเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดี คือมันสร้างให้เกิดการแข่งขันไม่พอ แต่เงินถึงมือประชาชนได้เร็วมากที่สุดด้วย
พูดถึงมูเตลูต่อ ในความจริงมูเตลูมีทุกที่ ของดีมีทุกที่ เพียงแค่ขาดการบริหารจัดการ การส่งเสริม การส่งเสริมตรงนี้หมายถึงการเชื่อมโยง อย่างจังหวัดสงขลาเป็นแหล่งกำเนิดของหลวงปู่ทวด คำถามของผมคือ เป็นไปได้ไหมที่เราจะสามารถไปย้อนรอยตำนานตรงนี้ได้ว่าหลวงปู่ทวดเกิดที่ไหน เรียนที่ไหน บวชวัดไหน และเคยไปพักอาศัยอยู่ที่ฝั่งมาเลเซียด้วย นี่คือสาเหตุที่ชาวจีนหรือมาเลเซียศรัทธา ดังนั้น เราสามารถที่จะสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวได้ มันหมายถึงการลงทุนในเส้นทางการคมนาคม มันหมายถึงการลงทุนผ่านการอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว มันหมายถึงการสร้างพื้นที่ตลาดที่สามารถทำให้ชาวบ้านสร้างรายได้
บางคนอาจจะมีข้อกล่าวหาว่า นี่ขายความงมงายหรือเปล่า ผมคิดว่าเราก็ต้องระวังนิดหนึ่ง ความงมงายของคนคนหนึ่ง มันอาจจะเป็นความศรัทธาของคนอีกคนหนึ่งก็ได้ มันคือการบูลลี่แล้วนะ ถ้าเราไปเรียกความศรัทธาของเขาว่าเป็นความงมงาย การเข้าถึงศาสนาไม่ว่าด้วยวิธีไหนก็ตาม ก็ทำให้เรามีโอกาสที่จะเข้าถึงความมีศีลธรรม เป็นที่พึ่งทางใจถ้าทำให้เขามีความสุข ก็น่าจะเป็นสิทธิ์หรือเป็นเรื่องของเขา เพียงแต่ผมกำลังจะบอกว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่อยู่ในสังคมและวัฒนธรรมของโลกอยู่แล้ว เพียงแต่ถ้าเราบริหารจัดการให้ดี มันเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ของคนไทยมาก
คุณกรณ์ยืนยันว่า ‘มูเตลู’ ไม่ใช่เรื่องความงมงาย แต่เป็นเรื่องของนโยบายมากกว่า
ใช่ ผมมองเป็นเรื่องโอกาสหรือประเด็นทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมันจะส่งผลในเรื่องของพุทธศิลป์ ในเรื่องศิลปะและความงดงามอื่นๆ อีกมากมายด้วย
นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว ประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองที่คุณพูดถึงในตอนต้น พรรคชาติพัฒนากล้าอยากเสนอการแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไรบ้าง
ยืนยันตรงนี้ เราไม่ขายความขัดแย้งในการหาเสียงแน่นอน ซึ่งยังไม่ทันไร ตอนนี้ก็เริ่มเห็นกันแล้ว เริ่มได้ยินแล้ว ในเรื่องของการแบ่งมวลชน
ถามว่าทำไมเขาถึงทำอย่างนั้น เพราะว่าในอดีตมันได้ผล แต่พรรคชาติพัฒนากล้าก็เห็นพ้องต้องกันว่าเราจะไม่ใช้ยุทธศาสตร์นั้น เราจะพูดแต่ในเรื่องที่เรามีความตั้งใจที่จะมาทำว่า ถ้าเลือกเรามาแล้วเราจะทำอะไรให้กับประชาชน เราจะทำอะไรให้กับบ้านเมือง ไม่ไปพูดถึงคนอื่นหรือไปตอกย้ำในประเด็นที่เปราะบางหรือต้นตอความขัดแย้งในอดีตหลายสิบปีที่ผ่านมา ผมอยู่ในวงการการเมืองมา มีความขัดแย้งแบบนี้ทุกปี ซึ่งผมก็ไม่เห็นว่าการเมืองมันจะดีขึ้นได้ด้วยยุทธศาสตร์นี้ก็เลยพยายามที่จะหลีกเลี่ยง
คุณกรณ์และพรรคชาติพัฒนากล้า มีข้อเสนอหรือความคิดเห็นต่อมาตรา 112 อย่างไร
นี่คืออีกเรื่องหนึ่งที่ผมมองว่าในแง่ของเจตนามีการก่อความขัดแย้ง หรือการหวังผลทางการเมืองใดๆ หรือไม่ ต้องตอบอย่างรอบคอบนะ
สำหรับผมมาตรา 112 ข้อเสนอของเรา คือชัดเจนว่าอย่างไรก็ต้องมี เพราะต้องมีกฎหมายที่คุ้มครองประมุขของชาติ
ส่วนวิธีปฏิบัติหรือวิธีหลีกเลี่ยงที่จะไม่ให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้ มันมีช่องทางที่เรานำเสนอไปแล้ว ในทางปฏิบัติคือขอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาโดยนายกรัฐมนตรี เพื่อที่จะเป็นผู้กลั่นกรองการฟ้องร้อง หรือการร้องเรียนการกระทำผิดโดยอาศัยกฎหมายนี้ เพื่อไม่ให้มีการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง ซึ่งกรรมการชุดนี้ก็จะเป็นที่พึ่งของเจ้าหน้าที่ด้วยว่า เวลาที่รับเรื่องมาแล้วจะต้องยื่นฟ้องต่อศาลหรือไม่
สมัยที่ผมเป็นรัฐบาล ตอนที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี เคยมีการตั้งกรรมการชุดนี้ขึ้นมา ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จอย่างมากในการที่จะตัดเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องในแง่ของการร้องเรียนหรือการกระทำผิดตามมาตรานี้ เพื่อที่จะไม่ให้เป็นภาระต่อศาล และไม่เป็นความทุกข์หรือความยากลำบากของผู้ที่ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม
เราก็ต้องยอมรับว่าหลายกรณีที่เข้าถึงระบบศาลที่มีการพิพากษาออกมามันเป็นการกระทำความผิดจริง อันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่สิ่งที่เราต้องการจะหลีกเลี่ยงก็คือการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรมในทางการเมือง ซึ่งคณะกรรมการที่จะมากลั่นกรองจะสามารถทำหน้าที่นั้นได้ดี
ตอนนี้หลายพรรคมีเงื่อนไขต่างๆ ในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคชาติพัฒนากล้ามีเงื่อนไขตรงนี้ด้วยไหม
ผมมองว่าการตั้งเงื่อนไขโดยการใช้บุคคลเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดเงื่อนไข นั่นแหละคือส่วนหนึ่งในการตอกย้ำความขัดแย้งในสังคม คนทุกคนมีทั้งดีและไม่ดี สำคัญที่สุดก็คือเขาจะทำอะไรเพื่อบ้านเมืองและประชาชน ดังนั้น ผมถึงคิดว่ามันเหมาะสมสำหรับเรามากกว่าที่จะกำหนดเงื่อนไขในสิ่งที่จะทำหรือไม่ทำ ถึงได้บอกว่าก่อนที่จะตกลงร่วมรัฐบาลกับใคร เราต้องดูว่ารัฐบาลจะทำอะไร และจะไม่ทำอะไร เราอยากเห็นรัฐบาลทำอะไรบ้าง หลายนโยบายถ้ารัฐบาลปฏิเสธเลย ปิดประตูเลย เขาไม่ทำทั้งที่เรามองว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ ผมคิดว่าถ้าเป็นแบบนั้นเราก็ร่วมไม่ได้ เพราะฉะนั้นถามว่าเงื่อนไขมีไหม มี แต่มันเป็นเรื่องของตัวนโยบายมากกว่าที่จะเป็นเรื่องของตัวบุคคล
คุณคิดอย่างไรกับการที่หลายคนมองว่าชาติพัฒนากล้าเป็นพรรคที่อยู่ฝั่งเดียวกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ผมไม่รู้เขาเอาอะไรมาใช้เป็นเหตุผล แต่ผมก็ต้องบอกว่ามันมีสาเหตุที่ผมไม่ได้อยู่ในพรรคของพลเอกประยุทธ์ หรือไม่เคยเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ ตั้งแต่ในสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือสมัยที่ได้รับการเลือกตั้ง
คือผมไม่ได้มีความรังเกียจหรือมีความรู้สึกอะไรเป็นการส่วนตัวกับท่าน เพียงแต่ว่าแนวทางของผมก็คือแนวทางของผม ซึ่งผมก็ตัดสินใจแล้วว่าจะทำงานการเมืองในฐานะสมาชิกของรัฐสภาผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้นสำหรับผม ท่านมาอีกแนวหนึ่งในสมัยที่เป็นหัวหน้าคณะ คสช. ซึ่งมันไม่ใช่แนวทางของผม ผมก็เลยไม่ขอเข้าไปยุ่ง ก็แค่นั้นเอง
แต่พอมาถึงสมัยต่อมาที่ท่านได้รับการเลือกตั้ง ผมถือว่าท่านได้รับการเลือกตั้งมา พรรคท่านได้รับ Popular Vote มากที่สุดอีกต่างหาก แล้วระบบการเลือกนายกฯ ในสภาฯ ที่ตอนนั้นผมเป็นสมาชิก มีตัวเลือกให้ผมสองคนในวันนั้น คือพลเอกประยุทธ์ และคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หน้าที่ของผมก็คือต้องเลือกคนใดคนหนึ่ง ซึ่งถ้าผมไม่เลือกคนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แล้วไปเลือกคนที่ได้คะแนนน้อยกว่า ยิ่งเป็นคำถามที่ผมตอบยากกว่า โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่พรรคต้นสังกัดเดิม (พรรคประชาธิปัตย์) มีมติพรรคให้สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ดังนั้น มันเลยมีเหตุผลชัดเจนมารองรับว่าทำไมวันนั้นผมถึงเลือกพลเอกประยุทธ์ ซึ่งมันไม่ได้หมายความว่าผมเป็นพวกท่านหรืออะไร เพราะผมไม่ได้อยู่พรรคท่าน ไม่เคยทำงานกับท่าน
ถ้าอย่างนั้นขอถามว่าพรรคชาติพัฒนากล้าอยู่ฝั่งเสรีนิยมหรืออนุรักษนิยม
แล้วแต่เรื่อง สมมติเป็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมยืนยันว่าอนุรักษนิยม ถ้าพูดถึงเรื่องสิทธิของ LGBTQ+ หรือถ้าพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ ผมว่าผมอยู่เสรีนิยม ดังนั้น มันแล้วแต่เรื่องว่าคุณจะเอาเรื่องอะไร
คำว่านายกรัฐมนตรีที่ดีในความคิดของคุณ ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง
นักการเมืองที่ดีจะต้องมีจิตสาธารณะก่อน ความหมายคือต้องมีความตั้งใจมาทำอะไรที่ดีเพื่อสังคม พูดแบบนี้ฟังดูก็รู้สึกว่า มันก็ต้องเป็นแบบนั้นอยู่แล้วไม่ใช่หรือ ในการเป็นนายกรัฐมนตรี ใช่ แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นแบบนั้น ดังนั้น ผมถือว่าเป็นคุณสมบัติเบื้องต้นที่ต้องมี
ต่อมาเราก็ต้องมาดูสถานการณ์ในตอนนั้นว่าประเทศต้องการอะไร เวลาที่เราพูดถึงนายกรัฐมนตรี มันมีนายกรัฐมนตรีที่เหมาะกับสภาวะสงคราม มันมีนายกรัฐมนตรีที่เหมาะกับสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ แต่สำหรับวันนี้ ผมมองว่าต้องเป็นนายกรัฐมนตรีที่ทันโลก เพราะโลกมันเปลี่ยนเร็ว ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี การทูต และเศรษฐกิจ เพราะประเทศไทยทุกวันนี้อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางเศรษฐกิจ เรายังอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบเดิมที่ตอบโจทย์เรามายาวนาน 40 ปี แต่ทุกวันนี้มันสลับซับซ้อนกว่านั้น
ในความได้เปรียบที่เราเคยมีในยุคที่เราพัฒนาอุตสาหกรรม วันนี้มันไม่มีเหลือแล้ว เราโตขึ้นมาได้ในฐานะประเทศอุตสาหกรรม ส่วนหนึ่งเพราะว่าเราเจอแก๊สในอ่าวไทย แต่ทุกวันนี้แก๊สก็จะหมดอยู่แล้ว เราเคยมีแรงงานจำนวนมหาศาล ค่าแรงก็ต่ำ แต่เดี๋ยวนี้เราขาดแคลนแรงงาน จำนวนคนที่อยู่ในวัยทำงานก็ลดลงเมื่อเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุ มันเป็นหนังคนละม้วนเลย
ย้อนกลับไป 30 ปีก่อน ในช่วงนั้นต่างชาติเกือบทุกประเทศเลือกที่จะมาลงทุนในประเทศไทย สัดส่วนการลงทุนจากต่างประเทศที่จะมาลงทุนในอาเซียนเป็นของไทยเราเกือบครึ่งหนึ่ง แต่เดี๋ยวนี้เหลืออยู่ไม่ถึง 10% จากวันนั้น และมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ ด้วย เพราะเขาไปลงทุนกับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ หรือเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามแทน
ดังนั้น คนที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องเข้าใจเรื่องนี้ และไม่ใช่แค่เข้าใจ จะต้องยอมรับด้วยอีกต่างหากว่า โครงสร้างหรือวิธีการแบบเดิมที่ทำกันมามันไม่ได้ตอบโจทย์แล้ว มันต้องรื้อและแก้ในหลายๆ เรื่อง
‘ประชาธิปไตย’ ล่ะ คุณกรณ์นิยามคำนี้อย่างไร
มันมีหลายคำอธิบาย แต่มันมีท่อนที่ผมให้ความสำคัญคือ การเคารพสิทธิของเสียงข้างน้อย
เพราะมันง่ายมากที่คนจะอ้างเรื่องการเลือกตั้งแล้วบอกว่ามันเป็นอำนาจของเสียงข้างมาก แต่การที่จะรักษาความสามัคคีความสงบในสังคมเราจะต้องเคารพสิทธิของเสียงข้างน้อยด้วย ดังนั้น เวลามีคนพูดถึงความเป็นประชาธิปไตย ส่วนใหญ่จะสอบตกตรงนี้ ผมถือมากในประเด็นนี้ว่าไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนก็แล้วแต่ เสียงของทุกคนมีค่า
ขออนุญาตขยายความ ผมทำงานเอกชนมา 20 ปี และทำงานภาคการเมืองถึงตอนนี้ก็เกือบ 20 ปีเช่นกัน ถามว่ามันต่างกันตรงไหน อะไรเป็นสิ่งที่แตกต่างที่สุด มันคือประเด็นนี้เลย เวลาที่เราทำธุรกิจ เราคิดแต่ว่าเราจะสร้างประโยชน์หรือเอาใจลูกค้ายังไง เราไม่ได้ต้องไปแคร์คนอื่น เราแคร์แค่ลูกค้าของเราว่าเขาต้องการอะไร นั่นคือการวัดความสำเร็จของการทำธุรกิจ เราสามารถที่จะตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าเราได้ดีมากแค่ไหน แต่เวลาที่คุณเป็นนักการเมือง โดยเฉพาะในเวลาที่อำนาจอยู่ในมือ เราแคร์แค่กลุ่มใดกลุ่มเดียวไม่ได้ เรามีหน้าที่แคร์ทุกคน มันยากกว่าเยอะมาก เพราะว่าความต้องการของคนมันหลากหลายกว่า และความจริงคือเรามีหน้าที่ที่จะดูแลทุกคนไม่ว่าเขาจะเลือกคุณหรือไม่ ดังนั้น ตัวชี้วัดของความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในมุมมองของผมก็คือตรงนี้
ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งนี้ The Momentum ได้ทำเนื้อหาผ่านคอนเซปต์ ‘Democracy Strikes Back’ ซึ่งอ้างอิงจากภาพยนตร์เรื่อง Star Wars ดังนั้นจึงอยากรู้ว่า หากให้คุณเลือกตัวละครในเรื่องนี้ที่เหมาะกับคุณ คุณจะเลือกใคร
ผมคิดว่าตัวละครที่สะท้อนตัวตนของผมมากที่สุดในสตาร์วอร์คือ โอบีวัน เคโนบี ผมคิดว่าเขาเป็นคนมีฝีมือ แต่ที่สำคัญที่สุดคือเขาไม่หวงวิชา เขาไม่กั๊กและพร้อมที่จะถ่ายทอดวิชา เขามีคุณธรรมและพร้อมที่จะเสียสละตัวเองเพื่อส่วนรวม ซึ่งมองว่าถ้าเราเป็นแบบนั้นได้ก็ดี
สุดท้าย ถ้ามีคนถามว่า กรณ์ จาติกวณิช คือใคร คุณจะให้คำตอบพวกเขาอย่างไร
คือผู้ชายคนหนึ่งที่อยากจะเข้ามาทำให้บ้านเมืองเราพัฒนา อยากที่จะทำให้ชีวิตของคนไทยดีขึ้น
Fact Box
- กรณ์ จาติกวณิช เริ่มต้นเส้นทางการเมือง ด้วยเข้าสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2548 และชนะการเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.เขตยานนาวา ก่อนที่จะลาออกจากพรรคในปี 2563 และก่อตั้งพรรคใหม่ที่ชื่อกล้าในปีเดียวกัน จนสุดท้ายเขาได้นำพรรคกล้าเข้ามาควบรวมกับพรรคชาติพัฒนาในปี 2565 กลายเป็นพรรคชาติพัฒนากล้าในปัจจุบัน
- ในปี 2550 ในรัฐบาลของสมัคร สุนทรเวช จากพรรคพลังประชาชน กรณ์ได้รับการแต่งตั้งจากพรรคประชาธิปัตย์ให้ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเงา เพื่อติดตามตรวจสอบ และเสนอแนะการบริหารงานของรัฐบาล
- ในปี 2553 (ค.ศ. 2010) นิตยสาร The Banker คัดเลือกให้กรณ์ จาติกวณิช เป็นรัฐมนตรีคลังโลก ประจำปี 2010 และรัฐมนตรีคลังเอเชียแห่งปี 2010 จากการคัดเลือกรัฐมนตรีคลังในประเทศต่างๆ 5 ภูมิภาคทั่วโลก ได้แก่ อเมริกา ยุโรป เอเชีย