“สงฆ์ใดสาวกศาสดา รับปฏิบัติมา แต่องค์สมเด็จภควัน”

เมื่อใคร่ครวญถึงท่อนหนึ่งของคำนมัสการพระสังฆคุณ ที่ท่องจำกันมาตั้งแต่จำความได้ เราอยากรู้นักว่า คำกล่าวนี้ยังใช้ได้ในปัจจุบันไหม…

“ผมว่ามันใช้ไม่ได้แล้ว เพราะตอนนี้เรามีพระพุทธเจ้าองค์ใหม่ในประเทศ”

นี่อาจเป็นบทสัมภาษณ์สุดท้ายของ ‘สามเณรโฟล์ค’ หรือ ‘สหรัฐ สุขคําหล้า’ ภายใต้ชายคาผ้าเหลือง จากการขึ้นปราศรัยบนเวทีของการชุมนุมม็อบ ‘บ๊ายบายไดโนเสาร์’ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2563 ส่งผลให้สามเณรโฟล์คกลายเป็น ‘สามเณรคนแรกที่โดน 112’ จนได้รับมติจากมหาเถรสมาคม ให้ ‘ลิงคนาสนะ’ หรือขับไล่เณรโฟล์คออกจากวัด

The Momentum เชิญสัมผัสภาพสะท้อนและผลพวงจากโครงสร้างสังคมที่บิดเบี้ยวและไร้ความเป็นธรรม จากปากคำของหนึ่งใน ‘ผู้ถูกกดขี่’ ที่ผ้าเหลืองของเขากำลังจะถูกปลดให้ปลิดปลิว…

ความคืบหน้าเรื่องคดีมาตรา 112 และมติจากมหาเถรสมาคมให้ขับสามเณรออกจากวัดเป็นอย่างไรบ้าง

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผมเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาจากการปราศรัยม็อบ ‘บ๊ายบายไดโนเสาร์’ ที่สถานีตำรวจปทุมวัน ก็สังเกตเห็นรถสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมาดักรอ แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเขามาด้วยเงื่อนไขอะไร หลังจากที่ผมบันทึกลายนิ้วมือเสร็จ ตัวแทนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ 3 คนก็เรียกให้ไปพบ พร้อมกับบอกว่าผมฝ่าฝืน พ.ร.บ.สงฆ์ หรือการไม่เดินทางกลับวัดต้นสังกัดตามที่เจ้าอาวาสเรียกไปตักเตือนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา มหาเถรสมาคมจึงมีมติเห็นชอบให้ ‘ลิงคนาสนะ’ หมายถึงไล่ผมออกจากวัด

เมื่อกลายเป็นเป็นสามเณรที่ไม่มีต้นสังกัด ตามกฎหมายหมายถึงการเป็นพระเร่ร่อนไม่มีที่อยู่ แล้วทางการจะจับสึกเมื่อไรก็ได้ แต่กระบวนการครั้งนี้แจ้งที่อยู่วัดของผมผิด ดังนั้นจึงต้องเริ่มขั้นตอนใหม่ทั้งหมด วันนั้นเขาเลยจับผมสึกไม่ได้

หมายความว่าตอนนี้กำลังดำเนินการใหม่อีกรอบ ซึ่งสามเณรยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะถูกจับสึกวันไหน

ใช่ครับ ตอนนี้ก็รออยู่ ไม่รู้ว่าเมื่อไร แต่มติที่ออกมามันแรงมาก เขาบอกว่าผมทำการหมิ่นประมาทพระสังฆราช ดังนั้นผมจึงเขียนตอบกลับไปว่า “ขนาดพระพุทธเจ้ายังไม่มีพระธรรมวินัยข้อไหนบัญญัติไว้เลยว่าห้ามดูหมิ่นพระพุทธเจ้า หรือแม้แต่เถียงพระพุทธเจ้าไม่ได้” มันเลยออกอาการงงๆ ไม่เข้าใจ เพราะมาตรา 44 ทวิ ของพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 เนื้อความในมาตราดังกล่าวระบุว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระสังฆราช ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” แต่ตอนนี้เขายังไม่สั่งฟ้องแจ้งความผม มีเพียงมติออกมาเฉยๆ

สามเณรโฟล์คอยู่ในสถานะเณรมากี่ปีแล้ว 

ประมาณ 9 ปีครับ ตั้งแต่อายุ 12 ตอนนี้ผมอายุ 21 ปี จริงๆ ต้องได้รับการบวชเป็นพระแล้ว แต่ไม่มีวัดไหนกล้าบวชให้ มันเลยเป็นปัญหาว่าอายุขนาดนี้แล้วแต่ไม่ได้รับการบวชเป็นพระ บางทีผมก็สงสัยว่าผมเป็นมาร์ติน ลูเทอร์หรือเปล่า (หัวเราะ)

เคยได้ยินสามเณรโฟล์คบอกว่าถ้าการเมืองดี ผมคงไม่ต้องบวชเรียนตั้งแต่แรกอยากให้ขยายความถึงโครงสร้างทางการเมืองที่ส่งผลต่อโอกาสทางการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม

มันเป็นปัญหาโครงสร้างสังคมอำนาจรัฐที่ไม่ให้สวัสดิการเต็มที่กับประชาชน ผมขอย้อนกลับไปตอนปี 2544 มีโครงการกองทุนเงินล้าน ที่บ้านผมกู้เงินไปซื้อรถตู้เพื่อประกอบธุรกิจรถรับส่งนักเรียนชั้นประถมศึกษา ตอนนั้นกิจการที่บ้านถือว่ารุ่งเรืองมาก โดยที่บ้านนำรถตู้เข้าไฟแนนซ์เพื่อจ่ายทุนเงินล้านเพื่อไม่ให้ดอกมันขึ้นอีกที แต่พอมีวิกฤติรัฐประหารปี 2549 ประกอบกับปู่ล้มป่วย ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ได้อยู่ในการรักษาของ 30 บาทรักษาทุกโรค มันจึงทำให้ทางบ้านขาดรายได้หลัก ต้องนำรถตู้ไปขายเพื่อใช้หนี้กองทุนเงินล้าน เมื่อปู่ไม่สามารถขับรถหาเงินได้ ภาระจึงไปตกอยู่ที่แม่ ซึ่งเป็นผู้หญิงคนเดียวหาเลี้ยงครอบครัว เพราะพ่อเสียชีวิตไปเมื่อผมอายุประมาณ 3-4 ขวบ มันทำให้ผมต้องเลือกเส้นทางชีวิต เพราะว่าถ้าผมเรียนต่อ น้องสาวจะไม่ได้เรียน

ตอนนั้นรู้สึกว่าเราสามารถเอาดีทางด้านฟุตบอลได้ บวกกับกระแสทีมฟุตบอลเชียงราย ยูไนเต็ดกำลังมาแรง และมีโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายเป็นโรงเรียนกีฬา เขาให้ทุนการศึกษาผมครึ่งหนึ่ง แต่เราต้องมีเงินจ่ายค่าหอพัก ค่ากินต่างๆ เอง ซึ่งเราก็มั่นใจว่าทำได้ ฝึกฝนได้ แต่พอมาเจอคำตอบแม่ที่ว่า “แม่ส่งเรียนได้คนเดียวนะลูก และน้องเป็นผู้หญิง” มันเลยช้ำใจมากจนต้องหลบไปร้องไห้ที่ป่ากล้วยหลังบ้าน เพราะเราต้องนึกว่าคุณจะเลือกอะไร เลือกน้อง หรือเลือกชีวิตตัวเอง

ตอนนั้นผมก็คิดเห็นแก่ตัวนะว่า ถ้าเราไปรอด ก็รอดได้ทั้งครอบครัวเหมือนกันนะ แต่มันต้องเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย ต้องได้เรียนหนังสือทั้งคู่ และเราไม่อยากให้น้องสาวเรียนจบแค่มัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้วก็ต้องแต่งงานหรือทำงานที่ชนบท น้องต้องไปให้ไกลกว่านี้ ครอบครัวเราต้องไปไกลกว่าที่เราเคยเป็นอยู่ให้ได้ ผมเลยเสียสละตัวเองเข้ามาบวช แต่มันเจ็บนะข้างใน เพราะเราไม่ได้ทำในสิ่งที่เรารักจริงๆ

แล้วการที่สามเณรโดนข้อหา ม.112 ปฏิกิริยาของทางบ้านเป็นอย่างไรบ้าง 

ผมรู้สึกแปลกๆ นะ คือผมโดนมาตรา 112 และตัวเองเป็นสามเณรด้วย มันรู้สึกเศร้าไปในคราวเดียวกันว่าเราทำอะไรผิด แม้จะรู้แต่แรกว่ากฎหมายมันกว้างมาก และเตรียมใจมาระดับหนึ่งว่าสักวันต้องโดน แต่พอโดนจริงๆ มันรู้สึกว่าเราผิดเพียงแค่เราคิดต่างแค่นี้หรือ เราไม่ได้ไปฆ่าใคร หรือลักทรัพย์ และสังคมที่เราอาศัยอยู่เขาจะมองเราอย่างไร แม้ว่ากรุงเทพฯ การพูดคุยเรื่องมาตรา 112 จะเปลี่ยนไปมาก แต่เมื่อผมเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัดแล้วเดินไปบอกแม่ว่า “แม่ครับ ยายครับ ผมโดน ม.112” ยายกับแม่ผมจะรู้สึกอย่างไร

ตอนที่ยายรู้เรื่อง ยายร้องไห้เลย หรือแค่ผมไม่ได้รับโทรศัพท์ ที่บ้านก็คิดว่าผมโดนอุ้มไปแล้ว พอเราโดน ม.112 ชีวิตมันดูไม่ปลอดภัยเลย ไม่ว่าจะไปไหนก็ระแวงอยู่ตลอดเวลาว่าเรามีสิทธิ์โดนอุ้มหรือไม่ เพราะในความเป็นนักกิจกรรมมันมีข่าวการอุ้มหายอยู่เสมอ และคนที่บ้านผมยังต้องทนกับชุดความคิดของคนในสังคมที่ว่า “ทำไมไม่ส่งลูกไปเรียนดีๆ ทำไมต้องไปล้อเลียนพระมหากษัตริย์” มันเลยทำให้ยายผมต้องแบกรับกระแสสังคมในชนบทมาด้วย

ส่วนแม่เข้าใจ แต่เขาพูดประมาณว่า เราเดิมพันไว้เยอะเกินไป เราเป็นลูกคนจน เป็นลูกกรรมกรลูกชาวนา การวางเดิมพันครั้งนี้ ลูกเต๋ามันไม่มีทางทอยตกมาถึงมือเราหรอก เขาคิดว่าเราไม่มีทางชนะ แต่ผมมองอีกแบบหนึ่ง เพราะเชื่อในยูโทเปีย ผมก็ตอบแม่ไปว่า “ในภาวะที่มันแทบจะไม่ชนะ แต่ถ้าเราชนะขึ้นมาล่ะแม่” อย่างนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ไม่มีใครคิดว่าจะทำได้ในประเทศไทย แต่มันก็ทำได้ พอทำได้มันก็ว้าว เราก็คิดแบบนี้มาตลอดเวลา แม้ความเป็นไปได้ทางการเมืองมันไม่มี ผมคิดว่ามันสามารถเป็นไปได้ และน่าลุ้นจนกว่ามันจะทำได้ มันเลยทำให้ผมยังยืนอยู่ ยังเคลื่อนไหวอยู่ เพราะเรื่องนี้ต้องสู้กันต่อยาวๆ

หากสามเณรโฟล์คถูกจับสึกจริงๆ คิดว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรต่อไป วางภาพในอนาคตอันใกล้ไว้บ้างไหม

ทางเลือกตอนนี้มีอยู่ 2 ทางคือ 1. ไม่เอ่ยวาจาสึก 2. เปลี่ยนบทบาท เปลี่ยนสถานะ หากพูดถึงการไม่เอ่ยวาจาสึกมันก็สามารถทำได้ แต่จะเหนื่อยเรามากๆ เพราะสถานะพระเชื่อมโยงกับกฎหมายว่า จะดำรงชีวิตอย่างไร อยู่อย่างไร เพราะคนข้างนอกไม่คิดว่าเราเป็นพระ ทั้งเครื่องนุ่งห่มของพระก็ไม่สามารถใส่ได้ หากใส่ก็จะโดนกฎหมายมาตรา 158 แต่งตัวคล้ายพระสงฆ์ และไม่สามารถอาศัยอยู่วัดได้ เมื่อเป็นแบบนี้ ผมเลยคิดว่าเราเปลี่ยนบทบาทตัวเองมาทำงานจัดตั้งแรงงาน ทำงานเบื้องหลังจะดีกว่า หรือเป็นประชาชนธรรมดาทำงานทั่วไป แต่ที่สำคัญคืออุดมการณ์ของเรายังเหมือนเดิม ไม่มีทางเปลี่ยนไปไหน

แปลว่าไตร่ตรองมาพอสมควร หากจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานะ

ผมรู้สึกว่าการเป็นเณรเป็นคอมฟอร์ตโซนมากๆ ด้วยความที่เราไม่เคยเปลี่ยนอะไรเลย แต่ผมคิดว่าก็สู้กันไปแบบนี้แหละ ไม่ท้อไม่ถอย ก็อยู่กันไปแบบนี้ ถ้าเขาเกลียดขี้หน้าผมก็เห็นหน้าผมบ่อยๆ แล้วกัน (พูดแกมขัน)

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้สามเณรสนใจการเมืองจนลงถนน และกลายเป็นสามเณรรายแรกที่โดน ม. 112 

ขอเท้าความก่อนว่า ผมเกิดในต่างจังหวัดที่มีชุดความคิดที่ว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของเรา การเมืองเป็นเรื่องของคนในกรุงเทพฯ หรือเปล่า ทำไมต้องประท้วงกันบ่อยจัง เพราะแถวบ้านผมไม่มีอะไรแบบนี้ การเมืองเป็นเรื่องที่ดูไกลตัวมาก จนมันมีโจ๊กเกี่ยวกับการเมืองที่ชอบพูดกันขำๆ ว่า “พูดเรื่องการเมืองเหรอ เดี๋ยวก็โดนจับนะ” มันยังมีบริบทนี้อยู่เสมอ

ภาวะที่ผมเรียกตัวเองว่า ‘ตาสว่าง’ มีมาตั้งแต่ตอนเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วไปเจองานเสวนาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือการตามไปดูงานเสวนาของ ‘สมศักดิ์เจียม’ (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล) ในยูทูบ ส่วนบริบทที่ทำให้ผมตื่นตัวจริงๆ เป็นกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ เพราะมันส่งผลให้บทสนทนาของเพื่อนเราเปลี่ยนไป มีการพูดคุยเรื่องการเมืองกันมากขึ้น เพื่อนทนไม่ไหว รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมกับพรรคการเมืองที่เขาเลือก แต่ผมไม่มีสิทธิ์ไปเลือกตั้ง เมื่อรวมกับสถานการณ์บรรยากาศในมหาวิทยาลัยที่มันปะทุมาก ทุกวงสนทนากลายเป็นเรื่องการเมือง จนนำไปสู่แฟลชม็อบในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

หลังจากนั้นผมจึงติดตามการเมืองมาเรื่อยๆ ซื้อหนังสือประวัติศาสตร์มาอ่าน ฟังงานเสวนาบ้าง เช่น งานของอาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ หรืออาจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ มันก็เริ่มตั้งคำถามว่าเราเป็นใคร แล้วสมัยปี 2544 เราได้อะไรจากรัฐบาลที่มาจากรัฐธรรมนูญของประชาชนจริงๆ

อยากรู้ว่าในปี 2544 สามเณรโฟล์คเป็นใคร และได้อะไรจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งบ้าง

เรียนฟรี 15 ปี นมฟรี มีกองทุนเงินล้าน ที่บ้านผมมีโทรศัพท์มือถือครั้งแรกก็ตอนปี 2544 ได้โทรศัพท์พูดคุยกับแม่ที่อยู่กรุงเทพฯ ครั้งแรกก็ตอนนี้ มันเลยทำให้รู้สึกว่ามันใกล้ตัวมากๆ อีกภาพจำหนึ่งคือ ตอนปี 2544 มีการเลือกตั้ง ผมจำได้ว่า มีตัวแทน ส.ส.มากราบไหว้ยายถึงหน้าบันไดบ้าน มันทำให้เรารู้สึกว่าเรามีอำนาจในการเลือกผู้แทน และบทสนทนาตอนนั้นก็จะมีการพูดคุยกันว่า ส.ส.คนนี้ไม่ดี คนนั้นเจ้าชู้ คนนี้แจกเงิน มันเลยให้ความรู้สึกว่าตอนนั้นยายเรามีทางเลือก เขาไม่ต้องจัดมาให้ว่าเราควรได้อะไร เราต่างหากที่จัดให้เขาว่าเราอยากได้อะไร

แล้วหลังจากการศึกษาเกี่ยวกับการเมือง ประวัติศาสตร์ สังคมมากขึ้น สามเณรโฟล์คตกตะกอนทางความคิดอะไรบ้าง

ภายหลังที่ผมเริ่มอ่านหนังสือประวัติศาสตร์เรื่อยๆ จนมาถึงงานปรัชญาทางการเมือง เช่น ลัทธิมาร์กซ์ มันทำให้ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นอุปกรณ์ชิ้นเดียวแหละมั้ง ที่จะทำให้คนชนชั้นล่างต่อสู้กับคนชนชั้นบน ก็เลยเริ่มเอาทฤษฎีมาปฏิบัติบ้าง เช่น การไปพูดคุยกับสมัชชาคนจนที่ออกมาชุมนุม เราจะเห็นว่าพวกเขาเหล่านี้ถูกขูดรีดอะไรบ้าง ถูกกดขี่อย่างไร เหมือนคำว่า ‘ของก็แพงค่าแรงก็คง’ มันเลยทำให้เขาอยู่ไม่ได้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 หรือแม้กระทั่งช่วงการบริหารงานของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เราจะเห็นได้ว่าการต่อสู้แต่ละครั้งมาจากภาคประชาชนที่ถูกกขูดรีดถึงระดับโมเลกุลเลย

อะไรคือจุดเริ่มต้นของการเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ปราศรัยระหว่างการชุมนุมที่ผ่านมา

มันเริ่มต้นหลังจากที่ผมศึกษางานต่างๆ จนเปลี่ยนชุดความคิด ทั้งเรื่องการขูดรีดประชาชน หรือระบบปิตาธิปไตยก็ตาม พอเราเห็นภาพเหล่านี้ชัดเจนขึ้นมันเลยทำให้ถูกหล่อหลอมและฉุกคิดกับตนเองว่า เราจะทำอย่างไรให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการได้บ้าง ผมก็เริ่มจากงานเล็กๆ เช่น เพนต์ป้ายผ้า การ brainstorm หรือเขียนสปีชให้เพื่อนขึ้นไปพูด เพราะตอนนั้นพูดตรงๆ เรายังไม่กล้าเนื่องจากเป็นคนในวัด การออกมาสู้ตรงๆ ต้องได้รับผลกระทบแน่นอน

แต่จุดเปลี่ยนที่มันบีบบังคับให้ออกไปข้างหน้าคือ ช่วงที่เพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) และรุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) ถูกจับ ขบวนการก็บอกว่าไม่เหลือใครแล้วนะ ให้ลองขึ้นพูดดู ครั้งหน้าจะหาคนอื่นมาแทน แต่พอเราขึ้นพูดการเมืองปุ๊บ มันเหมือนระเบิดที่ปะทุ แรงปะทะมันเริ่มเยอะขึ้น จากทางวัดบ้าง จากมหาเถรสมาคม หรือสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ บ้าง ที่พยายามบีบบังคับไล่ผมออกจากวัด โดยการพยายามส่งข้อมูลว่าผมอยู่วัดไหน ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นนักศึกษาอยู่มหาวิทยาลัยนี้ จนท้ายที่สุดผมต้องออกจากวัดมาอยู่หอมหาวิทยาลัยเอง เพราะเกรงใจเจ้าอาวาส

วิธีการที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและมหาเถรสมาคมใช้จัดการกับสงฆ์ที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองมีอะไรบ้าง

ปกติแล้วจะมีตำรวจแฝงตัวเข้าไปในม็อบ เวลาเราเข้าร่วมการชุมนุมก็จะถูกถ่ายรูปว่าเป็นสงฆ์ที่มาเข้าร่วมชุมนุม และเขาก็จะส่งเรื่องต่อให้มหาเถรสมาคม ซึ่งมหาเถรสมาคมจะประกาศเป็นประชุมสงฆ์ ก็จะพูดเลยว่าพระรูปนี้อยู่วัดไหน ทำอะไร แต่ถ้าหากโดนตำรวจจับในที่ชุมนุมตอนที่มีมวลชนมากๆ ก็จะปลอดภัยแต่หากตรงนั้นมีประชาชนอยู่น้อย ตำรวจจะขอตรวจใบสุทธิ ซึ่งใบนี้จะบอกข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับเรา เช่นที่อยู่ว่าเราอยู่วัดไหน

เมื่อเขารู้ที่อยู่วัดก็จะส่งหนังสือไปให้เจ้าอาวาส เพื่อให้เจ้าอาวาสเรียกไปตักเตือนเหมือนเพื่อนผมที่ถูกเรียกไปตักเตือนถึง 3 ครั้ง จนครั้งที่ 3 ต้องจำใจสึก มันคล้ายกับเราเป็นนายร้อย จปร. (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) เวลาทำผิดก็จะโดนส่วนกลางเข้ามาหาและถูกซ่อมอยู่ในวัด แบบ ห้ามออกจากวัดนะโว้ย ห้ามทำแบบนี้ ต่อไปให้อยู่เงียบๆ ซึ่งสิ่งนี้เป็นปัญหาอย่างมาก อย่างสามเณรที่รู้จักกัน คือเราต่างก็เป็นลูกคนจนที่มาบวชพระเพราะไม่มีเงินเรียนต่อตามระบบการศึกษาข้างนอก และมันมีเด็กจำนวนนี้อีกมากที่ต้องเสียสิ่งที่ตัวเองชอบและมาบวชเพื่ออนาคตของตัวเอง

การที่พวกเราออกมาเรียกร้องทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงบางอย่าง มันหมายถึงเป็นการเดิมพันที่สูงมากสำหรับพวกเรา ถ้าม็อบไม่ชนะก็ต้องมีผลกระทบกลับมาแน่ๆ เลยต้องมั่นใจว่าเวลาไปชุมนุมทางการเมืองมันต้องได้อะไรบางอย่างกลับมา เช่น การยุบสภา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการเลือกตั้งอะไรก็ตามแต่ แต่พอการชุมนุมมันยืดเยื้อ พระเณรก็โดนแทงแบบนี้ จนทำให้หลายคนไม่กล้าออกมา แต่ถามว่าพระเปลี่ยนความคิดมาฝั่งหัวก้าวหน้าเยอะไหม เยอะ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 มันทำให้ระบบพระเสียสมดุลไป เช่น การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช หรือแม้กระทั่งการแต่งตั้งคนที่บริหารงานในพระสงฆ์กลายเป็นต้องมาจากพระมหากษัตริย์โดยตรง เลยทำให้ระบบของสงฆ์รวนไปหมด เพราะการแต่งตั้งต่างๆ มักมาจากความชอบเพียงอย่างเดียว เลยกลายเป็นว่าพระที่ปฏิบัติตนในป่าได้ตำแหน่งการบริหารปกครองไปเยอะ หรือพระที่ดูดวงแม่นก็จะได้ตำแหน่งงานบริหารไปทำ มันเลยเกิดการลักลั่นในหมู่พระ ก็มีสงฆ์ที่เป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยไม่พอใจอยู่

การที่สงฆ์เริ่มเปลี่ยนความคิดมาฝั่งหัวก้าวหน้า และสถานการณ์ลักลั่นที่เกิดขึ้น จะส่งผลให้เกิดการ Uprising ในวงการพระสงฆ์ขึ้นไหม

ผมว่าการแตกแถวมันต้องนำไปสู่บางอย่างของการเปลี่ยนผ่าน หมายถึงมันต้องถึงทางตันทางการเมืองอะไรสักอย่าง เช่น ช่วง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หรือการปราบปรามที่รุนแรงของภาครัฐ ผมคิดว่าจุดนี้จะส่งผลให้พระสงฆ์ออกมาต่อสู้มากขึ้น แต่มันจะมีกลุ่มหนึ่งที่ก้าวไม่ผ่าน เช่น กลุ่มที่เกรงกลัวต่อศาสนาอิสลาม เข้าใจในจุดนี้ไหม เมื่อประเทศไทยแยกศาสนาออกจากรัฐ มันจะส่งผลให้ศาสนาอิสลามโตขึ้น มันมีชุดความคิดว่าพวกอิสลามเป็นผู้ก่อการร้ายในเหตุการณ์ 911 เมืองไทยเราเป็นเมืองพุทธ จะยอมให้พวกนี้มายึดไม่ได้ สิ่งนี้จึงทำให้คนที่เหมือนจะเปลี่ยนผ่านสุดแล้ว แต่ก็ไปไม่สุดเพราะเรื่องมุสลิม ยิ่งเป็นพระที่มีอายุมากๆ ยิ่งเปลี่ยนยาก เพราะเหมือนเขาถูกฝังอคติเรื่องนี้มาเยอะมาก

สามารถพูดได้ไหมว่า การปลูกฝังอคติทางศาสนากับการโฆษณาชวนเชื่อนั้นมีส่วนที่คล้ายคลึงกัน

มีส่วน เพราะตามจริงแล้ว พระเหล่านี้เป็นตัวผลิตชุดความคิดของความดีแบบพุทธแบบการให้ทาน เช่น การระบาดของโควิด-19 ก็จะมีข้าวกล่องจากทางวัดมาบริจาคทุกเที่ยง ทุกตอนเช้า แต่เขาไม่ได้ตีความคำสอนใหม่ การให้ทานคนแบบนี้มันยังอยู่ในสถานะผู้ให้และสถานะผู้รับ มันยังมีความสูงความต่ำอยู่ เหมือนคุณไม่มีข้าวกินแล้วจึงต้องมาขอข้าววัด ผมเคยเสนอเรื่องจริยธรรมคนเท่ากันไป เช่น เปลี่ยนมารณรงค์ให้คนใส่แมสก์แทนได้ไหม สถานะคนมันเท่ากัน เพราะคุณกลัวติดโควิด และคุณก็กลัวคนข้างนอกนำโควิดมาติด หรือหากอยากให้ทานโดยการบริจาคอาหาร ก็สามารถไปบริจาคกับมูลนิธิโดยไม่ต้องเอ่ยนามได้ เพราะหากยังมีการให้ทานแจกของแบบออกนาม มันจะให้ความรู้สึกว่าชนชั้นปกครองยังใจดี ยังแจกข้าวแจกน้ำ มันจะเป็นสถานะ เป็นจิตสำนึกความคิดแบบศักดินา

ในมุมมองของสามเณร ตอนนี้ประเทศไทยเป็นรัฐโลกวิสัย (รัฐฆราวาส/Secular State) หรือรัฐศาสนา

โอ้โฮ ประเทศไทยไม่เป็นรัฐโลกวิสัยตั้งแต่พระมหากษัตริย์ประกาศตัวเองเป็นพุทธมามกะแล้ว เหมือนการแทงกั๊กอยู่แล้ว ขนาดระบอบประชาธิปไตย เรายังไม่แน่ใจเลยว่ามันเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ แต่พอมาคำนี้ มันทำให้สถานะพุทธกลายเป็นเจ้าถิ่น เพราะเรามีพระมหากษัตริย์เป็นคนค้ำอยู่ข้างหลัง เลยทำให้ความคิดรัฐโลกวิสัยแทบเป็นไปไม่ได้

แล้วความคิดของพุทธไทยคือต้องบวชพุทธบุตรให้ได้ 1 แสนรูปภายใน 1 ปี ก็มีการเกณฑ์ใครไม่รู้มาบวชโดยไม่ได้มีความศรัทธาจริงๆ เต็มใจมาเรียนหรือไม่ ไม่รู้ ขอแค่มีคนโกนหัวมาเรียนก่อน ผมมองว่ารัฐโลกวิสัยยังอีกไกล แต่หากการเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่พูดถึงเรื่องนี้ ก็เหมือนกับว่าเราตัดโซ่ตรวนความเป็นทาสไม่ขาด เพราะว่าในสถานะหนึ่งจริตแบบพุทธที่เราพูดกันมันยังอยู่ ความเป็นเจ้า ความเป็นทาสมันยังอยู่ ผมคิดว่าการที่จะเปลี่ยนรัฐไปเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง มันต้องเปลี่ยนทั้งวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นความคิดทางด้านศาสนา การเมือง ครอบครัว หรืออุดมการณ์บางอย่างที่แฝงเร้นมากับศาสนา ผมเลยมองว่าเราควรแยกรัฐออกจากศาสนาได้แล้ว อย่าทำให้ศาสนากลายเป็นเครื่องมือของรัฐอีกเลย

คิดอย่างไรกับการพระราชทานสัญญาบัตร แต่งตั้งสมณศักดิ์ หรือบางคนเรียกกันว่าตั๋วช้างพระ

มันต่างจากตั๋วช้างตำรวจอย่างหนึ่งคือ มันไม่ได้เป็นการปกครองโดยตรง แต่เป็นการให้โดยเสน่หาของกษัตริย์เพียงอย่างเดียว แต่ในสมัยรัชกาลที่ 9 การที่จะได้รับการแต่งตั้งสมณศักดิ์ เป็นการเลือกกันเองในหมู่สงฆ์ การที่คุณจะได้ตำแหน่งเจ้าคุณหรือสมเด็จฯ จะต้องมีการทำงานให้เห็นก่อน แต่ตอนนี้มันเหมือนกับว่าคุณมีอิทธิฤทธิ์อะไร ดูดวงแม่นหรือเปล่า มันเลยส่งผลให้พระข้างในเริ่มเสื่อมศรัทธาพร้อมกับการตั้งคำถามว่า ทำไมแต่งตั้งคนที่ไม่เป็นการเป็นงานออกมาทำกิจกรรมของสงฆ์

ในโลกที่มีการถกเถียงระหว่างความดีความเลว แบ่งแยกเป็นขาวดำกันได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดแบบนี้ สามเณรโฟล์คมองว่าคุณสมบัติของพระที่ดีในยุคนี้คือแบบไหน

พระที่ดีคือต้องประจบให้เป็น ดูเทรนด์ให้ถูก (หัวเราะ) ต้องรู้ว่าตอนนี้เทรนด์เขาชอบอะไร ชอบดูดวงหรือแม้กระทั่งการปฏิบัติธรรมใหญ่ๆ ก็ต้องมีการแสดงให้คนอื่นเห็นว่า ‘มีของ’ นะ แต่อย่าไปคิดเรื่องอื่น เช่น กิจการเรื่องสังคมสงเคราะห์ต่างๆ ไม่น่าจะเป็นที่โปรดนัก

ศาสนาและสงฆ์จะดำรงอยู่อย่างไรต่อไปในโลกทุนนิยมที่ยังต้องใช้เงิน และศาสนายังยึดโยงอยู่กับระบบราชการที่ยังพันผูกกับเงินนิตยภัต

ผมยอมรับในเรื่องทุนนิยมที่มันสามารถทำทุกอย่างให้กลายเป็นสินค้าได้ เมื่อคุณไปวัดยังต้องซื้อดอกบัว ซื้อสังฆทานมาถวายพระ หรือแม้กระทั่งการทำบุญใส่ซองเพื่อให้พระกรวดน้ำมนต์ให้ มันมีค่าใช้จ่ายสำหรับที่พึ่งทางใจ เมื่อโลกทุนนิยมมันเป็นแบบนี้ ผมก็มาคิดว่าเราจะปรับตัวอย่างไร เคยคิดเล่นๆ ว่าอยากทำให้วัดเป็นบ้านพักคนชรา เป็นคอนโดฯ สะอาดๆ ดีๆ มีสวัสดิการที่ดีเกรดวัดธรรมกาย มีหมอ มีพยาบาลมาช่วยดูแล เป็นที่ที่เราจะช่วยรักษาทั้งโรคทางกายและโรคทางใจของเขา ตกเย็นรำมวยไท่เก๊ก และหานักวิชาการด้านจิตใจดังๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศมาพูดคุยกับคนแก่ ผมว่าสิ่งนี้มันดีมากๆ แต่คุณก็ต้องมี vat ที่ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟให้ที่ที่พ่อแม่คุณมาอยู่ แต่เราจะดูแลทุกอย่างให้แบบไม่ต้องเป็นห่วงเลย แต่ทางศาสนายังไม่ยอมรับวิธีคิดแบบนี้

ส่วนเรื่องของเงินนิตยภัต (อาหารหรือค่าอาหารที่ถวายภิกษุสามเณรอยู่เป็นประจำ) เงินเดือนไม่เยอะเท่าไรหรอก ประมาณ 4-5 พันบาท แต่เวลาคุณมีคำนำหน้าว่าสมเด็จหรือเจ้าคุณ ลาภยศสักการะมันจะมาอีกรูปแบบหนึ่ง หรือมาในรูปแบบของลูกศิษย์ สิ่งนี้มันเป็นเรื่องที่หอมหวานมากกว่าเงินเดือน และการที่คุณได้รับตำแหน่ง มันส่งผลให้คุณต้องตกอยู่ใต้อำนาจของสถาบันใดสถาบันหนึ่งไปโดยปริยาย

แม้แต่ใครที่อยากจะบรรพชากับวัดดังๆ ก็ดูจะต้องเสียเงินในการบวชเป็นจำนวนมาก สิ่งนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าการเมืองไม่อาจขาดแยกกับศาสนาได้เลยหรือเปล่า

ใช่ การที่จะบวชวัดดังๆ ได้ ต้องเสียเงินค่าอุปัชฌาย์เป็นแสน-สองแสนเลย มันมีเงื่อนไขประมาณนี้ ถ้าคุณบวชไม่ได้เรียนบาลี แต่บวชตอนอายุครบ 25 ปี ต้องเสียเงินเยอะ เสียค่าซองต่างๆ การที่ไปบวชวัดชื่อดัง สิ่งที่ได้กลับมาคือคอนเนกชัน เพราะคนที่มาเข้าวัดนี้เพื่อทำบุญจะไม่ใช่ประชาชนคนธรรมดา แต่เป็นเจ้าเป็นนาย คนตำแหน่งสูงๆ ในรัฐสภา คุณลองไปบวชวัดที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อวัดหลวงสิ คนที่มาทำบุญก็มีแต่กรรมกร ไม่มีหรอกคอนเนกชัน

ยกตัวอย่าง การที่ ส.ส.ไปทำถนนทางเข้าวัดให้ แค่นี้วัดก็สามารถเป็นหัวคะแนนการเลือกตั้งให้คุณแล้ว ผมเลยมองว่าถ้าพระสงฆ์มีสิทธิ์ในการเลือกตั้งและสามารถแสดงออกอย่างชัดเจนว่าอยู่ฝ่ายไหน เลือกใคร มันจะดีกว่ามากๆ เพราะการที่เขาไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง มันเลยทำให้เขาดูบริสุทธิ์ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จึงเหมือนกับว่าเขาแนะนำให้เลือกคนดีเข้าสภา และการเป็นพระก็มี charisma ของมันอยู่ เพราะเราโกนหัว ห่มผ้าเหลือง ถือศีล มันทำให้เกิดความรู้สึกว่าเราไม่พูดปดหรอก แต่ใครจะรู้เบื้องหลัง คุณลองไปดูเสาในวิหาร ในอุโบสถสิ มีแต่ชื่อนักการเมืองทั้งนั้น มีชื่อคนธรรมดาที่ไหน

ผมอยากจะบอกว่าคนที่เป็นพระหรือเณรควรสำนึกถึงข้าวที่เรากิน เราไม่ได้กินแค่ข้าวของคนรวย แต่เรากินข้าวของกรรมกร ของคนจนด้วย คนจนแทบไม่มีอะไรจะกินอยู่แล้ว เขาไม่มีเงิน แต่เขายังเชื่อว่าการทำบุญทำให้เขามีความสุข เราก็ควรที่จะตอบแทนไม่ใช่แค่นำข้าวไปบริจาคแล้วแค่นี้จบ ปัญหามันคือโครงสร้างทางการเมือง พระ-เณรต้องคิดว่าเรามีศักยภาพ สามารถทำอะไรได้หลายๆ อย่าง เพียงแค่เราเป็นสายลมเล็กๆ ก็สามารถทำให้เกิดลมพายุได้ หรือที่เรียกว่า butterfly effect

วงการสงฆ์ไทยสามารถทำอะไรได้บ้างเพื่อให้เกิด butterfly effect 

พุทธศาสนาในกระแสหลักมีทฤษฎีที่เรียกว่า Collective Karma หรือกรรมรวมหมู่ การที่ผมและคุณไม่เคยรู้จักกันเลยในช่วงปี 2557 แต่การที่เราปล่อยให้ กปปส. ออกมาเป่านกหวีดสนับสนุนการทำกรรมครั้งนี้ หรือการที่คุณ ignorance จนทำให้เกิดการล้มการเลือกตั้ง นี่ก็คือปัญหาที่เราต้องรับกรรมร่วมกัน เราจึงต้องพร้อมใจกันออกมา เช่น ออกมาเลือกตั้ง

แต่จนถึงทุกวันนี้ คนจำนวนไม่น้อยก็ยังมองว่าการเมืองไม่ใช่กิจของสงฆ์ สามเณรคิดอย่างไร

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เลยว่า ศาสนามีลักษณะที่ต้องกำหนดความดีความชั่ว คนดีต้องเป็นแบบไหน อย่างศาสนาพุทธก็จะบอกว่าอย่าคบคนพาล ต้องคบบัณฑิต หรือแม้กระทั่งการซื่อสัตย์อดออม ถ้าคุณทำตามคำสอนเหล่านี้ นั่นแปลว่าคุณเป็นคนดี แต่การแบ่งขาวแบ่งดำอย่างชัดเจนมันไม่สอดรับกับระบอบการปกครองหรือการรัฐประหารในประเทศไทย

สิ่งที่แปลกคือ คุณสามารถด่านักการเมืองได้ว่าเขาเลว ไม่รักษาศีล โกงบ้านโกงเมือง แต่ประเทศนี้กลับมีกฎหมาย ม.112 ที่แสดงให้เห็นว่าเราเลือกที่จะพูดอย่างหนึ่ง และเลือกไม่วิจารณ์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเราควรใช้มาตรฐานเดียวกันกับทุกสถาบันในประเทศ

สภาวะที่ผมกล้าออกมาวิจารณ์แบบนี้ มันเลยทำให้ผมกลายเป็นผีที่ทำให้เขากลัว เขามีวิธีเดียวที่จะจัดการกับผมได้คือการใช้กฎหมาย ทำให้คนเห็นว่าผมทำผิดกฎหมายอะไรบ้าง ทั้งๆ ที่กฎหมายมันไม่เมกเซนส์ ศีลธรรมชุดเก่ามันใช้อธิบายไม่ได้แล้ว ผมแค่วิจารณ์การใช้กฎหมาย ม.112 แต่ผมกลับโดน ม.112 เล่นงาน

ถ้าคิดว่าสงฆ์ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง คุณก็ทำให้ผมมีศาสนาจักรเป็นรัฐเอกเทศสิ อย่างเช่นที่อิตาลี สงฆ์ทั้งหมดจะถูกกำหนดโดยพระวินัย แล้วก็ไม่ต้องให้พวกผมไปเกณฑ์ทหาร เพราะตอนนี้ยังมีการเกณฑ์ทหารพระเณรอยู่

ตอนนี้คนหลากหลายกลุ่มต่างสนใจกระแสเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐาน ทั้งเสรีภาพในการแสดงออก หรือเสรีภาพในการพูด แต่ดูเหมือนสิ่งเหล่านี้ยังไปไม่ถึงวงการสงฆ์

เราขัดอะไรไม่ได้เลยครับ ถ้าพูดแบบมาร์กซ์คือเราต้องยึดอำนาจรัฐให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งหรืออะไรก็ตาม คุณต้องกลับไปแก้กฎหมายให้อำนาจของศาสนาหายไป มันจะทำให้สงฆ์ที่พร้อมอยากเปลี่ยนสามารถเปลี่ยนได้ หรือสงฆ์ที่รอแทงกั๊กใครชนะก็อยู่ฝ่ายนั้น หรือแม้กระทั่งสงฆ์ที่โปรเจ้าก็มี ที่สำคัญ ผมคิดว่าต้องยกเลิก พ.ร.บ. 2545 ที่รองรับอำนาจของมหาเถรสมาคมและสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ออกไป เปลี่ยนเป็นองค์กรนิติบุคล เมื่อเป็นองค์กรนิติบุคคลแล้ว อาจเป็นสงฆ์รูปแบบใหม่ อาจจะไม่ใช่การรวมศูนย์ก็ได้ ผมอาจจะนับถือครูบาอาจาร์ยตามพรรษา หรือแม้กระทั่งการใช้ระบบรวมศูนย์แบบจอมพล ป. พิบูลสงครามในช่วงปี 2484 ที่มีการเรียกว่าสังฆสถาน โดยใช้การเลือกตั้งจากฝ่ายสงฆ์เอง หรือการกำหนดนโยบายโดยสงฆ์เองทั้งหมด และอยู่ได้ด้วยเงินบริจาค

กรณีของสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ น่าแปลกที่ว่าทำไมเราถึงให้ประชาชนที่ไม่ได้เป็นสงฆ์สามารถออกกฎ ข้อบังคับต่างๆ และควบคุมมหาเถรสมาคมอีกทีหนึ่ง มีการตั้งคำถามเรื่องนี้ในหมู่สงฆ์บ้างไหม

ตอนนั้นมันผิดเพี้ยน เราออกไปเลือกตั้งเพราะอยากได้กระทรวงศาสนา แต่กลับได้สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ มาแทน จริงๆ ช่วงสมัยรัชกาลที่ 9 สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ อยู่ภายใต้มหาเถรสมาคม แต่พอช่วงเปลี่ยนผ่านรัชสมัย เหมือนกับว่าตอนนี้เด็กวัดเป็นใหญ่ สั่งพระกลับหมดเลย ทุกวันนี้สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ทำงานอยู่แค่ 3 อย่างคือ 1. พาพระไปเที่ยวอินเดีย 2. ทำหนังสือสวดมนต์ข้ามปี และ 3. จับพระที่มีความเห็นต่างสึก จบหมดแล้ว มันไม่มีอะไรแล้ว

ถ้าให้เปรียบเทียบวัดเป็นประเทศ สามเณรโฟล์คคิดว่าทุกวันนี้ปกครองกันด้วยระบอบอะไร

โอ้โฮ ระบบกษัตริย์เลยครับ มันเหมือนกับว่าต้องมาลุ้นว่าวัดไหนจะได้เจ้าอาวาสที่ดี อย่างวัดที่ผมอยู่ตอนนี้ก็โชคดี เพราะเจ้าอาวาสค่อนข้างให้อิสระ ให้อ่านหนังสือ ให้มีวิธีคิดของตัวเอง ถ้าไม่เห็นด้วยก็แย้งได้ แต่พอเป็นวัดอื่น คุณต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 และมันมีการแบ่งสองมาตรฐานตลอด เช่น ลูกหลานเจ้าอาวาสไม่ตื่นมาทำวัตรเช้าก็ไม่เป็นไร แต่หากเป็นคนธรรมดาโดนแน่นอน และบางวัดมีกฎแปลกๆ เช่น ห้ามล็อกประตูประตูห้องนอนจนเพื่อนผมต้องย้ายวัด แม้ว่าการย้ายวัดเป็นเรื่องที่ไม่ยุ่งยาก แต่สังคมสงฆ์เป็นสังคมเล็กๆ เวลาจะย้ายต้องมีเหตุผล เจ้าอาวาสที่รับเรามาก็รู้จักกับเจ้าอาวาสวัดที่เราจะย้าย แน่นอนว่าถ้าเขาสนิทกัน เราไม่มีทางได้อยู่ในอำเภอนั้น หรือในเขตนั้นแน่นอน เราต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น ซึ่งสิ่งนี้มันกระทบการเรียนอย่างมาก เพราะโรงเรียนสงฆ์ตั้งอยู่ในอีกเขตอำเภอ

ประกอบกับการที่อยู่ในวัดแล้วเราไม่ใช่ลูกไม่ใช่หลาน ไม่ใช่เด็กที่เขาฝากมาบวช ก็จะถูกใช้แรงงานโหดมาก เช่น ในวัดชนบทใช้เราตัดหญ้า ใช้ขนทรายทำเจดีย์วัด ในกรุงเทพฯ เขาบอกเลยว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่งานของพระสงฆ์ แต่คุณไม่เคยไปดูในชนบทหรือต่างจังหวัดว่าเด็กถูกเกณฑ์ใช้แรงงานแบบนี้แล้วไม่ได้แม้กระทั่งค่าตอบแทน ได้เพียงข้าวที่เขาบิณฑบาตเอง นี่มันเหมือนการใช้แรงงานเด็กทางอ้อม ผมคิดว่ามันไม่ควรเกิดเรื่องนี้ขึ้น เพียงแค่เขาอยากมาบวช หรือบางคนต้องเสียสละตัวเองมาบวชแบบผมก็ตาม มันจะมีการปฎิบัติแบบที่ว่า เพียงคุณไม่ใช่ศิษย์รัก หรือลูกหลานของเจ้าอาวาส คุณก็จะกลายเป็นทาสในวัดได้ มันก็มีแค่นี้

โลกพระธรรมหรือประเทศที่สามเณรโฟล์คมุ่งหวังอยากเห็น เป็นแบบไหน

อยากเห็นคนไทยมี American dream ที่มากกว่าแค่การฝันจะมีบ้านมีรถ เช่น เราอยากเป็นผู้กำกับฯ หนังชื่อดังของฮอลลีวูดก็สามารถเป็นได้โดยไม่ต้องใช้เส้นสายใคร แต่ใช้ความสามารถของตัวเอง หรือคุณอยากเป็นนักฟุตบอลไทยที่ไม่ใช่เด็กของโค้ชคนไหน คุณก็สามารถไปไกลได้ คุณมีสิทธิ์เท่ากันหมดในการพิสูจน์ศักยภาพ ขอแค่นี้ก็ดีใจมากแล้ว ขอแค่คนเท่ากัน เส้นสตาร์ททุกคนเท่ากัน แต่เรามาแข่งขันกันว่าความสามารถหรือพรสวรรค์ของใครไปได้ไกลมากกว่ากัน ขอแค่นี้เลย

จากตอนหนึ่งของบทนมัสการพระสังฆคุณที่ว่า ‘สงฆ์ใดสาวกศาสดา รับปฏิบัติมา แต่องค์สมเด็จภควัน’ (พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ได้รับการปฏิบัติมายังใช้ได้ในประเทศไทยไหม

ไม่ได้แล้วครับ เพราะตอนนี้เรามีพระพุทธเจ้าองค์ใหม่อยู่ในประเทศไทย ที่สามารถกำหนดพระวินัยหรือปาราชิกที่ว่า หากคุณไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองปาราชิกของคุณคือการจับสึกแน่นอน คุณไม่มีทางอื่นหรอก ในทุติยปาสสูตรที่ 5 กล่าวว่า เมื่อคุณบำบัดความทุกข์ของคุณ ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางใจ หรือแม้กระทั่งพ้นจากความทุกข์ที่เรียกว่านิพพาน คุณต้องเคี้ยวจาริก แสวงหาหรือไปบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชน ทั้งทางกายหรือทางใจ แต่ตอนนี้คุณทำไม่ได้แล้ว เพราะคุณถูกผูกยึดกับอำนาจรัฐ และคุณกลายเป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่รัฐด้วย สิ่งนี้มันผิดแย้งกับธรรมวินัยอย่างมาก ยกตัวอย่าง พระเจ้าสุทโธทนะมาขอให้พระราหุลสึก เพราะไม่มีใครสืบทอดกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว ถ้าตีความตรงนี้เราต้องถามกลับว่า แล้วพระในมหาเถรสมาคมยังเป็นพระอยู่หรือเปล่า

อย่างกรณีพระขี่สกูตเตอร์ไปบินฑบาตก็ไม่ให้เขาใช้ ผมยังสงสัยเลยว่าคนที่ออกกฎแบบนี้มา เขาเคยบิณฑบาตหรือเปล่า อย่างบ้านผมอยู่ภาคเหนือ การบิณฑบาตในชนบทจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง เพราะชาวบ้านเขาจะยืนรออยู่ที่หน้าบ้าน เราต้องเดินให้ครบ กว่าจะเข้าวัดได้ก็เลยเพลแล้ว จนบางวัดต้องให้เด็กวัดไปเก็บปิ่นโตเพื่อเข้าวัด บิณทบาตเฉพาะวันสำคัญเท่านั้น แต่พระที่อยู่ในกรุงเทพฯ ที่มีอำนาจรวมศูนย์ให้เสร็จสรรพ มีความเป็นปัจเจกบุคคลสูง คุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนที่เอาของมาใส่บาตรเป็นใคร เราก็รับให้พอฉันในแต่ละวันพอ แต่ต่างจังหวัดทำไม่ได้ ผมก็เลยงงว่าคนที่ออกกฎนี้มาเคยบิณฑบาตไหม คนที่เป็นเจ้าคุณเขารอข้าวอยู่ในวัด รอลูกศิษย์มาถวายหรือเปล่า สิ่งนี้น่าตั้งคำถามมาก

Fact Box

สามเณรโฟล์ค หรือ ‘สหรัฐ สุขคำหล้า’ กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
*บทความนี้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564

Tags: , , , ,