‘กรุงเทพมหานคร’ เมืองที่ใครหลายคนมองว่าเป็น ‘มหานคร’ ที่มีโอกาสมากที่สุดของประเทศ ด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมสูงถึง 8.2 ล้านล้านบาท หรือนับว่ามากกว่าทุกภูมิภาคของประเทศไทยรวมกันเสียอีก ทำให้ประชากรกว่า 10 ล้านคนหลั่งไหลเข้ามาอาศัยอยู่เพื่อหาโอกาสทางเศรษฐกิจ และประกอบอาชีพหล่อเลี้ยงตนเองและครอบครัว
‘กรุงเทพฯ’ ยังได้รับเกียรติในการจัดลำดับของหลายสำนักว่า เป็นเมืองน่าเที่ยวที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในปี 2566 ขณะที่ Mastercard บริษัทให้บริการทางการเงินชื่อดังของโลกเผยว่า กรุงเทพฯ มีวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ นักท่องเที่ยวรู้สึกถึงการต้อนรับอันอบอุ่นจากคนไทย อีกทั้งอาหารริมทาง (Street Food) ก็ยังเป็นที่เลื่องลือในหมู่นักท่องเที่ยว จึงไม่แปลกใจว่าทำไมเมืองแห่งนี้ถึงดึงดูดเหล่านักเดินทางกว่า 22.78 ล้านคนให้เข้ามา ซึ่งจำนวนดังกล่าวทำให้กรุงเทพฯ ชนะมหานครสำคัญอย่างกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร และกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ไปได้
มาถึงตรงนี้คนไทยหลายคนอาจรู้สึกดีใจลึกๆ ที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าเที่ยวติดอันดับโลก แต่เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ตัวเลขไม่เคยโกหกใคร
เมื่อกรุงเทพฯ กลับไม่ติด 1 ใน 10 อันดับเมืองน่าอยู่จากการจัดโพลของหลายสำนักเลยด้วยซ้ำ โดยสำนักข่าวดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) ได้จัดอันดับเมืองน่าอยู่โดยอาศัยเกณฑ์วัดจากระบบสาธารณสุข วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ความมีเสถียรภาพ การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐาน ปรากฏภาพว่า ‘มหานคร’ ในภาคพื้นยุโรปส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก และเมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่ติดอันดับ
ดังนั้นคำถามที่สำคัญคือ เราจะสามารถปรับสมดุลให้กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นบ้านหลังใหญ่ของคนกว่า 10 ล้านคนให้เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว และเป็นมิตร พร้อมโอบรับทุกคนไปพร้อมกันหรือไม่
เนื่องในโอกาสพิเศษฉลองครบรอบวันเกิด 8 ปี The Momentum ชวนเดินเท้าไปหา ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถึงศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เสาชิงช้า ในฐานะคนที่เคยทำงานภาคประชาสังคมเรื่องเมืองมาก่อน จนวันนี้มาเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารตามคำชักชวนของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. และเป็นรองผู้ว่าฯ ที่อายุน้อยที่สุด เพื่อสนทนาหาหนทาง ‘Drive Bangkok’ ไปสู่ภารกิจเปลี่ยนเมืองฟ้าอมรให้เป็น ‘Friendly Neighborhood’ อย่างแท้จริง
What is ‘Friendly Neighborhood’
ผู้เขียนชวนศานนท์คุยถึงคอนเซปต์ของคำว่า ‘Friendly Neighborhood’ ก่อนว่าเป็นอย่างไร
รองผู้ว่าฯ ให้คำตอบสั้นๆ ว่า ‘ต้องกระจายอำนาจ’ เพราะหัวใจหลักของการพัฒนาเมืองคือ คุณภาพชีวิตของพลเมืองต้องดี
“หมายถึงว่า ให้ผู้คนรู้สึกร่วม รู้สึกว่าเขาสามารถมีส่วนร่วมได้คือ สามารถด่าได้ ชมได้ ช่วยคิดได้ ช่วยเสนอแนะได้ อันนี้ผมว่าสำคัญ
“เมืองเป็นมิตรบางคนอาจจะมองเป็นเรื่องต้องสวยงาม ผมรู้สึกว่าไม่จำเป็น ลองนึกภาพเรามีเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่เป็นมิตรกับเรา เขาอาจจะไม่ได้ดีเลย แต่มันเป็นความรู้สึกว่า อยู่กับคนนี้ที่เป็นคนเปิดใจ อยู่ด้วยแล้วสบายใจ
“ผมคิดว่า ‘เมืองเป็นมิตร’ เป็นสิ่งที่เราอยากทำ เราอยากให้ระยะห่างระหว่างคนตัดสินใจนโยบายกับคนใช้เมืองใกล้กันมากขึ้น แลกเปลี่ยนกันได้ง่ายขึ้น”
ศานนท์กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายการกระจายอำนาจ เป็นหนึ่งในนโยบายที่ตนสนใจแรกๆ ตั้งแต่สมัยที่ชัชชาติเชิญเข้ามาร่วมทีม จากเดิมที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งโรงแรม Once Again Hostel และ Luk Hostel อีกทั้งยังทำกลุ่ม ‘สาธารณะ’ (SATARANA) และ ‘MAYDAY!’ เพราะมีความเชื่อว่าเมืองจะเข้มแข็งได้ ประชาชนต้องมีความเข้มแข็งในตัวเองก่อน โดยทำอย่างไรเพื่อให้ชุมชนสามารถจัดสรรงบประมาณได้ด้วยตนเอง กทม.ควรจะเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก หรือออกเงินทุนให้เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น
“ปัจจุบันก็มีอยู่ประมาณ 30 ย่านที่ลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง กทม.ก็เป็นเหมือนผู้อำนวยการ เราก็จะเห็นย่านใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นย่านทรงวาด ย่านบรรทัดทอง ย่านที่คนเริ่มรวมตัวกันขึ้นมา กทม.ก็แค่จุดประกายเท่านั้น”
‘Friendly Neighborhood’ is challenging
ศานนท์เล่าย้อนถึงสาเหตุที่ชอบทำงานภาคประชาสังคมในอดีตให้ฟังก่อนว่า เพราะตนมองว่าเป็นหนึ่งในคนที่ใช้เมือง หากต้องรอการพัฒนาจากฝ่ายการเมืองอย่างเดียวคงไม่พอ อีกทั้งสมัยเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตนชื่นชอบทำค่ายและกิจกรรมต่างๆ ทำให้เห็นถึงปัญหาของชุมชนว่า มีหลายเรื่องที่ต้องได้รับการแก้ไข
และเมื่อมารับตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าฯ กทม. ศานนท์ระบุว่า เป็นการทำงานที่มีแรงกดดันเข้ามาทั้งหมด 2 ด้าน ทั้งเรื่องของ ‘อำนาจ’ และ ‘งบประมาณ’
“ราชการเหมือนมีอำนาจ แต่ว่าถ้าทำอะไรผิดก็ติดคุก การที่ กทม.จะทำงานให้ลุล่วงได้ จะต้องมีอำนาจที่เบ็ดเสร็จขึ้นมากกว่านี้ ไม่ใช่ว่าอยากทำฟุตบาทให้ดี แล้วการประปาหรือการไฟฟ้าก็มามีอำนาจมากกว่า เป็นแบบนี้ทำให้ตายก็ไม่มีวันที่จะดีขึ้น
“วันนี้ ถ้าคนขุดยังมีอำนาจมากกว่าเรา ต่อให้ท่านผู้ว่าฯ เอางบประมาณมาปรับปรุงทางเท้า ก็จะมีคนมาขุดใหม่ ก็จะมีอะไรที่ควบคุมไม่ได้
“ถ้าวันนี้เราด่าคนที่ไม่ใช่ผู้ว่าฯ กทม.ได้ด้วย ถ้าเรารู้ว่าใครเป็นคนที่มาขุด ผมว่ามันก็อาจจะช่วยกดดันได้ว่า หน่วยงานต้องซิงค์แผนกันมาคุยกัน
“เรื่องที่ 2 คืองบประมาณ จำนวนเงินที่เรามีอยู่ไม่ได้เยอะเท่ากับเมืองอื่นๆ หากดูมหานครอื่น งบประมาณเขามีมากกว่า 4-5 เท่า บางที่ 10 เท่า เพราะฉะนั้นการพัฒนาอะไรของเมืองจึงทำได้รวดเร็ว ถ้าดูงบประมาณของเรา ปัญหาที่ต้องใช้งบประมาณแก้ก่อนจะเป็นเรื่องน้ำท่วม เรื่องขยะ เรื่องถนน ต้องจ่ายค่าเจ้าหน้าที่ราชการอีก 40% เงินที่เหลือที่อยากจะเอาไปทำอะไรก็เหลือเพียงปีละประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท มันก็เอามาทำอะไรได้ยาก เราอยากจะปรับปรุงอะไรที่มันเป็นสวนสาธารณะหรืออะไรอย่างนี้ เราก็ต้องมาเลือกแล้วว่าจะทำแค่ไหน” ศานนท์ว่า
รองผู้ว่าฯ ยังกล่าวต่อว่า การใช้งบของ กทม.นั้นไม่เหมือนกับเอกชน ที่หากผู้บริหารต้องการสิ่งใดแล้วสั่งการได้ทันที ก็จะนำไปสู่การคอร์รัปชันได้ ดังนั้นจึงต้องมีระเบียบการเงินการคลังกำกับ พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ของ กทม.จะต้องเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม
“เวลาเราคิดเรื่องงานสร้างสรรค์ อยากจะมีเทศกาลระดับโลก ต้องคิดล่วงหน้า ซึ่งบางทีเทรนด์ต่างๆ มันไม่ได้ คนทำงานสร้างสรรค์จะรู้ดีว่า บางทีเทรนด์มาอย่างนี้ มันทำไม่ได้ เพราะการขึ้นงบต้องมีรายละเอียดที่เข้มงวด”
อีกหนึ่งปัญหาที่ศานนท์มองว่าเป็นอุปสรรคในการบริหารเมืองคือ วัฒนธรรม ‘ไม่ทำดีกว่าทำ’ เพราะทุกวันนี้ข้าราชการหรือนักการเมืองมองว่า หากสั่งการทำอะไรจะโดนตรวจสอบ ถูกตั้งแง่ว่าจะคอร์รัปชันหรือไม่ ทั้งที่จริงมีความต้องการขับเคลื่อนงานที่มีความหมายให้กับเมืองเช่นกัน
“กลายเป็นว่า คนที่มีความตั้งใจดีมาด้วยพลังและความหวัง ต้องมาโดนร้อง ต้องมาโดนตั้งคำถาม คิดดูว่าคนๆ นี้ต้องไม่ได้เก่งอย่างเดียวนะ มันต้องมีจิตใจดุจดั่งเพชร ระเบียบราชการต่างๆ ที่มีตอนนี้ทำให้คนเลือกที่จะ ‘ไม่ทำดีกว่าทำ’ มันคงไม่มีหรอกที่จะได้งานดีๆ จากวัฒนธรรมแบบนี้”
Drive Bangkok to be the ‘Friendly Neighborhood’
“ดังนั้นแล้วทางออกที่เป็นรูปธรรมที่สุดในการขับเคลื่อนเมืองไปสู่เป้าหมาย Friendly Neighborhood ควรจะเป็นอย่างไร” เราถามต่อ
ศานนท์ยอมรับตามตรงว่า เรื่องนี้ไม่ง่ายหาก กทม.ยังมีอำนาจไม่เพียงพอ ดังนั้นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กรุงเทพมหานคร ต้องผ่านรัฐสภาเพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจดูแลตัวเองมากขึ้น
“อันนี้เป็นการเสนอจากฝั่งที่เป็นผู้ใช้ พ.ร.บ.ว่า ฉันทำงานยากถ้าไม่มีอำนาจ ผมคิดว่า เราต้องเสนอให้ชัดเจนว่าจะมีเรื่องอะไรบ้าง เช่นเรื่องขนส่งสาธารณะ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ภายใต้การดูแลของตำรวจจราจร เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่ผมคิดว่า ถ้า กทม.ยังจัดการตัวเองไม่ได้ก็จะยาก”
“สิ่งที่ กทม.ทำให้ทุกวันนี้คือ การใช้เทคโนโลยี Traffy Fondue เพื่อเก็บรวบรวมหลักฐานและข้อร้องเรียนจากภาคประชาชน เพื่อที่ กทม.จะสามารถส่งต่อไปยังหน่วยงานต่างๆ ได้
“วันนี้มีคนด่า Traffy Fondue ว่าแก้ไม่จริง ก็ถูกต้องนะ เพราะพอส่งต่อไปให้คนที่รับผิดชอบก็ไม่ยอมทำ แต่ถ้าลองไม่มี Traffy Fondue มันไม่มีแม้กระทั่งการส่งต่อ ไม่รู้จะให้ใครทำด้วยซ้ำ
“ผมว่าพวกนี้ ถ้าไม่มีใครคิดไว้ คนมาเป็นผู้บริหารชุดต่อไปก็ทำงานไม่ง่าย แล้วการทำนโยบายก็จะเป็นแค่อีเวนต์ ทำขายผ้าเอาหน้ารอดไปเรื่อยๆ แต่ว่าปัญหาต่างๆ ก็ยังคงอยู่” ศานนท์กล่าว
มาจนถึงตอนนี้ระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งพ่อเมืองเหลือเวลาอีกครึ่งเทอม ศานนท์ระบุถึงปณิธานที่ยังคงทำงานตามเป้าหมายใหญ่ๆ ไว้ 3 เรื่องคือ เร่งทำนโยบายที่เสนอไว้ตั้งแต่สมัยหาเสียงเลือกตั้ง 200 นโยบายให้เกิดขึ้นจริง รวมทั้งผลักดันให้ กทม.มีอำนาจในการบริหารงานมากขึ้นผ่าน พ.ร.บ.กรุงเทพมหานครฉบับใหม่ ที่อยู่ในขั้นตอนการจัดทำร่าง และแก้ไขปัญหาใต้ภูเขาน้ำแข็งของ กทม. โดยเฉพาะ ‘ทรัพยากรมนุษย์’
“ถ้าเราไม่แก้เรื่องพวกนี้ จะทำงานยากมาก องค์กรที่ดี ‘เรื่องคน’ เป็นเรื่องสำคัญมาก องค์กรใหญ่ๆ ทั่วโลกเขามีหลักสูตรการพัฒนาคนที่เข้มแข็งมาก เพื่อดึงทาเลนต์ (Talent) เข้ามา
“ถามว่าวันนี้ ทาเลนต์ที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ อยากเป็นข้าราชการ กทม.หรือไม่ ทาเลนต์ที่โคตรเก่งเขาอยากทำงานอะไร ถ้าวันนี้ยังไม่สามารถดึงคนเก่งให้มาทำงานราชการได้ ผมว่าหน่วยงานนี้ก็ไปได้ยาก
“เราก็จะเต็มไปด้วยคนที่อาจจะไม่ได้เก่งที่สุดในเรื่องต่างๆ เช่น เราทำเรื่องสิ่งแวดล้อม ถามว่าคนที่เก่งเรื่องต้นไม้ที่สุดเขาอยู่ที่ไหน เขาก็ไม่ได้อยู่ใน กทม.แน่นอน แล้วเราจะไปหวังว่าต้นไม้จะดีได้อย่างไร หรือเราอยากเป็น Digital Government คำถามคือคนที่เก่งดิจิทัลที่สุดทำงานอยู่ที่ไหน เราจะไปหวังว่าต้องเปลี่ยนผู้ว่าฯ ให้เป็นคนที่เก่งที่สุดในโลก ผมว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก ถ้าข้าราชการยังไม่สามารถดึงทาเลนต์เข้ามาได้” ศานนท์กล่าว
‘เมืองที่ดีควรเป็นอย่างไร’ ผู้เขียนหยิบยกมาเป็นคำถามทิ้งท้ายของบทสนทนาครั้งนี้
“ผมอยากให้เมืองมันราคาถูก เข้าถึงง่าย ใช้ต้นทุนชีวิตต่ำๆ
“ส่วนตัวผมชอบเมืองที่ช้าๆ อยากให้ลูกเราโตในเมืองที่มันไม่ต้องแข่งขันสูง อยากให้เมืองใจดีกับคนที่แย่ที่สุดได้
“ถ้าใจดีกับคนที่แย่ที่สุดได้ ผมว่าก็คงจะใจดีกับทุกคน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพยายามทำต่อไป โดยอาศัยเสียงของตัวแทนของคนกลุ่มต่างๆ ว่าขาดเหลืออะไร ในฐานะพ่อเมืองก็ต้องเอาความต้องการเหล่านั้นมาเป็นโจทย์ในการพัฒนาเมืองต่อไป
“เมืองที่ดีก็ต้องให้ความหวังคน ควรทำให้คนรู้สึกว่า วันนี้อาจจะยังไม่ดี แต่ในอนาคตมีทางรอดอยู่ อย่างน้อยเมืองก็ฟังเสียงเรา
“ถ้าคนในเมืองรู้สึกว่าเมืองนี้ยังมีหวังอยู่ ผมว่าคนก็ยังอาศัยอยู่ในเมืองนี้ต่อไป
“ลองไปดูเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลก ผมว่าเขาก็มีปัญหา อาจจะเป็นปัญหาอีกแบบหนึ่งที่เราไม่ได้เจอ โคเปนฮาเกนเป็นเมืองสวยมาก แต่เพื่อนผมที่อยู่เขาบอกว่าโคตรเหงาเลย ทุกคนโดดเดี่ยว แม่งโคตรเป็นปัญหาคนรวยเลยใช่ไหม (หัวเราะ)” ศานนท์อธิบายให้ฟัง
ขณะเดียวกันรองผู้ว่าฯ ยังกล่าวถึงทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของเมือง อย่าง ‘มนุษย์’ ไว้อย่างน่าสนใจว่า เมืองจะดีได้ ประชาชนต้องเป็น Active Citizen ด้วย ด้วยอำนาจของ กทม.ที่มีจำกัด งบประมาณก็มีจำกัด การผ่านระเบียบราชการก็ยาก อีกทั้งข้าราชการอาจจะไม่ได้มีทาเลนต์ที่ดีที่สุด
“ถ้าคนในเมืองเป็น Active Citizen ช่วยกัน อย่างเอกชนอาจจะทำสวนสาธารณะในพื้นที่ได้ หรือว่ามีคนในย่านต่างๆ ลุกขึ้นมา อย่างที่กล่าวไปว่า กทม.อาจจะไม่ต้องสร้างชีวิตอะไรมากมาย ให้ชุมชนเขาลุกขึ้นมาจัดเฟสติวัลทำนู่นทำนี่ด้วยตัวเอง แยกขยะ ดูแลคลองต่างๆ
“เราก็คาดหวังว่า คนในเมืองจะลุกขึ้นมาช่วยกัน คนละไม้คนละมือเลย เพราะว่าเมืองจะดีได้ ไม่ได้เกิดจากรัฐบาลที่เข้มแข็งได้อย่างเดียว แต่ต้องเกิดจากพลเมือง เกิดจากภาคเอกชน ภาควิชาการ ลุกขึ้นมาช่วยกัน อันนี้คือหัวใจของการพัฒนาที่จะไปได้จริง” ศานนท์กล่าวทิ้งท้าย
Tags: กรุงเทพ, Drive The Momentum, ศานนท์, เมือง, การพัฒนา, CITY, กทม., Close-Up, ชัชชาติ